๓๕.ประวัติพระศรีอริยเมตตรัย
ประวัติพระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์
พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์
พระศรีอริยเมตตรัย ถ้าเป็นภาษาบาลีเขียนเป็น "ศรีอริยเมตตรัย" แต่ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตเขียนเป็น "ศรีอริยเมตไตรย" ถ้าเขียนย่อเป็น "พระศรีอาริย์"
ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเขียนเป็น " Metteyya, Sri Ariyamettai"
ก่อนที่จะเริ่มเรื่องของพระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ก็อดที่จะกล่าวถึงพระมหาเถรเจ้าองค์หนึ่งที่ชื่อว่า "พระมาลัย" มิได้ ท่านเกิดที่โรหนะชนบทประเทศศรีลังกา ท่านอาศัยอยู่ในหมู่บ้านกัมโภชคาม ท่านชอบไปที่เกาะมาลัยอันเป็นเกาะที่มีไม้จันทน์หอมมากเพื่อปฏิบัติธรรมท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ที่เกาะมาลัยนี้ เมื่อท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านมีฤทธานุภาพมากสามารถไปนรกไปสวรรค์ได้เหมือนพระมหาโมคคัลลานะซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระโคตมะสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อท่านไปเทศนาสั่งสอนประชาชนที่ไหน คนก็จะรู้ว่าท่านเป็นพระมาจากเกาะมาลัย นานเข้าคนทั้งหลายก็เลยเรียกท่านว่า "พระมาลัย" เพราะท่านมาจากเกาะมาลัย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาท่านก็เลยมีชื่อว่า "พระมาลัย"
พระมาลัยท่านเกี่ยวข้องกับเรื่องของพระศรีอริยเมตตรัยโดยตรงเพราะท่านเคยเหาะไปเที่ยวเมืองนรกและเมืองสวรรค์ เมื่อท่านไปเมืองสวรรค์ท่านก็มีโอกาสได้สนทนากับพระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ด้วยตัวของท่านเอง พระศรีอริยเมตตรัยที่อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นมีชื่อว่า "นาถเทวเทพบุตร" ดังมีสาเหตุความเป็นมาดังนี้
วันหนึ่งพระมาลัยท่านเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านกัมโภชคาม ได้มีบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งที่มีฐานะยากจนมากเขาเห็นพระมาลัยมาเที่ยวบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ เขามีศรัทธาความเลื่อมใสในตัวท่านมากอยากจะใส่บาตรแต่ก็ไม่มีข้าวปลาอาหารที่จะใส่บาตรเพราะมีฐานะยากจน บุรุษเข็ญใจคนนี้เขาเป็นชาติแห่งบุคคลผู้ฉลาด ถึงแม้นว่าจะไม่มีข้าวปลาอาหารใส่บาตร เขาก็ยังดิ้นรนหา วิธีที่จะทำบุญให้จงได้ ในทันใดนั้นเองเขาก็ได้มองเห็นดอกบัวที่สระริมทางกำลังบานสพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวนเขาก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า "ดอกบัวนี้ทำบุญได้" เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้วเขาก็รีบลงไปในสระเด็ดดอกบ้วที่สวยงามขึ้นมา ๘ ดอก แล้วยืนรอพระมาลัยที่กำลังเดินบิณฑบาตรมุ่งตรงมาทางเขา เมื่อพระมาลัยเดินทางมาถึงเขาก็เอาดอกบัว ๘ ดอกใส่บาตร แล้วอธิษฐานว่า "ในชาตินี้ข้าพเจ้าเป็นคนยากจนเข็ญใจในชาติต่อไปขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนยากจนเข็ญใจเหมือนในชาตินี้เลย ข้าพเจ้าคิดอยากจะทานอะไร ขอให้ข้าพเจ้าได้สิ่งนั้นมาทานสมปราถนา" ท่านผู้อ่านทั้งหลายดอกบัว ๘ ดอกเหล่านี้เป็นสาเหตุให้พวกเราชาวพุทธทั้งหลายได้รู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องของ พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ทั้งหมดดังต่อไปนี้
เมื่อพระมาลัยท่านได้ดอกบัวที่สวยงามมา ๘ ดอกแล้ว ท่านก็คิดว่าจะเอาดอกบัวทั้ง ๘ ดอกเหล่านี้ไปบูชาอะไรดี ในขณะนั้นความคิดแว๊บหนึ่งก็แล่นเข้ามาในสมองของท่านว่า "ควรจะเอาไปบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีที่เมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์" การไปสวรรค์ของพระอรหันต์ที่ได้อภิญญาญาณนั้นเป็นของธรรมดาท่านไปได้เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียวก็ถึงแล้ว ถ้าให้คนในสมัยนี้ที่ไม่ได้อภิญญาสมาบัติเขาจะทำไม่ได้ ถึงแม้เขามีความสามารถไปจ้างวานให้ประเทศสหรัฐอเมริกานำจรวดขึ้นไปส่งก็ไปได้แค่ดวงจันทร์ จะผ่านขึ้นไปถึงระบบการโคจรของดวงอาทิตย์ไม่ได้พอจรวดวิ่งเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์จรวดก็จะถูกความร้อนของดวงอาทิตย์แผดเผ่าละลายให้กลายเป็นจุณไปหมด ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อยู่ห่างใกล้จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลายแสนโยชน์ ผู้ที่จะเดินไปเมืองสวรรค์ได้ จะต้องเป็นบุคคล ๕ ประเภทนี้เท่านั้น คือ:-
๑.พระพุทธเจ้า
๒.พระสาวกของพระพุทธเจ้า
๓.พระอรหันต์ที่ได้ วิชชา ๘ คือพระอริยบุคคลที่เจริญวิปัสสนาเป็นอารมณ์
๔.พระอริยบุคคลที่ได้อภิญญา ๖
๕.บุคคลที่ได้ฌานสมาบัตื ๘
พระอรหันต์ ๔ ประเภท ในพระพุทธศาสนา
คำว่า "อรหันต์" แปลว่า "ผู้ห่างไกลจากกิเลสเพียงดั่งว่างูเห่า" หมายถึงพระอริยบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรทางจิตจนได้บรรลุธรรมาภิสมัย คือธรรมที่ถึงความสิ้นสุดแห่งทุกข์ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภทคือ:-
๑.สุกขวิปัสสโก คือบุคคลผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์แบบแห้งแล้ง ไม่ได้ฌาน อภิญญา และสมาบัติ ๘ แสดงฤทธิ์เดชอะไรไม่ได้ สิ้นกิเลสไปเฉยๆ
๒.เตวิชโช คือบุคคลผู้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์แล้วได้วิชชา ๓ ประการ คือ:-
๒.๑ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือรู้จักการระลึกชาติได้
๒.๒ จุตูปปาตญาณ คือรู้จักการตายและการเกิดของคนและสัตว์
๒.๓ อาสวักขยาณ คือการรู้จักการทำอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นไป
๓.ฉฬภิญโญ คือบุคคลผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วได้อภิญญา ๖ ประการ คือ:-
๓.๑ อิทธิวิธิญาณ คือแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ
๓.๒ ทิพพโสตญาณ คือได้หูทิพย์
๓.๓ เจโตปริยญาณ คือการกำหนดรู้ใจผู้อื่น
๓.๔ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือการระลึกชาติได้
๓.๕ ทิพพจักขุญาณ คือได้ตาทิพย์
๓.๖ อาสวักขยญาณ คือการรู้จักทำอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นไป
๔.ปฏิสัมภิทัปปัตโต คือบุคคลผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือ:-
๔.๑ อัตถปฏิสัมภิทา คือมีปัญญาอันแตกฉานในอรรถ
๔.๒ ธัมมปฏิสัมภิทา คือมีปัญญาอันแตกฉานในธรรม
๔.๓ นิรุตติปฏิสัมภิทา คือมีปัญญาอันแตกฉานในภาษา
๔.๔ปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือมีปัญญาอันแตกฉานการใช้ปฏิภาณ
วิชชา ๘
๑.วิปัสนาญาณ คือมีปัญญาเห็นรูปและนามทั้งปวงว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๒.มโนมยิทธิ คือมีฤทธิ์ทางใจ
๓.อิทธิวิธี คือแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ
๔.ทิพพโสต คือมีหูทิพย์ สามารถฟังเสียงของคนและสัตว์ทั้งในที่ใกล้และไกล ฟังเสียงของเทวดา, พรหมและสามารถฟังเสียงของสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานได้
๕.เจโตปริยญาณ คือกำหนดรู้จิตผู้อื่นว่าคิดอย่างไร
๖.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือระลึกชาติได้ทั้งในอดีตและอนาคต
๗.ทิพพจักขุ คือมีตาทิพย์ สามารถมองเห็นได้ทั้งในที่มืดที่แจ้ง ที่ใกล้ที่ไกล และทั้งในอดีตและอนาคต
๘.อาสวักขยญาณ คือรู้จักทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป
ผู้ที่จะได้ วิชชา ๘ จะต้องเป็นผู้บรรลุจตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ อย่างประณีต จนชำนาญดีแล้วเท่านั้น จึงสามารถโน้มน้อมจิตไปตามที่ตนปรารถนาได้ องค์ประกอบของวิชชา ๘ คือ :-
๑.วิปัสสนาญาณ แปลว่า "รู้แจ้งเห็นจริง" คือความสามารถในการโน้มน้าวจิตไปเพื่อรู้แจ้งเห็นจริง ย่อมรู้ชัดว่า ร่างกายของเรานี้ ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม เกิดจากมารดา บิดา เติบโตมาด้วยอาหารคือ คำข้าว ไม่เที่ยง ต้อง คอยบริหารด้วยการอาบ การล้าง การอบ การนวด ต้องแตกกระจัดกระจายไปในที่สุด เป็น ธรรมดา วิญญาณของเราก็อาศัยอยู่ในกายนี้
๒.มโนมยิทธิญาณ แปลว่า "ฤทธิ์ทางใจ" คือความสามารถในการโน้มน้าวจิตไปเพื่อนิรมิตรรูปอันเกิดแต่ใจ ย่อมนิรมิตร่างกายอื่นขึ้นมาได้ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน
๓.อิทธิวิธีญาณ แปลว่า "แสดงฤทธิ์ได้" คือความสามารถในการโน้มน้อมจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์ได้หลายประการเช่น ทำคนเดียวให้เป็นหลายคน ทำหลายคนให้เป็นคนเดียว ทำรูปร่างให้ปรากฎในที่หลายแห่งได้ ทำให้หายทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้โดยไม่ติดขัด ผุดขึ้นหรือดำลงไปในแผ่นดิน เดินบนน้ำได้โดยน้ำไม่แตก เหาะไปในอากาศได้เหมือนนก ลูกคลำดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มากด้วยฝ่ามือได้ ใช้อำนาจทางกายไปนรกสวรรค์ พรหมโลกได้ และไปสู่จักรวาลอื่นๆได้ เหมือนกับผู้ได้อภิญญา ๖
๔.ทิพพโสตญาณ แปลว่า "มีหูทิพย์" คือความสามารถในการโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสต ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์เกินความสามารถของหูมนุษย์ทั่วไปจะทำได้ เหมือนกับผู้ได้อภิญญา ๖
๕.เจโตปริยญาณ แปลว่า "รู้วาระจิตของบุคคลอื่น" คือความสามารถในการโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้ว่าระดับจิตของบุคคลอื่น ย่อมรู้ใจของบุคคลอื่นด้วยใจว่า ผู้ใดมีราคะ โมหะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ หรือจิตหลุดจากอาสวะกิเลสแล้ว เป็นต้น เหมือนกับผู้ได้อภิญญา ๖
๖.ปุฟเพนิวาสานุสติญาณ แปลว่า "รู้ละลึกชาติก่อนได้" คือความสามารถในการโน้มน้อมจิตไปเพื่อละลึกชาติย่อมละลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือละลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดกัปป์ คือตั้งแต่โลกเกิด ถึงโลกพินาศบ้าง หลายกัปป์บ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่อ มีโคตร มีผิวพรรณ มีอาหาร มีความสุขความทุกข์ อย่างนั้นๆ มีอายุเท่านั้นๆ ตายจากภพนั้นแล้วไปเกิดในภพอื่นๆ ต่อๆไป ย่อมละลึกได้ พร้อมทั้งกิริยาอาการของชีวิตในครั้งนั้นๆได้ เหมือนกับผู้ได้อภิญญา ๖
๗.ทิพพจักขุญาณ แปลว่า "มีตาทิพย์" คือมีความสามารถในการโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้การเกิด การตาย เพื่อเห็นหมู่สัตว์กำลังตายกำลังเกิดเลวบ้าง ประณีตบ้าง ผิวพรรณดีบ้าง ผิวพรรณทรามบ้าง ได้ดีบ้าง ตกยากบ้าง ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เกินตาของมนุษย์ทั่วไป ย่อมรู้เห็นหมู่สัตย์ เป็นไปตามกรรมว่า ผู้นี้ประกอบด้วยกายทุจริต วาจาทุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้าเป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ ตายไปย่อมถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ส่วนผู้ที่ประกอบด้วยกายสุจริต วาจาสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ ตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เหมือนกับผู้ได้วิชชา ๓
๘.อาสวักขยาญาณ แปลว่า "ทำอาสวะกิเลสให้สิ้น" คือมีความสามารถในการโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้เห็นทุกข์ เหตุของทุกข์ ความดับทุกข์ และทางดับทุกย่อมรู้เห็นอาสวะกิเลส เหตุของอาสวะกิเลสทั้งหลาย ความดับอาสวะกิเลส และทางดับอาสวะกิเลส จิตย่อมหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว การเกิดอีกของเราสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราอยู่จบแล้วกิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว เหมือนกับผู้ได้วิชชา ๓
อภิญญา ๖
๑.อิทธิวิธีญาณ คือแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เช่น:-
-คนๆเดียวสามารถทำให้เป็นหลายร้อยหลาพันคนก็ได้
-หลายร้อยหลายพันคนทำให้เป็นคนๆเดียวก็ได้
-แสดงตัวให้ไปปรากฏในที่อื่นได้
-หายตัวได้
-เดินทลุฝา กำแพง และภูเขาหินไปได้
-ทำพื้นแผ่นดินให้เป็นทะเลได้
-ทำทะเลให้เป็นพื้นแผ่นดินได้
-เหาะไปไหนก็ได้ตามใจนึก
-ดำดินได้
-ใช้มือลูบคลำดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ได้
-ไปนรกสวรรค์และพรหมโลกได้ ฯลฯ
๒.ทิพพโสตญาณ คือมีหูทิพย์
-สามารถได้ยินเสียงพูดของมนุษย์ เทวดา อินทร์พรหม สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้แม้จะอยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม แม้กระทั่งเสียงมดและเสียงปลวกเดินก็ได้ยิน
๓.เจโตปริยญาณ คือกำหนดรู้จิตใจของผู้อื่นว่าคิดอย่างไร
๔.ปุพเพนืวาสานุสสติญาณ คือระลึกชาติได้ทั้งในอดีตและอนาคต
๕.ทิพพจักขุญาณ คือมีตาทิพย์
-สามารถมองเห็นการเกิด, การตาย, และการกระทำของมนุษย์ เทวดา อินทร์พรหม สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานได้ สามารถมองเห็นพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ได้ มองเห็นสิ่งที่อยู่ในที่มืดและที่ลับ และสิ่งที่เล็กที่สุดที่อยู่ในระยะไกลๆได้
๖.อาสวักขยญาณ คือรู้จกทำอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นไป
ฌาน
ฌาน แปลว่า "การเพ่ง" คือเพ่งอารมณ์ที่เป็นสมถกรรมฐานจนใจแน่วแน่ถึงขั้นเป็นอัปปนาสมาธื
ฌาน แบ่งออกเป็น ๔ อย่าง คือ:-
๑.ปฐมฌาน
๒.ทุติยฌาน
๓.ตติยฌาน
๔.จตุตถฌาน
๑.ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ:-
๑.๑ วิตก คือความตรึก การจดจ่ออยู่แต่ในการบริกรรมหรือการภาวนา เช่น พุทโธๆ แบบหนักแน่น
๑.๒ วิจาร คือความตรอง การผ่อนคลายจากการวิตกข้างต้นลงได้ มีสติรู้บริกรรมได้แบบพริ้วไหวแผ่วเบา
๑.๓ ปิติ คือความเอิบอิ่มใจที่เกิดขึ้น แสดงออกมาในลักษณะต่างๆ เช่น เห็นแสง กายสั่นโยกคอนเป็นต้น
๑.๔ สุข คือความสุขกายสบายใจ กายเบาใจเบาเหมือนปุยนุ่น ไม่รู้สึกเจ็บปวด กาย มีกายละเอียดลมหายใจละเอียดกายหยาบหายไป
๑.๕เอกัคคตา คือจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แบบหนึ่งเดียว มีสติรู้อยู่เพียงลำพัง ไร้ซึ่งความคิดใดๆมารบกวน ตกอยู่ในห่วงแห่งภวังคจิต
๒.ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ:-
๒.๑ ปิติ คือความเอิบอิ่มใจ
๒.๒ สุข คือความสุขกายสบายใจ
๒.๓ เอกัคคตา คือจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ได้แก่การที่เราสามารถละ วิตก, และวิจาร ลงได้ นั่นเอง กล่าวคือการที่เราชำนาญ พอนั่งสมาธิปุ๊ปก็สามารถเข้า ปิติสุข เอกัคคตา ได้ตามลำดับโดยไม่ต้องมานั่ง วิตก วิจารอีก
๓.ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ
๓.๑ สุข
๓.๒ เอกัคคตา
เพราะปิติสงบระงับไป ความสุขจึงมี จิตของผู้ปฏิบัติเยือกเย็นและสงบมากยิ่งขึ้น กล่าวคือการที่เราชำนาญ พอนั่งสมาธิปุ๊ปก็สามารถเข้าถึง สุข และเอกัคคตารมณ์ ได้ตามลำดับโดยไม่ต้องมานั่ง วิตก วิจารและปิติอีก ก้าวข้ามไปสุขได้โดยพริบตาเดียว ความชำนาญแบบนี้เรียกว่า ตติยฌาน
๔.จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ:-
๔.๑ อุเบกขา
๔.๒ เอกัคคตา
แม้ความสุขจะหายไป แต่ใจจะปรากฏเป็นอุเบกขาคือการวางเฉยเพิ่มเข้ามา ที่เรียกว่า เป็นอุเบกขาฌาน อันเป็นอาการของปัญญาปรากฏขึ้นภายในจิตพร้อมกับเอกัคคตา คือจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิไม่หวั่นไหว กล่าวคือการที่เราชำนาญพอนั่งสมาธิปุ๊ปก็สามารถเข้าถึง เอกัคคตารมณ์ ได้ทันทีโดยไม่ต้องมานั่งบริกรรม วิตก วิจาร ปิติและสุขอีก ก้าวข้ามไปเอกัคคตา ได้โดยในพริบตาเดียวความชำนาญแบบนี้เรียกว่า จตุตถฌาน
-สรุปการทำให้ครบองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคตา ได้ เรียกว่าเข้าถึง ปฐมฌาน
-ความชำนาญสามารถละ วิตก วิจาร เข้าถึง ปิติ ได้ภายในพริบตาเดียวเรียกว่า ทุติยฌาน
-ความชำนาญสามารถละ ปิติ เข้าถึงสุขได้ภายในพริบตาเดียวเรียกว่า ตติยฌาน
-ความชำนาญสามารถละ สุข เข้าถึง เอกัคตา ได้ภายในพริบตาเดียวเรียกว่า จตุตถฌาน คือฌาน ๔
-ฌานทั้ง ๔ ประการนี้ เรียกว่า รูปฌาน หรือ รูปสมาบัติ
ส่วนใหญ่ชอบหลงกัน มักคิดว่าตนเองถึงณาน ๔ แล้ว ทั้งๆที่ยังเป็นแค่ ปฐมฌาน (มีองค์ ๕) วิตก,วิจาร,ปิติ,สุข,เอกัคคตา ตราบใดยังนั่งบริกรรมมีองค์ ๕ อยู่ตราบนั้นก็ยังไม่ใช่ ณาน ๔ เพราะฌาน ๔ ต้องมีองค์ ๒ คือ อุเบกขา กับเอกัคคตากล่าวคือการที่เราชำนาญพอนั่งสมาธิปุ๊ปก็สามารถเข้าถึง เอกัคคตา ได้ทันทีนั่นแหละคือ จตุตถฌาน
อรูปฌาน ๔
ฌานละเอียดชั่นสูง คืออรูปฌาน ๔ หรือ อรูปสมาบัติ ๔ ได้แก่
๑.อากาสานัญจายตนฌาน คือถือเอาอากาศเป็นอารมณ์
๒.วิญญานัญจายตนฌาน คือการถือเอาวิญญาณเป็นอารมณ์
๓.อากิจจัญจายตนฌาน คือการถือเอาอาการแห่งความไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์
๔.เนวะสัญญานาสัญญายตนฌาน คือการถือเอาอาการแห่งการมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่เป็นอารมณ์
รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ รวมเรียกว่าสมาบัติ ๘ ทำได้ก็สามารถ ทรงอภิญญา ๕ ได้
นิโรธสมาบัติ
นิโรธสมาบัติ ท่านที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องเป็นพระอริยเจ้าขั้นต่ำตั้งแต่พระอนาคามี เป็นต้นไป และเป็นพระอรหันต์เท่านั้น และต้องได้สมาบัติแปดมาก่อน ตั้งแต่เป็นโลกียฌาน และที่ได้สมาบัติแปดเป็นพระอริยะเจ้าต่ำกว่าพระอนาคามีก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ ต้องได้มรรคผลถึงอนาคามีเป็นอย่างต่ำจึงจะเข้าได้
ผลของสมาบัติ
สมาบัตินี้ นอกจากจะให้ผลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังให้ผลแห่งการบำเพ็ญกุศล ต่อบุคคลที่ได้สมาบัติด้วย พระก่อนบิณฑบาต ตอนเช้าท่านสอนให้เคาะระฆังก็เพื่อให้พระวิจัยวิปัสสนาญาณ และเข้าฌานสมาบัติ เพื่อเป็นการสนองความดีของทายกทายิกาผู้สง เคราะห์ใส่บาตรในตอนเช้า ผลของสมาบัติมีดังนี้
๑.นิโรธสมาบัติ สมาบัตินี้ เข้าคราวหนึ่งใช้เวลาอย่างน้อย ๗ วัน อย่างสูงไม่เกิน ๑๕วัน ใครได้ทำบุญแก่ท่านที่ออกจากนิโรธสมาบัตินี้ จะได้ผลในวันนั้น หมายความว่าคนจนก็จะได้เป็นเศรษฐีในวันนั้นเลยทีเดียว
๒.ผลสมาบัติ เป็นสมาบัติเฉพาะพระอริยเจ้า ท่านออกจากผลสมาบัติแล้วสมาบัตินี้เข้าออกได้ทุกวันและทุกเวลา ท่านที่ทำบุญแก่ท่านที่ออกจากผลสมาบัติ ท่านผู้นั้นจะมีผลอันไพบูลย์ในความเป็นอยู่ คือมีฐานะไม่ฝืดเคือง มีฐานะมั่นคงดี
๓.ฌานสมาบัติ ท่านที่บำเพ็ญกุศลแก่ท่านที่ออกจากฌานสมาบัติ จะทรงฐานะไว้ด้วยดี ไม่ยากจนกว่าเดิม มีแต่วันจะเจริญรุ่งเรืองงอกงามขึ้นเป็นลำดับ
นิวรณ์ ๕
สิ่งที่ทำให้บรรลุถึงฌานหรือสมาธิไม่ได้ เรียกว่า "นิวรณ์"
นิวรณ์ แปลว่า "เครื่องกั้น" หมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมไม่ได้หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจในการปฏิบัติธรรมไปเลย
นิวรณ์มี ๕ อย่าง คือ:-
๑. กามฉันทะ คือความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง
๒. พยาบาท คือความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปราถณาในโลกียะสมบัติทั้งปวง
๓. ถีนมิทธะ คือความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัยตายอยาก ไร้กำลังทั้งกายและใจ ไม่ฮึกเหิม
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน ความไม่สงบนิ่งแห่งจิตใจ กระวนกระวายใจ
๕. วิจิกิจฉา คือความไม่แน่ใจ ความลังเลใจ สงสัย กังวล กล้าๆกลัวๆ ใจไม่เต็มร้อย ไม่มั่นใจในธรรม
ลำดับแห่งสมาธิ
๑.ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วคราว
๒.อุปจารสมาธิ คือสมาธิแต่เพียงเฉียดๆฌาน เกือบจะแน่วแน่
๓.อัปปนาสมาธิ คือสมาธิแน่วแน่ มี ๔ อย่าง คือ:-
๓.๑ ปฐมฌาน คือวิตก, วิจารณ์,ปิติ, สุข, เอกกัคคตา
๓.๒ ทุติยฌาน คือปิติ , สุข, เอกัคคตา
๓.๓ ตติยะฌาน คือ สุข,เอกัคคตา
๓.๔ จตุตถะฌาน คืออุเบกขา,เอกัคคตา
ตรงนี้อาจจะมีคำถามสอดแทรกขึ้นมาว่า "ที่ว่าพระมาลัยท่านไปนรกสวรรค์ได้นั้นมันเป็นเรื่องจริงหรือไม่?"
ข้าพเจ้าผู้เขียนตำราเล่มนี้ ขอตอบอย่างภาคภูมิใจว่า "มันเป็นเรื่องจริง" เพราะการไปนรกสวรรค์ของพระมาลัยผู้เลิศด้วยฤทธิ์นั้นมันเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนกับเราไปไร่ไปนาไปวันละกี่ครั้งก็ได้ ท่านผู้อ่านทั้งหลาย พระมาลัยนั้นท่านเป็นพระอรหันต์ที่ได้อภิญญา ๖ ที่เลิศด้วยฤทธิ์ และได้อภิญญา ๖ มีอานุภาพอย่างไรให้ไปอ่านดูในเรื่องของอภิญญา ๖ ในข้อที่ ๑ คืออิทธิวิธี การไปนรกสวรรค์ในสมัยพระพุทธเจ้านั้น พระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็ไปได้แทบทุกองค์ที่ไปไม่ได้ก็มีแต่พระอรหันต์ที่เป็นสุขวิปัสสกะเท่านั้น อย่างเช่นพระอรหันต์ชั้นผู้ใหญ่ ๘๐ รูป มีพระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น ท่านก็ไปเป็นประจำ พระมหาโมคคัลลานะนั้นรู้สึกว่าจะไปมากกว่าใครๆ ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะบอกวิธีไปนรกสวรรค์ให้แก่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายทำตามวิธีที่ข้าพเจ้าแนะนำพวกท่านทั้งหลายก็ไปได้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้
วิธีไปนรกสวรรค์
ไปแบบสมถกรรมฐาน
๑.บำเพ็ญสมถกรรมฐานจนทำให้ปฐมฌานบังเกิดขึ้น
๒.เมื่อได้ปฐมฌานแล้วต้องทำปฐมฌานชวนะกุศลให้บังเกิดติดต่อกัน ๗ วัน เพื่ออบรมจิตให้มีสมาธิกล้าแข็งขึ้นที่จะเป็นบาทในการฝึกหัด วสีภาวะ ๕ ประการให้เกิดความชำนาญ ทุติฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานจึงจะบังเกิดมีขึ้นได้
๓.พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เจโตอิทธิยา วสีปัตโต ผู้ปฏิบัติชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว อิทธิฤทธิ์จะบังเกิดขึ้นได้ตามปราถนา" วสีทั้ง ๕ นั้น มีดังนี้
วสี แปลว่า "ความชำนาญ หรือ ความคล่องแคล่วในองค์ฌาน" มี ๕ อย่าง คือ:-
๑. อาวัชชนะวสี คือความชำนาญในการนึกถึงปฐมฌานได้ตามปราถนา
๒. สมาปัชชนะวสี คือความชำนาญในการเข้าฌาน ได้แก่การทำให้ฌานจิตเกิดขึ้นได้ตามต้องการทุกเวลา
๓. อธิษฐานะวสี คือความชำนาญในการทำให้ฌานจิตเกิดดับสืบต่อกันไป นาน มากน้อย ได้ตามต้องการ
๔. วุฎฐานะวสี คือความชำนาญในการออกจากฌานเร็วหรือช้าได้ตามต้องการ
๕. ปัจจเวกขณะวสี ความชำนาญในการนึกถึงองค์ฌานแต่ละองค์ได้ตามต้องการ
วสีทั้ง ๕ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของฌานจะขาดเสียข้อใดข้อหนึ่งมิได้โดยเด็ดขาด
เมื่อบำเพ็ญจิตจนได้ฌานแล้ว ก็ให้เข้าสู่ปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน แล้วเข้าสู่ทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน แล้วเข้าสู่ตติยฌาน ออกจากตติยฌาน แล้วเข้าสู่จตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน ทำการอธิษฐานจิตเพื่อให้ไปในสถานที่ต้องการ แล้วเข้าสู่จตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน แล้วกระทำอิทธิฤทธิ์เหาะไปได้ เมื่อชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว อภิญญาชวนะจิตก็จะบังเกิดเป็นอิทธิฤทธิ์พาสรีระร่างกายเหาะไปในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนรกสวรรค์และพรหมโลกก็ไปได้ทั้งนั้นด้วยอำนาจกำลังของอภิญญานุภาพ
-เทวดาและพรหม เหาะไปได้ด้วยอำนาจของปุญญานุภาพ
-มนุษย์ผู้ได้ฌานอภิญญาสมาบัติ ก็เหาะไปได้ด้วยอำนาจของ ฌานอภิญญาสมบัติ ผู้ได้ฌาน อภิญญา สมาบัติ สามารถไปนรก สวรรค์ และพรหมโลกได้
-มนุษย์ผู้สำเร็จปรอทกายสิทธิ์ ก็เหาะไปได้ด้วยอำนาจของปรอทกายสิทธิ์ ผู้สำเร็จปรอทกายสิทธิ์จะไปนรกสวรรค์มิได้
-มนุษย์ผู้สร้างเครื่องบินและจรวดสำเร็จ ก็เหาะไปได้ด้วยเครื่องบินและจรวด เครื่องบินและจรวดจะไปนรกสวรรค์ไม่ได้
-สัตว์มีปีกทั้งหลายก็บินไปได้ด้วยปีก
ไปแบบวิปัสสนากรรมฐาน
อภิญญา ๖ จากอานาปานุสติ จะบังเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีดังนี้
๑.ในชาติก่อนๆต้องได้ อภิญญา ๕ มาก่อนแล้ว
๒.ในชาติที่จะได้อภิญญา ๖ ก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ ต้องได้ฌาณ ๔ จากอานาปานุสติมาก่อน เพื่อให้อภิญญา ๕ ที่เคยได้ในชาติที่แล้วกลับคืนมา (ที่จริงแล้วฌาณ ๔ จากกรรมฐานกองไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องอานาปานุสติ)
๓.เป็นพระอรหันต์ จะได้อาสวักขญาณ มาเป็นตัวที่ ๖ เรียกว่าอภิญญา ๖ ถ้าไม่เคยฝึกมาในชาติก่อนๆ แล้ว อยากได้อภิญญา ๖ ในชาตินี้ ต้องฝึกอภิญญา ๕ ใหม่หมด และอภิญญา ๕ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากอานาปานุสติด้วย ต้องไปฝึกกรรมฐานกองอื่นๆ เช่น กสิณ ๑๐ เป็นต้น
เนื่องจากอภิญญาส่วนใหญ่จะฝึกได้ต้องมีพื้นฐานคือกสิณ ๑๐ มาก่อน หลังจากได้อภิญญา ๕ แล้ว ค่อยยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐานตัดกิเลสให้หมด เป็นพระอรหันต์ก็จะได้อภิญญา ๖
อภิญญามี ๖ ได้แก่...
๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๒. ทิพพโสต หูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ ทายใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ ทำให้อาสวะกิเลสให้สิ้นไป
อานาปานสติแบบที่พระพุทธเจ้าให้ฝึกจริงๆแล้ว สมัยนี้หาคนฝึกได้ยากมาก โดยมากจะเพ่งจิตจับลมหายใจเข้าออก กระทั่งลมละเอียดหรือเลือนหายไป น้อยคนจะหายไปจริงๆแบบที่เข้าถึงฌาน ๔
อานาปานสติแบบพระพุทธเจ้านั้นมีทั้งสมถะและวิปัสสนาอยู่ในตัวและพระองค์รับรองว่าอานิสงส์ของเจริญอานาปานสตินั้น โลกียอภิญญาจะสามารถเกิดขึ้นได้ (อภิญญาชนิดที่ ๑ ถึง ๕) โลกุตตรอภิญญาก็สามารถหวังได้เช่นกัน (อภิญญาชนิดที่ ๖)
อภิญญาจะไม่เกิดระหว่างฝึกอานาปานสติ เพราะฉะนั้นไม่มีช่วงไหนจังหวะใดของผู้เริ่มฝึกรู้ลมหายใจเข้าออก ที่จะให้ได้อภิญญา ต่อเมื่อผู้ฝึกรู้ลมหายใจจนจิตอยู่ในสภาพผู้รู้เมื่อนั้นอาจจะได้อภิญญาขึ้นมาตามวาสนาบารมีก็ได้ เพราะอภิญญานั้นแปลว่า "ความรู้อันยิ่ง"
เมื่อจิตอยู่กับลมหายใจได้เสมอๆทั้งวัน จะมีความรู้ ความเห็นภายในขึ้นมาแน่นอนอันดับแรกคือนิมิตสายลมหายใจอันเกิดจากการเฝ้ารู้ผัสสะคือลมนั่นเองจากนั้น ถ้าหากจิตไม่น้อมมาพิจารณาไตรลักษณ์ของลมหายใจไม่น้อมมาพิจารณาไตรลักษณ์ของสุขเวทนา ทุกขเวทนา โดยมากมักเกิดสัมผัสที่ละเอียด เช่นกินข้าวอร่อยขึ้น ฟังคนพูดรู้เรื่องมากขึ้น ตลอดจนกระทั่งทราบชัดว่า ใครหายใจอ่อน ใครหายใจแรงและในลมหายใจของแต่ละคนจะเป็นตัวบอก ว่าจิตของเขากำลังหยาบหรือละเอียดเมื่อรู้มากๆเข้าก็กลายเป็นการเห็นทะลุทะลวงไปถึงความรู้สึกนึกคิดเป็นขณะๆของเขา ฉะนั้นอานาปานสติจึงมีของแถมเป็นเจโตปริยญาณเป็นอันดับต้นๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ไม่จำเป็นต้องถึงฌาน เอาแค่ขณิกสมาธิแบบเข้มแข็ง จิตมีความเป็นกลาง รู้ลมหายใจชัด ก็ได้กันแล้ว แต่จะเป็นเจโตแบบตื้นๆ รู้เฉพาะคนที่มีจิตหยาบกว่าเท่านั้น
อันดับต่อมาที่มักได้กันไม่ยากคือทิพพจักขุสามารถเห็นอะไรที่ตาเปล่าไม่เห็น เช่นคลื่นพลังของมนุษย์ ราศีมนุษย์ ซึ่งเมื่อเห็นบ่อยๆก็จะพลอยทำให้เห็นวิญญาณต่างๆในชั้นหยาบ หรือไม่ก็เป็นอดีตและอนาคตที่ใกล้ๆ และเป็นเรื่องใกล้ตัว อภิญญาอื่นๆนั้น ถ้าไม่ได้ฌาน ๔ ก็สำเร็จยาก เพราะต้องใช้กำลังอย่างสูง ต้องใช้ความเพียรกันนานกว่าจะระลึกได้หรือทำได้ ส่วนมากที่ระลึกชาติได้จะเป็นของหลอกมากกว่าของจริงประเภทอยู่ๆก็มีนิมิตโผล่มาบอกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ และมักจะเป็นคนสำคัญๆ ของหลอกไม่ค่อยบอกว่าเราเป็นหมูเป็นหมากาไก่ จะเอาเฉพาะดีๆที่กิเลสของเราชอบมาบอก
ส่วนอภิญญาชนิดที่ ๖ ซึ่งมีคุณค่าสูงสุดนั้น ก่อนจะได้มา ก็ต้องผ่านขั้นหนึ่ง สอง สามเสียก่อนซึ่งสำหรับขั้นหนึ่งกับสองนั้น ไม่ต้องมีสมาธิเข้มแข็งขนาดใหญ่เอาแค่ทรงจิตให้ตั้งมั่น เป็นผู้มีสติรู้ปัจจุบันธรรมไปเรื่อยๆว่าเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าสุข ทุกข์ เฉย ชอบ ชัง นับว่าเป็นการนำเอาอานาปานสติมาใช้ทำมากกว่าอย่างอื่น เพราะ...
๑. อาปานสติ ง่ายกว่าเมื่อขวนขวายอภิญญาชนิดอื่น ถ้ารู้จริง
๒. อาปานสติ ประสพความสำเร็จได้เร็วภายใน ๗ วันเป็นอย่างเร็ว ๗ เดือนเป็นอย่างกลาง และ ๗ ปีเป็นอย่างช้า ต่างจากอภิญญาชนิดอื่น ที่พยายามมาทั้งชาติก็อาจจะไม่สำเร็จ เพราะต้องอาศัยปัจจัยนานาชนิด
๓. อาปานสติ เมื่อสำเร็จแล้ว จะเป็นอภิญญาชนิดเดียวที่ไม่กลับไม่เปลี่ยนต่างจากชนิดอื่น ที่ต้องเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเล่า วนเวียนไปมาอย่างไม่รู้จบ
พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายไปโลกอื่นด้วยฌาน อภิญญา และสมาบัติ โดยไม่ต้องเสียเงิน
นักวิทยาศาสตร์ไปโลกอื่นด้วยยานอวกาศลงทุนมากเสียเงินมากแต่ก็จะไปไม่ถึงเทวโลกและพรหมโลก ไปถึงได้แค่ดวงจันทร์และดวงดาวต่างๆเท่านั้น
ข้อมูลเกี่ยวการไปนรกสวรรค์ที่ข้าพเจ้าได้นำมาแสดงให้ดูนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายหายสงสัยเกี่ยวกับการไปนรกสวรรค์ของพระมาลัยผู้เป็นพระอรหันต์ที่เลืศด้วยอิทธิฤทธิ์
พระมาลัยเมื่อท่านได้ดอกบัวแล้วท่านคิดว่าควรจะเอาดอกบัว ๘ ดอกเหล่านี้ ไปบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์จึงจะได้บุญมาก ท่านก็เข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน แล้วเข้าสู่ทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน แล้วเข้าสู่ตติยฌาน ออกจากตติยฌาน แล้วเข้าสู่จตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน แล้วทำการอธิษฐานจิตเพื่อจะไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับเข้าสู่จตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน ทำอิทธิฤทธิ์เหาะไปได้เลย เมื่อไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้วท่านก็นำเอาดอกบัว ๘ ดอกไปบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี วันที่ท่านนำดอกบัวไปบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีนั้นเป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำพอดี เพราะฉะนั้นวันนั้นจึงมีเทวดามาบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีเป็นจำนวนมาก
พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี
พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีเป็นเจดีย์ทรงฐานใหญ่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครไตรตรึงษ์ ตั้งแต่ฐานเจดีย์ถึงกลางเจดีย์สร้างด้วยแก้วอินทนิล ตั้งแด่ตรงกลางเจดีย์ถึงยอดเจดีย์สร้างด้วยทองคำเนื้อแท้ และประดับประดาด้วยแก้ว ๗ ประการ ส่วนสูงของเจดีย์สูงได้ ๘๐๐๐๐ วา มีกำแพงทองคำล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน แต่ละด้านยาว ๑๖๐๐๐๐ วา และมีธงสีต่างๆ สีเขียวบ้าง สีแดงบ้าง สีเหลืองบ้าง และธงหลากสีชนิดต่างๆ ประดับประดากำแพงอย่างสวยสดงดงามมาก
ตามปกติแล้วถ้าวันไหนเป็นวันพระท้าวสักกเทวราชพร้อมด้วยเทวดาทั้งหลายจะต้อง เสด็จมากราบไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีมิได้ขาดเพื่อเป็นการเติมบุญให้แก่ตนเองจะได้ไปเกิดในภพสูงๆขึ้นไป โดยไม่ต้องลงมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อทำบุญอีก
พระมาลัยสนทนากับท้าวสักกเทวราช หรือที่เราเรียกท่านว่าพระอินทร์
ท้าวสักกเทวราชครั้นไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีแล้ว พระองค์ก็มองเห็นพระมาลัยนั่งชมพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีอยู่จึงได้แวะเข้าไปนมัสการ แล้วเรียนถามว่า "พระคุณเจ้ามาจากทวีปไหน?"
พระมาลัยตอบว่า "อาตมาภาพมาจากชมพูทวีป มหาบพิตร"
ท้าวสักกเทวราช เรียนถามต่อไปว่า "พระคุณเจ้ามาเพื่ออะไร?"
พระมาลัยตอบว่า "มาบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี มหาบพิตร"
พระมาลัยถามท้าวสักกเทวราชว่า "พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีองค์นี้ใครเป็นคนสร้าง? สร้างไว้เพื่อประสงค์อะไร? ข้างในพระเจดีย์มีอะไรบรรจุอยู่?
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "โยมเป็นคนสร้างเอาไว้ สร้างไว้เพื่อให้เทวดาทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา เพื่อจะได้เป็นบุญนิธิเพิ่มบุญกุศลให้แก่ตนเอง เทวดาองค์ใดมากราบไหว้บูชา เทวดาองค์นั้นก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นสูงๆขึ้นไป โดยไม่ต้องลงไปเกิดในโลกมนุษย์เพื่อสร้างกุศลอีก ข้างในพระเจดีย์บรรจุพระเกสาและพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า"
พระมาลัยถามต่อไปว่า "วันนี้พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ พระองค์จะเสด็จมาไหว้พระเจดีย์หรือเปล่า มหาบพิตร"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "มาสิพระคุณเจ้า เดียวพระองค์ก็เสด็จมา"
บุรพกรรมของเทพบุตร ๑๒ องค์
ในขณะที่นั่งรอพระศรีอริยเมตตรัยเสด็จมานั้น พระมาลัยได้เห็นเทพบุตรองค์หนึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองมีบริวารแวดร้อยหนึ่งมาไหว้พระเจดีย์ จึงถามท้าวสักกเทวาชว่า "ในคราวที่เป็นมนุษย์เทพบุตรองค์นี้ทำบุญอะไรไว้ จึงได้มาเกิดที่นี่ ?"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "นั่นคือ ทุคคตะเทพบุตร ในคราวที่เป็นมนุษย์เขาเป็นคนยากจนรับจ้างหาบหญ้าขายเลี้ยงดูมารดาของตนเอง วันหนึ่งนายทุคคตะไปตัดหญ้าในป่ามาขาย เขาได้เห็นกาตัวหนึ่งที่อดหิวผอมโซมากเกิดความสงสารจึงเอาข้าวกำมือหนึ่งโยนให้กากิน ด้วยบุญกุศลเพรียงแค่นั้นทำให้เขาได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แวดล้อมด้วยบริวารร้อยหนึ่ง พระคุณเจ้า"
พระมาลัยถามต่อไปว่า "เทพบุตรองค์ที่มีรัศมีสีขาวที่กำลังเดินมานั้น ทำบุญอะไรไว้จึงได้มาเกิดที่นี่"
ท้าวสักกเทวรชตอบว่า "เทพบุตรองค์นั้นคือศรัทธาเทพบุตร ในคราวที่เป็นมนุษย์เขาได้ถวายข้าวปลาอาหารแก่สามเณรผู้มีศีลบริสุทธิ์ ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นจึงทำให้เขามาเกิดที่นี่และมีบริวารแวดล้อมหมื่นหนึ่ง"
พระมาลัยถามท้าวสักกเทวราชต่อไปว่า "เทพบุตรที่มีรัศมีรุ่งเรืององค์นั้น ทำบุญอะไรจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ?"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "นั่นคืออภิศรัทธาเทพบุตร ในคราวที่เป็นมนุษย์เขาได้ถวายข้าวปลาอาหารแก่พระภิกษุที่มีศีลบริสุทธิ์ ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นเขาจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้และมีบริวารแวดล้อมสองหมื่น"
พระมาลัยถามท้าวสักกเทวราชต่อไปว่า "เทพบุตรที่กำลังเหาะมา เขาทำบุญอะไรจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ?"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "นั่นคือ เปสการีเทพบุตร ในคราวที่เป็นมนุษย์เขาเป็นคนตำหูกเข็นฝ้าย เขาได้เผาศพผีไม่มีญาติ ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้น เขาจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้และมีบริวารแวดล้อมสามหมื่น"
พระมาลัยถามต่อไปว่า "เทพบุตรองค์นั้นมีรัศมีรุ่งเรืองสวยงามมาก เขาทำบุญอะไรไว้จึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ?"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "นั่นคือ อุโบสถเทพบุตร ในคราวที่เขาเป็นมนุษย์เขาเป็นเศรษฐีอยู่ในหมู่บ้านหะริตคามเขาได้รักษาอุโบสถศีล ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นเขาจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้และมีบริวารแวดล้อมสี่หมื่น"
พระมาลัยถามต่อไปว่า "เทพบุตรองค์นั้นมีรัศมีสวยงาม เขาทำบุญอะไรจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ?"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "นั่นคือ ศรัทธาดิสเทพบุตร ในคราวที่เป็นมนุษย์เขาเป็นพระราชาทรงพระนามว่า "ศรัทธาดิส" พระองค์ทรงรักษาศีลตลอด ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นพระองค์จึงได้มาบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้และมีบริวารแวดล้อมห้าหมื่น"
พระมาลัยถามต่อไปว่า "เทพบุตรองค์นั้น ทำบุญอะไรไว้ เขาจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ?"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "นั่นคือ อภัยยศเทพบุตร ในคราวที่เป็นมนุษย์เขาเป็นพระยาทรงพระนามว่า "อภัยยศ" พระองค์ทรงสร้างสถูปเจดีย์และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ด้วยบุญกุศลนั้นเขาจึงได้มาบังเกิดในสวรรค์ชั้นนี้และมีบริวารแวดล้อมหกหมื่น"
พระมาลัยถามต่อไปว่า "เทพบุตรองค์นั้น มีรัศมีสีเหลืองรุ่งเรืองสวยงามเขาทำบุญอะไรไว้ จึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ?"
ท้าวสักกเทวรชตอบว่า "นั่นคือ สามเณรเทพบุตร ในคราวที่เป็นมนุษย์เขาได้บวชเป็นสามเณรมีศีลบริสุทธิ์ได้อุปัฏฐากพระสงฆ์ด้วยความไม่ประมาท ดัวยอำนาจบุญกุศลนั้นเขาจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้และมีบริวารแวดล้อมเจ็ดหมื่น"
พระมาลัยถามต่อไปว่า "เทพบุตรองค์นั้น เขาทำบุญอะไร จึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้?"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "นั่นคือ สังฆการีเทพบุตร ในคราวที่เป็นมนุษย์เขาได้อุปัฏฐากพระสงฆ์ ในเวลาที่พระสงฆ์ไปบิณฑบาต เขาเป็นคนบอกกล่าวชาวบ้านให้ใส่บาตรพระสงฆ์ ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้น เขาจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ และมีบริวารแวดล้อมแปดหมื่น"
พระมาลัยถามต่อไปว่า "เทพบุตรองค์นั้นมีบริวารมาก เขาทำบุญอะไรถึงมีบริวารมากเช่นนั้น ?"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "นั่นคือ ปูชกะเทพบุตร ในคราวที่เป็นมนุษย์เขาได้อุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและคนเป็นจำนวนมาก เขาได้ช่วยเหลือคนจำนวนมาก ด้วยอำนาจบุกุศลนั้นเขาจึงได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้และมีบริวารแวดล้อมเก้าหมื่น"
พระมาลัยถามต่อไปว่า "เทพบุตรองค์นั้นมีบริวารแวดลัอมมากกว่าใครๆ เขาทำบุญอะไรไว้ถึงมีบริวารเช่นนั้น ?"
ท้าวสักกเทวราชตอบว่า "เทพบุตรองค์นั้นคือ ทลิทโทเทพบุตร ในชาติที่เป็นมนุษย์เขาได้ก่อเจดีย์ทรายและได้ทำการอุปัฏฐากหมู่ภิกษุผู้ทรงศีล ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นเขาจึงได้มาบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้และมียังบริวารแวดล้อมอีกหนึ่งแสน พระคุณเจ้า"
พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์มาไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณื
พระมาลัยทูลถามท้าวสักกเทวราชว่า "ดูก่อน มหาบพิตร เทพบุตรองค์นั้นมีบริวารหลากหลายจนนับไม่ถ้วน บริวารก็มีรัศมีแตกต่างสลับสีกันไปอย่างน่าดูยิ่งนัก ตัวเทพบุตรองค์นั้นก็มีรัศรุ่งโรจน์ข่มรัศมีของเทวดาต่างๆเสียหมด เทพบุตรองค์นั้นท่านเป็นพระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ ใช่หรือเปล่า มหาบพิตร ?"
ท้าวสักกเทวราชตรัสตอบว่า "ใช่แล้ว พระคุณเจ้า เทพบุตรองค์นั้นคือ พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์เทพบุตร"
เมื่อพระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีเสร็จแล้ว พระองค์ก็แวะเข้ามานมัสการพระมาลัย แล้วพระองค์ก็เรียนถามพระมาลัยว่า
"ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้ามาจากไหน? พระคุณเจ้ามาที่นี่เพื่อประสงค์อะไร?"
พระมาลัยทูลตอบว่า "อาตมาภาพ มาจากโลกมนุษย์ในชมพูทวีป มาเพื่อไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี และจุดประสงค์อีกอย่างหนึ่งที่มาคืออยากมาพบ มหาบพิตร เพื่อสอบถามดูว่าพระองค์จะเสด็จลงไปตรัสรู้ในโลกมนุษย์ตอนไหน?"
เมื่อพระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ทรงทราบจุดประสงค์ของพระเถระแล้ว จึงได้เรียนถามพระเถระว่า "โลกมนุษย์ในตอนนี้มีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร พระคุณเจ้า"
พระมาลัยทูลตอบว่า "โลกมนุษย์ในเวลานี้ บางพวกก็ให้ทาน บางพวกก็รักษาศีล บางพวกก็เจริญภาวนา แต่การเจริญภาวนาในเวลานี้มีน้อย บางพวกก็ลักขโมยปล้นจี้ฉกชิงวิ่งราว บางพวกก็เล่นชู้สู่ชาย บางพวกก็หลอกลวงต้มตุ๋นกัน บางพวกก็ดื่มสุราเมรัยและเสพยาเสพติด บางพวกก็ลักลอบเล่นการพนันถั่วโปไฮโล คนชั่วช้าในโลกมนุษย์มีมากมายหลายชนิดไม่สามารถพรรณาให้หมดได้ ส่วนผู้ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาสร้างคุณงามความดีล้วนแล้วแต่ปราถนาจะไปบังเกิดในศาสนาของพระองค์ทั้งสิ้น"
พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์จึงตรัสว่า "ผู้ใดอยากพบศาสนาของพระศรีอริยเมตตรัยให้ตั้งใจฟังมหาเวสสันดรชาดกให้จบภายในวันเดียว เวลาฟังให้แต่งเครื่องบูชาดังนี้
๑.ดอกบัว ๑๐๐๐ ดอก
๒.ธูป ๑๐๐๐ ดอก
๓.เทียน ๑๐๐๐ เล่ม
๔.ดอกผักตบ ๑๐๐๐ ดอก
๕.ดอกกลางของ ๑๐๐๐ ดอก
๖.ข้าว ๑๐๐๐ ก้อน
๗.ธงช่อ ๑๐๐๐ ด้าม
ผู้ที่จะไม่ได้พบศาสนาของพระศรีอริยเมตตรัยนั้นคือผู้ทำบาปหยาบช้าทั้งปวง สร้างกรรมไม่ดี ไม่มีศีล ไม่เคารพนับถือพระธรรม ฆ่าพ่อตีแม่ ทำลายพระสงฆ์ให้แตกแยกกัน ทำโลหิตุปบาท ตัดต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำลายเจดีย์ให้พังทลาย พวกนี้ตายไปแล้วจะไปตกอเวจีมหานรก"
พระมาลัยทูลถามต่อไปว่า "อีกนานเท่าไหร่ พระองค์จึงจะลงไปตรัสรู้ในโลกมนุษย์"
พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า "เมื่อศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "โคตมะ" มีอายุถึง ๕๐๐๐ ปี ต่อจากนั้นไปพวกมนุษย์ทั้งหลายจะไม่เกรงกลัวบาป ศีลสักข้อก็จะไม่มีติดตัวเลย แม่กับลูกชายพ่อกับลูกสาวจะเล่นชู้ส้องเสพกันเหมือนหมูหมาเป็ดไก่ ไม่มีอย่างอาย เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีพฤติกรรมชั่วช้าเช่นนี้ อายุขัยก็จะลดน้อยถอยลงเหลือ ๑๐ ปี อายุได้ ๕ ปีก็จะแต่งงานเป็นผัวเมียกัน พออายุขัยครบ ๑๐ ปี ก็จะตายไปเกิดใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้โรคภัยไข้เจ็บก็จะเบียดเบียน จะเกิดอดอยากข้าวยากหมากแพง พอเห็นกันเข้าก็คิดว่าเป็นวัวเป็นควาย ถือมีดพร้าศาสตราวุธไล่เฆ่นฆ่าตีรันฟันแทงกันอย่างไม่ปราณีเลือดก็จะนองแผ่นดิน ใช้เวลารบราฆ่าฟันกันอยู่ ๗ วัน คนสามบ้านจะหนีตายเข้าไปอยู่ในถ้ำและป่าเขา เมื่อครบ ๗ วัน ก็จะออกมาจากถ้ำและป่าเขาลำเนาไพร พอออกมาก็จะพบหมู่มนุษย์นอนตายเกลื่อนกลาด เลือดนองแผ่นดินก็เกิดความสังเวชสลดใจจึงปรึกษากันว่าเหตุที่ชาวเราพากันล้มตายระเนระนาดเช่นนี้ ก็เพราะพวกเราไม่นับถือศีลธรรมนั่นเอง จึงทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี่ มาเถิดชาวเราเอ๋ย มาเริ่มนับถือธรรมและรักษาศีลโดยเคร่งครัดกันเถอะ พอพวกมนุษย์ทั้งหลายเริ่มรักษาศีลและนับถือธรรมโดยเคร่งครัด อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็เริ่มยืนขึ้นเรื่อยๆจาก ๕ ปี ก็ยืนถึง ๑๐ ปี จาก ๑๐ ปี ก็ยืนถึง ๒๐ ปี - ๓๐ ปี - ๔๐ ปี - ๕๐ ปี- ๖๐ ปี- ๗๐ ปี - ๘๐ ปี - ๙๐ ปี - ๑๐๐ ปี ยืนขึ้นไปเรื่อยจนถึง ๑๐๐๐ ปี - ๑๐๐๐๐ ปี - ๑๐๐๐๐๐ ปี - ๑๐๐๐๐๐๐ ปี - โกฏิ ปี - อสงไขปี เมื่ออายุขัยยืนถึง อสงไขปี พวกมนุษย์ทั้งหลายก็เริ่มเกิดความประมาท มัวเมาอยู่แต่การละเล่นไม่สนใจเรื่องศีลธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้อายุขัยของมนุษย์ทั้งหลายก็เริ่มลดลง จากอสงไขปี ลดลงเหลือโกฏิ ปี จากโกฏิปี ก็ลดลงเหลือ ๑ ล้าน ปี จาก ๑ ล้าน ปี ก็ลดลงเหลือ ๑ แสน ปี จาก ๑ แสน ปี ก็ลดลงถึง ๘๐๐๐๐ ปี ตอนนี้แหละโยมก็จะได้ลงไปเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระศรีอริยเมตตรัย"
เมื่อพระมาลัยได้ทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องของพระศรีอริยเมตตรัยจะเสด็จลงไปตรัส รู้ เป็นพระพุทธเจ้าในโลกมนุษย์แล้ว จึงได้ทูลถามความเจรืญรุ่งเรืองของศาสนาของพระองค์ว่าจะเป็นเช่นไร
พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ในศาสนาของพระองค์ หมู่มนุษย์จะอยู่เย็นเป็นสุข ข้าวปลาอาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ๑๕ วันฝนจะตกครั้งหนึ่ง ฝนจะตกก็ตกเฉพาะตอนกลางคืนกลางวันฝนจะไม่ตก ต้มไม้ใบหญ้าน้อยใหญ่ก็จะเขียวชะอุ่มร่มรื่นชื่นอุรายิ่งนัก จะหอมตลบอบอวนไปด้วยกลิ่นของดอกไม้และไอดิน มนุษย์ทั้งหลายจะเกิดความร่มเย็นเป็นสุข ฝูงวัวควายจะอ้วนดีพีมัน สิงห์สาราสัตว์ก็จะไม่เบียดเบียนกัน วัวควายปล่อยทิ้งไว้ไม่ต้องมีคนเลี้ยงดู โจรผู้ร้ายก็จะไม่ลักขโมย
น้ำในสระหนองคลองบึงก็จะไม่แห้ง น้ำจะเต็มขอบสระอยู่ตลอดเวลา คนแก่เฒ่าก็จะไม่มีพยาธิโรคามาเบียดเบียน จะมีแต่คนหนุ่มสาวรูปร่างสวยงามเหมือนกับเทพบุตรและเทพธิดาอยู่ในแดนฟ้าเมืองสวรรค์ พระราชาผู้ครองพระนครก็จะทรงทศพิธราชธรรม ไม่กดขี่ข่มเหงประชาชน ไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงคดโกงซึ่งกันและกัน
กากับนกเค้าแมว หนูกับแมว พังพอนกับงูเง่า หมีกับไม้สะคร้อ เสือกับเนื้อจะเลิกเป็นศัตรูกัน ประชาชนในชมพูทวีปไม่ต้องทำไร่ไถนา ไม่ต้องทำมาค้าขายเพราะศาสนาของพระองค์จะมีต้นกัลปพฤกษ์เกิดขึ้นในสี่มุมเมือง ในต้นกัลปพฤกษ์จะมีทุกอย่างตามต้องการ เช่น เสื้อผ้าแพรพรรณ แก้วแหวนเงินทองเพชรนิลจินดา เครื่องประดับตกแต่ง ข้าวปลาอาหาร
ประชาชนในศาสนาพระศรีอริยเมตตรัยจะไม่มีคนหูหนวกตาบอด แขนขาคดงอ ขี้ทูตกุดถัง สูงต่ำดำเตี้ยจะไม่มี ผู้ทำบุญสร้างกุศลไว้มากจะได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตตรัย
รูปร่างพระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์
-รูปร่างสูงได้ ๘๘ ศอก
-วัดจากเท้าถึงสะดือ ๔๔ ศอก
-วัดจากสะดือถึงศีรษะ ๔๔ ศอก รวมเป็น ๘๘ ศอก
-มีอายุยืนได้ ๘๐๐๐๐ ปี
-จะเสด็จบังเกิดขึ้น ณ ที่เมืองเกตุมมดี ในมัชฌิมประเทศ
-บิดาชื่อว่า "สุพรหมพราหมณ์"
-มารดาชื่อว่า "พราหมณะวดี"
-มเหสีชื่อว่า "จันทมุกขี"
-โอรสชื่อว่า "พราหมณ์วัฒนะกุมาร"
-พระสาวกเบื้องขวาชื่อว่า "อโสกะเถระ"
-พระสาวกเบื้องซ้ายชื่อว่า "สุพรหมเถระ"
-พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า "พระสีหเถระ"
-พระสาวิกาเบื้องขวาชื่อว่า "ปทุมมา"
-พระสาวิกาเบื้องซ้ายชื่อว่า "สุมนา"
-อุบาสกที่เป็นพุทธอุปัฏฐากมี ๒ คน คือ:-
๑.สังฆคหบดี
๒.สุทัตตคหบดี
-อุบาสิกาที่เป็นพุทธอุปัฏฐากมี ๒ คน คือ:-
๑.นางสวดี
๒.นางสังฆะ
พระศรีอริยเมตตรัยเป็นพระมหาโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ในภัทรกัปป์นี้ เมื่อศาสนาของพระโคตมะสัมมาส้มพุทธเจ้าสิ้นสุดไปแล้ว โลกจะล่วงเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอย อายุขัยของมนุษย์ลดลงจนเหลือ ๑๐ ปี ก็เข้าสู่ยุคมิคสัญญี ผู้สลดใจกับความชั่วก็หันมารวมกลุ่มกันทำความดี จากนั้นอายุขัยก็จะเพิ่มขึ้นถึง ๑ อสงไขยปี แล้วก็เกิดความประมาทจึทำให้อายุขัยลดลงอีกจนเหลือ ๘๐๐๐๐ ปี พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์จึงจะเสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "ศรีอริยเมตตรัย" พระศรีอริยเมตตรัยทรงบำเพ็บารมีมา ๘๐ อสงไขย กับแสนมหากัปป์ เป็นพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารีมาสูงที่สุด
คำพุทธพยากรณ์เกี่ยวกับ พระศรีอริยเมตตรัย พบในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตรซึ่งเป็นพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท โดยถือกันว่ารักษาเนื้อหาได้สมบูรณ์ที่สุดในบรรดาทุกนิกายทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้โดยมีข้อความดังต่อไปนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าเมต ตรัย จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตตรัย พระองค์นั้น จักทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม เหมือนตถาคตในบัดนี้ ทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตามอยู่ พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตตรัยพระองค์นั้นจักทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงเหมือนตถาคตในบัดนี้ แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พระผู้มีพระภาคพระนามว่า "ศรีอริยเมตตรัย" พระองค์นั้น จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพันรูป เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อยรูป ในบัดนี้ฉะนั้นฯ
พระศรีอาริย์
ถามว่า "พระศรีอาริย์เป็นใคร?"
คำตอบก็คือ พระศรีอาริย์คือพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ที่จะมาอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ในอนาคตหลังโลกตกอยู่ในยุคมืด ยุคมิคสัญญีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง คือช่วงนั้น เป็นยุคที่โลกเสื่อมที่สุด มนุษย์จะไร้ศีลธรรม ไม่มีพระ ไม่มีศาสนา คนเข่นฆ่ากัน สมสู่กันเหมือนสัตว์ทั่วไป เมื่อโลกผ่านพ้นยุคมิคสัญญีไปแล้ว พระศรีอาริย์จะเสด็จมาอุบัติขึ้น พระองค์จะนำพาสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์ ดั่งที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเคยทำมาเมื่อสองพันกว่าปีก่อนอย่างที่กล่าวมาแล้ว พระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบันนี้มีเวลา ๕๐๐๐ ปี และเมื่อสิ้นสุดศาสนาของพระพุทธเจ้าโคดมแล้ว ก็จะมีพระศรีอริยเมตตรัย ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในภัทรกัปปนี้เสด็จขึ้นมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ต่อไป
ภัทรกัปป์ คือ กัปป์ที่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมา ๕ พระองค์ คือ:-
๑.พระกกุสันธะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระวรกายสูงสี่สิบศอก พระรัศมีจากพระวรกาย แผ่ซ่านไปสิบสองโยชน์ ทรงมีพระชนมายุ ๔ หมื่นปี
๒.พระโกนาคมนะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระวรกายสูงสามสิบศอก ทรงมีพระชนมายุ ๓ หมื่นปี
๓.พระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระวรกายสูงยี่สิบศอก พระชนมายุ ๒ หมื่นปี
๔.พระศรีศากมุนีโคตมะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระวรกายสูงได้สิบแปดศอก พระชนมายุ ๘๐ ปี
๕.พระศริอริยเมตตรัยสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีฤทธิ์มาก พระวรกายสูงได้ แปดสิบแปดศอก พระชนมายุ ๘ หมื่นปี
การแบ่งกัปป์ในทางพระพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทคือ:-
๑.สุญญกัปป์ คือ กัปป์ที่ว่างจากพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้ามหาจักรพรรดิ
๒.อสุญญกัปป์ คือ กัปที่ไม่ว่างจากผู้มีบุญโดยเฉพาะพระพุทธเจ้า มี ๕ กัปป์ คือ:-
๒.๑ สารกัปป์ คือกัปป์ที่เป็นแก่นสาร มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์
๒.๒ มัณฑกัปป์ คือ กัปป์ที่ผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๒ พระองค์
๒.๓ วรกัปป์ คือ กัปป์ที่ประเสริฐ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๓ พระองค์
๒.๔ สารมัณฑกัปป์ คือกัปป์ที่เป็นแก่นสารและผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๔ พระองค์
๒.๕ ภัทรกัปป์ คือกัปป์ที่เจริญ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์
กัปป์ปัจจุบันเป็นภัทรกัปมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์ คือ:-
๑.พระกกุสันธะ
๒.พระโกนาคมนะ
๓.พระกัสสปะ
๔.พระโคตมะ
๕.พระศรีอริยเมตตรัย
การแบ่งกัปป์ในฎีกามาลัยสูตร ฎีกามาลัยสูตรแบ่งกัปป์ไว้ ๔ แบบคือ:-
๑.อายุกัปป์ คือ กำหนดอายุสัตว์ สัตว์เกิดมามีอายุเท่าไร เมื่ออายุสิ้นสุดลง เรียก ๑ กัปป์
๒.อันตรกัปป์ คือ กำหนดอายุสัตว์ ระยะเวลาที่อายุขัยของมนุษย์ ถดถอยลงจากอสง ไขยปีจนถึง ๑๐ ปี แล้วขึ้นจาก ๑๐ ปี จนถึงอสงไขยปี ( อสงไขยปีเท่ากับเลข ๑ ตามด้วยเลขศูนย์ ๑๔๐ ตัว)
๓. ๑ อสงไขยกัปป์ = ๖๔ อันตรกัป
๔. ๑ มหากัปป์ = ๔ อสงไขยกัปป์
๑ อสงไขย = ๒๕๖ อันตรกัปป์
พุทธพยาการณ์เกี่ยวกับพระศรีอาริย์
ความจริงพระศรีอาริย์เคยมาเกิดในโลกมนุษย์แล้วในสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "โคตมะ" ที่เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน และเคยบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าด้วย ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดิ์ พระนางปชาบดีโคตมี คือพระแม่น้าของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ ได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายา มารดาก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าพุทธเจ้าจึงอภิเษกพระนางปชาบดีโคตมีเป็นชายา เป็นแม่นมเลี้ยงเจ้าชายสิทธัตถะมาตั้งแต่เด็ก พระนางปชาบดีโคตมิตั้งใจนำผ้าสาฎก คือผ้าสำหรับห่มเวลาออกนอกบ้านที่ทออย่างประณีตใส่ผอบแก้วถวายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับ โดยตรัสให้ไปถวายคณะสงฆ์จะได้กุศลมากกว่า นางจึงถวายแด่พระที่อยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า คือพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ไม่รับ ขยับไปหาพระโมคคัลลานะ ท่านก็ไม่รับ ถวายไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีใครรับ จนถึงพระภิกษุใหม่นามว่า "อชิตะ" ที่นั่งอยู่ท้ายสุด พระอชิตะก็รับผ้านั้นทันที พระนางปชาบดีเห็นเช่นนั้น ก็เกิดความโทมนัส เสียพระทัยอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทราบเช่นนั้น จึงหาวิธีที่จะช่วยให้นางคลายโทมนัส ด้วยการบอกให้พระอานนท์ไปนำบาตรของพระองค์มา แล้วยื่นพระหัตถ์ให้บาตรนั้นลอยขึ้นไปบนฟ้า และบอกกับสาวกทั้งหมดว่า ให้ไปนำเอาบาตรนั้นมา พระสารีบุตรก็เหาะเหินไปในอากาศด้วยอิทธิฤทธิ์ แต่ก็ไม่พบ พระโมคคัลลานะได้ชื่อว่ามีฤทธิ์มากที่สุด เหาะตามหาก็ไม่พบ ไม่มีสาวกองค์ใดหาบาตรนั้นได้ จนพระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้พระ อชิตะแสดงความสามารถไปนำเอาบาตรทรงของพระองค์มา
พระอชิตะซึ่งบวชใหม่ กล่าวว่า แม้พระสาวกทั้งหลายก็ยังไม่สามารถนำบาตรมาได้ แล้วพระใหม่ที่ยังไม่ได้บรรลุแม้โสดาบันไม่มีอิทธิฤทธิ์อันเกิดจากอภิญญาฌานสมาบัติจะมีปัญญานำบาตรมาถวายได้อย่างไร แต่เมื่อพระอชิตะตั้งจิตอธิฐานว่า ตนเองก็พยายามรักษาศีล ประพฤติพรหมจรรย์มิให้ด่างพร้อย ด้วยเดชบุญที่เป็นความดีนี้ ขอบาตรจงมาประดิษฐานในหัถต์ในบัดนี้ด้วยเถิด ทันใดนั้น บาตรก็ตกลงมาใสหัตถ์ของพระอชิตะ พระพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธพยากรณ์ว่า "พระอชิตะภิกษุ จะได้ตรัสรู้เป็นพระศรีอริยเมตตรัยในอนาคตกาลภายในภัทรกัปป์นี้ พระนางปชาบดีโคตมีได้ทรงฟังเช่นนั้น ก็ทรงหายจากการโทมนัสในทันที"
* พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ เมื่อครั้งพระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ก็ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธทรงพระนามว่า "โคตมะ" ในภัทรกัปป์
มีข้อสงสัยว่าตอนนี้พระศรีอาริย์อยู่ที่ไหน?
พระอชิตะ หรือสมเด็จพระศรีอริยเมตตรัยบรมนิยตมหาโพธิสัตว์ ภายหลังจากที่พระองค์ได้รับพุทธทำนายจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคตมะแล้ว เมื่อพระองค์จุติ (คือตาย)จากพระชาตินี้แล้ว ก็ได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต มีพระนามว่า "นาถเทวเทพบุตร" รอเวลาที่จะลงมาเกิดและตรัสรู้ในกาลต่อไป พระโพธิสัตว์ส่วนใหญ่ที่รอลงมาเกิดจะอยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิตแทบทั้งนั้น
พระนางสิริมหามายา ซึ่งปวารนาตนไว้ว่า ขอให้ได้มาเกิดเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ที่จะลงมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า จนกว่าจะเข้าถึงพระนิพพาน พระนางก็จะมาเกิดเป็นแม่ของพระศรีอริยเมตตรัยอีกด้วย
เมื่อเห็นเช่นนี้...
ศรัทธาสาธุชนทุกท่าน ถ้าไม่อยากเกิดในยุคมืด ถ้าอยากไปเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ ไม่ต้องเวียนว่ายบ่อยๆ เพื่อรอไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ก็จงเร่งทำความดี สร้างบุญ บารมีกันไว้มากๆ บุญบารมีทำได้หลายอย่าง หลักๆ คือ
1.ทาน คือให้ทานแต่สิ่งที่เป็นบุญไม่มีโทษทุกชนิด
2.ศีล รักษาศีลให้บริสุทธิ์
3.เจริญภาวนา คือปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ หรือภาวนาด้วยวิธีอื่นๆก็ได้ หมั่นทำสักอย่างกันนะ ขอเจริญธรรมแต่เพียงเท่านี้
พระศรีอริยเมตตรัย คือใคร?
พระศรีอริยเมตตรัคือผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตข้างหน้า ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายไว้ โดยพระองค์ได้ทรงทำนายว่าในอนาคตกาลจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมาอีก ๑๐ พระองค์ คือ:-
๑.พระศรีอาริยเมตตรัย
๒.พระราม
๓.พระธรรมราช
๔.พระธรรมสามี
๕. พระนารทะ
๖.พระรังสีมุนีนาถ
๗.พระเทวเทพ
๘.พระนรสีหะ
๙.พระติสสะ
๑๐.พระสุมงคล
ประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้า ๑๐ พระองค์
พระอนาคตวงศ์นี้ เป็นเรื่องที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระมหาโพธิสัตว์เจ้าผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโดยย่อๆ และการบำเพ็ญพระบารมีในชาติหนึ่ง ซึ่งปรากฏเป็นยอดปรมัตถบารมีอันประเสริฐ เกิดสำเร็จผล ทรงพระอภินิหาร ประกอบด้วยพระเดชามหานุภาพ เป็นพุทธสมบัติที่จะมาอุบัติตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑๐ พระองค์ในโลกในอนาคต พระมหาโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลนั้นมี ๑๐ พระองค์ คือ:-
๑.พระศรีอาริยเมตตรัย
๒.พระราม
๓.พระธรรมราช
๔.พระธรรมสามี
๕.พระนารทะ
๖.พระรังสีมุนีนาถ
๗.พระเทวเทพ
๘.พระนรสีหะ
๙.พระติสสะ
๑๐.พระสุมงคละ
ซึ่งต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา โดยลำดับกัปป์ นับตั้งแต่ภัทรกัปป์นี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้าสิบพระองค์ ทรงสร้างพระบารมี ๓๐ ทัศ ครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงพระคุณ มีอภินิหารต่างๆ ยิ่งหย่อนกว่ากัน ด้วยสามารถพระบารมีนั้นๆของพระองค์ อันพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ตรัสไว้แก่พระสารีบุตร โดยพุทธภาษิตบรรยายเป็นพุทธประวัติมีใจความว่า
เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิสาขาย สตฺตวีสติโกฏิธนปริจฺจาเคน การิเต ปุพฺพาราเม วสฺสาวาสํ วสนฺโต อชิตตฺเถรํ อารพฺภ ทส โพธิสตฺตาติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ
บัดนี้ จะได้วิสัชนาเรื่องราวของพระอนาคตวงศ์ คืดบุคคลที่เป็นหน่อพุทธางกูรองค์ที่ ๑
คือ พระศรีอาริยเมตตรัย (พระอชิตเถระ) ในครั้งนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จยับยั้งอาศัยอยู่ใกล้กรุงสาวัตถีมหานคร เมื่อสมเด็จพระชินวรผู้ทรงญาณสำราญพระอิริยาบถ เข้าพรรษาอยู่ในบุพพาราม อันนางวิสาขามหาอุบาสิกา สร้างถวายสิ้นทรัพย์ไป ๒๗ โกฏิ
ครั้งนั้น พระองค์ทรงปรารภซึ่งพระอชิตเถระ ผู้เป็นหน่อพุทธางกูร ศรีอริยเมตตรัยเจ้าให้เป็นเหตุ พระโลกเชษฐ์จึงตรัสพระธรรมเทศนา สำแดงซึ่งพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ องค์ อันจะมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ครั้งนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระเจ้า จึงกราบทูลอาราธนา พระองค์ก็นำมาซึ่งอดีตนิทาน แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระองค์ ที่จะลงมาตรัสรู้ในอนาคตกาลเบื้องหน้าดังต่อไปนี้
ใจความมีว่า เมื่อศาสนาของพระโคตมะสัมมาสัมพุทธเจ้าครบ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ฝูงสัตว์ก็มีอายุลดน้อยถอยลงมา เหลือ ๑๐ ปีเป็นอายุขัย ครั้งนั้นแล จะบังเกิดมหาภัยอันยิ่งใหญ่ ในสัตถันตะระกัปป์ มนุษย์ทั้งหลายจะวุ่นวายเป็นโกลาหล เกิดรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งกันและกัน
จะจับไม้และใบหญ้าก็กลับกลายเป็นหอก ดาบ แหลน หลาว อาวุธน้อยใหญ่ ไล่ทิ่มแทงกัน ถึงซึ่งความฉิบหายเป็นอันมาก
ฝูงมนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญาก็หนีไปซุกซ่อนตัวอยู่ในซอกห้วย หุบเขา เมื่อพ้น ๗ วันล่วงไปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่เร้นซ่อนอยู่นั้น เห็นสงบสงัดเสียงคนก็ออกมาจากที่ซ่อนเร้น ครั้นเห็นซึ่งกันและกัน ก็มีความสงสารรักใคร่กันเป็นอันมาก เข้าสวมสอดกอดกันแล้วร้องไห้กันไปมา ทันใดนั้นก็บังเกิดมีความเมตตากรุณาต่อกันมากขึ้น ครั้นคนทั้งหลายตั้งอยู่ในเมตตาพรหมวิหาร แล้วก็อุตสาหะรักษาศีล ๕ จำเริญกรรมฐานและภาวนาว่า "อันว่าร่างกายของพวกเรานี้ อนิจจัง หาความจริงมิได้ ทุกขัง เป็นกองแห่งทุกข์ฝ่ายเดียว อนัตตา มิใช่ตัวตน ด้วยกายอันไม่มีแก่นสาร"
เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย ปลงสัญญาเห็นในกระแสพระกรรมฐานภาวนาดังนี้เนืองๆ อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็จะวัฒนาจำเริญขึ้นไป ที่มีอายุ ๑๐ ปีเป็นอายุขัยนั้น ค่อยทวีขึ้นไปถึง ๒๐ ปีเป็นอายุขัย ค่อยทวีขึ้นไปทุกชั้นๆ จนอายุได้ ร้อย พัน หมื่น แสน โกฏิ จนถึงอสงไขยหนึ่ง ครั้นนานไปเห็นว่าไม่รู้จักความตายแล้ว ก็มีความประมาท มิได้ปลงใจลงในกอง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา อายุก็ถอยน้อยลงมาทุกทีจนถึง ๘ หมื่นปี ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาลคือ ๕ วันตกครั้งหนึ่ง ๑๐ วันตกครั้งหนึ่ง ในชมพูทวีปทั้งปวงมีพื้น
แผ่นดินราบคาบสม่ำเสมอเป็นอันดีฯ
ครั้งนั้น กรุงพาราณสีจะเปลี่ยนชื่อเป็นว่า "เกตุมมะดี" เกตุมมดีนคร โดยส่วนยาววัดได้ ๑๖ โยชน์ โดยส่วนกว้างวัดได้ ๑ โยชน์ มีต้นไม้กัลปพฤกษ์เกิดขึ้นทั้ง ๔ ประตูเมือง มีแก้ว ๗ ประการ มีกำแพงแก้ว ๗ ชั้นโดยรอบพระนคร ครั้งนั้น มหานฬกาลเทวบุตร ก็จุติลงมาเกิดเป็นพระเจ้ามหาจักรพรรดิราช ทรงพระนามว่า "พระยาสังขจักร" เสวยศิริราชสมบัติในเกตุมมะดีมหานคร ในท่ามกลางเมืองนั้นมีปรางค์ปราสาททองอันสำเร็จไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ผุดขึ้นมาจากมหาสมุทร ลอยขึ้นมายังอากาศ มาตั้งอยู่ในท่ามกลางเกตุมมะดีมหานคร ปรางค์ปราสาทนี้ แต่กาลก่อนเป็นปรางค์ปราสาทแห่งสมเด็จพระเจ้ามหาปะนาท ครั้นสิ้นบุญพระเจ้ามหาปะนาทแล้ว ปรางค์ปราสาทนั้นก็จมลงไปในมหาสุทร เมื่อสมเด็จบรมจักรจอมทวีปผู้ทรงพระนามว่า "พระยาสังขจักร" ได้เสวยราชสมบัติในเกตุมมะดีนั้น ปรางค์ปราสาทก็ผุดขึ้นมาแต่มหาสมุทรด้วยอานุภาพของพระเจ้ามหาจักรพรรดิ ประดับไปด้วยหมู่พระสนมแสนสาวสุรางค์ทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่น ๔ พันคน พระองค์มีพระราชโอรส ๑๐๐๐พระองค์ พระราชโอรสผู้ใหญ่นั้น ทรงพระนามว่า "อชิตราชกุมาร" เจ้าอชิตราชกุมารนั้น เป็นปรินายกคือผู้นำแก้ว แห่งสมเด็จพระราชบิดาผู้เป็นพระยาบรมสังขจักร อันบริบูรณ์ไป ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ:-
๑.จักรแก้ว
๒.นางแก้ว
๓.แก้วมณีโชติ
๔.ช้างแก้ว
๕.ม้าแก้ว
๖.คฤหบดีแก้ว
๗.ปรินายกแก้ว
อันว่าสมบัติบรมจักรพรรดิราชนั้นย่อมมีทุกสิ่งทุกประการ เป็นที่เกษมสานต์ยิ่งนัก เหลือที่จะพรรณนาในกาลนั้นฯ
ฝ่ายมหาปุโรหิตผู้ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าสังขจักรนั้น เป็นมหาพราหมณ์ประกอบไปด้วยอิสริยยศเป็นอันมาก หาผู้จะเปรียบเสมอมิได้ มีนามปรากฏว่า "สุตพราหมณ์" นางพราหมณีผู้เป็นภรรยานั้นมีนามว่า "นางพราหมณวดี" ในกาลนั้น สมเด็จพระบรม
โพธิสัตว์ พระศรีอริยเมตตรัยเจ้า รับอาราธนานิมนต์แห่งฝูงเทพยดาทั้งหลาย ก็จุติลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงมาถือเอาปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณวดี ภรรยาแห่งมหาปุโรหิตพราหมณ์ผู้ใหญ่ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง พร้อมด้วยอัศจรรย์ทั้งหลาย ๑๒ ประการ เทพยดาพากันกระทำสักการบูชาดังห่าฝนตกลงในกลางอากาศ แล้วก็มีปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ผุดขึ้นมา เพื่อจะให้เป็นที่สำราญ แห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ปราสาท ๓ หลัง เหล่านั้น คือ:-
-ปราสาทหลังที่ ๑ ชื่อว่า ศิริวัฒนะ
-ปราสาทหลังที่ ๒ ชื่อว่า สิทธัตถะ
-ปราสาทหลังที่ ๓ ชื่อว่า จันทกะ
ปรางค์ปราสาททั้ง ๓ นี้เป็นที่จำเริญพระศิริสวัสดิมงคล ควรจะให้สำเร็จประโยชน์ทุกประการ ปรากฏงามดังดวงพระจันทร์ แล้วหอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นอันหอมมิรู้ขาด เดียรดาษไปด้วยนางนาฏพระสนมประมาณ ๗ แสน ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระศรีอริยเมตตรัยบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงพระนามว่า "พระนางจันทมุกขี" เป็นประธานแห่งนางบริวารทั้ง ๗ แสน มีพระราชโอรสองค์ ๑ ทรงพระนามว่า "พราหมณ์วัฒนกุมาร" เมื่อพระมหาบุรุษผู้ประเสริฐ ทรงพระสำราญแรมอยู่ในปรางค์ปราสาททั้ง ๓ หลังควรแก่ฤดูโดยนิยมดังนี้เป็นเวลาช้านาน จนพระองค์มีพระชนมายุได้ ๘ หมื่นปี แล้วจึงเสด็จขึ้นสู่รถแก้วอันเป็นทิพย์วิมานมีศิริวิลาสงามหาสิ่งเสมอเหมือนมิได้ เสด็จไปประพาสอุทยานทอดพระเนตรเห็นจตุรนิมิตทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเทวทูตยังธรรมสังเวชให้เกิดขึ้น ก็มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา พิจารณาเห็นเพศสมณะนั้นเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นอันว่าปรางค์ปราสาทแก้วซึ่งทรงพระสำราญยับยั้งอยู่นั้นก็ลอยไปในอากาศเวหา พร้อมทั้งพระราชโอรส และหมู่นิกรอนงค์นางกัลยาทั้งหลายก็ไปกับปรางค์ปราสาทนั้นด้วย เปรียบประดุจดังว่า พระยาสุวรรณหงส์ทองอันบินไปในอากาศเวหา ฝ่ายฝูงเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ก็ชวนกันถือเครื่องสักการบูชา เหาะตามกันมากระทำสักการบูชาในอากาศเวหา เนื่องแน่นกันมาเป็นอเนกอสงไขย ทั้งท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งหลาย ๘ หมื่น ๔ พันองค์ พระนครก็ดี และชาวนิคมประจันตประเทศชนบททั้งหลายก็ดี ก็ชวนกันมากระทำสักการบูชาด้วยดอกไม้และของหอม มีประการต่างๆเต็มเดียรดาษกลาดเกลื่อนไปทั้งชมพูทวีป เหล่าพวกอสูรทั้งหลาย ก็เข้าแวดล้อมพิทักษ์รักษาปรางค์ปราสาทฯ ฝ่ายพระยานาคราชนั้น กระทำสักการบูชาด้วยแก้วมณี พระยาสุวรรณราชปักษีกระทำสักการบูชาด้วยแก้ว อันเป็นเครื่องประดับตน พระยาคนธรรพ์ทั้งหลายนั้น กระทำสักการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ดุริยางค์ ฟ้อนรำ มีประการต่างๆ
ปางเมื่อองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ศรีอริยเมตตรัยเจ้าเสด็จออกบรรพชานั้น ฝูงเทพยดา อินทร์ พรหม ยมยักษ์ และ มนุษย์ นาค ครุฑ คนธรรพ์ทั้งหลาย กระทำสักการบูชา ทั้งพระยาบรมจักรพรรตราธิราชเจ้าผู้ประเสริฐ ก็พร้อมด้วยแสนสาวสนมใน
ทั้งปวง และโยธาหาญ หมู่จตุรงค์องค์พยุหะเสนาอเนกนับมิได้ เสด็จไปที่ใกล้แห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้า
ครั้งนั้นมหาชนทั้งหลายทั้งปวง มีความปรารถนาจะทรงบรรพชาแล้วก็ลอยไปในอากาศ กับด้วยพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ด้วยเดชานุภาพแห่งบรมจักร และอานุภาพแห่งพระศรีอริยเมตตรัยบรมโพธิสัตว์นั้น ครั้นเสด็จถึงควงไม้พระศรีรัตนมหาโพธิ์ คือไม้กากะทิงแล้ว ปรางค์ปราสาทแก้วก็เลื่อนลอยลงจากอากาศอยู่ใกล้ในที่ปริมณฑลไม้มหาโพธินั้น ฝ่ายท้าวมหาพรหมก็เชิญซึ่งพานผ้ากาสาวพัสตร์ กับเครื่องบริขารทั้ง ๘ น้อมเข้าไปถวายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ แล้วพระองค์จึงชักเอาพระแสงดาบแก้วตัดพระเกศเกล้าให้ขาด แล้วก็โยนขึ้นไปในอากาศเวหา ถือเครื่องบริขารทั้ง ๘ ประการ ทรงเพศบรรพชาเสร็จแล้ว ส่วนว่าบริวารทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ชวนกันบรรพชา บวชตามสมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าเป็นอันมาก
ฝ่ายพระมหาบุรุษราช องค์พระศรี อริยเมตตรัยเจ้านั้น กระทำความเพียรอยู่ที่ใกล้พระศรีมหาโพธิสิ้นเวลาประมาณ ๗ วัน ในเมื่อเวลาเย็นพระองค์ก็เสด็จเข้าไปสู่ควงไม้พระมหาโพธิ ขึ้นทรงนั่งเหนือรัตนอปราชิตบัลลังค์พระที่นั่งแก้ว แล้วทรงพระคำนึงระลึกถึงบุพพชาติของพระองค์ด้วย บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทรงเห็นโดยลำดับกัน ประจักษ์แจ้งในปฐมยามฯ ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยามทรงเห็นซึ่ง จุตูปปาตญาณ แห่งสัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพย์จักษุญาณฯ ครั้นล่วงไปในปัจฉิมยามที่สุดนั้น พระองค์พิจารณาซึ่งปัจจัยการ อันประกอบไปด้วยองค์ ๒ ประการ ตามกระแสพระปฏิจจสมุปบาทธรรม ด้วยสามารถอนุโลม ตรัสรู้ตลอดกัน ในลำดับนั้นก็ได้สำเร็จแก่ พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ทรงพระนามว่า อรหังสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอาทิ ปรากฏเป็นพระพุทธคุณทั่วโลกธาตุ แล้วพระองค์ก็ยังมนุษย์ทั้งหลายประมาณแสนโกฏิ ให้ดื่มกินซึ่งน้ำอมฤตรสคือพระสัทธรรม เห็นพระนิพพานอันมิได้รู้แก่ รู้ตาย เป็นธรรมาภิสมัย ให้บังเกิดแก่ฝูงเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ตรัสรู้มรรคและผลหาประมาณมิได้ฯ - และองค์พระศรีอาริยเมตตรัย ผู้ทรงพระภาคเจ้านั้นมีลักษณะอันงามดังนี้
๑.พระองค์มีพระวรกายสูงได้ ๘๘ ศอก
๒.พระองค์มีร่างกายกว้างได้ ๒๕ ศอก
๓.ตั้งแต่พระบาทถึงพระชานุมณฑลมีประมาณ ๒๒ ศอก
๔.ตั้งแต่พระชานุมณฑลขึ้นไปถึงพระนาภีประมาณ ๒๒ ศอก
๕.ตั้งแต่พระนาภีขึ้นไปถึงพระรากขวัญทั้ง ๒ ประมาณ ๒๒ ศอก
๖.ตั้งแต่พระรากขวัญขึ้นไปถึงพระเศียรเกล้า ที่สุดยอดพระอุณหิส เปลวพระพุทธรัศมีนั้น ประมาณ ๒๒ ศอก เสมอกันทั้ง ๔ ส่วน
๗.พระรากขวัญทั้ง ๒ แต่ละอันนั้นยาวได้ ๕ ศอก
๘.อันว่าพระหัตถ์ทั้ง ๒ ซ้าย-ขวานั้น ยาวได้ ๔๐ ศอก (เข้าใจว่าความยาวจากหัวไหล่ถึงปลายนิ้วมือแต่ละข้าง ยาวได้ ๔๐ ศอก)
๙.ในระหว่างภายแห่งพระพาหาทั้ง ๒ ซ้าย-ขวา นั้นมีประมาณ ๒๕ ศอก
๑๐.พระอังคุลีแต่ละอันยาวได้ ๕ ศอก
๑๑.ฝ่าพระหัตถ์แต่ละข้างกว้างได้ ๕ ศอก
๑๒.พระศอโดยกลมรอบมีประมาณ ๕ ศอก โดยยาวก็ ๕ ศอกเหมือนกัน
๑๓.พระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องล่างกว้าง ๑๐ ศอกเสมอกัน เป็นอันดี
๑๔.พระชิวหาอยู่ภายในพระโอษฐ์ยาว ๑๐ ศอก
๑๕.พระนาสิกสูงยาวลงมาได้ ๗ ศอก
๑๖.ดวงพระเนตรทั้ง ๒ โดยกว้างได้ ๗ ศอก
๑๗.แววพระเนตรทั้ง ๒ ที่ดำ กลม เป็นปริมณฑลอยู่นั้น มีประมาณ ๕ ศอก
๑๘.พระขนงแต่ละข้าง ยาวได้ ๕ ศอก
๑๙.ในระหว่างพระขนงทั้ง ๒ กว้างได้ ๔ ศอก
๒๐.พระกรรณทั้ง ๒ แต่ละข้าง ยาวได้ ๗ ศอก
๒๑.ดวงพระพักตร์นั้นเป็นปริมณฑล กลมดังดวงพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ มีประมาณกลมได้ ๒๕ ศอก
๒๒.พระอุณหิสที่เวียนเป็นทักขิณาวัฏรอบพระเศียร เป็นเปลวพระพุทธรัศมีขึ้นไปนั้น โดยกลมรอบได้ ๒๕ ศอก
ลำดับนี้ จะพรรณนาไม้พระศรีรัตนมหาโพธิต่อไป อันว่า ต้นไม้กากะทิง ที่เป็นไม้ศรีมหาโพธินั้น
-มีปริมณฑลไปวัดได้ ๑๒๐ ศอก
-มีกิ่งทั้ง ๕ โดยรอบวัดได้ ๑๒๐ ศอก
-แต่ต้นขึ้นไปถึงปลายสุดกิ่งนั้นวัดได้ ๒๔๐ ศอก โดยสูง โดยสะกัดเป็นปริมณฑลเหมือนกัน
-มีใบสดเขียวอยู่เป็นนิจจกาล
-ทรงดอกและเกสรหอมฟุ้งขจรมิรู้ขาด เปรียบประดุจดอกปาริชาติ ในดาวดึงสาสวรรค์ก็เหมือนกัน
สมเด็จพระสัพพัญญูองค์พระศรีอาริยเมตตรัยเจ้า ทรงทวัตติงสามหาปุริสลักษณะประกอบไปด้วยพระฉัพพรรณรังสี พระพุทธรัศมี ๖ ประการ สว่างออกจากพระสรีรกายเป็นอันงาม ประดุจดังท่อธารสุวรรณ ธาราน้ำทองอันไหลหลั่งออกมา เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ไปด้วยสุขทุกเมื่อ มีสติระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์เนืองๆ ด้วยเดชานุภาพพระพุทธคุณนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคซึ่งโภชนาหารแต่เนื้อแห่งข้าวสาลี อันบังเกิดมีมาเอง ได้ประดับประดาสรีรกายและผ้านุ่งผ้าห่ม เครื่องอาภรณ์ต่างๆ แต่ต้นไม้กัลปพฤกษ์ ประพฤติเลี้ยงชีวิตเป็นบรมสุขฯ ปางเมื่อพระองค์ผู้ทรงสวัสดิภาคเป็นอันงาม ทรงพระนามว่า
พระศรีอาริยเมตตรัยเจ้า ตรัสแสดงพระสัทธรรมเทศนา
พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายซึ่งได้บรรลุธรรมาภิสมัย มรรคและผลธรรมวิเศษ ประมาณ ๓ แสนโกฏิ
อันว่าองค์พระศรีอาริยเมตตรัยเจ้า ทรงสร้างพระบารมีมาสิ้นกาลช้านานถึง ๑๖ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์ มีศีลบารมี ทานบารมี เป็นต้น เต็มบริบูรณ์ กองพระบารมีทั้งหลายที่สำเร็จเป็นองค์พระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า นั้นคือ พระบารมีจองพระองค์ครั้ง ๑ ปรากฏชัดเจนเป็นปรมัตถบารมี อันยิ่งยอดกว่าพระบารมีทั้งปวงฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าของเราจึงนำมาซึ่งอดีตนิทาน แห่งกองพระบารมีของสมเด็จพระศรีอาริยเมตตรัยมาตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรเถรเจ้าว่า อตีเต กาเล ในกาลล่วงลับมาแล้วช้านาน มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า "พระสิริมิตร" ได้ตรัสในโลก
ครั้งนั้น องค์พระศรีอาริยเมตตรัย ได้เสวยศิริราชสมบัติ ในเมืองอินทปัตต์มหานคร ทรงพระนามว่าบรมสังขจักร มีแก้ว ๗ ประการ อยู่มาในกาลวันหนึ่ง พระเจ้าสังขจักรเสด็จทรงนั่งอยู่ภายใต้เศวตฉัตร มีพระทัยปรารถนาว่า ผู้ใดมาบอกข่าวว่า พระพุทธรัตนะพระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ บังเกิดมีแล้ว พระองค์จะสละศิริราชสมบัติบรมจักร พระราชทานให้แก่บุคคลผู้นั้นแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ในกาลนั้น ยังมีกุลบุตรเข็ญใจผู้หนึ่ง ไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในพระพุทธศาสนา ด้วยมารดาของสามเณรเป็นทาสทาสีอยู่ในตระกูลหนึ่ง สามเณรนั้นคิดแสวงหาทรัพย์จะไปให้
แก่มารดา ให้พ้นจากทาสทาสี จึงเที่ยวไปโดยลำดับจนถึงกรุงอินทปัตต์มหานคร ฝูงมหา ชนชาวพระนคร ไม่รู้จักว่าสามเณรเป็นอย่างไร ครั้นเห็นเข้าก็สงสัยว่าเป็นมหายักษ์ ก็พากันจับไม้ไล่ทุบตีสามเณรฯ สามเณรนั้นก็กลัว วิ่งหนีมหาชนเข้าไปจนถึงพระราชวัง ไปยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของพระองค์ พระองค์จึงตรัสถามว่ามาณพนี้มีนามชื่อใด เจ้าสามเณรกราบทูลว่า อาตมภาพมีนามว่าสามเณร จึงตรัสถามว่าสามเณรนั้นด้วยเหตุดังฤา สามเณรจึงทูลว่าข้าพเจ้ามีนามว่าสามเณรนั้น ด้วยเหตุว่าข้าพเจ้ามิได้ กระทำบาปในภายนอก แล้วตั้งอยู่ภายในแห่งกุศล เหตุดังนั้นจึงมีนามว่าสามเณร พระองค์ก็ทรงตรัสถามว่า นามกรของท่านนั้นบุคคลผู้ใดให้แก่ท่าน สามเณรจึงทูลว่า พระอาจารย์ของข้าพเจ้าให้แก่ข้าพ เจ้า พระองค์จึงตรัสถามว่า อาจารย์ของท่านนั้นชื่อดังฤา สามเณรจึงทูลว่าอาจารย์ของอาตมามีนามว่าภิกษุ จึงทรงตรัสถามต่อไปว่าพระอาจารย์ของท่านนั้นมีนามว่าภิกษุนั้นด้วยเหตุดังฤา สามเณรจึงทูลว่าอาจารย์ของข้าพเจ้านั้น ชื่อรัตนะเป็นแก้วอันหาค่ามิได้
ครั้นทรงสดับว่าพระสังฆรัตนะในพระพุทธศาสนาหาได้เป็นอันยากยิ่งนัก พระองค์ก็มีความชื่นชมยินดีหาที่จะอุปมามิได้ คำนึงอยู่ในพระราชหฤทัยว่า จะเสด็จลงจากอาสน์ไปนมัสการเจ้าสามเณรที่ใกล้ ด้วยความปิติกายของพระองค์ก็ลอยไปตกลงตรงหน้าเจ้าสามเณร เดชะที่พระองค์มีพระราชหฤทัยเลื่อมใสในพระสังฆรัตนะ ดอกประทุมชาติก็บังเกิดผุดขึ้นรองรับพระองค์ไว้มิได้เป็นอันตราย จึงถวายนมัสการเจ้าสามเณรโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงตรัสถามเจ้าสามเณรต่อไปว่า พระสังฆรัตนะอาจารย์ของท่านนั้นบุคคลผู้ใดให้นามกร เจ้าสามเณรก็ทูลว่า อาจารย์ของข้าพเจ้านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงนามว่า พระสิริมิตรสัพพัญญู พระองค์โปรดประทานให้นามว่าพระสังฆรัตนะแก่อาจารย์ของข้าพเจ้า
เมื่อสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ผู้ทรงอุตสาหะในพระศาสนา ได้ทรงฟังสามเณรออกวาจาว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ถึงวิสัญญีภาพลงอยู่กับที่ ครั้นพระองค์ได้พระสติขึ้นมา จึงตรัสถามสามเณรอีกว่า ดูก่อนเจ้าสามเณรผู้เจริญ บัดนี้องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จยับยั้งอยู่ในที่ไหนหรือ? สามเณรจึงทูลว่า สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้าเสด็จยับยั้งอยู่ในบุพพารามวิหาร อันมีอยู่ในอุตตรทิศแต่กรุงอินทปัตต์มหานครนี้ไปไกลประมาณ ๑๖ โยชน์ ได้ทรงฟังสามเณรแจ้งความว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าบังเกิดแล้วในโลก จึงตรัสว่าดูก่อนสามเณร ผิว่าองค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าเสด็จอยู่ในฐานทิศใด เราก็จะไปในประเทศทิศนั้นฯ
สมเด็จพระเจ้าสังขจักรบรมบพิตรผู้ประเสริฐ หาความเอื้อเฟื้อในศิริราชสมบัติบรมจักรของพระองค์มิได้ ด้วยมีพระทัยนั้นผูกพันอยู่ในการที่จะได้พบเห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่งอย่างอุกฤษฏ์ ก็กระทำการราชาภิเษกเจ้าสามเณรนั้น ให้สึกออกมาเสวยศิริราชสมบัติแทนพระองค์ เป็นพระยาอันประเสริฐ ครั้นกระทำการราชาภิเษกเจ้าสามเณรแล้ว ก็เสด็จออกแต่พระองค์เดียวโดยอุตตราภิมุขมีพระทัยเฉพาะต่ออุตตรทิศ ตั้งพระทัยไปสู่บุพพารามวิหาร อันเป็นที่ประทับแห่งองค์สมเด็จพระสิริมิตรสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า
สมเด็จบรมสังขจักรจอมทวีปเป็นสุขมาลชาติ พระสรีรกายนั้นละเอียดอ่อนเป็นอันดี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปตามมรรคาหนทางแต่พระบาทเปล่า เวลาวันเดียวพระบาททั้ง ๒ ข้างก็ภินทนาการแตกออก จนพระโลหิตไหลตามฝ่าพระบาททั้ง ๒ เมื่อพระบาททั้ง ๒ ทำลาย จะเดินไปมิได้แล้ว ในกาลนั้น พระองค์ก็ลงนั่งคุกเข่าคลานไปทีละน้อยค่อยคมนาการไปตามหนทางที่เจ้าสามเณรชี้แจงบอกมานั้น จะได้ละความเพียรเสียหามิได้ ครั้นล่วงไปถึง ๔ วัน พระหัตถ์ซ้าย-ขวา และพระชงฆ์ทั้ง ๒ ข้างนั้นก็แตกช้ำโลหิตไหลออกมา จะคลุกคลานไปก็มิได้ ให้เจ็บปวดแสนสาหัส เห็นขัดสนพระทัยนักแล้ว ถึงกระนั้นพระองค์จะได้คิดท้อถอยย้อนรอยกลับคืนมาหามิได้ เราต้องไปให้ถึงสำนักองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้าให้จงได้ ครั้นพระองค์คุกคลานไปมิได้แล้วก็ลงพังพาบไถลไปแต่ทีละน้อยด้วยพระอุระของพระองค์ ประกอบไปด้วยทุกขเวทนาเหลือที่จะอดกลั้น พระองค์ยึด
หน่วงเอาพระพุทธคุณของสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ด้วยพระเจตนาจะใคร่พบเห็นพระผู้เป็นอธิบดีอันใหญ่ยิ่ง แล้วก็ทรงอดกลั้นซึ่งทุกขเวทนานั้นเสีย หาเอื้อเฟื้ออาลัยในร่างกายของพระองค์ไม่ฯ
ครั้งนั้น สมเด็จพระสิริมิตรสัพพัญญูผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงพระมหากรุณาเล็งดูสัตว์โลกทั้งหลายด้วยสัพพัญญุตาญาณ ก็รู้แจ้งเห็นด้วยกำลังความเพียรแห่งบรมสังขจักรนั้นเป็นอุกฤษฏ์ยิ่งโดยวิเศษ แล้วก็มิใช่อื่นมิใช่ไกล เป็นหน่อพุทธางกูร พุทธพงศ์อันเดียวกันกับพระตถาคตเอง สมควรที่พระตถาคตจักเสด็จไปสู่ที่ใกล้แห่งบรมสังขจักร เมื่อพระองค์ทรงพระดำริแล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเนินมาด้วยพระศิริวิลาสเป็นอันงาม แล้วพระองค์กระทำอิทธิฤทธิ์นิรมิต พระบวรกายของพระองค์ให้อันตรธานสูญหายกลับกลายเป็นมาณพหนุ่มน้อย ขึ้นขับรถทวนมรรคามาเฉพาะหน้าแห้งสมเด็จบรมสังขจักรนั้น แล้วพระพุทธสัพพัญญูเจ้าจึงร้องถามไปว่า ผู้ใดมานอนอยู่กลางทางขวางหน้ารถเราจงหลีกไปเสียเราจะขับรถไปฯ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์จึงตรัสตอบพระพุทธฎีกาว่า ดูก่อนนายสารถีผู้ขับรถ ท่านจะมาขับเราไปให้พ้นจากหนทางนั้นด้วยเหตุดังฤา ตัวเราผู้รู้จักคุณสมเด็จพระ
พุทธเจ้าเป็นอารมณ์ยิ่งนัก ชอบแต่นายสารถีจะยั้งรถของท่านให้หลีกเราเสียจึงจะสมควร ถ้าท่านไม่หลีกก็ให้ท่านขับรถไปเหนือหลังเราเถิด ซึ่งจะให้เราหลีกนั้นเราหาหลีกไม่ แล้วจึงมีพระพุทธฎีกาว่าถ้าแหละท่านจะไปยังสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว จงมาขึ้นรถไปกับเราเถิด เราจะพาท่านไปให้ถึงสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้าให้สมดังความปรารถนา พระจอมขัตติยาจึงตอบว่า ถ้าท่านเอ็นดูกรุณาแก่เรา เราก็มีความยินดีสาธุอนุโมทนาด้วยท่าน ว่าแล้วหน่อพระพิชิตมารก็อุตสาหะดำรงทรงพระกายขึ้นสู่รถแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็หันหน้ารถไปตามมรรคา พาพระยาสังขจักรไป
ครั้นถึงกึ่งกลางมรรคาหนทางแล้ว สมเด็จพระอมรินทราธิราชกับองค์นางสุชาดาผู้เป็นอัครมเหสีนั้น นำเอาโภชนาหารอันเป็นทิพย์กับทั้งน้ำทิพย์ลงมา จำแลงเพศเป็นบุรุษยืนอยู่ตรงหน้ารถแล้วร้องว่า ดูก่อนนายสารถีผู้เจริญเอ๋ย ท่านอยากข้าวน้ำโภชนาหารหรือ เราจะให้ เมื่อโกสีย์อมรินทราธิราชกับนางสุชาดากล่าวดังนั้น สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าซึ่งแปลงเพศเป็นนายสารถีขับรถจึงว่า มาณพผู้เจริญ บุรุษทุพลภาพผู้หนึ่งมาในรถด้วยเรา มีความลำบากเวทนานัก ท่านจะให้ข้าวน้ำโภชนาหารแก่เราก็ให้เถิด เราจะได้ให้แก่บุรุษทุพลภาพนั้นบริโภค ท้าวโกสีย์อมรินทร์กับนางสุชาดาก็ให้ข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์แก่องค์สมเด็จพระมหาบุรุษสัทธรรมสารถีผู้ประเสริฐ พระองค์ก็ประธานให้แก่พระบรมโพธิ สัตว์บรมสังขจักรเสวยข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์ ครั้นพระองค์เสวยอิ่มหนำสำเร็จแล้ว ด้วยเดชะข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์อุปัทวโทมนัสทุกขเวทนาในสรีรกาย ก็อันตรธานหายไป พระองค์ก็มีสรีรกายเป็นสุขเสมอเหมือนแต่ก่อน
องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็พาพระยาสังขจักรไปใกล้บุพพารามวิหาร แล้วพระองค์ก็นิสีทนาการนั่งบนพระบวรพุทธอาสน์ในพระวิหาร ส่วนสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ก็เสด็จลงจากรถ เข้าไปสู่บุพพารามวิหาร ทอดพระเนตรแลไปได้ทัศนาการเห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ประกอบไปด้วยทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะอสีตยานุพยัญชนะประดับ ทั้งพระพุทะรัศมีอันโอภาสสว่างรุ่งเรืองออกจากพระวรกายอันเสด็จทรงนั่งอยู่ในที่นั้น
พระองค์ก็ทรงวิสัญญีภาพลงตรงพระพักตร์แห่งสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคด้วยความโสมนัสสาการ เกิดความปิติยินดีหาที่สุดมิได้ ส่วนสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนมหาบุรุษราชผู้เป็นอภิชาตชายอันประเสริฐ พระตถาคตเสด็จอยู่
ในที่นี้แล้ว
ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมสังขจักรก็ได้ซึ่งอัสสาสประสาท เกิดความยินดีชื่นชมก้มเศียรเกล้า คลานเข้าไปในสำนักสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า เสด็จนั่งยังที่อันสมควรแล้วจึงยกพระกรขึ้นประนมบังคมเหนือศิโรตม์กระทำอภิวาทนมัสการ กราบทูลว่า ภนฺเต ภควา ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้า บัดนี้ข้าพระบาทถึงสำนักพระองค์เจ้าแล้ว ขอจงทรงพระกรุณาเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้า โปรดตรัสแสดงพระธรรมเทศนาอันอุดม ให้ข้าพระบาทฟังในกาลบัดนี้
ปางนั้น สมเด็จพระชินศรีจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาโปรดแก่พระยาสังขจักร เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับพระสัทธรรมเทศนาบทหนึ่งสิ้นเนื้อความลงแล้ว ก็ทูลห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าว่า ขอพระองค์จงหยุดพระธรรมเทศนาเสียเถิด อย่าทรงสำแดงต่อไปเลย
**มีปุจฉาว่า เหตุไฉนพระเจ้าสังขจักรจึงทูลห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าเสียดังนี้ เดิมทีสิมีพระทัยผูกพันในพระพุทธศาสนา ระลึกถึงซึ่งคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าเป็นอันมาก ทรงสู้สละศิริราชสมบัติบรมจักรเสด็จมาด้วยความลำบากแทบถึงซึ่งชีวิต ครั้นมาประสพพบพระภควันตบพิตร พระองค์ประทานธรรมเทศนาแล้วห้ามเสียด้วยเหตุประ การใด
**วิสัชนาว่า สมเด็จบรมสังขจักรทรงคิดเห็นว่า ถ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาเป็นอันมาก แล้วพระองค์ก็เสด็จมาแต่พระองค์เดียวเปลี่ยวพระทัยนัก จะหาเครื่องไทยธรรมอันสมควรที่จะสักการบูชา ให้สมควรแก่รสพระสัทธรรมนั้นหามีไม่ บัดนี้เราได้สดับรับรสพระธรรมเทศนาแต่บทเดียว เครื่องสักการบูชาของอาตมานี้มิพอสมควรกันกับพระสัทธรรมแล้ว พระองค์ทรงคิดดังนี้ จึงทรงห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าเสีย พระองค์จึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเกล้ากระหม่อมฉันได้สดับฟังพระสัทธรรมของพระองค์ในกาลบัดนี้ พระองค์ทรงพระมหากรุณาตรัสพระสัทธรรมเทศนาสำแดงพระนิพพานอันเดียวเป็นที่สุดพระสัทธรรมอยู่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะตัดเศียรเกล้า อันเป็นที่สุดแห่งสรีรกายแห่งข้าพเจ้า ออกกระทำสักการบูชาพระสัทธรรมเทศนาของสมเด็จพระพุทธองค์ก่อน ตรัสดังนั้นแล้ว พระเจ้าสังขจักรผู้มีอัธยาศัยอันยิ่ง จึงทรงอธิษฐานขอให้เล็บของพระองค์คมดังพระแสงดาบ เด็ดซึ่งพระศอให้ขาดแล้ววางไว้บนฝ่าพระหัตถ์ ตั้งปณิธานความปรารถนา ออกพระโอษฐ์ตรัสด้วยวาจาว่า ภนฺเต ภควา ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงศิริเป็นที่เฉลิมโลก เชิญพระองค์เสด็จเข้าสู่เมืองแก้วอันเกษมสานต์ คือพระอมตมหานิพพานอันสำราญก่อนข้าพระบาทเถิด ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไปสู่พระนิพพานอันสำราญต่อภายหลัง ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายเศียรเกล้าบูชาพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ในกาลบัดนี้ ในที่สุดขาดพระวาจาปณิธานปรารถนาลง พระบรมโพธิสัตว์ก็จุติจิตต์สิ้นชีวิตไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เทวโลกฯ
ดูก่อนสารีบุตร ครั้นเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตตรัยเจ้าได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงมีพระองค์สูงได้ ๘๘ ศอก ด้วยผลทานที่เด็ดพระเศียรกระทำสัก การบูชาพระสัทธรรม พระองค์ทรงพระรัศมีสิ้นทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาดนั้น ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์ทรงอุตสาหไปในมรรคาหนทาง ปรารถนาจะพบเห็นสมเด็จพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตไหลออกจากพระบาท และพระชงฆ์ พระหัตถ์ พระอุระของพระองค์เมื่อเป็นบรมสังขจักรนั้นฯ อนึ่ง พระพุทธรัศมีของพระองค์แผ่ซ่านตลอดไปเบื้องบนจนถึงพรหมโลก เบื้องต่ำตลอดลงไปจนถึงมหาอเวจีนรก ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์เด็ดพระเศียรออกกระทำสักการบูชาพระสัทธรรมโลหิตไหลออกจากพระเศียร อนึ่ง ในพระศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์นึกได้สำเร็จความปรารถนานั้น ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์เสด็จไปตามมรรคหนทาง จะใคร่พบองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ถ้วนถึง ๗ วันเป็นกำหนด จึงได้ประสพพบปะ
ดูก่อนสารีบุตร ผู้เป็นพระยาธรรมของพระตถาคต ฝูงคนทั้งหลายที่มิได้เห็นรูปกายของพระตถาคตนี้ แล้วได้กระทำทานรักษาศีลจำเริญเมตตาภาวนาด้วยเดชะผลานิสงส์ ฝูงคนทั้งหลายเหล่านั้นจักได้บังเกิดทันพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระศรีอริยเมต อันจะมาบัง เกิดเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต สำแดงมาด้วยเรื่องพระศรีอริยเมตตรัยบรมโพธิสัตว์ ก็ยุติแต่เท่านี้ฯ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
อนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องมาโดยลำดับ บัดนี้จะได้วิสัชนาในประวัติกาลแห่งสมเด็จพระสัพพัญญูบรมครูพระพุทธเจ้าสามพระองค์ ทรงพระนามว่า พระราม พระธรรมราชา พระธรรมสามี เป็นลำดับต่อไป ดำเนินเนื้อความว่า "พระรามเจ้า"
ภควา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเทศนาแก่พระสารีบุตรสืบต่อไปว่า ในกาลเมื่อพระพุทธศาสนา แห่งองค์สมเด็จพระศรีอาริยเมตตรัยเสื่อมสูญสิ้นแล้ว อันว่าประทีปแก้ว คือพระสัทธรรมนั้น ก็สูญสิ้น ฝูงสัตว์ทั้งหลายก็มืดมัวไม่รู้จักบาปและบุญคุณและโทษ ประโยชน์และไม่ประโยชน์ ประการใด จนถึงไฟประลัยโลกล้างวินาศฉิบหายสิ้นทั้งแสนโกฏิจักรวาล เพลิงประลัยกัลป์เกิดขึ้นไหม้แผ่นดินภัทรกัปอันนี้ฉิบหายหมดแล้ว สิ้นกาลช้านาน จึงบังเกิดแผ่นดินใหม่ขึ้นมา มีมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายบังเกิดมีมาสำหรับแผ่นดิน ก็มีมาเสียเปล่า กัปป์แผ่นดินที่มีมาในเบื้องหน้านั้นเป็นสุญญกัปนับได้อสงไขยแผ่นดิน จะได้มี
สมเด็จพระพุทธเจ้า ปัจเจกพุทธเจ้า และพระยาจักรผู้ประเสริฐบังเกิดมีมานั้นหามิได้ จึงมีนามว่าสุญญกัปป์ เกิดมีแต่มนุษย์ทั้งหลายหาบุญหาวาสนาบารมีมิได้ฯ เมื่อแผ่นดินเกิดขึ้นมา สูญเสียจากท่านผู้ทรงพระคุณแล้ว ฉิบหายไปด้วยไฟประลัยกัลป์ด้วยน้ำประลัยกัลป์ ด้วยลมประลัยกัลป์ แล้วเกิดขึ้นใหม่อีกเล่าจนถ้วนอสงไขย แผ่นดินล่วงลับไปนับด้วยอสงไขยแผ่นดินแล้ว
ในกาลนั้น ก็จะบังเกิดแผ่นดินขึ้นมาใหม่เรียกชื่อว่า "มัณฑกัปป์" พระพุทธเจ้าจักได้บังเกิด ๒ พระองค์ คือ:-
๑.พระรามมหาโพธิสัตว์
๒.พระเจ้าปเสนทิโกศลมหาโพธิสัตว์
แรกปฐมกัปป์เกิดก็มีอายุยืนได้อสงไขยหนึ่ง แล้วลดน้อยถอยลงมาอยู่เพียง ๙ หมื่นปีฯ ครั้งนั้นพระรามมหาโพธิสัตว์ จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก่อนพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์มีพระชนมายุอายุได้ ๙หมื่นปี พระสรีรกายสูงประมาณ ๘๐ ศอก ไม้จันทร์เป็นไม้พระศรีมหาโพธิ มีพระรัศมีส่องสว่างไปในอากาศอยู่เป็นนิจจกาล ปรากฏงามเปรียบด้วยรัศมีของพระจันทร์สว่างทั่วโลกธาตุ ด้วยเดชะพระพุทธานุภาพนั้น โลกทั้งปวงบังเกิดมีต้นไม้กัลปพฤกษ์ มหาชนได้อาศัยไม้ทิพย์นั้นประพฤติเลี้ยงชีวิต เป็นบรมสุขทุกเมื่อมิได้ขาด ครั้งเมื่อพระพุทธศาสนาพระรามมหาโพธิสัตว์สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ฝูงสัตว์ทั้งหลายได้บังเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก
ดูก่อนสารีบุตร พระรามมหาโพธิสัตว์เจ้าได้บำเพ็ญกองบารมีทั้งหลายมาช้านานเป็นอันมากแล้ว แต่กองบารมีธรรมครั้งหนึ่งนั้น ปรากฏเป็นยอดปรมัตถบารมีอันประเสริฐ เพราะเหตุดังนั้นพระรามสัพพัญญูเจ้า จึงได้พระพุทธสมบัติเห็นปานดังนี้สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์จึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า ในเมื่อครั้งพระศาสนาพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระรามองค์นี้เป็นบรมโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีนามว่านารทะมาณพ วันหนึ่งนารทะมาณพได้ทัศนาการเห็นองค์พระพุทธกัสสปสัพพัญญูบรมครูเจ้าครั้งนั้น ก็มีความโสมนัสยินดีปรีดา คิดว่าจะกระทำสักการบูชาแก่พระองค์ให้เห็นศรัทธาของ
อาตมา มิได้คิดแก่ชีวิตอินทรีย์ คิดแล้วจึงเอาผ้า ๒ ผืนชุบน้ำมัน พันสรีรกายตั้งแต่เศียรเกล้าตลอดปลายเท้าทั้ง ๒ แล้วก็จุดไฟขึ้นบนศีรษะเป็นประทีปกระทำสักการบูชา ถวายแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า แล้วตั้งปณิธานความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม อันว่าองค์อวัยวะน้อยใหญ่ในสรีรกายของข้าพระพุทธเจ้า คือเลือดเนื้อเป็นอาทิ กระทำเป็นทานถวายแก่พระองค์ในกาลบัดนี้ ปัจจโย โหตุ จงบังเกิดมีเป็นปัจจัย ให้อุปการคุณอุปถัมภกยกชูข้าพระพุทธเจ้าให้ได้สำเร็จแก่พระสร้อยสรรเพชุดาญาณ ในอนาคต กาลเบื้องหน้าโน้นเถิด
ครั้งนั้นองค์สมเด็จพระพุทธกัสสปเจ้า จึงตรัสพยากรณ์ทำนายนารทะมาณพในท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ มีว่า ดูก่อนมาณพผู้เจริญ ในเมื่อภัทรกัปนี้ฉิบหายไปแล้ว บังเกิดมีกัปป์ตั้งขึ้นมาใหม่ เป็นสุญญกัปป์อยู่สิ้นกาลช้านาน นับได้อสงไขยแผ่นดินล่วงไปแล้ว ครั้งนั้นจึงบังเกิดมัณฑกัปป์ ในกาลเบื้องหน้าคือตัวของมาณพนี้จะได้บังเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระรามสัพพัญญูในมัณฑกัปป์อันนั้น พระองค์ทรงพยากรณ์ทำนายมาณพดังนี้แล้ว
ครั้นเวลาราตรียังรุ่ง ก็กระทำกายของมาณพเป็นประทีปถวายต่างเครื่องสักการบูชาสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอันดี ครั้นนารทะมาณพดับจิตก็ได้ไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เทวโลก ในที่เผาสรีรกายกระทำสักการบูชาแห่งมาณพนั้นก็บังเกิดดอกบัวผุดขึ้นมา มหาชนเห็นเป็นอัศจรรย์จึงกล่าวสรรเสริญชมว่า จะหามนุษย์ผู้ใดเปรียบเสมอสองหามิได้ นานไปจะได้บังเกิดเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า
พระองค์หนึ่ง
-ด้วยผลอานิสงส์ที่ท่านมิได้เอื้อเฟื้อแก่สรีรกายและชีวิตของตนกระทำเป็นมหาบริจาค เจตนาอันใหญ่ยิ่งกว่าบารมีทั้งหลาย
ทั้งปวง
-ด้วยเดชะอานิสงส์ที่บูชาสรีรกายของอาตมานั้นเมื่อได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า มีสรีรกายสูง ๘๐ ศอก
-สละชีวิตเป็นทาน เป็นปรมัตถบารมีอันอุดมอุกฤษฏ์นั้น จะมีพระชนมายุได้ ๙ หมื่นปีเป็นกำหนด
-เวลาราตรียังรุ่งตามประทีปแล้ว คือ สรีรกายของอาตมากระทำสักการบูชานั้น จะบังเกิดพระรัศมีรุ่งเรืองงามสว่างไปทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิจจกาล อาจปกปิดเสียซึ่งแสงพระจันทร์และพระอาทิตย์ กระทำให้อัปภาคย์แพ้พระรัศมีของพระองค์ สำแดงมาด้วยเรื่องราวพระรามมหาโพธิสัตว์คำรบ ๒ ก็ ยุติแต่เพียงนี้ฯ
พระธรรมราชา(พระเจ้าปเสนทิโกศล)
ลำดับนั้น พระผู้ทรงพระภาคเจ้าจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรสืบต่อไปว่า ในกาลเมื่อสิ้นศาสนาของพระรามเจ้าแล้ว มนุษย์ทั้งหลายในมัณฑกัปก็มีอายุเรียวน้อยถอยลดลงไปพ้นจาก ๘ หมื่นปีลงมา กำหนดอายุของมนุษย์ทั้งหลายในกาลครั้งนั้นได้ ๕ หมื่นปีเป็นอายุขัย แล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลราชบรมโพธิสัตว์นี้ จักได้บังเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า "พระธรรมราชา" มีพระองค์สูงได้ ๑๖ ศอก พระชนมายุยืนได้ ๕ หมื่นปีเป็นกำหนด ไม้กากะทิงเป็นพระมหาโพธิ เมื่อเสด็จพระพุทธดำเนินไปนั้น จะบังเกิดดอกบัวทองทั้งสองผุดขึ้นมาจากแผ่นดินเข้ารับรองเอาพระบาท อนึ่ง จะบังเกิดดอกบัวแก้ว ๗ ประการผุดขึ้นมาจากแผ่นดินเข้ารับพระองค์ไว้ เป็นอาสนะของพระองค์เมื่อทรงนั่งและยืนและไสยาสน์นั้น ประการหนึ่งเล่าในพระพุทธศาสนาพระเจ้าปเสนทิโกศลสัพพัญญูผู้ประเสริฐนั้น บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ต้นหนึ่งให้สำเร็จประโยชน์เป็นเครื่องบริโภคแห่งมนุษย์ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายได้อาศัยซึ่งไม้กัลปพฤกษ์นั้นแล้วก็ประพฤติเลี้ยงชีวิตอย่างเป็นสุขสบาย มิได้กระทำการถากไร่ไถนาค้าขาย ด้วยพระพุทธานุภาพแห่งสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลสัพพัญญูนั้น
ดูก่อนสารีบุตร พระเจ้าปเสนทิโกศลราช ได้ก่อสร้างพระบารมีทั้งหลายมาเป็นอันมากแล้ว แต่กองบารมีครั้งหนึ่งปรากฏเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่ง จึงได้พระพุทธสมบัติเห็นปานดังนี้ พระองค์จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานแห่งกองบารมีของพระเจ้าปเสนทิโกศลราชว่า อตีเต กาเล ในอดีตกาลเมื่อครั้งพระศาสนาพระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลราชได้บังเกิดเป็นมาณพผู้หนึ่ง มีนามว่า "สุททมาณพ" ไปรักษาสระบัวอยู่แห่งหนึ่ง แล้วเก็บเอาดอกบัวนั้นมาวันละสองดอกเอามาขายเลี้ยงชีวิตทุกวัน อยู่มาวันหนึ่ง สุททมาณพไปเก็บดอกบัวมาสองดอก เดินมาตามหนทางเพื่อจะขายดอกบัวนั้น ในกาลนั้นเป็นเวลาเช้า
สมเด็จพระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนินไปเที่ยวโคจรบิณฑบาต ทอดพระเนตรเห็นสุททมาณพ พระองค์พิจารณาเห็นในขณะนั้น ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า สุททมาณพคนนี้เป็นวงศ์แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า ได้บำเพ็ญพระบารมีมามากอยู่แล้ว จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล บัดนี้ควรพระตถาคตจะให้การพยากรณ์แก่สุททมาณพในท่ามกลางมหาชนเถิด ทรงพระจินตนาดังนี้แล้วก็เกิดโสมนัสจิตต์อันประกอบกับพระญาณ แย้มพระโอษฐ์อันงามทรงพระสรวลในดวงพระพักตร์ สุททมาณพเห็นสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าเบิกบานแย้มพระโอษฐ์ดังนั้น จึงกระทำนมัสการกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระโลกนาถผู้ประเสริฐ ข้าพระบาทนี้มิใช่ญาติวงศ์พงศ์ตระกูลของพระผู้ทรงพระภาคเจ้า อนึ่งเล่าจะได้เป็นมิตรสหาย วิสาสะคุ้นเคยกันกับพระองค์มาก็หามิได้ เหตุประการดังฤา พระองค์ทอดพระเนตรแล้วจึงแย้มพระโอษฐ์ดังนี้
สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนสุททมาณพเอ๋ย ท่านหารู้ไม่หรือประการใด ตัวของท่านนี้แหละเป็นน้องของพระตถาคต ท่านร่วมบิดาร่วมมารดาเดียวกันกับพระตถาคตเป็นไรเล่า สุททมาณพได้สดับพระพุทธฎีกาดังนั้น ก็ยิ่งบังเกิดความพิศวงงงงวยไป แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระบาทนี้เป็นน้องของพระพุทธองค์ในกาลเมื่อครั้งใด จึงทรงพยากรณ์ทำนายว่า ดูก่อน สุททะมาณพ ในเมื่อภัทรกัปป์อันนี้ล่วงไปแล้วช้านาน บังเกิดมีกัปปอันหนึ่งชื่อว่ามัณฑกัปป์ ในมัณฑกัปป์นั้น พระพุทธเจ้าบังเกิดสองพระองค์ คือ พระรามพระองค์หนึ่ง จักได้บังเกิดเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าก่อนท่าน ในเมื่อสิ้น
พระศาสนาพระรามเจ้าแล้วเวลาว่างไปได้พุทธันดรหนึ่ง ตัวท่าน สุททะมาณพ ครั้งนั้นจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระธรรมราชา" บัดนี้พระตถาคตเป็นพระพุทธเจ้าก่อนท่านแล้ว นานไปในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น ตัวท่านก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนดังพระตถาคตต่อภายหลัง เหตุดังนั้น พระตถาคตจึงว่า ตัวท่านเป็นน้องของพระตถาคต
เมื่อสุททะมาณพได้สดับพระพุทธฎีกาพยากรณ์ทำนายดังนั้น ก็เกิดความปสันนาการเลื่อมใสโสมนัสเป็นที่ยิ่ง จึงดำริว่า บัดนี้มีชีวิตอยู่ด้วยมูลค่าแห่งดอกบัว ๒ ดอกเท่านี้จะได้มีสิ่งอื่นนอกจากดอกบัวหามีไม่แล้ว ควรเราจะเสียสละชีวิต ยกดอกบัวสองดอกนี้กระทำเป็นสักการบูชาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าเถิด สุททมาณพคิดดังนี้แล้ว ก็ก้มเศียรเกล้าลงน้อมนำดอกบัวเข้าไปถวายแก่สมเด็จพระโกนาคมนะเจ้า ด้วยเจตนาของอาตมานั้นเป็นสิ้นสุดศรัทธาแต่เท่านั้น สมเด็จพระโกนาคมนะเจ้าจึงเสด็จขึ้นทรงนั่งในเบื้องบนแห่งดอกบัวทั้งสองนั้น ส่วนว่าสุททมาณพได้เห็นพระพุทธปาฏิหาริย์ก็พิศวงว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นทรงนั่งเหนือดอกบัวนี้ ในเบื้องบนหาสิ่งจะปิดบังแสงพระอาทิตย์ไม่ จะคิดเป็นประการใดจึงจะมิให้แสงพระอาทิตย์อันร้อนมาถูกต้องพระผู้ทรงพระภาคได้ สุททมาณพจึงเอาไม้อ้อมาสี่ลำ กระทำเป็นเสาดาดด้วยผ้าสองผืนบังแสงพระอาทิตย์ไว้ให้สมเด็จพระโกนาคมนะเจ้า ทรงนั่งอยู่ในที่นั้นประมาณสิ้นกลางวันกลางคืนยังรุ่ง แล้วกระทำปณิธานความปรารถนาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายดอกบัวสองดอกกับผ้าสองผืนนี้เป็นเครื่องสักการบูชาแก่พระองค์ตามยากตามมี เดชะผลทานนี้ขอให้เป็นปัจจัยได้สำเร็จเป็น
พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาลโน้นเถิด
ครั้งนั้น สมเด็จพระโกนาคมนะเจ้า จึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาพยากรณ์ทำนายเป็นใจความว่า "ความปรารถนาของท่านที่คิดไว้ประการฉันใด จงสำเร็จแก่ท่านโดยเร็วด้วยประการฉันนั้น" พระสุรสำเนียงของพระสัพพัญญูเจ้าที่ตรัสว่า "จงสำเร็จนั้นดังสนั่น
ไปถึงภายใต้ที่อยู่แห่งพระยานาคราช เบื้องบนดังไปถึงพรหมโลก ฝูงเทพยดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ทั้งหลายได้ยินทั่วกัน" แล้วออกจากพิภพของตนมายังสำนักพระโกนาคมนะเจ้า แล้วก็ถวายนมัสการกราบทูลถามว่า "พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สดับพระสุรสำเนียงของพระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาว่าสำเร็จนั้น ด้วยเหตุผลสิ่งไร" บุคคลเช่นไรสำเร็จพระพุทธเจ้าข้า จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่าดูก่อนฝูงเทพยดาผู้เจริญ สุททะมาณพผู้นี้ได้ถวายดอกบัวกับผ้าแก่พระตถาคต ยังพระตถาคตให้นั่ง ได้บังแสงแดดสิ้นเวลากลางวัน ได้บังน้ำค้างสิ้นเวลาราตรียังรุ่ง มีความปรารถนาจะให้ได้พระสัพพัญญุตญาณในอนาคตกาลเบื้องหน้า พระตถาคตทำนายว่า อิจฺฉิตํ อิจฺฉิตํ จงสำเร็จตามความปรารถนาของสุททมาณพเถิด ฝ่ายฝูงเทพยดามหาพรหมทั้งหลายก็กระทำสักการบูชา ก็พากันอนุโมทนากับด้วยองค์สมเด็จพระโกนาคมนะเจ้าเป็นอันมาก นี่แหละ ดูก่อนสารีบุตร เมื่อพระธรรมราชาสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสนั้น
- จึงบังเกิดดอกบัวทองทั้งคู่ประมาณเท่าจักรรถ ผุดขึ้นมาแต่พื้นแผ่นดินเข้ารองรับฝ่าพระบาทไว้ในเมื่อยกย่างไปมาทุกก้าวพระบาทนั้น ด้วยอานิสงส์ที่ได้ถวายดอกบัวแก่องค์สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า
- ที่บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์นั้น ด้วยอานิสงส์ขันติอดใจของสุททมาณพบรมโพธิสัตว์
- เมื่อพระธรรมราชาสัพพัญญูเจ้าจะเสด็จทรงนั่งก็ดี ยืนก็ดี ไสยาสน์ก็ดี ณ ที่นั้นๆบังเกิดมีห้องแก้ว ๗ ประการควรจะชื่นชมยินดี ด้วยผลทานที่กระทำเพดานผ้าบังแดดและน้ำค้างถวายแก่พระโกนาคมน์เจ้า ในกาลเมื่อยังเป็นสุททมาณพ
- เมื่อพระองค์ได้ตรัสนั้น มีชนมายุยืนได้ ๕ หมื่นปี แล้วจึงล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน แสดงมาด้วยเรื่องราวแห่งพระเจ้าปเสนทิโกศลราชบรมโพธิสัตว์คำรบ ๓ ก็ยุติเพียงเท่านี้ฯ
เรื่องราวของพระมหาโพธิสัตว์ธรรมสามี
พระธรรมสามีมหาโพธิสัตว์ องค์ที่ ๔ คือพระยามาธิราช ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า ในกาลเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าสองพระองค์ คือพระรามเจ้าและพรเจ้ากรุงโกศลราช ได้ตรัสรู้ในมัณฑกัปป์เดียวกัน ล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานแล้วในมัณฑกัปอันนั้น ตั้งอยู่ถ้วนกำหนดกาลช้านานครบ ๖๔ อันตระกัปป์แล้ว แผ่นดินนั้นก็บังเกิดกัปวินาศฉิบหายไปด้วยไฟประลัยกัลป์ ไฟจะไหม้อยู่สิ้นกาลช้านาน จนถึง ๓ อสงไขย ล่วงไปได้ ๖๔ อันตระกัปป์ ๓ หนแล้ว ในกาลนั้นมีแผ่นดินตั้งขึ้นใหม่เป็นกัปป์อันหนึ่ง ชื่อว่าสารกัปป์ ในสารกัปแผ่นดินนานได้ ๖๔ อันตรากัปป์นั้น บังเกิดมีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาตรัสในสารกัปนั้นคือ พระยามาราธิราช จักได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทะเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระธรรมสามีสัพพัญญูผู้ประเสริฐ
-พระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๐ หมื่นปีเป็นกำหนด
-พระวรกายสูงได้ประมาณ ๘๐ ศอก
-มีไม้รังเป็นพระมหาโพธิ
-ประกอบไปด้วยพระพุทธรัศมีรุ่งเรืองสว่างประดุจดวงพระจันทร์ พระอาทิตย์ และสายฟ้าแลบ
-ในเมื่อพระองค์ทรงพระดำเนินก็ดี ทรงนั่งก็ดี ไสยาสน์ก็ดี อยู่ในที่ใดๆ บังเกิดมีพระบวรเศวตฉัตร สูงและกว้างใหญ่ได้
ประมาณ ๓๐ โยชน์ ผุดขึ้นมาในประเทศกลางเวหา
- ด้วยเดชานุภาพพระสัพพัญญูเจ้า บังเกิดมีขุมทองอันหนึ่งใหญ่สำเร็จในโลก มนุษย์ทั้งหลายในพระพุทธศาสนาพระยามาราธิราชนั้น ได้อาศัยขุมทองประพฤติเลี้ยงชีวิตเป็นสุข
ดูก่อนสารีบุตร พระยามาราธิราชบรมโพธิสัตว์ ได้ก่อสร้างบารมี ๑๐ ประการ มีทานและศีลเป็นอาทิมามากแล้ว แต่กองบารมีอันหนึ่ง ปรากฏเป็นยอดยิ่งมิ่งมงกุฎบารมี เป็นปรมัตถคุณควรจะได้สำเร็จซึ่งพระพุทธสมบัติทั้งปวง พระองค์ตรัสดังนี้แล้ว จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานแห่งพระยามาราธิราชบรมโพธิสัตว์ เป็นใจความว่า เมื่อครั้งพระพุทธศาสนาพระพุทธกัสสปทศพลญาณเจ้านั้น พระยามาราธิราชองค์นี้ได้บังเกิดเป็นมหาเสนาบดีใหญ่แห่งสมเด็จพระเจ้ากิงกิสสะมหาราชา มีนามว่า โพธิอำมาตย์ อยู่มาวันหนึ่งองค์สมเด็จพระพุทธกัสสปสัพพัญญูเจ้าเข้าสู่ผลสมาบัติเชยชมพระนิพพานเป็นบรมสุข ถ้วนกำหนดกาลแล้ว ออกจากผลสมาบัติในที่ภายใต้ต้นไทรใหญ่ ส่วนสมเด็จบรมกษัตริย์พระเจ้ากิงกิสสราชทรงพระจินตนาในพระหฤทัยว่า แท้จริงอันว่า พระมหากรุณาธิคุณเจ้าเสด็จออกจากผลสมาบัติใหม่ๆนี้ ถ้าแม้นบุคคลผู้ใดได้ถวายทานแก่พระพุทธองค์เจ้าแล้ว จะบังเกิดผลอานิสงส์หาที่สุดมิได้ บัดนี้ควรเราจะทำทานรักษาศีลสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ทรงพระจินตนาดังนี้แล้วจึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งราชบุรุษทั้งหลาย ให้ตีกลองร้องป่าวชาวเมือง ให้ทั่วกันว่า ถ้าบุคคลผู้ใดไปถวายทานแก่สมเด็จพระ
พุทธเจ้าก่อนเรา จะให้ลงพระราชอาญาผู้นั้น แล้วตรัสสั่งสหชาติโยธาทั้งหลาย ไปแวดล้อมพิทักษ์รักษาพระเชตุพนมมหาวิหารไว้โดยรอบ
ในกาลครั้งนั้น โพธิอำมาตย์ ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีความปรารถนาจะถวายทานแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าบ้าง ถึงว่าราชบุรุษทั้งหลายจะจับตัวอาตมาไปถวายพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะประหารชีวิตเราเสียด้วยความเพียรในการกุศลครั้งนี้ เสยฺโย ประเสริฐโดยวิเศษอันยิ่งแล้วเราจะคิดเกรงกลัวพระราชอาญานั้นด้วยเหตุใด โพธิอำมาตย์คิดดังนี้แล้ว ก็ไปบอกกับบุตรภรรยา ให้แจ้งดังพรรณนามานี้ว่า เจ้าจงจัดแจงแต่งอาหารเครื่องไทยทาน กระทำเป็นห่อใหญ่ให้แก่เราสักห่อหนึ่ง กับผ้าสักผืนหนึ่ง ฝ่ายภรรยาได้ฟังสามีบอกดังนั้น ก็เกิดมีศรัทธารับวาจาว่าสาธุแล้ว ครั้นเวลารุ่งเช้า นางก็ไปจัดแจงแต่งเครื่องไทยทานทั้ง ๒ สิ่งนั้น เสร็จแล้วนำมาให้แก่สามี แล้วกระทำเครื่องไทยทานอีกส่วนหนึ่งให้เป็นของแห่งตน ฝากสามีให้ไปถวายทานด้วย ครั้นโพธิอำมาตย์ได้เครื่องไทยทานดังปรารถนาแล้ว ก็ตรงไปยังพระวิหารโดยเร็ว ครั้งนั้นพวกเสนาทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่นั้นเห็นโพธิอำมาตย์เดินตรงมา จึงถามว่า โภเสนาบดี ดูก่อนท่านเสนาบดี เหตุดังฤาท่านจึงองอาจมายังสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้า โพธิอำมาตย์ได้ฟังก็คิดว่า ถ้าเราจะบอกแก่คนทั้งหลายด้วยถ้อยคำมุสาวาทว่า พระมหากษัตริย์ใช้ให้เรามาอาราธนาองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ก็จะได้ แต่ทว่าหาควรที่เราจะกล่าวมุสาไม่ เราก็ตั้งใจว่าจะถวายทานแก่สมเด็จพระพุทธเจ้า เมื่อเรากล่าวมุสาวาทแล้ว ทานของเราจะมีผลานิสงส์หามิได้ ควรแก่เราจะบอกแก่คนทั้งหลายโดยความจริงเถิด เสนาบดีคิดแล้วก็บอกแก่ราชบุรุษทั้งหลายว่า เราจะไปถวายทานแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ราชบุรุษได้ฟังถ้อยคำแห่งโพธิอำมาตย์ ก็มีความขึ้งโกรธ กรูกันเข้าจับเอาตัวโพธิอำมาตย์ มัดมือไพล่หลัง ไปถวายแก่พระมหากษัตริย์ กราบทูลเหตุนั้นให้ทรงทราบ พระเจ้ากิงกิสสราชก็ทรงพระพิโรธ สั่งให้นายเพชฌฆาตเอาตัวไปตัดศีรษะเสียให้สิ้นชีวิต ฝ่ายเพชฌฆาตและนักการทั้งหลายก็พาเอาตัวโพธิอำมาตย์ไปตามรับสั่ง ถึงที่ป่าช้าเข้าเพื่อว่าจะฆ่าเสียฯ
ขณะนั้นองค์สมเด็จพระกัสสปทศพลญาณเจ้า ทรงทราบประพฤติเหตุดังนั้นแล้ว ทรงคิดว่าโพธิอำมาตย์นี้ เป็นหน่อบรมโพธิสัตว์ เสมอวงศ์แห่งพระตถาคต มีอภินิหารเหตุได้กระทำมาแต่ก่อน จะกระทำกาลกิริยาตายเสียในเวลาวันนี้ สมเด็จพระกัสสปสัพพัญญูเจ้า ทรงพระมหากรุณาแก่โพธิอำมาตย์จึงนิรมิตเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ให้สถิตอยู่ในพระเชตวันวิหาร ส่วนพระองค์ยังพระพุทธรูปขององค์ให้อันตรธานหายเสด็จไปประดิษฐานอยู่ในที่สุสานประเทศ ครั้งนั้นบังจักษุแห่งนายเพชฌฆาตไว้ให้เป็นมหาละลวยละลายไป นายเพชฌฆาตเห็นรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับเหล่าราชบุรุษทั้งหลายที่มานั่งอยู่
นั้น กระทำแต่จักษุโพธิอำมาตย์ผู้เดียวให้เห็นเป็นรูปพระพุทธองค์ จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนโพธิอำมาตย์ผู้เจริญ ท่านจงละชีวิตของท่านเสียเถิด อย่ากระทำอาลัยในชีวิตอยู่เลย อันว่าปัจจัยทานของท่านมีประการใด ท่านจงให้ทานยังน้ำจิตให้เลื่อมใสในพระตถาคตเถิด อันว่าเครื่องปัจจัยทานของโพธิอำมาตย์นั้น ราชบุรุษทั้งหลายเอามาวางไว้ตรงหน้าแห่งโพธิอำมาตย์ด้วยเดชะพุทธานุภาพ โพธิอำมาตย์ได้สดับฟังพระพุทธฎีกาดังนั้น ก็บังเกิดมีจิตโสมนัสหาที่จะอุปมามิได้ ก็ถือเอาเครื่องปัจจัยทานของอาตมาส่วนหนึ่ง ของภรรยาส่วนหนึ่ง ถวายแก่สมเด็จพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์เป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตวโลกทั้งหลาย อันว่าชีวิตข้าพระบาทเสียสละแล้ว ด้วยเดชะผลทานของข้าพระพุทธเจ้าในกาลบัดนี้ ขอให้ได้บังเกิดเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเห็นปานดังพระองค์ ในอนาคตกาลโน้นเถิด
โพธิอำมาตย์กระทำปณิธานความปรารถนาดังนั้น สมเด็จพระภควันตบพิตรผู้ประเสริฐ ทรงพระอนุเคราะห์ยื่นพระหัตถ์ไปปรามาสเหนือศีรษะแห่งโพธิอำมาตย์ แล้วมีพระพุทธฎีกาว่า ตัวท่านยังความสุขเป็นอันมากให้บังเกิดแก่ตน จะได้พ้นจาก
วัฏฏทุกข์ในสงสาร ท่านปรารถนาประการใด ความปรารถนานั้นจงพลันสำเร็จแก่ท่านเถิด ดูก่อนโพธิอำมาตย์ผู้เจริญเอ๋ย ในอนาคตเบื้องหน้าโน้น ท่านจะได้บังเกิดเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง สมดังความปรารถนาของท่าน ทรงพยากรณ์ทำ
นายโพธิอำมาตย์แล้วก็เสด็จกลับยังเชตวันมหาวิหาร กระทำภัตตกิจซึ่งปัจจัยทานบิณฑบาต ที่โพธิอำมาตย์ถวายสำเร็จแล้ว ขณะนั้นนายเพชฌฆาตก็ตัดศีรษะโพธิอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าของทาน ขาดตกลงกระเด็นไปจากกาย โพธิอำมาตย์กระทำกาลกิริยาตาย
มหาปฐพีอันใหญ่ก็ไหวหวาดเป็นมหัศจรรย์โกลาหล ครั้งนั้นเศวตฉัตรแห่งสมเด็จพระเจ้ากิงกิสสราชก็หักทบลง พระองค์เห็นเศวตฉัตรหักก็ประหลาดพระทัยนักให้สะดุ้งพระทัยไหวหวั่น สั่งให้ปิดประตูพระทวารให้มั่นฯ
ลำดับนั้น อันว่าทิพย์วิมานทอง อันประกอบไปด้วยนางเทพอัปสรสาวสวรรค์ประมาณพันนาง ก็บังเกิดผุดขึ้นมาในสุสานประเทศที่กระทำกาลกิริยาตายแห่งโพธิอำมาตย์นั้น กับขุมทองทั้งหลาย ๑๖ ขุม และไม้กัลปพฤกษ์ด้วยต้นหนึ่ง ประกอบไปด้วยสรรพสิ่งสาระพันต่างๆ บังเกิดขึ้นในที่นั้น อันว่าบุตร ภรรยา โพธิอำมาตย์นั้น ก็ได้อาศัยอยู่ในวิมานทอง ได้บริโภคซึ่งขุมทอง และไม้กัลปพฤกษ์ประพฤติเลี้ยงชีวิตสืบมา ถ้วนถึง ๕๐๐ ปีเป็นกำหนด ฝ่ายโพธิอำมาตย์ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เสวยทิพยสมบัติด้วยเดชะผลทานนั้นฯ
ดูก่อนสารีบุตร เมื่อครั้งศาสนาของพระยามาราธิราชนี้
- มหาชนทั้งหลายได้บริโภคซึ่งข้าวสาลีเป็นนิจจกาล ด้วยเดชะผลทานข้าวสุกห่อหนึ่งถวายแก่พระพุทธกัสสปในกาลเมื่อเป็นโพธิอำมาตย์
- เมื่อพระยามาราธิราชได้ตรัสแล้ว บังเกิดมีเศวตฉัตรแก้วสูงได้ ๓ โยชน์ ด้วยเดชะผลทานถวายผ้าผืนหนึ่ง
- และพระองค์มีพระชนมายุประมาณถึงแสนปีนั้น ด้วยเดชะผลทานที่สละซึ่งชีวิตฯ
ดูก่อนสารีบุตร พระยามาราธิราชองค์นี้ ต่อไปในอนาคตกาลจักได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระธรรมสามี มาด้วยเรื่องราวพระยามาราธิราชบรมโพธิสัตว์คำรบ ๔ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ
ยุคนี้ยังเป็นยุคของพระสมณะโคดมอยู่คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ส่วนยุคของพระศรีอาริย์นั้นยังมาไม่ถึงอีก ๒๔๐๐กว่าปี เพราะตอนนี้ท่านยังเป็น พระโพธิสัตว์อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตอยู่เลยต้องรออีกตั้ง ๒๔๐๐ กว่าปี
ยุคพระศรีอริยเมตตรัยนั้น เท่าที่ทราบไม่ใช่ว่าหมดยุคพระพุทธเจ้าสมนะโคดม ๕,๐๐๐ ปี แล้วจะเป็นยุคของพระศรีอริเมตตรัยทันที แต่จะว่างจากพระพุทธเจ้าก่อน พุทธันดรหนึ่ง จะมีแต่เพียงพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเท่านั้น คือ เมื่อใครสำเร็จมรรคผลด้วยตนเองโดยที่ไม่มีใครสอน เมื่อบรรลุธรรมแล้วก็สอนใครไม่ได้ เพราะเป็นช่วงที่มนุษย์ห่างจากธรรม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ว่างจากพระพูทธเจ้า กล่าวคือเมื่อครบ ๑๐๐ ปี อายุมนุษย์จะลดลง ๑ ปี ปัจจุบันพุทธศักราช ๒๕๔๔ อายุขัยของมนุษย์โดยเฉลี่ยเท่ากับเหลื่อเพียง ๗๕ ปี หมดยุคพระพุทธเจ้าองศ์ปัจจุบัน มนุษย์จะอายุสั้นลงเหลื่อเพียง ๕๐ ปี และจะลดลงไปเรื่อยๆ จนอายุมนุษย์เหลื่อ ๑๐ ปี จากนั้นเมื่อครบ ๑๐๐ ปี อายุมนุษย์ก็จะเพิ่มขึ้น ๑ ปี เป็นไปลักษณะเช่นนี้ จวบจนอายุมนุษย์ครบ ๘๐๐๐๐ ปี พระศรีอริยะเมตตรัยถึงจะลงมาประสูติเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
อีกประมาน ๒๕๐๐ ปีนับจากนี้โลกของเราจะดับสูญ ยุคของพระพุทธเจ้าสิตธัตถะจะหมดไปจะได้เข้าสู้ยุคของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระศรีอริยเมตตรัยซึ่งเป็นองค์ที่ ๕ เเละเป็นองค์สุดท้ายของภัทรกัปป์นี้ อยากรู้อีกไหมว่าพอสิ้นยุคพระศรีอริยเมตตรัยไปเเล้วจะเกิดอะไรขึ้น พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า หลังจากพระศรีอริยเมตตรัยมาตรัสรู้แล้ว จะยังมีพระพุทธเจ้าต่อไปอีก ๕ พระองค์ คือในกัปป์นี้มีพระพุทธเจ้าได้ ๑๐ พระองค์
ศาสนาของพระศรีอาริย์
ท่านว่าศาสนาของท่านนั้นจะมีผลดังนี้
๑. คนสวยทุกคน มีผิวเหลือง เนื้อละเอียด คนแก่ที่สุดมีทรวดทรงเท่ากับคนอายุ ๒๐ ปีเศษ ของคนในสมัยนี้ อายุคนสมัยนั้นท่านว่า มีอายุถึง ๘ หมื่นปีเป็นอายุขัย
๒.สมัยของท่าน ไม่มีคนจน มีแต่คนรวย มีต้นไม้สารพัดนึกอยู่ในที่ทุกสถาน สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ที่มีจิตใจชั่วร้ายยังไม่มีโอกาสเกิดในสมัยของพระองค์ ท่านที่จะไปเกิดนั้น ต้องเป็นเทวดาหรือพรหมเท่านั้น โลกจึงมีแต่ความสุข ไม่มีตำรวจทหารมีแต่พ่อบ้านแม่เรือน
๓.การสัญจรไปมาก็สะดวกสบาย ไปทางไหนก็พายตามน้ำ
๔.คนเข้าถึงธรรมทุกคน ท่านว่าคนที่เจริญสมถะพอมีญาณ หรือมีวิปัสสนาญาณบ้าง พอสมควร จะเข้าถึงธรรมาภิสมัยได้ โดยฉับพลัน คือเป็นพระอริยะเจ้า คนที่ได้อริยะเป็นทุนอยู่แล้ว จะเข้าถึงอรหัตผลได้โดยฉับพลัน คนที่ทำบุญไว้น้อย คือฟังคาถาพัน และปฏิบัติตามแต่ไม่สมบูรณ์ อย่างต่ำก็เข้าถึงไตรสรณคมน์ อย่างสูงก็ได้อริยะ ที่เป็นอย่างนี้ เป็นเพราะว่าท่านบำเพ็ญบารมีถึง ๘๐ อสงไขยกับแสนมหากัปป์ ท่านบำเพ็ญบารมีมามาก คนเลวจึงเข้าแทรกแซงในศาสนาของพระองค์ไม่ได้ น่าเกิดจริงๆนะ
ประวัติ
เมื่อย้อนไปในยุคของพระสิริมัตตพุทธเจ้า พระศรีอริยเมตตรัยเสวยพระชาติเป็นพระมหากษัตริย์พระนามว่า "พระเจ้าสังขจักรแห่งนครอินทปัตต์" วันหนึ่งทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาใกล้ ๆ เมืองอินทปัตต์ทรงดีพระทัยยิ่งจึงรีบเสด็จไปด้วยพระบาท เพียงหนึ่งวันพระบาททั้งสองก็แตกช้ำ วันที่สามพระชงฆ์ก็แตกยับพระโลหิตนอง วันที่สี่ไม่สามารถเสด็จต่อไปได้ แต่ด้วยพระวิริยะและจิตมุ่งมั่นที่จะเข้าเฝ้าจึงกระเถิบไปด้วยพระอุระ พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณทิพย์ จึงทรงจำแลงพระวรกายมาเป็นมาณพหนุ่มขับเกวียนมา จะพาไปถึงที่พำนักของพระพุทธเจ้า พระอินทร์ และมเหสีทั้งสี่ได้แปลงเป็นหญิงชาย นำห่อข้าวทิพย์และน้ำทิพย์มาให้เสวย
เมื่อพระองค์หายบอบช้ำแล้วจึงเสด็จไปในพระวิหาร เพียงแรกพบพระพุทธเจ้าก็ทรงสลบลงด้วยความปลื้มปิติยินดี เมื่อฟื้นพระวรกายจึงตรัสว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า" และมิได้ตรัสอะไรได้อีกด้วยความปลื้มปิติยินดีพระทัย พระองค์ขอสดับธรรมของพระพุทธเจ้าเพียงบทเดียวเพราะไม่มีสิ่งใดถวายบูชาพระธรรมเทศนา จึงทรงตัดพระเศียร (ศีรษะ) ด้วยพระนขา (เล็บ) ถวายเป็นพุทธบูชา
การตรัสรู้
พระมหาโพธิสัตว์จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตมาถือปฏิสนธิในตระกูลพราหมณ์ ในครรภ์ของนางพรหมวดีพราหมณี ภรรยาของสุพรหมพราหมณ์ ปุโรหิตของพระเจ้าสังขจักร แห่งเกตุมดีนคร เมื่อประสูติได้มีนิมิต ๓๒ ประการแล้ว ก็บังเกิดปราสาท ๓ หลังเพื่อเป็นที่ประทับ เมื่อพระชนมายุ ๘๐๐๐๐ ปี ทอดพระเนตรเห็นนิมิตทั้ง ๔ จึงทรงพอพระทัยในการ บวช เสด็จขึ้นไปสู่ปราสาท ปราสาทก็ลอยขึ้นสู่อากาศ มาลงที่ใกล้โพธิมณฑล ท้าวมหาพรหมอัญเชิญอัฏฐบริขารมาถวาย พระโพธิสัตว์ทรงเอาพระขรรค์แก้วตัดพระเมาลี ทรงรับเครื่องอัฏฐบริขารที่ท้าวมหาพรหมนำมาถวาย ผนวชแล้วบำเพ็ญเพียร มีคนบวชตามเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์ประทับนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์ในปฐมยาม ทรงบรรลุบุพเพนิวาสานุสติญาณในมัชฌิมยาม ทรงทำให้แจ้งทิพยจักษุญาณในปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาปัจจยาการ ๑๒ ประการ ในเวลารุ่งอรุณ ทรงบรรลุซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใต้ต้นกากะทิง
พระศรีอริยเมตตรัยสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระฉัพพรรณรังสีจากพระวรกาย ทำให้สว่างไสวทั้งกลางวันและกลางคืน คนทั้งหลายอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ บริโภคข้าวสาลีที่เกิดจากพระพุทธานุภาพ
ยุคพระศรีอารย์
พระศรีอริยเมตตรัยจะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาในอนาคต โลกนี้จะมีความสงบสุข และพระศาสนาจะมีความรุ่งเรืองกว่า พระศาสนาของพระพุทธเจ้าในองค์ปัจจุบันนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะมีพระอริยบุคคลมากกว่า และประชาชนจะมีความสุขอย่างยิ่ง คือจะไม่มีเรื่องร้อนใจเลย ทุกคนพอใจในความเป็นอยู่ ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ตอนนอนไม่ต้องปิดประตูหน้าต่าง เรื่องคนร้ายไม่มี หรือขโมยก็ไม่ต้องกลัว คนจะเป็นคนดีเหมือนกันหมด ไม่มีคนพาล จนกระทั่งเมื่อลงจากบ้านก็ไม่มีใครจำได้ว่าใครเป็นใคร เพราะมันดีเหมือนกันหมด มันสุภาพเหมือนกันหมด มันสวยเหมือนกันหมด จนเมื่อกลับเข้าบ้าน จึงจะจำได้ว่า นี่คือภรรยาของเรา นี่คือสามีของเรา นี่คือลูกของเรา และต้องการอะไรก็ได้ มันมีต้นไม้พิเศษที่เรียกว่า ต้นกัลปพฤกษ์ อยู่ทุกทิศ อยากได้อะไรก็ไปขอที่ต้นไม้ จะสะดวกสบาย แม้แต่การคมนาคม การไปการมา จนว่าน้ำในแม่น้ำนั้น จะไหลลงข้างหนึ่ง จะไหลขึ้นข้างหนึ่ง เพื่อจะสะดวกต่อการใช้เรือ อยู่กันเป็นผาสุก ไม่มีอันธพาลมากวนใจ ต้องการอะไรก็จะได้หมด
เมื่อสมเด็จพระบรมมหาโพธิสัตว์ตรัสถึงกลียุคจนถึงมนุษย์อายุเสื่อมถอยน้อยลงมาถึงแปดหมื่นปีแล้วจึงตรัสต่อว่า " ครั้นเมื่ออายุมนุษย์ลดน้อยถอยลงได้แปดหมื่นปีตอนนั้นจักมีฝนตกทุกๆ ๑๕ วัน ส่วนมากฝนนั้นจักตกแต่เวลาใกล้รุ่งทำให้มนุษย์มีความชุ่มชื่นใจพื้นดินกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์ แม่น้ำลำคลองมีกระแสน้ำไหลขึ้นข้างหนึ่งไหลลงข้างหนึ่ง เต็มเปี่ยมเพียบฝั่งไม่มีพร่อง ไม่มีล้นฝั่งเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป ดอกไม้นานาพรรณผลิดอกออกช่อบานสะพรั่งตลอดฤดูกาล
บ้านเรือนจะปลูกอยู่ใกล้ๆกันพอไก่บินถึง ปราศจากโจรผู้ร้าย บริบูรณ์ไปด้วยน้ำแลข้าวปลาอาหาร ผัวเมียจะไม่ทะเลาะวิวาทกัน ผู้ชายไม่ต้องทำไร่นาค้าขาย ผู้หญิงก็ไม่ต้องทอผ้าตำหูกปั่นฝ้าย ผ้านุ่งผ้าใช้ล้วนแต่เป็นของทิพย์ อำมาตย์ข้าราชการตั้งมั่นอยู่ในความสุจริตธรรมไม่เบียดเบียนอาณาประชาราษฎร์ให้เดือดร้อน พระมหากษัตริย์จะไม่มีความกริ้วโกรธถือโทษลงพระราชอาญา มีน้ำพระทัยรักใคร่กรุณาแก่ประชาชนทวยราษฎร์
บรรดาสรรพสัตว์ที่เป็นศัตรูกันทั้งหลายเช่นกากับนกเค้า แมวกับหนู งูกับพังพอน หมีกับไม้สะคร้อ ทั้งหมดก็จะหายเป็นศัตรูกันมีเมตตากรุณาต่อกัน สรรพสัตว์อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เครื่องใช้ไม้สอยมีความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง แผ่นดินใหญ่กว้างล้วนราบเรียบเป็นหน้ากลอง ไม่มีหลักตอเสี้ยนหนาม คนทั้งหลายรูปงามเหมือนกันหมด ไม่มีคนใบ้บ้า คนหูหนวกตาบอด ง่อยเปลี้ยเสียขาพิกลพิการก็ไม่มีแต่อย่างใด ทุกคนปราศ จากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เห็นกันเข้าก็มีแต่รักใคร่มีไมตรีอันดีต่อกันหาศัตรูหรือรู้จักโกรธให้กันก็ไม่มี ในครั้งนี้บุรุษจะมีภรรยารักคนเดียว สตรีก็จะมีสามีคนเดียวกลมเกลียวรักใคร่ปองดองกัน ไม่มีการล่วงประเวณี และคนในยุคนี้จะมีแต่ความผาสุขสมบูรณ์มากไม่ต้องลำบากในการหากิน เพียงตั้งภาชนะปิดฝาเอาไว้ครั้นอยากกินสิ่งไรเปิดภาชนะดูก็ได้กินสิ่งนั้นตามประสงค์แล้ว
ครั้นว่าบริโภคโภชนากระยาหารอิ่มหนำสำราญแล้วอาหารนั้นก็อันตรธานหายไปเองไม่ต้องเก็บต้องล้าง ข้าวของทุกอย่างที่ใช้สอยมีแต่เครื่องทิพย์ มีกิจอยู่แต่นั่งกับนอนฟังเสียงอันเป็นทิพย์ไพเราะนักหนาอันเกิดจากเวลาลมพัดต้องหมู่ไม้ใบพฤกษาก็สั่นไหว เป็นเสียงทิพยดนตรีมีความไพเราะเป็นหนักหนา ทุกคนถ้วนหน้ามีสมบัติเหมือนกันหมด ปราศจากกำพร้าอนาถา ปราศจากคนชราหรือเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ เหตุวิวาทแก่งแย่งชิงเอาบ้านเรือนไร่นาของกันและกันนั้นไม่มีเลย และในยุคนี้จะมีพืชข้าวกล้าเพียงเม็ดเดียวหากตกลงเหนือพื้นแผ่นดินแล้วก็งอกขึ้นเป็นต้นเป็นลำเป็นปล้องเป็นหน่อ และเป็นกอใหญ่ๆแตกออกไปได้หลายร้อยเท่าพันทวี ทั้งหมดเป็นดังนี้ก็เพราะพระองค์ได้สร้างสมบุญบารมีเอาไว้มาก
ในศาสนาของพระองค์ไม่มีคนบ้า คนใบ้ ด้วยเหตุที่พระองค์ไม่เคยพูดเท็จหลอกลวงใครๆ
ไม่มีคนตาบอดเพราะพระองค์มองสมณะผู้มีศีลแลยาจกวนิพกเข็ญใจด้วยนัยน์ตาที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักใคร่สงสาร
ไม่มีคนง่อยเปลี้ยเสียขาเพราะเวลาทำบุญให้ทาน พระองค์ยืนตรงเสมอ
ไม่มีคนเจ็บไข้ได้ป่วยไร้โรคาพยาธิ์ก็เพราะพระองค์ถวายยาเป็นทานอยู่เสมออย่างเนืองนิจ
ไม่มีมารมาผจญเพราะพระองค์ไม่เคยทำให้คนหรือสัตว์นั้นตกใจ ในศาสนาของพระองค์
ไม่มีใครขี้ริ้วขี้เหร่ มีแต่คนรูปงามเพราะยามพระองค์ให้ทานให้แต่ของอันเป็นที่รักแก่ยาจกวนิพกตลอดจนสมณพราหมณ์เสมอ
ในศาสนาของพระองค์ทุกคนจะได้ไปสวรรค์หมดเพราะอานิสงส์ที่พระองค์ให้ช้างม้าราชรถยวดยานพาหนะเป็นทาน
ในศาสนาของพระองค์นั้นแผ่นดินจะราบเรียบเสมอกันหมดเพราะอานิสงส์พระองค์ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสรรพสัตว์เสมอ คนในศาสนาของพระองค์จะมั่นคงสมบูรณ์ด้วยทัพย์สินโภคาเพราะเหตุว่าพระองค์ได้ให้ทานแก่ผู้ยากไร้เข็ญใจด้วยทรัพย์สิ่งของเงินทองตามที่เขาปรารถนาอยู่เนืองนิตย์โดยทั่วถึง
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมบำเพ็ญบารมีมาช้านานถึง ๘๐ อสงไขยกับแสนมหากัปป์ บารมี ๓๐ ทัศนั้นก็ได้บำเพ็ญมาอย่างพร้อมมูลแล้ว โยมจะลงไปเกิดในโลกมนุษย์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อโปรดสัตว์ทั้งหลาย โดยจะเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลอันบริบูรณ์ ด้วยสมบัติ พระบิดานั้นมีชื่อว่า สุพรหมพราหมณ์ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าสังขจักรพรรดิราช พระมารดานั้นมีชื่อว่า พรหมวดีพราหมณี พระอัครสาวกเบื้องขวามีนามว่าพระอโสกะเถระ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายมีนามว่า พระสุพรหมเถระ พระอัครสาวิกาเบื้องขวามีนามว่า พระปทุมาเถรี พระอัครสาวิกาเบื้องซ้ายมีนามว่า พระสุมนาเถรี อุบาสกพุทธอุปัฏฐากมีนามว่า สุทัตตคหบดีคนหนึ่ง และ สังฆคหบดีอีกคนหนึ่ง อุบาสิกาพุทธอุปัฏฐากมีนามว่า สวดีอุบาสิกาคนหนึ่ง แลนามว่า สังฆอุบาสิกาคนหนึ่ง
มีไม้กากะทิงเป็นไม้ที่ตรัสรู้ ขนาดลำต้นจากพื้นไปถึงคาคบ ๑๒๐ ศอก จากคาคบไปถึงยอด ๑๒๐ ศอก รวมจากพื้นถึงยอดปลายสุด ๒๔๐ ศอก ไม้นี้มีกิ่งใหญ่ ๔ กิ่งทอดออกไปในทิศทั้ง ๔ มีความยาวกิ่งละ ๑๒๐ ศอก มีดอกเท่ากงล้อรถแต่ละดอกมีเกสร ได้ทนนาน มีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไปไกลถึง ๕๐๐ โยชน์
ตอนที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นมีพระวรกายสูงได้ ๘๘ ศอก จากพื้นพระบาทถึงพระชานุ ๒๒ ศอก จากพระชานุถึงพระนาภี ๒๒ ศอก จากพระนาภีถึงพระรากขวัญ ๒๒ ศอก จากพระรากขวัญถึงพระอุณหิส ๒๒ ศอก พระชนมายุได้แปดหมื่นปี จึงปรินิพพาน ศาสนาของโยมนั้นจะยืนยาวได้ ๘,๐๐๐ ปีจึงจะสิ้นอายุขัย
กาลเวลาที่พระศรีอริยเมตตรัยจะลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เมื่อพระมาลัยเถระได้สดับคำวิสัชนาของพระมหาโพธิสัตว์ตรัสถึงชีวิตความเป็นอยู่ในยุคสมัยของพระองค์แล้วก็ มีใจสงสัยด้วยว่ายังไม่กำหนดกาลเวลาว่าจะลงมาโปรดสัตว์เมื่อใด จึงถามต่อไปว่า "ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพได้สดับตามที่พระองค์ทรงเล่ามายังกำหนดไม่ได้ว่าพระองค์จะลงไปโปรดมนุษย์เมื่อใด"
สมเด็จพระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ จึงตอบไปดังนี้ว่า " ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เมื่อใดข้าวสาลีเม็ดเดียวบังเกิดเป็นข้าวสารร้อยเจ็ดสิบเม็ด จุเต็มสองเล่มเกวียนกับสิบหกสัดใหญ่ๆ เท่ากับสองกระบุงเมื่อใด ก็เมื่อนั้นแหละพระคุณเจ้าที่โยมจะลงไปเกิดในโลกมนุษย์
ก่อนที่ลงไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องลงไปเกิดเพื่อ กระทำสัตตสดกมหาทานบริจาคลูกเมียเป็นทานเหมือนพระเวสสันดรเสียก่อน แล้วจะกลับขึ้นมาเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิตสิ้นระยะหนึ่ง จนถึงเมื่อสัตว์ทั้งหลายมีอายุไขยน้อยลงไปจากอสงไขยหนึ่งเหลือเพียงแปดหมื่นปี ชมพูทวีปนี้จะกลับบริบูรณ์มีเม็ดข้าวสาลีเพียงเม็ดเดียวแต่ให้ผลมากมายดังก่อน ก็ตอนนั้นแลโยมจะลงไปบังเกิดในโลกมนุษย์อีกครั้งหนึ่งเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดยเหล่าเทพยดาในหมื่นจักรวาลมีท้าวมหาพรหมเป็นประธานมาอัญเชิญให้ไปจุติ
***สัตตสดกมหาทาน คือการบริจาคสิ่งของเป็นทานเจ็ดอย่าง อย่างละ ๗๐๐ คือ:-
๑.ช้าง ๗๐๐ ตัว
๒.ม้าอาชาไนย ๗๐๐ ตัว
๓.โคนม ๗๐๐ ตัว
๔. ทาสหญิง ๗๐๐ คน
๕.ทาสชาย ๗๐๐ คน
๖. ราชรถ ๗๐๐ คัน
๗.นางสนม ๗๐๐ นาง
เมื่อได้สดับตับฟังคำอัญเชิญของเทพยดาและพรหมทั้งหลาย ก็จะใช้ทิพยญาณเล็งดูโลกด้วยเหตุห้าประการที่เรียกว่า " ปัญจมหาวิโลกนะ"
ปัญจะมหาวิโลกนะ ๕ ประการคือ ความเหมาะสมทั้ง ๕ ประการ ที่ พระโพธิสัตว์จะเสด็จลงไปบังเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพิจารณาดูดังนี้ คือ:-
๑.กาลเวลา คือดูว่าเวลานี้สมควรลงจะไปตรัสรู้ไหม เหล่ามนุยษ์มีสติปัญญาพอไหมที่จะเข้าใจพระธรรม
๒.ประเทศ คือประเทศที่จะไปบังเกิดควรจะไปบังเกิดในประเทศอะไรในโลกจึงเหมาะสม
๓.ตระกูล คือจะต้องไปบังเกิดในตระกูลอะไรจึงจะเหมาะสม
๔.มารดา คือพระมารดาสมควรจะเป็นใคร
๕.อายุ คือเหล่ามนุษย์มีอายุยืนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ไม่ยืนยาวมากเกินไปหรือสั้นจนเกินไป
พระบรมโพธิสัตว์แต่ก่อนจะพิจารณาดูตามธรรมเนียมประเพณี ๕ อย่างนี้เสียก่อนจึงจะมาจุติ การพิจารณาดูกาลเวลาอายุสัตว์ในครั้งนั้นว่าไม่มากกว่าแสนปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยปีลงมา เพราะถ้าสัตว์มีอายุมากกว่าแสนปี ความแก่และความตายก็จะไม่ค่อยบังเกิดปรากฏให้เห็น สรรพสัตว์ฟังพระธรรมเทศนาแล้วจะไม่เห็นว่าสังขารเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่เชื่อถือในพระสัจธรรม มรรคผลนิพพานก็จะไม่บังเกิดขึ้น พระธรรมเทศนาก็จะไร้ประโยชน์
อีกประการหนึ่งถ้าสัตว์อายุน้อยกว่าร้อยปีลงมาก็เป็นการไม่สมควรที่พระพุทธเจ้าจะลงไปตรัสรู้ เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายพวกนี้ยังมีกิเลสหนากล้านัก จักรับโอวาทเพียงต่อหน้าลับหลังมาก็จะพากันละทิ้งเสียไม่ผิดอะไรกับขีดรอยในน้ำก็จะกลับคืนดังเก่า ดังนั้นกาลที่เหมาะสมสำหรับการไปตรัสรู้จึงอยู่ในระหว่างแสนปีลงมาและมากกว่าร้อยปีขึ้นไป
ประการที่สองก็คือพิจารณาทวีปใหญ่ทั้งสี่มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวารนั้นก็เห็นว่าโดยพุทธประเพณีอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะมีพระประสูติกาลทุกพระองค์นั้นจะไปบังเกิดในชมพูทวีปแห่งเดียวอันเป็นมัชฌิมประเทศที่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอสีติมหาสาวก พระเจ้าจักรพรรดิราช แลชนผู้มีบุญญาธิการมากมักลงมาเกิดเป็นส่วนมาก
ประการที่สามพิจารณาประเทศอันเป็นสถานที่กำเนิด ในครั้งนั้นกรุงพาราณสีจะมีชื่อนครว่ามัณฑารนคร กว้างใหญ่ได้สิบสองโยชน์ เมื่อพวกมนุษย์อายุถดถอยลงจากอสงไขยด้วยความประมาทเหลือเพียงแปดหมื่นปี และกรุงมัณฑารนี้จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเกตุมดีนคร จักบริบูรณ์สถาพรด้วยวัตถุสิ่งของทั้งปวง จึงควรที่จะบังเกิดในกรุงเกตุมดีนครนี้
ประการที่สี่พิจารณาถึงตระกูลอันสมควรตามประเพณีที่สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไปบังเกิดในตระกูลอันชาวโลกนับถือ คือตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ตามที่เคยมีมา ก็ตอนนั้นแลถือกันว่าตระกูลพราหมณ์ประเสริฐเลิศที่สุด จึงสมควรที่จะลงไปบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ซึ่งเป็นปุโรหิตผู้ใหญ่ของพระเจ้าสังขจักร
ประการที่ห้าสุดท้ายพิจารณาว่าผู้ใดควรจะเป็นพุทธบิดาพุทธมารดาที่บำเพ็ญบารมีนับเนื่องกัน ก็รู้ว่าสุพรหมพราหมณ์นั้น ควรเป็นพุทธบิดา นางพรหมวดีพราหมณีควรที่จะเป็นพุทธมารดา ขอรับพระคุณเจ้า ส่วนนางอนุลาเทวีเป็นคู่สร้างบารมีของโยมจะได้เป็นอัคร มเหสีมีนามว่า นางจันทมุขี โอรสคือเจ้าสาลีพระโอรสแห่งพระเจ้าอภัยทุฏฐคามินีสร้างบารมีร่วมกันมาจะได้เป็นโอรสมีนามว่า พรหมวดีกุมาร
กาลที่พระองค์จะออกผนวชนั้นจะมีเทวทูตสำแดงบุพนิมิต ๔ ประการ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แลนักบวช ปราสาทที่อยู่ของพระองค์จักลอยไปกลางอากาศ เมื่อโยมผนวชแล้วบำเพ็ญเพียรประมาณเจ็ดวัน ตกวันที่เจ็ดจะไปนั่งที่ควงไม้กากะทิงแล้วได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อโปรดสัตว์ ขอรับพระคุณเจ้า "
ครั้นพระบรมโพธิสัตว์ตรัสมาถึงตรงนี้ก็มีพระราชดำรัสอันเป็นปัจฉิมสมัยว่า " ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ครั้นเมื่อกลับไปยังโลกมนุษย์แล้วจงบอกแก่ชาวชมพูทวีปด้วยว่า อย่าได้สร้างเวรทั้งห้า คืออย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อย่าคิดลักขโมยข้าวของเงินทอง อย่าล่วงล่วงประเวณีผิดลูกเมียและผัวผู้อื่น อย่าได้กล่าวลวงโป้ปดมดเท็จ อย่าได้เสพสุราเมรัย ให้สมาทานรักษาพระอุโบสถศีล ละเว้นอนันตริยกรรมทั้งห้าประการ ให้หมั่นสร้างกุศลผลทานแล้วจะได้พบพานศาสนาของพระองค์ดังประสงค์ ขอพระคุณเจ้าจง สั่งสอนเขาดังนี้ตามที่โยมบอกเอาไว้เถิด ขอรับพระคุณเจ้า "
ครั้นเมื่อสั่งเสร็จองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ก็นมัสการลาพระเถระ ลุกขึ้นกระทำอภิวาทประทักษิณพระจุฬามณีเจดีย์แล้วเสด็จกลับพร้อมด้วยเหล่าบริวาร เหาะลอยผ่านท้องฟ้าขึ้นสู่นภากาศตรงไปยังดุสิตพิภพอันเป็นที่อยู่ของพระองค์ ส่วนพระมาลัยก็ถวายพระพรลาพระอินทราธิราช ถวายอภิวาทนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีกระทำประทักษิณสิ้นสามรอบแล้วจึงกลับลงมาสู่โลกมนุษย์ดังเดิม
ครั้นเมื่อวันต่อมาเวลาพระเถระออกโปรดสัตว์รับบิณฑบาตชาวบ้านกัมโพชคามตามปกติ ก็สั่งสอนชาวบ้านทั้งหลายตามที่ได้รับมอบหมายมาจากพระศรีอริยเมตตรัย ฝ่ายมหาชนทั้งหลายครั้นได้ฟังคำบอกเล่าของพระเถระก็ตั้งหน้ามุ่งมั่นในการทำบุญ
กุศลมากขึ้นเป็นทวีคูณและฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ครั้นสิ้นบุญก็ได้ไปกำเนิดในสวรรค์โดยทั่วกันแล
**ส่วนนายมานพเข็ญใจผู้ถวายดอกบัว ๘ ดอกแก่พระมาลัย ครั้นเมื่อมานพเข็ญใจถวายดอกบัวแปดดอกแก่พระมาลัยแล้ว เมื่อกลับไปถึงบ้าน เขานั้นก็ล้มป่วยเป็นไข้อันหนักเมื่อรู้ตัวว่าจักไม่รอดจากเงื้อมหัตถ์ของพระยามัจจุราช ขณะนั้นเขาพลันรำลึกถึงดอกบัว ๘ ดอกที่เขาได้ถวายแก่พระมาลัยเถระเจ้าก็เฝ้าปลื้มปีติยินดีในผลทานอันนั้นจนสิ้นใจตาย ด้วยผลของทานนั้นก็ทำให้เขาได้ไปอุบัติขึ้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเทพบุตรมีปราสาทอันสำเร็จเป็นดอกบัวทองหลังใหญ่มีนางฟ้าเป็นบริวารจำนวนมาก ปราสาทหลังนี้ประดับไปด้วยแก้ว ๗ ประการเต็มไปด้วยแก้วเจ็ดประการอันงามตระการตายิ่งนัก ครั้นเมื่อเทพบุตรนี้ก้าวเท้าไปทางใดไม่ว่านอกหรือในของปราสาท ก็จะมีดอกบัวทิพย์อันพิลาศ ผุดขึ้นมารองรับเท้าของเขานั้นทุกก้าวไป กลิ่นกายเขานั้นไซร้ก็หอมฟุ้งจรุงใจไปทั่วทั้งสวรรค์เหมือนกับกลิ่นของดอกบัวฉะนั้น
ชาวสวรรค์ทั้งหลายถ้วนทั่วทุกองค์ต่างก็ประหลาดใจด้วยเหตุประหลาดนี้ จึงพากันยกขบวนไปหาท้าวสักกเทวราชผู้เป็นใหญ่ให้วินิจฉัยถึงสาเหตุ ครั้นท้าวเธอทราบมูลเหตุจึงเสด็จออกไปหาเทพยดาที่จุติใหม่ ถามไถ่ถึงที่มาของกลิ่น เทพบุตรจึงบอกความนัยจนหมดสิ้นว่าเกิดจากการถวายดอกบัวแด่พระมาลัยเถระเจ้า ครั้นชาวสวรรค์ทราบก็ชอบใจพากันเก็บดอกบัวในสระสวรรค์ไปถวายพระเจดีย์จุฬามณีทุกวัน เทพบุตรองค์นั้นก็ได้ชื่อว่า อุบลเทวบุตร ด้วยมูลเหตุแห่งการถวายดอกบัวดังนี้แล ขอจบเรื่องราวของพระศรีอริเมตตรัยมหาโพธิสัตว์แต่เพียงเท่านี้
บทสุดท้าย
ในบทสุดท้ายนี้ข้าพจะนำเอาวิธีปฏิบัติสมถกรรมฐาน, วิปัสสนากรรมฐาน, และวิธีฝึกมโนมยิทธิมาแสดงให้ท่านผู้ประสงค์จะเรียนรู้ในวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องตามที่โบราณาจารย์ได้แนะนำเอาไว้ดังต่อไปนี้
กรรมฐาน ๒
ความรู้เรื่องกรรมฐาน ๒ คือ:-
๑. สมภกัมมัฏฐาน คือกรรมฐานเนื่องด้วยบริกรรม ไม่เน้นหนักในด้านการใช้ปัญญา เป็นกรรมฐานเครื่องยังใจให้สงบจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าสนิมใจ กั้นจิตบุคคลไว้ไม่ให้บรรลุความดี กรรมฐานที่เป็นอุบายวิธีกระทำใจของบุคคลให้สงบ เช่น ตั้วสติ ระลึกดูที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรืออาจจะภาวนาบทว่า พุทโธ โดยหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ถ้าจิตของบุคคลนั้นสามารถสงบอยู่กับอารมณ์ที่ตนระลึกได้ ในยามนั้นนิวณ์ธรรม ๕ ประการ ข้อใดข้อหนึ่งได้สงบไปจากจิต การปฏิบัติโดยวิธีนี้จึงชื่อว่า เป็น สมถกัมมัฏบาน
๒. วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือกรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา เป็นการสอนให้บุคคลใช้ปัญญาเพ่งดูสิ่งที่เราเรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพื่อให้เกิดปัญญาชั้นสูง เห็นจริงตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ เช่น พิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นต้น กรรมฐานทั้ง ๒ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า แม้บุคคลกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความรู้ดี เป็นไปเพื่อความดับ กรรมฐานทั้ง ๒ ประการก็คือหลักของจิตตสิกขา และปัญญาสิกขา ในทางพระพุทธศาสนานั่นเอง
คำสมาทานกรรมฐาน
๐อิมาหัง ภันเต ภะคะวา อัตตะภาวัง ตัสสะ ภะคะวะโต ปะริจจัชชามิ ฯ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบอัตภาพร่างกายและชีวิต แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ตามเวลาอันสมควรต่อไป ฯ
๐อิมาหัง ภันเต อาจะริยะ อัตตะภาวัง อาจะริยัสสะ ปะริจจัชชามิ ฯ
ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบอัตภาพร่างกายและชีวิต ถวายต่อท่านพระอาจารย์ ขอพระอาจารย์โปรดให้พระกรรมฐาน แก่พวกข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อจะได้ปฏิบัติในโอกาสอันสมควรต่อไป ฯ
๐นิพพานัสสะ เม ภันเต สัจฉิกะระณัตถายะ สมถวิปัสสนากัมมัฏฐานัง เทหิ ฯ
อุกาสะ อุกาสะ สาธุ สาธุ ณ โอกาสบัดนี้ ข้าพเจ้าจะขอสมาทานเอา ซึ่งพระกรรมฐานทั้ง ๒ คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ขอขณิกะสมาธิ อุปะจาระสมาธิ อัปปะณาสมาธิ จงบังเกิดมีในจิตตะสันดานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตั้งสติกำหนดไว้ ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ารู้ ลมหายใจออกรู้ รู้สามหนและเจ็ดหน รู้ร้อยหนและพันหน ด้วยความไม่ประมาท ขอวิปัสสนาญาณ คือดวงธรรมอันประเสริฐ จงบังเกิดมีใน จักขุทะวาร โสตะทะวาร ฆานะทะวาร ชิวหาทะวาร กายะทะวาร มะโนทะวาร ของข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเทอญ ฯ
วิธีนั่งสมาธิและการเดินจงกรม
วิธีนั่งสมาธิ
๑.นั่งขัดสมาธิ ตามแบบพระพุทธรูป เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางมือทั้งสองไว้บันตัก
๒.ตั้งกายให้ตรง อย่าให้ก้มนักเงยนัก อย่าให้เอียงซ้ายเอียงขวาจนผิดธรรมดาไม่กดหรือเก็งอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง อันเป็นการบังคับให้ลำบาก ปล่อยวางอวัยวะทุกส่วนไว้ตามปกติ
๓.ระลึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ ครั้ง อันเป็นองค์พระรัตนตรัย
๔.นึกคำบริกรรมภาวนาโดยกำหนดเอาเพียงบทเดียวติดต่อกันไป ด้วยความมีสติ
เช่น พุทโธ พุทโธ พุทโธ..เป็นต้น ให้นึก พุทโธ พุทโธ พุทโธ...สืบเนื่องกันไปด้วยความมีสติ และพยายามทำความรู้สึกตัวอยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ อย่าให้จิตเผลอตัวไปสู่อารมณ์อื่น ระหว่างจิต สติ กับ คำบริกรรม มีความกลมกลืนกันได้เพียงไร ยิ่งเป็นความหมุ่งหมายของการภาวนาเพียงนั้น ผลคือความสงบเย็นใจจะพึงเกิดขึ้น
การเดินจงกรม
๑.พึงกำหนดทางจงกรมที่ตนจะพึงเดินสั้นหรือยาวเพียงไร ความยาว ๒๕-๓๐ ก้าว เป็นความเหมาะสมทั่วไป พึงดูว่าเราจะเดินจากที่นี่ไปถึงที่นั้นหรือถึงที่โน้นสำเหรับทิศทางที่ท่านนิยมปฏิบัติ มี ๓ ทิศ คือ:-
-ตรงตามแนวตะวันออก ตะวันตก
-ตามแนวตะวันออกเฉียงใต้
-ตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือ
จากนั้นตกแต่งทางจงกรมให้เรียบร้อย ก่อนเดินจงกรม
๒.ผู้จะเดินกรุณาไปเดินที่ต้นทางจงกรม และพึงยกมือทั้งสองขึ้นประนมไว้เหนือระหว่างคิ้วระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และระลึกถึงคุณของบิดามารดา อุปัชฌาย์ อาจารย์ ตลอดจน
ผู้เคยมีพระคุณแก่ตน จบลงแล้วรำพึงถึงความมุ่งหมายแห่งความเพียรที่กำลังจะทำด้วยความตั้งใจเพื่อผลนั้นๆ เสร็จแล้วปล่อยมือลง เอามือขวาทับมือซ้ายทาบกันไว้ใต้สะดือ ตาม แบบพุทธรำพึง เจริญพรหมวิหาร ๔ จบแล้วทอดตาลงเบื้องต่ำ ท่าสำรวม
๓.ตั้งสติกำหนดจิตและธรรมที่เคยนำมาบริกรรมกำกับใจ พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. เป็นต้น
แล้วออกเดินทางจงกรมจากต้นทางถึงปลายทางจงกรมที่กำหนดไว้ เดินกลับไปกลับมาในท่าสำรวมมีสติอยู่กับบทธรรมหรือสิ่งที่พิจารณาโดยสม่ำเสมอ ไม่ส่งจิตไปอื่นจากงานที่กำลังทำอยู่ในเวลานั้น
๔.ขณะเดินจงกรม พึงกำหนดสติกับคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ....ให้กลมกลืนเป็นอันเดียวกันประคองความเพียรด้วยสติสัมปชัญญะ มีใจแน่วแน่ต่อธรรมที่บริกรรม ให้จิตรู้อยู่กับ พุทโธ ทุกระยะที่ก้าวเดินไปและถอยกลับมา
ในบทสุดท้ายนี้ข้าพเจ้าจะนำเอาการฝึกมโมยิทธิมาให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายนำเอาไปใช้ฝึกฝนอีกวิธีหนึ่งที่ต่างจากสมถและวิปัสสนากรรมฐาน บางทีอาจจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย คนเรามีหลักการปฏิบัติที่แตกต่างกันบางทีมันอาจจะถูกกับจริตของท่านก็ได้ใครจะไปรู้ เมื่อท่านฝึกฝนจนชำนาญแล้วท่านจะไปนรกสวรรค์ได้ตามปราถนา
วิธีฝึกมโนมิทธิ
๑. ดอกไม้ ๓ สี ๓ ดอก ธูป ๓ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๒ เล่ม บูชาพระพุทธเจ้า
๒. บริจาคเงิน ๑ บาท เป็นค่าบูชาครู
๓. สมาทานพระกรรมฐาน ก่อนทุกครั้ง คือ พุทธานุสติ ธรรมมานุสสติ สังฆานุสติ
๔. เมื่อเริ่มนั่งสมาธิ ทำจิตทรงตัวให้ดี เบื้องต้น ว่างจากกิเลสชั่วขณะ วันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง ได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ว่างจากฌาน ได้อานิสงค์ หากตายลงในตอนนั้นจะได้ไปเกิดที่เมืองสวรรค์
๕. ให้กำหนดรู้ลมหายใจ เข้า ออก จากอานาปานุสติกรรมฐาน
๖. ให้บริกรรมภาวนา (คือการท่องบนอยู่ในใจ) ว่า " นะ มะ พะ ทะ" ร่วมกับกำลังของกสิณ หากฝึกได้เชี่ยวชาญแล้ว ก็จะได้ อภิญญา ๕
-นะ หมายถึง ธาตุดิน ของกสิณดิน
-มะ หมายถึง ธาตุน้ำ ของกสิณน้ำ
-พะ หมายถึง ธาตุลม ของกสิณลม
-ทะ หมายถึง ธาตุไฟ ของกสิณไฟ
๗. ในขณะบริกรรมภาวนา ให้ติดตามลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ให้กำหนดพุทธนิมิตคือรูปร่างของพระพุทธเจ้าให้บังเกิดขึ้นในจิต ให้จิตป็นผู้รู้ จิตเป็นผู้เห็น ในพุทธานุส สติ
๘. ในขณะที่จิตทรงอารมณ์แห่งฌาน ที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ขององค์ฌานตามลำดับนั้น เบื้องต้น จะเกิดความคล่องตัว ในวิปัสสนาญาณ และ เมื่อตายไปในขณะนั้นก็จะไปเกิดในพรหมโลก ตั้งแต่ชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๑๒ ตามแต่กำลังใจในการเข้าฌานได้
๙. ตั้งกำลังใจในการพิจารณาพระอริยสัจจะ ข้อที่ ๑ คือ ทุกข์ ในเบื้องต้นอันได้แก่
๙.๑ ความเกิดก็เป็นทุกข์
๙.๒ ความป่วยไข้ไม่สบายก็เป็นทุกข์
๙.๓ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์
๙.๔ ความแก่ที่ย่างก้าวเข้ามาก็เป็นทุกข์
๙.๕ ความตายที่ย้างก้าวเข้ามาก็เป็นทุกข์ ธรรมมานุสสติกรรมฐาน ที่เนื่องด้วย วิปัสสนาญาณ ๙
๑๐. เมื่อตั้งจิตอธิษฐานว่า "ขึ้นชื่อว่าการเกิดไม่ว่าจะเป็น พรหมโลก เทวโลก มนุษยโลก อบายภูมิ4 เราไม่ต้องการที่จะไปเกิดอีก ภายหลังจากตายไปในชาตินี้ เราขอมุ่งตรงต่ออย่างเดียว คือพระนิพพาน ในขณะนั้นจิตจะว่างจากกิเลสชั่วขณะ เข้าสู่กระแสแห่งอริย บุคคลขั้นต้นคือ โสดาบัน ชั่วขณะ
๑๑. จะเกิดเป็นทิพย์จักขุญาณ หรือเป็นผลของอภิญญานั้นเอง ได้เพราะจิตว่างจากกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองร้อยใจ
๑๒.จะได้พบพระพุทธเจ้า เมื่อนำอทิสมานกายไปสู่โลกแห่งความเป็นทิพย์ เป็นอานิสงค์แห่งพุทธานุสสติ เมื่อได้พบพระอริยะสงฆ์ เมื่อนำอทิสมานกายไปสู่โลกแห่งความเป็นทิพย์ เป็นอานิสงค์แห่งสังฆานุสติ เมื่อได้พบ เทวดา หรือ พรหม เมื่อนำอทิสมานกายไปสู่โลกแห่งความเป็นทิพย์ เป็นอานิสงค์แห่งเทวตานุสติ
๑๓. เมื่อมีบารมีมาถึงลำดับที่ ๑๒ นี้แล้วความดีดั่งเดิม ที่เคยฝึกได้ อภิญญา ๕ จะรวมตัวกันจนเป็นผลในชาติปัจจุบัน เป็นอภิญญา เล็กๆน้อยๆ คือ ทิพยจักขุญาณและฤทธิ์ทางใจนั้นเอง ก็สามารถที่จะท่องเที่ยวไปใน อบายภูมิ ๔, มนุษยโลก , เทวะโลก, พรหมโลก, และพระนิพพาน ในที่สุด
๑๔.เมื่อมีฤทธิ์ทางใจแล้ว จะได้ความรู้ตามมาอีก ๘ อย่าง คือ ญาณ ๘ นั้นเอง ซึ่งท่านจะได้ศึกษาในลำดับต่อไป
๑๕. เมื่อรู้ความไม่เที่ยงใน ภพทั้ง 4 แล้ว และรู้ความเที่ยงในพระนิพพาน จิตก็จะเบื่อหน่ายในการเกิด ในภพทั้ง ๔ และตั้งกำลังใจไว้ที่พระนิพพาน เพียง สถานที่เดียว ด้วยเหตุทั้งหลายเหล่านี้เองขอให้ข้าพระพุทธเจ้า และหมู่คณะจงได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้เถิด
การตั้งกำลังใจในขณะฝึกฤทธิ์ทางใจ
การตั้งกำลังใจในขณะฝึก สำหรับท่านที่ฝึกใหม่ หรือ ท่านที่เคยฝึกแล้วแต่ยังไม่ได้ ฤทธิ์ทางใจ ควรที่จะเตรียมกำลังใจ ไว้ก่อนพอสมควร ดังนี้
๑.เป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นเบื้องต้น
๒.เป็นผู้ให้ทานตามสมควร
๓. เป็นผู้ที่รักษาศีลดีเป็นปรกติ
๔.มีจิตต์ตั้งมั่นในสมาธิ ตามแต่กำลังใจของตน ท่านหมายถึงจิตต์เป็นสุข เป็นเกณฑ์ หรือทรงฌาน ในระดับต่าง ได้แก่ ขณิกสมาธิ อุปจาระสมาธิ ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ หรือ อรูปฌาน ๑ อรูปฌาน ๒ อรูปฌาน ๓ อรูปฌาน ๔ ควรที่จะปฏิบัติสมาธิให้มีความต่อเนื่อง ในกรณีที่ต้องการฝึกฤทธิ์ทางใจ แบบครึ่งกำลังควรที่จะตั้งกำลังใจดังนี้
๔.๑. กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก ตามความเป็นจริง เช่น จังหวะในการหายใจเข้าสั้นหรือยาว ก็มีสติรู้และรักษาระดับจังหวะในการหายใจนั้น
๔.๒. กำหนดรู้ในคำภาวนา ให้ควบคู่กับลมหายใจเข้าว่า "นะ มะ " กำหนดรู้ในคำภาวนาให้ควบคู่กับลมหายใจออกว่า " พะ ทะ"
๔.๓. กำหนดรู้ในภาพนิมิตของพระพุทธเจ้าหรือพระอริยะสงฆ์ ในอิริยาบทต่างๆ หรือ ตามความพอใจ หรือ จินตนาการความจำ คือการจำได้หมายรู้ ในรูปนิมิต ในกรณีที่จำภาพนิมิตไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ต้องฝืนอารมณ์จิต หรือบังคับจิตต์ให้มีความรู้สึกว่าเห็น เพราะจะทำให้เกิดความหนักใจ
๔.๔. อิริยาบท ๔ ให้เลือกใช้อิริยาบทอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความพอใจ ในอิริยาบทนั้นๆ
๔.๕.ระยะเวลาในการปฏิบัติสมาธิ หมายเอาอารมณ์จิตที่เป็นสุข เป็นเกณฑ์ เช่น ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาที เป็นต้น
ลำดับขั้นตอนการฝึกฤทธิ์ทางใจ แบบครึ่งกำลังมีขั้นตอนดังนี้
๑.สมาทานพระกรรมฐานก่อน
๒.นั่งในท่าที่สบาย ๆ มือวางแบบสบาย ๆ คือไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิก็ได้ถ้านั่งลำบาก
๓.ก่อนภาวนาลมหายใจเข้า และ ลมหายใจออกให้สูดลมหายใจลึกๆ 3 ครั้ง
๔..ผ่อนคลายลมหายใจให้อยู่ในระดับปกติ แล้วนำ สติ-สัมปชัญญะ ไปรับรู้ ลมหายใจเข้าและออกอยู่ตลอดเวลา
๕.นำสติ-สัมปชัญญะไปรับรู้ คำภาวนาคือ "นะ มะ" เมื่อหายใจเข้า คือให้ท่องในใจว่า ''นะ มะ'' เวลาหายใจออกให้ว่า "พะ ทะ '' อันดับแรกถ้าท่องในใจไม่ได้ก็ให้ท่องเป็นคำออกเสียงก่อน ถ้าเกิดความชำนาญและจำได้แล้วให้หยุดท่องออกเสียงทันที มันจะทำให้เกิดความสับสน จนในที่สุดกว่าจะเข้าถึงฌานได้ จะต้องเสียเวลามาก
๖.ในระหว่างที่ภาวนาให้แยก สติ-สัมปชัญญะ ความรู้สึกออกไปส่วนหนึ่ง ไปทำการระลึกถึง พุทธานุสสติ โดยให้ ระลึกถึง พระพุทธรูปองค์ใดก็ได้ตามที่ท่านชอบมากที่สุด
บางทีตรงนี้อาจจะลำบากสักนิด เพราะบางท่านที่ ฌานยังไม่ทรงตัวอาจทำให้ รูปพระพุทธรูปไม่ชัดเจน ไม่เป็นไร ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นก่อน ไม่ต้องเพ่งจนทำให้ปวดหัวหรือปวดตา หรือบางท่านอาจจะไม่ชอบองค์ไหนเป็นพิเศษก็อาจจะทำให้ระลึกถึงยากหน่อย ตรงนี้ขอแนะนำให้ท่านลองใช้จินตนาการก่อนสักนิด ให้พยายามนึกให้เห็นรูปร่างของพระพุทธรูปก่อน แต่ยังไม่ต้องคิดถึงรายละเอียดขององค์พระท่านนะ รับรู้แค่นี้ก่อนก็พอ แล้วต่อไปมันจะเกิดความชัดเจนขึ้นมาเอง ถ้ารีบเพ่งอาจจะปวดหัวปวดตาก็ได้ เทียบการระลึกถึงพระพุทธรูปได้กับ ปฏิภาคนิมิต ( ในกสิณ ) จนเมื่อจิตทรงตัวระดับหนึ่งแล้ว ภาพพระพุทธรูปจะเริ่มชัดมากขึ้นขึ้นเรื่อยๆ จัดเป็นอุคนิมิต ( ในกสิณ ) และจะเริ่มทรงตัวใน ฌาน ระดับต่าง ๆ เริ่มจากฌานที่ ๑ ถึง ฌานที่ ๔ ตามลำดับ และให้ตัดอารมณ์ฟุ้งซ่านในะดับต้นๆ ออกให้หมดเสียก่อน
๗.ภาวนาใช้เวลาพอสมควร ท่านผู้เป็นต้นตำรับท่านบอกว่า กะแค่พอจิต เป็นสุขทรงอยู่ใน เอกคตารมณ์ เท่านั้น อาจแค่ ๑-๑๐ วินาที สำหรับผู้คล่องตัวในการทรงฌานในระดับต่าง ๆ ๑ ๒ ๓ ๔ เป็นอย่างสูง สำหรับผู้ที่ไม่คล่องใน การทรงฌานในระดับต่างๆ คือ ๑ ๒ ๓ ๔ อาจจะใช้เวลา ๑๐ - ๓๐ นาทื ก็ได้
๘.เมื่อสมาธิทรงตัวให้มีความสุขอยู่ในฌานนั้น ๆ ได้แล้วในระยะเวลาที่บอกไปในข้อ ๗ แล้วให้ลดอารมณ์จิตลงมาที่อุปจารสมาธิ เพื่อมาวิเคราะห์วิปัสนาญาณที่ว่า '' ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพรัดพรากจากของที่รักที่ชอบก็เป็นทุกข์ '' โดยให้พิจารณาด้วยความนอบน้อมในธรรมนั้นจริง ๆ จะมีผลกับความเป็นทิพย์ โดยจะมีอยู่ ๓ ระดับคือ:-
๘.๑ นอบน้อมในระดับต้น ๆ = ภาพนิมิตในใจจะเหมือนจิตเราตอบจิตของเราเอง
๘.๒ นอบน้อมในระดับกลาง ๆ = ภาพนิมิตในใจจะเหมือนการดูภาพสลัว ๆ จากหนังตะลุง
๘.๓.นอบน้อมในระดับเต็มที่ = ภาพนิมิตในใจจะเหมือนการดูภาพปกติตอนกลางวัน เปรียบเทียบได้กับแสงหิ่งห้อย
๙.จากนั้นนอบน้อมจิต อธิษฐานตัดอวิชชาในขอบเขตที่ว่า '' ขึ้นชื่อว่า พรหมโลก เทวะโลก มนุษย์โลก และอบายภูมิ 4 เราไม่ต้องการอีก เราต้องการอย่างเดียวว่าเมื่อสังขารสลายจากโลกนี้ไปแล้ว ขอตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน ตรงนี้ขอให้ตัดสินใจ อย่าได้ลังเลใจ ถ้าลังเลแล้วจะส่งผลให้เกิดเป็นผลให้ภาพนิมิตในขั้นตอนการฝึกต่อไปจะมีความมัวมากขึ้น ถือว่ายังมี สักกายทิฏฐิ อยู่
๑๐. ข้อนี้ขอแนะนำเสริมเทคนิคจากประสพการณ์ของข้าพเจ้า จากข้อที่ ๙ ให้นอบ น้อมใจเหมือนว่าเราได้ พนมมือไหว้พระเสมือนเราท่านได้อธิษฐานจิต ต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ในระหว่างนี้อารมณ์จิตจะฟู ละจากกิเลสชั่วขณะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เกิดปิติธรรม เนื่องจากปีติแห่งธรรมสูงมาก จิตจะมีอาการเบาสบาย จิตจะชุ่มชื่นในธรรมมาก แล้วขอให้ระลึกด้วยกำลังใจของเราว่าได้นอบน้อม อทิสมานกายของเรานั้น ว่าได้กราบเฉพาะเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เป็นจำนวน ๓ ครั้งด้วยกัน วาระแรกกราบพระพุทธเจ้า วาระที่สองกราบพระธรรม และ วาระที่สามกราบพระสงฆ์
๑๑. เมื่อนอบน้อมกราบแล้ว จิตก็จะมีความชุ่มชื่นเพราะปีติแห่งธรรมก็ยังคงมีอยู่ อาจจะมากกว่าข้อ ๑๐ ก็ได้ สำหรับบางท่าน ให้ค่อย ๆ กำหนดเสมือนว่า อทิสมานกายของเราเงยหน้าขึ้น หากจิตที่ได้ทรงฌาน มาดีแล้วได้พอสมควรก็จะมีความรู้สึกคล้ายกับว่าตาเห็น พระพุทธเจ้า ( กายเนื้อ , กายพระพุทธรูป หรือ จะเป็นกายพระพุทธรูปแบบปูนปั้น เป็นต้น) หรือ พระอริยะเจ้าที่นับถือ หรือ พรหม หรือ เทวดา ที่ท่านนับถือ ปรากฏอยู่ตรงหน้าท่าน ตรงนี้เรียกได้ว่าเริ่มจะเห็นกระแสแห่ง โคตระภูญาณ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง โลกียธรรม กับ โลกุตระธรรมแล้ว เพราะ มีกำลังจิตและวิปัสนาญาณ พอสมควร ท่านจึงจะสามารถเห็นองค์พระพุทธเจ้าได้ ( เป็นผลจากข้อ ๙ ที่บอกนั่นแหละ ว่าถ้าจิตไม่นอบน้อมตัดอวิชชา ด้วยความจริงใจแล้ว ผลที่ได้ในขั้นนี้จะมีความมัวมาก )ซึ่งขั้นตอนนี้ ที่เรียกว่า '' ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ''' หากเป็นในสมัยพุทธกาล ก็จะมีปรากฏบ่อยๆ ดังกรณีพระวักกลิ
เพราะ ท่านติดในพระรูปพระโฉมของพระพุทธเจ้าเลยทำให้ท่านไม่สามารถ ตัดกิเลสให้เป็นพระอรหันต์ได้ พระพุทธองค์ทรงทราบดี จึงทรงแกล้งทำเป็นตรัสไล่พระวักกลิออกไปเสีย ท่านพระวักกลิน้อยใจ เลยจะไปโดดหน้าผาตาย ระหว่างที่จะโดดนั้นจิตของท่านมีความน้อยใจที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไล่เลยเบื่อหน่ายในสภาพของคน ตอนนั้นพระพุทธ องค์ ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีแล้วเป็นพระพุทธนิมิตไปปรากฏเฉพาะหน้าพระวักกลิ เสร็จแล้วทรงแสดงธรรมให้พระวักกลิเห็นถึงความไม่เที่ยง ของโลกนี้ ซึ่งรวมไปถึงพระรูปพระโฉมของพระพุทธเจ้าด้วย หลังจากได้ฟังธรรมแล้วพระวักกลิก็สำเร็จอรหัตผลในที่หน้าผา แห่งนั้นๆ แหละ นี่คือตัวอย่างของการที่บอกว่า ''' ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ''' ในสมัยพุทธกาล
๑๒. เมื่อเห็นพระตถาคตแล้วในขั้นตอนนี้ควรตัดความฟุ้งซ่าน (อย่างกลาง ๆ เช่นว่า เอ.นี่นิมิตหลอกเราหรือเปล่า เป็นต้น) ออกเสียให้หมด เพราะในขณะที่กำลังใจของท่านในขณะนั้น จะมีคุณธรรมของ ทาน,ศีล,ภาวนา ซึ่งส่งผลให้เกิด ปัญญา ได้ครบ
ถ้วนอยู่แล้วบริบูรณ์ ท่านย่อมเห็นพระพุทธเจ้าไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ให้ตัดสัญญาความจำของลักษณะทางกายของพระองค์ท่านออกเสีย ให้คิดแบบคนฉลาดน้อย ๆ ว่า "กายของพระองค์ท่านจะเป็นแบบใดก็ไม่สนใจ เราถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน"
๑๓. เมื่อหมดความสงสัยแล้ว ก็กราบพระพุทธองค์ขอให้ได้ทรงโปรด นำอทิสมานกายของเราไปยังพระจุฬามณีย์เจดีย์สถานในเขตของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
โดยอาจ แบ่งได้เป็น 3 เทคนิค ในการแก้ปัญหาที่บางท่านพบเจอคือ มักจะบอกกันว่าจิตไม่เคลื่อนออกจากกายเนื้อให้แก้ไขดังนี้
๑๓.๑ ยึดมั่นในกายเนื้อนี้มากไป เลยทำให้สงสัยว่ากายทิพย์ จะออกไปได้อย่างไร ( ให้แก้ไขโดยการพิจารณาทบทวนข้อ ๙ ) อีกครั้งหรือจนกว่าจะหายยึดมั่น
๑๓.๒ ยึดมั่นถือมั่นในโลกธาตุ เกี่ยวกับพระรูปพระโฉมของพระพุทธองค์ว่า ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมไม่เป็นแบบนั้นเป็นต้น วิธีแก้ไขคือให้ใช้ กฎของพระไตรลักษณ์ เข้ามาพิจารณาร่วมว่า ในขอบเขตที่ว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้แน่นอนตลอดไป แม้แต่พระรูปพระโฉมของพระพุทธองค์ก็ตาม'
๑๓.๓ ให้อธิฐานเพิ่มเติมว่า กุศลใดที่เคยบำเพ็ญมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าหากอธิฐานไม่ตรงพระนิพพาน ข้าพระพุทธเจ้าขอเปลี่ยนอธิฐาน เพื่อขอพระนิพพาน ในชาตินี้
๑๓.๔ ให้อธิฐาน ขอขมาลาโทษต่อพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ''' ขั้นตอนนี้จะสังเกตุว่าบางท่าน อาจจะมี พระพุทธนิมิตไม่ครบสมบูรณ์ทั้งองค์ เช่น อาจจะ เศียรขาดบ้าง ขาขาดบ้าง แขนขาดบ้าง ทองถูกลอกไปบ้าง เป็นต้น ''' ถ้าเกิดมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ต้องอธิฐานขอชำระหนี้สงฆ์ด้วยนะ ( ให้ดูบทขอขมา )
๑๓.๕ ให้ใช้พระพุทธนิมิตนั้นแหละมาเป็น กสิณ โดยที่เราควรจะขอบารมี ท่านให้ทำภาพนิมิตขึ้นมา (โดยปกติของการฝึก กสิณ นั้นเราท่านต้อง กำหนดรู้ภาพนิมิตเองโดยที่ต้องใช้อำนาจจิตของตนเองบังคับองค์กสิณให้ได้ตามใจปรารถนา) เช่น ขอพระบารมีของพระองค์ท่านได้โปรดสงเคราะห์ โปรดขยายพระวรกายของพระองค์ท่านให้ใหญ่ขึ้น....หรือเล็กลงก็ได้ เสร็จแล้วเมื่อท่านสงเคราะห์ตาม ที่เราขอท่านแล้ว เราก็กราบท่าน หรือจะขอให้พระองค์ท่านสงเคราะห์ให้พระองค์ ขยับพระวรกาย ให้ไกลออกไปหรือร่นใกล้เข้ามา.......เมื่อพระองค์ทรงสงเคราะห์เราแล้วเราก็กราบท่านด้วยนะ จนเมื่อจิต
ได้ที่แล้วพอใจแล้ว จิตจะมีความคล่องตัวสูงมาก (ต้องอย่าห่วงร่างกายนะ) และขอ พระบารมีของพระองค์ท่านให้โปรดนำเราไปยัง พระจุฬามณีเจดีย์สถาน เราก็รวบรวมจิตที่คล่องแล้ว พุ่งอทิสมานกายตามพระองค์ท่านไปเลย แต่เราท่านไม่ควรไปตามลำพัง ควรจะเกาะชายจีวรของพระองค์ท่าน หรือ เกาะแท่นที่ประทับของท่านไปก็ได้ ระหว่างนี้ถ้ามีความฟุ้งซ่านต้องรีบทำการตัดออกไปทันที
๑๔. ในกรณีที่อทิสมานกายเหาะไปได้ช้ามากเกินไป ให้อธิฐานด้วยความนอบน้อมแด่พระพุทธนิมิตว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอเพิ่มความเร็วเป็น ๑ เท่า ๒ เท่า ไปจนถึง ๑๐ เท่าตามแต่ใจของแต่ละคนต้องการ พออธิฐานเสร็จให้ภาวนา นะมะ พะทะ จนกว่าจะถึง
๑๕. เมื่อถึงพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีแล้ว อารมณ์จิตจะรู้สึกว่าหยุด
๑๕.๑ บางท่านจะเห็น พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีแจ่มชัด หรือ อาจเห็น พรหมหรือเทวดา หรือวิมานของเทวดา ได้ทันที
๑๕.๒ หากขึ้นถึงพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีแล้วเกิดความมืดเข้ามาแทนที่ ก็ต้องพิจารณาตาม ข้อ ( ๙) ใหม่อีกครั้ง ทันที สภาวะธรรมของท่านที่จะเห็นก็จะสว่างขึ้นและสามารถรู้เรื่องต่าง ๆ ของสวรรค์ได้ และควร ขอพระบารมีเพื่อลองรับสัมผัสว่า อารมณ์จิตของการที่เป็นเทวดา อยู่ในสวรรค์นั้นมีความสุขเช่นใด และลองเทียบกับความสุขของมนุษย์ดู
๑๕.๓ จากนั้นให้พิจารณาดูข้อ ๙ อีกครั้ง จึงตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปพระนิพพาน คราวนี้ท่านทั้งหลายก็จะได้รู้กันเสียทีว่า พระนิพพานนั้นสูญหรือไม่สูญ ตามที่พระพุทธเจ้า พระองค์ไม่เคยตรัสว่า นิพพานไม่สูญ จะสูญไปก็แต่กิเลสเท่านั้น เสร็จแล้ว ขอพระบารมีเพื่อไปชมวิมานของเราที่พระนิพพาน หรือจะขอพระบารมีเพื่อไปที่ไหนก็ได้ตามใจเรา ปราถนา
๑๗. เมื่อฝึกได้แล้วควรรักษาอารมณ์ไว้ให้ดีเพื่อจะได้นำไป ตัดกิเลสตามลำดับต่อไป และก็เตรียมเรียนการท่องเที่ยวในไตรภูมิ และ ญาณ ๘ ต่อได้เลย
จบขั้นตอนเบื้องต้นการฝึก ฤทธิ์ทางใจ แบบครึ่งกำลัง
ขั้นตอนเบื้องต้นการฝึกฤทธิ์ทางใจเต็มกำลัง
๑.นำผ้าแดง หรือกระดาษแข็ง ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม กะขนาดให้สามารถนำมาปูปิดหน้าได้
๒.เขียนคาถาบนหน้ากากว่า " นะ โม พุท ธา ยะ " หรือจะเป็นภาษาขอมก็ได้ถ้าเขียนเป็น
๓.สมาทานพระกรรมฐาน ( ดูบทสุดท้าบขัางบน )
๔.เสร็จแล้วให้ตั้งกำลังใจว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ถ้าจะต้องตายเพราะการฝึกนี้ก็ขอยอมตายเป็นอะไรให้รู้ไป ตาย
เพื่อความดีแบบนี้เรายอมตายได้
๕..ให้ผ้าแดงปิดตา เขียน ยันต์พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
๖.ใช้คาถากำกับในการท่องภาวนาว่า " นะ โม พุท ธา ยะ "หรือ สัมมาอรหันต์ หรือ สัมปจิตฉามิ หรือ นะมะพะทะ หรือ โสตัตตะภิญญา อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่องคาถาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ว่าคาถานั้นก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจด้วยเช่น กัน ไม่ต้องท่องออกมาก็ได้เหมือนกับที่อธิบายไปแล้วในการฝึกมโนมยิทธิครึ่งกำลัง เมื่อจิตทรงตัวในเขต ของ อุปจารสมาธิ จะมีอาการของปิติ ๕ อย่างเกิดขึ้นเหมือนพระกรรมฐานกองอื่นๆ ได้แก่
๖.๑ ขนลุกชูชัน
๖.๒ ตัวไหวโยกโครง
๖.๓ น้ำตาไหลริน
๖.๔ เหมือนกายขยายไปรอบข้าง
๖.๕ เหมือนกายขยายสูงขึ้น หากมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้น ผู้ฝึกไม่ต้องตกใจหรือกังวลใดๆ เพราะเมื่อชินแล้วจะหายไปเอง
๗.พอภาวนาไประยะหนึ่งจิตจะเริ่มทรงตัวขึ้นเรื่อย ๆ ลมหายใจจะค่อย ๆ ละเอียดขึ้นและแผ่วเบาลง ซึ่งจะมีลักษณะไม่สอดคล้องกับคำภาวนา ก็ไม่ต้องสนใจ ภาวนาไปอย่างเดียว เต็มกำลังกับครึ่งกำลัง
โดยที่คำภาวนาในตอนนี้จะมีลักษณะที่ถี่ขึ้น และอาจมีอาการปีติอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมากขึ้น หรือ คำภาวนาอาจหายไปเลยก็ได้ ถ้าเป็นดังนี้ก็อยู่ในฌานที่ ๓
๘.พอถึงลำดับ ฌานที่ ๔ ทรงตัวพอสมควร กำลังฌานก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น จาก อุปจารสมาธิแล้วเพิ่มขึ้นไปเป็น ฌาน ๑ - ๒ - ๓ - ๔ หรือ จาก ฌาน ๔ - ๓ - ๒ - ๑ อุปจารสมาธิ จะเป็นแบบนี้สลับไปมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วงนี้เองสภาวะความเป็นทิพย์จะเกิดขึ้น ทำให้ท่านจะเห็นเป็น อาโลกสิณ เช่น ช่องแสง, แสงพุ่งเข้ามาหา, ประตู ,โพรงถ้ำ , พระพุทธเจ้าเสด็จมารับบ้าง ,หรืออาจเป็นพระอริยเจ้ามารับบ้าง เป็นต้น
๙. เมื่อเห็นแล้วให้รวบรวม กำลังใจน้อมนำจิตพุ่งตามแสง ( พุทธรังสี หรือท่านอื่น ๆ ) ที่มารับนั้นไป บางครั้งจะเหมือนมีพลังมหาศาลมาดูดกายในของเราออกไปถ้ามีลักษณะดูดเช่นนี้ ก็ให้พุ่งกำลังใจออกตามไปเลยเช่นกัน
๑๐.เมื่ออทิสมานกายหลุดออกไปจากกายเนื้อจริง ๆ (ผลของการที่จะหลุดได้ต้องเข้าถึง ฌาน ๔ แต่สภาวะที่เหมาะสมที่จะให้กายทิพย์ออกไปได้คือ อุปจารสมาธิ ) ร่างกายของคุณตอนนี้อาจจะทรงตัวไม่อยู่ อาจจะต้องนอนราบไปเลยก็ได้ ในช่วงนี้จะ
มีความรู้สึกทางกายเพียง ๒-๑๐%เท่านั้นที่คอยจะควบคุมร่างกายไว้ หรืออทิสมานกายหลุดออก ๘๐%ขึ้นไป
๑๑.ขอใหัสังเกตุว่า การฝึกเต็มกำลังในเบื้องต้น พระ เทวดา หรือพรหม จะพาท่านไปเที่ยว โดยที่ท่านที่พาเราไปนั้นท่านอาจพาไปได้ ๒ ที่คือ:-
๑๑.๑ ถ้าเป็นสุคติภูมิ แสงหรือลำแสง ที่ส่องเข้ามาหาผู้ฝึกนั้นจะส่องตั้งแต่ระดับสายตาขึ้นไป
๑๑.๒ ถ้าในโลกมนุษย์ แสงหรือลำแสง ที่ส่องเข้ามาหา ผู้ฝึกจะส่องตั้งแต่ระดับสายตา
๑๑.๓.ถ้าเป็นทุคติภูมิ แสงหรือลำแสง ที่ส่องเข้ามาหาผู้ฝึกนั้นจะส่องตั้งแต่ระดับสายตาลงมา
๑๒. เมื่อฝึกจนคล่องแล้ว ญาณ ๘ ก็จะตามมาเอง
๑๓. นำกำลัง ฌาน ต่าง ๆ ที่ฝึกได้แล้ว มาตัดกิเลส ( สังโยชน์) อีกที
๑๔. และอธิฐานให้จิตมีความรักในพระนิพพาน
มีข้อสังเกต ๒ ประการณ์
๑. ขณะที่กำลังถอดอทิสมานกายแบบเต็มกำลังนั้นทีสุดของการไปเราจะไม่มีความสามารถ ที่จะมีสติควบคุมสังขารเราไว้ได้ เล็กน้อย( ส่วนใหญ่ของผู้ฝึกได้ใหม่ๆ ) มักต้องล้มลงนอน ครึ่งหลับครึ่งตื่น ถ้ามีความชำนานแล้วจะอยู่ได้ในอิริยาบททั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ในระยะต้นๆที่คุณเป็นอยู่ ควรหลับตา ถ้าลืมตาจะไปได้เพียง มโนฯครึ่งกำลังเท่านั้น
๒. การพุ่งออกของอทิสมานกาย แบบเต็มกำลังในระยะต้นๆ จะไปตามที่พระองค์ท่านไปเลย
จงคลิกลิ้งค์ข้างล่างนี้ขึ้นมาศึกษาประกอบ
http://www.larnbuddhism.com/grammathan/mano/
อาทิสมานกาย
อาทิสมานกาย หมายถึง กายละเอียดหรือกายทิพย์ที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน เมื่อเราตายแล้วเกิดอีกกี่ชาติกี่ชาติอาทิสมานกายนี้ก็ยังติดอยู่กับตัวเรา แต่มนุษย์ทุกคนจะเห็นอาทิสมานกายนี้ไม่ได้ เพราะจิตหยาบ จึงเป็นเหมือนกับสิ่งลี้ลับสำหรับผู้ไม่รู้เรื่องนี้ จิตที่ละเอียดโดยการฝึกสมาธิจนได้ระดับหนึ่งก็พอจะคลุกคลีกับอาทิสมานกายได้ อาทิสมานกายเริ่มด้วยขนิกะสมาธิคือเริ่มตั้งแต่จับคำบริกรรมได้ อารมณ์ที่ถูกสมาธิขจัดไปเรื่อยๆจนจิตละเอียดลงเป็นสมาธิจนกายหยาบแยกออกจากกายละเอียดจึงพบอาทิสมานกาย สำหรับคนที่ฝึกสมาธิจะพบกับอาทิสมานกายได้เมื่อฝึกถึงขั้นที่ ๔ คือจตุตถฌาน ณ จุดพลังอำนาจ เมื่อฝึกจนถึงจุดนี้ขอเรียกง่ายๆว่าจุดพลังอำนาจ คือทางซ้ายจะเข้าสู่ฌานทางขวาเข้าสู่วิปัสสนา แล้วแต่ใครจะไปทางไหน บางคนอยากไปทางซ้ายก็เข้าฌานไปทาง รักษาโรค ระลึกชาติ รู้กาลข้างหน้าฯลฯ บางคนอยากไปทางขวาก็เข้าสู่วิปัสสนาญาณ ดู อนิจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เอาอะไรอีกแล้วเข้าสู่นิพพานไปเลย
บทส่งท้าย
สาเหตุที่ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องราวของพระศรีอริเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ในครั้งนี้ด้วยจุดประสงค์อยากจะให้ผู้อ่านทั้งหลายนำเอาเรื่องราวที่ข้าพเจ้าได้เขียนมานี้ไปเปรียบเทียบพิจารณาเมื่อท่านทั้งหลายไปเจอกับคนที่แอบอ้างว่าเป็นพระศรีอาริย์มาเกิดว่ามันเป็นจริงตามนี้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงตามนี้ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อเดี๋ยวจะถูกหลอกจะเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาเสียทั้งความรู้สึกที่ดีต่อพระศรีอาริย์ไป ข้าพเจ้าจะยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้ดู ข้อให้ผู้อ่านทั้งหลายนำเอาข้อมูลนี้ไปตรวจสอบคนที่แอบอ้างเป็นพระศรีอาริย์
-ถ้าคนแอบอ้างนั้นเป็นผู้หญิง แต่แอบอ้างว่าเป็นพระศรีอาริย์มาเกิด นี้คือการโกหกแบบหน้าด้านๆชนิดไม่มีความรู้ในการแอบอ้างมาก่อนเลย แค่เอ่ยปากออกมาก็รู้แล้วว่าโกหกผู้หญิงจะเป็นพระศรีอาริย์ได้อ่างไร พระศรีอาริย์เป็นผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง
-ถ้าคนแอบอ้างนั้นเป็นเด็กเราต้องดูว่าเด็กคนนั้นมีลักษณะของมหาบุรุษหรือเปล่า เช่นดูที่ฝ่าเท้า ในฝ่าเท้าของเด็กคนนั้นมีรูปมงคล ๑๐๘ ที่ฝ่าเท้าหรือไม่
ภาพมงคล ๑๐๘ ในพระบาทของพระพุทธเจ้า
ภาพมงคล ๑๐๘ ในพระบาทของมหาบุษที่จะเป็นพระพุทธเจ้านั้น มีดังนี้
๑.ภาพพระแสงหอก ๒.แว่นส่องพระพักตร์ ๓.ดอกพุดซ้อน ๔.สายสร้อย ๕.ต่างหู ๖.ถ้วยภาชนะ ๗.พระแท่นที่ประทับ ๘.ปราสาท ๙.ขอช้าง ๑๐.ซุ้มประตู
๑๑.เศวตฉัตร ๑๒.พระขรรค์แก้ว ๑๓.กำหางนกยูง ๑๔.พระมงกุฎ ๑๕.พัดวาลวีชนี ๑๖.พวงดอกมะลิ ๑๗.เถาวัลย์
แก้ว ๑๘.ดอกบัวแดง ๑๙.ดอกบัวขาว ๒๐.ดอกบัวหลวงชมพู ๒๑.ดอกบัวหลวงขาว ๒๒.กระออมมีน้ำเต็ม ๒๓.ถาดมีน้ำเต็ม ๒๔.มหาสมุทรทั้งสี่ ๒๕.จักรวาล ๒๖.ป่าหิมพานต์ ๒๗.ภูเขาสิเนรุ ๒๘.ดวงอาทิตย์ ๒๙.ดวงจันทร์ ๓๐.ดวงดาว
๓๑.ทวีปใหญ่ ๔ ทวีป ๓๒.ทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร ๓๓.พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ๓๔.สังข์ขาวทักษิณาวัฏ ๓๕.ปลาทองคู่ ๓๖.กงจักรคู่ ๓๗.แม่น้ำใหญ่ ๗ สาย ๓๘.สระใหญ่ ๗ สระ ๓๙.ภูเขาใหญ่ ๗ เทือก ๔๐.พญาครุฑ
๔๑.พญาจระเข้ ๔๒.ธงชัยธงแผ่นผ้า ๔๓.พระเก้าอี้แก้ว ๔๔.พัดโบกทอง ๔๕.ภูเขาไกรลาส ๔๖.พญาราชสีห์ ๔๗.พญาเสือโคร่ง ๔๘.พญาเสือเหลือง ๔๙.พญาม้าพลาหก ๕๐.พญาช้างอุโบสถ
๕๑.พญาช้างฉัททันต์ ๕๒.พญานาควาสุกรี ๕๓.พญาหงส์ ๕๔.พญาไก่เถื่อน ๕๕.พญาโคอุสภราช ๕๖.พญาช้างเอราวัณ ๕๗.มังกรทอง ๕๘.แมลงภู่ทอง ๕๙.ท้าวมหาพรหมสี่พักตร์ ๖๐.เรือทอง
๖๑.บัลลังก์แก้ว ๖๒.พัดใบตาล ๖๓.เต่าทอง ๖๔.แม่โคลูกอ่อน ๖๕.กินนร ๖๖.กินนรี ๖๗.นกการเวก ๖๘.พญานกยูง ๖๙.พญานกกระเรียน ๗๐.พญานกจากพราก
๗๑.พญานกพริก ๗๒-๗๘ ภาพเทวโลกชั้นกามาวจร 6 ชั้น คือ ปรนิมมิตวสวัตตี นิมมานรดี ดุสิต ยามา ดาวดึงส์ จาตุมหาราชิกา
๗๙-๑๐๔ ภาพพรหมโลก ๑๖ ชั้น ประกอบด้วย อกนิฏฐา สุทัสสี สุทัสสา อตัปปา อวิหา เวหัปผลา อสัญญีสัตตพรหม สุภกิณหา อัปปมาณสุภา ปริตตสุภา อาภัสสรา อัปปมาณาภา ปริตตาภา มหาพรหมา พรหมปุโรหิตา พรหมปาริสัชชา
ทวีปทั้ง ๔ คือ ๑.ชมพูทวีป ๒.อมรโคยานทวีป ๓.อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป เมื่อรวมกับทวีปทั้ง ๔ ทวีป เป็นภาพมงคล ๑๐๘ ภาพพอดี
ลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
มหาบุรุษเป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ลักษณะของมหาบุรุษมี ๓๒ ประการ คือ:-
๑.มีพระบาทราบเรียบเสมอกัน
๒.ลายพื้นพระบาทเป็นลายจักร (ให้ไปดูที่วัดที่มีรอยพระบาทให้สักการะบูชา)
๓.มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป
๔.มีนิ้วมือและนิ้วเท้ายาวเรียว
๕.ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
๖.ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย
๗.มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชนธรรมดา
๘.พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
๙.เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองจะสามารถลูบจับเข่าได้
๑๐.มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก คือมีอวัยวะเพศซ่อนอยู่ในฝักเมื่อมีความต้องการทางเพศจึงจะโผล่ออกมาให้เห็น
๑๑.มีฉวีวรรณดุจสีทอง คือมีผิวพรรณวรรณะเหลืองอร่ามประดุจดังทอง
๑๒.พระฉวีละเอียด คิอมีผิวพรรณละเอียด
๑๓.มีขนขุมละเส้น
๑๔.เส้นพระโลมาดำสนิทเวียนเป็นทักขิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน (ทักขิณาวัฏ = วนเลี้ยวทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา)
๑๕.มีพระกายตั้งตรงประดุจกายของท้าวมหาพรหม
๑๖.มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ และหลังพระบาททั้ง ๒ , พระอังสาทั้ง ๒, กับลำพระศอ) (พระมังสะ = เนื้อ , ชิ้นเนื้อ พระอังสา = บ่า,ไหล่ พระศอ = คอ)
๑๗.มีส่วนพระสรีระกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์
๑๘.พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน (พระปฤษฎางค์ = ส่วนหลัง,ข้างหลัง)
๑๙.ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร(พระกายสูงเท่ากับว่าของพระองค์)(วา = เท่ากับ ๔ ศอก ประมาณ 2 เมตร)
๒๐.มีลำพระศอกกลมงามเสมอกันตลอด
๒๑.มีเส้นประสาทสำหรับรสพระกระยาหารเป็นอันดี
๒๒.มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)(พระหนุ = คาง)
๒๓.มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่) (พระทนต์ = ฟัน)
๒๔.มีพระทนต์เรียบเสมอกัน
๒๕.มีพระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง
๒๖.เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธ์
๒๗.พระชิวหาอ่อนและยาว เมื่อแลบออกมาสามารถปกหน้าผากได้(พระชิวหา = ลิ้น พระนลาฎ = หน้าผาก)
๒๘.พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงไพเราะดุจนกการเวก
๒๙.พระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอดใหม่ๆ
๓๐.ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
๓๑.มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวาเป็นทักขิณาวัฏ (อุณาโลม = ขนระหว่างคิ้ว)
๓๒.มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ (พระเศียร = ศีรษะ)
ข้าพเจ้าได้นำเอาภาพมงตล ๑๐๘ ที่ฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า และลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการที่เป็นลักษณะของพระพุทธเจ้ามาเป็นตัวชี้ขาดว่าคนที่แอบอ้างเป็นพระศรีอริยเมตตรัยนั้นมีภาพมงคล ๑๐๘ ที่ฝ่าเท้าหรือไม่ ถ้าไม่มีหรือมีไม่ครบก็ไม่ใช่พระศรีอาริย์ และอีกข้อหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้คือลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะต้องมีจะขาดเสียข้อใดข้อหนึ่งมิได้โดยเด็ดขาด ภาพมงคล ๑๐๘ และลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการเหล่านี้ใช้เป็นตัวชี้ขาดในการดูคนที่แอบอ้างเป็นพระศรีอาริย์ว่าใช่หรือไม่ใช่ได้ดีที่สุด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นชายหรือหญิง เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นพระหรือฆารวาส ใช้หลักฐานเหล่านี้ตรวจสอบดูได้เลย
ข้อมูลข้างล่างนี้ก็ใช้เป็นข้อตรวจสอบได้ดีที่สุด
รูปร่างของพระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์
-รูปร่างสูงได้ ๘๘ ศอก
-วัดจากเท้าถึงสะดือ ๔๔ ศอก
-วัดจากสะดือถึงศีรษะ ๔๔ ศอก รวมเป็น ๘๘ ศอก
-มีอายุยืนได้ ๘๐๐๐๐ ปี
-จะเสด็จอุบัติขึ้น ณ ที่เมืองเกตุมดี ในมัชฌิมประเทศ
-บิดาชื่อว่า "สุพรหมพราหมณ์"
-มารดาชื่อว่า "พรหมวดีพราหมณี"
-มเหสีชื่อว่า "จันทมุกขี"
-โอรสชื่อว่า "พรหมวดีกุมาร"
-พระสาวกเบื้องขวาชื่อว่า "อโสกะเถระ"
-พระสาวกเบื้องซ้ายชื่อว่า "สุพรหมเถระ"
-พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า "พระสีหเถระ"
-พระสาวิกาเบื้องขวาชื่อว่า "ปทุมมา"
-พระสาวิกาเบื้องซ้ายชื่อว่า "สุมนา"
-อุบาสกที่เป็นพุทธอุปัฏฐากมี ๒ คน คือ:-
๑.สังฆคหบดี
๒.สุทัตตคหบดี
-อุบาสิกาที่เป็นพุทธอุปัฏฐากมี ๒ คน คือ:-
๑.นางสวดี
๒.นางสังฆะ
ถ้ามีชื่อตัว ชื่อพ่อแม่ ชื่อลูกเมีย, และชื่อประเทศที่เกิดต่างจากนี้ไม่ใช่แน่นอนรีบถอนตัวเสียเถอะ อย่าให้เขาหลอกอีกต่อไปเลย
ขอเตือนอีกอย่างหนึ่งในยุคปัจจุบันนี้ คนมีอายุขัยแค่ ๗๕ ปี มันเป็นยุคปลายของศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "โคตมะ หรือ โคดม" พระศรีอริยเมตตรัยมหาโพธิสัตว์พระองค์ตรัสบอกพระมาลัยเถระว่า "พระองค์จะลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในตอนที่มนุษย์ทั้งหลายมีอายุได้ ๘๐๐๐๐ ปี (แปดหมื่นปี) มากกว่านี้ก็ไม่ใช่น้อยกว่านี้ก็ไม่ใช่ โปรดจำเอาไว้ให้ดี อย่าไปเชื่อคำหลอกลวงปลิ้นปล้อนของคนแอบอ้างเอาพระพุทธ เจ้าหากิน
สมถกรรมฐานมี ๔๐ วิธี
การที่จะเรียนปฏิบัติกรรมฐาน ๔๐ วิธี ผู้ปฏิบัติ หรืออาจารย์ผู้สอนศิษย์ควรจะรู้อารมณ์อุปนิสัยของตนเอง หรือลูกศิษย์เสียก่อน ถ้าไม่แน่ใจว่ามีจริตอะไรมากกว่าจริตอื่นๆ ใน ๖ จริต ก็ให้เรียนพระกรรมฐาน แบบกลางๆ เหมาะกับอุปนิสัยจริตทุกอย่าง เรื่องกรรมฐานกับจริตมีความสำคัญมาก ถ้าไปปฏิบัติไม่ถูกจริตก็จะไม่ก้าวหน้าทางธรรม ทำให้ถึงจุดหมายปลายทางพระนิพพานช้า
มาก คือ ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
กรรมฐาน ๔๐ แบ่งเป็น ๗ หมวด คือ:-
๑.กสิณ ๑๐
๒.อสุภ ๑๐
๓.อนุสสติ ๑๐
๔.พรหมวิหาร ๔
๕.อรูปกรรมฐาน ๔
๖.อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
๗.จตุธาตุววัฏฐาน ๑
นักปฏิบัติเพื่อฌานโลกีย์ หรือเพื่อมรรคผลนิพพานก็ตาม ควรรู้อาการ หรืออารมณ์ หรือจริตอุปนิสัยของจิต เพราะเป็นผลดีมีกำไรในการปฏิบัติเพื่อการละกิเลสตัณหาอุปาทานได้รวดเร็ว สมาธิก็ตั้งมั่นวิปัสสนาญาณจะแจ่มใส มรรคผลนิพพานก็ปรากฏได้เร็ว
สมถกัมมัฏฐานคืออะไร มีกี่หมวด มีวิธีปฏิบัติกี่วิธี
คำว่า “สมถะ” แปลง่ายๆว่า ความสงบ หมายถึง การทำจิตให้เป็นสมาธินั่นเอง ที่ว่าสงบนั้นคือ สงบจากนิวรณ์
นิวรณ์ คือ สิ่งที่คอยขัดขวางความดีของจิตใจ ไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม หรือในการทำความดีทุกขั้นตอน
คำว่า “กัมมัฏฐาน” แปลว่า ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต หรืออุบายทางใจ คือ วิธีการฝึกอบรมจิต ทำจิตให้มั่นคง เป็นการฝึกอบรมนายของเรา จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ให้จิตและกายเบาบางลงจากสิ่งที่เราเคยแบกไว้
ยึดถือไว้ อันเป็นรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งปวง ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความพยาบาท และความลุ่มหลงเมามัว เป็นต้น
หลักการของสมถกรรมฐาน คือ การกำหนดจิตไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า อารมณ์ ให้แน่วแน่จนจิตพร้อมดิ่งอยู่ในสิ่งนั้นสิ่งเดียว เรียกว่า จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ความแน่วแน่ หรือตั้งมั่นของจิตนี้เรียกว่า “สมาธิ” เมื่อสมาธิแนบสนิทเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดสภาวจิตที่เรียกว่า “ฌาน” คือระดับจิตที่กำหนดรูปธรรมเป็นอารมณ์เรียกว่า “รูปฌาน” มีอยู่ ๔ ขั้นตอนคือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตภฌาน และสภาวจิตที่กำหนดอรูป ธรรมเป็อารมณ์เรียกว่า "อรูปฌาน" มีอยู่ ๔ ขั้นตอนคือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญา นัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญายตนฌาน รวมเรียกว่า “สมาบัติ ๘” สภาวจิตที่อยู่ในอารมณ์ของฌานจะมีลักษณะดังนี้ คือ:-
๑.เป็นสภาวะที่มีความสุขสงบผ่องใส
๒.เป็นสภาวะที่ไม่มีความเศร้าหมองขุ่นมัว
๓.เป็นสภาวะที่ไม่มีสิ่งใดมารบกวนทำให้จิตใจสะดุดติดขัดและขัดข้องแต่อย่างใด ถ้าจิตใจของท่านอยู่ในสภาวะทั้ง ๓ ประการ เหล่านี้แล้วเรียกว่าจิตใจปราศจากนิวรณ์ ๕ แล้ว
วิธีทำสมถกัมมัฏฐานนั้นจำแนกออกเป็นหมวดใหญ่ๆได้ ๗ หมวด โดยแยกเป็นอารมณ์ได้ถึง ๔๐ อารมณ์ หรือ ๔๐ วิธี มีรายละเอียดดังนี้
๑.หมวดกสิณ ๑๐
กสิณ แปลว่า "การเพ่งจนทำให้จิตสงบ" มี ๑๐ อย่าง คือ:-
๑.ปฐวีกสิณ คือ การเพ่งดูดิน เป็นอารมณ์
๒.อาโปกสิณ คือ การเพ่งดูน้ำ เป็นอารมณ์
๓.วาโยกสิณ คือ การเพ่งดูลม เป็นอารมณ์
๔.เตโชกสิณ คือ การเพ่งดูไฟ เป็นอารมณ์
๕. นีละกสิณ คือ การเพ่งดูสีเขียว เป็นอารมณ์
๖. ปีตะกสิณ คือ การเพ่งดูสีเหลือง เป็นอารมณ์
๗.โลหิตะกสิณ คือ การเพ่งดูสีแดง เป็นอารมณ์
๘.โอทาตะกสิณ คือ การเพ่งดูสีขาว เป็นอารมณ์
๙.อาโลกะกสิณ คือ การเพ่งดูช่องว่างหรือแสงสว่างเป็นอารมณ์
๑๐.อากาสะกสิณ คือ การเพ่งดูอากาศ เป็นอารมณ์
๒.หมวดอสุภะ ๑๐
อสุภะ แปลว่า "การเพ่งสิ่งที่ไม่สวยงาม" คือการเพ่งซากศพนั่นเอง จะเป็นซากศพคน หรือซากสัตว์ที่ตายแล้วก็ได้ โดยมี ๑๐ สภาพ คือ:-
๑.ซากศพที่พองขึ้นอืด
๒.ซากศพที่พองขึ้นจนเขียว
๓.ซากศพเน่าเฟะ มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลเยิ้ม
๔.ซากศพที่ขาดเป็นท่อนๆ กระจัดกระจายไปทั่ว
๕.ซากศพที่ถูกสัตว์กัดเละเทะ ยื้อแย่ง
๖.ซากศพที่ขาดตรงกลาง
๗.ซากศพที่ถูกสับเป็นท่อนๆ หรือถูกฟันแทงยับเยินเป็นชิ้นๆ
๘.ซากศพที่เต็มไปด้วยเลือดอาบทั้งตัว
๙.ซากศพที่เต็มไปด้วยหมู่หนอนชอนไชและกัดกินอยู่
๑๐.ซากศพที่เหลือแต่โครงกระดูกกระจัดกระจายอยู่เกลื่อนกลาด
๓.หมวดอนุสสติ ๑๐
อนุสสติ แปลว่า "การระลึกถึง" อารมณ์ที่ดีงามที่ควรระลึกถึงเนืองๆ คือ การนึกถึงบุคคล และธรรมะ หรือความจริงที่จะก่อให้เกิดความเลื่อมใสซาบซึ้ง ในเหตุผลที่ทำให้เกิดความสงบสุขทางจิตใจขึ้น เป็นอุบายที่หาได้ง่าย สะดวกสบาย และทำได้ทุกโอกาส ทุกสถานที่ มีอยู่ ๑๐ อย่าง คือ:-
๑.พุทธานุสสติ คือระลึกถึงพระพุทธเจ้า และพิจารณาคุณของพระพุทธเจ้า
๒.ธัมมานุสสติ คือระลึกถึงพระธรรม และพิจารณาคุณของพระธรรม
๓.สังฆานุสสติ คือระลึกถึงพระสงฆ์ และพิจารณาคุณของพระสงฆ์
๔.สีลานุสสติ คือระลึกถึงศีล พิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติบริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย
๕.จาคานุสสติ คือระลึกถึงจาคะ ได้แก่ทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรม คือความเผื่อแผ่เสียสละที่มีอยู่ใน
ตน
๖.เทวตานุสสติ คือระลึกถึงเทวดา หมายถึง เทวดาที่ตนเคยได้รู้ได้ยินมาและพิจารณาเห็นคุณธรรม ซึ่งทำคนให้เป็น
เทวดาตามที่มีอยู่ในตน
๗.อุปสมานุสติ คือการระลึกถึงพระคุณของพระนิพพาน
๘.มรณสติ คือระลึกถึงความตายอันจะต้องมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาอยู่ไม่ให้เกิดความประมาท
๙.กายคตาสติ คือสติที่เป็นไปในกาย หรือระลึกถึงเกี่ยวกับร่างกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ถึง ๓๒ ประการ ที่เรียกว่า "อาการ ๓๒ ที่มีอยู่ในร่างกายนี้ คือ:-
-เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ
เกสา คือผมทั้งหลาย โลมา คือขนทั้งหลาย นะขา คือเล็บทั้งหลาย ทันตา คือฟันทั้งหลาย ตะโจ คือหนัง
-มังสัง นะหารู อัฏฐิ อัฏฐิมิญชัง วักกัง
มังสัง คือเนื้อ นะหารู คือเอ็นทั้งหลาย อัฏฐิ คือกระดูกทั้งหลาย อัฏฐิมิญชัง คือเยื่อในกระดูก วักกัง คือม้าม
-หะทะยัง ยะกะนัง กิโลมะกัง ปิหะกัง ปัปผาสัง
หะทะยัง คือหัวใจ ยะกะนัง คือตับ กิโลมะกัง คือพังผืด ปิหะกัง คือไต ปัปผาสัง คือปอด
-อันตัง อันตะคุณัง อุทะริยัง กะรีสัง ปิตตัง
อันตัง คือไส้ใหญ่ อันตะคุณัง คือไส้น้อย อุทะริยัง คืออาหารใหม่ กะรีสัง คืออาหารเก่า ปิตตัง คือน้ำดี
-เสมหัง ปุพโพ โลหิตัง เสโท เมโท
เสมหัง คือน้ำเสลด ปุพโพ คือน้ำเหลือง โลหิตัง คือน้ำเลือด เสโท คือน้ำเหงื่อ เมโท คือน้ำมันข้น
-อัฐสุ วะสา เขโฬ สิงฆาณิกา ละสิกา
อัฐสุ คือน้ำตา วะสา คือน้ำมันเหลว เขโฬ คือน้ำลาย สิงฆาณิกา คือน้ำมูก ละสิกา คือน้ำไขข้อ
-มุตตัง มัตถะเก มัตถะลุงคัง
มุตตัง คือน้ำมูตร มัตถะเก มัตถะลุงคัง คือเยื่อในสมอง
ให้พิจารณาว่ากายนี้เป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่าเกลียด เป็นการรู้เท่าทันสภาวะของร่างกายนี้
๑๐.อานาปานัสสติ แปลว่า "การมีสติกำหนดรู้ลมหายเข้าออก" คือมันออกสั้น ก็รู้ว่ามันออกสั้น มันออกยาว ก็รู้ว่ามันออกยาวเป็นอารมณ์ จะมีคำบริกรรม หรือไม่ก็ได้ จะใช้คำบริกรรมอะไรก็ได้ ที่ถูกจริต ที่ทำให้ได้สมาธิเร็ว, ถนัดแบบไหนไม่ต้องเปลี่ยนเป็นวิธีอื่นหรือคำอื่น แต่ละคนอาจเหมือนกัน หรือต่างกันก็ได้ ไม่ต้องเลียนแบบใครที่เขาว่าดีนักดีหนา แต่ต้องเชื่อใจตนเอง เป็นเรื่องเฉพาะตนจริงๆ (ผู้เขียนเริ่มทำสมาธิครั้งแรก ใช้คำบริกรรมว่า พุท – โธ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นวิธีอื่น เช่น สัมมา – อาระหัง / ยุบหนอ – พองหนอ ฯลฯ ท้ายสุด ยอมรับว่า ชาตินี้ พุท – โธ ดีที่สุด สำหรับตัวผู้เขียน ในช่วงเริ่มนั่งสมาธิบริกรรม ๒ –๓ ครั้ง ก็ไม่มีคำบริกรรมอะไร เหลือเพียงเอาสติตามรู้ในนิมิตต่างๆ เท่านั้น
๔.หมวดพรหมวิหาร ๔
พรหมวิหาร ๔ ได้แก่ ธรรมที่ทำให้เกิดความเมตตา ความกรุณา ความยินดีร่วม และอุเบกขา เป็นคุณธรรมของบุคคลจำพวกหนึ่งที่อยู่ในพรหมโลก จึงได้นามว่า “พรหมวิหาร” หมายถึง การอบรมจิตใจ โดยยึดถือเอาคุณธรรมของพรหมเป็นตัวอย่าง
เรียกว่า “เจริญพรหมวิหารธรรม” และเมตตาธรรมเป็นส่วนสำคัญยิ่งในพรหมวิหาร ๔ เพราะเป็นเครื่องค้ำจุนโลกให้อยู่อย่างถาวรและสงบสุข ปราศจากการอิจฉาริษยา เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ขณะทำกัมมัฏฐานให้พิจารณา ดังนี้.-
๑.เมตตา คือคิดหวังที่จะช่วยให้สรรพสัตว์อยู่อย่างไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนกัน ดำรงชีวิตอยู่เป็นสุขตามสมควรแก่ฐานะ
ของตน
๒.กรุณา คือคิดหวังที่จะช่วยให้คน และ หรือสัตว์ที่กำลังประสบความทุกข์ ได้หลุดพ้นจากความทุกข์เหล่านั้น
๓.มุทิตา คือคิดหวังที่จะช่วยให้สัตว์ และหรือคน ที่ได้รับความสุขแล้ว ได้ดำรงอยู่ ในฐานะนั้นๆ ยินดีและเต็มใจที่เห็นเขามีสุข
อย่าได้พลัดพรากจากสุขสมบัติเหล่านั้น
๔.อุเบกขา วางใจเป็นกลางในกรณีที่คน และหรือสัตว์ประสบความวิบัติ ด้วยกรรมของตน ไม่ดีใจ หรือเสียใจ โดยอาศัยการ
พิจารณาให้เห็นตามกฎแห่งกรรม
๕.หมวดอรูปฌาณ ๔
อรูปฌานคือการปล่อยอารมณ์ ไม่ยึดถืออะไร มีผลทำให้จิตว่าง มีอารมณ์เป็นสุขประณีต ในฌานที่ได้ ผู้จะเจริญอรูปฌาณ ๔
ต้องเจริญฌานในกสินให้ได้ฌาณ ๔ เสียก่อน แล้วจึงเจริญอรูปฌาณจนจิตเป็นอุเบกขารมณ์ แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ:-
๑.อากาสานัญจายตนะ ถือ อากาศเป็นอารมณ์ จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิตย่อใหญ่เล็กได้ ทรงจิตรักษาอากาศไว้ โดยให้บริกรรมว่า "อากาโส อะนันโต" อากาศหาที่สุดมิได้ จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
๒.วิญญาณัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้ ทิ้งอากาศและรูปทั้งหมด ต้องการจิตเท่านั้น โดยให้บริกรรมว่า "วิญญาณัง
อะนันตัง" จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
๓.อากิญจัญญายตนะ กำหนดความไม่มีอะไรเลย อากาศไม่มี วิญญาณก็ไม่มี ถ้ามีอะไรสักหน่อยหนึ่งก็เป็นเหตุของภยันตราย
ไม่ยึดถืออะไร ให้บริกรรมว่า "นัตถิ กิญจิ" จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
๔.เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทำความรู้สึกตัวเสมอว่า ทั้งที่มีสัญญาอยู่ก็ทำเหมือนไม่มี ไม่รับอารมณ์ใด ๆ จะหนาว ร้อนก็รู้แต่ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย ปล่อยตามเรื่อง เปลื้องความสนใจใด ๆ ออกจนสิ้น โดยให้บริกรรมว่า "เอตัง สันตัง ปะณีตัง"
จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
๖.หมวดอาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือการพิจารณาอาหารที่บริโภคเป็นของน่าเกลียดจนกระทั่งได้ ปริญญา ๓ คือ:-
๑.ความทุกข์ยากลำบากในการบริโภคอาหารเรียกว่า "ญาตะปริญญา"
๒.การมองเห็นความเกิดดับของ
คือการพิจารณาอาหารทุกชนิดก่อนที่จะตักอาหารเข้าปาก ให้จิตพิจารณาดูรู้ว่าอาหารนั้นมาจากซากพืช ซากสัตว์ ศพที่ตายแล้วพืชก็มาจากดินจากปุ๋ยหมักเหม็นเน่า แล้วมาปรุงตกแต่ง ถ้าทิ้งไว้ไม่รับประทาน ๑ - ๒ วันก็เหม็นบูดเป็นของสกปรกที่พอดูได้ก็เพราะเอามาต้ม แกง ผัดตกแต่งสีสันยังดูใหม่ ยังไม่เหม็นบูด เราจะกินอาหารเพียงเพื่อระงับความหิวเป็นทุกข์เท่านั้น เราจะไม่ติดใจใยดีกับสีสัน รสดี หรือไม่ดี เราจะไม่สนใจยึดติดกับอาหารนั้นๆ เพราะถ้าจิตไปติดใจในรสอาหาร เป็นสาเหตุให้จิตหลงรสอร่อย คือ ตัณหา ความอยาก ความพอใจ เป็นกิเลสทำให้จิตต้องมาอยู่ในกรงขังของร่างกายเป็นทุกข์หิวแบบนี้ เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด
กรรมฐานนี้สำคัญ คือ พระภิกษุที่ไม่ได้พิจารณาอาหารก่อนฉันอาหารทุกมื้อ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า เป็นผู้ประมาทติดใจในรสอาหารไม่ปฏิบัติสมควรแก่ฆราวาสน้อมนำอาหารมาถวาย จิตพระสงฆ์ที่ไม่พิจารณาอาหารเป็นของสกปรกยังเป็นจิต
ของปุถุชนคนหนาแน่นด้วยกิเลสไม่ประพฤติธรรมสมกับเป็นเพศบรรพชิตไม่ใช่พระแท้ ท่านเรียกว่าสมมุติสงฆ์ ใจยังไม่เป็นพระแท้ พระที่ปฏิบัติพระกรรมฐานควรพิจารณาอาหารเป็นของสกปรกบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นของสกปรกเช่นกัน ทำอย่างนี้ทุกวัน
ทุกมื้อ จิตท่านจะรอดปลอดภัยจากอบายภูมิ ด้วยการทำจิตไม่ติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ของอาหารเป็นการตัดละวางกามคุณ ๕ ไปในตัว เป็นกรรมฐานที่ง่ายได้กำไร คือ จิตมีปัญญาเฉลียวฉลาดจะเข้าถึงอริยมรรค ถึงอริยผลได้ง่าย เป็นกรรมฐานของผู้มีปัญญา คือพุทธจริต ทำให้เข้าถึงกระแสพระนิพพานเร็วไว เพราะไม่ติดใจในรสสัมผัสของอาหาร จิตเป็นวิปัสสนาญาณไม่ตกเป็นทาสกิเลส
เรื่องอาหารนี้ องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาท่านทรงห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ทุกชนิดกินเป็นอาหาร เพราะสัตว์ก็มีจิตใจเหมือนคนเช่นกัน ท่านไม่ได้ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ ปลา หมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู เพราะการรับประทานอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารเจ ไม่ได้ทำให้คนหมดสิ้นกิเลส พระเทวทัต ได้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งกฎไม่ไห้พระภิกษุฉันอาหารประเภทเนื้อสัตว์ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เห็นดีด้วย เพราะไม่เป็นประโยชน์ ไม่สำคัญ พระภิกษุต้องอยู่ง่าย กินง่าย ชาวบ้านกินอะไร ถวายอะไร พระภิกษุก็ฉันได้ไม่ผิดอะไร องค์พระบรมศาสดาทรงห้ามพระภิกษุไม่ให้ฉันอาหารที่คนบอกชื่อประเภทเนื้อสัตว์ก่อนถวายท่านห้ามไม่ให้รับ เพราะการบอกชื่ออาหารเป็นโทษแก่พระภิกษุก่อให้เกิดกิเลสตัณหา อยากรับประทานตามชื่อนั้น อาหารที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงห้ามพระภิกษุฉันมีเนื้อมนุษย์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเต่า เนื้อช้าง เนื้อสุนัข เสือเหลือง เสือดาว หมี งู ท่านเว้นเด็ดขาด
เพราะมีรสดีเกินไปก่อให้เกิดกิเลสตัณหา ผู้ไม่มัวเมาติดใจในรสอาหาร คือ ผู้ที่ไม่ติดใจในร่างกายจะรสอร่อย หรือไม่อร่อยจะเป็นเนื้อสัตว์ หรือพืชผักก็เป็นของสกปรกทั้งสิ้น อาหารสกปรกบำรุงเลี้ยงร่างกายที่สกปรกเหมือนซากศพเดินได้ พูดได้ แท้จริงจะเป็นเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว หรือพืช ผลไม้ก็คือธาตุดินเหมือนกันก็บริโภคได้ เพื่อปฏิบัติธรรม หรือ เพื่อใช้ร่างกายทำความดีต่อไป เพื่อพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้
๗. หมวดจตุธาตุววัฏฐาน
จตุธาตุววัฏฐาน ๔ คือพิจารณาดูร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมลม
จตุ แปลว่า " สี่ " ธาตุ แปลว่า " สภาพที่ทรงไว้" วะวัฏฺฐาน แปลว่า "การกำหนด" การกำหนดธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ
ลม หมายถึงสมถภาวนาอารมณ์หนึ่ง ในอารมณ์๔๐ อย่าง เป็นการอบรมจิตให้สงบจากกิเลสโดยการพิจารณาวิเคราะห์กายนี้ เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุ หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่ คือพิจารณาอวัยวะส่วนที่เเข้นแข็งหรืออ่อนในร่างกาย มีผม ขน เล็บ ฟัน
หนังเป็นต้น เป็นเพียงธาตุดินเท่านั้น ส่วนที่เอิบอาบหรือเกาะกุม มีน้ำเลือด น้ำลาย ย้ำมูก เป็นต้น เป็นแต่เพียงธาตุน้ำเท่านั้น ส่วนที่ร้อนหรือเย็น มีไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่ม ไฟที่เผาผลาญอาหาร เป็นต้น เป็นเพียงแต่ธาตุไฟเท่านั้น ส่วนที่ไหวหรือเคร่งตึง มีลมหายใจเข้าออก ลมที่พัดขึ้นลงและทำให้ร่างกายไหว เป็นต้น ก็เป็นเพียงแต่ธาตุลมเท่านั้น หาความเป็นสัตว์บุคคลไม่ได้ภายในร่างกายนี้ เมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอย่างนี้แล้วๆ เล่าๆ จิตย่อมสงบจนถึงขั้นอุปจารสมาธิ ไม่ถึงอัปปนาสมาธิเพราะมีสภาวธรรมเป็นอารมณ์
จตุธาตุววัฏฐาน มีสภาวลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอารมณ์ก็จริง แต่ก็เป็นสมถภาวนา ไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา เพราะการคิดพิจารณาถึงลักษณะของธาตุทั้ง๔ ต่างจากวิปัสสนา คือ สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามหรือรูป ตามแต่สังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้ระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใด โดยความเป็นอนัตตา ไม่มีการเลือกอารมณ์
ใน ๔ หมวด คือ หมวดกสิณ ๑๐ หมวดอสุภะ ๑๐ หมวดอนุสสติ ๑๐ และหมวดพรหมวิหาร ๔ รวม ๓๔ วิธีนี้ ใครอยากทดลองทำวิธีใดก็เชิญ เมื่อทดลองปฏิบัติแล้วเห็นว่ากัมมัฏฐานบทใดเหมาะสมกับอัธยาศัย หรือถูกกับนิสัยของตนก็พึงนึกถึงกัมมัฏฐานบทนั้นเป็นอารมณ์ แต่ในประเทศไทยเรานั้น นิยมใช้กันมากที่สุดคือ อานาปานัสสติกัมมัฏฐาน มากกว่ากัมมัฏฐานอื่นใด เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่หาอารมณ์ได้ง่าย เป็นที่สบายของคนเป็นอันมาก เพราะสามารถที่จะนำไปใช้ได้ แม้ในชั้นของวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป ถ้าท่านถนัด หรือรู้ว่าถูกจริตของท่านในแบบใดก็ตาม ไม่ต้องเปลี่ยน จงยึดมั่นและเชื่อมั่นผลสำเร็จ
ย่อมเกิดขึ้นเท่าเทียมกัน ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาครูบาอาจารย์องค์ใดมาเสริมเพิ่มก็ได้ ครูบาอาจารย์บางท่านมีชื่อเสียงดีแต่เปลือกนอก เทศนาสั่งสอนคนอื่นเก่ง แต่แท้จริงแล้ว ตัวท่านก็ยังปฏิบัติมิได้ตามที่สอนคนอื่น จึงพบว่าฆราวาสบางท่าน ภูมิธรรมทางจิตนั้น สูงกว่า ผู้อ้างตนเป็นครูบาอาจารย์บางรูป ที่พอกพูนมากไปด้วยกิเลส มีครบทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ แม้ราคะตัณหา ก็ไม่เว้น จึงขอเชิญชวนเพื่อน หันมาใส่ใจในการปฏิบัติตนให้มากกว่าการวิ่งหาเครื่องรางของขลัง หรือวิ่งหาครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ให้เสียเวลาการปฏิบัติ ยกเว้นว่าสถานที่ในการปฏิบัติของท่านมีปัญหาอาทิ เผอิญไปอยู่ในบริเวณที่มีมารผจญมาก จนตัวท่านไม่สามารถผ่านด่านการผจญของเหล่ามาร ก็ย่อมจำเป็นที่จะต้องหาสถานที่อันเหมาะสมมากกว่า เพื่อการปฏิบัติที่มีสัมฤทธิผล ผู้เขียนไม่ต้องการเน้นไปที่ “ตัวตนบุคคล” แต่ต้องการเน้นที่ “หลักปฏิบัติ” มากกว่า ในเรื่องของ “ตัวตน บุคคล” นั้น ท่านมีโอกาสจะถูกหลอกลวงมาก จึงไม่อยากแนะนำให้ไปครูบาอาจารย์องค์ใดเป็นพิเศษ โดยขอให้พุ่งเป้าไปที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดา คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีกว่า
การเรียนรู้เรื่องจตุธาตุววัตถาน ๔
๑.ความเป็นมา
๒.ความหมายของจตุธาตุววัตถาน ๔
๓.วิธีการเจริญกัมมัฏฐาน
๔.วิธีพิจารณาโดยย่อ
๕.วิธีพิจารณาโดยพิสดาร
๖.การเจริญจตุธาตุววัตถานเพื่อให้เข้าถึงฌาน
อานิสงส์ ๘ ประการที่ได้รับจากการเจริญธาตุทั้ง ๔ มี ๔ แนวคิด คือ:-
๑.จตุธาตุววัตถาน คือ การพิจารณาธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ในร่างกาย เพื่อให้จิตเป็นอิสระจากความยึดถือว่าเป็นตัว ตน บุคคล เรา เขา
๒.การเจริญกัมมัฏฐาน มีทั้งการเจริญโดยย่อสำหรับพวกที่ปัญญาแก่กล้า แต่สำหรับ พวกปัญญาไม่แก่กล้า ควร ใช้การเจริญโดยพิสดาร หรือเจริญโดยอาการ ๑๓
๓.การเจริญจตุธาตุววัตถานเพื่อให้เข้าถึงฌาน ใช้การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ในกาย จนใจหยุดนิ่งเป็นอุปจารสมาธิ แล้วจึงวางไว้ที่ศูนย์กลางกาย จนใจเข้าถึงดวงปฐมมรรค
๔.การเจริญจตุธาตุววัตถานมีอานิสงส์ทำให้ถอนความเป็นตัวตน ปล่อยวางสิ่งต่างๆ และมีนิพพานเป็นที่ไป เป็นต้น
วัตถุประสงค์มี ๔ ประการ คือ:-
๑.เพื่อให้นักศึกษาสามารถบอกความเป็นมาและความหมายของการเจริญจตุธาตุววัตถานได้
๒.เพื่อให้นักศึกษาสามารถบอกวิธีการเจริญจตุธาตุววัตถาน
๓.เพื่อให้นักศึกษาสามารถบอกวิธีการเจริญจตุธาตุววัตถานเพื่อให้เข้าถึงองค์ฌาน
๔.เพื่อให้นักศึกษาสามารถบอกอานิสงส์ของการเจริญจตุธาตุววัตถานได้
การเจริญจตุธาตุววัตถาน เป็นการปฏิบัติข้อสุดท้ายที่มีวิธีการปฏิบัติที่มีความละเอียดลึกซึ้ง ต้องใช้ปัญญาพิจารณามาก แตก
ต่างจากหลายๆ กัมมัฏฐาน นักศึกษาจึงควรทำความเข้าใจในการปฏิบัติดังกล่าว และลองนำมาใช้ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ต่อไป
ความเป็นมาของจตุธาตุววัตถาน
กัมมัฏฐานนี้เป็นกัมมัฏฐานข้อสุดท้ายในอารมณ์กัมมัฏฐาน ๔๐ ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ในมหาสติปัฏฐานสูตรได้อธิบายไว้ว่า กัมมัฏฐานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาร่างกาย ดังต่อไปนี้
“ภิกษุย่อมพิจารณา เห็นกายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ มีอยู่ในกายนี้ คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาดฆ่าแม่โคแล้วนั่งแบ่งออกเป็นส่วนๆ อยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่งฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่โดยความเป็นธาตุ ๔ ว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และ ธาตุลม มีอยู่ในกายนี้” จุดมุ่งหมายสำคัญของการเจริญกัมมัฏฐานนี้ก็คือ การทำจิตให้เป็นอิสระจากความสำคัญว่ามีตัวตนในแต่ละบุคคล และเพื่อเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งซึ่งธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานของร่างกาย โดยไม่คิดเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล กัมมัฏฐานนี้เป็นกัมมัฏฐานที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณามาก จึงเหมาะสมสำหรับคนที่เป็นพุทธิจริต ชอบคิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผล
ความหมายของจตุธาตุววัตถาน
จตุธาตุ หมายถึง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ววัตถาน หมายถึง การกำหนด จตุธาตุววัตถาน หมายถึง การกำหนด หรือการวิเคราะห์
การวิเคราะห์ธาตุทั้ง ๔
จตุธาตุววัตถาน เป็นการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่ปรากฏในร่างกายจนกระทั่งเห็นเป็นแต่เพียงกองแห่งธาตุ โดยปราศจากความ
จำว่า เป็นหญิง เป็นชาย เป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เสียได้ เรียกว่า “จตุธาตุววัตถาน” ในจตุธาตุววัตถานนี้ ผู้เจริญ
จะต้องทำการพิจารณา ธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายในตน ธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายในตนนี้ เมื่อนับโดยพิสดารแล้วมี ๔๒ คือ:-
๑.ปฐวีธาตุ คือธาตุดิน มี ๒๐
๒.อาโปธาตุ คือธาตุน้ำ มี ๑๒
๓.เตโชธาตุ คือธาตุไฟ มี ๔
๔.วาโย คือธาตุลม มี ๖
-ปฐวีธาตุ ได้แก่ ธาตุดินที่มีอยู่ในส่วนที่มีลักษณะเป็นก้อนเป็นแท่ง มี ๒๐ อย่าง คือ:-
๑.-เกสา (ผม) โลมา (ขน) นขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตโจ (หนัง)
-มังสัง (เนื้อ) นหารู (เอ็น) อัฏฐิ(กระดูก) อัฏฐิมิญชัง (เยื่อในกระดูก) วักกัง (ม้าม)
-หทยัง(หัวใจ) ยกนัง (ตับ) กิโลมกัง (พังผืด) ปิหกัง (ไต) ปัปผาสัง (ปอด)
-อันตัง (ไส้ใหญ่) อันตคุณัง (ไส้น้อย) อุทริยัง (อาหารใหม่) กรีสัง (อาหารเก่า) มัตถลุงคัง (เยื่อในสมอง)
-อาโปธาตุ ได้แก่ อาโปธาตุที่อยู่ในโกฏฐาสที่มีลักษณะเหลวและไหลได้ มี ๑๒ คือ:-
-ปิตตัง (ดี) เสมหัง (เสลด) ปุพโพ (หนอง) โลหิตัง (เลือด) เสโท (เหงื่อ)
-เมโท (มันข้น) อัสสุ (น้ำตา) วสา (เปลวมัน) เขโฬ (น้ำลาย) สิงฆานิกา (น้ำมูก)
-ลสิกา (ไขข้อ) มุตตัง (น้ำมูตร)
-เตโชธาตุ มี ๔ คือ:-
๑.สันตัปปนะเตโช คือ ไออุ่นที่ทำให้ร่างกายมีความร้อน
๒.ทหนะเตโช คือ ไออุ่นที่มีความร้อนสูงสามารถเผาผลาญร่างกายให้วิปริตไป
๓.ชีรณะเตโช คือ ไออุ่นที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมแก่ลง
๔.ปาจกะเตโช คือ ไออุ่นที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร
-วาโยธาตุ มี ๖ คือ:-
๑.อุทธังคมะวาโย คือลมพัดขึ้นเบื้องบน
๒.อโธคมะวาโย คือลมพัดลงสู่เบื้องล่าง
๓.กุจฉิสยะวาโย คือลมที่อยู่ในช่องท้อง
๔.โกฏฐาสยะวาโย คือลมที่อยู่ในลำไส้ใหญ่
๕.อังคะมังคานุสารีวาโย คือลมที่อยู่ทั่วร่างกาย
๖.อัสสาสปัสสาสวาโย คือลมหายใจเข้าออก
ธาตุทั้ง ๔ นี้ เป็นส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกาย การที่เรียกว่า หญิง ชาย เรา เขา สัตว์ บุคคล มนุษย์ เทวดา พรหม นั้น หาใช่อื่นไม่ แท้จริงก็ได้แก่ธาตุ ๔ ที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นกองปรากฏขึ้นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ กันตามอำนาจของกรรมนั้นเอง
วิธีการเจริญกัมมัฏฐาน
การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่มีในกายตนนี้ มี ๒ ประการ คือ การพิจารณาโดยย่อและการพิจารณาโดยพิสดาร ใน ๒ ประการนี้ ผู้ที่เป็นติกขบุคคล คือผู้มีปัญญาแก่กล้า ทำการพิจารณาเพียงแต่โดยย่อ ธาตุทั้ง ๔ ก็ปรากฏแจ่มแจ้ง ขจัดความเห็นว่าเป็น หญิง ชาย เรา เขา สัตตะ ชีวะ ลงได้ ส่วนมันทบุคคล หรือ ผู้มีปัญญาไม่แก่กล้า นั้นต้องทำ การพิจารณาโดยพิสดาร ธาตุทั้ง ๔ จึงจะปรากฏแจ่มแจ้ง ขจัดความเห็นว่าเป็นหญิง ชาย ฯลฯ ให้หายไป
วิธีพิจารณาโดยย่อ
วิธีพิจารณาโดยย่อมาในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้พิจารณาโดยอุปมาเหมือนคนฆ่าโคขาย เมื่อฆ่าเสร็จแล้วย่อมต้องเชือดชำแหละแยกส่วนต่างๆ ของร่างกายโค ออกวางไว้เป็นอย่างๆ ตัดออกเป็นชิ้นๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง นั่งขาย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “เมื่อคนฆ่าโคเลี้ยงโคอยู่ก็ดี นำโคไปยังที่ฆ่าก็ดี นำมาผูกไว้ที่ฆ่าก็ดี กำลังฆ่าก็ดี มองดูโคที่ฆ่าตายแล้วก็ดีความสำคัญว่าโค ยังไม่หายไปตราบเท่าที่เขายังไม่ได้ชำแหละโคนั้นออกเป็นส่วน ๆ ต่อเมื่อเขาชำแหละแบ่งออกแล้ว ความสำคัญว่าโคก็หายไป กลับสำคัญเนื้อโคไป เขามิได้คิดว่า เราขายโค คนเหล่านี้ซื้อไป ที่แท้ เขาคิดว่า เราขายเนื้อโค คนเหล่านี้ซื้อเนื้อโคฉันใด แม้ภิกษุนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันเมื่อครั้งเป็นปุถุชนผู้เขลา เป็นคฤหัสถ์ก็ดี บรรพชิตก็ดี ความสำคัญว่าสัตว์หรือบุคคล ยังไม่หายไปก่อนตราบเท่าที่ยังไม่พิจารณาเห็นกายนี้นี่แล ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ แยกออกจากก้อน โดยความเป็นธาตุ ต่อเมื่อเธอพิจารณาเห็นโดยความเป็นธาตุ ความสำคัญว่าสัตว์จึงหายไป จิตก็ตั้งอยู่ด้วยดีโดยความเป็นธาตุอย่างเดียวเพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่าภิกษุพิจารณาเห็นกายอันนี้นี่แล ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฯลฯ วาโยธาตุ ดังนี้ ฉันนั้น ก็พระโยคาวจร เปรียบเหมือนคนฆ่าโค ความสำคัญว่าสัตว์ เปรียบเหมือนความสำคัญว่าโค อิริยาบถทั้ง ๔ เปรียบเหมือนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ความพิจารณาเห็นโดยความเป็นธาตุ เปรียบเหมือนการที่คนฆ่าโคนั่งแบ่งออกเป็นส่วนๆ” หรือผู้ปฏิบัติจะทำการพิจารณาด้วยใจตามหลักที่พระสารีบุตรได้กล่าวแนะนำไว้ คือ ให้พิจารณาด้วยใจว่า บรรดาที่อาศัยต่างๆ อันชาวโลกทั้งหลายกล่าวเรียกกันว่า เป็นเคหสถานบ้านเรือนเหล่านี้ หาใช่อะไรอื่นไม่ แท้ที่จริงนั้นก็ได้แก่ ไม้ อิฐ
ปูน ทราย รวมกันปรากฏขึ้น โดยส่วนล่างมีแผ่นดินรองรับ ส่วนบนและรอบบริเวณมีอากาศล้อมรอบ ข้อนี้ฉันใด ร่างกายของ เรานี้ก็ได้แก่ กระดูก ๓๐๐ ท่อนเศษ เส้นเอ็น ๙๐๐ ก้อนเนื้อ ๙๐๐ ผิวหนังทั่วกายใหญ่ประมาณ เท่าเมล็ดมะขามป้อม มีอยู่เพียงเท่านี้เอง ควบคุมกันเข้าเป็นรูปร่างสัณฐานปรากฏขึ้นในที่ที่มีอากาศ ล้อมรอบกายที่มีแต่กระดูก เส้นเอ็น ก้อนเนื้อ ผิวหนัง ควบ คุมกันอยู่นี้เมื่อจะค้นคว้าหาสิ่งที่มีจริงและปรากฏชัดแล้ว ก็มีแต่เพียง ๔ อย่าง คือ:-
๑.สิ่งที่แข็งกระด้างเป็นปฐวีธาตุ คือธาตุดิน
๒.สิ่งที่เกาะกุมเหนียวและเอิบอาบซึมซาบไหลเป็นอาโปธาตุ คือธาตุน้ำ
๓.สิ่งที่ทำให้สุกโดยอาการให้ร่างกายเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาว หนังเหี่ยวย่นแก่หง่อมลงและความเย็นร้อนในกายทั่วไปเป็นเตโชธาตุ คือธาตุไฟ
๔.สิ่งที่ทำให้อิริยาบถใหญ่น้อยเคร่งตึงตั้งมั่นและเคลื่อนไหวไปมาได้เป็น วาโยธาตุ คือธาตุลม
จากนี้ก็มีการพิจารณาทั้งทางวาจาและใจพร้อมกันไป มีดังนี้
-ยถา ปฏิจฺจ กฏฺฐาทึ อาคารนฺติ ปวุจฺจติ เอวํ ปฏิจฺจ อฏฺฐยาทึ สรีรนฺติ ปวุจฺจติ ฯ
-อาศัยไม้เป็นต้น แล้วเรียกว่าบ้าน กุฏี ศาลา อาคารต่างๆ ฉันใด อาศัยกระดูก เส้นเอ็น เนื้อ หนัง แล้วเรียกว่าร่างกาย ก็ฉันนั้น
-อฏฺฐึ นหารุญฺจ มํสญฺจ จมฺมญฺจ จตุกํ ปติ ปริวาริโต อากาโส สงฺขยํ รูปนฺติ คจฺฉติ ฯ
-ช่องอากาศที่ล้อมรอบโดยอาศัยบริวาร ๔ อย่าง มีกระดูก ๓๐๐ เศษ เส้นเอ็น ๙๐๐ ก้อนเนื้อ ๙๐๐ หนังหนาและผิวหนังรวมกันอยู่ ได้ชื่อว่า ร่างกาย
-โย อิมสฺมึ กาเย ถทฺธภาโว วา ขรภาโว วา อยํ ปฐวีธาตุ, โย อาพนฺธนภาโว วา ทฺรวภาโว วา อยํ อาโปธาตุ, โย ปริปาจนภาโว วา อุณหฺภาโว วา อยํ เตโชธาตุ, โย วิตฺถมฺภนภาโว วา สมุทีรณภาโว วา อยํ วาโยธาตุ ฯ
-ในร่างกายนี้ ส่วนที่แข้นแข็งหรือกระด้าง ส่วนนั้นเป็นปฐวีธาตุ ส่วนที่เกาะกุมเหนียว เอิบอาบซึมซาบไหล ส่วนนั้นเป็นอาโปธาตุ สิ่งที่ทำให้สุกโดยอาการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาว หนังเหี่ยวย่นแก่หง่อมลงก็ดี ความเย็นร้อนในกายทั่วไปก็ดี เหล่านี้เป็นเตโชธาตุ สิ่งใดทำให้ อิริยาบถใหญ่น้อยเคร่งตึงตั้งมั่นก็ดี ทำให้เคลื่อนไหวไปมาได้ก็ดี เหล่านี้เป็นวาโย ธาตุ
วิธีพิจารณาโดยพิสดาร
วิธีพิจารณาโดยพิสดารมีวิธีการพิจารณาตามลำดับดังต่อไปนี้
๑.พิจารณาโดยสสัมภารสังเขป คือ พิจารณาโกฏฐาสะทั้งหลายเข้าเป็นหมู่ๆตามอาการของธาตุนั้นๆ โดยให้กำหนดเอาอาการแข้นแข็งในโกฏฐาสะ ๒๐ ว่า ปฐวีธาตุ กำหนดเอาอาการซึมซาบอันเป็นความเหลวกล่าวคือเป็นน้ำในโกฏฐาสะ ๑๒ ว่า
อาโปธาตุ กำหนดเอาความร้อนอันเป็นเครื่องเผาไหม้ในโกฏฐาสะ ๔ ว่า เตโชธาตุ กำหนดเอาอาการพัดไปมาในส่วน ๖ ว่า วาโยธาตุ
เมื่อกำหนดอยู่อย่างนั้น ธาตุทั้งหลายจะปรากฏได้ ผู้ปฏิบัติต้องพินิจพิจารณาธาตุ ทั้งหลายนั้นแล้วๆ เล่าๆ อุปจารสมาธิจะเกิดขึ้นตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล แต่เมื่อใดเจริญไปอย่างนั้น กัมมัฏฐานยังไม่สำเร็จ พึงเจริญโดยสสัมภารวิภัติต่อไป
๒.พิจารณาโดยสสัมภาระวิภัติ คือ พิจารณาจำแนกส่วนแห่งธาตุนั้นออก กำหนดอาการไปทีละอย่าง โดยชั้นแรกพึงทำอุคคหโกศล ๗ ประการ และมนสิการโกศล ๑๐ ประการ ที่กล่าวแล้วในกายคตาสติกัมมัฏฐานนั้นทุกอย่าง ตั้งต้นแต่สาธยายด้วย
วาจา ซึ่งอาการทั้งหลาย มีอาการหมวดตจปัญจกะ เป็นต้น ในอาการ ๓๒ ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม ส่วนความแตกต่างกัน คือ แม้พิจารณาอาการทั้งหลายมีผม เป็นต้น โดยสี สัญฐาน ทิศ โอกาส และปริเฉท แต่ในกายคตาสติ ต้องตั้งจิตไว้ทางปฏิกูล ในธาตุววัฏฐานนี้ ต้องตั้งจิตไว้ทางธาตุ เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติ ครั้นพิจารณาอาการทั้งหลายมีผม เป็นต้น อย่างละ ๕ ส่วน โดยสีเป็นต้นแล้ว ในที่สุดควรพิจารณาแต่ละโกฏฐาสะ ดังนี้
๒.๑ ปฐวีโกฏฐาสะ เกสา คือผมทั้งหลาย
ผมทั้งหลายนี้ เกิดที่หนังหุ้มกะโหลกศีรษะ ในหนังหุ้มกระโหลกศีรษะกับผมทั้งหลายนั้น หนังหุ้มกะโหลกศีรษะหารู้ไม่ว่าผมทั้งหลายเกิดที่เรา ผมทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดที่หนังหุ้มกะโหลกศีรษะ เปรียบเหมือนในหญ้ากุณฐะทั้งหลายอันเกิดอยู่ที่ยอดจอมปลวก ยอดจอมปลวกหารู้ไม่ว่าหญ้ากุณฐะทั้งหลายเกิดที่เรา หญ้ากุณฐะเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดที่ยอดจอมปลวก สิ่งทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ผมทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นแข้นเข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๒โลมาโกฏฐาสะ โลมา คือขนทั้งหลาย
ขนทั้งหลายเกิดที่หนังหุ้มสรีระ ในหนังหุ้มสรีระกับขนทั้งหลายนั้น หนังหุ้มสรีระหารู้ไม่ว่าขนทั้งหลายเกิดอยู่ที่เรา ขนทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ที่หนังหุ้มสรีระ เปรียบเหมือน ในหญ้าแพรกทั้งหลายอันเกิดอยู่ในที่บ้านร้าง ที่บ้านร้างหาทราบไม่ว่าหญ้าแพรกเกิดอยู่ที่เรา หญ้าแพรกเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ในที่บ้านร้าง สิ่งทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ขนทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๓ นขา คอเล็บทั้งหลาย
เล็บทั้งหลายเกิดที่ปลายนิ้วทั้งหลาย ในนิ้วกับเล็บทั้งหลายนั้น นิ้วทั้งหลายหารู้ ไม่ว่าเล็บเกิดที่ปลายของเรา เล็บทั้งหลายก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ที่ปลายนิ้วทั้งหลาย เปรียบเหมือน เมื่อเด็กทั้งหลายใช้ไม้หลายอันเสียบเม็ดมะซางเล่นอยู่ ไม้ทั้งหลายหารู้ไม่ว่าเม็ดมะซางติดอยู่ที่เรา เม็ดมะซางเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราติดอยู่ที่ไม้ทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันเล็บทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิดเป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๔ ทนฺตา คือฟันทั้งหลาย
ฟันทั้งหลายเกิดที่กระดูกคาง ในกระดูกคางกับฟันทั้งหลายนั้น กระดูกคางหารู้ไม่ว่าฟันทั้งหลายเกิดอยู่ที่เรา ฟันทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ที่กระดูกคาง เปรียบเหมือนใน เสาเรือน ที่ช่างไม้ทั้งหลายพันโคนด้วยยางเหนียวบางชนิดแล้ว ยกตั้งลงในหลุมหินทั้งหลาย หลุมทั้งหลายหารู้ไม่ว่าเสาทั้งหลายตั้งอยู่ในเรา เสาทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ในหลุมฉะนั้น สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ฟันทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๕ ตโจ คือหนัง
หนังหุ้มสรีระทั้งสิ้นตั้งอยู่ในสรีระกับหนังนั้น สรีระหารู้ไม่ว่า เราถูกหนังหุ้ม หนังเล่าก็หารู้ไม่ว่า สรีระเราหุ้มไว้ เปรียบเหมือนในพิณใหญ่ที่หุ้มด้วยหนังโคสด พิณใหญ่หารู้ไม่ว่า เราถูกหนังโคสดหุ้ม หนังโคสดก็หารู้ไม่ว่า พิณใหญ่ เราหุ้มไว้ สิ่งทั้งหลายปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน หนังนั้น เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๖ มํสํ คือเนื้อ
เนื้อ ฉาบทาติดอยู่ตามโครงกระดูก ในเนื้อกับโครงกระดูกนั้น โครงกระดูกหารู้ไม่ว่า เราถูกเนื้อต่างอย่าง ๙๐๐ ชิ้นฉาบอยู่ เนื้อเล่าก็หารู้ไม่ว่า โครงกระดูกถูกเราฉาบไว้ เปรียบเหมือน ในฝาเรือนที่พอกไว้ด้วยดินเหนียวก้อนใหญ่ๆ ฝาหารู้ไม่ว่า เราถูกดินเหนียวก้อนใหญ่พอกดินเหนียวก้อนใหญ่เล่าก็หารู้ไม่ว่า ฝาถูกเราพอก สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน เนื้อนั้นเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ
๒.๗ นฺหารู คือเอ็นทั้งหลาย
เอ็นทั้งหลาย รัดรึงกระดูกทั้งหลายไว้อยู่ภายในสรีระ ในกระดูกกับเอ็นทั้งหลายนั้น กระดูกทั้งหลายหารู้ไม่ว่า เราถูกเอ็นทั้งหลายรัดรึง เอ็นทั้งหลายก็หารู้ไม่ว่า กระดูกทั้งหลาย เรารัดรึงไว้ เปรียบเหมือนในไม้เชิงฝาที่เขามัดด้วยเถาวัลย์ทั้งหลาย ไม้เชิง
ฝาหารู้ไม่ว่า เราถูกเถาวัลย์มัด เถาวัลย์เล่าก็หารู้ไม่ว่า ไม้เชิงฝา ถูกเรามัดไว้ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน เอ็นทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ
๒.๘ อฎฺฐี คือกระดูกทั้งหลาย
ในกระดูกทั้งหลาย กระดูกส้นเท้าค้ำกระดูกข้อเท้าตั้งอยู่ กระดูกข้อเท้าค้ำกระดูกแข้งตั้งอยู่ กระดูกแข็งค้ำกระดูกขาตั้งอยู่ กระดูกขาค้ำกระดูกสะเอวตั้งอยู่ กระดูกสะเอวค้ำกระดูกสันหลังตั้งอยู่ กระดูกสันหลังค้ำกระดูกคอตั้งอยู่ กระดูกคอค้ำกระดูกศีรษะตั้งอยู่ กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอๆ ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลังๆ ตั้งอยู่บนกระดูกสะเอวๆ ตั้งอยู่บนกระดูกขาๆ ตั้งอยู่บนกระดูกแข้งๆ ตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้าๆ ตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า ในกระดูกเหล่านั้น กระดูก ส้นเท้าหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกข้อเท้าตั้งอยู่ กระดูกข้อเท้าหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกแข้งตั้งอยู่ กระดูกแข้งหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกขาตั้งอยู่ กระดูกขาหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกสะเอวตั้งอยู่ กระดูกสะเอว หารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกสันหลังตั้งอยู่ กระดูกสันหลังหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกคอตั้งอยู่ กระดูกคอ หารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกศีรษะตั้งอยู่ กระดูกศีรษะก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกคอๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกสันหลังๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกสะเอวๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกขา ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกแข้งๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า เปรียบเหมือนในกองวัตถุที่วางซ้อนๆ กัน มีอิฐไม้ และโคมัย แห้ง เป็นต้น อันล่างๆ หารู้ไม่ว่า เราค้ำอันบนๆ ตั้งอยู่ อันบนๆ เล่า ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนอันล่างๆ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันกระดูกเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ
๒.๙ อฎฺฐิมิญฺชํ คือเยื่อในกระดูก
เยื่อในกระดูก ตั้งอยู่ในส่วนในของกระดูกนั้นๆ ในกระดูกกับเยื่อนั้น กระดูกทั้งหลาย หารู้ไม่ว่า เยื่อตั้งอยู่ในภายในของเราเยื่อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในภายในของกระดูกทั้งหลาย เปรียบเหมือนในหน่อไม้ทั้งหลาย มีหน่อหวายที่นึ่งแล้วเป็นต้น ที่บุคคลสอดเข้าไว้ในภายในของปล้องไม้มีปล้องไผ่เป็นต้น ปล้องไผ่เป็นต้น หารู้ไม่ว่า หน่อหวายเป็นต้นเขาสอดไว้ในเรา หน่อหวายเป็นต้นเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไผ่เป็นต้น ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกันเยื่อในกระดูกเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๐ วกฺกํ คือไต
ไต เป็นก้อนเนื้อคู่ ติดอยู่กับเอ็นใหญ่ ซึ่งโคนเป็นเส้นเดียวแล่นออกจากหลุมคอไปหน่อย แตกเป็นสองเส้นโอบเนื้อหัวใจอยู่ในเอ็นใหญ่กับไตนั้น เอ็นใหญ่หารู้ไม่ว่า ไตติดอยู่กับเรา ไตก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่กับเอ็นใหญ่ เปรียบเหมือนในผลมะม่วงคู่อันติดอยู่กับขั้วเดียวกัน ขั้วหารู้ไม่ว่า ผลมะม่วงคู่ติดอยู่กับเรา ผลมะม่วงคู่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่กับขั้ว สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ไตเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๑ หทยํ คือหัวใจ
หัวใจ อาศัยตรงกลางซี่โครงกระดูกอกตั้งอยู่ในภายในสรีระในภายในซี่โครงกระดูกอกกับหัวใจนั้น ภายในซี่โครงกระดูกอกหารู้ไม่ว่า หัวใจอาศัยเราอยู่ หัวใจเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอาศัยภายในซี่โครงกระดูกอกตั้งอยู่ เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อที่คนวางแอบไว้ภายในซี่โครงกระดูกอก ตั้งอยู่ เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อที่คนวางแอบไว้ภายในซี่กรงคานหามเก่าๆ ภายในซี่กรงคานหามเก่าหารู้ไม่ว่าชิ้นเนื้อเขาวางแอบเราไว้ ชิ้นเนื้อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราถูกเขาวางแอบไว้ภายในซี่กรงคานหามเก่า สิ่ง ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน หัวใจเป็นเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๒ ยกนํ คือตับ
ตับ ตั้งอยู่ติดสีข้าง ข้างขวาในส่วนในของนมทั้งสองภายในสรีระ ในสีข้าง ข้างขวาในส่วนในของนมกับตับนั้น สีข้างๆ ขวาในส่วนในของนมหารู้ไม่ว่า ตับตั้งติดเราอยู่ ตับเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งติดสีข้างๆ ขวาในส่วนในของนมอยู่ เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อคู่อันติดอยู่ที่ข้างของกระเบื้องหม้อ ข้างของกระเบื้องหม้อหารู้ไม่ว่า ชิ้นเนื้อคู่ติดอยู่ที่เรา ชิ้นเนื้อคู่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่ที่ข้างของกระเบื้องหม้อ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๓ กิโลมกํ คือพังผืด
ในพังผืดทั้งหลาย พังผืดชนิดปกปิด ล้อมหุ้มทั้งหัวใจและไตอยู่ พังผืดชนิดเปิดเผยหุ้มยึด กล้ามเนื้ออยู่ใต้หนังทั่วสรีระในไต หัวใจและกล้ามเนื้อทั่วสรีระกับพังผืดนั้น ไต หัวใจและกล้ามเนื้อทั่วสรีระหารู้ไม่ว่า เราถูกพังผืดปิดหุ้ม พังผืดเล่าก็หารู้ไม่ว่า ไตหัวใจ และกล้ามเนื้อทั่วสรีระถูกเราปิดหุ้ม เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อที่เขาห่อไว้ด้วยผ้าขี้ริ้ว เนื้อหารู้ไม่ว่า เราถูกห่อไว้ด้วยผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้วเล่าก็หารู้ไม่ว่า เนื้อเขาห่อไว้ด้วยเรา สิ่งทั้งหลายนั่นปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน พังผืดเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๔ ปิหกํ คือม้าม
ม้าม อยู่ติดด้านบนแห่งเพดานท้องข้างซ้ายของหัวใจ ในด้านบนแห่งเพดานท้องกับม้ามนั้น ด้านบนแห่งเพดานท้องหารู้ไม่ว่าม้ามติดเราอยู่ ม้ามเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดด้านบนแห่งเพดานท้องอยู่ เปรียบเหมือนในก้อนโคมัยที่ติดด้านบนแห่งยุ้งข้าวอยู่ ด้านบนแห่งยุ้งข้าวหารู้ไม่ว่า ก้อนโคมัยติดเราอยู่ ก้อนโคมัยเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดด้านบนแห่งยุ้งข้าวอยู่ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ม้าม เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๕ ปปฺผาสํ คือปอด
ปอด ห้อยคลุมทั้งหัวใจและตับอยู่ในระหว่างนมทั้งสองในส่วนในของสรีระ ในส่วนในของสรีระกับปอดนั้น ส่วนในของสรีระหารู้ไม่ว่า ปอดห้อยอยู่ที่เรา ปอดก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ในส่วนในของสรีระมีรูปอย่างนั้น เปรียบเหมือนในรังนกที่ห้อยอยู่ในภายในของยุ้งข้าวเก่าๆ ส่วนภายในของยุ้งเก่าหารู้ไม่ว่า รังนกห้อยอยู่ในเรา รังนกเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ในภายในของยุ้ง เก่า สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ปอด เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๖ อนฺตํ คือไส้ใหญ่
ไส้ใหญ่ อยู่ในภายในของสรีระ มีปลายอยู่ที่ต้นคอ และที่ทวารหนัก ในภายในของสรีระกับไส้ใหญ่นั้น ภายในของสรีระหารู้ไม่ว่า ไส้ใหญ่อยู่ในเรา ไส้ใหญ่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในภายในของสรีระ เปรียบเหมือนในซากงูเรือนหัวขาดที่เขาขดวางลงไว้ในรางเลือด รางเลือดหารู้ไม่ว่า ซากงูเรือนอยู่ในเรา ซากงูเรือนเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในรางเลือด สิ่งทั้งหลายนั่นปราศจาก ความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ไส้ใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๗ อนฺตคุณํ คือไส้น้อย
ไส้น้อย พันขนดไส้ใหญ่ซึ่งขดไปขดมา ๒๑ ขด อยู่ในระหว่างของไส้ใหญ่ ในไส้ใหญ่กับไส้น้อยนั้น ไส้ใหญ่หารู้ไม่ว่า ไส้น้อยพันเราอยู่ ไส้น้อยเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราพันไส้ใหญ่อยู่เปรียบเหมือนในเชือกเล็กทั้งหลาย ที่ร้อยขดเชือกใหญ่ สำหรับเช็ดเท้าอยู่ ขดเชือกใหญ่ สำหรับเช็ดเท้าหารู้ไม่ว่า เชือกเล็ก ร้อยเราอยู่ เชือกเล็ก เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราร้อยขดเชือกใหญ่ สำหรับเช็ดเท้าอยู่ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ไส้น้อยเป็นเป็นส่วนในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๘ อุทริยํ คืออาหารใหม่
อาหารใหม่ คือสิ่งที่กินดื่มเคี้ยวลิ้มเข้าไปอยู่ในท้อง ในท้องกับอาหารใหม่นั้น ท้องหารู้ไม่ว่า อาหารใหม่อยู่ในเรา อาหารใหม่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในท้อง เปรียบเหมือนในรากสุนัขที่อยู่ในรางสุนัข รางสุนัขหารู้ไม่ว่า รากสุนัขอยู่ในเรา รากสุนัขเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในรางสุนัข สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อาหารใหม่เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๑๙ กรีสํ คืออาหารเก่า
อาหารเก่า อยู่ที่ปลายลำไส้ใหญ่ สัณฐานดังปล้องไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๘ นิ้ว ในกระเพาะอุจจาระกับอาหารเก่านั้น กระเพาะอุจจาระหารู้ไม่ว่า อาหารเก่าอยู่ในเรา อาหารเก่าเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระเพาะอุจจาระ เปรียบเหมือนในดินสีเหลืองอย่างละเอียด ที่เขาอัดบรรจุลงไปในปล้องไม้ไผ่ ปล้องไม้ไผ่หารู้ไม่ว่า ดินเหลืองอยู่ในเรา ดินเหลืองเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไม้ไผ่ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อาหารเก่าเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๒.๒๐ มตฺถลุงคํ คือเยื่อในสมอง
มันสมอง อยู่ในภายในของกะโหลกศีรษะ ในภายในของกะโหลกศีรษะกับมันสมองนั้น ภายในของกะโหลกศีรษะหารู้ไม่ว่ามันสมองอยู่ในเรา มันสมองเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในภายในของกะโหลกศีรษะ เปรียบเหมือนในก้อนแป้งที่เขาบรรจุลงในกะโหลกน้ำเต้าเก่าๆ กะโหลกน้ำเต้าหารู้ไม่ว่า ก้อนแป้งอยู่ในเรา ก้อนแป้งเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกะโหลกน้ำเต้า สิ่งทั้งหลายนั่นปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน เยื่อในสมองเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
๓.๑ ปิตฺตํ คือดี
ในดีทั้งหลาย ดีชนิดไม่ติดที่ เป็นของเนื่องอยู่กับชีวิตินทรีย์ เอิบอาบอยู่ทั่วสรีระ ดีชนิดติดที่อยู่ในถุงน้ำดี ในสรีระกับดีไม่ติดที่ และถุงน้ำดีกับดีติดที่ สรีระหารู้ไม่ว่าดีไม่ติดที่อาบเราอยู่ ดีไม่ติดที่เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอาบสรีระอยู่ เปรียบเหมือน ในน้ำมันที่ซาบขนมอยู่ ขนมหารู้ไม่ว่าน้ำมันซาบเรา อยู่ น้ำมันเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราซาบขนมอยู่ ถุงน้ำดีหารู้ไม่ว่าดีติดที่อยู่ในเรา ดีติดที่เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในถุงน้ำดี เปรียบเหมือนในรังบวบขมที่เต็มด้วยน้ำฝน รังบวบขมหารู้ไม่ว่าน้ำฝนอยู่ในเรา น้ำฝนเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในรังบวบขม สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิด คำนึง และความไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำดีเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ
๓.๒ เสมฺหํ คือเสมหะ
เสมหะ มีประมาณเต็มบาตร ๑ อยู่ที่เพดานท้อง ในเพดานท้องกับเสมหะนั้น เพดานท้องหารู้ไม่ว่าเสมหะอยู่ที่เรา เสมหะเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ที่เพดานท้อง เปรียบเหมือนในบ่อน้ำโสโครกที่มีแผ่นฟองเป็นฝาเกิดในเบื้องบน บ่อน้ำโสโครกหารู้ไม่ว่าแผ่นฟองเกิดที่เรา แผ่นฟองเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดที่บ่อน้ำโสโครก สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และความไตร่ตรองถึงกันและกัน เสมหะ เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ
๓.๓ ปุพฺโพ คือน้ำหนอง น้ำเหลือง
น้ำหนอง ไม่มีที่อยู่ประจำ ในตำแหน่งแห่งร่างกายใดๆ ที่ใดที่ถูกตอตำหนามยอกและถูกเปลวไฟลวก หรือฝีและต่อมเป็นต้นเกิดขึ้น มันก็มาอยู่ในตำแหน่งแห่งร่างกายนั้นๆ ในตำแหน่งแห่งร่างกายที่ถูกตอและหนามเป็นต้นกระทบกับหนองนั้น ตำแหน่งแห่งร่างกายที่ถูกตอและหนามเป็นต้นกระทบ หารู้ไม่ว่าหนองมาอยู่ในเรา หนองก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในตำแหน่งแห่งร่างกายทั้งหลายนั้น เปรียบเหมือน ในต้นไม้ที่มียางไหลด้วยอำนาจแห่งการฟันด้วยขวานเป็นต้น ตำแหน่งตรงที่ถูกฟันเป็นต้นของต้นไม้ หารู้ไม่ว่ายางมาอยู่ในเรา ยางเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในตำแหน่งที่ถูกฟันเป็นต้นของต้นไม้ สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน บุพโพเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มี วิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ
๓.๔ โลหิตํ คือเลือด
ในโลหิตทั้งหลาย สังสรณโลหิด (โลหิตเดิน) ซาบซ่านไปอยู่ทั่วสรีระ ดังน้ำดี (ชนิดไม่ติดที่) สันนิจิตโลหิต (โลหิตขัง) ขังอยู่เต็มส่วนล่างที่อยู่ของตับ มีประมาณเต็มบาตร ๑ ยังไต หัวใจ ตับ และปอด ให้ชุ่มอยู่ ในโลหิต ๒ อย่างนั้น สังสรณโลหิต ก็เช่นเดียวกับดีชนิดไม่ติดที่ ส่วนในโลหิตอีกอย่างคือสันนิจิตโลหิต เหมือนในน้ำที่บุคคลเทลงในกระเบื้องหม้อเก่า ทะลุ หยด ลงไป ทำก้อนดินและก้อนกรวดเป็นต้น ที่อยู่ข้างล่างให้เปียกด้วย ก้อนดินและก้อนกรวดเป็นต้น หารู้ไม่ว่าเราถูกน้ำทำให้เปียกอยู่ น้ำเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราทำก้อนดินและก้อนกรวดเป็นต้นให้เปียก ฉันใด ที่ส่วนล่างของตับก็ดี ไตเป็นต้นก็ดี หารู้ไม่ว่าโลหิตขังอยู่ในเรา หรือว่าโลหิตทำเราให้ ชุ่มอยู่ โลหิตเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราขังอยู่ เต็มที่ส่วนล่างของตับ ทำไตเป็นต้นให้ชุ่มอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน โลหิตเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ
๓.๕ เสโท คือเหงื่อ
เหงื่อขังอยู่เต็มช่องขุมผมและขนบ้าง ไหลออกมาในเวลาที่ร้อนเพราะไฟเป็นต้นบ้าง ในช่องขุมผมและขนกับเหงื่อนั้น ช่องขุมผมและขนทั้งหลายหารู้ไม่ว่า เหงื่อไหลออกจากเรา เหงื่อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราไหลออกจากช่องขุมผมและขนทั้งหลาย เปรียบเหมือนในกำเง่าบัวและสายบัว พอถูกถอนขึ้นจากน้ำ ช่องในกำเง่าบัวเป็นต้น หารู้ไม่ว่าน้ำไหลออกจากเรา น้ำที่กำลังไหลออกจากช่องในกำเง่าบัวเป็นต้นเล่า ก็หารู้ไม่ว่าเราไหลออกจากช่องในกำเง่าบัวเป็นต้น สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน เหงื่อ เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ
๓.๖ เมโท คือมันข้น
มันข้น คือมันแข้น ที่แผ่ไปอยู่ทั่วสรีระของคนอ้วน ติดอยู่ตามกล้ามเนื้อ มีปลีน่องเป็นต้นของคนผอม ในกล้ามเนื้อกับมันข้นนั้น กล้ามเนื้อในสรีระทั้งสิ้น ของคนอ้วนก็ดี ในอวัยวะ มีแข้ง เป็นต้นของคนผอม ก็ดี หารู้ไม่ว่ามันข้นติดเราอยู่ มันข้นเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดกล้ามเนื้อ อยู่ในสรีระทั้งสิ้นของคนอ้วน หรือในอวัยวะมีแข้งเป็นต้นของคนผอม เปรียบเหมือนในก้อนเนื้อที่เขาปิดไว้ด้วยผ้าเก่าสีขมิ้น (เหลืองหม่น) ก้อนเนื้อหารู้ไม่ว่าผ้าเก่าสีขมิ้นติดเราอยู่ ผ้าเก่าสีขมิ้นเล่า ก็หารู้ไม่ว่า เราติดก้อนเนื้ออยู่ สิ่งทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน มันข้น เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ
๓.๗ อสฺสุ คือน้ำตา
น้ำตา เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นมันก็ขังอยู่เต็มเบ้าตาบ้าง ไหลออกมาบ้าง ในเบ้าตากับน้ำตานั้น เบ้าตาหารู้ไม่ว่าน้ำตาอยู่ในเรา น้ำตาเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในเบ้าตา เปรียบเหมือนในเบ้าตาลอ่อนที่เต็มด้วยน้ำ เบ้าตาลอ่อนหารู้ไม่ว่าน้ำอยู่ในเรา น้ำในเบ้าตาลอ่อนเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในเบ้าตาลอ่อน สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำตาเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ
๓.๘ วสา คือมันเหลว
มันเหลว คือมันที่ละลายอยู่ตามฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า หลังเท้า ดั้งจมูก หน้าผาก และจะงอยบ่า ในเวลาที่ร้อนเพราะไฟเป็นต้น ในตำแหน่งแห่งร่างกายมีฝ่ามือเป็นต้นกับมันเหลวนั้น ตำแหน่งแห่งร่างกายมีฝ่ามือเป็นต้น หารู้ไม่ว่ามันเหลวท่วมเราอยู่ มันเหลวเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราท่วมตำแหน่งแห่งร่างกายมีฝ่ามือเป็นต้นอยู่ เปรียบเหมือนในข้าวตังอันมีน้ำมันที่คนราดไว้ ข้าวตังหารู้ไม่ว่าน้ำมันท่วมเราอยู่ น้ำมันเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราท่วมข้าวตังอยู่ สิ่งทั้งหลายนั่นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน มันเหลวเป็นส่วนหนี่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ
๓.๙ เขโฬ คือน้ำลาย
น้ำลาย เมื่อปัจจัยให้น้ำลายออกอย่างนั้นมีอยู่ มันลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างมาอยู่ที่แผ่นลิ้น ในแผ่นลิ้นกับน้ำลายนั้น แผ่นลิ้นหารู้ไม่ว่า น้ำลายลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างมาอยู่ที่เรา น้ำลายเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างมาอยู่ที่แผ่นลิ้น เปรียบเหมือนในหลุมริมฝั่งแม่น้ำ อันมีน้ำซึมออกไม่ขาด พื้นหลุมหารู้ไม่ว่าน้ำอยู่ในเรา น้ำเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในพื้นหลุมสิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิดเป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ
๓.๑๐ สิงฺฆาณิกา คือน้ำมูก
น้ำมูก เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นมันก็ขังเต็มโพรงจมูกอยู่บ้าง ไหลออกมาบ้าง ในโพรงจมูกกับน้ำมูกนั้น โพรงจมูกหารู้ไม่ว่าน้ำมูกอยู่ในเรา น้ำมูกเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในโพรงจมูก เปรียบเหมือนในเปลือกหอยโข่งที่เต็มด้วยนมส้มเสีย เปลือกหอยโข่งหารู้ไม่ว่านมส้มเสียอยู่ในเรา นมส้มเสียเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในเปลือกหอยโข่ง สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำมูก เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโป ธาตุ
๓.๑๑ ลสิกา คือไขข้อ
ไขข้อ ทำกิจคือการทาที่ต่อแห่งกระดูกทั้งหลายให้สำเร็จอยู่ในที่ต่อแห่งกระดูกประมาณ ๑๘๐ แห่ง ในที่ต่อ ๑๘๐ แห่งกับไขข้อนั้น ที่ต่อ ๑๘๐ แห่งหารู้ไม่ว่า ไขข้อทาเราติดอยู่ ไขข้อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราทาที่ต่อ ๑๘๐ แห่งติดอยู่ เปรียบเหมือนในเพลาที่คนทาด้วยน้ำมัน เพลา หารู้ไม่ว่าน้ำมันทาเราติดอยู่ น้ำมันเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราทาเพลาติดอยู่ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ไขข้อเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็น อาโปธาตุ
๓.๑๒ มุตฺตํ คือน้ำมูตร
น้ำมูตร อยู่ข้างในกระเพาะปัสสาวะ ในกระเพาะปัสสาวะกับน้ำมูตรนั้น กระเพาะปัสสาวะหารู้ไม่ว่าน้ำมูตรอยู่ในเรา น้ำมูตรเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เปรียบเหมือนในหม้อดินเนื้อหยาบ ที่คนโยนลงไปคว่ำอยู่ในหลุมโสโครก หม้อดินเนื้อหยาบ หารู้ไม่ว่าน้ำโสโครกอยู่ในเรา น้ำโสโครกเล่าก็หารู้ไม่ว่าอยู่ในหม้อดินเนื้อหยาบ สิ่งทั้งหลายนั่นปราศ จากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำมูตร เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณเป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็น อาโปธาตุ
๔.ในการพิจารณาในเตโชโกฎฐาสะทั้งหลายมีวิธีการพิจารณาดังนี้ คือ:-
๔.๑ร่างกายย่อมเร่าร้อนเพราะไฟใด ไฟนี้เรียกว่า "สันตัปปนะเตโช" เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิดเป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ
๔.๒ร่างกายย่อมทรุดโทรมเพราะไฟใด ไฟธาตุนี้เรียกว่า "ชีรณะเตโช" เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิดเป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ
๔.๓ร่างกายย่อมกระสับกระส่ายเพราะไฟใด ไฟธาตุนี้เรียกว่า "ทหนะเตโช" เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ
๔.๔ของกิน เครื่องดื่ม ของเคี้ยว ลิ้มเข้าไปแล้ว ย่อมถึงความย่อยไปด้วยดีเพราะไฟใด ไฟนี้ (ปาจกเตโช) เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ
๕. วาโยธาตุ การกำหนดอุทธังคมวาต โดยเป็นลมขึ้นเบื้องบน กำหนดอโธคมวาต โดยเป็นลมลงเบื้องล่าง กำหนดกุจฉิสยวาตโดยเป็นลมอยู่ในท้อง กำหนดโกฏฐาสยวาต โดยเป็นลมอยู่ในภายในลำไส้ กำหนดอังคมังคานุสาริวาต โดยเป็นลมแล่นไปตามอังคาพยพใหญ่น้อย กำหนดจับอัสสาสะปัสสาสะ โดยเป็นลมหายใจเข้าและหายใจออก แล้ว ยังมนสิ การให้เป็นไปในวาโยโกฏฐาสทั้งหลายอย่างนี้ว่า
๕.๑ ลมขึ้นเบื้องบนทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ
๕.๒ ลมลงเบื้องล่างทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ
๕.๓ ลมอยู่ในท้อง (นอกลำไส้) ทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ
๕.๔ ลมอยู่ในลำไส้ทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ
๕.๕ ลมแล่นไปตามอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ
๕.๖ ลมหายใจเข้าและหายใจออกทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ
ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏแก่นักปฏิบัตินั้น ผู้มีมนสิการเป็นไปอย่างนี้ เมื่อเธอพิจารณาซึ่งธาตุเหล่านั้น แล้วๆ เล่าๆ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้น แต่เมื่อนักปฏิบัติเจริญไปอย่างนั้น กัมมัฏฐานยังไม่สำเร็จ นักปฏิบัติผู้นั้นพึงเจริญโดยสลักขณสังเขปต่อไป
การเจริญโดยสลักขณะสังเขป
เจริญโดยสลักขณสังเขป คือ พิจารณาส่วนทั้งหลายเข้าเป็นหมู่ๆ ตามลักษณะของธาตุนั้น โดยกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในส่วนที่ ๒๐ ว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบได้ในส่วนที่ ๒๐ นั้นว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในส่วนที่ ๒๐ นั้นว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ในส่วนที่ ๒๐ นั้นว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบในส่วนที่ ๑๒ ว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในส่วนที่ ๑๒ นั้นว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ในส่วนที่ ๑๒ นั้นว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในส่วนที่ ๑๒ นั้นว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในส่วนที่ ๔ ว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ ที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้ ว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็ง ที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้ว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบที่แยกออกจากธาตุไฟนั้น ไม่ได้ว่า ธาตุน้ำพึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ในส่วนที่ ๖ ว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในส่วนที่ ๖ นั้นแหละว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบได้ในส่วนที่ ๖ นั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในส่วนที่ ๖ นั้นแหละว่า ธาตุไฟ
เมื่อนักปฏิบัตินั้นกำหนดไปอย่างนั้น ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้นแก่เธอพิจารณาธาตุทั้งหลายนั้นแล้วๆ เล่าๆ แต่เมื่อนักปฏิบัติผู้ใดแม้เจริญไปอย่างนั้น กัมมัฏฐานก็ยังไม่สำเร็จ นักปฏิบัติผู้นั้นพึงเจริญโดยสลักขณวิภัติต่อไป
การเจริญโดยสลักขณะวิภัติ
เจริญโดยสลักขณวิภัติ คือ พิจารณาจำแนกแห่งธาตุนั้นๆ ออกกำหนดลักษณะไปทีละอย่าง โดยพิจารณาเอาส่วนทั้งหลายมีผมเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวมาก่อนในสลัมภารวิภัตินั้นมากำหนดดูลักษณะที่แข้นแข็งในผมว่า ธาตุดิน พึงกำหนดดูลักษณะที่ซึมซาบในผมนั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดดูลักษณะที่ร้อนในผมนั้นแหละว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดดูลักษณะที่เขยื้อนได้ในผมนั้นแหละว่า ธาตุลม พึงกำหนดดูธาตุ ๔ ในส่วนหนึ่งๆ ไปทุกส่วนอย่างนี้ เมี่อเธอกำหนดไป อย่างนั้น ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้นแก่เธอผู้พิจารณาธาตุทั้งหลายนั้น แล้วๆ เล่าๆ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล
เมื่อสรุปการพิจารณาธาตุ ๔๒ ที่มีอยู่ในร่างกาย โดยความเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และ สี กลิ่น รส โอชา แล้ว ผู้ปฏิบัติก็พึงรู้ได้ดังนี้ คือ ความเป็นธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวม ๓ นี้ รู้ได้โดยอาศัยการสัมผัสทางกาย ความเป็นธาตุน้ำรู้ได้โดยอาศัยการนึกคิดทางใจ ความเป็นสีรู้ได้โดยอาศัยการเห็นทางตา เป็นกลิ่นรู้ได้โดยอาศัยการดมทางจมูก ความเป็นรส รู้ได้โดยอาศัยการชิมทางลิ้น ความเป็นโอชารู้ได้โดยอาศัยการนึกคิดทางใจ
ถ้าผู้เจริญได้ทำการพิจารณาธาตุ ๔๒ โดยเฉพาะๆ ไปตามลำดับดังกล่าวแล้ว แต่ ธาตุนิมิตก็ไม่ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องทำการพิจารณาต่อไปโดยอาการ ๑๓ ดังต่อไปนี้
๑. วจนตฺถโต โดยความหมายแห่งศัพท์ คือ ดินที่เรียกว่า ปฐวี เพราะแผ่ไป น้ำที่เรียกว่า อาโป เพราะเอิบอาบให้ชุ่มอยู่ หรือให้เต็มอยู่ ไฟ เรียกว่า เตโช เพราะทำให้ร้อน ลมเรียกว่า วาโย เพราะพัดให้ไหว ทุกศัพท์ถูกเรียกว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน และเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เป็นที่ก่อให้เกิดทุกข์
๒. กลาปโต โดยความเป็นกอง ปฐวีธาตุ มี ๒๐ กอง มีผมเป็นต้น อาโปธาตุมี ๑๒ กอง มีน้ำดี เป็นต้น ผมที่ปรากฏเป็นกองก็เพราะการประชุมรวมกันของธรรม ๘ อย่าง คือ สี กลิ่น รส โอชา และธาตุทั้ง ๔ มารวมตัวกัน เราจึงสมมติกันเรียกว่าเป็นผม เมื่อแยกกันออกแล้ว ก็ย่อมไม่เรียกว่า ผม
๓. จุณฺณโต โดยความแยกละเอียด กล่าวคือ ร่างกายนี้ประกอบด้วยส่วนย่อย ต่างๆ นับไม่ถ้วนในรูปแบบเป็นเซล และเป็นกล้ามเนื้อซึ่งเป็นปฐวีธาตุ สามารถลดลงเป็นส่วนเล็กที่สุด ดุจธุลีละเอียด เมื่อตวงดูจะได้ประมาณ ๒๐ - ๓๐ ลิตร แต่ที่เราเห็นเป็นรูปร่างก็เพราะ ปฐวีธาตุ มีอาโปธาตุเกาะกุมยึดไว้ ให้เป็นรูปเป็นร่าง มีเตโชธาตุเลี้ยงรักษาไว้ วาโยธาตุคอยค้ำจุนให้ตั้งมั่น จึงไม่กระจัดกระจาย และทำให้ปรากฏ เป็นเพศหญิง เพศชาย อ้วนบ้าง ผอมบ้าง สูงบ้าง เตี้ยบ้าง แข็งแรงบ้าง อ่อนแอบ้าง
อาโปธาตุในร่างกายนี้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบตั้งอยู่ในธาตุดิน มีธาตุไฟตามรักษา มีลมประคับประคอง ทำให้ไม่หยด ไม่ไหลไป ไม่เรี่ยราดกระจัดกระจาย น้ำย่อมสร้างเนื้อหนังคือลักษณะรูปร่างทั้งหมดขึ้นมา
เตโชธาตุในร่างกาย มีลักษณะร้อน ตั้งอยู่ในธาตุดิน มีน้ำยึดให้ติดอยู่ด้วยกัน มีลมประคับประคอง ย่อยสิ่งที่คนรับประทานและดื่มเข้าไป ทำให้ร่างกายอบอุ่น เจริญเติบโต และ เป็นเหตุแห่งความงามของร่างกาย และเมื่อมีธาตุไฟนี้ ร่างกายก็จะไม่เน่าเปื่อย
วาโยธาตุในร่างกายนี้ ตั้งอยู่ในธาตุดิน มีน้ำเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีไฟตามรักษา มีลักษณะเคลื่อนไหว และประคับประคองซ่านไปตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้กายนี้ เคลื่อนไหวได้ และประคับประคองร่างกายให้ตั้งตรงและไม่ล้มลง ธาตุลมนี้ช่วย
ทำให้ร่างกาย ยืน เดิน นั่ง นอนได้ เหยียดแขนเข้า ออก ทำให้มือและเท้าเคลื่อนไหวได้ ร่างกายนี้จึงเป็นเหมือนเครื่องจักรกลซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ล่อลวงคนทั้งหลายโดยความเป็นหญิง เป็นชาย ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้เห็นว่า เพราะร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุ ๔ จึงเป็นร่างกายอยู่ได้
๔. ลกฺขณาทิโต โดยลักษณะ ๓ รส ๔ ปัจจุปัฏฐาน ๕ กล่าวคือ
ปฐวีธาตุ มีความแข็งเป็นลักษณะ มีการทรงอยู่ เป็นกิจ มีการรองรับรูปอื่นเป็นอาการปรากฏ
อาโปธาตุ มีการไหลหรือเกาะกุมเป็นลักษณะ ทำให้รูปที่เกิดร่วมด้วยมีความเจริญ เป็นกิจ มีความเกาะกุมรูปที่เกิดร่วมกันให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นอาการปรากฏ
เตโชธาตุ หรือ เตโชรูป มีความอบอุ่นเป็นลักษณะ ทำให้รูปเกิดร่วม สุกงอม เป็นกิจทำให้รูปที่เกิดร่วมด้วย ให้อ่อนนิ่ม เป็นอาการปรากฏ วาโยธาตุ มีความเคร่งตึง เป็นลักษณะ มีการไหว เป็นกิจ มีการเคลื่อนย้าย เป็นอาการปรากฏ
๕. สมุฏฺฐานโต โดยสมุฏฐาน หรือโดยกำเนิดทั้ง ๔ ดังนี้คือ กรรม จิต ฤดูและ อาหาร โดยในส่วนของร่างกายต่างๆ ๓๒ ส่วน อาหารใหม่ อาหารเก่า หนอง มูตร เกิดจากฤดู น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก เกิดจากฤดูและจิต ไฟซึ่งเป็นตัวย่อยอาหารที่บริโภค
(ปาจกเตโช) เป็นต้น เกิดจากกรรม ลมหายใจเข้าออก เกิดจากจิต ที่เหลือทั้งหมดเกิดจากกำเนิดทั้ง ๔ อย่าง
๖. นานตฺตเอกตฺตโต โดยความต่างกันและเหมือนกัน ธาตุทั้งหมดต่างกันโดยลักษณะ คือ ปฐวีธาตุก็มีลักษณะ รส และปัจจุปัฏฐานต่างจากอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ แต่เหมือนกันโดยเป็นรูป มหาภูต ธาตุ ธรรม และเป็นของไม่เที่ยง เป็นต้น
ธาตุทั้งหมดชื่อว่าเป็นรูป เพราะธาตุทั้งปวงไม่ล่วงพ้นจากลักษณะความทรุดโทรมไปได้ ชื่อว่ามหาภูต เพราะเป็นรูปร่างที่แปลกประหลาด คือ ธาตุเหล่านี้แสดงตัวให้ปรากฏโดยการเปลี่ยนสภาพให้แตกต่างจากสภาพที่แท้จริง คือ ตัวเองไม่ได้เป็นสีเหลืองก็แสดงสภาพเป็นสีเหลืองได้ ไม่ได้เป็นสีแดงก็แสดงสภาพเป็นสีแดงได้ ไม่ได้เป็นสีขาวก็แสดงรูปเป็นสีขาวได้ เปรียบเหมือนนักเล่นกล เอาน้ำซึ่งไม่ได้เป็นแก้วมณีมาทำให้เป็นแก้วมณี ทำก้อนหินที่ไม่ใช่ทองให้เป็นทอง แสดงตัวเองเป็นยักษ์ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ยักษ์ ธาตุทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่สีคราม สีเหลือง สีแดง แต่ก็ปรากฏเป็นสีเหล่านั้นได้ แม้จะไม่ใช่มนุษย์หรือสัตว์แต่ก็ปรากฏรูปเหล่านั้นได้
ชื่อว่าธรรม เพราะทรงลักษณะธรรมชาติของตนและเข้าไปทรงอยู่ได้ชั่วขณะอัน สมควรแก่ตน
ชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะจะต้องเสื่อมสลายไป
ชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นสภาพมีอันตราย
ชื่อว่า มิใช่ตน เพราะหาสาระมิได้
๗. วินิพฺโภคาวินิพฺโภคโต โดยความแยกออกจากกันได้และแยกไม่ได้ กล่าวคือ ธาตุเหล่านี้แบ่งแยกได้เฉพาะแต่ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน แต่อวินิพโภครูป คือ สี กลิ่น รส โอชา ปฐวี อาโป เตโช วาโย แยกไม่ได้
๘. สภาควิสภาคโต โดยความเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ คือ ปฐวีและอาโปธาตุ เข้ากันได้โดยเป็นของหนักเหมือนกัน เตโชและวาโยธาตุ เข้ากันได้โดยเป็นของเบาเหมือนกัน ๒ ธาตุตอนต้นกับ ๒ ธาตุตอนหลังเข้ากันไม่ได้ เพราะพวกหนึ่งหนัก พวกหนึ่งเบา
๙. อชฺฌตฺติกพาหิรวิเสสโต โดยความแปลกกันแห่งธาตุภายในกับธาตุภายนอก คือ ธาตุที่เกิดอยู่ในร่างกายสัตว์ทั้งหลายนี้เป็นที่อาศัยของปสาททั้ง ๕ (จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท) อินทรีย์ (อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์) วิญญัติรูป ๒ (กายวิญญัติ วจีวิญญัติ) ประกอบไปด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ และเกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ครบบริบูรณ์ (อัชฌัตติกวิเสส) ส่วนธาตุทั้ง ๔ ที่เกิดภายนอกสัตว์ มิได้เป็นที่อาศัยเกิดของรูปต่างๆ ดังกล่าว ไม่ประกอบด้วยอิริยาบถใหญ่น้อย สมุฏฐานมีไม่ครบ ๔ มีแต่อุตุสมุฏฐานอย่างเดียว (พาหิรวิเสส)
๑๐. สงฺคโห โดยความรวมเข้ากันได้ คือ กำหนดเอาธาตุทั้ง 4 ที่มีสมุฎฐาน เหมือนกันรวมไว้ในหมวดเดียวกัน เช่น ปฐวีธาตุที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน นับสงเคราะห์ ไว้พวกเดียวกับธาตุอื่นๆ ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเหมือนกัน ธาตุที่เหลือทั้ง ๓ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน แยกไปตามสมุฏฐานที่เหลือ ทั้ง จิต อุตุ อาหาร
๑๑.ปจฺจยโต โดยความเป็นปัจจัยของกันและกัน คือ ธาตุดินซึ่งติดกันอยู่โดยอาศัยธาตุน้ำ มีธาตุไฟช่วยรักษาไว้ มีธาตุลมเป็นตัวช่วยพยุงไว้ เป็นปัจจัยโดยความเป็นที่อยู่ของ ธาตุทั้ง ๓ ธาตุน้ำตั้งอยู่ในธาตุดิน มีธาตุไฟช่วยรักษาไว้ มีธาตุลมเป็นตัวตัวช่วยพยุงไว้เป็น ปัจจัยโดยความเป็นเครื่องยึดให้ติดกันแห่งธาตุทั้ง ๓ นอกจากนี้ไว้ด้วยกัน ธาตุไฟซึ่งอยู่บน ธาตุดิน มีธาตุน้ำยึดให้ติดกัน มีธาตุลมช่วยพยุงไว้ เป็นปัจจัยโดยความเป็นเครื่องทำให้อุ่นแห่งธาตุ ๓ อย่างนอกนี้ ธาตุลม ตั้งอยู่บนธาตุดิน มีธาตุน้ำยึดให้ติดกัน มีธาตุไฟเป็นตัวทำให้อุ่น เป็นปัจจัยโดยเป็นเครื่องพยุงไว้แห่งธาตุ ๓ อย่างนอกนี้ ดังนั้นควรพิจารณาเห็นว่าธาตุเหล่านี้โดยเป็นปัจจัยของกันและกัน
๑๒. อสมนฺนาหารโต ในบรรดาธาตุทั้ง ๔ ปฐวีธาตุย่อมไม่รู้ว่า เราคือปฐวีธาตุ หรือว่าเราเป็นที่ตั้งเป็นปัจจัยแห่งธาตุทั้ง ๓ แม้ธาตุนอกนี้ก็ไม่รู้ว่า ปฐวีธาตุเป็นปัจจัยเป็นที่ตั้งของพวกเรา ในธาตุทั้งปวงก็มีนัยเช่นเดียวกัน
๑๓. ปจฺจยวิภาคโต โดยการจำแนกปัจจัยธรรมของธาตุนั้นๆ คือ ร่างกายของสัตว์ทั้งหลายปรากฏมีขึ้น เนื่องมาจากสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ๖ บางส่วนมีกรรมเป็นประธานของสมุฏฐานอีก ๓ อย่าง เป็นสิ่งอุดหนุนให้เกิด เรียกว่า กัมมชรูป ถ้ามีจิตเป็นประธาน เรียก จิตตชรูป ถ้ามีอุตุเป็นประธานเรียก อุตุชรูป ถ้ามีอาหารเป็นประธาน เรียกว่าอาหารชรูป เมื่อนักปฏิบัติกำหนดโดยอาการ ๑๓ แล้ว ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ เมื่อนึกหน่วง ธาตุเหล่านั้นเนืองๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดขึ้น
การเจริญจตุธาตุววัตถานเพื่อให้เข้าถึงกายธรรม
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายว่า การเจริญจตุธาตุววัตถานนี้ เมื่อพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในกายตนนั้น จะบรรลุได้เพียง “อุปจารสมาธิ เท่านั้น เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นสภาวะ ล้วนๆ ผู้เจริญจะต้องใช้ปัญญาอย่างแรงกล้า จึงจะรู้เห็นในสภาวะเหล่านี้ได้ เหตุนี้สมาธิของผู้เจริญจึงไม่มีกำลังพอที่จะเข้าถึง ” อัปปนาสมาธิ” ส่วนในวิชชาธรรมกาย อธิบายได้ดังต่อไปนี้ คือ เมื่อพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่ปรากฏในร่างกาย ตามนัยที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้นจนใจสงบเป็น “อุปจารสมาธิ” แล้ว จากนั้นก็ทำใจนิ่งๆ ไว้ที่ศูนย์กลางกายเท่านั้น เพราะการเจริญจตุธาตุววัตถานในส่วนของสมถะ ไม่มีอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต เนื่องจากหากจะน้อมภาพ อวัยวะใดๆ (อาการ ๓๒) มาเป็นนิมิต ก็จะเป็นกายคตาสติไป หรือจะน้อมอวัยวะส่วนที่มีลักษณะเป็นธาตุดิน หรือธาตุน้ำ หรือธาตุลม หรือธาตุไฟ อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นนิมิตก็กลายเป็นภูตกสิณไป
ดังนั้นให้เพียงวางใจนิ่งๆ ต่อไปที่ศูนย์กลางกาย จนใจรวมหยุดนิ่งถูกส่วนตกศูนย์ เข้าถึงดวงปฐมมรรค จากนั้นจึงดำเนินเข้าไปใจกลางของกลาง ผ่านเข้าไปตามลำดับจนเข้าถึง กายธรรม จึงใช้ญาณของกายธรรมพิจารณามองให้เห็นตัวธาตุจริงๆ ทั้งหยาบ ละเอียดที่มีอยู่ในกาย จนเห็นธาตุทั้ง ๔ โดยความเกิดดับ อันเป็นการเจริญจตุธาตุววัตถานในส่วนของวิปัสสนา
อานิสงส์ ๘ ประการที่ได้รับจากการเจริญธาตุทั้ง ๔
๑. สุญฺญตํ อวคาหติ อนัตตลักขณะปรากฏทางใจ
๒. สตฺตสญฺญํ สมุคฺฆาเฏติ ละความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ชาย หญิง เสียได้
๓. ภยเภรวสโห โหติ ไม่มีการหวาดกลัวต่อภัยใหญ่น้อย ที่เนื่องมาจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ มีจิตใจ คล้ายจะเป็นพระอรหันต์
๔. อรติรติสโห โหติ สามารถละความไม่ยินดีในการงานที่เป็นคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ทั้งสามารถ ละความยินดีในกามคุณอารมณ์เสียได้
๕. อิฏฺฐานิฏฺเฐสุ อุคฺฆาฏนิคฺฆาฏํ น ปาปุณาติ ไม่มีการรื่นเริงสนุกสนานจนลืมตัวในอารมณ์ที่น่ารัก และไม่มีการอึดอัดขุ่นหมองใจในอารมณ์ที่ไม่น่ารัก
๖. มหาปญฺโญ โหติ เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางมาก
๗. อมตปริโยสาโน โหติ มีพระนิพพานเป็นที่สุดในภพนี้
๘. สุคติปรายโน โหติ ถ้ายังไม่เข้าสู่พระนิพพานในภพนี้ ก็มีสุคติภูมิเป็นที่ไปในภพหน้า
นักศึกษาได้ศึกษาวิธีการเจริญจตุธาตุววัตถานแล้ว แม้ว่าการเจริญกัมมัฏฐานจะละเอียดลึกซึ้ง แต่ก็ขอให้นักศึกษาได้ลองมาพิจารณาในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อันจะส่งผลดี ทำให้ใจหยุดนิ่งได้ง่าย ข้าพเจ้าได้เรียนรู้การฝึกสมถกรรมฐานจากอาจารย์ผู้รู้ท่านหนึ่ง คือการฝึกการเข้ารูปฌาน ๔ และกำหนดองค์ภาวนาแบบ กายานุคติ (เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ) และมีข้อสงสัยคือ ข้าพเจ้าได้อ่านในพระไตรปิฏกฉบับ ๙๑ เล่ม ของมหามงกุฏ พบข้อความดังนี้ ศีลยังไม่ดี – กังวลยังมี ห้ามเรียนกรรมฐาน หากเรียนมีผลทำให้จิตวิปลาส หรือบ้าได้อยู่ใน เล่ม ๒ หน้า ๓๕๐ ดังนี้
เบื้องหน้าแต่การชำระศีลให้หมดจดนั้นก็ควรตัดปลิโพธคือความกังวล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในบรรดาปลิโพธ ๑๐ อย่าง ที่พระอาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ปลิโพธ (ความกังวล) ๑๐ อย่างนั้น คือ:-
๑.อาวาส (ที่อยู่)
๒.ตระกูล (ครอบครัว)
๓.ลาภ (ปัจจัยสี่)
๔.คณะ (คือหมู่คณะ)
๕.การงาน (คือการก่อสร้าง)
๖.อัทธานะ (คือเดินทางไกล)
๗.ญูาติ (พ่อแม่พี่น้องป้าน้าอาลุง)
๘.อาพาธ (เจ็บป่วย)
๙.คัณฐะ (คือการเรียนปริยัติ)
๑๐.อิทธิฤทธิ์ (อำนาจและอิทธิพล)
ควรเรียนกรรมฐานกับผู้แตกฉาน พุทธพจน์ เล่ม ๒ หน้า ๓๕๒ อนึ่ง กุลบุตรผู้มีศีลบริสุทธิ์ และตัดปลิโพธได้แล้วอย่างนั้น เมื่อจะเรียนกรรมฐานนี้ ควรเรียนเอาในสำนักพุทธบุตร ผู้ให้จตุตถฌาน (ฌาน ๔) เกิดขึ้นด้วยกรรมฐานนี้แล แล้วเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ เมื่อไม่ได้พระขีณาสพนั้น ควรเรียนเอาในสำนักพระอนาคามี เมื่อไม่ได้แม้พระอนาคามีนั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักพระสกทาคามี เมื่อไม่ได้แม้พระสกทาคามีนั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักพระโสดาบัน, เมื่อไม่ได้แม้พระโสดาบันนั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักของท่านผู้ได้จตุตถฌาน ซึ่งมีอานาปานะเป็นอารมณ์ เมื่อไม่ได้ท่านผู้ได้จตุตถฌานแม้นั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักของพระวินิจฉยาจารย์ (อาจารย์ผู้แตกฉาน) ผู้ไม่เลอะเลือนทั้งในบาลีและอรรถกถา
จริงอยู่พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระอรหันต์เป็นต้น ย่อมบอกเฉพาะมรรคที่ตนได้บรรลุแล้วเท่านั้น.ส่วนพระวินิจฉยาจารย์นี้เป็นผู้ไม่เลอะเลือน กำหนดอารมณ์เป็นที่สบายและไม่สบายในอารมณ์ทั้งปวงแล้วจึงบอกให้เหมือนผู้นำไปสู่ทางช้างใหญ่ ในป่าที่รกชัฏฉะนั้น.
วิธีฝึกสมาธิด้วยอานาปานัสสติ
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานัสสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานัสสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗
ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ"
สมถกรรมฐานเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้จิตใจสงบ เป็นสมาธิ ระงับนิวรณ์ซึ่งเป็นตัวขัดขวางจิตไม่ให้บรรลุซึ่งความดีได้ โดยยึดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็มีหลายหลายวิธี เช่นโดยการเพ่งกสิน โดยวิธีจับลมหายใจหรือ ที่เรียกว่าอานาปานสติ ยุบหนอก็
เป็นอานาปานสติด้วยเช่นกัน สมาธิเป็นเสมือนกำลังในการทำวิปัสสนากรรมฐาน การทรงสติให้ได้รวดเร็วนั้น ล้วนอาศัยสมาธิที่เข้มแข็ง เมื่อหวังความหลุดพ้น การปฏิบัติจะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้
อานาปานัสสติ
ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้เป็นแนวทางการฝึกสมาธิที่ข้าพเจ้าปฏิบัติมานับสิบปี นั้นก็คืออานาปานสติ
อานะ คือลมหายใจที่เข้าไปข้างใน อปานะ คือลมหายใจที่ออกไปข้างนอก การรับรู้ลมหายใจที่เข้ามาและลมหายใจที่ออกไปนี้ เป็นอนุสติ ความระลึกได้และความระลึกชอบ
วิธีฝึกอานาปานสติ เป็นข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความรู้ชัดซึ่งความไม่เที่ยง โดยอาศัยการใส่ใจถึงลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเรียกว่า ความรู้เกี่ยวกับความยาวและความสั้น
วิธีปฏิบัติ
โดยวิธีจับลมหายใจ ๓ ฐาน คือ ปลายจมูก หรือเหนือริมฝีปาก - อก - เหนือสะดือสองนิ้ว(ศูนย์กลางกาย) สำหรับนักปฏิบัติใหม่ถ้ามุ่งจับทั้งสามฐานนั้นค่อนข้างจะยาก จะเกิดเป็นความตั้งใจเกินไป จนจิตไม่สงบได้ โดยปกติเมื่อเราปฏิบัติได้ฌาน ๑ เราจะสามารถจับลมหายใจได้สองฐานโดยอัตโนมัติ และเมื่อเราปฏิบัติได้ฌาน ๒ เราจะสามารถจับทั้งสามฐานได้อย่างชัดเจน ขอแนะนำว่าผู้ฝึกใหม่ควรเริ่มต้นจับฐานที่ ๓ ก่อน
การเตรียมความพร้อม
๑.ถือศีลห้าให้ได้ครบทุกข้อ
สมาธินั้นต้องอาศัยศีลเป็นพื้นฐาน สำหรับท่านที่สนใจจะฝึกอย่างน้อยก็ให้ถือศีลห้า เพราะการประพฤติผิดศีลนั้น ทำให้นิวรณ์เข้าครอบงำจิต ทำให้เกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านได้ หรือพึงเป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ ท่านั่ง นั่งท่าใดก็ได้ที่ถนัด ให้นั่งได้นานไม่เมื่อย ถ้านั่งมาตรฐานคือ นั่งขัดสมาด เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายจรดนิ้วชี้มือขวา ปิดเปลือกตาเบา อย่ากดเปลือกตา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ให้อยู่ในอารมณ์สบายๆ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ระลึกถึงบุญกุศลที่เราได้สั่งสมมา แล้วแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย มารู้จักฐานทั้งสามกันเลย
เมื่อเราสูดลมหายใจเข้า ลมหายใจสัมผัสที่ปลายจมูก(ฐานที่ ๑) ผ่านอก(ฐานที่ ๒) และลงไปที่ตำแหน่งเหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้ว(ที่ศูนย์กลางกาย คือฐานที่ ๓) เมื่อหายใจออก ลมหายใจสัมผัสกับฐานที่ ๒ ก็รู้ ฐานที่ ๑ ก็รู้ ฐานที่ ๓ นี้ ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ตั้งของจิต
คำภาวนา
ใช้คำภาวนาใดๆก็ได้ จะเป็น พุท โธ,สัมมาอาระหัง หรือ ยุบหนอพองหนอก็ได้ ส่วน นะมะพะทะ นั้นสำหรับผู้ที่ต้องการเรื่องฤทธิ์ สามารถนำไปใช้ได้
**โดยวิธีให้เสียงภาวนานั้น ดังขึ้นภายในท้อง ณ ตำแหน่งฐานที่ ๓
ขั้นตอนปฏิบัติสำหรับผู้ฝึกใหม่ให้เริ่มต้นที่ฐานที่ ๓
จังหวะหายใจเข้า ณ ตำแหน่งที่ ๓ ให้รับรู้ถึงลมหายใจเข้า พร้อมภาวนาว่า "พุท "
จังหวะหายใจออก ณ ตำแหน่งที่ ๓ ก็รู้ว่าลมหายใจออก พร้อมภาวนาว่า" โธ "
**ในกรณีที่เดินลมหายใจสามฐาน เมื่อลมหายใจผ่านที่ฐานใด ต้องมีสติกำหนดรู้ที่ฐานนั้นๆ หายใจเข้าเราก็รู้ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออก เราก็รู้ว่ากำลังหายใจออก ลมหายใจนั้นสั้นก็รู้ว่า ลมหายใจนั้นสั้น ลมหายใจนั้นยาว ก็รู้ว่า ลมหายใจนั้นยาว ถ้าเรารู้ผลการปฏิบัติก้าวหน้า คำภาวนานั้นจะหยุดหายไปเองโดยอัตโนมัติ เหลือเพียงลมหายใจ ถ้ารับรู้ว่าเราไม่หายใจก็อย่าตกใจ นั้นเป็นสภาวะที่จิตแยกจากร่าง จิตจึงไม่รับรู้อาการของกาย ถ้าถึงขั้นนี้แล้ว ฌาน ๔ ก็อยู่ไม่ไกลแล้ว ฌาน ๔ นับว่าสำคัญมากสำหรับผู้ปราถนาจะไปนรกสวรรค์ การไปนรกสวรรค์นั้น ถ้าไม่ได้ฌาน ๔ ไปไม่ได้เลย ข้อให้ไปอ่านดูตอนที่พระมาลัยท่านไปนรกสวรรค์ท่านก็ไปด้วย อำนาจของฌาน ๔
ข้อควรระวังและเทคนิค
ไม่ควรหายใจยาวหรือสั้นมากเกินไป จะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ถ้าเกิดภาพนิมิต ก็ให้สักแต่ว่าเห็น อย่าไปสนใจหลงไหลในภาพนิมิตรเด็ดขาด ถ้าเราเพ่งดู จะเกิดเป็นอุปทานได้ มารทั้งหลายจะสามารถเข้ามาแทรกได้ หรือให้พิจารณาว่ามันไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าถอนออกจากสมาธิไม่ได้ ให้ใช้วิธีนับถอยหลัง เช่น ๙ ๘ ๗ ๖ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ๐เมื่อนับสิบลงไปเรื่อยๆจนถึงศูนย์แล้วให้ออกจากสมาธิ หรือในคราวต่อไป ให้ตั้งเวลาไว้ก่อนว่าจะนั่งสมาธิเวลาเท่าไหร่ จะนั่งกี่นาที เมื่อถึงเวลาก็จะออกจากสมาธิได้เองลมหายใจที่เข้าออก ที่ตำแหน่งฐานที่ ๓ ถ้าเราไปจับไว้นาน หรือเพ่งมาก จะกลายเป็นฟุ้ง แต่ถ้าเราจับลมหายใจเบาไป ก็จะเกิดอาการหลับ ต้องจับลมหายใจเข้าและออก ตรงนั้นเพียงเบาๆ เหมือนปุยนุ่น แต่อย่าให้ล่องลอย นานเท่าไหร่ยิ่งดี ในสภาวะเช่นนั้น เราจะไม่คิดเรื่องอื่นใดเลย อย่าตกใจกับอาการปีติทั้งหลาย เช่น ตัวโยกโคลง ตัวลอย น้ำตาไหล ขนลุก อย่าไปยึดติดกับสิ่งที่เกิด ให้เห็นว่าเป็นเพียงเรื่องธรรมดา ไม่เที่ยง ไม่นานอาการเหล่านั้นก็จะหายไปเอง ถ้าเกิดแสงสว่างระยิบระยับสวยงาม แต่ไม่แสบตา ให้ดูเฉยๆ อย่าพยายามเพ่ง เช่นเดียวกับการเกิดภาพนิมิต
ข้อปฏิบัติโดยอาศัยอานาปานัสสติ
ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงสภาวะที่ประกอบด้วยวิตก ,วิจารณ์
การรู้ปีติ เป็นสภาวะแห่งทุติยฌาน
การรู้สุขเป็นสภาวะแห่งตติยฌาน
การรู้จิตเป็นสภาวะแห่งจตุตถฌาน
สติปัฏฐาน ๔
-สติปัฏฐานเมื่อเริ่มกำหนดลมหายใจเข้ายาวและลมหายใจออกยาว นั้นคือ กายานุปัสสนา
-สติปัฏฐานที่เริ่มจากการรู้ปีติ คือ เวทนานุปัสสนา
-สติปัฏฐานที่เริ่มจากการรู้จิตคือ จิตตานุปัสสนา
-สติปัฏฐานที่เริ่มการเห็นความไม่เที่ยง คือ ธัมมานุปัสสนา
ดังนั้นบุคคลผู้บำเพ็ญอานาปานติ ได้ชื่อว่าทำให้สติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สัมโพชฌงค์ ๗
บุคคลใดบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ บุคคลนั้นย่อมอยู่อย่างมีสติไม่หลงลืม เรียกว่าสติสัมโพชฌงค์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ พิจารณาทุกขัง อนิจจัง และปรากฏการณ์ทั้งหลาย นั้นเรียกว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อได้สอบสวนธรรมเหล่านั้น เพียรพยายามโดยไม่ย่อหย่อน นั้นเรียกว่า วิริยสัมโพชฌงค์ เมื่อได้เพิ่มความเพียร ทำปีติที่บริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น นั้นเรียกว่า ปีติสัมโพฌชงค์ เพราะจิตประกอบด้วยปิติ กายและจิตย่อมประกอบด้วยความสงบ เรียกว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เพราะมีความสงบ กายของเราย่อมได้รับความสบาย และจิตของเราประกอบด้วยสมาธิ นั้นเรียกว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ เพราะมีสมาธิ จิตย่อมบรรลุความเป็นกลาง นั้นเรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนั้นบุคคลใดปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ได้ชื่อว่าทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
วิมุตติและวิชชา บุคคลใดบำเพ็ญแล้วโดยการปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ ให้มาก ย่อมได้วิชชาและวิมุตติคือมรรคและผล
อานาปานัสสติกรรมฐาน มีอานิสงส์ดังนี้
สามารถตัดเสียซึ่งวิตก มีกามวิตก เป็นต้น เพราะเป็นธรรมอันละเอียดและประณีต
เป็นธรรมเครื่องพักอยู่อันละมุนละไมและเป็นสุขเจริญให้มากทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ เมื่อสติปัฎฐาน ๔ อันบุคคลเจริญให้มากทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ เมื่อบุคคลยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ผู้ที่สำเร็จอรหัตผล โดยอาศัยการเจริญอานาปานสติกรรมฐานเป็นบาท
ย่อมกำหนดรู้ในอายุสังขารของตนว่าจะอยู่ไปได้เท่าไร สามารถรู้กาลเวลาที่จะปรินิพพาน นอนหลับก็เป็นสุข ไม่ดิ้นรน, ตื่นก็เป็นสุข คือมีใจเบิกบาน, มีร่างกายสงบเรียบร้อย
(มีกายไม่โยกโคลง), มีหิริโอตตัปปะ, น่าเลื่อมใส, มีอัธยาศัยประณีต, เป็นที่รักของคนทั้งหลาย ถ้ายังไม่ได้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน เมื่อธาตุขันธ์แตกดับลงก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
พระพุทธองค์ทรงแสดงประโยชน์อานาปานัสสติ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่อุปัฏฐานศาลาประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ ที่จัดไว้ถวายแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แลอันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้ง ขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ ให้อันตรธานสงบไปได้ โดยฉับพลัน ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณ โคนไม้ก็ตาม อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติบ่ายหน้าสู่กรรมฐาน
ภิกษุนั้นย่อมมีสติ หายใจเข้า ก็มีสติ หายใจออก ก็มีสติ
เมื่อ หายใจเข้ายาว ก็รู้สึกว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อ หายใจออกยาว ก็รู้สึกว่า หายใจออกยาว
เมื่อ หายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกว่า หายใจเข้าสั้น
เมื่อ หายใจออกสั้น ก็รู้สึกว่า หายใจออกสั้น
คอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวง หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวง" หายใจออก
ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า " เราจักระงับกายสังขาร" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักระงับกายสังขาร "
หายใจออก ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติ" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติ" หายใจออก
ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งสุข" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งสุข" หายใจออก
ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขาร" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขาร" หายใจออก
ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักระงับจิตสังขาร" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักระงับจิตสังขาร" หายใจออก
ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งจิต" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักรู้แจ้งซึ่งจิต" หายใจออก
ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักยังจิตให้บันเทิง" หายใจเข้า ย่อมคอเอาใจใส่ว่า "เราจักยังจิตให้บรรเทิง" หายใจออก
ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักตั้งจิตไว้มั่น" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักตั้งจิตไว้มั่น" หายใจออก
ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักปล่อยจิต" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักปล่อยจิต" หายใจออก
ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยง" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักพิจารณาเห็นธรรมอัน ไม่เที่ยง" หายใจออก ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักพิจารณาเห็นวิราคะ" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักพิจารณา
เห็นวิราคะ" หายใจออก ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักพิจารณาเห็นนิโรธ" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักพิจารณา เห็นนิโรธ" หายใจออก ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะ" หายใจเข้า ย่อมคอยเอาใจใส่ว่า "เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะ" หายใจออก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน.
บทแนะนำการนั่งสมาธิ
ขั้นตอนในการฝึกนั่งสมาธิแบบอานาปานัสสติ
๑.อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเพื่อจะทำให้จิตจิตผ่องใส ผู้ที่อาบมาแล้วไม่ต้องอาบอีก
๒.ให้รับศีล ๕ ก่อน เพื่อจะทำให้ศีลสมบูรณ์ เพราะศีลเป็นรากเหง้าของสมาธิ ถ้าศีลไม่สมบูรณ์จิตใจก็จะฟุ้งซ่านมากสมาธิก็จะเกิดได้ยาก
๓.ให้ไหว้พระสวดมนต์สักเล็กน้อยเพื่อทำให้จิตเกิดขณิกะสมาธิ
๔.ให้กล่าวคำสมาทานกรรมฐานมีดังนี้
คำสมาทานกรรมฐาน
๐อิมาหัง ภันเต ภะคะวา อัตตะภาวัง ตัสสะ ภะคะวะโต ปะริจจัชชามิ ฯ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบอัตภาพร่างกายและชีวิต แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ตามเวลาอันสมควรต่อไป ฯ
๐อิมาหัง ภันเต อาจะริยะ อัตตะภาวัง อาจะริยัสสะ ปะริจจัชชามิ ฯ
ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบอัตภาพร่างกายและชีวิต ถวายต่อท่านพระอาจารย์ ขอพระอาจารย์โปรดให้พระกรรมฐาน แก่พวกข้าพเจ้า เพื่อจะได้ปฏิบัติในโอกาสอันสมควรต่อไป ฯ
๐นิพพานัสสะ เม ภันเต สัจฉิกะระณัตถายะ สมถวิปัสสนากัมมัฏฐานัง เทหิ ฯ
อุกาสะ อุกาสะ สาธุ สาธุ ณ โอกาสบัดนี้ ข้าพเจ้าจะขอสมาทานเอา ซึ่งพระกรรมฐานทั้ง ๒ คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ขอขณิกะสมาธิ อุปะจาระสมาธิ อัปปะณาสมาธิ จงบังเกิดมีในจิตตะสันดานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตั้งสติกำหนดไว้ ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ารู้ ลมหายใจออกรู้ รู้สามหนและเจ็ดหน รู้ร้อยหนและพันหน ด้วยความไม่ประมาท ขอวิปัสสนาญาณ คือดวงธรรมอันประเสริฐ จงบังเกิดมีใน จักขุทะวาร โสตะทะวาร ฆานะทะวาร ชิวหาทะวาร กายะทะวาร มะโนทะวาร ของข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเทอญ ฯ
๕.วิธีนั่งสมาธิ
๕.๑ การนั่งสมาธิ ให้นั่งขัดสมาธิ ตามแบบพระพุทธรูป คือเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางมือขวาทับมือซ้ายไว้บันหน้าตัก
๕.๒ ตั้งกายให้ตรง อย่าให้ก้มนักเงยนัก อย่าให้เอียงซ้ายเอียงขวาจนผิดธรรมดาไม่กดหรือเก็งอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป อันเป็นมันจะเป็นการบังคับให้ตัวเองลำบาก ปล่อยวางอวัยวะทุกส่วนไว้ตามปกติ
๕.๓ ให้ระลึกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ ครั้ง อันเป็นองค์พระรัตนตรัย แล้วสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ๓ ครั้ง สูดเข้าไปแล้วให้ปล่อยออกมาเบาๆ
๕.๔ ให้นึกคำบริกรรมภาวนาโดยกำหนดเอาเพียงบทเดียวติดต่อกันไป ด้วยความมีสติ เช่น นึกว่า "พุทโธ พุทโธ พุทโธ" เป็นต้น ให้นึกเป็น พุท เข้า โธ ออก คือในเวลาหายใจเข้าให้ว่า "พุท" เวลาหายใจออกให้ว่า "โธ" ให้บริกรรมภาวนา เช่นนี้สืบเนื่องกันไปเรื่อยๆด้วยความมีสติจนจิตสงบจากความฟุ้งซ่าน และพยายามทำความรู้สึกตัวอยู่กับพุทเข้า - โธออก พุท เข้า-โธออก พุทเข้า - โธออก อย่าให้จิตใจคิดวอกแวกเผลอตัวไปสู่อารมณ์อื่นโดยเด็ดขาด ระหว่างจิต สติ กับคำบริกรรม ทำให้มีความกลมกลืนกันได้เพียงไร ยิ่งเป็นความมุ่งหมายของการภาวนาเพียงนั้น ผลคือความสงบเยือกเย็นใจจะพึงเกิดขึ้น
คำบริกรรมจะใช้อะไรก็ได้ตามแต่เราชอบ บางคนอาจจะชอบ สัมมา - อรหัง บางคนอาจจะชอบ ยุบหนอ - พองหนอ บางคนอาจจะชอบ นะ มะ - พะ ทะ อย่างนี้ก็ได้ ถ้าคนไหนต้องการให้ตนเองเกิดฤทธิ์อำนาจต้องให้เอา นะ มะ พะ ทะ เป็นคำภาวนาให้ภาวนาไปเรื่อยๆจนจิตสงบ พอภาวนาไปได้สักระยะหนึ่งจิตจะเริ่มอยู่ตัวขึ้นเรื่อย ๆ ลมหายใจจะ ค่อย ๆ ละเอียดขึ้นและแผ่วเบาลง ซึ่งจะมีลักษณะไม่สอดคล้องกับคำภาวนา ก็ไม่ต้องสนใจ ภาวนาไปอย่างเดียว โดยที่คำภาวนาในตอนนี้จะมีลักษณะที่ถี่ขึ้นและอาจมีอาการปีติอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดมากขึ้น ต่อจากนั้นคำภาวนาทั้งหลายอาจจะหายไปเลยก็ได้ ถ้ามีอาการเป็นเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าจิตตั้งอยู่ในองค์ฌานแล้ว ในขณะที่มีลมหายใจแผ่วเบาลงจนละเอียดนี้ปีติ ๕ ก็จะเกิดขึ้นอาการของมันจะมีลักษณะดังนี้
๑.ขนลุกชูชัน
๒.ตัวไหวโยกโครง
๓. น้ำตาไหลริน
๔.เหมือนกายขยายไปรอบข้าง
๕. เหมือนกายขยายสูงขึ้น หากมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้น ผู้ฝึกไม่ต้องตกใจหรือกังวลใดๆ เพราะเมื่อชินแล้วจะหายไปเอง
๖.ในขณะนั่งสมาธินั้นโปรดระวังนิวรณ์ ๕ ให้ดีเพราะนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ เป็นตัวขวางกั้นหรือปิดกั้นไม่ให้บรรลุถึงฌานและอภิญญา เป็นอุปสรรคตัวสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมไม่ได้หรืออาจจะทำให้เลิกล้มความตั้งใจในการปฏิบัติธรรมไปเลยก็ได้
นิวรณ์มี ๕ อย่าง คือ:-
๑.กามฉันทะ คือความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง
๒.พยาบาท คือความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปราถณาในโลกียะสมบัติทั้งปวง
๓.ถีนมิทธะ คือความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายและใจ ไม่ฮึกเหิม
๔.อุทธัจจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน ความไม่สงบนิ่งแห่งจิตใจ กระวนกระวายใจ
๕.วิจิกิจฉา คือความไม่แน่ใจ ความลังเลใจ สงสัย กังวล กล้าๆกลัว ไม่เต็มร้อย ไม่มั่นใจในธรรม
๗.ภาพนิมิต คือภาพที่แสดงผลกรรมที่จิตบันทึกไว้ในอดีต
ในการปฏิบัติสมาธิภาวนานั้น... โดยทั่วไปเมื่อจิตกำลังจะสงบ ผู้ปฏิบัติมักจะพบว่ามีภาพนิมิตปรากฏขึ้นมาภายในจิต ซึ่งหากเป็นกรณีของผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาใหม่ๆ ด้วยแล้ว บางครั้งภาพนิมิตเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
บรรดาภาพนิมิตที่ปรากฏขึ้นมาภายในจิตล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการ อบรมจิตให้เกิดสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำสมาธิของผู้ปฏิบัติด้วยอุบายวิธีการเพ่งกสิณ ซึ่งต้องอาศัยภาพนิมิต หรือที่เรียกว่า “ภาพกสิณนิมิต” เพื่ออบรมจิตให้เข้าถึง
ภาวะสมาธิ โดยมุ่งเน้นในการทำให้ภาพนิมิตเหล่านั้นเกิดความชัดเจนมากที่สุด จนกระทั่งราวกับมองเห็นภาพนั้นด้วยตาเนื้อของเราจริงๆ เพราะถ้าภาพนิมิตยิ่งมีความชัดเจนมากเท่าใด... สมาธิจิตก็จะยิ่งมีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น
ภาพนิมิตในเบื้องต้นเปรียบได้กับภาพที่เรามองเห็นในคืนเดือนมืด คือเป็นภาพนิมิตที่พอเห็นบ้างรางๆ แต่หากจิตมีความเข้มแข็งมากขึ้น ภาพนิมิตก็จะพัฒนาจากภาพรางๆ ในคืนเดือนมืด มาเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นราวกับภาพที่มองเห็นในคืนเดือนเพ็ญ แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ... ผู้ปฏิบัติจะต้องพัฒนากำลังสมาธิจนกระทั่งภาพนิมิตนั้นปรากฏเห็นแจ่มชัดราวกับมองเห็นด้วยตาเนื้อในตอนกลางวัน ภาพนิมิตจึงจะมีกำลังสูงสุด
ครูบาอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถในการฝึกอบรมสมาธิได้กล่าวถึงภาพนิมิตในสมาธิเอาไว้ว่า ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติจะต้องปรับภาพนิมิต ที่ปรากฏขึ้น ให้มีความแจ่มชัดมากที่สุด นอกจากนี้ ท่านยังได้กำหนดความชัดเจนของภาพนิมิตที่ปรากฏขึ้นภายในจิตขณะจิตกำลังเข้าสู่สมาธิออกเป็นสามระดับคือ ระดับเบื้องต้น ระดับกลาง และระดับสูง โดยปกติแล้วภาพนิมิตมักจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการอบรมจิตด้วยอุบายการเพ่งกสิณเป็นหลัก ส่วนการอบรมจิตด้วยอุบายกรรมฐานกองอื่นๆ นั้นก็อาจเกิดภาพนิมิตขึ้นภายในจิตได้เหมือนกัน แต่ไม่เด่นชัดเท่ากับผู้ปฏิบัติสายการเพ่งกสิณ เพราะภาพนิมิตเป็นเครื่องหมายของการสำเร็จกสิณโดยตรง อาทิเช่น การเพ่งภาพถ่าย เพ่งวัตถุ เพ่งเปลวเทียน เพ่งดิน เพ่งน้ำ เพ่งอากาศ ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการเพ่งเพื่อการจดจำภาพเหล่านั้นให้เกิดเป็นภาพนิมิตขึ้นภายในจิตใจทั้งสิ้น นอกจากภาพนิมิตกสิณที่ถูกกำหนดขึ้นมาให้เป็นเครื่องรู้ของจิตแล้ว ก็ยังมีภาพนิมิตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของจิต ซึ่งภาพนิมิตเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายในจิตใต้สำนึก อันเป็นภาวะที่ลึกเกินกว่าภาวะของจิตสำนึกโดยปกติจะเข้าถึงได้
ดวงจิตของเราจึงเปรียบเสมือนเครื่องบันทึกภาพแห่งกรรมต่างๆ ที่เราได้กระทำเอาไว้ในอดีต ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยไปนานแสนนานเท่าใด แต่ดวงจิตก็ยังคงเก็บบันทึกข้อมูลกรรมทั้งหลายเหล่านั้นเอาไว้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้นถึงแม้ว่าเราอาจจะหลอกคนทั้งโลกได้ แต่เราก็ไม่อาจที่จะหลอกดวงจิตของตัวเองได้
กรรมใดก็ตามที่เราเคยทำมาล้วนถูกดวงจิตของเราเก็บบันทึกเอาไว้หมดสิ้น เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจิตดวงนี้ได้ถูกบันทึกเอาไว้ภายในดวงจิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยสูญหายไปไหน เพราะว่ามันเกี่ยวเนื่องกับระบบกรรมที่เราจะต้องมาชดใช้ คือมีทั้งกรรมดีที่ส่งผลเป็นความสุข และกรรมชั่วที่ส่งผลเป็นความทุกข์ กรรมทั้งสองนี้ถึงแม้จะส่งผลต่างกัน แต่เป็นต้นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน เมื่อจิตได้รับการอบรมจนกระทั่งเกิดอาการสงบ ดวงจิตก็จะสามารถค้นพบแหล่งของข้อมูลการเวียนว่ายตายเกิดนี้ได้ โดยจะปรากฏเป็นภาพนิมิต แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นกระบวนการอบรมจิตที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะค้นพบข้อมูลในการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างแท้จริง หากเป็นการอบรมสมาธิด้วยวิธีการจูงจิตหรือการสะกดจิตแล้ว ภาพนิมิตที่ผู้ปฏิบัติเห็นจะเป็นเพียงภาพมายาคือภาพลวงตาที่จิตของผู้ปฏิบัติสร้างจินตนาการขึ้นมานั่นเอง ด้วยอำนาจของการจูงจิตของนักสะกดจิตหรืออาจารย์ที่ใช้วิชาจูงจิต ดังนั้นภาพนิมิตที่ปรากฏขึ้นภายในจิตจึงมิใช่ของจริง แต่เป็นเพียงภาพนิมิตที่จิตของเราสร้างขึ้นมาเอง
ครูบาอาจารย์หลายท่านจึงได้กล่าวถึงภาพนิมิตที่เกิดขึ้นจากวิธีการจูงจิตว่า “ท่านเห็นภาพนิมิตจริง แต่สิ่งที่ท่านเห็นนั้นมันไม่ใช่ของจริง” เพราะว่าในการใช้คำพูดชักจูงจิตจนปรากฏเป็นภาพนิมิตขึ้นนั้น ภาพนิมิตดังกล่าวจะเป็นภาพที่เกิดจากจินตนาการปรุงแต่งของจิต... สิ่งที่เห็นจึงมิใช่ความจริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งด้วยอำนาจแห่งการจูงจิตเท่านั้น
สุดท้ายบรรดาภาพนิมิตทั้งหลายจึงเป็นเพียงทางผ่านของจิตเพื่ออบรมจิตให้เกิดความรู้แจ้งในธรรมตามลำดับขั้นภูมิของแต่ละคน ซึ่งเมื่อรู้แล้ว เห็นแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ถึงเวลาที่ผู้ปฏิบัติจะต้องปล่อยวาง เพราะหากผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดหลงไปยึดมั่นถือมั่นและยึดเอามาเป็นคุณวิเศษของตนแล้ว ท่านย่อมกำลังจะเดินหลงทาง เดินผิดทาง และกำลังจะเดินออกนอกทางแห่งการหลุดพ้นไปเสียแล้ว...
๖.การเดินจงกลม
การนั่งสมาธิที่ถูกต้องจะต้องมีการเดินจงกลมประกอบด้วยเสมอเพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ การนั่งสมาธิที่ไม่มีการเดินจงกลมประกอบสมาธินั้นสมาธิจะเกิดได้ช้า และการนั่งสมาธินานๆโดยไม่มีการเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดโรคมึนชาตามแข้งตามขาตามมือและเท้า นานเข้าอาจจะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ท่านผู้อ่านคงเคยเห็นเกจิอาจารย์บางรูปท่านเป็นอัมพฤษ์อัมพาตเดินไม่ได้ เช่น หลวงปู่ชอบ แห่งวัดโคกมน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย การเดินจงกลมก็คือการฝึกใช้สติสัมปชัญญะ สติคือความระลึกได้ และสัมปชัญญะ คือความรู้ตัว รู้ว่าในขณะนี้เรากำลังอยู่ในอิริยาบถอะไร ถ้าท่านผู้อ่านทั้งหลายเอาสติสัมปชัญญะติดตามดูการเคลื่อนไหวของอิริยาบถทั้ง ๙ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่ตลอดเวลาสมาธิจะเกิดได้เร็ว และสมาธินั้นก็จะเสถียรไม่แปรเปลี่ยนไปง่าย
ลักษณะของการเดินจงกลม
อานิสงส์ของการเดินจงกรม ๕ ประการ คือ:-
๑.อทฺธานกฺขโม โหติ =ทำให้เป็นผู้เดินทางไกลได้ทน
๒.ปธานกฺขโม โหติ =ทำให้เป็นผู้ทำความเพียรได้ทน
๓.อปฺปพาโธ โหติ =ทำให้เป็นผู้มีความเจ็บไข้น้อย
๔.อสิตํ ปีตํ ขายิตํ สายิตํ สมฺมา ปริณามํ คจฺฉติ =ทำให้อาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยวแล้ว ย่อยได้ดี
๕.จงฺกมาธิคโต สมาธิ จิรฎฺฐิติโก โหติ =สมาธิที่บรรลุในขณะเดินจงกรมนั้นจะตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ได้นาน
-การเดินจงกลมให้ยืนตัวตรง มือทั้งสองข้างเหยียดตรงลงไปที่หน้าท้องมือขวาไขว้ทับมือซ้ายที่หน้าท้อง สายตามองทอดลงไปที่พื้นดินห่างจากตัวเราประมาณ ๑ วา ห้ามก้มหน้าเงยหน้าต่ำและสูงเกินไป ห้ามเหลียวซ้ายแลขวา การเดินต้องเดินช้าๆเป็นจังหวะเหมือนกับการเดินของช้างเดิน มี ๒ ขั้นตอน คือ:-
๑.เดินจังหวะเดียว คือเวลายกเท้าเดินก็ให้มีสติรู้ว่าเรากำลังยกเท้าเดินเช่น เวลายกเท้าขวาเดินก็ให้รู้ว่า "ขวาย่าง" เวลายกเท้าซ้ายเดินก็ให้รู้ว่า "ซ้ายย่าง" ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงเวลาที่เรากำหนดเอาไว้เช่นกำหนดว่าเราจะเดินจงกลม ๑ ชั่วโมง เมื่อหมดชั่วโมงแล้วก็ให้หยุด เช่นกำหนดว่าเราจะเดินจงกลมเวลา ๙ โมง ถึง ๑๐ โมงเช้า เมื่อถึงเวลาแล้วให้หยุดเดินในทันที่ ต้องฝึกให้ตนเองเป็นคนตรงต่อเวลาด้วย การนั่งสมาธิและการเดินจงกลมจะต้องเป็นคนซื่อตรงและมีสัจจะข้อนี้จะขาดเสียมิได้ ถ้าท่านขาดธรรมะ ๒ ข้อนี้การนั่งสมาธิจะสำเร็จได้ยาก การเดินจงกลมและการนั่งสมาธิต้องให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกันเช่น ถ้าเรานั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง ก็ให้เดินจงกลม ๑ ชั่วโมง สลับกันไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าเดินจังหวะเดียวคล่องตัวแล้วก็ให้เปลี่ยนเป็นการเดิน ๓ จังหวะจงดูในข้อที่ ๒
๒.เดินสามจังหวะ คือเวลายกเท้าขวาเดินก็ให้มีสติรู้ว่า "ยกเท้าขึ้น - ย่างไป - เหยียบลงที่พื้น เวลายกเท้าซ้ายเดินก็ให้มีสติรู้ว่า "ยก - ย่าง - เหยียบ เดินช้าๆอย่าเดินเร็ว" ให้ทำในนองนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเวลาที่อธิษฐานเอาไว้ เช่นอธิษฐานว่า "ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง และจะเดินจงกลม ๑ ชั่วโมง" ถ้าไม่ใช้นาฬิกาจะใช้ธูปก็ได้ คือเวลาจะนั่งสมาธิก็จุดธูปหนึ่งดอกแล้วตั้งสัจจะอธิษฐานว่า "เมื่อธูปดอกนี้ไหม้หมดแล้วข้าพเจ้าจึงจะออกจากสมาธิ" และเวลาจะเดินจงกลมก็ให้จุดธูปดอกหนึ่งแล้วตั้งสัจจะอธิษฐานว่า "เมื่อธูปดอกนี้ไหม้หมดแล้วข้าพเจ้าก็จะหยุดเดินจงกลม" ให้ทำโดยทำนองนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
การฝึกสมถกรรมฐาน
เด็กสาวฝรั่งคนนี้กำลังนั่งฝึกกสิณลม
https://pantip.com/topic/34138616
สมถกรรมฐาน แปลว่า "ที่ตั้งแห่งการงานที่ทำให้จิตใจสงบ" สมถกรรมฐานแบ่งออกเป็น ๗ หมวด คือ:-
๑.กสิณ ๑๐
๒.อสุภ ๑๐
๓.อนุสสติ ๑๐
๔.พรหมวิหาร ๔
๕.อรูป ๔
๖.อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
๗.จตุธาตุววัฏฐาน ๑
ในที่นี้ข้าพเจ้ามุ่งที่จะแสดงเกี่ยวกับกสิณ ๑๐ โดยเฉพาะหมวดเดียว หมวดอื่นข้าพเจ้าจะไม่แตะต้อง เพราะหมวดอื่นข้าพเจ้าได้แสดงไว้อย่างละเอียดแล้วโปรดอ่านดูข้างบนของหนังสือเล่มนี้
กสิณ ๑๐ เป็นที่ตั้งแห่งการงานที่ทำให้จิตเกิดความสงบได้เร็วและสมาธิที่เกิดจากกสิณก็เป็นสมาธิที่ยั่งยืนไม่ผันแปรไปง่าย กสิณแปลว่า "การเพ่ง" คือให้เพ่งในเครื่องเพ่ง ๑๐ อย่างนี้ คือ:-
๑.ปฐวีกสิณ คือการเพ่งดิน
๒.อาโปกสิณ คือการเพ่งนํ้า
๓.เตโชกสิณ คือการเพ่งไฟ
๔.วาโยกสิณ คือการเพ่งลม
๕.นีลกสิณ คือการเพ่งสีเขียว
๖.โลหิตกสิณ คือการเพ่งสีแดง
๗.ปีตกสิณ คือการเพ่งสีเหลือง
๘.โอทากสิณ คือการเพ่งสีขาว
๙.โอโลกกสิณ คือการเพ่งแสงสว่าง
๑๐.อากาสกสิณ คือการเพ่งอากาศ
ปฐวีกสิณ
กสิณนี้ ท่านเรียกว่า "ปฐวีกสิณ" เพราะมีการเพ่งดินเป็นอารมณ์ ศัพท์ว่า "ปฐวี" แปลว่า "ดิน" กสิณแปลว่า "เพ่ง" รวมความ
แล้วเรียกว่า "เพ่งดิน"
เครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพ่งกสิณ
ปฐวีกสิณนี้ มีดินเป็นอุปการณ์ในการเพ่ง จะเพ่งดินที่เป็นพื้นลานดิน ที่ทำให้เตียนสะอาดจากผงธุลีแล้ว หรือจะทำเป็นสะดึงยกไปมาได้ก็ใช้ได้ทั้งสองอย่าง ดินที่จะเอามาทำ เป็นดวงกสิณนั้น ท่านให้ใช้ดินสีอรุณอย่างเดียว ดินสีอรุณก็คือดินที่มีสีแดงประดุจดังสีของพระอาทิตย์ในเวลารุ่งเช้า ห้ามเอาดินสีอื่นมาปน ถ้าจำเป็นหาดินสีอรุณไม่ได้ ก็ให้เอาดินสีอื่นรองไว้ข้างล่างแล้วเอาดินสีอรุณทาทับได้ข้างบน ดินสีอรุณนี้ท่านโบราณาจารย์ว่าหาได้จากดินขุยปู เพราะปูขุดเอาดินสีอรุณขึ้นไว้ปากช่องรูของมันเมื่อหาดินได้ครบแล้วต้องทำสะดึงเป็นรูปกลมๆตามขนาดดังนี้ ถ้าทำเป็นลายติดพื้นดินก็มีขนาดเท่ากัน
ขนาดของวงกสิณ
วงกสิณที่ทำเป็นวงกลมสำหรับเพ่งนั้นอย่างใหญ่ให้ทำได้ไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ๔ นิ้ว อย่างเล็กไม่เล็กกว่าขอบขัน ระยะนั่งเพ่งบริกรรม ท่านให้นั่งไม่ใกล้ไม่ไกลกว่า ๒ คืบ ๔ นิ้ว ตั่งที่รองวงกสิณ ท่านให้สูงได้ไม่เกิน ๒ คืบ ๔นิ้ว ทำให้เป็นระยะที่พอเหมาะพอดี เพราะจะได้ไม่มองเห็นรอยที่ปรากฏบนดวงกสิณ ที่จัดว่าเป็นกสิณโทษ เวลาเพ่งกำหนดจดจำ จะทำให้มุ่งจำ แต่สีของดินเท่านั้นไม่ให้คำนึงถึงสิ่งของและริ้วรอยต่างๆ
กิจก่อนการเพ่งกสิณ
เมื่อจัดเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว ให้ชำระร่างกายให้สะอาดแล้วนั่งขัดสมาธิ หลับตาพิจารณาโทษของกามคุณ ๕ ประการตามนัยที่กล่าวไว้ในอสุภกรรมฐาน ต้องการทรายละเอียดให้เปิดไปที่บทว่าด้วยอสุภกรรมฐานจะทรายละเอียด เมื่อพิจารณาโทษของ
กามคุณจนจิตสงบจากนิวรณ์แล้ว ให้ลืมตาขึ้นจ้องมองภาพกสิณ จดจำให้ติดตาจนคิดว่าจำได้ดีแล้ว ก็หลับตาใหม่กำหนดภาพกสิณไว้ในใจภาวนาเป็นเครื่องผูกใจไว้ว่า "ปฐวีกสิณ" เมื่อเห็นว่าภาพกสิณเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่ เมื่อจำได้แล้วก็หลับตาภาวนา
กำหนดจดจำภาพนั้นต่อไปทำอย่างนี้บ่อยๆ หลายร้อยหลายพันครั้งไม่จำกัดว่าจะเป็นกี่ครั้ง จนกว่าอารมณ์ของใจจะจดจำภาพกสิณไว้ได้เป็นอย่างดี จะเพ่งมองดูหรือไม่ก็ตาม ภาพกสิณนั้นก็จะติดตาติดใจ นึกเห็นภาพกสิณได้ชัดเจนทุกขณะที่ปรารถนา จะเห็นติดตาติดใจตลอดเวลาอย่างนี้ เรียกว่า "อุคคหนิมิต " แปลว่านิมิตติดตา อุคคหนิมิตนี้ ยังมีกสิณโทษอยู่มาก คือภาพที่เห็นเป้นภาพดินตามที่ทำไว้และขอบวงกลมของสะดึงย่อมปรากฏริ้วรอยต่างๆ เมื่อเข้าถึงอุคคหนิมิตแล้วให้เร่งระมัดระวังรักษาอารมณ์สมาธิและนิมิตนั้นไว้จนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตคือนิมิตที่นึกขยายเล็กใหญ่ได้ตามปราถนา รูปและสีของกสิณเปลี่ยนจากเดิม คือกสิณทำ เป็นวงกลมด้วยดิน แดงนั้น จะกลายเป็นเสมือนแว่นแก้ว มีสีใสสะอาดผ่องใสคล้ายนํ้าที่กลิ้งอยู่ในใบบัวฉะนั้น รูปนั้นบางท่านกล่าวว่าคล้ายดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆหมอกปิดบัง เอากันง่ายๆ ก็คือ เหมือนแล้วที่สะอาดนั้นเอง รูปคล้ายแว่นแก้ว จะกำ หนดจิตให้เล็กโตสูงตํ่าได้ตามความประสงค์อย่างนี้เรียกปฏิภาคนิมิต เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วท่านให้นักปฏิบัติเก็บตัว อย่ามั่วสุมกับนักคุยทั้งหลาย จงรักษาอารมณ์รักษาใจให้อยู่ในขอบเขตของสมาธิเป็นอันดี อย่าใสใจอารมณ์ของนิวรณ์แม้แต่น้อยหนึ่ง เพราะแม้นิดเดียวของนิวรณ์ อาจจะทำอารมณ์สมาธิที่กำลังจะเข้าสู่ระดับฌานนี้สลายตัวได้โดยฉับพลัน ของท่านนักปฏิบัติจงระมัดระวังอารมณ์ รักษาปฏิภาคนิมิตไว้ คล้ายกับระมัดระวังบุตรสุดที่รักที่เกิดในวันนั้น
นิมิต
นิมิต แปลว่า "เครื่องหมาย"
นิมิต มี 3 อย่าง คือ:-
๑.บริกรรมนิมิต คือเครื่องหมายสำหรับการท่องบ่นอยู่ในใจ เช่น อนุสสติ ๑๐ ให้บริกรรมว่า "พุท โธ พุท โธ พุท โธ" กสิณ ๑๐ ให้บริกรรมว่า "ปฐวี กสิณัง" "อาโป กสิณัง" "เตโช กสิณัง" "วาโย กสิณัง" แล้วแต่จะเลือกเอาคำบริกรรมตัวไหนก็ได้
-บริกรรมนิมิต คือ นิมิตที่เราสร้างขึ้นมา เป็นมโนภาพ เช่น นึกถึงพระพุทธรูป เราก็วาดมโนภาพเป็นองค์พระพุทธรูปขึ้นในใจ แม้จะเห็นลัวๆ ลางๆ เป็นเค้าโครงรูปร่างไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร แต่ถ้าเราประคองไปเรื่อยๆ อย่างสบายใจ และภาวนาว่า “พุทโธ” ไปด้วย นึกถึงบริกรรมนิมิตไปด้วย ไม่ช้าบริกรรมนิมิตนั้นก็จะชัดเจนขึ้น
๒.อุคหนิมิต คือเครื่องหมายที่ติดตา ได้แก่อารมณ์ที่ติดตาติดใจ หลังจากทีได้เพ่งพิจารณาบริกรรมนิมิตเช่นเพ่งกสิณแล้ว แม้หลับตาอยู่ก็สามารถเห็นนิมิตนั้นได้ชัดเจนเหมือนลืมตาเรียกว่า "นิมิตติดตา" ก็มี
-อุคคหนิมิต คือ นิมิตที่เราจำลองจากข้างนอกเข้าไปสู่ข้างในได้ ลักษณะพระพุทธรูปข้างนอกเป็นอย่างไร ลักษณะพระพุทธรูปภายในก็เป็นเช่นนั้น คือจะเห็นได้ชัดเจน ๑๐๐ % เหมือนกับลืมตาเห็นเลย ในขั้นที่ชัดเจนเหมือนลืมตาเห็นนี้เรียกว่า "อุคคหนิมิต" เมื่อใจหยุดนิ่งเป็นอัปปนาสมาธินิ่งแน่น ร่างกายเหมือนถูกตรึงติดไว้กับพื้น ไม่ขยับเขยื้อนเลย ใจไม่ซัดส่าย ไม่คิดไปในเรื่องราวต่างๆ ตรึกติดกับภาพนิมิตนั้น จะเป็นดวงแก้วก็ตาม องค์พระก็ตาม ตรึงติดอย่างแนบแน่นคือนึกถึงเวลาไหนก็เห็นเวลานั้น
๓.ปฏิภาคนิมิต คือเครื่องหมายเทียบเคียงหรืออารมณ์เทียบเคียง เกิดจากอุคหนิมิตที่ติดตาติดใจจนใสบริสุทธิ์แล้ว และสามารถที่จะย่อหรือขยายส่วนแห่งนิมิตนั้นได้ตามต้องการ
-ปฏิภาคนิมิต ถ้าใจละเอียดอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป นิมิตนั้นจะนุ่มนวล พอถึงขั้นปฏิภาคนิมิต ถ้าเป็นดวงแก้วก็จะใส สว่าง มีแสงออก มีรัศมีออกมาสว่างเจิดจ้า นุ่มนวล ฟองเบา เหมือนฟองสบู่อย่างนั้น ถ้าหากเป็นองค์พระก็จะสุกใส ใสยิ่งกว่าเพชร สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ในเลาเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น พอถึงขั้นนี้นิมิตจะขยายใหญ่ขึ้น จะนึกให้เล็กลง ก็เล็กได้ จะนึกขยายก็ขยายใหญ่ได้ นี้เรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต"
จิตเข้าสู่ระดับฌาน
เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้วจิตก็เข้าสู่ระดับฌาน อารมณ์ของฌานในกสิณทั้ง ๑๐ อย่างนั้นมีดังนี้ ฌานในกสิณนี้ท่านเรียกเป็นฌาน ๔ บ้างฌาน ๕ บ้าง เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิด จะอธิบายฌาน ๔ และฌาน ๕ ให้เขาใจเสียก่อน ฌาน ๔ เรียกว่า "จตุตถฌาน" ถืออารมณ์ ๔ อย่าง คือ:-
๑.ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ ๑ วิตก ๒ วิจาร ๓ ปีติ ๔ สุข ๕ เอกัคคตา
๒.ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ละวิตกและวิจารณ์ได้ ก็จะดำรงอยู่ในองค์ฌาน ๓ คือ ๑ ปีติ ๒ สุข ๓ เอกัคคตา
๓.ตติยฌาน มีองค์ ๒ ละวิตก วิจาร และปีติได้ ดำรงอยู่ใน ๑ สุข ๒ เอกัคคตา
๔. จตุตถฌาน มีองค์ ๒ ละวิตก วิจาร ปีติ สุข ได้ คงเหลืออยู่แต่เอกัคคตา กับเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก ๑ ฌาน ๔ หรือที่เรียกว่ากสิณทั้งหมดเข้าถึงได้ซึ่งฌาน ๔ สำหรับในที่บางแห่งกสิณทั้งหมดเข้าถึงได้ซึ่งฌาน ๕ ดังต่อไปนี้
ฌาน ๕
๑.ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ ๑วิตก ๒ วิจาร ๓ ปีติ ๔ สุข ๕ เอกัคคตา
๒.ทุติยฌาน มีองค์ ๔ คือละวิตกได้ คงเหลือแต่ ๑ วิจาร ๒ ปีติ ๓ สุข ๔ เอกัคคตา
๓.ตติยฌาน มีองค์ ๓ คือละวิตก วิจาร ได้ คงเหลือแต่ ๑ ปีติ ๒ สุข ๓ เอกัคคตา
๔.จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือละวิตก วิจาร ปีติได้ คงเหลือแต่ ๑ สุข ๒ เอกัคคตา
๕.ฌานห้า หรือที่เรียกว่าปัญจมฌาน ละวิตก วิจาร ปีติ สุข ได้ คงเหลือแต่เอกัคคตา และได้เพิ่มอุเบกขา เข้ามาอีกตัวหนึ่ง จึงเหลือองค์ฌาน ๒ ตัวคือ เอกัคคตาและอุเบกขา
ฌาน ๔ และฌาน ๕ มีความแตกต่างกันอย่างไร ขอให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายโปรดพิจารณาดูให้ดีจะได้ไม่เข้าใจผิด
เมื่อพิจารณาดูแล้วฌาน ๔ กับฌาน ๕ ก็มีสภาพอารมณ์เหมือนกัน ผิดกันนิดหน่อยก็แต่ที่ฌาน ๒ ละได้องค์เดียว ส่วนฌาน ๓ ละ ๒ องค์ ฌาน ๔ ละได้ ๓ องค์ มาถึงฌาน ๕ ก็มีสภาพเหมือนฌาน ๔ ตามนัยนั่นเอง อารมณ์ฌานมีอาการเหมือนกันในตอนสุดท้าย อารมณ์อย่างนี้ แยกเรียกเป็นฌาน ๔ หรือ ฌาน ๕ เพื่ออะไรไม่เข้าใจเหมือนกัน กสิณนี้ถ้าท่านผู้ปฏิบัติทำให้ถึงฌาน ๔ หรือฌาน ๕ ไม่ได้ ก็เท่ากับท่านผู้นั้นไม่ได้เจริญกสิณนั้นเลย ถ้าหากว่าได้แล้วก็ต้องฝึกการเข้าฌานและการออกฌานให้คล่องแคล่ว กำหนดเวลาเข้า เวลาออกให้ได้ตามกำหนดจนเกิดความชำนาญ เมื่อจะออกเมื่อไร ก็ออกได้ตามใจนึก การเช้าฌานต้องคล่อง ไม่ใช่เนิ่นช้าเสียเวลาแม้แต่ครึ่งนาที พอคิดว่าเราจะเข้าฌานละ ก็เข้าได้ทันที ต้องยึดฌาน ๔ หรือฌาน ๕ คือ เอาฌานที่สุดเป็นสำคัญ เมื่อเข้าฌานคล่องแล้ว ต้องฝึกนิรมิตตามอำนาจของกสิณให้ได้คล่องแคล่วว่องไว จึงชื่อว่าได้กสิณกองนั้นๆ ถ้ายังทำไม่ได้ ไม่ควรย้าย ไปปฏิบัติในกสิณกองอื่น การทำอย่างนั้นแทนที่จะได้ผลเร็วกลับเสียผล คือของเก่าไม่ทันได้ ทำใหม่ เก่ามันก็จะหายไป ใหม่ก็ไม่ปรากฏผล ถ้าชำนาญชํ่าชองคล่องแคล่วในการนิรมิต อธิษฐาน แล้วเพียงกองเดียว กองอื่นทำไม่ยากเลย เพราะอารมณ์ในการฝึกเหมือนกัน ต่างกันก็แต่สีเท่านั้น จะเสียเวลาฝึกกองต่อๆ ไปไม่เกินกองละ ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน เป็นอย่างสูงจะนิรมิตอธิษฐานได้สมตามที่ตั้งใจของนักปฏิบัติ จงอย่าใจร้อน พยายามฝึกฝน จนกว่าจะได้ผลสูงสุดเสียก่อน จึงค่อยย้ายไปกองกสิณอื่นต่อไป คำพูดนี้โปรดจำเอาไว้ให้ดี
องค์ฌานในกสิณทั้ง ๑๐ กอง
ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก มีอารมณ์จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต กำหนดจิตจับภาพปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ วิจารพิจารณาปฏิภาคนิมิตนั้น คือพิจารณาว่า รูปปฏิภาคนิมิตสวยสดงดงาม คล้ายแว่นแก้วที่มีคนชำระสิ่งเปรอะเปื้อนหมดไป เหลือไว้แต่ดวงเก่าที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจารธุลีต่างๆ มี ๕ ประเภท คือ:-
๑.ขุททกาปีติ คือมีอาการขนพองสยองเกล้าและนํ้าตาไหล
๒.ขณิกาปีติ คือมีแสงสว่างเข้าตาคล้ายแสงฟ้าแลบ
๓.โอกกันติกาปีติ คือมีอาการร่างกายกระเพื่อมโยกโคลง คล้ายเรือที่ถูกคลื่นซัด บางท่านก็นั่งโยกไปโยกมา อย่างนี้เรียกโอกกันติกาปีติ
๔.อุพเพงคาปีติ คือมีกายลอยขึ้นเหนือพื้น บางรายก็ลอยไปได้ไกลหลายๆ กิโลก็มี
๕.ผรณาปีติ คือมีอาการเย็นซาบซ่านทั้งร่างกาย และมีอาการคล้ายกับร่างกายใหญ่สูงขึ้นกว่าปกติ สุขมีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็น ในขณะที่พิจารณาปฏิภาคนิมิต เอกัคคตา มีจิตเป็นอารมณ์เดียว คือมีอารมณ์จับอยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นปกติไม่สอดส่ายอารมณ์ออกนอกจากปฏิภาคนิมิตทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นปฐมฌาน มีอารมณ์เหมือนกับฌานในกรรมฐานอื่นๆ แปลก แต่ก็จริงกสิณมีอารมณ์ยึดนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้พลาดจากนิมิต จนจิตเข้าสู่จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน
ทุติยฌานมีองค์ ๓ คือตอนนี้จะเว้นจากการภาวนาไปเอง การกำหนดพิจารณารูปกสิณจะยุติลง คงเหลือแต่ความสดขื่นด้วยอำนาจของปีติอารมณ์สงัดมาก ภาพปฏิภาคนิมิตจะสดสวยงามวิจิตรตระการตามากกว่าเดิม มีอารมณ์จิตแนบสนิทเป็นสมาธิมากกว่า
ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ ตัดความสดชื่นทางกายออกเสียได้ เหลือแต่ความสุขแบบเครียดๆ คือมีอารมณ์ดิ่งแห่งจิต คล้ายใครเอาเชือกมามัดไว้มิให้เคลื่อนไหว ลมหายใจอ่อนระรวยน้อยเต็มที ภาพนิมิตดูงามสง่าราศีละเอียดละมุนละไม มีรัศมีผ่องใสเกินกว่า
ที่ประสบมา อารมณ์ของจิตไม่สนกับอาการทางกายเลย
จตุตถฌาน ทรงไว้เพียงเอกัคคตา กับอุเบกขา คือมีอารมณ์ดิ่ง ไม่มีอารมณ์รับความสุขและความทุกข์ใดๆ ไม่รู้สึกในเวทนาทั้งสิ้น มีอุเบกขาวางเฉย ต่ออารมณ์ทั้งมวลมีจิตสว่างโพลงคล้ายใครเอาประทีปที่สว่างมาก หลายๆ ดวงตั้งไว้ในที่ใกล้ ไม่มีอารมณ์รับแม้แต่เสียงลมหายใจที่เกิดจากความสงัด รูปกสิณเห็นชัดคล้ายดาวประกายพรึก ฌานที่ ๔เป็นฌานสำคัญชั้นยอด ควรกำหนดรู้แบบง่ายๆ ไว้ว่าเมื่อมีอารมณ์จิตถึงฌาน ๔ จะไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ควรกำหนดไว้ง่ายๆ แบบนี้สะดวกดีท่านทำได้ถึงระดับนี้ ก็ชื่อว่าจบกิจในการฝึกในกสิณแล้ว ไม่ว่ากองใดก็ตาม จุดจบกสิณต้องถึงฌาน ๔และนิมิตอะไรต่อมิอะไรก็ตามจุดจบของมันก็คือกสิณ ถ้าทำได้ไม่ถึงขั้นนี้ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้กสิณอะไรเลย
ปฐวีกสิณ (ธาตุดิน/ของแข็ง(ไม่ใช่เฉพาะดิน) จิตเพ่งดิน โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นดิน หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "ปฐวี" หายใจออกให้ภาวนาว่า "กสิณัง" เมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้ ก็จะข่มนิวรณ์ธรรมเสียได้โดยลำดับ กิเลสก็จะสงบระงับจากสันดาน สมาธิก็จะกล้าขึ้น จิตนั้นก็ชื่อว่าตั้งมั่น เป็นอุปจารสมาธิ เมื่อทำได้เช่นนี้ก็ชื่อว่าได้สำเร็จปฐมฌานแล้ว ก็พึงปฏิบัติในปฐมฌานนั้นให้ชำนาญคล่องแคล่วด้วยดีก่อนแล้วจึงเจริญทุติยฌานสืบต่อไปได้
อาโปกสิณ
อาโปกสิณ อาโปแปลว่า "นํ้า" กสิณ แปลว่า "เพ่ง" อาโปแปลว่าการเพ่งนํ้า กสิณนํ้ามีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ ท่านให้เอานํ้าที่สะอาด ถ้าได้นํ้าฝนยิ่งดี ถ้าหานํ้าฝนไม่ได้ท่านให้เอานํ้าที่ใสแกว่งสารส้มก็ได้อย่าเอานํ้าขุ่นหรือสีต่างๆ มา ให้ใส่นํ้าในภาชนะ เท่าที่จะหาได้ ใส่ให้เต็มพอดี อย่าให้พร่อง การนั่งหรือเพ่งมีอาการอย่างเดียวกับปฐวีกสิณจนกว่าจะเกิดอุคคหนิมิต อุคคหนิมิตของอาโปกสิณนี้ปรากฏเหมือนนํ้าไหวกระเพื่อม สำหรับปฏิภาคนิมิตปรากฏเหมือนพัดใบตาลแก้วมณี คือใสมีประกายระยิบระยับ เมือถึงปฏิภาคนิมิตแล้วจงเจริญต่อไปให้ถึงจตุตถฌาน บทภาวนา ภาวนาว่า "อาโปกสิณังๆๆๆ ไปเรื่อย"
เตโชกสิณ
เตโช แปลว่า "ไฟ" กสิณแปลว่า "การเพ่ง" เตโชกสิณ ไแปลว่าการพ่งไฟเป็นอารมณ์" กสิณนี้ท่านให้ทำ ดังต่อไปนี้
ให้จุดไฟให้ไฟลุกโชนแล้วเอาเสื่อหรือหนังมาเจาะทำ เป็นช่องกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้ววางเสื่อหรือหนังนั้นไวข้างหน้า ให้เพ่งพิจารณาไปตามช่องนั้น การนั่งสูงหรือระยะไกลใกล้ เหมือนกันกับปฐวีกสิณ การเพ่งอย่าเพ่งเปลวไฟที่ไหวไปมา ให้เลือกเพ่งแต่ไฟที่มีแสงหนาทึบที่ปรากฏตามช่องนั้นเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า "เตโชกสิณัง" หลายร้อยหลายพันครั้งจนกว่านิมิตจะเป็นอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตปรากฏเป็นดวงเพลิงตามปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นมีรูปคล้ายผ้าแดงผืนหนา หรือคล้ายกับพัดใบตาลที่ทำด้วยทองหรือเสาทองคำ ที่ตั้งอยู่ในอากาศ เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้วท่านจงพยายามทำให้ถึงจตุตถฌานเถิด ผลที่ตั้งใจไว้จะได้รับสมความปรารถนา
วาโยกสิณ
วาโย แปลว่า "ลม" กสิณ แปลว่า "การเพ่ง" วาโยกสิณ แปลว่า "การเพ่งลม" การถือเอาลมเป็นนิมิตนั้น ท่านกล่าวว่าจะถือเอาด้วยการเห็นหรือจะถือเอาด้วยการกระทบก็ได้การกำหนดถือเอาด้วยการเห็น ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดถูกต้องปลายหญ้าหรือปลายใบไม้เป็นอารมณ์เพ่งพิจารณา การถือด้วยการถูกต้อง ให้ถือเอาการที่ลมพัดมากระทบตัวเราเป็นอารมณ์ สมัยนี้ การถือเอาลมกระทบจะให้พัดลมเป่าแทนลมพัด หรือถือเอาการเห็นต้นหญ้าต้นไม้ที่ไหวเพราะลมพัด จะใช้ลมเป่าให้ไหวแทนลมธรรมชาติก็ได้ เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่ให้ภาวนาว่า "วาโยกสิณัง" อุคคหนิมิตของวาโยกสิณนี้ ปรากฏว่ามีการไหวๆ คล้ายกับไอแห่งการหุงต้มที่มีไอปรากฏมากระทบจักษุ พูดให้ชัดเข้าก็คือ มีปรากฏการณ์คล้ายตามองเห็นไอนํ้าที่ต้มเดือดแล้วนั้นเองมีอาการปรากฏขึ้นอย่างนั้น สำหรับปฏิภาคนิมิต มีอาการปรากฏภาพเหมือนไอนํ้าที่ลอยขึ้น แต่ไม่เคลื่อนไหวหรือคล้ายกับก้อนเมฆบางที่ลอยอยู่คงที่นั้นเอง อาการอื่นนอกนี้เหมือนปฐวีกสิณ
นิละกสิณ
นิละกสิณ แปลว่า "การเพ่งสีเขียว" ให้ทำสะดึงขึงด้วยผ้าหรือหนังกระดาษก็ได้แล้วเอาสีเขียวทา หรือจะเพ่งพิจารณาสีเขียวจากใบไม้ก็ได้ ทำเช่นเดียวกับปฐวีกสิณ แต่อุคคหนิมิตเป็นสีเขียว เมื่อเพ่งภาวนาว่า "นีละกสิณัง" อุคคหนิมิตนั้นปรากฏเป็นรูปที่เพ่งนั่นเอง
ปีตะกสิณ
ปีตะกสิณ แปลว่า "การเพ่งสีเหลือง" การปฏิบัติทุกอย่างเหมือนนีลกสิณ แต่อุคคหนิมิตเป็นสีเหลือง ปฏิภาคนิมิตเหมือนนีลกสิณ นอกนั้นเหมือนกันหมด บทภาวนา ภาวนาว่า "ปีตะกสิณัง"
โลหิตกสิณ
โลหิตะกสิณ แปลว่า "การเพ่งสีแดง" บทภาวนา ภาวนาว่า "โลหิตะกะสิณัง" นิมิตที่จัดหามาเพ่งจะเพ่งดอกไม้สีแดงหรือเอาสีแดงมาทาทับกับสะดึงก็ได้ อุคคหนิมิตเป็นสีแดงปฏิภาคนิมิตเหมือนนีลกสิณ
โอทาตะกสิณ
โอทาตะกสิณ แปลว่า "การเพ่งสีขาว" บทภาวนา ให้ภาวนาว่า "โอทาตะกะสิณัง" สีขาวที่จะเอามาเพ่งนั้นจะหาจากดอกไม้หรืออย่างอื่นก็ได้ตามแต่จะสะดวก หรือจะทำเป็นสะดึงทาด้วยสีขาวก็ได้ นิมิตทั้งอุคคหะนิมิตและปฏิภาคะนิมิตก็เหมือนกับนีลกสิณ เว้นไว้แต่อุคคหะนิมิคเป็นสีขาวเท่านั้นเอง
อาโลกะกสิณ
อาโลกะกสิณ แปลว่า "การเพ่งแสงสว่าง" ท่านให้หาแสงสว่างที่ลอดมาตามช่องฝาหรือช่องหลังคาหรือเจาะเสื่อลำแพน หรือหนังให้เป็นช่องเท่า ๑ คืบ ๔ นิ้ว ตามที่กล่าวในปฐวีกสิณ แล้วภาวนาว่า "อาโลกะกสิณัง" อย่างนี้ จนอุคคหนิมิตปรากฏอุคคหนิมิตของอาโลกะกสิณเป้นเสงสว่างที่เหมือนรูปเดิมที่เพ่งอยู่ปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นเสงสว่างหนาทึบ เหมือนกับเอาแสงสว่างมากองรวมกันไว้ที่นั่นแล้วต่อไปขอให้นักปฏิบัติจงพยายามทำให้เข้าถึงจตุตถฌาน เพราะข้อความที่จะกล่าวต่อไปก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในปฐวีกสิณ
อากาสกสิณ
อากาสะกสิณแปลว่า "การเพ่งอากาศ" อากาสกสิณนี้ ให้ภาวนาว่า "อากาสะกสิณัง" ให้ทำเหมือนในอาโลกะกสิณคือ เจาะช่องฝาเสื่อหรือหนังหรือ มองอากาศ คือความว่างเปล่าที่ลอดมาตามช่องฝาหรือหลังคา หรือตามช่องเสื่อหรือผืนหนัง โดยกำหนดว่า "อากาศๆ" จนเกิดอุคคหนิมิตซึ่งปรากฏเป็นช่องตามรูปที่กำหนด ปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏคล้ายอุคคหนิมิต แต่มีพิเศษที่บังคับให้ขยายออกให้ใหญ่เล็ก สูงตํ่าได้ตามความประสงค์ อธิบายอื่นๆก็เหมือนกับกสิณอื่น
อานุภาพกสิณ ๑๐
กสิณ ๑๐ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในอภิญญา ๖ เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติในกสิณกองใดกองหนึ่งสำเร็จถึงจตุตถฌานแล้ว ก็ควรฝึกตามอำนาจที่กสิณกองนั้นมีอยู่ให้ชำนาญ ถ้าท่านปฏิบัติถึงฌาน ๔ แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่างๆ ตามแบบ ถือว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าฌานถึงกสิณ อำนาจฤทธิ์ในกสิณต่างๆ มีดังนี้
-ปฐวีกสิณ มีฤทธิ์ดังนี้ เช่น เนรมิตคนๆ เดียวให้เป็นหลายคนได้ ให้คนหลายคนเป็นคนๆ เดียวได้ ทำนํ้าและอากาศให้แข็งดังแผ่นดินได้
-อาโปกสิณ สามารถนิรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่น อธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหรือหินที่กันดารนํ้าให้เกิดบ่อนํ้า อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานที่ฝนแล้วให้เกิดมีฝนอย่างนี้เป็นต้น สามารถอธิษฐานไฟให้ดับหรือให้เย็นก็ได้ พระมาลัยเถระเจ้าท่านใช้อาโปกสิณดับไฟเมืองนรกได้
-เตโชกสิณ อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญหรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำแสงสว่างให้เกิดแก่จักษุญาณ สามารถเห็นภาพต่างๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนในที่ทุกสถานได้
-วาโยกสิณ อธิษฐานจิตให้ตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลมอธิษฐานให้มีลมได้
-นีลกะสิณ สามารถทำให้สถานที่ๆไม่มีสีเขียวให้เกิดมีสีเขียวได้ หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครึ้มได้
-ปีตะกสิณ สามารถนิรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้ อธิษฐานให้วัตถุสิ่งของต่างๆให้กลายเป็นทองคำได้
-โลหิตะกสิณ สามารถนิรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์
-โอทาตะกสิณ สามารถนิรมิตสีขาวให้ปรากฏ และทำ ให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐาน ที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักษุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ
-อาโลกะกสิณ นิรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักษุญาณโดยตรง
-อากาสะกสิณ สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง สถานที่ใดเป็นสถานที่อับด้วยอากาศ สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่งมีอากาศสมบรูณ์เพียงพอแก่ความต้องการได้
วิธีอธิษฐานฤทธิ์
วิธีอธิษฐานจิตที่จะทำให้เกิดฤทธิ์ตามที่ต้องการให้ทำ ดังต่อไปนี้
ให้เขาฌาน ๔ ก่อนแล้วออกจาฌาน ๔ แล้วอธิษฐานจิตในสิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็นอย่างนั้นแล้วกลับเขาฌาน ๔ อีก ออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานจิตทับลงไปอีกครั้ง สิ่งที่ต้องการจะปรากฏสมความปรารถนา
แนะกสิณร่วมวิปัสสนาญาณ
ท่านผู้ฝึกกสิณ ถ้าประสงค์จะให้ได้อภิญญาหก ก็เจริญไปจนกว่าจะชำนาญทั้ง ๑๐ กอง ถ้าท่านประสงค์ให้ได้รับผลพิเศษเพียงวิชชาสาม ก็เจริญเฉพาะอาโลกกสิณ หรือเตโชกสิณหรือ โอทาตกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฝึกทิพยจักษุญาณ แต่ถ้าท่านมีความประสงค์จะเร่งรัดให้เข้าสู่พระนิพพานเร็วๆ ไม่มีความประสงค์จะได้ญาณพิเศษเพราะเกรงจะล่าช้าหรืออัชฌาสัยไม่ปรารถนารู้อะไรจุกจิก ชอบลัดตัดทางเพื่อถึงจุดหมายปลายทางขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
เข้าฌานออกฌานพิจารณาขันธ์ ๕
ท่านจะลัดตัดทางก็ตาม แต่ฌานที่ได้ควรให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือฌาน ๔ หรือฌาน ๕ เมื่อได้แล้วก่อนจะพิจารณาวิปัสสนาญาณ ท่านต้องเข้าฌานให้ถึงที่สุด จนอารมณ์จิตเป็นอุเบกขา เงียบสงัดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ มีอารมณ์ผ่องใสในกุศลธรรม แล้วออกจากฌาน ๔ หรือฌาน ๕ พิจารณาขันธ์ตามแบบวิปัสสนารวมดังต่อไปนี้
พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ
๑.รูป ได้แก่สภาพที่มองเห็นได้ด้วยตา
๒.เวทนา คือการรับอารมณ์ที่เป็นสุขและทุกข์ อารมณ์ที่เป็นสุข เรียกว่าสุขเวทนา อารมณ์ที่เป็นทุกข์ เรียกว่าทุกขเวทนา อารมณ์ว่างเฉย ๆ ไม่มีความสุขความทุกข์รบกวน เรียกว่า อุเบกขา
๓.สัญญา แปลว่า ความจำ คือจำได้หมานรู้ซึ่งนามและรูป
๔.สังขาร หมายถึงอารมณ์ที่เป็นบุญ คือ อารมณ์ผ่องใส ที่เต็มไปด้วยความเมตตาปราณี อารมณ์ที่เป็นบาป คืออารมณ์ขุ่นมัว คิดประทุษร้าย ที่เกิดขึ้นแก่ใจ เรียกว่าสังขาร
๕.วิญญาณ แปลว่า ความรับรู้ เช่น รู้หนาว ร้อน หิว กระหาย เปรี้ยว เค็ม เป็นต้น เรียกว่าวิญาณ
อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕ ซึ่งมีปรากฏประจำร่างกายมนุษย์และสัตว์อยู่
เป็นปกติ ท่านให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ นี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕
ไม่มีในเรา เพราะขันธ์ ๕ นี้ เต็มไปด้วยความกลับกลอกไม่ยั่งยืนถาวร มีความเกิดขึ้นมาแล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดก็สลายตัว แม้จะหาทางกีดกันห้ามปรามอย่างไร ก็ไม่สำเร็จผล ขันธ์ ๕ ก็เปลี่ยนแปรไปตามสภาพของมัน การที่ขันธ์ ๕ เปลี่ยนแปรไม่หยุดยั้ง ห้ามปรามไม่ได้นี้ ท่านเรียกว่า เป็นไปตามกฎธรรมดาที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้ การเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมของสังขารคือขันธ์ ๕ นี้ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งทางกายและใจ ใจมีทุกข์เพราะไม่ประสงค์จะให้ขันธ์ ๕ ทรุดโทรม กายเป็นทุกข์เพราะการบีบคั้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และการแสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยงอาการของขันธ์ ๕ มีสภาพไม่แน่นอนผันแปรไป และสลายตัวไปในที่สุดฉันใด รูปนิมิตกสิณก็ฉันนั้น ขณะนี้รูปกสิณตั้งอยู่ ความผ่องใสมีอยู่ ในกาลบางครั้งรูปกสิณนี้ก็เศร้าหมอง และรูปกสิณนี้จะดำรงอยู่ตลอดกาลก็หาไม่ ปรากฏขึ้นไม่นานเท่าใดก็สลายตัวไป
รูปกสิณนี้มีสภาพรงตัวได้ไม่ตลอดกาลฉันใด สังขารของเราก็ฉันนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องสลายไปอย่างรูปกสิณนี้ เอาอะไรเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย ปลงไปพิจารณาไปให้เห็นเหตุเห็นผลถ้าปลงไปจิตจะซ่าน ก็เข้าฌานในกสิณใหม่ พอใจเป็นอุเบกขาดีแล้วก็คลายฌานพิจารณาใหม่ ทำอย่างนี้ไม่ช้าเท่าใดก็จะเกิดนิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่ายในสังขารแล้วจะปลงความห่วงใยในสังขารเสียได้ มีอารมณ์วางเฉยเมื่อทุกข์เกิดขึ้นแก่สังขารท่านเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ คือวางเฉยในสังขารด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ ต่อไปจิตจะเข้าโคตรภูญาณ เป็นจิตอยู่ในระหว่างปุถุชนกับพระโสดาบันหลังจากนั้นถ้าท่านไม่ประมาท พิจารณาสังขารตามที่กล่าวมาแล้วโดยเข้าฌานให้มากออกจากฌาน พิจารณาสังขารเป็นปกติจิตก็จะตั้งมั่นและชำแรกกิเลสให้เด็ดขาดไปได้โดยกำจัดสังโยชน์สามเบื้องต้นทั้งสามประการอันเป็นคุณธรรมขั้นพระโสดาบันจะพึงกำจัดได้
นักปฏิบัติทุกคนจะตัองอ่านตรงนี้
คำบริกรรมภาวนานั้น จะภาวนาอย่างไรก็ได้ แล้วแต่จริตของคน ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี หรือภาษาไทย แต่มักนิยมภาวนาเป็นภาษาบาลีมากกว่าภาษาไทย
สมัยโบราณจะใช้คำบริกรรมภาวนากสิณแบบสั้นๆ เช่น ฝึกกสิณธาตุ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ภาวนาว่า ปฐวีๆ อาโปๆ เตโชๆ วาโยๆ เป็นต้น
สมัยปัจจุบันจะใช้คำบริกรรมภาวนากสิณแบบใหม่ เช่น ฝึกกสิณธาตุ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ภาวนาว่า ปฐวี กสิณัง, อาโป กสิณัง, เตโช กสิณัง, วาโย กสิณัง , เป็นต้น แม้แต่ฝึกกสิณอื่น ก็ต่อท้ายกสิณนั้นๆ ด้วยคำว่า กสิณัง เช่นกัน
การใช้คำบริกรรมภาวนาภาษาบาลีแบบสั้นหรือแบบยาว หรือจะภาวนาภาษาไทยก็ได้อย่างไหนก็ได้สุดแล้วแต่จริตของเราเป็นหลัก , ทำให้จิตเราสงบ มีสมาธิ เป็นสำคัญ
การปฏิบัติสมาธิ เริ่มต้นจำเป็นต้องใช้คำบริกรรมภาวนา เพื่อป้องกันไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน สงบเป็นสมาธิ เมื่อสำเร็จสมาธิตั้งแต่ฌาน ๒ ขึ้นไป คำบริกรรมภาวนานั้นจะหายไป แต่ไม่ต้องตกใจ ทำทุกอย่างให้เป็นปกติ ใจเราจะสงบนิ่งอยู่ในสมาธิ จนจิตเป็นหนึ่งเดียว ปล่อยวางเป็นอุเบกขา
หมายเหตุ:- จิตยังไม่ได้ฌานอาจฟุ้งซ่าน จำเป็นต้องมีสติอยู่ในคำบริกรรมภาวนา แต่ถ้าจิตได้ฌานแล้ว คำบริกรรมภาวนาจะหายไป หรือไม่ใช้คำบริกรรมภาวนาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกกลับมา เหมือนผู้ที่ยังไม่ได้ฌาน (ผู้ที่ไม่ได้ฌาน กับผู้ที่สำเร็จฌานแล้ว) จึงแตกต่างกัน เพียงมีสติ ใจก็สงบเป็นสมาธิ การฝึกกสิณต้องใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอน
การฝึกสมาธิทุกอย่าง รวมทั้งการฝึกกสิณนั้น จำเป็นต้องฝึกบริกรรมคาถาภาวนาเป็นองค์ของสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นผู้เจริญกสิณน้ำ ก็ภาวนาสมาธิว่า อาโปๆ หรือน้ำๆ ผู้เจริญกสิณไฟ ก็ภาวนาสมาธิว่า เตโชๆ หรือไฟๆ เป็นต้น เพื่อทำให้จิตสงบนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่านเป็นสมาธิ แต่สำหรับผู้ผ่านฌานที่ ๑ จะได้นิมิตติดตา จิตจะไม่ส่าย เป็นองค์ฌานสมาธิ คำบริกรรมคาถาภาวนา จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะใจได้สงบนิ่งแล้ว
สำหรับผู้เริ่มต้นฝึกกสิณนั้น จึงไม่ต้องรีบร้อนใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป การจะก้าว ขึ้นไปบันไดนั้น ตั้งเริ่มก้าวทีละขั้น อย่างช้าๆและมั่นคง เริ่มจากขั้นแรกให้ชำนาญก่อน ถึงจะไปขั้นอื่นได้ ไม่ควรกระโดดข้ามขั้นตอนไปขั้นสี่เลย เพราะขั้นแรกจิตท่านยังไม่สงบ จะให้จิตปล่อยวางเป็นหนึ่งเดียว อุเบกขาสมาธิเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้
การฝึกกสิณควรเริ่มต้นที่ การเจริญสติในสมาธิของกสิณนั้นๆ ทำใจให้สงบ เพื่อหยุดความฟุ้งซ่าน ผ่านนิมิตไปทีละขั้น ปล่อยวางในนิมิตอารมณ์ของสุขในสมาธิทั้งปวง จิตเมื่อผ่านปีติและสุขในสมาธิมาแล้ว จิตก็จะปล่อยวางเป็นอุเบกขาสมาธิได้เอง จิตก็สงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียว ดังนี้
ดวงกสิณ คืออะไร
ดวงกสิณ คือ การฝึกเพ่งกสิณเป็นวงกลมๆ เพื่อสามารถย่อหรือขยายดวงกสิณนั้นได้ การย่อหรือขยายดวงกสิณ ต้องได้นิมิตติดตาขึ้นไป พอหลับตาก็เห็นภาพกสิณนั้น จนขึ้นตาและขึ้นใจ สามารถกำหนดจิตเห็นภาพในนิมิตนั้นอย่างรวดเร็ว การฝึกเพ่งกสิณ จึงมีลักษณะเป็นวงกลมๆ จะไม่เป็นสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม กสิณจะมีรูปลักษณ์ตายตัวที่แน่นอน มีทั้งหมด ๑๐ ประการ ดังกล่าวไว้แล้ว การฝึกกสิณ จึงแตกต่างกับการฝึกมโนมยิทธิ คือ
-การฝึกกสิณ มีรูปลักษณ์ตายตัวที่แน่นอน เป็นการฝึกเพ่งวัตถุเป็นอารมณ์ ๑๐ อย่าง จะฝึกอย่างไหนก็ได้ สุดแล้วแต่จริตและบารมีธรรมของเราเป็นหลัก
-มโนมยิทธิ เป็นภาพนึกทางใจ ไม่จำกัดสีสันวัตถุที่ฝึกเพ่งเหมือนกสิณ สำหรับผู้เริ่มต้นฝึกกสิณ ควรฝึกเพ่งเป็นวงกลมๆ เพื่อให้สามารถย่อหรือขยาย และจำเป็นนิมิตติดตาได้ง่าย สำหรับผู้ที่เคยสร้างสมอบรม กสิณนั้นมาในอดีตชาติ และเป็นผู้มีบุญบารมีธรรม เพียงแค่มองดูกสิณนั้นไม่นาน ไม่จำเป็นต้องทำเป็นวงกลม ก็สามารถสำเร็จกสิณนั้นอย่างรวดเร็ว
ผู้มีบุญกับผู้มีฌานสมาธิ แตกต่างกันอย่างไร
ผู้มีบุญ คือผู้ที่เคยสร้างบารมีธรรมมาในอดีตชาติ และในชาติปัจจุบัน จะสำเร็จฌานหรือยังไม่สำเร็จฌานก็ได้ ผู้มีบุญจะฝึกสมาธิได้ง่ายกว่าคนธรรมดา เพราะเคยสร้างสมมา เรียกว่าเอาบุญมาต่อเป็นฌานสมาธิ เพื่อถือศีลปฏิบัติธรรม
-ผู้มีฌาน คือ ผู้ที่ใช้ความเพียรในปัจจุบัน อบรมจิตภาวนา จนสำเร็จฌานสมาธิ ผู้มีบุญ เรียกว่า บุญฤทธิ์ , ผู้มีฌาน เรียกว่า ฌานฤทธิ์ จึงแตกต่างกัน
หมายเหตุ:- ผู้ที่มีบุญเคยสั่งสมบารมีในด้านของกสิณมาในอดีตชาติ สามารถฝึกกสิณได้ฌานอย่างรวดเร็ว เรียกว่า บุญเป็นเหตุให้เกิดฌานสมาธิ หรือมีบุญจึงสำเร็จฌานได้อย่างง่ายดาย
ตัวอย่าง บุญฤทธิ์กับฌานฤทธิ์ แตกต่างกันอย่างไร
-บุญฤทธิ์ สามารถเห็นสัมภเวสี เทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าฌานสมาธิ
-ฌานฤทธิ์ ต้องสำเร็จตาทิพย์ก่อน จึงสามารถเห็นสัมภเวสี เทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้
-บุญฤทธิ์นั้น สัมภเวสี หรือเทวดา จะมาปรากฏให้เห็นก็ได้ หรือจะเพ่งมองดูก็สามารถเห็นได้เช่นกัน แต่จะเห็นบางครั้งบางเวลาที่จิตสงบ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องการให้เห็น แต่ยิ่งใช้บุญฤทธิ์มากเท่าใด บุญตัวเองยิ่งลดลง เป็นข้อเสียของบุญฤทธิ์ ต้องหมั่นสร้างบุญกุศลอยู่เสมอ
-ฌานฤทธิ์นั้น จะต้องเข้าฌานเพื่อเพ่งมองดูสิ่งลี้ลับที่คนธรรมดามองไม่เห็น เช่น สัมภเวสี หรือเทวดา เป็นต้น การสำเร็จฌานอย่างเดียวไม่พอ ต้องสำเร็จตาทิพย์ด้วยถึงจะทำได้ และสามารถกำหนดได้ทุกครั้งที่ต้องการเห็น บุญตัวเองจะไม่ลดลงเหมือนบุญฤทธิ์ เพราะเป็นการใช้ฌาน จึงไม่เกี่ยวข้องกับบุญ แต่อย่างใด ไม่ยึดติดอย่างไร ถึงไปถูกทาง
การที่ได้ฌานสมาธิ ต้องผ่านนิมิตต่างๆ ถึงสามารถละวางได้ และปล่อยวางได้ในที่สุด เริ่มต้นจากขั้นพื้นฐาน จนผ่านปีติและสุขในนิมิต และถึงขั้นสูงปล่อยวางได้ อภิญญาก็สักว่าอภิญญา ไม่ยึดติด ใจเราก็สงบ ด้วยสติ ดังนั้น มีแล้วไม่ยึดติด เรียกว่า ปล่อยวางได้ ที่ยังยึดติดอยู่แสดงว่า ปฏิบัติไม่ยังถึงขั้นปล่อยวาง จำเป็นต้องพัฒนาจิตตัวเอง ในลำดับต่อไป จนละวาง และปล่อยวางได้ในที่สุด
ไม่ยึดติดอย่างไรถึงไปผิดทาง
การไม่ยึดติด แต่เอานิมิตมาโจมตีผู้อื่น หรือเอาอภิญญามาโจมตีผู้อื่น เพราะตัวเองปฏิบัติวิปัสสนา ก็ยังใช้ไม่ได้ เรียกว่า มีทิฐิอยู่ การไม่ยึดติด ต้องไม่โจมตีและไม่ว่าร้ายใคร จึงเป็นผู้ที่เจริญ แล้วเป็นผู้ที่ประเสริฐ นิมิตไม่ใช่สิ่งที่เอามาโจมตีกัน เพราะคนฝึกสมาธิ ย่อมต้องผ่านนิมิตด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา นิมิตจึงเป็นเครื่องนำจิตให้เป็นสมาธิ แต่ก็ไม่ควรยึดติด เพราะ การยึดติดจะทำให้ใจเราไม่สงบ ไม่สามารถปล่อยวางได้ นิมิตจึงสักว่านิมิต มีแล้วไม่ควรยึดติด ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติสมถะเท่านั้นที่ได้นิมิต แม้วิปัสสนาก็มีนิมิตเช่นกัน ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาถึงแล้ว ก็จะรู้เอง ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาไม่ถึงก็จะไม่รู้
นิมิตในวิปัสสนา เช่น รูปและนาม ในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ , มีเห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น
-ถ้ายึดติดอยู่ในคำว่า ว่าง ในรูปและนาม นิมิตความแปรเปลี่ยนแปลงแห่งสังขาร
-ยึดติดในรูป เรียกว่า รูปนิมิต หรือรูปธรรม
-ยึดติดในนาม เรียกว่า อรูปนิมิต หรือนามธรรม
-คำว่า "ว่าง" แห่งเบญจขันธ์ทั้งหลาย จะเป็นอากาศธาตุ เรียกว่า อรูปนิมิต
-ถ้าปฏิบัติวิปัสสนาขั้นนี้แล้วยึดติด ก็ไม่สามารถละวางได้ จะเป็นวิปัสสนูปกิเลสแทน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติวิปัสสนา
-ถ้ายึดติด จะเป็นวิปัสสนูปกิเลส ไม่สามารถผ่านด่านในแต่ละขั้นของวิปัสสนา แยกรูปและนามออกจากกันได้ ไม่สามารถละวางได้ เพราะยึดติดในอรูปเสียแล้ว ซึ่งเป็นกิเลสขั้นละเอียด ยิ่งปฏิบัติละกิเลสเท่าใด ยิ่งเจอกิเลสขั้นละเอียดเท่านั้น
-การยึดติดในรูปนิมิต และรูปธรรม เป็นกิเลสขั้นหยาบ
-การยึดติดในอรูปนิมิต และนามธรรม เป็นกิเลสขั้นละเอียด
การปฏิบัติวิปัสสนาต้องไม่ยึดติด ละวางได้ แม้แต่คำว่า "ว่าง" ก็ต้องปล่อยวางทั้งหมดไม่ยึดติด ถึงจะเป็นวิปัสสนา จะไม่ถูกกิเลสเข้ารบกวนและเข้าแทรกจิต ไม่ว่าจะปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนา ถ้ายึดติดในนิมิต จำเป็นต้องแก้อารมณ์ของกรรมฐาน ไม่ให้ยึดติด สามารถปล่อยวางได้ ใจเราจึงสงบ เพราะมีสติเป็นที่ตั้งยึดถือเพื่อยึดติด กับยึดถือเพื่อปล่อยวาง แตกต่างกันอย่างไร
-การปฏิบัติธรรมเริ่มต้น ยึดถือศีลมากเกินไป จนปล่อยวางไม่ได้แม้กระทั่งศีลของตนเอง เกิดเป็นอัตตาขึ้นมาว่า ศีลของตนเองดีกว่า เด่นกว่า เลิศกว่า ผู้อื่น
-การปฏิบัติขั้นของสมาธิ ก็ยึดติดทั้งอารมณ์ปีติและสุขทั้งหลาย จนไม่ได้ปล่อยวาง ในความจริงนั้น อารมณ์ของปีติและสุข เป็นองค์ฌาน ๑ -๒ ทุกคนที่ปฏิบัติสมาธิ ต้องผ่านทั้งหมด ไม่ใช่สิ่งที่ยึดติดอะไร ควรจะปล่อยวาง
-การปฏิบัติปัญญาของผู้นั้น เป็นวิปัสสนา ก็ยึดติดในความรู้ของตน ที่เกิดการจากอบรมปัญญาในวิปัสสนากรรมฐาน จนไม่สามารถละวางได้ เกิดเป็นอัตตา และ ทิฐิ ขึ้นมา จึงเป็นอุปสรรคด่านแรก สำหรับการได้ดวงตาเห็นธรรม เรียกว่า ยึดถือเพื่อยึด
ติด
-การปฏิบัติธรรมต้องยึดถือแบบอย่างที่ดีงาม มาจาก ศีล สมาธิ ปัญญา ก่อนแล้วปฏิบัติตามขั้นต่างๆ เริ่มต้น ก็ต้องถือเอาบริกรรมภาวนา และนิมิต เพื่อนำจิตให้เป็นสมาธิ ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน จนกระทั่งปล่อยวางได้ในที่สุด เรียกว่า ยึดถือเพื่อปล่อยวาง
-การปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราปฏิบัติธรรม เพื่อหลุดพ้น ละวาง ไม่ยึดติด จึงจะพ้นไปจากทุกข์ได้ การปฏิบัติสมาธิจะปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้ สุดแล้วจริตของคนเรา
ทุกวันนี้ สายอภิญญา หรือปฏิบัติแบบเจโตวิมุตติ จะโดนโจมตีมากกว่า สายวิปัสสนา จึงต้องทำใจปลง และปล่อยวาง ควรซ่อนความสามารถเอาไว้ ไม่ควรให้ใครรู้ว่า เรามีอะไร การมีอภิญญาสมาธิ จะให้ใครรู้ไม่ได้ ควรซ่อนความสามารถที่แท้จริงของตน
เองเอาไว้ การปฏิบัติเจโตวิมุตติ เจริญรอยตามพระอรหันต์สายอภิญญา จะโดนคนโจมตีง่ายกว่า สายวิปัสสนา คนที่โจมตีว่า มีอภิญญาแล้วยึดติด เขาไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า คนอื่นปฏิบัติถึงขั้นโลกุตตระหรือขั้นโลกีย์ ขั้นโลกุตตระไม่ยึดติดอยู่แล้ว แต่ขั้นโลกีย์ปฏิบัติได้ถึงไหน ยังติดอยู่ในปีติหรือสุข หรือสามารถปล่อยวางได้ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครคิดและวิเคราะห์ให้ละเอียด จึงยกมาโจมตีกัน
ถ้าจะพูดหรือสนทนาธรรม ควรพูดกับผู้ที่อยู่ชั้นเดียวกัน หรือคนที่มีเหมือนกัน หรือปฏิบัติเหมือนกัน และเป็นกัลยาณมิตรเท่านั้น จะได้ไม่มีปัญหา แต่ไม่พูดเลยเป็นดีที่สุด
จิตนิ่งกับจิตดับแตกต่างกันอย่างไร?
-จิตนิ่ง คือการทำจิตให้สงบ ด้วยสติ จิตจะนิ่งไม่ไหลตามนิมิต
-จิตดับ คือการเข้าฌานถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เรียกว่า ฌานสมาบัติ การที่จิตจะนิ่ง จะเข้าฌานแค่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือ อัปปสมาธิก็ได้ การที่จิตจะดับ จะเข้าฌานสมาบัติเท่านั้น , ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิแบบอื่นๆ จิตจะไม่ดับ
จิตนิ่งนั้น ไม่ใช่ว่าจิตจะดับเสมอไป จิตนิ่งยังสามารถเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ควรแยกแยะให้ละเอียดว่า เข้าฌานหรือญาณอยู่ บางคนคิดว่า จิตนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ ถึงขั้น จิตดับก็มี ซึ่งรู้เพียงอย่างเดียว ยังรู้ไม่ละเอียดในองค์ฌานและญาณทั้งหมดการฝึกจิตให้นิ่ง มีข้อดี คือ จิตเราจะไม่ไหลตามนิมิต เพราะมีสติเป็นที่ตั้ง จิตนิ่งสามารถเข้าสมาธิ ตั้งแต่ฌานที่ ๑ -๔ หรือเจริญวิปัสสนาฝึกสติ ทำจิตนิ่ง ใจเราจะสงบ พิจารณาธรรมะแล้วเกิดปัญญา จิตนิ่ง จึงเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา
โดยส่วนมากแล้ว คำว่า จิตนิ่งนั้น คนนึกว่าเป็นฌานสมถะอย่างเดียว ลืมญาณที่เป็นวิปัสสนาไปก็มี ความสงบนิ่ง หรือจิตนิ่ง เมื่อแยกให้ละเอียดทั้งสมถะและวิปัสสนา ดังนี้ คือ
ความสงบนิ่ง ๓ อย่าง
๑.ความสงบนิ่งชั่วขณะหนึ่ง
๒.ความสงบนิ่งในนิมิตสมาธิ
๓.ความสงบนิ่งแห่งอุเบกขาสมาธิ
อธิบายขยายความ
ความสงบนิ่งชั่วขณะหนึ่ง หมายถึง จิตสงบนิ่งชั่วขณะหนึ่ง หรือชั่วคราว เป็นได้ทั้งสมถะ คือ อารมณ์ของฌานที่ ๑ และเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เรียกว่า ขณิกสมาธินั้นเอง
ความสงบนิ่งในนิมิตสมาธิ หมายถึง จิตสงบนิ่งอยู่ในอารมณ์แห่งสมาธิและในนิมิตต่างๆ เรียกว่า อารมณ์ของผู้ที่ได้นิมิตสมาธิ ตั้งแต่ฌานที่ ๒ - ๓
ความสงบนิ่งแห่งอุเบกขาสมาธิ หมายถึง จิตสงบนิ่งและปล่อยวางแล้ว จึงไม่หวั่นไหวไปตามนิมิตต่างๆ เรียกว่า อุเบกขาสมาธิ หรืออารมณ์ของฌานที่ ๔
ความสงบนิ่งในอารมณ์ของวิปัสสนา
ความสงบนิ่งในอารมณ์ของวิปัสสนานั้น (จิตจะไม่ส่ายไปเพราะความฟุ้งซ่าน) ที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ เมื่อพิจารณาธรรมะก็มีสติเป็นที่ตั้ง จิตก็สงบนิ่ง อยู่ในอารมณ์ของขณิกสมาธิ ไม่ส่ายไปเพราะความฟุ้งซ่าน พิจารณาธรรมะแล้วก็เกิดปัญญา ปล่อยวางใจจากความยึดมั่นถือมั่น
วิปัสสนานั้นจะเข้าสมาธิได้ไม่ลึกเหมือนกับสมถะ (สมถะมุ่งเน้นตรงไปอุเบกขาฌานทีเดียวเลย) แต่วิปัสสนาเข้าแค่ขณิกสมาธิก่อน โดยมีสติเป็นที่ตั้ง พิจาณาธรรมะแล้ว จึงปล่อยวางทีหลัง เกิดเป็นอุเบกขาญาณของวิปัสสนา
-ความสงบนิ่งของสมถะ เรียกว่า ฌาน
-ความสงบนิ่งของวิปัสสนา เรียกว่า ญาณ
เรื่องจิตดับ
การเข้าฌานถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ไม่ได้จิตดับเสมอไป ควรวิเคราะห์ให้ละเอียด การเข้าอัปปนาสมาธิที่ควรรู้ มีหลายระดับแห่งสภาวะจิต ในการเข้าสมาธิ ดังนี้ คือ:-
๑.เข้าอัปปนาสมาธิ จนถึงขั้นฌานสมาบัติ
๒.เข้าอัปปนาสมาธิ ในอิริยาบถต่างๆ ไม่ได้นั่งหลับตา แต่ลืมตาเข้าฌาน
๓.เข้าอัปปนาสมาธิ เป็นการเข้าฌานและญาณไปพร้อมๆกัน
อธิบายขยายความ
-การเข้าอัปปนาสมาธิ จนถึงขั้นฌานสมาบัติ จิตจะดับแน่นอน และเป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา เน้นเจริญสมถะอย่างเดียว ไม่เน้นเจริญวิปัสสนาควบคู่ไปด้วย
-การเข้าอัปปนาสมาธิ ในอิริยาบถต่างๆ ไม่ได้นั่งหลับตา แต่ลืมตาเข้าฌาน (เข้าฌานแบบนี้ จิตยังไม่ดับ) เช่น พระโมคคัลลานะ เข้าฌาน ๔ เหาะเหินเดินอากาศ หรือพระสาคตะสำเร็จฌาน ๔ เพราะเพ่งซากศพอสุภะ จิตของท่านยกขึ้นสู่วิปัสสนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นต้น
-การเข้าอัปปนาสมาธิ เป็นการเข้าฌานและญาณไปพร้อมๆกัน (เข้าฌานแบบนี้ จิตยัง ไม่ดับ) เป็นการเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาไปพร้อมกัน สำหรับคนที่ได้ญาณหยั่งรู้ เป็นต้น
หมายเหตุ:- การเข้าอัปปนาสมาธิ คือ เข้าฌานขั้นสมาบัติเท่านั้น ที่จิตดับ , การเข้าฌานอัปปนาสมาธิแบบอื่นๆ จิตเรายังไม่ดับ จึงควรแยกแยะและพิจารณาให้ละเอียด
เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติปฏิบัติไม่เหมือนกัน
การปฏิบัติแบบเจโตวิมุตติไม่กลัวจิตดับ เพราะเข้าฌานสมาบัติถึงขั้นจิตดับ ก็สามารถใช้วสีสมาธิ เข้าฌานถอยหลังมาที่ ขณิกสมาธิ เพื่อเจริญวิปัสสนาต่อ หรือเข้าฌานจิตดับแล้ว สามารถใช้วสีสมาธิถอยหลังมาที่องค์ฌานใดๆก็ได้ พลิกจิตเป็นวิปัสสนา พิจารณาความเกิดดับของจิต เห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นการหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุตติ
นอกจากนี้ เจโตวิมุตติจะเข้าฌานแบบอัปปนาสมาธิจิตยังไม่ดับก็ได้ ในกรณีที่ยังเข้าฌานแบบจิตยังไม่ดับ จะอยู่ในองค์ฌานใดๆ แล้วก็พลิกจิตเป็นวิปัสสนา พิจารณาความเกิดดับของจิต หรือเข้าฌานถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วใช้วสีสมาธิ เข้าฌานเดินหน้าถอยหลัง มาอยู่ที่ขณิกสมาธิ เปลี่ยนเป็นวิปัสสนาทีหลังก็ได้ สุดแล้วแต่จริตของคนเราเป็นหลัก
การปฏิบัติแบบปัญญาวิมุตติกลัวจิตดับ เพราะจะเข้าฌานแค่ขณิกสมาธิ เพื่อให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสติพิจารณาธรรมะ เกิดปัญญา เห็นแจ้งชัดในสัจธรรมทั้งปวง ขณิกสมาธิสมถะเป็นฌาน ขณิกสมาธิวิปัสสนาเป็นญาณ จึงปฏิบัติไม่เหมือนกันปัญญาวิมุตติ จึงกลัวจิตดับ เพราะจะไม่เกิดปัญญาพิจารณาธรรมะ ปัญญาวิมุตติ จึงปฏิบัติไม่เหมือนเจโตวิมุตติ ซึ่งเจโตวิมุตติ ไม่กลัวจิตดับ เจโตวิมุตติ จึงเน้นเจริญสมถะให้ได้ฌานก่อน แล้วมาต่อเป็นวิปัสสนาทีหลังปัญญาวิมุตติ จึงเน้นเจริญวิปัสสนาล้วน เพื่อให้เกิดปัญญา แจ้งชัดในสัจธรรม
การจะปฏิบัติเจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติ อันไหนก็ได้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า จริตของเราเป็นหลัก จึงควรพิจารณาให้เหมาะสมกับจริตของเราเอง
การฝึกสมาธิใช้ตาเพ่ง กับใช้จิตเพ่ง แตกต่างกันอย่างไร
สำหรับผู้เจริญกสิณใหม่ๆแล้ว จะใช้ตาเพ่ง จะหลับตาและลืมตา จนจำติดตาเป็นนิมิต สำหรับผู้เจริญกสิณจนชำนาญแล้ว จะใช้จิตเพ่งกสิณนั้นๆ จนได้นิมิตขึ้น การเจริญกสิณ ใจจะสงบเป็นสมาธิ เพราะจิตจำนิมิตติดตาจนแม่นยำ แล้วเกิดความสงบขึ้นต่างหาก ความสงบจึงเกิดขึ้นจากภายในจิต ไม่ใช่อยู่ที่ภายนอก
การเจริญกสิณที่รูปลักษณ์ภายนอกหรือวัตถุต่างๆ บางครั้งใจก็ไม่สงบ รูปแบบภายนอก มีไว้เพื่อฝึกให้ได้นิมิต ส่วนใจจะสงบหรือไม่ ต้องอยู่ที่การเจริญสติควบคู่ไปกับกสิณของผู้นั้น เป็นสำคัญ ธรรมชาติที่สงบเป็นแต่กายวิเวก จิตใจจะสงบเป็นสมาธิหรือไม่ก็อยู่ที่ใจท่านเอง ทำอย่างไรเพ่งวัตถุภายนอกเจริญกสิณ แล้วทำใจให้สงบเป็นสมาธิได้
-การทำจิตให้สงบ โดยเจริญกสิณ จะหลับตาและลืมตา จนจำเป็นนิมิตของกสิณนั้นๆ
-การใช้ตาเพ่งกสิณ เพื่อให้จำเป็นนิมิตติดตาได้อย่างรวดเร็ว เวลาใจไม่สงบเป็นกสิณ ที่เราฝึก ก็ให้เจริญสติควบคู่ไปกับกสิณนั้นๆ เมื่อจำเป็นนิมิตติดตาได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องหลับตาและลืมตา เพื่อให้ตาเพ่งกสิณ จะใช้จิตเพ่งกสิณแทน จิตจึงสำเร็จกสิณได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างฝึกการกสิณดิน
เริ่มต้นฝึกกสิณจะต้องใช้ตาเพ่งดิน เพ่งจนจำคินนั้นเป็นนิมิตติดตา เมื่อจำจนเป็นนิมิตติดตาได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ตาเพ่งอีกต่อไปแล้ว จะใช้จิตเพ่งแทน เรียกว่าได้นิมิตติดตา และนิมิตเทียงเคียง เวลาถูกโลกธรรมมากระทบนิมิตติดตาก็จะหายไปให้เริ่มเพ่งใหม่จงทำให้ จิตใจหนักแน่นประดุจดั่งแผ่นดิน ไม่หวั่นไหวง่ายๆ
เคล็ดลับการฝึกกสิณให้จำเป็นนิมิตติดตาได้อย่างรวดเร็ว
เคล็ดลับการฝึกกสิณให้ได้นิมิตอย่างรวดเร็ว คือ จะฝึกกสิณใดก็ให้ทำจิตเป็นเหมือนกสิณนั้นๆ เหตุผลเพราะว่าถ้าเราทำตัวเราเป็นอันเดียวกับกสิณๆนั้นก็จะติดตาเราอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย เช่น ถ้าจะฝึกกสิณน้ำ แต่จิตใจเราไม่เป็นน้ำเช่นเป็นไฟ ลักษณะของน้ำคือความเยือกเย็น เมื่อเราทำตัวเป็นน้ำไม่ได้ก็จะไม่ได้นิมิตติดตา เวลาใช้อานุภาพกสิณน้ำ จิตใจไม่เป็นน้ำ ก็ไม่สามารถเรียกฝนได้ เป็นต้น
นี้เป็นเคล็ดลับในการฝึกกสิณ และการใช้อานุภาพของกสิณ นักปฏิบัติควรรู้ไว้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา ดังนี้ คือ:-
-การฝึกกสิณดิน ต้องทำจิตให้แข็งแกร่งดั่งศิลา
-การฝึกกสิณน้ำ ต้องทำจิตให้เย็นเหมือนสายน้ำ
-การฝึกกสิณไฟ ต้องทำจิตให้เหมือนเปลวไฟ หรือแสงของพระอาทิตย์
-การฝึกกสิณลม ต้องทำจิตให้เย็นเหมือนสายลม
-การฝึกกสิณสีต่างๆ ต้องทำจิตให้เป็นกสิณสีนั้นๆ
-การฝึกกสิณแสงสว่าง ต้องทำจิตให้บริสุทธิ์และสว่าง
-การฝึกกสิณอากาศ ต้องทำจิตให้ว่างเปล่า
หมายเหตุ:- การฝึกเจริญกสิณนั้น แล้วแต่บารมีควบคู่ไปกับความเพียรของคนเราเป็นหลัก บางคนบารมีสูงใช้เวลาไม่นานก็สำเร็จอย่างรวดเร็ว บางคนไม่มีบารมีมาทางนี้ อาจใช้เวลาฝึกนาน นานเท่าไหร่ก็ต้องสู้อย่าได้ท้อถอยเป็นเด็ดขาด ความสำเร็จรอเราอยู่ข้างหน้าแล้ว
กสิณคุณและกสิณโทษ
กสิณคุณ หมายถึง การเพ่งวัตถุที่เป็นอารมณ์ของกสิณ จะต้องไม่มีตำหนิแต่อย่างใดคือต้องเป็นกสิณที่บริสุทธิ์ไม่มีตำหนิ จิตใจจึงจะสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น สงบเป็นสมาธิ จนได้นิมิตติดตา เป็นต้น วัตถุที่บริสุทธิ์ในการเพ่งกสิณ คือ วัตถุที่ไม่มีตำหนิ เช่น ฝึกกสิณน้ำ ก็เอาน้ำใส่ขัน เป็นน้ำที่ใส ไม่ขุ่นมัว และไม่มีตะกอน เป็นต้น
กสิณโทษ หมายถึง การเพ่งวัตถุที่เป็นตำหนิของกสิณ เช่น ฝึกกสิณดิน ก็ไปเพ่งตำหนิของดิน มีก้อนหิน ก้อนกรวด เศษใบ้ไม้ เรียกว่า กสิณไม่บริสุทธิ์ หรือฝึกกสิณน้ำ ก็ไปเพ่งน้ำที่ขุ่นมัว หรือน้ำมีตะกอน การฝึกกสิณโทษ ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แค่จิตใจจะไม่สงบเป็นสมาธิ เพราะแทนที่จะเพ่งวัตถุที่เป็นกสิณจนได้สมาธิ แต่กลับไปเพ่งจุดที่เป็นตำหนิของกสิณแทน จิตจึงไม่เป็นสมาธิ
-สำหรับผู้ที่สั่งสมบารมีในอดีตชาติทางด้านกสิณมาแล้ว เพียงแต่เพ่งมองวัตถุของ กสิณ ก็จะสำเร็จอย่างรวดเร็ว จะฝึกอย่างไรก็ได้ ไม่มีโทษ มีแต่คุณฝ่ายเดียว
-สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีบารมีในอดีตชาติทางด้านกสิณ จำเป็นต้องเพ่งวัตถุที่บริสุทธิ์ ให้เว้นจากวัตถุที่เป็นตำหนิ จึงจะเรียกว่าฝึกกสิณคุณ ไม่มีโทษเจือปน ผู้สั่งสมบารมีมาในอดีตชาติ กับผู้ที่ไม่เคยสั่งสมบารมีมาในอดีตชาติ พึ่งจะเริ่มต้นฝึก ในปัจจุบัน จึงแตกต่างกัน ดังนี้
การฝึกเพ่งกสิณ จำเป็นต้องรู้เอง เห็นเอง เข้าถึงเอง ว่าเราเป็นผู้สั่งสมบารมีมา ในอดีตชาติ เกี่ยวกับกสิณจริงหรือไม่ แล้วมีบารมีสั่งสมกสิณไหนมา ก็ควรเลือกเพ่งกสิณนั้น
เริ่มต้นฝึกกสิณ
การเริ่มต้นฝึกกสิณ จะฝึกกสิณใดกสิณหนึ่งก่อนก็ได้ ขอให้เหมาะสมกับจริตของตน เมื่อสำเร็จฌานสมาธิพร้อมด้วยวสีสมาธิแล้ว จะฝึกอีกกี่กสิณก็ได้ ความยากง่าย จึงอยู่ที่กสิณแรกว่า สำเร็จสมาธิจนได้ฌานหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ ก็ไม่สามารถฝึกกสิณต่อไป ให้ฝึก
ชำนาญเป็นวสีสมาธิได้ แต่ถ้าได้แล้ว กสิณที่เหลือก็จะฝึกได้อย่างง่ายดาย
ผู้เริ่มต้นไม่ควรเริ่มต้นหลายอย่าง จะได้หน้าลืมหลัง ใจเราจะไม่สงบ ควรเริ่มต้น กสิณใดกสิณหนึ่งก็ได้ เพียงอย่างเดียว ให้ใจสงบเป็นสมาธิในกสิณนั้นๆ จนสำเร็จฌานสมาธิ
ผู้ที่สำเร็จวสีสมาธิ จะเข้าฌาน ๑ ด้วยกสิณดิน , จะเข้าฌาน ๒ ด้วยกสิณน้ำ , จะเข้าฌาน ๓ ด้วยกสิณไฟ , จะเข้าฌาน ๔ ด้วยกสิณลม เป็นต้น เรียกว่า วสีสมาธิ ด้วยเหตุนี้ ผู้เริ่มต้นกับผู้ที่ได้วสีสมาธิแล้ว จึงแตกต่างกันมาก
กสิณดิน
การเริ่มต้นฝึกกสิณดิน ให้เอาดินสีแดงเหมือนสีอรุณ มาทำเป็นวงกลม เพื่อฝึกเพ่งให้เป็นดวงกสิณ และดินนั้นจะต้องไม่มีก้อนหิน กรวด ใบไม้เจือปนอยู่ด้วย จึงเป็นดินที่บริสุทธิ์ พร้อมกับฝึกสติเพ่งกสิณ ใช้คำบริกรรมภาวนาของกสิณดินไปขณะเพ่งกสิณจะเพ่งลืมตาและหลับตาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจำเป็นนิมิตติดตาได้ เรียกว่า ฝึกกสิณคุณ เมื่อจำเป็นนิมิตติดตาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องลืมตาเพ่งอีกต่อไป แต่จะหลับตาเพ่งกสิณได้ เรียกว่า ใช้จิตเพ่งกสิณ
สำหรับผู้ที่ไม่เคยสั่งสมบารมีด้านกสิณดินมาในอดีตชาติ ผู้ที่ไม่เคยสั่งสมบารมีมาในอดีตชาติ ต้องเริ่มต้นฝึกกสิณดิน ใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่ารีบร้อน เหมือนคนที่มีบารมีไม่ได้ และต้องเว้นจากตำหนิของกสิณดิน ซึ่งอาจจะกลายเป็นกสิณโทษ คือ ดินที่มีก้อนกรวด ก้อนหิน หรือเศษใบไม้เจือปน เวลาเราฝึกเพ่งกสิณดิน แทนที่จะเพ่งดินให้ใจสงบ กลับไปมองตำหนิของดินแทน ใจเลยฟุ้งซ่าน เรียกว่า กสิณโทษ
สำหรับผู้เคยสั่งสมบารมีด้านกสิณดินมาในอดีตชาติ ไม่จำเป็นต้องเอาดินมาทำเป็นวงกลม เพียงแค่มองดูดิน ไม่ว่าดินนั้นจะเป็นดินสีดำ สีแดง หรือดินที่มีหิน กรวด ใบไม้เจือปน จะเป็นดินจากแผ่นดิน หรือภูเขา ก็สามารถจำเป็นนิมิตติดตา สำเร็จสมาธิด้วยกสิณดินอย่างง่ายดาย
กสิณน้ำ
การเริ่มต้นฝึกกสิณน้ำ ให้เอาน้ำใส่ขันบริสุทธิ์ไม่มีตะกอน ขันน้ำก็ต้องสะอาด ไม่สกปรกด้วย จึงให้บริสุทธิ์ทั้งน้ำและขันน้ำ ลักษณะของขันน้ำมันเป็นวงกลมอยู่แล้ว เพื่อฝึกเพ่งให้เป็นดวงกสิณ พร้อมกับฝึกสติเพ่งกสิณ ใช้คำบริกรรมภาวนาของกสิณน้ำไป ในขณะเพ่งกสิณ จะเพ่ง ลืมตาและหลับตาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจำเป็นนิมิตติดตาได้ เรียกว่า ฝึกกสิณคุณ เมื่อจำเป็นนิมิตติดตาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องลืมตาเพ่งอีกต่อไป แต่จะหลับตาเพ่งกสิณได้ เรียกว่า ใช้จิตเพ่งกสิณ
สำหรับผู้ที่ไม่เคยสั่งสมบารมีด้านกสิณน้ำมาในอดีตชาติ ผู้ที่ไม่เคยสั่งสมบารมีมาในอดีตชาติ ต้องเริ่มต้นฝึกกสิณน้ำ ใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่ารีบร้อน เหมือนคนที่มีบารมีไม่ได้ และต้องเว้นจากตำหนิของกสิณน้ำ ซึ่งอาจจะกลายเป็นกสิณโทษ คือ น้ำขุ่น น้ำมีตะกอน เวลาเราฝึกเพ่งกสิณน้ำ แทนที่จะเพ่งน้ำให้ใจสงบ กลับไปมองตำหนิของน้ำแทน ใจเลยฟุ้งซ่าน เรียกว่า "กสิณโทษ"
สำหรับผู้เคยสั่งสมบารมีด้านกสิณน้ำมาในอดีตชาติ ไม่จำเป็นต้องเอาน้ำมาใส่ขันวงกลม เพียงแค่มองดูน้ำบ่อ น้ำคลอง แม่น้ำ ลำธาร น้ำตก น้ำฝน ก็สามารถจำเป็นนิมิตติดตา สำเร็จสมาธิด้วยกสิณน้ำอย่างง่ายดาย
กสิณไฟ
การเริ่มต้นฝึกกสิณไฟ ให้ก่อกองไฟ แล้วทำแผ่นกระดานให้เป็นวงกลมเอามาไว้หน้าเรา คู่กับการเพ่งไฟไปด้วย เพื่อทำเป็นดวงกสิณไฟ แต่ถ้าคนเก่งแล้ว จะเพ่งเปลวเทียน ไม่จำเป็นต้องทำแผ่นวงกลมให้เห็นเป็นดวงกสิณ ก็ได้นิมิตติดตาได้อย่างรวดเร็ว หรือฝึกเพ่งดวงอาทิตย์ ตอนเช้าหรือตอนเย็น เพราะจะสบายสายตาไม่ปวดตา ถ้าเป็นตอนเที่ยง คนไม่มีพลังจิตกล้าแข็ง จะปวดตาได้ ไม่เหมาะสมที่จะเพ่งดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน สำหรับผู้เริ่มต้น ผู้ที่จะเพ่ง ดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน โดยไม่ปวดสายตา ต้องเป็นผู้มีงจิตกล้าแข็ง และชำนาญมาก ด้วยวสีสมาธิ พร้อมกับฝึกสติเพ่งกสิณ ใช้คำบริกรรมภาวนาของกสิณไฟไปขณะเพ่งกสิณ จะเพ่งลืมตาและหลับตาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจำเป็นนิมิตติดตาได้ เรียกว่า ฝึกกสิณคุณ เมื่อจำเป็นนิมิตติดตาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องลืมตาเพ่งอีกต่อไป แต่จะหลับตาเพ่งกสิณได้ เรียกว่า ใช้จิตเพ่งกสิณสำหรับผู้ที่ไม่เคยสั่งสมบารมีด้านกสิณไฟมาในอดีตชาติ
ผู้ที่ไม่เคยสั่งสมบารมีมาในอดีตชาติ ต้องเริ่มต้นฝึกกสิณไฟ ใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่ารีบร้อน เหมือนคนที่มีบารมีไม่ได้ และต้องเว้นจากตำหนิของกสิณไฟ ซึ่งอาจจะกลายเป็นกสิณโทษ คือ กองไฟที่มีสิ่งอื่นเจือปน หรือเพ่งดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน จนสายตาทนไม่ไหวอาจทำให้สายตามืดบอดได้ การฝึกเพ่งแสงพระอาทิตย์นั้นให้ฝึกเพ่งตอนที่มีแสงสว่างสดใสไม่มีเมฆหมอกมาปิดบัง ตัวเราต้องนั่งอยู่ในรมแล้วก็เพ่งมองออกไปหาแสงพระอาทิตย์ ณ ที่จุดใดจุดหนึ่งที่เราจะมองเห็นแสงพระอาทิตย์ได้ชัดเจน โปรดอย่ายืนเพ่งมองดูดวงอาทิตย์ในขณะที่พระอาทิตย์มีแสงสว่างเจิดจ้าโดยเด็ดขาดอาจจะทำให้ตามืดบอดได้ เวลาเราฝึกเพ่งกสิณไฟ แทนที่จะเพ่งไฟให้ใจสงบ กลับไปมองตำหนิของไฟแทน ใจเลยฟุ้งซ่าน เรียกว่า กสิณโทษ สำหรับผู้เคยสั่งสมบารมีด้านกสิณไฟมาในอดีตชาติ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นดวงกสิณไฟ เพียงแค่มองดูเปลวไฟ เปลวเทียว หรือดวงอาทิตย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สามารถจำเป็นนิมิตติดตา สำเร็จสมาธิด้วยกสิณไฟอย่างง่ายดาย
กสิณลม
-การเริ่มต้นฝึกกสิณลม ให้ฝึกเพ่งลมที่กำลังพัดไปมาตามต้นไม้หรือใบไม้ และทำแผ่นกระดานเป็นวงกลม เพื่อฝึกเพ่งให้เป็นดวงกสิณ ข้อสำคัญเวลาฝึกเพ่งกสิณลม ต้องเพ่งลมที่พัดไปมา ไม่หยุดนิ่ง ถ้าลมขาดช่วง เท่ากับฝึกกสิณลมขาดตอน ไม่ต่อเนื่อง
กัน หรือจะเอาพัดลมมาไว้หน้าเรา แล้วเพ่งฝึกลมก็ได้ ซึ่งลมจะไม่ขาดตอน ต่อเนื่องกันตลอดเวลา สมาธิกสิณลม จะไม่ขาดหาย พร้อมกับฝึกสติเพ่งกสิณ ใช้คำบริกรรมภาวนาของกสิณลมไปขณะเพ่งกสิณ จะเพ่งลืมตาและหลับตาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจำเป็นนิมิตติดตาได้ เรียกว่า ฝึกกสิณคุณ
- การจะเพ่งลมตามธรรมชาติ หรือเพ่งลมที่พัดไปมาไม่ขาดตอนของพัดลมก็ได้ แล้วแต่จริตของเราเป็นหลัก จึงไม่ควรยึดติดในรูปแบบว่าต้องเป็นลมธรรมชาติเสมอไป เมื่อจำเป็นนิมิตติดตาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องลืมตาเพ่งอีกต่อไป แต่จะหลับตาเพ่งกสิณก็ได้ เรียกว่า ใช้จิตเพ่งกสิณ
สำหรับผู้ที่ไม่เคยสั่งสมบารมีด้านกสิณลมมาในอดีตชาติ ผู้ที่ไม่เคยสั่งสมบารมีมาในอดีตชาติ ต้องเริ่มต้นฝึกกสิณลม ใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่ารีบร้อน เหมือนคนที่มีบารมีไม่ได้ และต้องเว้นจากตำหนิของกสิณลม ซึ่งอาจจะกลายเป็นกสิณโทษ คือ ลมที่ไม่ได้พัดต่อเนื่อง จิตจึงหยุดหรือขาดจากสมาธิของกสิณลม หรือเพ่งลมแล้ว กลับเห็นวัตถุที่ลมพัดไปมา มีต้นไม้ หรือกิ่งไม้ เป็นต้น ต้องกำหนดจิตให้แน่วแน่ว่าเราฝึกกสิณลม ไม่ใช่กสิณสีเขียว หรือกสิณอย