หน้าที่ ๓ อาณาจักรสมัยธนบุรี

                     

                  อาณาจักรสมัยธนบุรี

    
        สมัยกรุงธนบุรี
    หลังจากได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้แล้ว พระเจ้าตากสินทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายมาก ยากที่จะฟื้นฟูให้เหมือนเดิม พระองค์จึงย้ายเมืองหลวง มาอยู่ที่กรุงธนบุรี แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า “ พระบรมราชาธิราชที่ ๔ "   (แต่ประชาชนนิยมเรียกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ครองกรุงธนบุรีอยู่ ๑๕ ปี นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ปกครองกรุงธนบุรี การตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
   สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้
     -กรุงศรีอยุธยาชำรุดเสียหายมากจนไม่สามารถจะบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ดีเหมือนเดิมได้
     -กำลังรี้พลของพระองค์มีน้อยจึงไม่สามารถรักษากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองใหญ่ได้
     -ทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาทำให้ข้าศึกโจมตีได้ง่าย ข้าศึกรู้เส้นทางการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาดี
   ส่วนสาเหตุที่พระเจ้าตากสินทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงเนื่องจาก
    -ทำเลที่ตั้งกกรุงธนบุรีอยู่ใกล้ทะเล ถ้าเกิดมีศึกมาแล้วตั้งรับไม่ไหวก็สามารถหลบหนี ไปตั้งมั่นทางเรือได้
    -กรุงธนบุรีเป็นเมืองเล็ก จึงเหมาะกับกำลังคนที่มีอยู่พอจะรักษาเมืองได้
    -กรุงธนบุรีมีป้อมปราการที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหลงเหลืออยู่ ซึ่งพอจะใช้เป็นเครื่องป้องกันเมืองได้ในระยะแรก
    -ด้านการปกครอง หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ บ้านเมืองอยู่ในสภาพไม่เรียบร้อย มีการปล้นสะดมกันบ่อย ผู้คนจึงหาผู้คุ้มครองโดยรวมตัวกันเป็นกลุ่มเรียกว่าชุมนุม ชุมนุมใหญ่ ๆ ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ชุนนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้าพิมายชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช เป็นต้น สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงใช้เวลาภายใน ๓ ปี ยกกองทัพไปปราบชุมนุมต่าง ๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระจนหมดสิ้นสำหรับระเบียบการปกครองนั้น พระองค์ทรงยืดถือและปฏิบัติตามระเบียบการปกครองแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายตามทที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงวางระเบียบไว้ แต่รัดกุมและมีความเด็ดขาดกว่า คนไทยในสมัยนั้นจึงนิยมรับราชการทหาร เพราะถ้าผู้ใดมีความดีความชอบ ก็จะได้รับการปูนบำเหน็จอย่างรวดเร็ว
   ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสิ นมหาราชขึ้นครองราชสมบัตินั้นบ้านเมืองดำลังประสบความตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างที่สุด เกิดการขาดแคลนข้าวปลาอาหาร และเกิดความอดอยาก ยากแค้น จึงมีการปล้นสะดมแย่งชิงอาหาร มิหนำซ้ำยังเกิดภัยธรรมชาติขึ้นอีก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายอยู่แล้วกลับทรุดหนักลงไปอีกถึงกับมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแก้ไขวิกฤตการณ์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ ชื้อข้าวสารมาแจกจ่ายแก่ราษฎรหรือขายในราคาถูก พร้อมกับมีการส่งเสริมให้มีการทำนาปีละ2 ครั้ง เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอ 
   ในตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องจากพระองค์ทรงตรากตรำ ทำงานหนักในการสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ชาติบ้านเมือง  พระราชพงศาวดารฉบับต่าง ๆ ได้ บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระสติฟั่นเฟือน ทำให้บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสายและได้เกิดกบฏขึ้นที่กรุงเก่า พวกกบฏได้ทำการปล้นจวนพระยาอินทรอภัย ผู้รักษากรุงเก่าจนต้องหลบหนีมายังกรุงธบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้พระยาสรรค์ไปสืบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าด้วยกับพวกกบฏ และคุมกำลังมาตีกรุงธนบุรี แล้วจับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาคุมขังเอาไว้
   การจราจลในกรุงธนบุรี ทำให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องรีบยกทัพกลับจากเขมร เพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ในกรุงธนบุรี และจับกุมผู้ก่อการกบฏมาลงโทษรวมทั่งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณา ความที่มีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในฐานะที่ทรงเป็นต้นเหตุแห่งความยุ่งยากใน กรุงธนบุรี และมีความเห็นให้สำเร็จโทษพระองค์เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีกต่อไป สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระชนมายุได้ ๔๕ พรรษา
     การปกครองสมัยกรุงธนบุรียึดถือตามแบบอย่างอยุธยา สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คือแบ่งส่วนราชการออกเป็น
      ๑. การปกครองส่วนกลาง ประกอบด้วยอัครมหาเสนาบดี ๒ ตำแหน่ง ได้แก่
         - สมุหนายก เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน และดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ
         - สมุหพระกลาโหม เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร และดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ การบริหารราชการแบ่งออกเป็น ๔ กรม เรียกว่า จตุสดมภ์
ประกอบด้วย
        - กรมเวียง (นครบาล) มีหน้าที่ปกครองท้องที่ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
        - กรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) มีหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนัก และช่วยพระมหากษัตริย์พิจารณาคดีความของราษฎร จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ธรรมาธิกรณ์
        - กรมคลัง (โกษาธิบดี) มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของแผ่นดิน และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้มาจาก ส่วย อากร และบังคับบัญชากรมท่า
ซี่งเกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
       - กรมนา (เกษตราธิการ) มีหน้าที่ดูแลนาหลวง เก็บภาษี (หางข้าว)
     ๒. การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งหัวเมืองออกเป็น
        ๒.๑ หัวเมืองชั้นใน (เมืองจัตวา) ได้แก่เมืองที่อยู่ใกล้ราชธานี เป็นเมืองเล็กๆมีขุนนางชั้นผู้น้อยเป็นผู้ปกครองเมือง แต่เรียกว่า จ่าเมือง
เช่นเมืองพระประแดง เมืองนนทบุรี เมืองสามโคก
       ๒.๒ หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่เมืองซึ่งอยู่นอกราชธานีออกไป แบ่งตามขนาดและความสำคัญของเมืองกำหนดฐานะเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี จัตวา โดยรูปแบบการบริหารราชการเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ฐานะของเมืองอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
       ๒.๓ หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองซึ่งทางกรุงธนบุรีจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมือง ให้อิสระในการปกครอง แต่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของเมืองหลวง และต้องส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง รวมทั้งเครื่องราชบรรณาการตามทีเมืองหลวงกำหนด เมืองประเทศราชสมัยกรุงธนบุรีได้แก่ เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทร์ จำปาศักดิ์ นครศรีธรรมราช ปัตตานี และเขมร
        เศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี
    การเสียกรุงครั้งที่ ๓ ก่อให้เกิดความเสียหายย่อยยับแก่เศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากชาวไทยต้องบาดเจ็บล้มตายในสงครามกับพม่าหลายหมื่นคนแล้ว ผู้รอดชีวิตจำนวนมากต้องอพยพหนีตายในสภาพอดอยากยากแค้น บางส่วนอพยพหนีเข้าป่า บางส่วนซัดเซพเนจรหาที่พักพิงใหม่ เมื่ออดอยากหนักเข้าจึงใช้วิธีปล้นสะดมฆ่าฟันกันเพื่อความอยู่รอด บ้างก็ล้มตายเพราะขาดอาหาร หรือไม่ก็ตายเพราะโรคระบาด พลเมืองบางส่วนก็หนีไปพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงธนบุรีหลังจากที่พระเจ้าตากสินได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราช ธานีแล้วได้ดำเนินวิธีการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
      ๑. ทรงสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากต่างชาติที่นำมาขาย แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับราษฎรเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
      ๒. ทรงเร่งรัดการทำนา เพื่อให้มีข้าวบริโภคเพียงพอ โดยการสนับสนุนให้ข้าราชการทำนาปรัง
      ๓. ทรงส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ เพื่อนำรายได้มาใช้เกี่ยวกับการทำสงครามและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม รายได้เกี่ยวกับการค้ากับ
ต่างประเทศ ได้แก่ การเก็บภาษีเบิกร่องหรือค่าปากเรือ ภาษีขาเข้า - ภาษีขาออก
      ๔. ทรงดำเนินนโยบายประหยัด โดยการใช้ของที่เป็นเครื่องอุปโภค บริโภค ให้คุ้มค่ามากที่สุดแม้ว่าพระเจ้าตากสินจะพยายามแก้ไขปัญหา
เศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาความอดอยากของประชาชน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จนัก เป็นเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้
     ๑.มีสงครามตลอดรัชกาล ทำให้ราษฎรไม่มีเวลาทำมาหากิน
     ๒.เกิดภัยธรรมชาติ เช่น พ.ศ.๒๓๑๑-๒๓๑๒ ฝนแล้งติดต่อกัน ทำนาไม่ได้ผล ที่พอทำได้บ้างก็ถูกหนูกัดกินข้าวในนาและยุ้งฉาง รวมทั้ง
ทรัพย์สินสิ่งของทั้งปวงเสียหาย จึงมีรับสั่งให้ราษฎรดักหนูนามาส่งกรมพระนครบาล ทำให้เหตุการณ์สงบลงไปได้
     ๓.ผู้คนแยกย้ายกระจัดกระจายกัน ยังไม่มารวมกันเป็นปึกแผ่น
     ๔.พ่อค้าชาติต่างๆยังไม่กล้ามาลงทุน เพราะสภาพการณ์บ้านเมืองไม่น่าวางใจนัก  อีกประการหนึ่งเกรงจะถูกยึดทรัพย์สินเป็นของหลวง  การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ค่อยได้ผลนัก ทั้งนี้เพราะต้องทำควบคู่ไปกับการทำสงครามด้วย แม้กระนั้นพระเจ้าตากสินก็พยายามส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ โดยส่งเสริมการต่อเรือพาณิชย์ อันเป็นผลให้มีหนทางเก็บภาษีเข้าท้องพระคลัง เรือค้าขายจากเมืองจีนมาติดต่อบ่อยครั้ง ในพ.ศ.๒๓๒๔  คณะทูตจากกรุงธนบุรีเดินทางไปเมืองกวางตุ้ง นำพระราชสาสน์ไปเจริญทางพระราชไมตรีและได้เจรจาเรื่องการค้าด้วย
       การปรับปรุงฟื้นฟูประเทศด้านการศึกษาและศาสนาสมัยกรุงธนบุรี
   การศึกษาสมัยกรุงธนบุรีมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดกับวัง โดยวัดจะเป็นสถานศึกษาสำหรับราษฎรทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชายเพราะต้องไปศึกษาและพักอยู่กับพระที่วัด วิชาที่เรียนได้แก่ การอ่าน เขียนภาษาไทยภาษาบาลี - สันสกฤต และวิชาเลข ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนวังเป็นสถานศึกษาสำหรับบุตรของพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ วิชาที่เรียนส่วนใหญ่เน้นเรื่องการปกครอง วิชาการป้องกันตัว เพื่อเตรียมรับราชการต่อไปในอนาคต ส่วนวิชาชีพนั้นจะเป็นการศึกษากับพ่อแม่ คือ พ่อแม่ประกอบอาชีพอะไร ก็มักจะถ่ายทอดให้ลูกหลานทำต่อ เช่นวิชาแพทย์แผนโบราณ หรือวิชาช่างต่างๆ ส่วนเด็กผู้หญิงจะเรียนเพื่อเตรียมตัวเป็นแม่บ้านแม่เรือนในอนาคต ดังนั้นการเรียนของเด็กผู้หญิงจะเรียนอยู่กับบ้าน มีแม่เป็นผู้สอน วิชาที่เรียน เช่น การเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การฝึกอบรมมารยาทของสตรี โดยพ่อแม่ไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ
      การปรับปรุงฟื้นฟูประเทศด้านศาสนาสมัยกรุงธนบุรี
  พระพุทธศาสนาตกต่ำมากในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๓ เมื่อพระเจ้าตากสินขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงตั้งพระทัยจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่ พระราชภารกิจทางด้านศาสนา ได้แก่
       ๑. นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ตามที่ต่างๆให้มาประชุมกันที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) แต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดประดู่ขึ้นเป็นพระสังฆราช และตั้งพระราชาคณะให้ปกครองพระอารามต่างๆในเขตกรุงธนบุรี
       ๒. ในคราวเสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช พระองค์เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระอารามวัดพระศรีมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช และให้เชิญพระไตรปิฎกขึ้นมายังกรุงธนบุรี เพื่อคัดลอกจารไว้ทุกหมวดแล้วเชิญกลับไปนครศรีธรรมราชตามเดิม
       ๓. เมื่อเสด็จหัวเมืองเหนือ พระเจ้าตากสินก็ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะตามหัวเมืองต่างๆ และโปรดให้รวบรวมพระไตรปิฎกทางหัวเมืองเหนือมาสอบชำระที่กรุงธนบุรี แล้วให้ส่งกลับไปใช้เป็นฉบับหลวง
       ๔ .ทรงอุปถัมภ์พระภิกษุ สามเณร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางศาสนาเป็นประจำ
       ๕. ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง เช่น วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม)อันเป็นพระอารามหลวง และประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์   นอกจากนี้เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ใน พ.ศ.๒๓๒๑  ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ในกรุงธนบุรีด้วย
       สภาพสังคมไทยสมัยกรุงธนบุรี
    สภาพสังคมไทยสมัยกรุงธนบุรี มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา คือมีการแบ่งชนชั้นออกเป็น
       ๑. พระมหากษัตริย์ เป็นชนชั้นสูงสุดในสังคม
       ๒. พระบรมวงศานุวงศ์
       ๓. ขุนนางข้าราชการ
       ๔. ไพร่ เป็นชนชั้นที่มีมากที่สุดในสังคม
       ๕. ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดในสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายเงินมาก สังคมไทยสมัยกรุงธนบุรีถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมาก ด้วยเป็นเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในระหว่างอันตรายเพิ่งกอบกู้เอกราชคืนมาได้ ทั้งประสบความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  ผู้คนหลบหนีเข้าป่าอย่างมากมาย ถูกกวาดต้อนไปพม่าก็มีมาก นอกนั้นต่างก็พยายามเอาตัวรอดโดยการตั้งเป็นก๊ก เป็นเหล่า ครั้นกู้กรุงศรีอยุธยา กลับคืนมาได้ก็ยังต้องระมัดระวังภัยจากพม่าที่จะมาโจมตีอีก การควบคุมกำลังคนจึงมีความสำคัญมาก เพราะถ้ามีผู้คนน้อย  ก็จะทำให้พ่ายแพ้แก่ข้าศึกศัตรูได้ ผู้คนในกรุงธนบุรีถูกควบคุมโดยการสักเลก  ผู้ที่ถูกสักเลกทั้งหลายเรียกกันว่าไพร่หลวง ซึ่งมีหน้าที่รับราชการปีละ ๖ เดือน โดยมาทำราชการหนึ่งเดือน และหยุดพักผ่อนไปทำมาหากินหนึ่งเดือนสลับกันไป ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าเข้าเดือนออกเดือน มีไพร่หลวงอีกพวกหนึ่งเรียกว่าไพร่ส่วย คือ เป็นไพร่ที่ส่งส่วยเป็นสิ่งของหรือเงินแทนการรับใช้แรงงานแก่ทางราชการ ส่วนไพร่สมเป็นไพร่ที่สังกัดมูลนายรับใช้แต่เจ้านายของตนเอง เพราะพวกนี้ถูกแยกเป็นอีกพวกหนึ่งเด็ดขาดไปเลย  แต่บางครั้งไพร่สมก็ถูกแปลงมาเป็นไพร่หลวงได้เหมือนกัน การสักเลกก็เพื่อเป็นการลงทะเบียนชายฉกรรจ์เป็นไพร่หลวงเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงและหลบหนี
      ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
    ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในสมัยกรุงธนบุรีมีลักษณะสำคัญ ๒ ประการ คือการป้องกันประเทศจากการรุกรานของต่างชาติ และการขยายอำนาจไปยังอาณาจักรข้างเคียง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแก่บ้านเมืองประเทศที่มี ความสัมพันธ์กับไทยสมัยกรุงธนบุรี คือ พม่า ลาว เขมร และจีน
      ๑. ความสัมพันธ์กับประเทศพม่า เป็นไปในลักษณะของความขัดแย้งตลอดรัชกาล เริ่มจากการรบครั้งแรกที่ค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งไทยเป็นฝ่ายชนะ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จแล้วก็ตาม แต่พม่าก็ยังไม่หยุดยั้งที่จะทำลายอาณาจักรไทยที่ตั้งขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงธนบุรีมีการทำสงครามกับพม่า ๑๐ ครั้ง ผลัดกันแพ้ชนะ สงครามครั้งสำคัญที่สุด ได้แก่ ศึกอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.๒๓๑๘ ไม่มีฝ่ายใดชนะโดยเด็ดขาด
     ๒. ความสัมพันธ์กับประเทศลาว ในสมัยกรุงธนบุรีมีการทำสงครามกับลาว ๒ ครั้ง คือศึกจำปาศักดิ์ปี พ.ศ.๒๓๑๙  และศึกเวียงจันทร์  ปี พ.ศ.๒๓๒๑ ผลของสงครามทั้ง ๒ ครั้ง ไทยเป็นฝ่ายชนะ ได้ลาวเป็นประเทศราชและในคราวศึกเวียงจันทร์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแม่ทัพไทย ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และพระบาง จากเวียงจันทร์มากรุงธนบุรีด้วย
    ๓. ความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชา เขมรเคยเป็นประเทศราชของไทยมาแต่สมัยอยุธยา หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐  แล้วพระเจ้าตากสินกู้เอกราชได้สำเร็จ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายอ้างว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ใช่เชื้อพระวงศ์พระเจ้า แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) นำทัพไปตีเขมรใน พ.ศ.๒๓๑๒ แต่ไม่สำเร็จเพราะเขมรแกล้งปล่อยข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคต พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาจึงยกทัพกลับ   ต่อมาปี พ.ศ.๒๓๑๔ โปรดให้พระยาจักรียกทัพไปตีเขมรอีก และได้เขมรกลับมาเป็นประเทศราชของไทย
   ๔.ความสัมพันธ์กับประเทศจีน สมัยกรุงธนบุรีเป็นความพยายามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จะให้จีนยอมรับฐานะของพระองค์ และเพื่อให้ไทยได้เปิดค้าขายกับจีน เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและทำให้ฐานะของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมั่นคงขึ้นด้วย                                    
        เหตุการณ์ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
   ในช่วงปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทรงหมกมุ่นในการนั่งวิปัสนากรรมฐาน จนเข้าพระทัยว่าทรงบรรลุโสดาบันแล้ว ทรงบังคับให้พระสงฆ์มากราบไหว้พระองค์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ทรงลงโทษอย่างหนัก สร้างความเดือดร้อนไปทั่วจนเกิดจราจลขึ้น พระยาสรรค์ก่อการกบฏตั้งตนเป็นใหญ่ บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผนวช   สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบ
ข่าวจึงยกทัพกลับจากการไปตีเขมร และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อ วันที่ ๖เมษา ยน พ.ศ.๒๓๒๕  ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

            พระเจ้าตากสินมหาราช

    

                      พระราชประวัติพระเจ้าตากสินมหาราช

     พระเจ้าตากสิน เป็นบุตรของนายอากรบ่อนเบี้ยซึ่งเป็นชาวจีน ปู่ของพระเจ้าตากสินเป็นชาวจีนที่มาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา การมาค้าขายกับอยุธยาในสมัยนั้นจะต้องติดต่อทั้งระบบราชการและพ่อค้า การทำมาค้าขายในสมัยนั้นก็มีการเสียภาษีเหมือนกัน เมื่อปู่ของพระเจ้าตากไปเสียภาษีบ่อยๆก็เลยรู้จักมักคุ้นกับพระยาจักรีผู้ได้รับหน้าที่ให้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องภาษี และอากรบ่อนเบี้ยทุกชนิด  ปู่ของพระเจ้าตากมีลูกชาย ๑ คน คือ นายหยง  แซ้แต้ อยู่ที่เมืองไหฮอง หรือ ไฮ้ฮง หรือ ไห่เฟิง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นพระบิดาของพระเจ้าตากสิน  ไหฮองไม่ใช่ชื่อพระบิดาของพระเจ้าตากสินมหาราช ตามที่คนทั้งหลายเข้าใจกัน  แต่เป็นชื่องของเมืองๆ หนึ่งในจังหวัดแต้จิ๋ว

   พระยาจักรีเห็นว่า นายหยง เก่งในเรื่องการคิดคำนวณตัวเลขซึ่งท่านกำลังต้องการคนเช่นนี้มาช่วยงานในด้านนี้อยู่แล้ว ท่านก็เลยชักชวนให้เขาเข้ามารับราชการเพื่อจะช่วยเหลือท่านในเรื่องของภาษีอากร  นายหยงเห็นว่า ท่านรู้จักและสนิทสนมกับพ่อของเขาก็ยอมรับปาก  เขารับราชการมาจนได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ ซึ่งเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยของกรุงศรีอยุยาในสมัยนั้น  ต่อมานายหยงก็ได้แต่งงานกับ นางนกเอี้ยงซึ่งเป็นหลานสาวห่างๆ ของพระยาจักรี

  ในวันอาทิตย์ที่  ๑๗ เมษายน ปีขาล  พ.ศ.๒๒๗๗ เขาก็ให้กำเหนิดบุตรชายคนหนึ่ง ก่อนที่บุตรชายคนนี้จะเกิดก็มีนิมิตรอันมหัศจรรย์เกิดขึ้นเช่น ฝนตกฟ้าร้องฟ้าผ่าด้วยเสียดังกึกก้องไปทั่วกรุงศรีอยุธยา พอเวลาผ่านไปได้ ๓ วัน ก็มีงูเหลือมตัวใหญ่เลื่อยเข้ามาพันรอบเปลของเด็กเอาไว้  มารดาบิดาเห็นเช่นนั้นก็กลัวว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีแก่ลูกของตน  จึงอุ้มเอาเด็กเข้าไปปรึกษากับพระยาจักรีๆ  มองเห็นลักษณะของเด็กคนนี้แล้วประกอบกับวันเกิดของเด็กคนนี้เกิดมีฟ้าร้องฟ้าผ่ามีเสียงดังกึกก้องทั่วกรุงศรีอยุธยาก็รู้ว่า เด็กคนนี้เป็นผู้มีบุญมาเกิดต่อไปจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีเดชานุภาพมาก  จะนำเอาชื่อเสียงและเกีรยติยศมาสู่ประเทศชาติ   พระยาจักรีก็บอกกับ นายหยงและนางนกเอี้ยงว่า "เด็กคนนี้เป็นผู้มีบุญมาเกิด พวกเธอจงเลี้ยงเขาให้ดีๆ พอเขาอายุได้ ๕ ปีแล้วให้นำมาให้เราๆจะส่งให้เขาเรียนหนังสือในสำนักของอาจารย์ดีๆ

    วันหนึ่งนางนกเอี้ยงแม่ของเด็กลงไปอาบน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านตัวเมืองอยุธยา  เพราะสมัยนั้นไม่มีห้องน้ำเหมือนสมัยนี้  นางอาบไปเล่นน้ำไปตีนก็ไปเหยียบเอาที่ปากไห  นางก็มุดดำลงไปอุ้มเอาไหนั้นขึ้นมาปรากฏว่ามีอยู่ด้วยกัน ๒ ไห  รู้สึกว่าไหทั้ง ๒ ลูกจะมีน้ำหนักเอามากๆ เมื่อนางนำเอาไหทั้ง ๒ ลูก ไปที่บ้านแล้วก็เปิดดูปรากฏว่า ไหลูกหนึ่งมีแต่เงินแท่งเต็มไห  และไหอีกลูกหนึ่งมีแต่ทองคำแท่งเต็มไห

           

         นี่คือภาพไหโบราณสมัยอยุธยาที่ใช้ใส่เงินใส่ทอง

  ข้าพเจ้าคิดว่าไหเงินและไหทองที่นางนกเอี้ยงได้มานี้  คงจะเป็นข้าราชการหรือพ่อค้าทองจับโยนลงไปในน้ำตอนกรุงศรีอยุธยาแตกเพื่อซุกซ่อนหลบหนีทหารพม่า  กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๓ ทหารพม่าทำหน้าที่เป็นโจรอย่างสมบูรณ์แบบรีดนาทาเร้นปล้นฆ่าเอาทรัพย์เงินทองของชาวบ้านอย่างป่าเถื่อนมากและยังเผาบ้านเผาเมืองจนกรุงศรีอยุธยามีแต่ซากปรักหักผัง เป็นเมืองล้างเต็มไปหมดจนกระทั้งทุกวันนี้ แม้กระทั้งทองคำทีหุ้มห่อองค์พระพวกมันยังเอาไฟเผาลอกเอาจนหมดสิ้นไม่ให้เหลือ  ยังดีนะพวกเรายังมีพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดขึ้นมากู้ชาติขับไล่พวกโจรพม่าเหล่านี้ออกไปได้หมด  เอาหละมาพูดเรื่องของพระเจ้าตากสินตอนเป็นเด็กต่อไป

    เมื่อนางนกเอี้ยงและนายหยงได้ไหเงินและไหทองมาเช่นนี้ พวกเขาก็ปรึกษากันว่า

"การที่พวกเราได้ไหเงินและไหทองมาเช่นนี้คงจะเป็นเพราะบุญของลูกชายของพวกเราแน่ๆ"  ว่าแล้วสองสามีภรรยาก็เลยตั้งชื่อให้ลูกชายว่า "เด็กชายสิน"  พระเจ้าตากสินมีชื่อว่า "สิน" ก็เพราะเหตุนี้   ตอนหลังเมื่อพระองค์เข้ารับราชการถูกส่งไปเป็นเจ้าเมืองตาก  ท่านก็ได้สมญานามเพื่มเข้ามาว่า "ตากสิน" นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

   เมื่อ ด.ช.สิน อายุได้ ๕ ขวบ พ่อแม่จึงเอาไปฝากพระยาจักรี  เจ้าพระยาจักรีจึงนำเอาไปฝากให้บวชเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ถูกพระอาจารย์ทำโทษ มัดมือคร่อมกับบันไดลืมไว้จนเย็นสองทุ่มน้ำขึ้นฝั่งเมื่อแก้มัดออกมาก็หาเป็นอันตรายไม่
   เณรสิน มีเพื่อนเณรที่สนิทอยู่ ๒ คนคือ เณรทองด้วง และเณรบุนนาค ครั้งหนึ่งเณรบุนนาคเสียงดี ได้ไปสวดกัณฑ์มัทรีบนบุษบก เณรสินจึงแกล้งเอาบันไดที่ขึ้นนั้นออกเสีย ขาลงเณรบุนนาคจึงตกลงมา ชาวบ้านพากันขบขันต่อมาเมื่อทั้ง ๓ สึก ก็ได้นั่งเล่นอยู่ที่หน้าบ้านเจ้าพระยาจักรีผู้บิดาบุญธรรมของสิน  สินนั่งหลับไปบนสนาม บุนนาคจึงเอาผมเปียของสินไปทับไว้กับหินก้อนใหญ่เมื่อสินตื่นลุกขึ้นก็ไม่สามารถลุกขึ้นได้ เป็นที่น่าขายหน้า แต่นั้นมา สินและบุนนาคจึงไม่ลงรอยกัน
   ต่อมาสินได้เป็น สมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านพิภพกรุงธนบุรี ส่วนทองด้วงเป็นเจ้าพระยาจักรี ในขณะที่บุนนาคกลัวราชอาญาแต่ครั้งหลัง เป็นเพียงมหาดเล็กหุ้มแพร นายฉลองไนยนาถ และพอใจเป็นเพียงทนายต่างของเจ้าพระยาจักรีเพื่อนสนิท

      สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรธนบุรี  เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๐ เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๓ ต่อมาได้เป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอีกเจ็ดเดือนถัดมาพระองค์ก็ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี และรวบรวมแผ่นดินซึ่งมีขุนศึกก๊กต่าง ๆ ปกครองให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช
    พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนพรรษา ๔๘ พรรษา หลังถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นพระสหายสำเร็จโทษ และสืบราชสมบัติต่อเป็นต้นราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน รวมเวลาครองราชย์ได้ ๑๕ ปี พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๓๐ พระองค์  พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีที่สุด และเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระบรมราชานุสรณ์มากที่สุด
    นางนกเอี้ยง ต่อมาก็ได้รับเฉลิมพระนาม เป็นกรมพระเทพามาตย์สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นท่านะเกิดในกรุงศรีอยุธยา
    จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนคนหนึ่งจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารราชวงศ์เช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก [ ประเทศไทย] และเกิดเจิ้งเจา ( สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี;สำเนียงปักกิ่ง) ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่าฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ
    ส่วนการศึกษาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ทรงเคยบวชเรียนมาระยะหนึ่ง ทำให้ทรงสามารถแต่งกลอนบทละคร และอุดหนุนการเก็บรวบรวมคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาในภาษาไทยและภาษาบาลี  เด็กชายสินได้เล่าเรียนหนังสือในวัดโกษาวาส สำนักของพระอาจารย์ทองดี อีกทั้งยังได้อุปสมบท และยังศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากในระหว่างเป็นมหาดเล็ก เพียงแต่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าพระองค์ทรงพูดได้ ๔ ภาษา คือ ภาษาไทย จีน ญวน และภาษาลาว

    พระเจ้ากรุงธนมีเชื้อสายจีน
     ประตูทางเข้าสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว จึงได้รับความเคารพบูชาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากคนไทยเชื้อสายจีน มีการเรียกพระนามตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า แต่อ่วงกง  หมายถึง กษัตริย์ชาวแต้จิ๋ว ที่ได้รับการเคารพบูชา(แซ่แต้ของพระองค์พ้องกับคำว่าแต้จิ๋ว)
   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อมูลแก่นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีชื่อเรียกขานกันในหมู่ชาวจีนว่า "เตียซินตัด หรือ เตียซินตาด"  แปลว่า พ่อสินเจ้าเมืองตาก และยังมีชื่อที่ปรากฏว่า เจิ้งกั๋วอิง แปลว่า "วีรบุรุษของประเทศนามเจิ้ง ตามหลักฐานจีน ก่อนเสด็จรับราชการเคยทรงประกอบอาชีพค้าขายต่อจากพระราชบิดา และยังมีหลักฐานที่ส่อว่าเคยทรงเป็นพ่อค้าเกวียน มีรับสั่งได้คล่องแคล่ว ทั้งจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง และจีนฮกเกี้ยน
     อย่างไรก็ตาม ต้วนลี่เซิงได้พบสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว (เฉาโจว) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน รวมทั้งศาลประจำตระกูลซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ มีข้อสันนิษฐานน่าจะเป็นผู้สืบราชสกุลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ส่งไปฝังแทนพระบรมศพตามธรรมเนียมจีน สิ่งนี้อาจเป็นหลักฐานว่า สายวงศ์พระราชบิดาอยู่ที่ตำบลนั้นซึ่งเป็นถิ่นที่แห้งแล้งทำให้อพยพมาอยู่พระนครศรีอยุธยา
    อาชีพค้าขาย
   ปู่ของพระเจ้ากรุงธนบุรีประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก เขาและพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ การเป็นพ่อค้าดังกล่าวทำให้พ่อค้าทั้งหลายที่เป็นชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง ด้วยการค้าขายของปู่ดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พระเจ้าตากสินสามารถเป็นเจ้าเมืองตากได้ง่ายเพราะเชี่ยวชาญในเส้นทางแถบนั้น ซึ่งตรงกับความประสงค์ที่จะเป็นเจ้าเมืองของพระองค์ด้วยเช่นกัน
     ข้าราชการในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
   การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๓ สำหรับการรับราชการเป็นเจ้าเมืองตากนั้น พระยาจักรีเป็นคนเสนอพระเจ้าเอกทัศ  เมื่อเจ้าเมืองตากคนก่อนป่วยเสียชีวิต จึงให้พระยาจักรีหาผู้มีสติปัญญาพอจะรับตำแหน่งแทนได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ถูกเสนอตัวเป็นเจ้าเมืองตาก ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากมาก่อนทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๗ เกิดเหตุการณ์พม่ายกกองทัพมายึดหัวเมืองแถบภาคใต้ของไทยปัจจุบันโดยมี มังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ปรากฏว่าพม่ายึดได้โดยง่าย จึงยึดเรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาได้ ส่งกองทัพซึ่งมีพระยาโกษาธิบดีกับพระยาตากเป็นแม่ทัพไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ ท่านมีความสามารถตีกองทัพพม่าให้แตกถอยไปทางด่านสิงขร
     ต่อมา พ.ศ. ๒๓๐๘  พม่ายกกองทัพผ่านเมืองตากอีกครั้ง พระยาตากมีความเห็นว่ากรุงศรึอยุธยาคงจะสู้ไม่ไหวจึงส่งกองกำลังมาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยาไว้ และยัง ปรากฏในพงศาวดารว่า พระยาตากมีความชอบนำทหาร ๕๐๐ นายมาช่วยป้องกันพระนคร จึงได้รับพระราชทานของบำเหน็จความดีความชอบ  ในระหว่างการปิดล้อมนั้นก็ได้ปรากฏฝีมือเป็นนายทัพเข้มแข็ง ปฏิบัติงานตามคำสั่งของราชการ ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระยาวชิรปราการ
      สร้างกลุ่มชุมนุม
   การกอบกู้เอกราชของเจ้าตาก  เส้นทางเดินทัพของเจ้าตากครั้งกอบกู้เอกราช
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่านั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และตะวันตกล้วนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด การทำมาหากิน การทำไร่ทำนาทรัพย์สิน วัวควายถูกยึดไว้หมด จนกลางดึกของคืนวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๐๙ ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกประมาณ ๓ เดือน กองทัพพม่ายิงถล่มกรุงศรีอยุธยาอย่างหนัก เกิดเพลิงลุกไหม้ทั่วพระนคร บ้านเรือน วัด และวัง ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะบ้านเรือนของราษฎรเกิดเพลิงไหม้ กว่า ๑๐๐๐๐ หลัง พระยาพิพัทธโกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลังเขียนจดหมายถึงสภาบริหารสูงสุด (Supreme Government) ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) ที่เมืองปัตตาเวีย ลงวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๑๒  กล่าวว่า พระเจ้าตากเสด็จไปยังเมืองจันทบูรตามพระราชโอง
การของพระเจ้าเอกทัศน์ ไม่ได้เสด็จ “หนี” ออกจากกรุง กลางวันของวันที่ ๓ มกราคมนั้นพระยาตากรวบรวมไพร่พลจำนวน ๑๐๐๐ นาย  เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยามาก่อน กองกำลังพระยาตากเริ่มออกเดินทางจาก วัดพิชัยมาถึงบ้านหารตราเมื่อเวลาค่ำ โดยมีกองทัพพม่าไล่ติดตามมาแล้วต่อรบกันจนพม่าพ่ายกลับไป ก่อนเดินทางมาถึงบ้านข่าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต ตอนเวลาเที่ยงคืน ต่อมา เช้าวันที่ ๔ มกราคม กองกำลังพระยาตากเดินทางมุ่งหน้าไปทางบ้านโพธิ์สังหาร (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) พม่าส่งกองทัพไล่ติดตามมาอีกจึงได้สู้รบกันจนพม่าพ่ายกลับไป

    เมื่อมาถึงบ้านพรานนกช่วงเวลาเย็น คราวนี้พม่าส่งไพร่พลมาแก้มือถึง ๒๐๐๐ นาย ฝ่ายพระยาตากจึงทรงม้ากับทหารอีก ๔ ม้า  ออกรับศึก สามารถตีพม่าแตกพ่ายกลับไปอีกครั้ง เหล่าทหารม้าจึงถือเอาวันที่ ๔ มกราคมเป็นวันทหารม้าของไทย
      วันที่ ๓ ของการเดินทัพ กองกำลังพระยาตากเดินทัพมาสุดเขตพระนครศรีอยุธยาก่อนที่จะเข้าเมืองนครนายก ขุนชำนาญไพรสนฑ์กับนายกองช้างเข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อพระยาตาก ทั้งยังถวายช้างพลาย ๕ ช้าง ช้างพัง ๑ ช้าง แล้วอาสานำทางต่อไปยังบ้านกง (หรือบ้านดง) เมืองนครนายก
    เมื่อถึงบ้านกง ข้าราชการ ขุนหมื่นพันทนายท้องถิ่นไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้จะได้เจรจาเกลี้ยกล่อม ๓ ครั้งก็ไม่สำเร็จ รุ่งขึ้นกองกำลังพระยาตากจึงปะทะกับไพร่พลชาวบ้านกงซึ่งมีกำลังมากกว่า ๑๐๐๐ นาย แต่กองกำลังพระยาตากเป็นฝ่ายชนะและสามารถยึดช้างได้เพิ่มอีก ๗ ช้าง เงินทอง และเสบียงอาหารอีกมาก

    ต่อมาวันที่ ๘ มกราคม ก็เดินทัพมาถึงตำบลหนองไม้ชุ้มแล้วหยุดพัก ๒ วันก่อนเดินทัพต่อไปถึงบ้านนาเริ่ง แขวงเมืองนครนายกแล้วหยุดพักอีก ๑ คืน ต่อมาพระยาตากนำไพร่พลข้ามแม่น้ำที่ด่านกบแจะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี)
แล้วหยุดพักรี้พล ก่อนเดินทัพต่อไปยังทุ่งศรีมหาโพธิ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดปรา จีนบุรี) และต้องหยุดรอนายทหาร ๓ นาย คือ พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และสมเด็จพระรามราชาที่ตามกองกำลังพระยาตากมาไม่ทัน ระหว่างที่ทรงรอกลุ่มพระเชียงเงินอยู่นั้นเกิดปะทะกับทัพบกและทัพเรือของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม้น้ำโจ้โล้ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) ประชุมพงศวดารบันทึกไว้ว่า "พม่าไล่แทงฟันคนซึ่งเหนื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนีมาตามทาง ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปประมาณ ๒๐๐ เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำโจ้โล้ทั้งทัพบกทัพเรือ"

   พระยาตากจึงสั่งให้ตั้งแนวรับ ขุดหลุมเพลาะ วางปืนตับ และเรียงหน้ากระดาน จนพม่าเข้ามาใกล้ราว ๒๔๐  เมตรจึงเริ่มเปิดฉากยิงขึ้น ทหารพม่าทั้ง ๔ แนวแตกพ่ายไป "จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง"  จากแนวปะทะและการติดตามฆ่าพม่ามาทางปากน้ำโจ้โล้นี้เอง ทำให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินทัพตามชายป่าดงมาเป็นชายทะเลเข้าเขตเมืองชลบุรี "จึงให้ยกพลนิกายมาประทับตามลำดับ บ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ" (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี)  
    ที่บ้านนาเกลือ มีนายกลม (หรือนายกล่ำ) มาชุมนุมที่บ้านนาเกลือได้รวบรวมไพร่พลคิดสกัดต่อรบกับกองกำลังพระยาตาก แต่เพียงแสดงแสนยานุภาพ "เสด็จทรงช้างพระที่นั่งสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ" นายกลมก็ถึงกับวางอาวุธ ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แล้วอาสานำไปพัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ชายทะเล บ้านหินโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง โดยพักทัพคืนละแห่งตามลำดับ ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้น หลังจากพระยาตากยึดเมืองระยองได้ ขณะพักอยู่บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ ข่าวแพร่กระจายออกไป พระยาตากจึงได้ประกาศพระองค์ขึ้นเป็น "เจ้า" ภายหลังจากเดินทัพออกจากวัดพิชัยได้ ๒๓ วัน  พระองค์มีพระราชปณิธานโดยพระราชพงศวดารฉบับพระราชหัตเลขาบันทึกว่า พระยากำแพงเพชรจึงปรึกษากับนายทหารและรี้พลทั้งปวงว่า กรุงศรีอยุธยาคงจะเสียแก่พม่าเป็นแท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงเมืองหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงศรีอยุธยา ให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย
      การประกาศตั้งตัวขึ้นในครั้งนี้มีศักดิ์เทียบเท่าพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองได้เช่นกันว่า พระเจ้าตากประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับตั้งแต่ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว   พระเจ้าตากมุ่งยึดเมืองจันทบุรีซึ่งก่อนเข้าตีเมืองได้มีรับสั่งให้ทหารทุกคนทำลายหม้อข้าวให้หมด โดยมีเป้าหมายให้ไปกินข้าวในเมืองจันทบุรี แต่ถ้าตีเมืองไม่สำเร็จก็ให้อดตายกันทั้งหมดที่นี่
      กองทัพพระเจ้าตากสามารถตีได้เมืองจันทบุรีได้เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากนั้นจึงยกกองทัพลงไปยังเมืองตราด ทรงใช้เวลาในการเดินทัพ ๗ วัน ๗ คืนก็มีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองจันทบุรีและเมืองตราดยังไม่ถูกทหารพม่ายึดครอง และขณะนั้นมีเรือสำเภาจีนจอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ พระเจ้าตากมีรับสั่งให้นายเรือพวกนั้นมาเฝ้า แต่กลับขัดขืนและระดมยิงปืนใส่ พระเจ้าตากทรงทราบก็ให้นำเรือที่คุมเรือรบไปล้อมเรือสำเภาจืนไว้ แล้วบังคับให้พวกคนจีนสมัครเข้ามาเป็นพรรคพวก แต่พวกคนจีนไม่ฟังกลับระดมยิงปืนใส่กองทัพพระเจ้าตาก รบกันอยู่ครึ่งวันกองทัพพระเจ้าตากสามารถยึดเรือสำเภาจีนได้ทั้งหมด ได้ทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อพระเจ้าตากสามารถจัดการเมืองตราดเสร็จแล้วจึงยกทัพกลับเมืองจันทบุรี
      พระเจ้าตากทรงรวบรวมกำลังพลจนมีจำนวน ๕๐๐๐ นายแล้วยกกองทัพเรือออกจากเมืองจันทบุรี ล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อสู้จนยึดเมืองธนบุรีคืนจากพม่าได้ และจับนายทองอิน เจ้าเมืองธนบุรีซึ่งพม่าแต่งตั้งให้นั้นประหารชีวิตต่อจากนั้นได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครองได้เมื่อ  วันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.  โดยใช้เวลาเพียง ๗ เดือนหลังจากเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา
      ปราบดาภิเษก
   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบดาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๐ ณ พระ ราชวังกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และการเมืองเป็นสำคัญ ทำให้เจ้าตากมา "ยับยั้ง" อยู่ ณ เมืองธนบุรี ซึ่งมีลักษณะเป็นราชธานีไม่ถาวร  ก่อนหน้านั้น เมืองธนบุรีถูกทิ้งร้าง มีต้นไม้ขึ้นและซากศพทิ้งอย่างเกลื่อนกลาด ทำให้ต้องมีการเกณฑ์แรงงานจัดการพื้นที่ขึ้นมาใหม่  เจ้าตากยังมีรับสั่งให้คนไปอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยตอนปลายอยุธยาจากเมืองลพบุรีมายังเมืองธนบุรี และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศตามโบราณราชประเพณี
      หลังจากที่อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" แต่เอกสารราชการสมัยกรุงธนบุรียังคงเรียกนามเมืองหลวงตามเดิมว่า "กรุงพระมหานครศรีอยุธยา" เจ้าตากทรงปราบดาภิเษกขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามแบบพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า จดหมายเหตุโหรระบุว่าเป็นวันอังคาร แรมสี่ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙  ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๐  เมื่อพระชนพรรษา ๓๔  พรรษา ความสำเร็จดังกล่าวทำให้มีผู้ที่คิดรื้อฟื้นราชอาณาจักรอยุธยาขึ้นมาใหม่มาเข้าด้วยกับชุมนุมของพระองค์เป็นจำนวนมาก ทำให้สถานะการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์เด่นชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งพระองค์ยังทรงเริ่มประกอบพระราชกรณียกิจตามแบบอย่างพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อแสดงถึงสิทธิธรรม  การเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานียังถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากสงครามกับพม่าด้วย
      หลังจากทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังกรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐  ซึ่งเป็นพระราชวังหลวงที่ใช้เป็นสถานที่ประทับและว่าราชการ พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตำแหน่งของพระราชวังนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ
       พระราชกรณียกิจแรกหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ.๒๓๑๑  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉินเหม่ยเซิน พ่อค้าเดินเรือจีน นำพระราชสาส์นไปถวายต่อจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชสำนักชิง ใจความสำคัญว่าด้วยพระราชประสงค์ฟื้นฟูสัมพันธไมตรี การค้าขายกับจีน และขอพระราชทานตราตั้งเพื่อรับรองสถานภาพพระมหากษัตริย์ แต่ราชสำนักชิงปฏิเสธในปีแรกเพราะมองว่าพระองค์มิใช่ผู้สืบราชสันตติวงศ์เจ้านายกรุงเก่า และเจ้านายกรุงเก่ายังมีพระขนม์ชีพอยู่ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ (พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เสด็จไปก่อตั้งชุมนุมเจ้าพิมาย ส่วนเจ้าจุ้ย (พระโอรสในเจ้าฟ้าอภัยและพระราชนัดดาในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙) และเจ้าศรีสังข์ (พระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์และพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เสด็จลี้ภัยสงครามไปอยู่กับพระยาราชาเศรษฐี ญวน (ม่อซื่อหลิน) ที่เมืองพุทไธมาศ อีกทั้งในระยะนั้นจีนได้รับรายงานที่ไม่เป็นความจริงจากม่อซื่อหลิน ทำให้เอกสารราชสำนักชิงจึงไม่เรียกขานพระนามอย่างพระมหากษัตริย์ แต่เรียกขานเพียง กันเอินซื่อ (เจ้าเมืองตาก) เท่านั้น
         ปราบชุมนุมต่างๆ
     สภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๓ และ การสงครามสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  จากผลของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๓  ทำให้อาณาจักรอยุธยาไม่อาจกลับมาตั้งใหม่เป็นอาณาจักรของคนไทยได้อีก ทั้งยังเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยในชีวิตตามมา มีการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน แต่สำคัญคือเพื่อเอาชีวิตรอด นอกจากนี้กลุ่มการเมืองหรือ "ชุมนุม" ขนาดใหญ่ ๆ นั้นยังแตกออกเป็น ๔-๖  ชุมนุมใหญ่ แต่ไม่มีก๊กใดเลยที่คิดจะกอบกู้เอกราชหรือฟื้นฟูชาติกลับคืนมาดังเดิม
       เมื่อพระเจ้ามังระทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตนเป็นใหญ่อีกครั้ง จึงได้มีพระราชโองการให้เจ้าเมืองทวายยกทัพมาปราบปราม  กองทัพพม่ายกมาถึงอำเภอบางกุ้งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี พระราชพงศาวดารบันทึกว่ามีกองกำลัง ๒๐๐๐ คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำกองทัพออกตีพม่าจนแตกพ่าย กิตติศัพท์ที่ทรงรบชนะทำให้พระราชอำนาจทางการเมืองในภาคกลางยิ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น
      พ.ศ. ๒๓๑๑  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเริ่มจากยกทัพไปตีชุมนุมพิษณุโลกเป็นชุมนุมแรก แต่พระองค์ต้องกระสุนปืนจึงต้องยกทัพกลับและรักษาพระองค์ยังพระนคร ชุมนุมพิษณุโลกนี้ภายหลังอ่อนแอลงจนกระทั่งถูกชุมนุมเจ้าพระฝางผนวกไป หลังหายจากพระอาการประชวรแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใช้เวลาปราบปรามชุมนุมอื่น ๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นต่อไป โดยเริ่มจากชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธทรงถูกปราบปรามและสำเร็จโทษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑ ตามด้วยชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งพระปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งตัวเองขึ้นเป็นเจ้า  เจ้านครศรีธรรมราชสู้ไม่ได้หนีต่อลงไปยังหัวเมืองทางใต้ พระยาปัตตานีกลัวก็จับตัวมาส่งให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝางในหัวเมืองฝ่ายเหนือ สามารถยึดได้เมืองพิษณุโลกและชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี รบกันได้เพียง ๓ วัน เจ้าพระฝางก็แตกหนี เมื่อทรงปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบ และทรงปราบกองทัพของม่อซื่อหลินที่เมืองพุทไธมาศสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔  รัฐบาลจีนเริ่มยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ  โดยทางราชสำนักชิงเห็นว่ากรุงธนบุรีภายใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นปึกแผ่น พระบรมวงศานุวงศ์ครั้งกรุงเก่าหมดหนทางกลับมาสืบราชสันตติวงศ์ อีกทั้งมีนโยบายจับกุมเชลยศึกที่หลบหนีเข้ามาไทยส่งกลับไปให้รัฐบาลจีนเป็นระยะๆ จักรพรรดิเฉียนหลงจึงทรงเปลี่ยนท่าทีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๕  เป็นต้นมา เอกสารราชการของราชสำนักชิงเปลี่ยนการเรียกขานพระนามจาก กันเอินซื่อ หรือ พระยาสิน เป็น เจิ้งเจา (กษัตริย์เจิ้ง)

              สงครามกับเขมร
   เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒  เจ้านายเขมรได้เกิดวิวาทกัน กล่าวคือ นักองตนไปขอกองทัพญวณมาตีเขมร และนักองนนท์สู้มิได้ก็พาครอบครัวหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์กับพระยาอนุชิตราชา (ทองด้วง) ยกทัพไปตีเขมรได้เมืองเสียมราฐแล้วพักรอฤดูฝนอยู่ พอดีได้ข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชแล้วสิ้นพระชนม์ลง การตีเขมรครั้งนั้นจึงยังไม่สำเร็จ
      เมื่อชุมนุมเจ้าพระฝางถูกตีแตก อภัยคามณี โป่มะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ที่พม่าตั้ง เห็นสบโอกาสแผ่อาณาเขต จึงยกทัพลงมาล้อมสวรรคโลกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ แม่ทัพกรุงธนบุรีรักษาเมืองไว้มั่นคง ครั้นกองทัพกรุงธนบุรีที่ยกมาช่วยเหลือ พอถึงก็เข้าตีกระหนาบพ่ายกลับไป ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นสบโอกาสก็ยกทัพขึ้นไปจะตีเอาเมืองเชียงใหม่บ้าง แต่ล้อมได้เพียง ๙ วันก็ต้องยกกองทัพถอยกลับลงมา
     ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่นั้น ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์ราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ฉวยโอกาสยกทัพมาตีเมืองตราดและจันทบุรี แต่ถูกตีแตกกลับไป พอสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ขัดเคือง หลังจากพักรี้พลพอสมควรแล้วก็ทรงเตรียมทัพไปตีกัมพูชา สามารถบุกไปถึงกรุงพุทไธมาศ (ราชธานีกรุงกัมพูชาในช่วงเวลานั้น) สมเด็จพระนารายณ์ราชาเห็นว่าสู้ไม่ได้ก็หนีไปพึ่งญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้พระรามราชาเป็นพระมหากษัตริย์กัมพูชาต่อไป แล้วเลิกทัพกลับเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ แต่ต่อมาญวนเกิดกบฏไตเซิน สมเด็จพระนารายณ์ราชาขาดกำลังสนับสนุน ก็กลับมาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ก็ทรงให้เป็นมหาอุปโยราช มีฐานะรองจากพระรามราชา
      นักองตนซึ่งครองเขมรอยู่ได้ข่าวพม่ายกมาตีไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ จึงถือโอกาสยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีและตราด สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตีเขมร กองทัพไทยตีได้เมืองโพธิสัตว์ พระตะบอง บริบูรณ์ กำพงโสม และเมืองพุทไธมาศ นักองตนพ่ายแพ้หนีไปอยู่กับญวณ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักองนนท์ครองเขมรสืบไป
     หลังจากกองทัพไทยกลับจากเขมรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๓ แล้ว นักองตนก็ยกทัพมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพุทไธมาศ ส่วนนักองนนท์เกรงกลัวญวณจึงคงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกำปอด ต่อมาองไกเซนเป็นกบฏยึดญวณไว้ได้ นักองตนสิ้นที่พึ่ง จึงขอประนีประนอมยอมให้นักองนนท์ครองกรุงกัมพูชา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระรามราชา (นักองนนท์) เป็นเจ้ากรุงกัมพูชา พระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองตน) เป็นมหาอุปโยราช และนักองธรรมเป็นมหาอุปราช ต่อมานักองธรรมถูกลอบสังหารและนักองตนก็เป็นโรคจนเสียชีวิต เป็นที่สงสัยว่าถูกวางยาพิษ ฟ้าทะละหะเข้าใจว่าพระรามราชาแกล้งฆ่าคนทั้งสอง จึงพร้อมด้วยข้าราชการรวมกันจับพระรามราชาถ่วงน้ำเสีย แล้วยกนักองเองราชบุตรขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา มีฟ้าทะละหะเป็นผู้สำเร็จราชการ ต่อมาฟ้าทะละหะได้เอาใจออกห่างไทยไปฝักใฝ่ญวณ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพไปตีเขมร ตีได้หลายหัวเมืองแล้ว พอจะตีเข้าเมืองหลวงก็พอดีเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีจำเป็นต้องยกทัพกลับ
          สงครามกับพม่า
    ใน พ.ศ. ๒๓๑๔  นั้นเกิดเหตุวิวาทในหมู่เจ้าเมืองแคว้นกรุงศรีสัตนาคนหุต ฝ่ายหนึ่งสู้ไม่ได้ก็ขอกำลังพม่ามาช่วย พอปราบปรามสำเร็จแล้ว แม่ทัพพม่าก็ยกทัพมาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อกองทัพยกผ่านเมืองน่านก็แบ่งกำลังให้นายทัพหน้าตีเมืองบางส่วนของธนบุรี ลึกเข้าไปถึงเมืองพิชัยเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๓๑๕ เจ้าเมืองพิชัยป้องกันเมืองไว้มั่นคงแล้วก็ขอกำลังพิษณุโลกไปช่วย พอมาถึงก็ออกตีกระหนาบ กองทัพพม่าเป็นฝ่ายแตกกลับไปเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๖ ได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกัน และพม่ายกเข้ามาตีเมืองพิชัยอีกครั้งหนึ่ง แม่ทัพกรุงธนบุรีตั้งซุ่มสกัดข้าศึกตรงบริเวณชัยภูมิ พอมาถึงก็ตีทัพพม่าแตกกลับไป
     พม่ากับมอญเกิดรบกัน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ยกทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง ได้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเข้ามาสวามิภักดิ์ เมื่อยกไปถึงเชียงใหม่แล้วก็ตั้งค่ายล้อมไว้ เมื่อทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเดิมตั้งคอยรับชาวมอญที่เมืองตากมาถึงเชียงใหม่แล้ว กองทัพธนบุรีก็ระดมตีค่ายพม่าเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ จนโปมะยุง่วนต้องทิ้งเมืองหนี ทำให้เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่านและเมืองแพร่ปลอดจากพม่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากทำสัญญาสันติภาพกับจีนในปีเดียวกันนั้นแล้ว พระเจ้ามังระก็ทรงส่งทหารมาอีก ๕๐๐๐ นาย แต่ถูกล้อมที่เมืองบางแก้ว ราชบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริให้ตั้งล้อมไว้เฉย ๆ ไม่ให้เข้าตี และรอจนพม่าเป็นฝ่ายอดอาหารยอมจำนนเอง หลังจากล้อมอยู่นาน ๔๗ วัน พม่าก็ยอมจำนน โดยพระองค์ทรงหวังว่าจะเป็นการปลุกขวัญคนไทยให้หายกลัวพม่า
     พ.ศ. ๒๓๑๘  แม่ทัพอะแซหวุ่นกี้ของพม่ายกทัพมาตีหัวเมืองเหนือ เป็นสงครามอะแซหวุ่นกี้ที่มีขนาดใหญ่มาก อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้เชี่ยวชาญศึก ส่วนฝ่ายไทยนั้นมีเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ในการครั้งนี้พม่ายกพลมา ๓๐๐๐๐ คนเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกอีก ๕๐๐๐ คนล้อมเมืองสุโขทัย ส่วนเมืองพิษณุโลกมีพลประมาณ  ๑๐๐๐๐ คน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปช่วย ต่อมาอะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับไปเอง เนื่องจากพระเจ้ามังระสวรรคต กองทัพพม่าส่วนที่ตามไปไม่ทันจึงถูกจับ
     พ.ศ. ๒๓๑๙  พระเจ้าจิงกูจาโปรดให้เกณฑ์ทัพพม่า ๖๐๐๐ คนยกมาตีเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการพิจารณาเห็นว่านครเชียงใหม่ไม่มีพลมากมายพอป้องกันเมืองได้  จึงให้ประชาชนพลเรือนอพยพลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกองกำลังพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนสำเร็จ และทรงให้นครเชียงใหม่เป็นเมืองร้างถึง ๑๕ ปี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ฟื้นฟูใหม่
                    การขยายพระราชอาณาเขต
    ในขณะที่ไทยติดศึกพม่าที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ นั้น มีเหตุเกิดขึ้นทางนครราชสีมา คือ เจ้าเมืองนางรอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นต่อนครราชสีมา มีข้อพิพาทกับพระยานครราชสีมา แล้วเอาเมืองไปขึ้นต่อเจ้าโอ เมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งตั้งตนเป็นอิสระอยู่ พระยานครราชสีมามีใบ้บอกเข้ามายังกรุงธนบุรี ต่อมาเดือนมีนาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปปราบ เมื่อปราบได้ให้ประหารเจ้าเมืองนางรองเสีย เจ้าพระยาจักรีปราบได้สำเร็จ พอปราบเสร็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่าเจ้าโอกับเจ้าอินอุปราช เมืองนครจำปาศักดิ์เตรียมพล ๑๐๐๐๐ นาย  จะมาตีนครราชสีมา สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมทัพไปสมทบอีก ๑ ทัพและให้ปราบจำปาศักดิ์เสีย ทัพไทยตีจำปาศักดิ์แตกและจับตัวเจ้าโอกับเจ้าอินได้ที่เมืองสีทันดร และยังตีได้เมืองอัตตะปือด้วยพร้อมกันนั้น เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ออกเกลี้ยกล่อมเมืองเขมรป่าดง ระหว่างจำปาศักดิ์กับนครราชสีมาเป็นพวกได้อีก 3 เมือง คือ สุรินทร์ สังขะ และขุขันธ์ ทั้ง 3 เมืองยอมเข้าเป็นเขตเมืองไทย เสร็จศึกครั้งนี้เจ้าพระยาจักรีได้เลื่อนเป็น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ" มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม
       แผนที่แสดงอาณาเขตประเทศไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระวอ เสนาบดีแห่งเมืองเวียงจันทน์ ก่อกบฏเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ แต่สู้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตไม่ได้ ก็พาสมัครพรรคพวกหนีมาอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี) และขอขึ้นต่อไทย ต่อมาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกทัพมาตีตำบลดอนมดแดงและสังหารพระวอ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงขัดเคืองมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเวียงจันทน์กองทัพไทยได้แสดงความสามารถตีเมืองเวียงจันทน์ได้ และหัวเมืองลาวทั้งหลายได้พากันมาขึ้นต่อไทย ในการนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางลงมายังกรุงธนบุรีด้วย การศึกสงครามดังกล่าวนี้ส่งผลให้ราชอาณาจักรไทยเป็นเอกราชและมีความมั่นคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี มีดังนี้ ทิศเหนือตลอดอาณาจักรล้านนาเดิม ทิศใต้ได้ดินแดนตรังกานูและไทรบุรี ทิศตะวันออกได้ดินแดนกัมพูชาจรดอาณาเขตญวนใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดเวียงจันทน์ หัวเมืองพาน และหลวงพระบาง หัวพันห้าทั้งหก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ตลอดเมืองพุทไธมาศ จรดมะริดและตะนาวศรี ทิศตะวันตกจรดดินแดนเมาะตะมะ ได้เมืองมะริดและตะนาวศรี ออกมหาสมุทรอินเดีย
              ด้านการปกครอง
    หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายสูญหายไปมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการสืบเสาะ ค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ ๑ ใน ๑๐ และโปรดฯ ให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดฯ ให้คงไว้ ฉบับใดไม่เหมาะก็โปรดให้แก้ไขเพิ่มเติมก็มี ยกเลิกไปก็มี ตราขึ้นใหม่ก็มี และเป็นการแก้ไขเพื่อราษฎรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เช่น โปรดฯ ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนันให้อำนาจการตัดสินลงโทษขึ้นแก่ศาลแทนนายตราสิทธิ์ขาด และยังห้ามนายตรานายบ่อนออกเงินทดลองให้ผู้เล่น เกาะกุมผูกมัดจำจองเร่งรัดผู้เล่น กฎหมายพิกัดภาษีอากรก็เกือบไม่มี เพราะผลประโยชน์แผ่นดินได้จากการค้าสำเภามากพอแล้ว กฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวงก็ยังไม่ตราขึ้น เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าแหนตามรายทาง โดยไม่มีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้ เช่น มองเซนเยอร์ เลอบอง ได้บรรยายไว้ในจดหมายถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศว่า
     บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อน ๆ ไม่ และในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะมีรับสั่งด้วยแล้วจะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น
     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปกครองบ้านเมืองคล้ายคลึงกับพระราโชบายของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ แบบพ่อปกครองลูก ไม่ถือพระองค์ มักปรากฏพระวรกายให้พสกนิกรเห็น และมักถามสารทุกข์สุขดิบของพนกนิกรทั่วไป ทรงหาวิธีให้ไพร่บ้านพลเมืองได้ทำมาหากินโดยปกติสุข ใครดีก็ยกย่องสรรเสริญ ผู้ใดทำไม่พอพระทัย ก็ดุด่าว่ากล่าวดังพ่อสอนลูก อาจารย์สอนศิษย์ ซึ่งสมกับโคลงยอพระเกียรติของนายสวนมหาดเล็กที่ว่า
        พระเดียวบุญลาภเลี้ยง        ประชากร
    เป็นบิตุรมาดร        ทั่วหล้า
    เป็นเจ้าและครูสอน        สั่งโลก
    เป็นสุขทุขถ้วนหน้า        นิกรทั้งชายหญิง
   กฎหมายที่ใช้ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้กรมวังหรือกระทรวงวังเป็นผู้รับผิดชอบการพิจารณาว่าคดีใดควรขึ้นศาลใด แล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้น ๆ โดยได้แบ่งงานศาลออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ ฝ่ายรับฟ้อง มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้องและพิจารณารูปคดีว่าควรจะฟ้องหรือไม่ ก่อนจะส่งขึ้นศาลเพื่อพิจารณาเรื่องปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด
    ฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา ฝ่ายนี้เดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแขนงต่าง ๆ จำนวน ๑๒ คน โดยเรียกว่า "ลูกขุน ณ ศาลหลวง" ต่อมาได้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย คณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้ไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษอย่างไรก็ตาม ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์จะทรงใช้ศาลทหารเป็นส่วนใหญ่ โดยในการตัดสินคดีทุกครั้ง แม้พระองค์จะตัดสินให้ลงโทษสูงสุดแล้ว แต่ก็จะมีรับสั่งให้ทยอยการลงโทษจากขั้นต่ำสุดก่อน ซึ่งหลายครั้งจะปรากฏว่านักโทษที่มีความผิดร้ายแรงก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษหนัก โดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน
     พระองค์ออกพระราชกำหนดสักเลก พ.ศ. ๒๓๑๖ เพื่อสะดวกในการควบคุมกำลังคน การขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชของไทย  ในลาวและเขมรเพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งมั่นคง และการเตรียมการให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปปกครองเขมรในฐานะเมืองประเทศราช  แต่ได้เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเสียก่อนจึงไม่สำเร็จ ส่วนหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นทางผ่านของทัพพม่าก็โปรดให้แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถไปปกครอง เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ไปครองเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิชัยราชาไปครองเมืองสวรรคโลก

           ด้านเศรษฐกิจ
   สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองมีผลกระทบทำให้เกิดทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย  นอกจากนี้เศรษฐกิจยังเสียหายอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการปล้นสะดม และเมืองท่าที่สำคัญตกเป็นของพม่าอย่างเด็ดขาดถึงสองเมือง ได้แก่ มะริดและตะนาวศรี และยังเสียปืนใหญ่และปืนคาบศิลารวมหลายหมื่นกระบอกด้วย
     เพื่อหาทรัพย์มาใช้จ่าย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกเลิกประเพณีงดเก็บส่วยอากร ๓ ปีเมื่อเข้ารัชกาลใหม่ อันเป็นประเพณีซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงแจกจ่ายข้าวของเงินทองอันได้มาสี่ครั้ง ได้แก่ เมื่อครั้งตีค่ายชาวบ้านกง ครั้งตีเมืองจันทบุรี ครั้งปล้นเรือสำเภาพ่อค้าจีนที่ตราด และครั้งตีเมืองนครศรีธรรมราช สามารถช่วยราษฎรได้หลายหมื่นคน   บรรดาข้าราชการทหารพลเรือนได้รับแจกข้าวสารหนึ่งถังกิน ๒๐ วัน และโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อข้าวสารบรรทุกมาขายจากพุทไธมาศ ถังละ ๓-๕ บาท เมื่อราษฎรทั้งหลายทราบก็ได้อพยพจากบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามายังกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก  ต่อมาทรงให้ข้าราชการทั้งหลายทำนาปรังทุกแห่งทุกตำบล ราคาข้าวเริ่มปรับตัวลดลงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑ ต่อมาราคาข้าวได้ปรับสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๓๑๒ เนื่องจากมีหนูระบาด  เมื่อหนูหายไปแล้ว ราคาข้าวก็กลับลดลงอีก
      พระองค์ทรงวางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวในกรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔  โดยทรงให้ปรับพื้นที่สวนป่านอกกำแพงพระนครให้เสมอกันไว้ทำนา ครั้นบ้านเมืองสงบก็ทรงให้แม่ทัพคุมกองทัพมาทำนา ซึ่งทำให้กรุงธนบุรีกลายสภาพเป็นแหล่งทำนาแห่งใหม่ และได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศไทย  พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปหลายสาย ทางตะวันออกถึงจีน ทางตะวันตกถึงอนุทวีปอินเดีย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงส่งเสริมการนำสินค้าพื้นเมืองไปขาย ทั้งทรงพยายามผูกไมตรีกับจีนเพื่อประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงของชาติและประโยชน์ในด้านการค้า
      สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกระตุ้นให้ชาวจีนเข้ามาตั้งรกร้างในธนบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมืองแต้จิ๋ว  ซึ่งบางส่วนมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา  ทรงพยายามเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน พ.ศ. ๒๓๑๓ ขณะที่จีนกำลังทำสงครามกับพม่าที่ยูนนาน ชาวพม่าหนีเข้ามาพึ่งสยามทางภาคเหนือของไทย ถึงแม้ว่าในเวลานั้นราชสำนักชิงยังไม่ได้รับรองรัฐบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ก็ได้ติดต่อสยามให้จับกุมข้าศึกเหล่านั้นส่งไปให้จีนด้วย พอดีกับที่ทรงกรีฑาทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ จึงได้จับเชลยชายหญิงส่งไปถวายจักรพรรดิเฉียนหลง ๑๒ คน เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๔  จักรพรรดิเฉียนหลงมีรับสั่งให้เปลี่ยนนโยบายต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงส่งคนจีน หยุนหนานที่หลบหนีไปต่างประเทศทางทะเลและเชลยศึกพม่าไปให้จีนเป็นระยะๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๕   เป็นต้นมา ราชสำนักชิงได้รับรองสถานภาพพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๓๑๕
      รัฐบาลจีนโดยราชสำนักชิงแสดงมิตรไมตรีต่อรัฐบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ขายยุทธปัจจัยได้ ซึ่งกฎหมายของราชสำนักชิงห้ามไม่ให้ค้าขายสินค้าเหล่านี้ การซื้อขายดังกล่าวเกิดขึ้น ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ทรงส่งเฉินว่านเซิ่ง พ่อค้าชาวจีนไปซื้อกำมะถันจำนวน ๕๐ หาบและกระทะเหล็กจำนวน ๕๐๐ ใบ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ และครั้งที่ ๒ ทรงส่งโม่กว่างอี้ พ่อค้าชาวจีนอีกคนหนึ่งไปซื้อกำมะถันอีก ๑๐๐ หาบ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๐  จักรพรรดิเฉียนหลงมีพระราชกระแสรับสั่งต่อข้าหลวงใหญ่มณฑลกวางตุ้งและกวางสีว่า หากรัฐบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะซื้อดินประสิวหรือสินค้าจำเป็นอื่นๆ เพิ่มเติมก็ให้จัดหาให้ตามพระราชประสงค์
      ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๒๔ ทรงแต่งคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่จักรพรรดิเฉียนหลงเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนอย่างเป็นทางการ คณะทูตที่เดินทางไปเมืองปักกิ่งประกอบด้วย พระยาสุนทรอภัย ราชทูต หลวงพิไชยเสน่หา อุปทูต หลวงพจนาพิมล ตรีทูต ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อ และหมื่นพิพิธวาจา ปันสื่อ พระนามพระเจ้าตากสินในพระราชสาส์นใช้ว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา" และเรียกจักรพรรดิเฉียนหลงว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้ง" จักรพรรรดิเฉียนหลงทรงต้อนรับคณะทูตไทยเป็นอย่างดี พระราชทานเลี้ยงโต๊ะที่พระตำหนักซัมเกาสุ่นฉาง
      สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่าการมีเส้นทางคมนาคมที่ดีเป็นประโยชน์ในทางค้าขายมากกว่า ดังนั้น ในฤดูหนาวหากว่างจากศึกสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนและขุดคลอง จะเห็นได้จากแนวถนนเก่าๆ ในเขตธนบุรีซึ่งมีอยู่หลายสาย ส่วนการขุดชำระคลองมักมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เช่น คลองท่าขาม จากนครศรีธรรมราชไปออกทะเล เป็นต้น

       ด้านสังคม ศาสนา และการศึกษา
      วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือนอก หรือวัดบางยี่เรือใต้) พระอารามหลวง วัดประจำรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบสังฆมณฑลทันทีหลังตั้งกรุง ครั้งที่ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมื่อทรงเห็นว่าพระสงฆ์ทางฝ่ายหัวเมืองเหนือมัวหมอง ก็ได้อาราธนาพระราชาคณะจากในกรุงไปสั่งสอน ทำให้พระสงฆ์กลับบริสุทธิ์และเป็นปกติสุขขึ้น  นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นในการสืบเสาะค้นหาต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่ยังเหลืออยู่หลังจากเสียกรุง เพื่อนำมาคัดลอกจำลองไว้สำหรับการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อคราวที่เสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒  ได้มีรับสั่งให้ขอยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชบรรทุกเรือเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี และในปีถัดมาในคราว ที่เสด็จฯ ไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระไตรปิฎกลงมาด้วย ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยต่อมา
      สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ พ.ศ.๒๓๑๖  โดยถือเป็นต้นฉบับกฎหมายพระสงฆ์ฉบับแรกของไทย  และทรงนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคมในสมัยนั้นด้วย
      สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เช่น วัดอินทารามวรวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร วัดราชคฤห์วรวิหาร วัดเสาธงหิน เป็นต้น
      ภายหลังจากรบชนะที่เมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระบางกลับมายังกรุงธนบุรี โดยให้จัดเรือกระบวนพยุหยาตราชลมารคจำนวน ๒๔๖ ลำ และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม
      สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่าง ๆ และยังโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอหนังสือขึ้นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ซึ่งคงเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้แสวงหาและรวบรวมตำราต่างๆ ที่กระจัดกระจายไปเมื่อคราวกรุงแตกไว้ที่พระอารามหลวงหรือหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับเพื่อใช้ศึกษาเล่าเรียนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์วัดซางตาครู้ส
         ด้านศิลปกรรม
    นาฏดุริยางค์ ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒  ทรงนำตัวละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราชเข้ามาเป็นครูฝึกหัดร่วมกับพวกละครที่ทรงรวบรวมได้จากที่อื่น แล้วจัดตั้งเป็นละครหลวงของกรุงธนบุรี โดยยึดแบบฉบับการฝึกละครของกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้คณะละครหลวงได้นำไปฝึกหัดออกแสดงด้วย  ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่เพื่อสร้างบรรยากาศให้รื่นเริงครึกครื้นเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนทั่วไปเปิดการฝึกสอนและออกโรงเล่นได้อิสระ เครื่องแต่งกายไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้น เครื่องทรงก็แต่งกันได้ตามลักษณะเรื่อง ส่งผลให้ศิลปะการละครของไทยซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมากตอนปลายอยุธยากลับฟื้นตัวขึ้นใหม่
    ศิลปการช่าง ภาพเขียนที่งดงามประณีตในสมัยธนบุรีที่สำคัญยิ่ง คือ "สมุดภาพไตรภูมิ" เป็นภาพเขียนที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙  ซึ่งนับได้ว่าเป็นสมุดภาพไตรภูมิขนาดใหญ่เล่มหนึ่งของไทย เมื่อคลี่ออกจะมีความยาวถึง ๓๔.๗๒ เมตร เขียนด้วยสีลงในสมุดทั้ง ๒ ด้าน โดยฝีมือช่างเขียน ๔ คน ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ
    งานฝีมือช่าง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเล็งเห็นว่า ช่างไทยสมัยธนบุรีมีเหลืออยู่น้อยมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและฟื้นฟูการช่างสิบหมู่ขึ้นใหม่ แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด บ้านเมืองอยู่ในระหว่างสงคราม สิ่งของที่เป็นฝีมือช่างชั้นดีประณีตงดงามในสมัยกรุงธนบุรีจึงหาได้ยาก แต่ที่มีให้เห็นอยู่บ้าง ได้แก่ พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทาราม พระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารเล็กหน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ตู้ลายรดน้ำที่มีศักราชแจ้งชัดว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี อยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ ภายในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ และท้องพระโรงพระราชวังเดิม ซึ่งเคยเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ
          พระราชนิพนธ์
    สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๓๒ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๑๓ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลของพระองค์ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ๔ เล่มสมุดไทย คือ:-
       เล่ม ๑ ตอน พระมงกุฎ
    เล่ม ๒ ตอน หนุมานเกี้ยววารินจนท้าวมาลีวราชมา
    เล่ม ๓ ตอน ท้าวมาลีวราชพิพากษา
    เล่ม ๔ ตอน ทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมณโฑ
      การเสด็จสวรรคต
    การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
    พระสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หน้าพระอุโบสถหลังเดิม วัดอินทารามวรวิหาร ภายหลังมีผู้ขนานพระสถูปนี้ว่า "พระเจดีย์กู้ชาติ" ร่วมกับพระสถูปอีกองค์หนึ่งที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเชื่อกันว่าบรรจุพระบรมอัฐิของกรมหลวงบาทบริจา พระอัครมเหสีของพระองค์
    ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๕  ขณะนั้นกรุงธนบุรีมีอายุได้ ๑๕ ปี พระยาสรรค์กับพวกได้ก่อกบฏ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งขณะนั้นไปทำศึกกับเขมรจึงกลับมายังกรุงธนบุรี เห็นว่าความไม่สงบของบ้านเมืองเกิดจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียร  ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วฝังพระบรมศพที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทารามวรวิหาร) เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา สิริรวมครองราชย์ได้ ๑๕  ปี และถือเป็นจุดสิ้นสุดของกรุงธนบุรี จากนั้นจึงได้สืบสวนความผิดของผู้ก่อกบฏ แล้วตัดสินให้นำพระยาสรรค์กับพวกไปประหารชีวิตในเวลาต่อมา

    พระราชประวัติของพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้อ่านจบแล้ว ข้าพเจ้าอยากให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายใช้ความรู้ที่ได้อ่านมาแล้วพิจารณาตัดสินดูว่า พระเจ้าตากสินมหาราชพ้นจากการเป็นพระมหากษัตริย์โดยวิธีไหนใน ๓ ข้อเหล่านี้  คือ:-
       ๑. สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทำรัฐประหาร

     ๒.พระองค์ทรงสละราชบัลลังก์และลาผนวชไปยังนครศรีธรรมราช

     ๓.พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นหนี้ประเทศจีนหลายล้านจึงหลบหนีไปบวชเพื่อจะหนีหนี้

       คคลสำคัญในสมัยพระเจ้าตากสิน

     ๑.สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)

     ๒.พระยาสุรสีห์ (บุญมา)

     ๓.พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี  ฟันขาว)

          สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

                

          ประวัติสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
     พระนามเดิม ทองด้วง เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอักษรสุนทรทองดี) ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘  ที่กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ ได้สมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในพ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ได้กู้อิสรภาพและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี สมเด็จเจ้าพระยา มหากษัตริย์ศึก ได้เข้ารับราชการกับ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบมากจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวาเลยทีเดียว ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ  ในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ ศึก ใน พ.ศ. ๒๓๑๙
    พ.ศ. ๒๓๒๕ เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก   ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ขึ้น ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร ทรงย้ายมาประทับในพระนครใหม่ใน พ.ศ. ๒๓๒๕  พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ในรัชกาลได้แก่การสงครามเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด คือ
สงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ การปกครองประเทศทรงจัดแบ่งตามแบบกรุงรีอยุธยา และโปรดให้ ชำระกฎหมายบทต่างๆ ให้ถูกต้องและจารลงสมุดไว้เป็นหลักฐาน ๓ ฉบับ
ทางด้านศาสนา โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. ๒๓๓๑ และจารฉบับทองประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูปต่างๆ เป็นอันมาก
    ทางด้านวรรณคดีและศิลปกรรม ทรงฟื้นฟูวรรณคดีไทยซึ่งเสื่อมโทรมตั้งแต่กรุงศรี อยุธยาแตกให้ กลับคืนดีอีกวาระหนื่ง ทรงส่งเสริมและอุปถัมภ์ กวีในราชสำนัก บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น งานทางด้านศิลปกรรมนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้าง พระอารามเป็นจำนวนมาก เป็นการเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือด้านต่างๆ มีงานทำและได้ผลิตงานฝีมือชิ้นเอกไว้ปัจจุบันมีวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือ วันที่ระลึกมหาจักรี ได้แก่วันที่ ๖ เมษายนของทุกปี จะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

                 เจ้าพระยาสุรสีห์

     
       ประวัติเจ้าพระยาสุรสีห์
     หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐ จนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราช และสถาปนา กรุงธนบุรี ขึ้นเป็นราชธานีของไทยนั้น การสงครามระหว่างพม่าและไทยก็มิได้ สงบราบคาบหรือว่างเว้นลง แต่กลับมีการสู้รบปะทะกันอยู่เสมอ โดยพม่าได้คอยหาโอกาสเข้ามารุกรานดินแดนไทยอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากเห็นว่าไทยอยู่ในสภาพ ที่อ่อนแอบอบช้ำจากสงครามเสียกรุง ยังไม่สามารถรวมตัวรวมกำลังเป็นปึกแผ่นเพื่อสู้รบปกป้องตัวเองได้ ดังจะเห็นได้จากในช่วงแรกที่สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น ปรากฏว่าพม่ากับไทยได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันหลายครั้ง แต่มีการศึกสำคัญครั้งหนึ่งที่อยากจะนำมาเล่าให้เพื่อนๆสมาชิกชมรมสยามทัศน์ได้รู้กันพอประมวลโดยสังเขปดังนี้

   การสงคราม ครั้งนี้เกิดเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชประสงค์ที่จะขยายพระราชอาณาเขตขึ้นไปถึงแดนพม่าในหัวเมืองเหนือ ขณะนั้นจำนวนไพร่พล และพลเมืองแต่ละเมืองเหลืออยู่ไม่มากนัก จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับจัดการปกครองหัวเมืองเหนือเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ประชาชนที่กระจัดกระจาย หลบซ่อนตัวหนีภัยสงครามให้กลับสู่ภูมิลำเนาของตน และทรงตั้งข้าราชการข้าราชการที่มีบำเหน็จความชอบในการสงครามเป็นผู้ปกครองหัวเมืองเหนือต่างๆ อาทิ

   พระยายมราช( กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท )เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก

   พระยาพิชัยราชา เป็นเจ้าพระยาสำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก

   พระยาสีหราชเดโชชัย  เป็นพระยาพิชัย เป็นต้น

   เมื่อจัดระบบการปกครองเรียบร้อยแล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่กรุงธนบุรี แต่ทางพม่าก็มิได้ปล่อยให้เราอยู่เป็นสุขสงบได้นาน ในปีขาล พ.ศ.๒๓๑๓โปมะยุง่วน ซึ่งพม่าแต่งตั้งให้ครองเมืองเชียงใหม่ส่งกองทัพยกมาล้อมเมืองสวรรคโลก พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสั่งเกณฑ์ทัพจากเมืองพิษณุโลก สุโขทัย และเมืองพิชัย ยกขึ้นไป
ช่วย เจ้าพระยาพิชัยราชาซึ่งจัดการป้องกันรักษาเมืองสวรรคโลกอยู่อย่างแข็งขัน กองทัพไทยจากเมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย และ เมืองพิชัย เมื่อยกกองทัพไปถึงได้ เข้าตีขนาบกองทัพพม่าจนแตกพ่ายไปหมด ต่อมาพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชดำริว่าจะเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งพม่าปกครองอยู่ เพราะเห็นว่ากำลังพม่าที่รักษาเมืองเชียงใหม่มีไม่ มากนัก ประกอบกับพม่ามีสงครามสู้รบกับจีนติดพันอยู่ไม่สามารถจะส่งกำลังมาสนับสนุนได้สะดวกนัก และกองทัพพม่าที่ยกมาล้อม สวรรคโลกอยู่ก็พึ่งจะแตกพ่ายไป อีกทั้งยังเป็นการตัดกำลังของพม่าในดินแดนไทย

   ในครั้งนั้นพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกองทัพหลวงไปด้วยพระองค์เอง กองทัพไทยได้เข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ แต่ตีไม่สำเร็จ เพราะฝ่ายพม่าป้องกันเมืองเชียงใหม่อย่างเข้มแข็ง จึงตัดสินพระทัยโปรดเกล้าฯให้เลิกทัพ ฝ่ายพม่าเห็นไทยถอยทัพจึงส่งกำลังออกติดตามตีและยิงทัพหลังแตกมาถึงทัพหลวง พระเจ้าพระเจ้าตากสินหาราชต้องทรงพระแสง ดาบเข้าสู้รบเองเป็นผลให้ทหาร พม่าที่ติดตามมานั้น ต้องแตกพ่ายไป และกองทัพหลวง สามารถเดินทางกลับ กรุงธนบุรี ได้โดยเรียบร้อย

   ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๕ โปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวบรวมกองทัพพม่าเข้าล้อม เมือง พิชัย เจ้าพระยาสุรสีห์ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ยกกองทัพไปช่วยพระยาพิชัย ไทยพม่าสู้รบกัน อย่างประจัญบาน กองทัพพม่าสู้ไม่ได้ ก็แตกถอยกลับ
ไป

   แต่ในปี พ.ศ.๒๓๑๖ ฝ่ายพม่ากลับมาตี เมืองพิชัยอีกครั้ง ในการรบครั้งนี้พระยาพิชัย สู้พม่าด้วย ความกล้าหาญ จนขนาดดาบของตนเองหัก สะบั้นไปแล้ว ยังใช้ดาบ ที่หักนั้นต่อสู้ฆ่าฟันพม่าต่อไป จนถึงกับได้รับฉายาว่า " พระยาพิชัยดาบหัก " เจ้าพระยาสุรสีห์ผู้ครองเมือง พิษณุโลก ต้องส่งกองทัพ ขึ้นไปช่วยเมืองพิชัยอีกครั้งหนึ่ง พม่าจึงแตก กระจายกลับไป การที่ทหารพม่าจากเมืองเชียงใหม่ยกทัพมารบกวนเมืองต่างๆของ
ไทยหลายครั้งหลายคราวนี้ เป็นเหตุให้พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่า จะตีเมือง เชียงใหม่ อีกครั้ง หนึ่งจึงโปรดเกล้าให้สำรวจจำนวนชายฉกรรจ์ไทยสำหรับใช้ในการศึก ผู้ใดแข็งแรงก็ให้สักข้อมือไว้ ถึงพุทธศักราช ๒๓๑๗ จึงเกณฑ์ใหญ่รวมพลที่เมืองตาก โปรดให้เจ้าพระยาจักรี (ซึ่งภายหลังเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)เป็นแม่ทัพฝ่ายกรุงและให้เจ้าพระยาสุรสีห์ผู้น้อง เป็นแม่ทัพ ฝ่ายเหนือ ยกขึ้นตีเชียงใหม่ทันที

   การศึกครั้งนี้ พม่าคอย ฝ่ายเราอยู่ อย่าง เตรียมพร้อม พอทัพไทยยกไปถึง พม่าก็ส่งทหารออกจากเมืองเชียงใหม่ เข้าปล้นค่าย เจ้าพระยาจักรีทันที ฝ่ายทหารของเจ้าพระยาจักรีสู้รบพม่าเป็นสามารถ ตีจนพม่าแตกพ่ายหนี กลับเข้าเมือง เชียงใหม่ไป ทันใดนั้นกองทัพไทยของ เจ้าพระยาจักรี และของเจ้าพระยาสุรสีห์ ก็ยกเข้าตี พม่าในเมืองเชียงใหม่พร้อมกันคนละด้าน พงศาวดารเล่าไว้ว่า เมื่อตำรวจผู้ตรวจการณ์นำข่าวศึกเข้ากราบทูล
สมเด็จพระเจ้า กรุงธนบุรีทรง
   ประวัติ
   สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โดยมีนิวาสสถานอยู่หลังป้อมเพชร ในกำแพงพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๐๒ รับราชการเป็นมหาดเล็กใน สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พ.ศ.๒๓๐๖  ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น นายสุดจินดาหุ้มแพร ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้พม่าวันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕  ปีกุน พ.ศ.๒๓๑๐ นายสุดจินดาฯได้หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา ไปสมทบกับพระเจ้าตากที่เมืองชลบุรีและได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระมหามนตรี
เจ้ากรมตำรวจในขวา ศักดินา ๒๐๐๐ และต่อมาปลายปี พ.ศ.๒๓๑๐ พระเจ้าตากได้ยึดกรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า และได้สถาปนาเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และนายสุดจินดาฯ ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ) คือที่เป็นวังหน้า ( ขณะนี้คือ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ )ตลอดพระชนม์ชีพเข้าทำการรบ ๒๔ ครั้ง และประชวร โรคนิ่วในคราวตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.๒๓๔๕  สวรรคตเมื่อ วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๓๔๖  รวมอายุได้ 60 ปี

                        พระยาพิชัยดาบหัก

         
                 พระยาพิชัยดาบหัก
         พระยาพิชัยดาบหัก ขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในชั้นเชิงการต่อสู้ ทั้งมือเปล่าแบบมวยไทย และอาวุธแบบกระบี่ กระบอง เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๔ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่าน พระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ เข้ารับราช การกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ  ภายหลังข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย ๒ ครั้ง ในการรบครั้งที่ ๒ พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"
   วัยเยาว์
   พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดในปี พ.ศ. ๒๒๘๔ ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพี่น้อง ๔ คน แต่เสียชีวิตไป ๓ คน เด็กชายจ้อย  มีนิสัยชอบชกมวยมาตั้งแต่เยาว์วัย บิดาได้พร่ำสอนเสมอ ถ้าจะชกมวยให้เก่งต้องขยันเรียนหนังสือด้วย เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี บิดานำไปฝากกับท่านพระครูวัดมหาธาตุ เมืองพิชัย จ้อยสามารถอ่านออกเขียนได้จนแตกฉานและซ้อมมวยไปด้วย
   ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตร (ชื่อเฉิด) มาฝากที่วัดเพื่อร่ำเรียนวิชา เฉิดกับพวกมักหาทางทะเลาะวิวาทกับจ้อยเสมอ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากวัดขึ้นไปทางเหนือโดยมิได้บอกพ่อแม่และอาจารย์ เดินตามลำน้ำน่านไปเรื่อยๆ เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักตามวัด ที่วัดบ้านแก่ง จ้อย ได้พบกับครูฝึกมวยคนหนึ่งชื่อ เที่ยง จึงฝากตัวเป็นศิษย์แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี ครูเที่ยงรักนายทองดีมากและมักเรียกนายทองดีว่านายทองดี ฟันขาว (เนื่องจากท่านไม่เคี้ยวหมากพลูดังคนสมัยนั้น) ด้วยความสุภาพเรียบร้อย และขยันขันแข็งเอาใจใส่การฝึกมวยช่วยการงานบ้านครูเที่ยงด้วยดีเสมอ  อยู่มาวันหนึ่งลูกหลานครูเที่ยงอิจฉานายทองดีเอามาก จนหาทางกลั่นแกล้งต่างๆ นานา นายทองดี ฟันขาว เห็นว่าอยู่บ้านแก่งต่อไปคงลำบาก ประกอบกับครูเที่ยงก็ถ่ายทอดวิชามวยให้จบหมดสิ้นแล้วจึงกราบลาครูขึ้นเหนือต่อไป
   ชื่อเสียง
เมื่อเดินถึงบางโพได้เข้าพักที่วัดวังเตาหม้อ (ปัจจุบันคือวัดท่าถนน) พอดีกับมีการแสดงงิ้ว จึงอยู่ดูอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน นายทองดี ฟันขาว สนใจงิ้วแสดงมาก มันทำท่าทางหกคะเมนได้ดี เขาจึงจดจำเอาไปฝึกหัดจนจดจำท่างิ้วได้ทั้งหมดจนเขาสามารถกระโดดข้ามศีรษะคนยืนได้อย่างสบาย จากนั้นก็ลาพระสงฆ์วัดวังเตาหม้อ ขึ้นไปท่าเสา ขอสมัครเป็นลูกศิษย์ครูเมฆซึ่งมีชื่อเสียงในการสอนมวย ครูเมฆรักนิสัยใจคอจึงถ่ายทอดวิชาการชกมวยให้จนหมดสิ้น ขณะนั้น นายทองดี ฟันขาว อายุได้ ๑๘ ปี ต่อมาเขาได้มีโอกาสชกมวยในงานไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ กับนายถึก ศิษย์เอกของครูนิล นายถึกไม่สามารถป้องกันได้
ถูกเตะสลบเหมือดไปนานประมาณ ๑๐ นาที ครูนิลอับอายมากจึงท้าครูเมฆครูของนายทองดี ชกกัน นายทองดี ฟันขาว ได้กราบอ้อนวอนขอร้อง ขอชกแทนครูเมฆและได้ตลุยเตะต่อยจนครูนิลฟันหลุดถึง ๔ ซี่ เลือดเต็มปากสลบอยู่เป็นเวลานาน ชื่อเสียงนายทองดี ฟันขาว กระฉ่อนไปทั่วเมืองทุ่งยั้ง ลับแล พิชัย และ เมืองฝาง นายทองดีอยู่กับครูเมฆประมาณ ๒ ปี ก็ขอลาไปศึกษาการฟันดาบที่เมืองสวรรคโลก ด้วยความฉลาดมีไหวพริบ เขาใช้เวลาเพียง ๓ เดือน ก็เรียนฟันดาบสำเร็จเป็นที่พิศวงต่อครูผู้สอนยิ่งนัก หลังจากนั้นก็ไปเที่ยวเมืองสุโขทัยและเมืองตากระหว่างทางได้รับศิษย์ไว้ ๑ คน ชื่อบุญเกิด (หมื่นหาญณรงค์) โดยเมื่อครั้งที่บุญเกิดถูกเสือคาบไปนั้น ทองดีได้สู้กับเสือช่วยบุญเกิดไว้โดยการแทงมีดที่ปากเสือ จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว
     รับราชการ
   เมื่อท่านเดินทางถึงเมืองตาก ขณะนั้นได้มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่เจ้าเมืองตาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจัดให้มีมวยฉลองด้วย นายทองดี ฟันขาว ดีใจมากเข้าไปเปรียบมวยกับครูห้าวซึ่งเป็นครูมวยมือดีของเจ้าเมืองตากและมีอิทธิพลมาก นายทองดี ฟันขาว ใช้ความว่องไวใช้หมัดศอกและเตะขากรรไกรจนครูห้าวสลบเหมือดไป เจ้าเมืองตากจึงถามว่าสามารถชกกับนักมวยอื่นอีกได้หรือไม่ นายทองดี ฟันขาว บอกว่า "ชกได้"
เจ้าเมืองตากจึงให้ชกกับครูหมึกครูมวยร่างกายสูงใหญ่ ผิวดำ นายทองดี เตะซ้ายเตะขวา บริเวณขากรรไกร จนครูหมึกล้มลงสลบเหมือดไปอีก  มีคำพูดสอดเข้ามาว่า "ตอนนั้นนายทองดีสามารถจะชกกับนักมวยได้เป็น ๑๐ คน เลยทีเดียว"
   เจ้าเมืองตากเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็เกิดความพอใจมากถึงกับให้เงิน ๓ ตำลึง แก่นายทองดีและชักชวนให้อยู่ด้วย นายทองดี ฟันขาว จึงได้ถวายตัวเป็นทหารของเจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นายทองดีเป็นที่โปรดปรานมากและได้รับยศเป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อเจ้าเมืองตากได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระ ยาวชิรปราการ  ครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามไปรับใช้อย่างใกล้ชิดและเป็นเวลาเดียวกับที่พม่ายกทัพมาล้อม กรุงศรีอยุธยา พระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสา และทหารเข้าสู้รบกับทัพพม่าหลายคราวจนได้รับชัยชนะ ได้ช้างม้าอาหารพอสมควร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับการต้อนรับจากประชาชนและยกย่องขึ้นเป็นผู้นำ เมื่อกอบกู้เอกราชได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครอง
กรุงธนบุรีและได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิชัยอาสา เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เป็นทหารเอกราชองครักษ์ในพระองค์ตลอดไป
   ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ พม่าได้ยกทัพมาอีก ๑ หมื่นคน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนพม่าแตกพ่ายไป และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น "พระยาสีหราชเดโช" มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหาร
ของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย
   ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑-๒๓๑๖  ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๑๖  โปสุพลายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย "ศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน ณ สมรภูมิบริเวณ วัดเอกา จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน" กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๑๖
ตรงกับวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๓๑๖
     ถวายชีวิตเป็นราชพลี
   พระปรางค์วัดราชคฤห์วรวิหาร สถานที่บรรจุอัฐิของพระยาพิชัยดาบหัก
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเล็งเห็นว่าพระยาพิชัยเป็นขุนนางคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีฝีมือและซื่อสัตย์ จึงชวนพระยาพิชัยเข้ารับราชการในแผ่นดินใหม่ แต่พระยาพิชัยไม่ขอรับตำแหน่งด้วยท่านเป็นคนจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินม หาราช และถือคติที่ว่า "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนายมิดี" จึงขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก สำเร็จโทษท่านได้เลยเพื่อเป็นการถวายชีวิตตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
   หลังจากท่านได้ถูกสำเร็จโทษ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเฉลิมพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์จึงได้มีรับสั่งให้สร้างพระปรางค์นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ ณ วัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งพระปรางค์นี้ก็ยังปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน
   พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญ รวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป
   พระยาพิชัยดาบหักได้ร่วมรบกับพม่าอีกหลายครั้งจนกระทั่งสิ้นแผ่นดินพระเจ้ากรุงธน บุรีพระบาทมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานคร โปรดเกล้าให้เสนาบดีเรียกตัวพระยาพิชัยดาบหักลงไปถามว่าจะยอมอยู่ทำราชการต่อไปหรือไม่ ถ้ายอมอยู่จะเลี้ยงเพราะหาความผิดมิได้พระยาพิชัยดาบหักตรองเห็นว่าขืนอยู่ต่อไปคงได้รับภัยมิวันใดก็วันหนึ่งเพราะตัวท่านเป็นข้าหลวงเดิมผู้สนิทของพระเจ้าตากสินมหาราช ย่อมเป็นที่หวาดระแวงของท่านผู้ที่จะเป็นใหญ่ในแผ่นดินต่อไปอย่างแน่นอน ทั้งประกอบด้วยความเศร้าโศกอาลัยในพระเจ้ากรุงธนบุรีเขารู้สึกกลัดกลุ้มในหทัยยิ่งนักถึงกับสิ้นความอาลัยในชีวิตของตน จึงตอบว่าไม่ยอมอยู่จะขอตายตามเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขอฝากแต่บุตรชายให้ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบสกุลต่อไปภายหน้าด้วย 

   ฉะนั้นจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ประหารชีวิตเสีย เมื่อพระยาพิชัยดาบหักมีอายุได้ ๔๑ ปี  และโปรดเกล้า ฯ ให้เสนาบดีท้องตราถึงผู้ครองเมืองเชียงใหม่ให้รับบุตรชายพระยาพิชัยดาบหักเข้าเป็นราชการต่อไปตามควรแก่ความสามารถ ฉะนั้นบุตรหลานพระยาพิชัยดาบหักจึงเป็นข้าราชการการตามลำดับมาจนถึงทุกวันนี้และในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผู้สืบตระกูลได้รับพระราชทานนามสกุลว่า วิชัยขัทคะ นามนี้ถ้าแปลอนุโลมตามความเข้าใจก็คือ ดาบวิเศษของพระยาพิชัยดาบหักนั่นเอง

    เปรียบเทียบความซื่อสัตย์ของพระยาพิชัยดาบหักและกวนอูในสมัยสามก๊กว่าใครควรจะได้รับสมญานามว่า "เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์" มากกว่ากัน

       พระยาพิชัยดาบหัก                                 กวนอู

  -เป็นคนแข็งแรง สามารถตีเสือตายด้วยมือ   -เป็นคนแข็งแรง ถึอทวน  หนัก  ๘๐  ชั่ง

   -เป็นนักมวยไทยที่สามารถต่อสู้                   -กวนอูไม่เป็นมวย

     กับคู่ต่อสู้ได้ที่ละ ๑๐ คน

   -เป็นนักรบที่ไม่เคยแพ้ใคร                         -เคยแพ้ทหารซุนกวนที่ไม่มีชื่อมาก่อน

   -เป็นคนซื่อตรงไม่เย่อหยิ่ง                         -เป็นคนซื่อตรงแต่เย่อหยิ่ง จนทำให้งาน

                                                                     ของเจ้านายเสียไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตัว

                                                                     เองและเพื่อนร่วมสาบานทั้งสองคนต้อง

                                                                     มาตายเพราะความเย่อหยิ่งของตนเอง

   -ตายเพื่อเจ้านายแบบจงรักภักดี                 -ตายเพื่อเจ้านายแบบเสียเกียรติเสีย

     และมีเกียรติ                                              ศักดิ์ศรี

  

      ข้าพเจ้าผู้เขียนตำราเล่มนี้อยากให้ผู้อ่านทั้งหลายช่วยตัดสินทีว่าใครควรจะได้รับสมญานามว่า "เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์มากกว่ากัน"

         หน้าที่ ๓ เรื่องของอาณาจักรสมัยรัตนโกสินทร์  กรุณาออกจากหน้านี้แล้วคลิก ตรงหัวลูกศรสีขาวที่อยู่ข้างตัวเลข 8

 

 

 

 

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 142,870