๒๕.ประวัติพระมหากัจจายนะ

           ประวัติพระมหากัจจายนะ
 
             ชาติภูมิ        
    พระมหากัจายนะท่านเป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิตที่มีชื่อว่า “ปิติวัจฉะพราหมณ์” ซึ่งเป็นปุโรหิตของ พระเจ้าจันทปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี ในแคว้นอะวันตี มารดาชื่อว่า “จันทะปะทุมมาพราหมณี”  เกิดในวรรณะพราหมณ์ตระกูล “กัจจายะนะโคตร  เมื่อท่านคลอดออกมาจากท้องแม่นั้นท่านมีผิวพรรณวรรณะเหลืองอร่ามสวยงามสุกใสเปล่งปลั่งประดุจดังทองคำ  พ่อแม่และญาติพี่น้องทั้งหลายจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "กัญจะนะ  ซึ่ง แปลว่า ทองคำ" ท่านจึงมีชื่อเต็มว่า “กัญจะนะมานพ” แต่คนส่วนมากมักจะเรียกท่านตามชื่อของสกุลว่า “กัจจายะนะ”  คนไทยมักเรียกท่านว่า “พระสังกัจจายน์”  พอเรียกนานเข้าๆก็เพี้ยนมาเป็น “พระสังกระจาย, พระสังขะจาย, หรือ พระกระจายก็มี”  พออายุได้    ขวบ บิดาก็ได้ให้ไปศึกษาศิลปวิทยาความรู้จนเรียนจบไตรเพทอันเป็นความรู้ขั้นสูงสุดในสมัยนั้นเทียบได้กับสมัยปัจจุบันนี้ก็ปริญญาเอกในเวลาไม่นาน   ต่อมาไม่นานบิดาของท่านก็ถึงแก่อนิจกรรมคือตาย  ท่านก็ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นปุโรหิตแทนบิดา   ท่านรับราชการในกรุงอุชเชนีมาไม่นาน    วันหนึ่งพระเจ้าจันทปัชโชตได้ทรงประชุมปรึกษาหารือกับเสนาอำมาตย์และข้าราช บริพารทั้งหลายว่า “ได้ข่าวว่าบัดนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ของเราแล้ว ตอนนี้พระพุทธองค์ได้เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ใกล้กรุงสาวัตถี เรามีความต้องการที่จะอาราธนานิมนต์พระพุทธองค์ให้เสด็จมาโปรดประชาชนที่กรุงอุชเชนี  พวกเราจะส่งใครไปทูลอาธนานิมนต์พระพุทธองค์ดีหรือ?”      
   เสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลายกราบทูลว่า “ผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะไปทูลอาธนานิมนต์พระพุทธองค์นั้นก็เห็นมีแต่ท่าน กัจจายนะปุโรหิตเท่านั้น พระเจ้าข้า”  
  พระราชาจึงตรัสถาม กัจจายนะปุโรหิตว่า “ท่านสามารถที่จะไปทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้าได้หรือไม่”
   กัจจายนะปุโรหิตก็กราบทูลว่า “ขอเดชะเมื่อเป็นพระประสงค์ของพระองค์และที่ประชุมเช่นนี้   ข้าพระองค์ก็มิอาจขัดได้  พระเจ้าข้า

   พระราชาจึงทรงอนุญาตให้กัจจายนะปุโรหิตและพราหมณ์อีก ๗ คนไปทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้าที่กรุงสาวัตถี
 กัจจายนะปุโรหิตไปทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้า
   เมื่อกัจจายนะปุโรหิตและพราหมณ์ทั้ง ๗ คนเดินทางไปถึงกรุงสาวัตถีแล้วก็ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ที่พระเชตวันมหาวิหาร  พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด กัจจายนะปุโรหิตและพราหมณ์ทั้ง ๗ คน  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลงพราหมณ์ ทั้ง ๗ คน พร้อมด้วยกัจจายนะปุโรหิตก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ที่ถึงพร้อมด้วย ปฏิสัมภิทาญาณ ๔  คือ:-
    ๑.อัตถปฏิสัมภิทา      คือมีปัญญาแตกฉานในอรรถ ได้แก่สามารถอธิบายเนื้อความย่อลุ่มลึกเข้าใจยากให้เข้าใจง่ายได้พิสดาร
     ๒.ธัมมปฏิสัมภิทา    คือมีปัญญาแตกฉานในธรรม ได้แก่ปรีชาการรู้แจ้งเข้าใจในหลักธรรมที่มีเนื้อความย่อแล้วสามารถอธิบาย ให้พิสดารได้และสามารถจับใจความของธรรมะนั้นแล้วตั้งเป็นกระทู้ขึ้นมาได้  เมื่อรู้ผลของธรรมอย่างหนึ่งแล้วก็สามารถสืบสาวหาสาเหตุต้นต่อของธรรมนั้น ว่าเกิดมาจากไหนได้โดยไม่ขัดข้อง
     ๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา     คือมีปัญญาอันแตกฉานในนิรุกติ   ได้แก่สามารถเข้าใจในภาษาต่างๆ ทั้งภาษาเทพ
,พรหม, มนุษย์,ภูตผีปีศาจ,และสัตว์เดรัจฉานได้ทั้งหมด
     ๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา     คือมีปัญญาอันแตกฉานในปฏิภาณ   ได้แก่มีความสามารถเข้าใจโต้ตอบปัญหาที่สอบถามเกี่ยวกับธรรมะได้ในฉับพลันทันทีไม่มีติดขัด
     
       กัจจายนะปุโรหิตอุปสมบท
   เมื่อกัจจายนะปุโรหิตและพราหมณ์ทั้ง ๗ คนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว  พระพุทธองค์จึงทรงประทานการอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาว่า “ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมวินัยอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ในบัดดลนั้นบาตรและไตรจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ก็ล่องลอยมาในอากาศสู่อุ้งมือ ของพระอรหันต์ทั้ง ๘  บาตรและไตรจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์นี้จะบังเกิดมีขึ้นแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่เคยได้ทำบุญถวายบาตรและไตรจีวรเอาไว้ในอดีตชาติเท่านั้น  ส่วนพระอรหันต์ที่ไม่เคยถวายบาตรและไตรจีวรเอาไว้ในอดีตชาติก็จะไม่มีบาตร และไตรจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ล่องลอยมาในอากาศ   เมื่อกัจจายนะปุโรหิตได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธองค์เสร็จ เรียบร้อยแล้วท่านเป็นพระมหาสาวกที่มีจริยาวัตรอันดีงามเป็นที่นิยมยกย่อง นับถือและรักใคร่ของเทวดาและมนุษย์ชายหญิงทั้งหลายเป็นอันมากจนได้รับการ ขนานนามใหม่ว่า “พระมหากัจจายนเถระ”  ด้วยอำนาจที่ท่านมีจริยาวัตรอันงดงามนี้แหละมันจึงทำให้รูปโฉมของท่านเกิด ความงดงามเปล่งปลั่งเป็นที่ต้องตาต้องใจของมนุษย์ชายหญิงทั้งหลาย  ใครก็ตามเมื่อได้เห็นรูป ร่างหน้าตาของท่านแล้วจะต้องถูกความหล่อความงามของท่านสะกดเอาไว้ได้หมดจะ ต้องมองดู ท่านอย่างเผลอตัวจนลืมสติเหมือนถูกมนต์สะกดเอาไว้ฉะนั้น  ความหล่อความงามของท่านมันมีอำนาจขนาดไหนดังที่ข้าพเจ้าจะได้ยกเอาเรื่องของ บุตรชายของท่านเศรษฐีแห่งเมืองโสเรยยะนครมาเป็นตัวอย่าง  ขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายจงได้พิจารณาดูในเหตุการณ์ที่เป็นจริงดังต่อไปนี้ 
   บุตรชายของท่านเศรษฐีหลงใหลในรูปร่างของพระมหากัจจายนะจนกลายเป็นผู้หญิง
 วันหนึ่งท่านพระมหากัจจายนะได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองโสเรยยะในขณะที่กำลังเดิน บิณฑบาตอยู่นั้นก็ได้เดินสวนทางกับยานพาหนะที่มีบุตรชายของเศรษฐีชื่อว่า “โสไรยะ” นั่งอยู่บนยานนั้นเพื่อประสงค์จะไปอาบน้ำกับเพื่อน   นายโสไรยะได้เห็นรูปร่างอันงดงามผ่องใสเปล่งปลั่งสง่าผ่าเผยอันเป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจคนดูของพระมหากัจจายนะแล้วก็ถูกมนต์แห่งความหล่อและความสวยงาม  สะกดเอาไว้จนตกตะลึงไปชั่วขณะเมื่อได้สติก็เกิดมีจิตนึกคิดอันเป็นอกุศลว่า “พระเถระรูปนี้มีรูปร่างสวยงามยิ่งนักควรจะเป็นภรรยาของเรา  หรือมิฉะนั้นภรรยาของเรา ก็ควรจะมีรูปร่างสวยงามเหมือนพระเถระรูปนี้”  ในขณะที่คิดอยู่อย่างนี้รูปร่าง  ของนายโสไรยะก็ได้กลับกลายเป็นรูปร่างของผู้หญิงในทันที ด้วยเหตุที่มีความคิดอันเป็นบาปอกุศลต่อพระอรหันต์ที่มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อ พระพุทธศาสนา                                                                                                     

   นายโสไรยะเมื่อมีรูปร่างกลับกลายเป็นผู้หญิงแล้วก็ตกใจและมีความอับอายเป็น อย่าง ยิ่ง  จึงรีบลงจากยานพาหนะแล้วหลบหนีไปอยู่ที่เมืองตักกสิลาโดยมิได้บอกลาเพื่อน และพ่อแม่ทางบ้านให้ทราบ   เมื่อเดินทางไปถึงท่าน้ำแล้วพวกเพื่อนฝูงและข้าทาสบริวารไม่เห็นนายโสไรยะลง จากยานพาหนะจึงรีบขึ้นไปดูบนยานพาหนะก็ไม่เห็นนายโสไรยะในยานพาหนะนั้นเลย  จึงได้พากันเอะอะโวยวายขึ้นและก็ได้พากันออกติดตามหานายโสไรยะทุกหนทุกแห่ง แต่ก็ไม่พบ   ส่วนพ่อและแม่ของนายโสไรยะเมื่อได้ทราบข่าวว่าลูกชายหายตัวไปก็พากันร้องไห้ เสียใจด้วยความเศร้าโศกเพราะคิดว่าลูกชายของตนได้ตายไปแล้วอย่างแน่นอน
  ฝ่ายนางโสไรยะ (แต่เดิมคือนายโสไรยะ) เมื่อหลบหนีจากเพื่อนและบริวารก็ได้ไปพบขบวนเกวียนคาราวานที่จะเดินทางไปยังเมืองตักกสิลาจึงได้ขออาศัยไปค้วย  พวกพ่อค้าเกวียนทั้งหลายเห็นนางเป็นสตรีรูปสวยก็คิดว่าคงไม่เป็นอันตรายจึง ยอมให้อาศัยเดินทางไปด้วย  เมื่อเดินทางไปถึงเมืองตักกสิลาพวกพ่อค้าทั้งหลายก็พากันแยกย้ายไปบ้านของตน เอง  ส่วนเกวียนคันที่นางสาวโสไรยะได้นั่งอาศัยมานั้นเป็นเกวียนของท่านเศรษฐี แห่งเมืองตักกสิลาคนขับเกวียนก็ถามนางว่า “แม่นางจะไปลงที่ไหนผมจะไปส่งให้ถึงบ้าน”  นางสาวโสไรยะก็ตอบเขาว่า “ฉันไม่ใช่คนเมืองนี้ยังไม่มีที่จะไปเพราะฉันไม่มีญาติที่เมืองนี้”  เมื่อคนขับเกวียนของท่านเศรษฐีแห่งเมืองตักกสิลาทราบความดังนั้นแล้วก็เลย ชวนให้นางไปพักที่บ้านท่านเศรษฐี  นางก็ยินยอมเมื่อไปถึงบ้านของท่านเศรษฐีคนขับเกวียนก็ได้เล่าเรื่องราวของ นางให้เศรษฐีฟัง   ท่านเศรษฐีเมื่อเห็นนางก็มีใจรักใคร่เหมือนธิดาของตนเองจึงยินยอมให้นาง อาศัยอยู่ในบ้านของตน
    ในบ้านของท่านเศรษฐีมีลูกชายอยู่คนเดียวยังไม่ได้แต่งงานเพราะยังหาสตรีที่ ถูกใจไม่ได้ มันชั่งเป็นการบังเอิญเสียจริงๆเมื่อลูกชายของท่านเศรษฐีได้เห็นนางเข้าก็ ถูกความรักท่วมทับจิตใจเอาไว้ยากที่จะถอนตัวได้จึงได้บอกกับพ่อของตนเองว่า “พ่อผมรักผู้หญิงคนนี้มากนอกจากนางแล้วผมจะไม่ยอมแต่งงานกับใครอีกเลย”   เมื่อท่านเศรษฐีได้ทราบความประสงค์ของบุตรชายของตนเองเช่นนั้นก็ได้พูด ทาบทามนางสาวโสไรยะดูว่านางจะยินยอมหรือไม่    นางสาวโสไรยะเมื่อได้รับการทาบทามจากท่านเศรษฐีแล้วก็คิดว่าเราไม่มีญาติพี่ น้องที่เมืองนี้เราตัวคนเดียวการที่ได้บุตรชายของท่านเศรษฐีเป็นสามีก็นับ ว่าเป็นการไม่เลวเลยทีเดียวจึงได้ตอบตกลง
    นางโสไรยะกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่เมืองโสเรยยะนคร
   เมื่อนางสาวโสไรยะได้อยู่กินกับลูกชายของท่านเศรษฐีจนได้บุตรสองคน  อยู่มาวันหนึ่งนางได้มองดูผู้คนที่เดินทางกันขวักไขว่อยู่ในถนนที่พากันมา ซื้อข้าวของในตลาดนัดนางก็เห็นเพื่อนชาวเมืองโสเรยยะคนหนึ่งนางจำเพื่อนคน นั้นได้นางจึงให้คนรับใช้ไปเชิญเพื่อนคนนั้นมาที่บ้านนางๆก็ได้เล่าเรื่อง ราวต่างๆที่นางมีรูปร่างกลายเป็นผู้หญิงให้เพื่อนคนนั้นฟัง  เมื่อเพื่อนคนนั้นได้ฟังเรื่องราวที่นางเล่าให้ฟังแล้ว เพื่อนของนางคนนั้นก็ได้แนะนำให้นางไปขอขมาโทษต่อพระมหากัจจายนะเสียเรื่อง ราวต่างๆก็จะดีขึ้นนางก็รับคำที่จะไปขอขมาโทษพระมหากัจจายนะ  นางจึงได้เล่าเรื่องราวของตนที่เมืองโสเรยยะให้สามีฟังและนางก็ได้บอกสามี ว่า “อยากจะเดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ที่เมืองโสเรยยะ”  สามีก็ตอบตกลงจะพาไปเยี่ยมพ่อแม่ที่เมืองโสเรยยะ  เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีจึงได้พาภรรยาออกเดินทางไปที่เมืองโสเรยยะ   เมื่อเดินทางไปถึงเมืองโสเรยยะแล้วก็ได้บอกกับคนรับใช้ว่า “จะขอเข้าพบท่านเศรษฐีและภรรยา”  คนรับใช้นำความเข้าไปบอกท่านเศรษฐีและภรรยา   ท่านเศรษฐีและภรรยาก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่จู่ๆก็มีคนมาอ้างว่าเป็น ลูกสาวจะขอเข้าพบ  ท่านเศรษฐีแห่ง เมืองโสเรยยะจึงถามคนรับใช้ว่า “นางเป็นใครมาจากไหน?”   คนรับใช้ก็ตอบว่า “นางเป็นลูกสะใภ้ของเศรษฐีแห่งเมืองตักกสิลา”   เมื่อท่านเศรษฐีทราบว่านางเป็นลูกสะใภ้ของท่านเศรษฐีแห่งเมืองตักกสิลาซึ่ง มีศักดิ์และฐานะเท่าเทียมกับตนจึงอนุญาตให้เข้ามาพบได้  เมื่อนางพร้อมด้วยสามีและลูกอีก ๒ คน เข้ามาภายในบ้านแล้ว  ท่านเศรษฐีและภรรยาก็เชิญให้นั่งในที่อันสมควรแล้วจึงถามว่า “แม่นางเป็นใคร?”  นางก็ตอบว่า “ดิฉันเป็นลูกชายของท่าน”   ท่านเศรษฐีและภรรยาก็พูดกับนางว่า “แม่นางอย่าพูดโกหกเลย   ลูกชายของเราเป็นผู้ชายแต่ตัวแม่นางนั้นเป็นผู้หญิง  จะทำให้เราเชื่อแม่นางได้อย่างไรว่าเป็นลูกของเรา”   นางก็ได้เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้นางได้กลับกลายเป็นผู้หญิงให้ท่านเศรษฐีและ ภรรยาฟังโดยละเอียด  เมื่อท่านเศรษฐีและภรรยาได้ฟังเรื่องราวของนางแล้วถึงกับร้องไห้โฮขึ้นมา อย่างไม่ละอายแล้วก็ผวาเข้าสวมกอดอย่างลืมตัวเพราะความดีใจและก็พูดว่า “ลูกเอ๋ยแม่และพ่อนึกว่าเจ้าตายไปแล้ว  เมื่อเจ้าหายไปนั้นแม่และพ่อร้องไห้เพราะคิดถึงเจ้าแทบจะทุกวันเลยทีเดียว  เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมเจ้าไม่กลับมาหาพ่อแม่เล่า?”   นางก็ตอบว่า “เมื่อร่างกายกลับกลายเป็นผู้หญิงแล้ว ลูกรู้สึกหวาดกลัวและอับอายเป็นอย่างยิ่งจึงได้ลงจากยานพาหนะแล้วก็รีบหลบ หนีไปอย่างหวดกลัว”   เมื่อท่านเศรษฐีแห่งเมืองโสเรยยะทราบความจริงเช่นนี้แล้วก็ได้พูดขึ้นว่า “พ่อและแม่จะพาเจ้าไปขอขมาโทษท่านพระมหากัจจายนะที่พระเชตวันมหาวิหาร”    พอวันรุ่งขึ้นท่านเศรษฐีและภรรยาก็ได้พาลูกสาวลูกเขยและหลานอีก ๒ คนไปขอขมาโทษท่านพระมหากัจจายนะ  เมื่อไปถึงมหาวิหารแล้วก็ได้แจ้งจุดประสงค์ให้ท่านทราบ  พระมหาเถระก็บอกว่า “ขอให้ท่านเศรษฐีและบริวารเข้าพบได้”  เมื่อเศรษฐีและบริวารได้นั่งในที่อันสมควรแล้วท่านพระมหากัจจายนเถระก็พูด กับเศรษฐีว่า “ดูก่อนท่านเศรษฐี  ท่านมีกิจสำคัญอันใดจึงได้มาหาอาตมาพร้อมทั้งครอบครัวเช่นนี้”   ท่านเศรษฐีก็ได้กราบเรียนตอบท่านพระมหากัจจายนะว่า “ลูกชายของกระผมได้ล่วงเกินพระคุณเจ้าจึงได้พาลูกชายมาขอขมาโทษพระคุณ เจ้า”    พระมหาเถระก็ถามว่า “ลูกชายของท่านเศรษฐีล่วงเกินอาตมาด้วยเหตุอันใดหรือ”  ท่านเศรษฐีก็ให้บุตรชายเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทำให้ร่าง กายกลายเป็นผู้หญิงให้พระมหาเถระฟังทั้งหมดอย่างละเอียด   เมื่อพระมหาเถระได้ฟังเรื่องราวที่บุตรชายของท่านเศรษฐีเล่ามาทั้งหมดก็นึก รำพึงอยู่แต่ในใจว่า “รูปร่างของเราทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนหนอ”   พระมหาเถระจึงกล่าวกับลูกชายท่านเศรษฐีว่า “ให้คุกเข่าขึ้นแล้วกล่าวคำขอขมาโทษเถิด”    ลูกชายท่านเศรษฐีกราบลง ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำขอขมาโทษว่า “ข้าพเจ้าชื่อว่า โสไรยะเป็นบุตรชายของท่านเศรษฐีแห่งเมืองโสเรยยะได้มีความนึกคิดอันเป็น บาปอกุศลต่อรูปร่างของพระมหาเถระชื่อว่า พระมหากัจจายนะ  ข้าพเจ้าขออโหสิกกรรมในความนึกคิดอันชั่วร้ายของข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยด้วย เถิด”   พระมหาเถระก็กล่าวว่า “กรรมอันเป็นบาปอกุศลที่นายโสไรยะคิดไม่ดีต่อรูปร่างของอาตมาๆขออโหสิกรรม ให้เขาขอให้เขาจงมีรูปร่างกลับเป็นผู้ชายเหมือนเดิมเถิด”   พอพระมหาเถระกล่าวจบรูปร่างของนางโสไรยะก็กลับกลายเป็นผู้ชายเหมือนเดิมมัน ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์เสียจริงๆ  คนที่นั่งดูอยู่ในที่นั้นต่างก็กล่าวโจษขานกันไปต่างๆนานา  พระภิกษุสามเณรในพระเชตวันมหาวิหารก็กล่าวโจษขานกันไป  ญาติโยมทั้งหลายที่มาวัดในวันนั้นก็กล่าวโจษขานกัน  ประชาชนทั้งหลายในพระนครพาราณสีก็กล่าวโจษขานกัน  ประชาชนทั้งหลายในเมืองโสเรยยะก็กล่าวโจษขานกัน  ประชาชนทั้งหลายในเมืองตักกสิลาก็กล่าวโจษขานกัน   และประชาชนที่อยู่ในเมืองและแว่นแคล้นต่างๆก็กล่าวโจษขานกันไปทั้งหมด   เมื่อมนุษย์ทั้งหลายกล่าวโจษขานกันไปต่างๆนานาเช่นนี้  ภูมมเทวดาก็กล่าวโจษขานกัน  รุกขเทวดาก็กล่าวโจษขานกัน  อากาศเทวดาก็กล่าวโจษขานกัน  เทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกาก็กล่าวโจษขานกัน   และเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อเห็นเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกากล่าว โจษขานกันเกี่ยวกับเรื่องของบุตรชายของท่านเศรษฐีแห่เมืองโสเรยยะก็พากัน กล่าวจาขานกันไปบ้างจนดังไปถึงหูของท้าวสักกเทวราช  ที่เราท่านทั้งหลายรู้จักพระองค์ในพระนามว่า “พระอินทร์” 
    ท้าวสักกเทวราชเสด็จลงมานมัสการพระมหากัจจายนะ
  เมื่อ เรื่องนี้ดังไปถึงหูของท้าวสักกเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  พระองค์ก็มีพระดำริว่าเรื่องนี้มันเป็นอย่างไรหนอ  จำที่เราจะต้องลงไปนมัสการพระมหากัจจายนะเพื่อสอบถามพระคุณเจ้าดูก็จะรู้ รายละเอียดทั้งหมด  พอทรงดำริได้เช่นนี้แล้วท้าวสักกเทวราชก็เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วเสด็จตรงเข้าไปนมัสการพระมหากัจจายนะในทันที พอท้าวสักกเทวราชได้เสด็จเข้าไปเห็นรูปร่างของพระมหากัจจายนะแล้วก็ยึนเพ่ง ดูรูปโฉมพระมหากัจจายนะอย่างตะลึงแล้วพระองค์ก็ทรงมีพระดำริขึ้นในพระทัยว่า “เรายังไม่เคยเห็นใครนอกจากพระพุทธเจ้าแล้วจะมีรูปโฉมอันงดงามเช่นนี้  แม้เราเป็นเทพบุตรและเทพบุตรทั้งหลายที่อยู่ในทรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็มี รูปร่างงดงามสู่พระมหากัจจายนะนี้ไม่ได้เลย  ประสา อะไรกับนายโสไรยะผู้เป็นบุตรชายของท่านเศรษฐีแห่งโสเรยะนครจะไม่หลงไหลในรูป โฉมนี้  แม้เราเป็นเทวดาก็ยัง   หลงใหลในรูปโฉมนี้อย่างลืมตัวเหมือนกัน”  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อพระองค์เสด็จลงมาอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าแล้วก็มักจะ แวะเสด็จไปเยี่ยมพระมหากัจจายนะเป็นการส่วนตัวและพระองค์มักจะขอนวดขาให้พระ มหากัจจายนะเสมอและพระองค์ก็ได้ทรงสนิทสนมกับพระมหากัจจายนะตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา    พระภิกษุที่มีรูปโฉมอันงดงามในสมัยพุทธกาลนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ รูป คือ:-  
    ๑.พระพุทธเจ้า
    ๒.พระนันทะ ผู้เป็พระอนุชาคือน้องชายของพระพุทธเจ้า

    ๓.พระมหากัจจายนะ

  จะ มีรูปร่างอันสวยงามคล้ายๆกันจนทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้ง่ายๆ   แต่พระนันทะและพระมหากัจจายนะจะมีรูปร่างเตี้ยกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ ๓ นิ้ว
        อนึ่งเกี่ยวกับรูปโฉมอันงดงามของพระมหากัจจายนะนี้ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะ สนใจว่าพระมหากัจจายนะได้ทำบุญอะไรเอาไว้ถึงมีรูปโฉมอันงดงามเช่นนี้  ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะได้นำเอาอดีตกรรมของท่านมาเล่าให้ฟังเผื่อท่านทั้งหลาย ที่ปราถนาอยากจะมีรูปโฉมอันงดงามเหมือนพระมหากัจจายนะก็จงพิจารณาดูวิธีที่ ท่านมหากัจจายนะทำให้ดีเถิด

   อดีตกรรมที่ทำให้พระมหากัจจายนะมีรูปโฉมอันงดงาม
     ในสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า “กัสสปะ” พระมหากัจจายนะท่านได้มาเกิดในครอบครัวๆหนึ่งในกรุงพาราณสี  เมื่อท่านเกิดมานั้น พระพพุทธเจ้าทรงพระนามว่า “กัสสปะ” พระองค์ได้ทรงปรินิพพานไปแล้ว  ท่านได้มีความเสียใจเป็นอันมากที่เกิดมาไม่ทันตอนพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ ชีพอยู่จึงได้คิดที่จะทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่เอาไว้ในพระพุทธศาสนา ท่านเลยคิดสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธ เจ้าอันฉาบทาด้วยทองคำชมพูนุชและประดับประดาด้วยแผ่นอิฐอันเป็นทองคำราคาแสน ตำลึงทอง  ราคาแสนตำลึงทองนี้ถ้าคิดเป็นเงินในสมัยปัจจุบันนี้คงจะเป็นเงินหลายสิบล้าน บาท เมื่อได้สร้างเป็นเจดีย์ทองสำเร็จแล้วท่านก็ได้ตั้งความปราถนาเอาไว้ว่า “ด้วยอำนาจที่ข้าพเจ้าได้สร้างพระเจดีย์อันสำเร็จด้วยทองคำนี้เกิดชาติใดภพ ใดก็ตามนับตั้งแต่ชาติหน้าเป็นต้นไป ขอให้ตัวข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีผิวพรรณวรรณะสีเหลืองอร่ามสวยงามเปล่งปลั่ง ประดุจสีของทองคำที่สร้างพระเจดีย์นี้และให้ตัวข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีรูปร่าง อันสวยสดงดงามหาผู้เสมอเหมือนมิได้”   ด้วยอำนาจแห่งกุศลกรรมที่ท่านพระมหากัจจายนะได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรม สารีริกธาตุของพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าอันสำเร็จด้วยก้อนอิฐอันเป็นทองคำ นี้แหละจึงทำให้ท่านเกิดมาแล้วมีรูปร่างสรีระอันสวยสดงดงามเป็นที่ต้องตา ต้องใจของคนทั้งหลายที่ได้พบเห็นด้วยเหตุฉะนี้
    ประชาชนทั้งหลายแห่แหนกันไปถามข่าวโสไรยะเศรษฐีบุตร
   เมื่อประชาชนชาวโสเรยยะนครได้ทราบข่าวว่าท่านเศรษฐีและนายโสไรยะผู้เป็นบุตร กลับมาถึงบ้านแล้วก็ได้แห่แหนกันไปถามข่าวจนท่านเศรษฐีและภรรยาแทบจะเป็นลม เพราะแต่ละวันมีคนไปถามข่าวเป็นจำนวนมาก  บางคนไปเยี่ยมแล้วก็ได้ถามนายโสไรยะเศรษฐีบุตรว่า “ลูกสองคนในตอนที่คุณเป็นผู้ชายและลูกอีกสองคนในตอนที่คุณเป็นผู้หญิงคุณรัก ลูกในตอนที่เป็นชายหรือเป็นหญิงมากที่สุด”   นายโสไรยะตอบว่า “รักเท่าๆกัน”     นายโสไรยะหลังจากมารดาบิดาได้ล้มหายตายจากไปแล้วก็ได้เป็นเศรษฐีแทนพ่อ ดำเนินชีวิตมาจนลูกทั้ง ๔ คนได้มีครอบครัวไปแล้วเขาเลยมอบทรัพย์สินมรดกทั้งหมดให้ภรรยาและ ลูกๆ ตัวเขาเองก็สละลูกเมียเข้าบวชเป็นลูกศิษย์ของพระมหากัจจายนเถระประพฤติ ปฏิบัติมาไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  ด้วยเรื่องนี้เป็นสาเหตุจึงทำให้ท่านพระมหากัจจายนะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูปร่างของข้าพระองค์นี้ทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนและมันจะต้องทำให้คนทั้ง หลายต้องเดือดร้อนต่อไปอีก  ข้าพระองค์จึงมาทรงทูลขอพระอนุญาตพระพุทธองค์ ข้าพระพุทธองค์มีความประสงค์ทำให้ร่างกายของข้าพระองค์นี้ดูแล้วน่าเกลียดลง คิดว่าคงจะไม่มีใครมาหลงใหลในรูปกายของข้าพระองค์ต่อไปอีก  พระเจ้าข้า”   พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตตามที่ท่านพระมหากัจจยนเถระต้องการ  นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมารูปร่างของพระมหากัจจายนเถระจึงแลดูแล้วพุงยืน ออกมาเหมือนผู้หญิงมีครรภ์รูปร่างไม่หล่อเหลางดงามเหมือนเดิมคนทั้งหลายก็ เลิกลุ่มหลงในรูปกายของท่านอีกต่อไป   ถึงแม้รูปร่างของท่านจะดูน่าเกลียดลงแต่ประชาชนทั้งหลายก็ยังไม่เสื่อมความ นิยมเหลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านจึงได้จ้างช่างศิลปะที่ฝีมือเยี่ยมมาวาดรูปภาพ ของท่านเอาไว้สักการะบูชา บาง คนก็จ้างช่างมาแกะสลักรูปเหมือนของท่านด้วยไม้จันทน์หอมไว้สักการะบูชา  บางคนก็จ้างช่างมาแกะรูปเหมือนของท่านด้วยศิลาแดงแลดูแล้วสวยงามยิ่งนักเอา ไว้สักการะบูชา  การบูชารูปภาพและรูปเหมือนของท่านก็เกิดมีขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจน กระทั่งถึงปัจจุบันนี้  แต่ในปัจจุบันนี้มีการดัดแปลงแก้ไขรูปเหมือนของท่านด้วยเทคโนโลยี่อันทัน สมัยจึงทำให้รูปเหมือนของท่านมีความสวยงามยิ่งขึ้น
    พระมหากัจจายนะกราบทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จสู่กรุงอุชเชนี
  
ครั้นกัจจายนะปุโรหิตและพราหมณ์ทั้ง ๗ คนได้บรรลุอรหันต์และได้บวชเป็นพระภิกษุแล้วจึงได้กราบทูลอาราธนานิมนต์พระ พุทธเจ้าให้เสด็จไปทรงโปรดพระเจ้าจันฑปัชโชตและประชาชนชาวเมืองอุชเชนี  พระพุทธองค์ทรงดำริว่า  “พระมหากัจจายนะเป็นพระที่ประชาชนศรัทธาเลื่อมใสมากและพระมหากัจจายนะองค์นี้เป็นผู้สามารถอธิบายธรรมอันเป็นอรรถอันลุ่มลึกที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย และพิสดารเกือบเทียบเท่ากับเรา  การที่เราอนุญาตให้พระมหากัจจายนะและพระอรหันต์ทั้ง ๗ รูปกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองคงจะเหมาะ พระมหากัจจายนะคงสามารถทำให้พระเจ้าจันฑปัชโชตและประชาชนชาวเมืองอุชเชนี เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาได้”    เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริเช่นนี้แล้วก็ทรงตรัส   กับพระมหากัจจายนะว่า “ดูก่อนกัจจายนะ  ท่านจงเป็นตัวแทนเราไปประกาศพระศาสนาในกรุงอุชเชนีเถิด  เมื่อท่านไปแล้ว  พระเจ้าจันฑปัชโชตและชาวเมืองอุชเชนีจะเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเท่ากับเราได้ ไปเอง”    พระมหากัจจายนะก็รับพุทธบัญชาจากพระพุทธองค์แล้วก็ออกเดินทางกลับไปยังกรุง อุชเชนีอันเป็นบ้านเกิดของตนพร้อมกับพระอรหันต์อีก ๗ รูป  เมื่อเดินทางไปถึงตำบลนาลินิคมก็พลบค่ำพอดีจึงได้เข้าไปอาศัยพักผ่อนในนิคมนี้หนึ่งคืน พอรุ่งเช้าก็ออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
      พระมหากัจจายนะโปรดธิดาเศรษฐีผมงาม
   ในหมู่บ้านนาลินิคมนั้นมีลูกสาวของอดีตเศรษฐีเก่าคนหนึ่งหลังจากเศรษฐีผู้เป็น พ่อได้ตายไปแล้วก็เกิดยากจนลง  จนต้องไปรับจ้างเลี้ยงลูกให้เขาเพื่อเลี้ยงชีพแต่ลูกสาวของเศรษฐีเก่าคนนี้ นางมีผมยาวงามดำสนิทสละสลวยสวยงามกว่าใครๆในหมู่บ้านนั้นและในหมู่บ้านนี้มี เศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า “อิสระเศรษฐี”  ท่านอิสระเศรษฐีมีลูกสาวคนหนึ่งที่ที่มีผมบางๆจนแทบจะโล้นนางพยายามถามซื้อผมอันยาวงามจากลูกสาวเศรษฐีเก่าในราคาถึง ๑๐๐๐ กหาปณะ  ถึงแม้จะยากจนลูกสาวเศรษฐีเก่าก็ไม่ยอมขายผมของตนเอง  
   ในวันนั้นพระมหากัจจายนะและพระอรหันต์อีก ๗ รูป ออกเที่ยวรับบิณฑบาตแต่ไม่ได้อะไรเลยนางก็คิดในใจว่า “พระหนุ่มที่เดินนำหน้าเพื่อนเป็นพระรูปงามผิวเหลืองอร่ามประดุจดังทองคำสวย งามยิ่งนักซี้งเรายังไม่เคยพบเคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลย จำเราจะถวายบิณฑบาตให้แก่ท่านเถอะ”   เมื่อคิดดังนี้แล้วนางก็ไปนิมนต์พระมหากัจจายนะและพระอรหันต์อีก ๗ รูปมามารับบิณฑบาตที่เรือนของตน   แต่นางก็ไม่มีเงินจะทำบุญเลยนางจึงได้ตัดสินใจตัดผมอันสวยงามของตนเอาไปขาย ให้แก่ลูกสาวอิสระเศรษฐี   ส่วนลูกสาวอิสระเศรษฐีคิดว่า “แต่ก่อนเราถามซื้อนางราคาถึง ๑๐๐๐ กหาปณะ นางก็ไม่ยอมขายแต่วันนี้ทำไมนางยอมขายโดยไม่เรียกร้องราคาเลย ช่างน่าแปลกใจยิ่งนัก”   เมื่อเป็นเช่นนี้นางก็เลยฉวยโอกาสบั้นราคาลงเหลือแค่ ๘ กหาปนะเท่านั้น  นางจึงพูดกับลูกสาวเศรษฐีเก่าว่าฉันซื้อได้แค่ ๘ กหาปณะเท่านั้น คุณจะขายหรือเปล่า”  ลูกสาวเศรษฐีเก่าต้องการเอาเงินไปทำบุญจึงได้ตัดสินใจขาย   เมื่อได้เงินมาแล้วนางจึงจัดถวายบิณฑบาตแก่พระมหาเถระแบ่งออกเป็น ๘ ที่ๆละ ๑ กหาปณะ  พระมหากัจจายนะเล็งดูด้วยญาณเห็นอุปนิสัยของนางจึงถามสาวใช้ว่า “นางไปไหนหรือ”   สาวใช้ตอบว่า “นางอยู่ในห้องข้างในเพราะความละอายที่ตัดผมออกขาย  เจ้าข้า”   พระมหาเถระจึงพูดกับสาวใช้ว่า “จงไปเรียกนางออกมาที่นี่ซิ  อาตมามีเรื่องจะพูดคุยด้วยสักเล็กน้อย”    สาวใช้ก็รีบเข้าไปบอกนางๆก็ออกมานมัสการพระมหาเถระแล้วนางก็กราบเรียนพระมหา เถระว่า “ดิฉันไม่ได้ออกมาต้อนรับพระคุณเจ้าผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต้องขออภัยโษทด้วย เจ้าค่ะ”    ไม่เป็นไรน้องหญิง พระมหาเถระกล่าวแล้วก็ให้พรและอนุโมทนาในผลทานของนาง   ด้วยอำนาจที่นางมีความรักและศรัทธาเลื่อมใสในพระมหาเถระอย่างแรงกล้า ทานของนางจึงมีอานิสงส์มากที่สามารถเห็นผลได้ในทันตา   จนทำให้ผมที่นางได้ตัดขายไปแล้วนั้นเกิดงอกขึ้นมาใหม่ซึ่งมีความสวยงามมาก ยิ่งกว่าเดิมและตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมานางก็มีฐานะดีขึ้นเรื่อยๆโดยลำดับ  เพราะเรื่องนี้เป็นสาเหตุจึงทำให้ประชาชนในตำบลนาลินิคมกล่าวโจษขานไปต่างๆ นานา     หลังจากพระมหาเถระฉันภัตราหารเสร็จแล้วก็ได้เหาะขึ้นไปในอากาศต่อหน้าลูกสาว เศรษฐีและประชาชนที่อยู่ในที่นั้นแล้วก็เหาะไปลงที่พระราชอุทยานของพระเจ้า จันฑปัชโชตที่มีชื่อว่า “อุทยานกัญจนะ”  ในกรุงอุช เชนี
 
พระมหากัจจายนะโปรดพระเจ้าจันฑปัชโชตและชาวกรุงอุชเชนี
   พระ เจ้าจันฑปัชโชตได้ทราบข่าวว่าพระมหากัจจายนะและพระอรหันต์อีก ๗ รูปกลับมาถึงเมืองอุชเชนีแล้ว  ตอนนี้อยู่ที่อุทยานกัญจนะ  พระเจ้าจันฑปัชโชตพร้อมด้วยข้าราชบริพารก็ได้เสด็จมาที่อุทยานกัญจนะแล้ว ไหว้พระมหากัจจายนะและพระเถระทั้งหลายจึงเสด็จประทับนั่ง ณ ที่อันสมควรแล้วตรัสถามพระมหากัจจายนะว่า “พระคุณเจ้า   พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่ไหนหรือ?”   พระมหาเถระจึงทูลว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร  พระพุทธองค์ไม่ได้เสด็จมา  พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธบัญชาให้อาตมาภาพมาแทน มหาบพิตร”   พระราชาตรัสถามพระมหาเถระต่อไปว่า “วันนี้พระคุณเจ้าฉันภัตราหารเช้าที่ไหน”   พระมหาเถระถวายพระพรต่อไปว่า “วันนี้อาตมาภาพพร้อมกับพระเถระทั้ง ๗ รูปได้ฉันภัตราหารเช้าที่บ้านของธิดาของอดีตเศรษฐีในหมู่บ้าน นาลินิคม  มหาบพิตร”   พระมหาเถระก็ได้เล่าเหตุการณ์ที่นางผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระ พุทธศาสนาอันแรงกล้าถึงกับตัดผมอันหวงแหนของตนออกขายเอาเงินมาซื้ออาหาร เลี้ยงพระอย่างเด็ดเดี่ยว  นางเป็นสุภาพสตรีที่หายากมากในยุคนี้  ด้วยอำนาจบุญกุศลที่สะอาดบริสุทธิ์ประกอบด้วยศรัทธาอันแรงกล้าของนางจึงทำ ให้นางได้เห็นผลของทานในปัจจุบันทันตาเห็นเลยที่เดียว  มหาบพิตร   ในขณะที่อาตมาภาพกำลังสนทนากับนางอยู่นั่นเองผมของนางที่ตัดขายเอาเงินมาทำ บุญนั้นก็ได้งอกขึ้นมาเหมือนเดิม  มหาบพิตร      เมื่อพระเจ้าจันฑปัชโชตได้ทรงสดับเรื่องราวของนางแล้ว  ก็ทรงนิยมชมชอบในตัวนางยิ่งนัก  จึงได้ส่งเสนาอำมาตย์นำเอาราชรถไปรับนางมาตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีของ พระองค์  นี้แหละท่านผู้อ่านทั้งหลายผลแห่งทานที่นางได้กระทำบุญเอาไว้อันน้อยนิดแต่ บุญนั้นกลับมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่นัก  เพราะอำนาจแห่งศรัทธาอันแรงกล้าของนางในพระพุทธศาสนาด้วยเหตุกลัวว่าพระมหา เถระทั้งหลายจะอดอยากจึงทำให้นางต้องตัดผมของตนเองขาย ผมที่นางได้ตัดขายไปนั้นกลับงอกขึ้นมาเหมือนเดิมและด้วยอำนาจแห่งทานที่นาง ได้กระทำแล้วในวันนั้นส่งผลให้นางได้ตำแหน่งอัครมเหสีของพระราชาแห่งกรุงอุ ชเชนีในวันนั้นนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่า "ให้ทานแล้วก็สามารถเห็นผลของทานในวันนั้นเลย  นี้ก็นับว่าเป็นเรื่องมหัสจรรย์ยิ่งนัก"      พระราชาและ ประชาชนชาวกรุงอุชเชนีเลื่อมใสในธรรมกถาของพระมหาเถระยิ่งนักได้ทำสักการะ พระมหาเถระด้วยสักการะอันยิ่งใหญ่และประชาชนทั้งหลายเหล่านั้นก็พากันออกบวช ในระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากจนกรุงอุชเชนีคลาคล่ำไปด้วยผ้า
กาสาวพัสตร์และ หมู่ภิกษุทั้งหลาย   ฝ่ายพระเทวีนั้นทรงเลื่อมใสในพระมหากัจจายนเถระอย่างยิ่งเป็นทุนอยู่แล้ว จึงขอพระราชานุญาตสร้างวิหารถวายพระมหาเถระในกัญจนะราชอุทยาน พระมหาเถระเมื่อยังชาวกรุงอุชเชนีให้เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาแล้ว จึงกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง  เวลาต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงกระทำพระสูตร ๓ สูตร เหล่านี้คือ มะธุบิณฑิกะสูตร
, กัจจายนะเปยยาลสูตร, ปรายะนะสูตร ให้เป็นเนื้อความแห่งเหตุแล้วจึงทรงสถาปนาพระมหาเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดแห่งภิกษุทั้งหลาย   ผู้ที่สามารถจำแนกอรรถแห่งธรรมที่
   พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้โดยย่อให้พิสดารได้  ท่านพระมหากัจจายนะ เป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำย่อให้พิสดาร เช่นในครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกะรัตตะสูตรโดยย่อมีใจความ ว่า "ผู้มีปัญญาไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรจะมุ่งหมายสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละเสียแล้ว สิ่งใดยังมาไม่ถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้ยังไม่ถึงเวลา ผู้ใดเห็นแจ้งธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าในที่นั้น ๆ ในกาลนั้น ๆ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว พึงให้ธรรมนั้นเจริญเนือง ๆ ควรทำความเพียรเสียในวันนี้แล ใครเล่าจะพึงรู้ว่าความตายจักมีต่อพรุ่งนี้ เพราะว่าความผิดเพี้ยนต่อมัจจุราชที่มีเสนาใหญ่ไม่มีเลย ผู้รู้ที่เป็นคนสงบระงับ ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาท อย่างนี้ชื่อว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญ" ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วเสด็จลุกเข้าสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายไม่ได้โอกาสที่จะทูลถามเนื้อความที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้เข้า ใจกว้างขวาง ทรงเห็นความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะจึงได้อาราธนาขอให้ท่านอธิบายให้ฟัง ท่านก็อธิบายให้ฟังโดยพิสดารว่า "ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วโดยย่อ โดยความพิสดารว่า “เมื่อบุคคลคิดว่าในกาลล่วงแล้ว ตากับรูป, หูกับเสียง, จมูกกับกลิ่น,  ลิ้นกับรส, กายกับสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย,  ใจกับอารมณ์ที่เกิดกับใจของเรามีแล้วอย่างนั้น  ความกำหนัดพอใจในสิ่งเหล่านั้นก็ผูกพันวิญญาณ เพราะวิญญาณอันความกำหนัดพอใจผูกพันแล้ว ผู้นั้นก็เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่ตามคิดถึงเรื่องที่ล่วงแล้ว บุคคลตั้งจิตไว้เพื่อหมายจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วว่า ในกาลไกลข้างหน้า นัยน์ตากับรูป เป็นต้น ของเราจักเป็นอย่างนี้ เพราะความตั้งจิตอย่างนั้นเป็นปัจจัยผู้นั้นก็เพลิดเพลินต่อสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่ามุ่งหมายสิ่งที่ยังมาไม่ถึง บุคคลไม่ตั้งจิตโดยหมายจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วอย่างนั้น ก็ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ ผู้ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่มุ่งหมายสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล นัยน์ตากับรูปอย่างละ ๒ อันใดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ้าว่าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ผูกพันวิญญาณได้แล้ว บุคคลก็เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ ผู้เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ้าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ไม่ผูกพันวิญญาณได้ บุคคลก็ไม่าเพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ท่านผู้มีอายุเราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อโดยความพิสดาร อย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความนั้น เถิด พระองค์ทรงเล่าอย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้นเถิด" ภิกษุเหล่านั้นลาท่านพระมหากัจจายนะกลับมา แล้วเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า" ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกับเรา แม้เราก็คงแก้เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วอย่างนั้น เนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้นเป็นอย่างนั้นๆแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิดด้วยเหตุฉะนี้ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายเนื้อความที่ย่อให้พิสดาร"

    ท่านพระมหากัจจายนะ ได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติบางข้อซึ่งขัดต่อภูมิประเทศ เช่นเมื่อท่านพำนักอยู่ ณ ภูเขาที่ชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรุระฆระ ในอวันตีทักขิณาปถะชนบท อุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านคนหนึ่ง ชื่อว่า โสณะกุฏิกัณณะมีความประสงค์จะบวชเป็นพระในพระธรรมวินัย แต่ก็บวชไม่ได้เพราะมีพระไม่ครบ ๑๐ รูปบวชได้แค่สามเณรเท่านั้น โดยกาลเวลาล่วงไปสามปีแล้วจึงอุปสมบทได้ เพราะในอะวันตีทักขิณาปถะชนบท  หาภิกษุสงฆ์ที่เป็นคะณะปูระกะ คือ ๑๐ รูปขึ้นไป ไม่ได้ เมื่อโสณะกุฏิกัณณะได้อุปสมบทแล้วมีความปรารถนาจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงไปลาท่านพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านก็อนุญาต และสั่งให้ไปถวายบังคมพระบาทพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำขอของท่าน แล้วให้กราบทูลขอให้     พระทธองค์ ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติที่พระองค์ทรงบัญญัติว่า "การอุปสมบทต้องให้มีพระภิกษุ ๑๐ รูป ขึ้นไป" แต่ในอะวันตีทักขิณาปถะชนบทมีพระภิกษุน้อยหายากมีไม่ครบ ๑๐ รูป ขอให้ทรงอนุญาตอุปสมบทได้ในจำนวนพระภิกษุสงฆ์ที่น้อยกว่า ๑๐ รูป ได้ และทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเกี่ยวกับอวันตีทักขิณาปถะชนบท ๕ ข้อ คือ:-
     ๑. ในอะวันตีทักขิณาปถะชนบท มีภิกษุน้อย ขอพระทธองค์ทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูปได้   ในข้อนี้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตะชนบท ด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕ รูปได้"
     ๒. ในอะวันตีทักขิณาปถะชนบท มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้าเป็นชั้นๆได้   ในข้อนี้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายสวมรองเท้าเป็นชั้นๆได้ ในปัจจันตะชนบท"
     ๓. ในอะวันตีทักขิณาปถะชนบท พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอาบน้ำเป็นนิตย์ได้   ในข้อนี้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ในปัจจันตะชนบท" (ในมัชฌิมะประเทศ คือในเมือง ๑๕ วันภิกษุอาบน้ำได้ครั้งหนึ่ง)
     ๔. ในอะวันตีทักขิณาปถะชนบท มีเครื่องลาด (ที่ปูนั่ง) ที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น บริบูรณ์ดีเหมือนมัชฌิมชนบท ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วย หนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น ในข้อนี้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้นได้"

     ๕. ในอะวันตีทักขิณาปถะชนบท มีภิกษุน้อย มนุษย์ทั้งหลายย่อมถวายจีวรแก่ภิกษุผู้จาริกไปภายนอกสีมาด้วยคำว่า พวกข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เมื่อพวกเธอกลับมาถึงวัดแล้ว พวกภิกษุในวัดแจ้งความให้พวกเธอทราบว่าจะรับจีวรนอกสีมาไม่ได้ เมื่อมีทายกถวายจีวรนอกสีมาพวกเธอก็รังเกียจไม่ยินดีรับ ด้วยเข้าใจว่าผ้าผืนนั้นเป็นนิสสัคคียะ (ผิดวินัยจำต้องสละ เพราะล่วงเวลา ๑๐ วันแล้ว) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสบอกการปฏิบัติในจีวรเช่นนั้น ในข้อนี้มีพระพุทธองค์ทรงบัญญัติว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ภิกษุยินดีรับจีวรที่ทายกถวายในที่ลับหลังได้ แต่ถ้าผ้ายังไม่ถึงมือตราบใด จะนับว่าเธอผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิ์ในผ้านั้นเต็มที่แล้วยังไม่ได้ตราบนั้น"
           พระมหาเถระยกย่องการฟังธรรม               
   ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมากได้ประทับอยู่ในปราสาทของนางวิสาขาในวันมหาปวารณา  ครั้งนั้นพระมหากัจจายนะอาศัยอยู่ในอวันตีชนบท  ตามปกติท่านจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกเดือนเพื่อฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระสาวก  วัน นั้นเป็นวันที่พระมหากัจจายนะจะมาฟังธรรมจากพุทธเจ้า เป็นธรรมเนียมของพระเถระผู้ใหญ่จะต้องมานั่งในที่อาสนะที่เขาปูไว้เพื่อตนจะ ไม่นั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้เพื่อผู้อื่นในวันนั้นพระเถระทั้งหลายก็นั่งเว้น ที่อาสนะของพระมหากัจจายนะเอาไว้ถึงท่านจะไม่มาก็ตามนี้เป็นธรรมเนียมของพระ เถระผู้ใหญ่   ในวันนั้นท้าวสักกเทวราช ที่ชาวโลกมักจะเรียกพระองค์ว่า "พระอินทร์" ก็ได้ทรงพาเหล่าเทพยดาทั้งหลายเสด็จลงมาบูชาพระพุทธเจ้าด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้อันเป็นทิพย์ทรงประทับยืนรออยู่ เมื่อไม่ทรงเห็นพระมหากัจจายนะมาก็รำพึงแต่ในพระทัยว่า "ทำไมหนอ ! พระผู้เป็นเจ้าของเราจึงไม่ปรากฏ  การมาของท่านเป็นการดีมาก"    ในทันใดนั่นเองพระมหาเถระก็ปรากฏขึ้นบนอาสนะของท่าน  ท้าวสักกเทวราชทรงดีพระทัยยิ่งนักรีบตรงเข้าไปจับเท้าของพระมหาเถระแล้วทรงตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้าของเรามาแล้วหนอ  เราหวังการมาของท่านเป็นอย่างยิ่งทีเดียวแล้วก็ทรงนวดเท้าของพระเถระด้วยพระหัตถ์ของพระองค์  บูชาพระเถระด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้อันเป็นทิพย์ไหว้พระเถระแล้วทรงประทับยืนอยู่ ณะ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง
        เทวดาทั้งหลายรักใคร่พระภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์ 
 เมื่อภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนเห็นท้าวสักกเทวราชบูชาพระมหากัจจายนะเช่นนั้นก็กล่าวโพนทนากันว่า "ท้าว สักกเทวราชทรงเห็นแก่หน้าบูชาพระมหากัจจายนะด้วยของหอมและดอกไม้อันเป็นทิพย์ทรงนวดเท้าของพระมหากัจจายนะและสักการะด้วยเครื่องสักการะอันยิ่งใหญ่ แต่พระถระที่เป็นสาวกผู้ใหญ่กว่ามีเป็นจำนวนมากไม่ทรงบูชา"    พระพุทธองค์เมื่อได้ทรงสดับการกล่าวโพนทนาของพระภิกษุทั้งหลายจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุรูปใดมีไตรทวารอันตนคุ้มครองดีแล้วและมีอิทรีย์ทั้งหลายอันตนสำรวมดีแล้วเหมือนพระมหากัจจายนะ  ภิกษุนั้นย่อมเป็นที่รักใคร่ของเหล่าเทพเจ้าทั้งหลายในทรวงสวรรค์"
   พระมหากัจจายนะได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้า  
   ท่านพระมหากัจจายนะท่าน เป็นผู้ฉลาดในการอธิบายเนื้อความแห่งธรรมที่ย่อให้พิสดาร  เช่น ในครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกะรัตตะสูตรโดยย่อมีใจความว่า "ผู้มีปัญญาไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรจะมุ่งหมายสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ได้สูญสิ้นไปแล้ว สิ่งใดยังมาไม่ถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้เป็นของจริง  ผู้ใดเห็นแจ้งธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าในที่นั้น ๆ ในกาลนั้น ๆ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว พึงทำให้ธรรมะนั้นเจริญเนือง ๆ ควรทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้แล  ใครเล่าจะพึงรู้ว่าความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าความผิดเพี้ยนต่อพระยามัจจุราชที่มีเสนาใหญ่ไม่มีเลย ผู้รู้เป็นคนสงบระงับ ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาท อย่างนี้ชื่อว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญ" ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วก็เสด็จลุกขึ้นเข้าสู่พระวิหารที่ประทับ    ภิกษุทั้งหลายไม่ได้โอกาสที่จะทูลถามเนื้อความที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้ เข้าใจกว้างขวางได้   จึงได้อาราธนาพระมหากัจจายนะขอให้ท่านอธิบายธรรมที่พระองค์ตรัสให้ฟังอีก ครั้ง ท่านก็อธิบายให้ฟังโดยพิสดารว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ให้ได้ความพิสดารว่า" เมื่อบุคคลคิดว่ากาลเวลาที่ล่วงไปแล้ว ตากับรูป, หูกับเสียง, จมูกกับกลิ่น,  ลิ้นกับรส , กายกับสิ่งที่จะพึงถูกต้องสัมผัสด้วยกาย,  ใจกับอารมณ์ที่เกิดกับใจของเรามีแล้วอย่างนั้น  ความกำหนัดพอใจในสิ่งเหล่านั้นก็ผูกพันวิญญาณ เพราะวิญญาณอันความกำหนัดพอใจผูกพันแล้ว ผู้นั้นก็จะเกิดความเพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่ตามคิดถึงเรื่องที่ล่วงไปแล้ว บุคคลตั้งจิตไว้เพื่อมุ่งหมายจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วว่า ในกาลไกลข้างหน้า นัยน์ตากับรูป เป็นต้น ของเราจักเป็นอย่างนี้ เพราะ ความตั้งจิตอย่างนั้นเป็นปัจจัยผู้นั้นก็เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่ามุ่งหมายสิ่งที่ยังมาไม่ถึง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อหมายจะได้ในสิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วอย่างนั้น ก็ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่มุ่งหมายกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง นัยน์ตากับรูปอย่างละ ๒ อันใดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ้าว่าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ผูกพันวิญญาณได้แล้ว บุคคลก็เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ ผู้เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า  ถ้าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ไม่ผูกพันวิญญาณได้ บุคคลก็ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า   ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลายข้าพเจ้าเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ทรง แสดงแล้วโดยย่ออย่างนี้และ ก็ได้อธิบายให้พิสดารโดยนัยที่ได้กล่าวมาแล้วดังนี้  ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์จะเข้าใจที่ชัดเจนกว่านี้ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์จะทรงเล่าอย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้นเถิด" ภิกษุเหล่านั้นลาท่านพระมหากัจจายนะกลับมา แล้วเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า" ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกับเรา แม้เราก็คงจะแก้เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วนั้น เนื่อความแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้นเป็นอย่างนั้นนั่นแหละ เธอทั้งหลายจงจำเอาไว้เถิด ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในการอธิบายเนื้อความแห่งธรรมโดยย่อให้พิสดาร" พระพุทธองค์จึงทรงตั้งให้ท่านเป็นเอตทัคคะในทาง เป็นผู้อธิบายเนื้อความแห่งธรรมที่ย่อให้พิสดาร
          พระเจ้ามธุระราชอะวันตีบุตรทรงถามเรื่องวรรณะ
   เมื่อครั้งพระมหากัจจายนะได้เผยแพร่พระศาสนาอยู่ที่ตำบลคุนธาวัน  แขวงเมืองมธุระราชธานี  พระ เจ้ามธุระราชอะวันตีบุตรได้ทรงถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องวรรณะกับพระมหาเถระ ว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ   พวกพราหมณ์ทั้งหลายถือว่าพวกเขาเป็นผู้ประเสริฐและบริสุทธิ์เพราะเกิดมาจาก พรหม  พระคุณเจ้าเห็นเป็นอย่างไร?"
   -พระมหากัจจายนะทูลตอบว่า
     -ในวรรณะ ๔  จำพวกเหล่านี้คือ ๑.กษัตริย์   ๒.พราหมณ์   ๓.แพศย์   ๔.ศูทร 
     -วรรณะใดเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวย  วรรณะอื่นหรือวรรณะเดียวกันย่อมเข้าไปเป็นพวกพร้องบริวารของวรรณะนั้น
     -วรรณะใดทำบาปอกูศลเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก วรรณะนั้นย่อมเข้าไปสู่อบายภูมิไม่มีข้อยกเว้นว่าผู้นั้นเป็นพราหมณ์หรือไม่เป็นพราหมณ์
     -วรรณะ ใดทำบุญกุศลเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก  วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ไม่มีข้อยกเว้นว่าผู้นั้นเป็นพราหมณ์ หรือไม่เป็นพราหมณ์
   -วรรณะใดกระทำ โจรกรรมเล่นชู้กับลูกเมียหรือลูกผัวผู้อื่น  วรรณะนั้นก็จะต้องเป็นบาปอกุศลเหมือนกันหมดไม่มียกเว้นว่าผู้นั้นเป็น พราหมณ์หรือไม่เป็นพราหมณ์
     -วรรณะ ใดเห็นโทษในการครองเรือนออกบวชตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม  วรรณะนั้นก็จะได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนและจะได้รับการคุ้มครองรักษา เหมือนกันหมดไม่มีข้อยกเว้นว่าวรรณะนี้เป็นพราหมณ์หรือไม่เป็นพราหมณ์
    **หมายเหตุ:- วรรณะ  ๔  คือจุดอ่อนของประเทศอินเดียทำให้ประเทศอินเดียซึ่งมีเนื้อที่ของประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาลและมีประชากร ๑๒๕๒ ล้านคนมีมาก เป็นอันดับสองรองจากประเทศจีนต้องมาพ่ายแพ้ย่อยยับให้แก่ประเทศอาหรับตกเป็น เมืองขึ้นอยู่หลายร้อยปีประเทศชาติต้องแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆถูกแบ่งออกไป เป็นหลายประเทศเช่น ปากีสถาน,, เนปาล,,บังคลาเทศ,และอัฟกานิสถาน  เมื่อ หมดยุดของพวกอาหรับแล้วก็ยังมาถูกประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศเล็กนิดเดียว เข้ามายึดครองเอามาเป็นเมืองขึ้นอีก  สาเหตุที่ทำให้ประเทศอินเดียต้องเกิดวิบัติเช่นนี้ก็เพราะวรรณะ ๔ นั่นเอง  วรรณะ  ๔  ทำให้ประชาชนในประเทศอินเดียต้องแตกแยกกันแบ่งกันเป็นก๊กเป็นเหล่าแย่งกัน เป็นใหญ่รบราฆ่าฟันกันเองและประชาชนก็ดูถูกเหยียดหยามกันและกัน  แต่ละวรรณะก็เข้ากันไม่ได้  เข้าคำพังเพยที่ว่า "ใหญ่แต่แตกแยกสามัคคีกันก็กลายเป็นเล็กๆแต่สามัคคีกลมเกลียวกันก็กลายเป็น ใหญ่" ประเทศอังกฤษถือเอาจุดอ่อนของประเทศอินเดียตรงนี้แหละจึงสามารถเข้ายึดครองประเทศอินเดียได้อย่างง่ายดาย
    ครั้นพระ เจ้ามะธุระราช ได้สดับความคิดเห็นของพระเถระแล้วก็เกิดความเลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระเถระเจ้ากับ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ  พระเถระทูลห้ามว่า อย่าถึงอาตมาเป็นสรณะเลย  จงถึงซึ่งพระพุทธเจ้าของอาตมาภาพ เป็นสรณะเถิด  พระเจ้ามะ ธุระราช ตรัสถามว่า "เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใหน"    พระเถระทูลว่า "พระพุทธเจ้า ทรงปรินิพพานแล้ว"    พระเจ้ามะธุระราชตรัสว่า "ถ้าข้าพเจ้าได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน แม้จะทรงอยู่ไกลแค่ไหนข้าพเจ้าก็จะไปเฝ้าพระพุทธองค์ให้จงได้  แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ข้าพเจ้าก็จะขอถือเอาพระพุทธองค์เป็นสรณะ แม้พระพุทธองค์จะปรินิพพานไปแล้วก็ตาม  ข้าพเจ้าก็จะถือเอาพระพุทธองค์
, พระธรรม, และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งตลอดไป   พระเถระดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้กว้างขวางมากพอสมควรจนตลอดชีวิตของท่าน  หลัง จากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานแล้ว  ท่านมหากัจจายนะก็ได้เข้าร่วมทำปฐมสังคายนาและคัมภีร์ของท่านก็ถูกนำเข้ามา จารึกไว้ในส่วนของพระสูตรท่านดำรงชีวิตต่อมาอีกไม่นานท่านก็ดับขันธปรินิพพาน
 ความเชื่อถือเกี่ยวกับพระมหากัจจายนะของฝ่ายมหายาน
   พระมหากัจจายนะนี้ทางฝ่ายมหายานเขาถือไปอีกอย่าง คือถือว่าท่านยังเป็นพระโพธิสัตย์อยู่ จะต้องมาตรัสรู้ เป็นพระศรีอริยเมตไตรย์ในอนาคต  แต่เกี่ยวกับเรื่องนี้ข้าพเจ้าผู้เขียนประวัติของท่านมีความเข้าใจว่าพระศรีอริยเมตไตรย์กับพระมหากัจจายนะนั้นเป็นคนละคนกัน  พระศรีอริยเมตไตรย์นั้นเป็นพระโพธิสัตว์ตอนนี้ท่านประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตเตรียมที่จะเสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมนุษย์ในโลกนี้มีอายุขัยได้ ๘๐๐๐๐ ปี  ส่วนพระมหากัจจายนะนั้นท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "โคตมะ"  ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อดับขันธปรินิพพานแล้วจะต้องเข้าสู่พระนิพพานเท่านั้นจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกไม่ได้ ขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายจงเข้าใจตามนี้  ชาวพุทธทั้งหลายถือกันว่าพระมหากัจจายนะเป็นผู้มีบารมีทางโชคลาภและเสน่ห์นิยม ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตามต่างก็นิยมบูชารูปปั้นของท่านมักจะมีรูปปั้น หรือรูปหล่อของท่านไว้สักการะบูชาที่บ้านเรือนของตนเอง ตามวัดและตามถ้ำก็มักจะทำรูปปั้นของท่านเอาไว้ให้คนได้สักการะบูชา
    ความเชื่อถือของชาวพุทธเกี่ยวกับพระมหากัจจายนะ 
  ชาวพุทธนิยมกราบไหว้สักการบูชาพระมหากัจจายนะเพื่อให้บังเกิดความเป็นสิริมงคล ประการแก่ตนเองและครอบครัว ดังนี้
    .ทางโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ พระมหากัจจายนะได้รับการยกย่องให้เป็นผู้อุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ และลาภสักการะ
     .ทางสติปัญญา เนื่องจากพระมหากัจจายนะได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศในทางการอธิบายพุทธภาษิตที่ย่อให้พิสดารท่านเป็นอรหันต์ที่มีเชาว์ไหวพริบปฎิภาณอันเฉียบแหลมโต้ตอบคนได้รวดเร็วทันใจ
      .ทางความหล่อ, ความสวยงาม, และความมีเสน่ห์เป็นเมตตามหานิยม เนื่องจากว่าก่อนที่ท่านจะอธิษฐานจิตให้รูปร่างเปลี่ยนแปลง เป็น รูปร่างอันอ้วนเตี้ยพุงโตไปนั้นท่านเป็นผู้มีรูปร่างหล่อสวยงามมีผิวพรรณ วรรณะประดุจดั่งทองคำและมีรูปงามละม้ายดล้ายกับพระพุทธเจ้า แม้แต่เทพยดา พรหม
มนุษย์ทั้งหลายต่างก็รักใคร่ชื่นชมในตัวท่านเป็นอันมาก
       เคล็ดลับในการบูชาพระมหากัจจายนะ
   การบูชาพระมหากัจจายนะถ้าต้องการจะให้ได้ผลดีให้แต่งเครื่องดังนี้
    ๑.ธุป  ๓  ดอก
    ๒.เทียน  ๒  เล่ม
    ๓.ดอกไม้สีขาวที่มีกลิ่นหอมหรือดอกบัวก็ได้  ๙  ดอก
    ๔.น้ำสะอาด  ๑  แก้ว

    ๕.จงหมั่นให้ทานสร้างกรรมดีละเว้นกรรมชั่วทั้งปวง
    ๖.รักษาศีล  ๕ 
    ข้อควรใส่ใจถ้ามีรูปหล่อหรือรูปปั้นของท่านให้ปิดทองที่ท้องของท่านจะทำให้เจ้าของบ้านมีโชคลาภไม่ขาดสาย
          คาถาบูชาพระมหากัจจายนะ
   **กัจจายนะมะหาเถโร  สังโฆ  สังฆานัง  สังฆะตัง  สังฆัญจะ    สังฆะสุภาสิตัง  สังฆะตัง  สะมะนุปปัตโต   สังฆะโชตัง  นะมามิหัง  ปิโยเทวะมะนุสสานัง    ปิโยพรหมานะมุตตะโม  ปิโยนาคะสุปันนานัง  ปิยินทะริยัง  นะมามิหัง  สัพเพชะนา  พะหูชะนา  ปุริโสชะนา   อิตถีชะนา  ราชาภาคินิ  จิตตัง  อาคัจฉาหิ  ปิยังมะมะ ฯ
   -วิธีปฏิบัติ:-
      ๑.อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดทำจิตใจให้สบาย
      ๒.สวดบูชาอย่างน้อยวันละ  ๒  ครั้ง  คือก่อนเข้านอน ๑ ครั้งและตอนเช้าก่อนล้างหน้าอีกหนึ่งครั้ง
      ๓.แต่งขัน  ๕  คือดอกไม้ ๕ คู่,  ธูป ๕ คู่, และเทียน ๕ คู่   วางไว้หน้ารูปเหมือนของท่าน
      ๔.ก่อนสวดให้จุดธูป  ๓  ดอก,  เทียน  ๒  เล่ม,   ตั้งนโม  ๓  จบ,  สวดอิติปิโส  ๙  จบ

      ๕.สวดคาถาบูชาพระมหากัจจายนะ  ๓  จบ   ถ้าวันไหนเป็นวันเกิดของเราให้สวด  ๙  จบ   ให้สวดไปเรื่อยๆจนกว่าจะสวดไม่ได้  ท่านก็จะมีโชคลาภและมหานิยมอยู่ในตัวอย่างน่าอัศจรรย์
      คัมภีร์ที่เป็นผลงานของท่านมหากัจจายนะ            
   พระมหากัจจายนะท่านมีผลงานในการเขียนคัมภีร์เอาไว้  ๓  เล่ม  คือ:-
     ๑.กัจจายนปกรณ์     คือคัมภีร์ที่ว่าด้วยประวัติการการทำบุญสร้างกุศลและความปราถนาของท่าน ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "ปทุมุตตระ"
     ๒.มหานิรุตติปกรณ์     คือคัมภีร์ที่ว่าด้วยภาษาต่างๆเช่น ภาษาของมนุษย์, ภาษาของเทพ, ภาษาของพรหม, ภาษาของภูตผีปีศาจ, ภาษาของสัตวว์ทั้งหลาย,ภาษาของต้นไม้, และภาษาของจิต   ความเป็นผู้ฉลาดในการใช้ภาษามีความสามารถในการพูดตอบโต้คู่อริให้จำนนด้วย เหตุผลที่เป็นจริงและสัมผัสได้ในฉับพลันทันที ใช้ภาษาได้สละสลวยเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ฟังทุกระดับชั้น  และมีความสามารถในการอธิบายเรื่องราวและข้อความที่ย่อให้เกิดความพิสดารจน ผู้ฟังเข้าใจได้ทุกเรื่อง
     ๓.เนตติปกรณ์  หมายถึง คัมภีร์แนะแนว คือแนะแนวทางนำไปสู่ความเข้าใจพระพุทธพจน์ จึงเป็นตำราอธิบายพระพุทธพจน์ แต่งในสมัยพุทธกาล โดยพระมหากัจจายนะ ผู้เลิศในการอธิบายความย่อให้พิศดาร และตำราเล่มนี้ได้ถูกนำเข้าร่วมสังคายนากับพระไตรปิฎกในปฐมสังคายนา คัมภีร์นี้มี ลีลาการประพันธ์คล้ายคลึงกับคัมภีร์ไวยากรณ์ คือ มีกฎเกณฑ์ในการอธิบายธรรมที่เรียกว่า “สูตร และอุทาหรณ์” ที่นำมาแสดงเป็นตัวอย่างของเรื่องนั้นๆ คัมภีร์นี้จึงมีลักษณะในการอธิบายอรรถที่ละเอียดลึกซึ้งในพระไตรปิฎก เปรียบดั่งเข็มทิศที่ชี้แนะทิศทางแก่คนเดินทาง ทำให้ชาวพุทธไม่ตีความพระพุทธพจน์ตามอัตโนมัติของตน คัมภีร์
เล่มนี้พระคันธสาราภิวงศ์ได้ประกอบด้วยตันฉบับบาลีเนตติปกรณ์ คำแปลที่อ่านเข้าใจง่าย และคำอธิบายจากเนตติอรรถกถา และฎีกาโดยละเอียด
   **หมายเหตุ:- ปกรณ์ แปลว่า "ตำรา, คัมภีร์, หนังสือ" 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 139,922