๑.วันวิสาขบูชา

   

                                    วันวิสาขบูชา

   

                                       นี้คือภาพการประสูติ

    

                                นี้คือภาพการตรัสรู้

    

                           นี้คือภาพการปรินิพพาน
         ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสาขปุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิก มาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗ ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราวคือ
   ๑. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ ในวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปี (ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีการใช้ปีตามนักฉัตร ) ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
   ๒. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบัน
สถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
   ๓. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ ๔๕ ปี พระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖  ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
(ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคร แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)
   นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง ๓ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่านผู้เป็นดวงประทีปของโลก
   ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
   วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากประเทศลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
   สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย  ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและทรงบำเพ็ญพระราช กุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการ  ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
   ส่วนชาวสุโขทัยก็ชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุสามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำ พร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุยืนยาวต่อไป "
   ในสมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี, และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๖๐ และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุและอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
   ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระ ทั่งปัจจุบัน
   การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามศรัทธาตลอดเวลา ๗ วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม ๒,๕๐๐ รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ พฤษภาคม รวม ๓ วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ ๒,๕๐๐ รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๓ วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย
     หลักธรรมสำคัญที่ควรนำมาปฏิบัติ
   ๑. ความกตัญญู คือความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว่ก่อน เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น
    • บิดามารดา มีอุปการคุณแก่ลูก ในฐานะผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบโต ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน ให้เว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก
    • ลูกเมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้ แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของท่าน และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน
    • ครูอาจารย์มีอุปการคุณแก่ศิษย์ ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี สอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบังยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่น และช่วยคุ้มครองให้ศิษย์ทั้งหลาย
    • ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู
    • ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้เพราะ บิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และลูกก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทนในภายหลัง
    • นอกจากบิดากับลูก และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง นายจ้างกับลูกจ้าง อันจะส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
    • ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้า ทรงเป็นบุพการรีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์
    • พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชาและปฎิบัติบูชากล่าวคือการจัดกิจกรรม ในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ต่อพระองค์ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา และประพฤติปฎิบัติ
ธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป
   ๒. อริยสัจ ๔  อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึงความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน มี ๔ ประการ คือ
     • ทุกข์ ได้แก่ปัญหาของชีวิตพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้ทราบว่ามนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐานคือทุกข์ที่เกิดจาก การเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือทุกข์ที่เกิด จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกันสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากไม่ได้ตั้งใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ อาทิความ ยากจน
     • สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหาพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหา ของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัญหา อันได้แก่ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น
     • นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิต ทั้งหมดที่สามารถแก้ไข ได้นั้นต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้ ๘ ประการ ( ดูมัชฌิมาปฎิปทา )
     ๐มรรค การปฏิบัติเพื่อจำกัดทุกข์ เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา เพื่อบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาที่ต้องการ
  ๓. ความไม่ประมาท   ความไม่ประมาทคือ การมีสติเสมอทั้ง ขณะทำขณะพูด และขณะคิด สติคือการระลึกได้ ในภาคปฎิบัติเพื่อนำ มาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหว ของอริยาบท ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวของอริยาบท กล่าวคือระลึกทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง และนอน รวมทั้ง ระลึกรู้ทัน ในขณะพูดคิด และขณะทำงานต่างๆ เมื่อทำได้อย่างนี้ก็ชื่อว่า มีความไม่ประมาท  การทำงานต่างๆ สำเร็จได้ก็ด้วยความไม่ประมาทกล่าวคือผู้ทำย่อมต้องมีสติระลึกรู้อยู่ว่า ตนเองเป็นใครมีหน้าที่อะไร และกำลังทำอย่างไร หากมีสติระลึกรู้ได้อย่างนั้น ก็ย่อมไม่ผิดพลาด
      กิจกรรมของวันวิสาขบูชา
   ทางราชการประกาศชักชวนให้ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งเอกชน และราชการประดับตกแต่งอาคารสถานที่ด้วยธงชาติธงเสมาธรรมจักร จุดประทีบโคมไฟ แต่โดยทางปฎิบัติแล้ว ใช้หลอดไฟประดับหลากสี ในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จประกอบพระราชกุศล ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงบาตรในตอนเช้า ในตอนเย็นทรงนำเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ และสดับพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ พร้อมทั้งถวายไทยธรรม

    • จัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่บริเวณท้องสนามหลวงเป็นประจำทุกปี แต่ละปีมีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาหลากหลายหน่วยงาน ทั้งทางราชการ และเอกชนทั้งฝ่ายบรรพชิต และคฤหัสถ์ ร่วมกันจัดงานอันยิ่งใหญ่สร้างความศรัทธาให้แก่พุทธศาสนิกชนบำเพ็ญกุศล มีการทำบุญตักบาตร ให้ทานรักษาศีลฟังธรรม สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนาเป็นที่ประทับใจยิ่งนัก
    • สถานที่จัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งก็คือ ณ บริเวณพุทธมณฑล ซึ่งมีหน่วยงานกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธการร่วมกับประชาชนทั่วไป ได้จัดกิจกรรมปฎิบัติธรรมทั้งฝ่าย พระสงฆ์ และฆราวาส มีจำนวนหลายหมื่นได้ร่วมทำ
บุญตักบาตรให้ทานรักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม และเจริญภาวนาแผ่เมตตาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา และในวันวิสาขบูชา ณ บริเวณพุทธมณฑลนี้เอง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานทรงเวียนเทียนทุกปีด้วย
    • พระสงฆ์ผู้จัดรายการธรรม ทางสถานีวิทยุ เกือบทุกรายการทั่วประเทศเมื่อถึงสำคัญ คือวันวิสาขบูชาเช่นนี้ ก็มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนพุทธศาสนิกชนบำเพ็ญกุศล เป็นกรณีพิเศษ คือ บรรพชาอุปสมบทนาคหมู่ และบวช เนกขัมมะ เพื่อปฎิบัติ
ธรรมถวายเป็นพุทธบูชะ ธรรมบูชา เป็นการช่วยสนับสนุน ส่งเสริม สร้างความสงบสุขให้แก่บุคคลและสร้างความสามัคคีธรรมให้แก่สังคม ตลอดถึงประเทศชาติอีกด้วย
    สรุปแล้ววันวิสาขบูชาปีนี้ คงจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทางราชการ และเอกชนตลอดทั้ง ผู้จัดรายการธรรมะ ทางสถานีวิทยุทั่วประเทศ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ เชิญชวนสาธุชนผู้ศรัทธา จัดกิจกรรมปฎิบัติธรรม บำเพ็ญมหากุศลอันยิ่งใหญ่เป็น
กรณีพิเศษ เหมือนที่เคยปฎิบัติมาทุกๆ ปี
   วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติคือ "วันสำคัญของโลก" ( Vesak Day )  (ที่ถูกควรจะเขียนอย่างนี้ Visakha Bucha Day)

    ภูมิหลัง
  ๑. ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม อาทิ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้ตกลงกันที่จะเสนอให้สมัชชาสหประชาชาติรับรองข้อมติประกาศวัน วิสาขบูชาให้เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ
  ๒. ในการเยือนของประเทศต่างๆ ในอินโดจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ในปี ๒๕๔๒ ก็ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ได้ด้วยดี
  ๓. คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่างๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติในที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔
  ๔. โดยที่สหประชาชาติประกาศวันหยุดเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และจะเป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณและการบริหารแก่สหประชาชาติ หากประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุด ศรีลังกาจึงได้ตัดสินใจที่จะเสนอร่างข้อมติ ขอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลที่สหประชาชาติ ทั้งที่สำนักงานใหญ่ และสำนักงานต่าง ๆ แทนการเสนอให้เป็นวันหยุดซึ่ง ออท. ผู้แทนถาวรประเทศต่าง ๆ รวม ๑๖ ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฐาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน ได้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานสมัชชาฯ เพื่อให้นำเรื่องวันวิสาขบูชาเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุมของสมัชชาฯ
  ๕. ต่อมาเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ General Committee ของสมัชชาฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดย ออท.ผู้แทนถาวรศรีลังกาได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนหนังสือร้องขอให้ที่ประชุมบรรจุระเบียบวาระดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม
สมัชชาเต็มคณะ ออท.ผู้แทนถาวรไทย อินเดีย สเปน บังคลาเทศ ปากีสถาน ไซปรัส ลาว และภูฐาน ได้กล่าวถ้อย แถลงสนับสนุนซึ่งที่ประชุม General Committee ได้มีมติให้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาเต็มคณะ
   ปัจจุบัน
   ๑. เมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔ ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ ๑๗๔ International recognition of the Day of Visak โดยการเสนอของศรีลังกา
   ๒. ในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม
   ๓. ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ
   เหตุผลที่ องค์การสหประชาชาติหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก
  เนื่องจากคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลกทั้งนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธและทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

จงคลิกลิ้งค์เหล่านี้ขึ้นมาศึกษาประกอบ

http://www.dhammathai.org/day/visaka.php

https://hilight.kapook.com/view/23220

  https://scoop.mthai.com/specialdays/108.html

  http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4473.html

 

                       วันอาสาฬหบูชา

      
            ประวัติความเป็นมา
     วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์ อาสาฬหเป็นชื่อเดือน ๘ อาสาฬหบูชาย่อมาจากคำว่าอาสาฬหบูรณ มีบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๘ ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หลัง
   หลังจาก สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน ๖ แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้ง จึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น ๔ ประเภท(บัว ๔ เหล่า) คือ:-
   ๑. อุคฆฏิตัญญู ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ
   ๒. วิปัจจิตัญญู ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ
   ๓. เนยยะ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ
   ๔. ปทปรมะ ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม
   จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณ ระลึกอาฬารดาบสและอุททกดาบสว่า มีกิเลสเบาบางสามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านทั้ง ๒ ได้ตายแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ ซึ่งล้วนแล้วแต่ เป็นผู้อุปฐากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกข์กิริยาอยู่ พระธรรมที่ พระพุทธองค์ทรงเทศนาในครั้งนี้มี ชื่อ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งมี อริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการได้แก่
   ๑. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
   ๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
   ๓. นิโรธ ความดับทุกข์
   ๔. มรรค ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์
    และหลังจากแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นคนแรก ได้กราบฑูลขอบวชและพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต
 โดยทรงทำการอุปสมบทให้แบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็น"ปฐมสาวก" ของพระพุทธเจ้า

     ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นทางสายกลาง คือเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น
ตามวิภังคสูตร พระพุทธเจ้าทรงอธิบายรายละเอียดไว้ดังนี้
   ๑.สัมมาทิฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ ๔
   ๒.สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึง ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน
   ๓.สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
   ๔.สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่า โจรกรรม และการประพฤติผิดในกาม
   ๕.สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ การละเว้นจากอาชีพฆ่าสัตว์ อาชีพที่เบียดเบียนผู้อื่น
   ๖.สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง สัมมัปปธาน ๔ คือ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
   ๗.สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง สติปัฏฐาน ๔
   ๘.สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึง ฌาน ๔
เมื่อเทียบกับหลักไตรสิกขา องค์มรรคข้อ ๑ ๒ ๒ เป็นปัญญา ข้อ  ๓ - ๔ - ๕ เป็นศีล และข้อ ๖ - ๗ - ๘ เป็นสมาธิ

    ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นวันแรกที่มี พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า "ปฐมเทศนา" หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่านับเป็นวันแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา  จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ในวันนี้มีถึง ๔ ประการ ด้วยกันคือ:-
   ๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
   ๒. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
   ๓. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
   ๔. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

  

             สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง

   ๑.สถานที่ประสูติ

   ๒.สถานที่ตรัสรู้

   ๓.สถานที่ปรินิพพาน

   ๔.สถานที่แสดงปฐมเทศนา

                        สถานที่ประสูติ

   

  นี่คือภาพสถานที่ประสูติพร้อมด้วยเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช

     มารู้จักสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้ากันเถอะ
   ลุมพินีวัน (อักษรโรมัน: Lumbini Vana) เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธะ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ลุมพินีวัน เดิมเป็นสวนป่าสาธารณะหรือวโนทยานที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน

   ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ ในแคว้นสักกะ บนฝั่งแม่น้ำโรหิณี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหา ราชได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่า เสาอโศก ที่จารึกข้อความเป็นอักษรพราหมีว่าพระพุทธเจ้าประสูติที่ตรงนี้  ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประเทศเนปาลยังขึ้นอยู่กับประเทศอินเดียยังไม่ได้แยกออกเป็นประเทศ  เมื่ออังกฤษเข้าปกครองอินเดียจึงทำให้เนปาลแยกออกจากอินเดีย

   ในปี พ.ศ. ๒๓๙๑ ชัง พหาทุระ รานา ซึ่งเป็นขุนนางในประเทศ ยึดอำนาจจากราชวงศ์ศาห์ โดยยังคงราชวงศ์ศาห์ไว้เป็นประมุขแต่ในนาม ตระกูลรานาได้รับการสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร เนปาลได้ส่งกองทัพเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษในหลายสงคราม ทำให้สหราชอาณาจักรทำสนธิสัญญามิตรภาพกับเนปาลในปีพ.ศ. ๒๔๖๖  ซึ่งในสนธิสัญญานี้ สหราชอาณาจักรได้ยอมรับเอกราชของเนปาลอย่างชัดเจน

   ปัจจุบันลุมพินีวันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนประเทศอินเดียทางเหนือเมืองโคราฆปุระ ห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือ นครกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก ๑๑ กิโลเมตร และห่างจากสิทธารถะนคร (หรือ นครเทวทหะ) ทางทิศตะวันตก ๑๑ กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนา ที่กล่าวว่าลุมพินีวันสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ปัจจุบัน ลุมพินีวันมีเนื้อที่ประมาณ ๒๐๐๐ ไร่ ทางการเรียกสถานที่นี้ว่า รุมมินเด มีสภาพเป็นชนบท มีผู้อาศัยอยู่ไม่มาก มีสิ่งปลูกสร้างเป็นพุทธสถานเพียงเล็กน้อย แต่มีวัดพุทธอยู่ในบริเวณนี้หลายวัด รวมทั้งวัดไทยลุมพินี ลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐

                  พระเจ้าอโศกมหาราช

    

   พระเจ้าอโศกมหาราช...แห่งอินเดีย  นับว่าเป็นตัวอย่างแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจที่ ทิ้งดาบหันมาจับคัมภีร์  ทิ้งหลักการปกครองแบบทางโลกทั้งหลาย มาสู่ทางธรรม โดยนำพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักในการบริหารประเทศ และทรงเป็นตัวอย่างในการสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาโดยทรงได้สร้างพระวิหาร สถูป สังฆารามทั่วชมพูทวีปรวมถึง ๘๔๐๐๐ แห่ง เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาในชมพูทวีปหลังการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ มีความมั่นคงยาวนานต่อจากนั้นมาเป็นพันปี...แม้ปัจจุบันนี้ก็ได้หลักฐานต่าง ๆ ที่ถูกค้นพบเป็นอันมากในสมัยของพระองค์ จึงเป็นการประกาศความชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาในชมพูทวีปนั้นไม่ใช่เรื่องที่สักแต่ว่าบอกต่อเล่าขานเป็นตำราตามกันมา แต่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้มากมาย ในบรรดาหลักฐานที่ค้นพบที่สำคัญที่สุดเห็นจะไม่พ้นเสาหินพระเจ้าอโศก
   ในอดีตเล่าว่าพระองค์ทรงโปรดให้สลักเสาหินไว้ตามพุทธสถานต่าง ๆ หลายร้อยต้น แต่ปัจจุบันมีไม่ถึงห้าสิบต้นที่ถูกค้นพบ..นอกนั้นก็คงถูกฝังไว้ใต้ปฐพีรอการพิสูจน์ความเป็นจริงตามบทแปลอักษรที่ทรงใช้สลักไว้ที่เสาหินนั้น ๆ
   และล่าสุดเมื่อปี ๒๕๔๐ รัฐบาลอินเดีย ประกาศว่าได้พบเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ที่รัฐพิหาร จังหวัดจัมปารัน เมืองเลาลิยะนันดันท์ ใกล้เขตแดนประเทศเนปาล นับเป็นเสาหินที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง เพราะยังมีสิงห์ตั้งอยู่บนยอดเสา สัญญลักษณ์ความตั้งมั่นแห่งศรัทธาของพระเจ้าอโศก มีโอกาสจึงได้ไปชมและนำภาพพร้อมคำแปลที่ถอดใจความจากเสาหินมาเสนอในโอกาสนี้
   ข้อที่ควรทราบ
   ๑. พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ทรงสร้างพระพุทธรูปเพราะทรงกลัวว่าสร้างแล้วจะไม่เหมือนกับเป็นเหตุให้ผิดต่อพระพุทธเจ้ากลัวเป็นบาปยิ่ง
   ๒. สิงห์เป็นสัญญลักษณ์แห่งเจ้าป่า เมื่อสิงห์คำราม สัตว์อื่น ๆ ย่อมหวั่นกลัวดุจพระพุทธองค์เมื่อประกาศธรรมย่อมเป็นที่หวั่นใจของเจ้าลัทธิอื่น ๆ ฉะนั้น
   ๓. นายเจม ปรินส์เซฟ นักอักษรศาสตร์ ชาวอังกฤษใช้เวลาถึง ๗ ปี ในการถอดระหัสอักษรพรหมมี ของพระเจ้าอโศก จึงสามารถถอดคำแปลจากเสาหินพระเจ้าอโศกได้
   เสาหินแห่งนี้สลักอักษรพรหมมีภาษาสมัยพระเจ้าอโศกไว้โดยรอบต้นทั้งสองด้าน แปลความหมายได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี (พระเจ้าอโศก) ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่มหาอำมาตย์ทั้งหลาย ณ นครปาฏลีบุตรและนครอื่น ๆ ว่า  ข้าพเจ้าได้กระทำให้สงฆ์มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว บุคคลใด ๆ จะเป็นภิกษุ ภิกษุณีก็ตาม ก็ไม่อาจทำลายสงฆ์ได้ ก็แล หากบุคคลใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม จักทำลายสงฆ์ให้แตกจากกัน บุคคลนั้น จักต้องถูกบังคับให้นุ่งผ้าขาว และไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่อื่น(นอกวัด) พึงแจ้งสาสน์พระบรมราชโองการนี้ ให้ทราบโดยทั่วกัน ด้วยประการฉะนี้.
.....พระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า ประกาศพระบรมราชโองการเช่นนี้ ท่านทั้งหลายพึงนำไปติดไว้ ณ ทางสัญจรภายในเขตใกล้เคียงของท่านทั้งหลายฉลับหนึ่งและจงเก็บรักษาอันเดียวนี้ไว้ในเขตใกล้เคียงของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายอีกฉบับหนึ่งทุก ๆ วันอุโบสถ บรรดาอุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้น พึงทำตนให้มีความรู้ความเข้าใจแนบแน่น ในประกาศพระบรมราชโองการนี้ และทุก ๆ วันอุโบสถ มหาอำมาตย์ ทุก ๆ คน พึงไปร่วมในการรักษาอุโบสถด้วยเป็นประจำ เพื่อจักได้ความคุ้นเคยแนบสนิท และรู้เข้าใจทั่วถึงซึ่งประกาศพระบรมราชโองการนั้นแล  ทั่วทุกหนทุกแห่ง ที่อำนาจบริหารราชการของท่านทั้งหลายแผ่ไปถึง ท่านทั้งหลายพึงขับไล่ บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ ในเมืองด่าน และในท้องถิ่นทั้งหลายออกไปเสีย โดยให้เป็นไปตามข้อความในประกาศนี้...ฯ

 

                   สถานที่ตรัสรู้

    

   ๐พุทธคยา (บาลี: พุทฺธคยา, อังกฤษ: Bodh Gaya, Mahabodhi Temple, ฮินดี: बोधगया) คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญใน อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด ๑ ใน ๔ แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู
   พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ ๓๕๐ เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง ๕๑ เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ ๑๒๑.๒๙ เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือ วัดไทยพุทธคยา
   สำหรับชาวพุทธ พุทธคยา นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลกที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ ๑ ใน ๔ แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก
                ที่ตั้งพุทธคยา
   พุทธคยา เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุด ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถาน และถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเวลากว่าสองพันห้าร้อยปีที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของจุดหมายแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก ปัจจุบันพุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (อังกฤษ: Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ๓๕๐ เมตร อดีตตำบล ที่ตั้งพุทธคยาชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น อุเรล ในปัจจุบันพุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู และพุทธคยาได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕
   ในสมัยพุทธกาล พุทธคยา อยู่ในดินแดนที่เรียกกันว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ ๆ ร่มรื่นเป็นรมณียสถาน สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สภาพของพุทธคยาในสมัยพุทธกาลอาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฏก ที่ได้ตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพรรณาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคมไว้ว่า
   ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น. ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้.
   เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ ๗ สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา ๗ สัปดาห์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของตปุสสะ และภัลลิกะ ๒ พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์มีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผลและสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นทวิวาจกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็น
สรณะคู่แรกของโลก และพระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระเกศาแก่พ่อค้าทั้งคู่เป็นที่ระลึกในพุทธานุสสติด้วย
   พุทธคยาในสมัยพุทธกาล หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์ ได้มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต่อมาต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวันจึงได้ชื่อว่าอานันทโพธิ์ และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน
       พุทธคยาหลังพุทธปรินิพพาน
   บริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธ องค์นั้น เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช และสร้างต่อเติมเรื่อยมาโดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่ง เมื่อกองทัพมุสลิมบุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล
   สำหรับความเป็นไปของต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้นั้น ต้นแรกเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า (เกิดวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) มีอายุมาได้๓๕๒ ปี จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงถูกทำลายโดยพระชายาของพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะความอิจฉาที่พระเจ้าอโศกรักและหวงแหนต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้จนไม่สนใจพระนาง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองนั้น ปลูกโดยพระเจ้าอโศกมหาราชจากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิม และมีอายุ
ยืนมาประมาณ ๘๗๑ - ๘๙๑ ปี จนถูกทำลายในประมาณปี พ.ศ. ๑๑๔๓ - ๑๑๖๓ ด้วยน้ำมือของพระราชาฮินดูแห่งเบงกอลพระนามว่า ศศางกา ซึ่งพระองค์อิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก จึงทรงแอบนำกองทัพเข้ามาทำลายต้นโพธิ์ต้นนี้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามนั้นปลูกโดย พระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เมารยะ และต้นที่สามนี้มีอายุยืนมากว่า ๑๒๕๘ - ๑๒๗๘ ปี จึงล้มลงในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน ปลูกโดยนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓
   สำหรับความเป็นไปขององค์พระมหาโพธิเจดีย์นั้น พระเจ้าหุวิชกะ (อังกฤษ: Huvishka) มีพระราชศรัทธาสร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ในปี พ.ศ. ๖๙๔ เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็นพระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงรีสวยงามติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ทางทิศตะวันออก มี ๒ ชั้น โดยชั้นล่างเป็นสถานที่กราบนมัสการและชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะและตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของมหาโพธิมณฑลมากว่าสองพันปี ในบางช่วงพระราชาแห่งแคว้นต่าง ๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษาจากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นดินอินเดียแถบนี้ถูกคุกคามจากสงครามและการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้างและถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง รวมทั้ง แปลงมหาโพธิเจดีย์เป็นเทวสถาน
   โดยเหตุการณ์ที่พุทธคยาถูกชาวฮินดูครอบครองนั้น เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๓๓ จากการที่นักบวชฮินดูชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงพุทธคยาและได้ตั้งสำนักเล็ก ๆ ใกล้กับพระมหาโพธิเจดีย์ เมื่ออยู่ไปนาน ๆ จึงกลายเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย (มีผู้กล่าวว่า พราหมณ์มหันต์นี้ คือ นักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดู กล่าวกันว่าติดอันดับมหาเศรษฐี ๑ ใน ๕ ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์องค์ที่  ๑๕ ในปัจจุบันก็มีการสืบทอด
มาตั้งแต่โคเสณฆมัณฑิคีร์) ซึ่งการที่พราหมณ์มหันต์เข้ามาครอบครองพุทธคยานั้นก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไร
   สภาพอันเสื่อมโทรมของพุทธคยานั้น อาจพิจารณาได้จากบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกล่าวกันว่า เป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษ ที่มีความไพเราะ และน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีบแห่งเอเชีย (The Light of Asia) ซึ่งท่านเซอร์ ได้เดินทางไปที่พุทธคยา และได้พบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความไว้
ตอนหนึ่งว่า
   ในความเป็นจริง ไม่มีข้อกังขาสงสัยใดๆ ในความเป็นจริง ของสถานที่ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลของชาวพุทธ คือ กบิลพัสดุ์ (ปัจจุบัน Bhuila) ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ, ป่าอิสิปตนะ ภายนอกเมืองพาราณสี ซึ่งพระพุทธองค์ได้แสดงธรรมเทศนา กุสินารา ที่พระองค์ได้ปรินิพพาน และสถานที่ตรัสรู้ซึ่งมี ต้นโพธิ์เป็นเครื่องหมาย ในวันเพ็ญเดือน ๖ เมื่อ ๒๓๘๓ ปี มาแล้ว พระองค์ได้บำเพ็ญเพียรทางจิตและมีศรัทธาเป็นอย่างมาก ซึ่งพระองค์ได้นำ ความเจริญทางอาารยธรรม มาสู่เอเชีย บรรดาสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา คือสิ่งที่มีค่าและศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วทั้งเอเชีย ทำไมหรือ เพราะว่า ปัจจุบันตกอยู่ในมือของนักบวชพราหมณ์ ผู้ไม่ได้ดูแลวัดเลย นอกจากว่าจะถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์เท่านั้น และพวกเขา ได้ตักตวงเอาผลประโยชน์ เป็นอย่างมาก
   ความจริงในเรื่องนี้ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ กล่าวคือ ๑๔๐๐ ปีมาแล้ว สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พิเศษสุดและชาวพุทธรักษาไว้ แต่ได้ทรุดโทรมลงและถูกปล่อยปละละเลย เหมือนกับวัดพุทธศาสนาแห่งอื่น ๆ จากการอันตรธานสูญหายของพุทธศาสนาจากอินเดีย ๓๐๐ ปีต่อมา นักบวชศาสนาพราหมณ์ที่ นับถือพระศิวะมาถึงที่นี้ และตั้งหลักปักฐาน ณ ที่ตรงนี้ ได้เริ่มครอบครองสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งได้เห็นและก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นมา พวกเขามีกำลังมากจึงเข้ายึดครองเป็นเจ้าของวัดพุทธคยา ซึ่งรัฐบาลเบงกอลได้เข้ามาบูรณะ และพื้นที่รอบพุทธคยา ในปี พ.ศ.๒๔๒๓ (ค.ศ. 1880) และได้ขอส่วนหนึ่งของรั้วเสาหินสมัยพระเจ้าอโศก จากพวกมหันต์ ซึ่งพวกเขาได้นำไปสร้างบ้าน เพื่อนำกลับมาตั้งไว้ ณ ที่เดิม
แต่พวกมหันต์ไม่ได้คืนมา และท่านเซอร์ อาชเลย์ เอเดน (Sir Ashley Eden) ก็ไม่สามา รถผลักดันการบูรณะให้แล้วเสร็จได้
   พระมหาโพธิเจดีย์ก่อนบูรณะ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ ในคราวที่พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบูรณะพระมหาเจดีย์ หลังถูกทิ้งร้างไปกว่าพันปี
   ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมคืนที่ดี และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่ของศรัทธา ดังเช่นนครเมกกะ และเยรูซาเลม (Mecca and Jeruzaiem) เป็นศูนย์กลางศรัทธาของผู้ศรัทธานับล้านคน-เมื่อข้าพเจ้าได้พักที่โรงแรมที่พุทธคยาปีสองปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจที่เห็นเครื่องบูชา สาร์ท (Shraddh) ของพวกฮินดูในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ และวัตถุโบราณที่มีค่าจำนวนมากหลายพันชิ้น ซึ่งจารึกด้วยภาษาสันสกฤตได้ถูกทิ้งจมอยู่ในดิน ข้าพเจ้าได้ถามนักบวชฮินดูว่า
   “ข้าพเจ้าจะขอใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้หรือไม่”
   “เจ้านาย จงหักเอาเท่าที่คุณชอบ มันไม่มีค่าอะไรสำหรับเรา” นี้เป็นคำตอบจากพวกเขา
   ไม่มีความละอายจากอาการที่พวกเขาไม่สนใจใยดี ข้าพเจ้าเก็บใบโพธิ์ ๓-๔ ใบอย่างเงียบ ๆ ซึ่งพวกมหันต์ได้หักมาจากกิ่งบนหัวของพวกเขา และ ข้าพเจ้าได้นำใบโพธิ์ไปยังศรีลังกา เมื่อได้คัดลอกจารึกที่เป็นภาษาสันสกฤต ที่นั้น (ศรีลังกา) ข้าพเจ้าได้พบว่า ใบโพธิ์เป็นสิ่งมีค่าสำหรับชาวพุทธที่ศรีลังกา ซึ่งต้อนรับด้วยความกระตือรือร้นและศรัทธา ใบโพธิ์ที่ข้าพเจ้าถวาย ได้ถูกนำไปที่เมืองแคนดี้ และได้ใส่ไว้ในผอบที่มีค่าและได้รับการบูชา
ทุก ๆ วัน
   ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอินเดียเพื่อขอบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและจัดการบางประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดีย จึงได้เริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งนายพล เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ด.ร.ราเชนทรลาละ มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ หลังจากนั้นคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ
ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะ ทั้งหมดมาทำแทน และเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗
   จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลอินเดีย โดยการนำของ ฯพณฯ เยาวหรลาล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ได้เฉลิมฉลองพุทธชยันตี (วิสาขบูชา) โดยเชิญชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก มาสร้างวัดไว้ในดินแดนต้นพุทธอุบัติภูมิ ซึ่งประเทศไทยโดยการนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ตอบรับและดำเนินการสร้างวัดเป็นชาติแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และประเทศชาวพุทธอื่น ๆ (เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี จีน ศรีลังกา ธิเบต ฯลฯ) ได้ดำเนินการสร้างวัดต่อมาตามลำดับ และรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนสำคัญในการบูรณะพุทธคยาอย่างต่อเนื่องจนมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน
     จุดแสวงบุญและสภาพของพุทธคยาในปัจจุบัน
   พุทธคยาในปัจจุบันเป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติ เหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่ในบริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ในปัจจุบันผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดกว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดินเดิมที่เป็นฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ
   ปัจจุบันพุทธคยาได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ พระมหาโพธิเจดีย์ อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม สูง ๑๗๐ ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ ๑๒๑.๒๙ เมตร ภายในประดิษฐาน พระพุทธเมตตา พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก พระแท่นวัชรอาสน์ แปลว่าพระแท่นมหาบุรุษใจเพชร สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง ๔.๑๐ นิ้ว ๗.๖ นิ้ว หนา ๕ นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองขึ้นทับพระแท่นเดิมเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้ ปัจจุบัน ประชาชนและรัฐบาลประเทศศรีลังกาได้อุทิศสร้างกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำแท้ ประดิษฐานรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นวัชรอาสน์ และนอกจากนี้ บริเวณพุทธคยาและโดยรอบยังมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น กลุ่มพระเจดีย์เสวยวิมุตติสุข สระมุจลินทร์  บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกกรกิริยา) วัดพุทธนานาชาติ เป็นต้น
   ต่อมา ชาวพุทธทั่วโลกจึงได้ร่วมเสนอขอให้พุทธคยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จนในที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจึงได้พิจารณาให้พุทธคยาเป็นมรดกโลก ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
   ๑.เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด
   ๒.เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
   ๓.เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
   ๔.เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
   ๕.มีความคิดและความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
   ปัจจุบัน พุทธคยาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก และมีผู้แสวงบุญนับล้านคนไปนมัสการมหาพุทธสถานแห่งนี้ ในฐานะเป็นสังเวชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่สุดของชาวพุทธ สถานที่ ๆ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระพุทธศาสนา สถานที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมมหาศาสดาของชาวพุทธทั้งมวล

                        สถานที่ปรินิพพาน

     
       กุสินารา หรือ กุศินคร (ฮินดี: कुशीनगर, อูรดู: کُشی نگر‎, อังกฤษ: Kusinaga, Kushinagar) เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ ในสมัยพุทธกาลเป็นเมืองเอกหนึ่งในสองของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมือง ปาวา เป็นที่ตั้งของ สาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานและเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า
   กุสินาราจัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ ๓ ใน ๔ สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (Kushinaga; Kasia; Kasaya) ในเขตจังหวัดเทวริยา (Devria; Devriya) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทยาน สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ (Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ ปรากฏตามคัมภีร์ว่า เมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ เป็นที่เกิดบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง เคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ์
   ปัจจุบันกุสินารา มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญคือสถูปใหญ่ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วิหารปรินิพพานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ภายในและมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย

    กุสินาราในสมัยพุทธกาล
มหาปรินิพพานวิหาร ภายในสาลวโนทยาน  ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ" ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า
   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปาราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมีเศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่งที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต
   สถานที่สันนิษฐานว่าเป็นที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุแก่เจ้าผู้ครองนครทั้ง 8 ในกุสินารานคร
   สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบ
พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน
   การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม
   หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆ สถูปใหญ่คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น
   ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ (ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวง) สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่ แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณาไว้ว่า
   พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. 310 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ 100,000 กหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา พระเจ้าอโศกเมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย โศกเศร้าถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี   
   หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 - 947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้พรรณาไว้ว่า
  “เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป โบสถ์ วิหาร และปูชนียวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 2 หลัก ปักปรากฏอยู่ 2 แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์"
   บันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ​ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราวปี พ.ศ. 1300 ได้พรรณาไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า จุนทสถูป บนที่ตั้งของบ้านนายจุนทะ อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนปรินิพพาน     “

 ...เมืองกุสินาราเต็มไปด้วยป้อมปราการ หอสูง และสังฆาราม อยู่ห่างจากเมืองเวสาลี 19 โยชน์ กุสินาราเป็นเมืองหลวงของมัลละกษัตริย์ อยู่ในสภาพปรักหักพัง มองเห็นตัวเมืองและหมู่บ้านเป็นสถานที่รกร้าง หาคนอยู่อาศัยมิได้ กำแพงเมืองเก่าที่ก่อไว้โดยอิฐ มองดูโดยรอบยาวประมาณ 1 ลี้ มีคนอาศัยอยู่ในกำแพงเมืองเก่าเพียงเล็กน้อย ตามถนนสายเล็ก ๆ ของเมืองเป็นที่ร้าง... ประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง มีสถูปแห่งหนึ่งเหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าผู้สร้างคือพระเจ้าอโศกมหาราช สถานที่แห่งนี้เป็นซากบ้านของนายจุนทะบุตรของนายช่างทอง (จุนทะกัมมารบุตร) คนที่ได้ถวายภัตตาหารครั้งสุดท้ายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลางหมู่บ้าน มีบ่อแห่งหนึ่ง เป็นบ่อที่ขุดฝังอาหารที่เหลือจากเศษ
เสวยของพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์รับสั่งให้ฝังเสีย ไม่ทรงยอมให้ภิกษุอื่นบริโภค น้ำในบ่อนั้นล่วงเลยมานานเพียงใดก็ดี ก็ยังมีน้ำสะอาดใสอยู่เสมอ... ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง ห่างไป 3-4 ลี้ เราข้ามแม่น้ำอชิตวดีไปทางตะวันตกของแม่น้ำนั้น ไม่ไกลนักเป็นสาลวโนทยานมีไม้สาละขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ ลักษณะของไม้เป็นเปลือกสีขาว ส่วนใบสะอาดเป็นเงาไม่มีขรุขระ ในป่าไม้สาละนั้น มีสาละใหญ่อยู่ 4 ต้น ที่มีลักษณะ
ใหญ่กว่าไม้อื่น ๆ ... ในสาลวโนทยาน มีสถูปแห่งหนึ่งเหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าสร้างโดยพระเจ้าอโศก ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีแม่น้ำหิรัญญวดี (ในบันทึกบอกว่าอชิตวดี) มีน้ำเปี่มอยู่ มีไม้สาละขึ้นอยู่เต็มทั้งป่า วิหารใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีพระพุทธรูปไสยาสน์ปางปรินิพพานหันเศียรไปทางทิศเหนือ มีลักษณะเหมือนบรรทมหลับ ข้าง ๆ มีสถูปใหญ่ มีจารึกว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้าง แม้จะทรุดโทรม แต่ก็ยังเหลือความสูงถึง 200
ฟุต ข้างสถูปมีศิลาจารึกว่า ที่นี่ เป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระตถาคต... ทางทิศเหนือของเมืองกุสินารา (ในมหาปรินิพพานสูตรว่าทางทิศตะวันออก) เราเดินข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง เดินไปประมาณ 300 ก้าว ได้พบพระสถูปองค์หนึ่ง สถานที่นี้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
   พื้นดินตรงที่ถวายพระเพลิง บางแห่งเป็นสีเหลืองปนดำ บางแห่งร่วนเหมือนกับถ่านไฟ ใครก็ตามเมื่อจาริกแสวงบุญ มาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแห่งนี้ ถ้าตั้งจิตให้เป็นสมาธิ สาธยายมนต์ บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านั้นก็จะเสด็จมาสู่ตน...    ”
   จนในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ราชวงศ์สกลจุรีได้เข้ามาสร้างวัดขึ้นในบริเวณสาลวโน ทยานจำนวนมาก จนพระพุทธศาสนาได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. 1743 ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างและกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. 2433 ภิกษุมหาวีระ สวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินาราและเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า "มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา"
   สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้าเป็นเวลา 7 วันก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพในปี พ.ศ. 2397 นายวิลสัน นักโบราณคดีอังกฤษ ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซียคือกุสินารา จนในปี พ.ศ. 2404-2420 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนในปี พ.ศ. 2418-2420 นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ใน
อดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะและรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ
   จากนั้น นับแต่ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ เข้ามาสร้างวัดและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญที่เริ่มเข้ามาสักการะมหาสังเวชนียสถานแห่งนี้จนในปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลอินเดียได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาปูชนัยสถานแห่งนี้เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง 25 พุทธชยันตี โดยได้รื้อโครงสร้างวิหารปรินิพพานเก่า (ที่ได้รับการบูรณะสร้างใหม่) ออกเพื่อสร้างมหาปรินิพพานวิหารใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างและสามารถรองรับพุทธศานิกชนได้ ในปี พ.ศ. 2499 จนในปี พ.ศ. 2507 วิหารได้พังลงมา ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2518 และทางการอินเดียและพุทธศาสนิกชนก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินาราจนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
   จุดแสวงบุญและสภาพของกุสินาราในปัจจุบัน
   ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ "สถูปปรินิพพาน" เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอมมน มีฉัตรสามชั้น "มหาปรินิพพานวิหาร" ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา)
ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง "มกุฏพันธนเจดีย์" อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี
   ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่

 

                       สถานทีแสดงปฐมเทศนา

       
   สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ : สารนาถ(Sarnath)
   สถานที่แสดงปฐมเทศนา  ที่สารนาถ(Saranath)
   สารนาถ เป็นสถานที่สำหรับจาริกแสวงบุญที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวพุทธ อยู่ห่างจากตัวเมืองพาราณสี ๑๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงพาราณสี อันเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งศาสนาฮินดูภายในแคว้น ยู.พี คือ อุตรประเทศ ของรัฐบาลอินเดียปัจจุบัน
       ประวัติ
   สารนาถ เดิมมีชื่อว่า “ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน” ที่ชื่อว่าสารนาถ เนื่องจากจริยาของพระพุทธองค์เมื่อคราวเป็นพระโพธิสัตว์ ได้เป็นที่พึ่งของกวาง  หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองคยาหรือพุทธคยาแล้ว พระองค์ก็ได้พิจารณาหาบุคคลผู้ที่มีอัธยาศัยเหมาะแก่การแสดงธรรมให้ฟัง ทรงทราบว่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งออกบวชติดตามพระองค์ได้พากันมาอยู่ที่นี่ พระองค์จึงเสด็จมาเพื่อแสดงธรรมโปรดพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรก มีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ผลแห่งการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกทำให้ท่านพระโกญฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าของปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรมคือ บรรลุธรรม และขออุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ทำให้พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ประมาณ 300 ปีต่อมาเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ได้เสด็จมานมัสการสถานที่นี้ พระองค์ได้ทรงสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ไว้มากมายเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระพุทธเจ้า
   สถานสำคัญในปัจจุบัน
   ๑.ธรรมเมกขสถูป
สร้างขึ้นในราว ค.ศ. 500 และเชื่อกันว่า เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา แก่ ปัญจวัคคีย์ ลวดลายดอกไม้ที่รอบองค์พระสถูป เป็นศิลปะของยุคคุปตะแต่การขุดค้นสำรวจพบว่า แผ่นอิฐข้างในพระสถูปเป็นของยุค เมารยัน จึงสันนิษฐานไว้ว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอโศก
   พระสถูปเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 28 เมตรครึ่ง สูง 33 เมตรครึ่ง ช่องทั้ง 8 ช่องล้อมรอบองค์พระสถูป เป็นสัญลักษณ์แทนล้อของจักร คือ ธรรม ซึ่งก็คือธรรมจักรนั่นเอง
   ๒.ธรรมราชิกสถูป
   ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของธรรมเมกขสถูป ในปัจจุบันนี้เหลือให้เราเห็นก็แต่เพียงร่องรอยซากพระสถูปเท่านั้น
   ๓.เจาคันฑีสถูป
   ตั้งอยู่เยื้องพิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์หลังจากที่เสด็จมาจากคยา หรือพุทธคยา พระสถูปสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ในช่วงของราชวงษ์คุปตะ ปัจจุบันพระสถูปนั้นได้สูญหายไปตามกาลเวลา
   ๔.เสาหินพระเจ้าอโศก
   พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์รุ่นแรก และส่งไปประกาศพระศาสนา 61 รูป เมื่อ พ.ศ 250 เสาสูง 15.24 เมตร จารึกอักษรพรหมี มีใจความว่าห้ามมิให้ผู้ใดทำลายสงฆ์ให้แตกกันและให้อุบาสกอุบาสิกาถืออุโบสถศีล ต่อมาเสาได้หักลง ส่วนหัวเสาซึ่งเป็นรูปสิงห์โต 4 เศียรหันหลังชนกันได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็ตกลงใช้รูปสิงห์โต 4 เศียรนี้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย
   ๕.พิพิธภัณฑ์สารนาถ
   สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รวบรวม พระพุทธรูป วัตถุโบราณที่ขุดได้บริเวณสารนาถทั้งหมดเมื่อ ค.ศ. 1904 โบราณวัตถุที่ขุดได้ เป็นศิลปะหลายๆยุค เริ่มจากยุคเมารยัน กุษาณ คุปตะ และ อื่นๆอีกมากในพิพิธภัณฑ์สารนาถ มีดังนี้คือ
     ๕.๑ ยอดเสาอโศก
     ๕.๒ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา
     ๕.๓ พระโพธิสัตว์

               นาลันทา

    

    ๐  เมืองนาลันทา
  นาลันทา เป็นชื่อเมืองๆ หนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ 1 โยชน์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) เมืองนี้มีสวนมะม่วง ชื่อปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง คัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นอัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของ พระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะหรือนาลันทคาม
     ที่ตั้งของเมืองนาลันทาในปัจจุบัน
   นาลันทาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากเมืองราชคฤห์ใหม่ประมาณ 12 กิโลเมตร ห่างจากเมืองปัตนะ รัฐพิหาร ประมาณ 90 กิโลเมตร ถึงแม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ภายหลังการขุดค้นพบซากมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้ว ทางรัฐบาลรัฐพิหารได้ประกาศยกฐานะหมู่บ้านนาลันทา เป็นอำเภอนาลันทา (ที่ว่าการอำเภออยู่ที่พิหารชารีฟ ตั้งอยู่ห่างจากนาลันทา 12 กิโลเมตร)
      นาลันทาในสมัยพุทธกาล
  นาลันทา ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาหลายครั้งในพุทธกาล เช่น ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสเกวัฏฏสูตรแก่บุตรคฤบดีชื่อเกวัฏฏะ และปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาซึ่งแก้ข้อความพระสูตรเดียวกัน เมืองนาลันทาตั้งอยู่ห่างจากกรุงราชคฤห์ 1 โยชน์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) มีสถานะเป็นเมืองเล็ก (township) แต่เป็นสถานที่ซึ่งมีชื่อเสียง เจริญรุ่งเรือง มีคนอาศัยอยู่มาก เป็นศูนย์กลางการค้าขายเห็นได้จากมีข้อความอ้างถึงเสมอ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จทางไกล ประทับแรม ณ ที่ใดที่หนึ่ง พระสังคีติ-กาจารย์อ้างเสมอว่าสถานที่นั้นอยู่บริเวณใดแน่ ก็จะอ้างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทาว่า อนฺตรา จ ราชคหํ อนฺตรา จ นาฬนฺทํ ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา เช่น สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ประมาณ 500 รูป แม้สุปปิยปริพาชกก็ได้เดินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา พร้อมด้วยพรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์...
    เมืองนาลันทามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ เป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปมาเสมอ (โคจรคาม) นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญ ใกล้เคียง เช่น สวนมะม่วงชื่อ ปาวาริกะ ซึ่งทุสสิกปาวาริกเศรษฐีน้อมถวาย สวนอัมพลัฏฐิกา ปาฏลิคาม และพหุปุตตเจดีย์
      เมืองนาลันทาสมัยพุทธกาล
   นาลันทา มีความสำคัญมาแต่ครั้งพุทธกาลเพราะว่าเมืองนาลันทาเป็นศูนย์การศึกษาแม้ในครั้งพุทธกาล เป็นศูนย์รวม นักปราชญ์นักวิชาการ พระสารีบุตรซึ่งเป็นเลิศทางด้านปัญญาประสงค์ จะประกาศให้เหล่านักวิชาการแห่งนาลันทา รับรู้ความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระผู้มีพระพุทธเจ้า รวมทั้งพระพุทธเจ้าทรงแสดงพรหมชาลสูตร ประกาศทิฏฐิ ๖๒ และทรงแสดงเกวัฏฏสูตร แสดงภาวะนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา

   http://newdelhi.thaiembassy.org/th/2012/03/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2-%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B8/ 

    https://www.youtube.com/watch?v=SC7nVazbiIQ

    https://www.youtube.com/watch?v=O8SvhUkglMA

    https://www.youtube.com/watch?v=x89ufbKoJ-M

    https://www.youtube.com/watch?v=gkhpSMqfPdI

    https://www.youtube.com/watch?v=Ke5J_aVTiKo

 

          พระธรรมจักรแปล

    

              พระธรรมจักรแปล
       ๐ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้
      ๐ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนพระปัญจวัคคีย์อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่าง เหล่านี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยกาม ในกามทั้งหลายนี้
  -หีโน  เป็นธรรมอันเลว
  -คัมโม  เป็นธรรมของชาวบ้าน
  -โปถุชชะนิโก  เป็นธรรมของคนมีกิเลสหนา
  -อะนะริโย  ไม่ใช่ธรรมของคนที่ห่างไกลจากกิเลส
  -อะนัตถะสัญหิโต  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
   อัตตะกิละมะถานุโยโค  คือประกอบความเพียรด้วยการทำตนเหน็ดเหนื่อยเปล่า
  -ทุกโข  เป็นทุกข์  
  -อะนะริโย  ไม่ใช่ธรรมของคนที่ห่างไกลจากกิเลส
  -อะนัตถะสัญหิโต  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์อะไรเลย
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั่น อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง
   กระทำดวงตา คือทำญาณเป็นเครื่องรู้ ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้นเป็นไฉน  ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง
จักขุกะระณี ญาณะกะระณี  กระทำดวงตา ทำญาณเครื่องรู้
ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับทุกข์   (ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลสนี้เอง)
  ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ
    ๑.สัมมาทิฏฐิ  คือปัญญาอันเห็นชอบ
    -๒.สัมมาสังกัปโป  คือความดำริชอบ
    ๓.สัมมาวาจา  คือวาจาชอบ
    ๔.สัมมากัมมันโต  คือการงานชอบ
    ๕.สัมมาอาชีโว  คือเลี้ยงชีวิตชอบ
    ๖.สัมมาวายาโม  คือความเพียรชอบ
    ๗.สัมมาสะติ  คือการระลึกชอบ
    ๘.สัมมาสะมาธิ  คือความตั้งจิตชอบ
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้แลคือข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง  ตถาคต ได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง
   กระทำดวงตา คือ กระทำญาณเครื่องรู้
ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบระงับกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง คือ
    -ชาติปิ ทุกขา  แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
   -ชะราปิ ทุกขา  แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์
   -มะระณัมปิ ทุกขัง  แม้ความตายก็เป็นทุกข์
   -โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา  แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์
   -อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข  ความประสบพบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์
   -ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข  ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์
   -ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง  มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์
   -สังขิ ตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ฯ  ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์

  ดูก่อนภิกษุทั้ลาย ก็ข้อนี้แลเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง คือ
 ความทะยานอยากนี้  ทำให้เกิดมีภพอีก  เป็นไปกับความกำหนัด ด้วยอำนาจแห่งความเพลิดเพลิน
เพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ  ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ
   ๑.กามะตัณหา  คือความทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่
   ๒.ภะวะตัณหา  คือความทะยานอยากในความมี ความเป็น
   ๓.วิภะวะตัณหา  คือความทะยานอยากในความไม่มี ไม่เป็น
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนี้แลเป็นความดับทุกข์  ความดับโดยสิ้นกำหนัด โดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นนั่นแหละ
  ความสละตัณหานั้น ความวางตัณหานั้น  การปล่อยตัณหานั้น  ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จ้ริง คือ
 ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลสนี้เอง  ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ
   ๑.สัมมาทิฏฐิ  คือปัญญาอันเห็นชอบ
   ๒.สัมมาสังกัปโป  คือความดำริชอบ
   ๓.สัมมาวาจา  คือวาจาชอบ
   ๔.สัมมากัมมันโต  คือการงานชอบ
   ๕.สัมมาอาชีโว  คือความเลี้ยงชีวิตชอบ
   ๖.สัมมาวายาโม  คือความเพียรชอบ
   ๗.สัมมาสะติ  คือความระลึกชอบ
   ๘.สัมมาสะมาธิ  คือความตั้งจิตชอบ
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณ  ได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้ง  หลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่เป็นทุกข์อริยสัจ
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว
 แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกข์อริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้      
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิด  ขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า
ทุกข์อริยสัจนี้นั้นแล  เราได้กำหนดรู้แล้ว
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว  แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกข์สมุทัยอริยสัจ
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกข์สมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว   แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกข์สมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราละได้แล้ว
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว   แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกขนิโรจอริยสัจ
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว   แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกขนิโรจอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง
  ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกขนิโรจอริยสัจนี้นั้นแล อันเราได้ทำให้แจ้งแล้ว
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า  นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า  ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว
วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า  ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล อันเราเจริญแล้ว
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้ตามความเป็นจริงอย่างไร
ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ซึ่งมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ปัญญาอันเห็นตามเป็นจริงอย่างไรในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา   มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงได้ยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ชอบ ไม่มีความตรัสรู้อื่นจะยิ่งกว่าในโลก เป็นไปกับด้วยกับเทวดา มาร พรหม ในหมู่สัตว์ทั้งในสมณพราหมณ์ เทพยดา มนุษย์  ว่า การพ้นพิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก   พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้รัสธรรมปริยายนี้แล้ว  พระภิกษุปัญจวัคคีย์ก็มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
   จักษุในธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระผู้มีอายุโกณทัญญะ
"ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ ฯ  
  ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้นทั้งปวง ก็ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดา"
   ก็เมื่อธรรมจักรอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เป็นไปแล้ว
     เหล่าภูมิเทวดาก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า
  เทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าภูมิเทวดาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
  เทพเจ้าเหล่าชั้นยามาได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
  เทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิตได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นยามาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
  เทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดีได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิตแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
  เทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตดีได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดีแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
  พรหมเจ้าที่เกิดในชั้นพรหมได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่นขึ้น   
ว่า นั่นจักรคือธรรม ไม่มีจักรอื่นสู้ได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้ดังนี้ ฯ"
  โดยขณะหนึ่งครู่หนึ่งนั้น เสียงขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้ ฯ
   ทั้งหมื่นโลกธาตุ ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านลั่นไป
  ทั้งแสงสว่างอันใหญ่ยิ่งไม่มีประมาณ ได้ปรากฏแล้วในโลก
  ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลายเสียหมด ฯ
    ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า  เพราะเหตุนั้น นามว่า "อัญญาโกณทัญญะ" นี้นั่นเทียว ได้มีแล้วแก่พระโกณทัญญะผู้มีอายุ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ

                          จบ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 139,922