๑.เรื่องโชติกเศรษฐี

                                   เรื่องของโชติกะเศรษฐี

      

          https://www.youtube.com/watch?v=YgDKkCZPixw
             เรื่องพระโชติกะเศรษฐี
      ครั้งนั้นยังมีเศรษฐีคนหนึ่ง มีนามว่าโชติกเศรษฐี อาศัยอยู่ในเมืองราชคฤห์ เขามีปราสาทสูง ๗ ชั้น ประดับตกแต่งด้วยแก้ว ๗ ประการ พื้นภายในบ้านเป็นแก้วผลึกอันสุกใสแวววาวงดงามยิ่ง เหมือนหน้าแว่นที่ขัด ๑,๐๐๐ ครั้ง บ้านนั้นล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ๗ ชั้น ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ในระหว่างกำแพงนั้นมีต้นกัลปพฤกษ์เรียงรายเป็นแถวจรดถึงมุมปราสาททั้ง ๔ มุม และมีขุมทองอยู่มุมละ ๑ ขุม ซึ่งกว้าง  ๘,๐๐๐ วา ๖,๐๐๐ วา ๔,๐๐๐ วา และ ๒,๐๐๐ วา ตามลำดับ ทั้ง ๔ ขุมนั้นลึก ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ทุกขุมเต็มไปด้วยกองเงิน กองทองและกองแก้ว ๗ ประการ จนล้นปากขุมขึ้นมาเหมือนกองลูกตาลไว้ แม้จะตักสักเท่าใดก็ไม่มีวันพร่อง แก้วแหวนเงินทองที่อยู่ภายใต้ก็จะเกิดพอกพูน จนเต็มขุมดังเดิม เหมือนนํ้าไหลซึมออกมา ในมุมปราสาททั้ง ๔ มุมนั้น มีลำอ้อยทองลำใหญ่เท่าลำตาลขนาดใหญ่ ประจำอยู่มุมละ ๑ ลำ เป็นแก้วมณีทองคำล้วน ที่ปากทางเข้าออกประตูกำแพงทั้ง ๗ ชั้น มียักษ์ใหญ่ ๗ ตน พร้อมด้วยบริวารเฝ้าอยู่ที่ปากประตูชั้นนอกมียักษ์ชื่อยมโกลิพร้อม
ด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูถัดเข้าไปชั้นที่ ๒ มียักษ์อุปละพร้อมด้วยบริวาร ๒,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูชั้นที่ ๓ มียักษ์ทมิฬพร้อมด้วยบริวาร ๓,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูชั้นที่ ๔ มียักษ์วชิรวามะ พร้อมด้วยบริวาร ๔,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูชั้นที่ ๕ มียักษ์สกนะ พร้อมด้วยบริวาร ๕,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตู ชั้นที่ ๖ มียักษ์กตารตะ พร้อมด้วยบริวาร ๖,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่ ที่ปากประตูกำแพง แก้วชั้นที่ ๗ มียักษ์ทิศาปาโมกข์ พร้อมด้วยบริวาร ๗,๐๐๐ ตนเฝ้าอยู่
    สมบัติของโชติกเศรษฐีนั้นมีมากมายเหลือคณนา ชนทั้งหลายจึงนำ เรื่องของเขาขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าพิมพิสารราชาผู้ครองนคร 
ราชคฤห์ให้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงพระกรุณาให้นำเศวตฉัตรมาพระราชทานแก่โชติกเศรษฐี แล้วทรงสถาปนาให้เป็นเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นั้น ภรรยาของโชติกเศรษฐีเป็นนางแก้วมาจากอุตตรกุรุทวีป นางได้นำหม้อข้าวหม้อแกงมาด้วยลูกหนึ่ง พร้อมด้วยก้อนเส้าเท่าลูกฟักมาด้วย ๓ ก้อน ก้อนเส้านี้ชื่อโชติปาสาณ และนำข้าวสารมาด้วย ๓ ทะนาน ข้าวสารพันธุ์ข้าวสาลี (สัญชาติสาลี) ๒ ทะนาน ข้าวนั้นมีกลิ่นหอมและรสอร่อยยิ่งนัก ข้าวสาร ๒ ทะนานหุงให้ โชติกเศรษฐีรับประทานได้ตลอดชั่วชีวิตก็ไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อนำเอาข้าวสารมาใส่หม้อข้าวสารก็เต็มทะนานขึ้นมาเหมือนเดิมไม่หมดสิ้นไป หากจะตักออก ใส่เกวียนให้เต็ม ๑,๐๐๐ เล่มเกวียน ข้าวสาร ๒ ทะนานก็ไม่พร่อง ยังเต็มอยู่เหมือนเดิม เมื่อจะหุงข้าว นำข้าวสาร ๒ ทะนานใส่ลงในหม้อแก้วแล้วยกขึ้นตั้งบนก้อนเส้าแก้วโชติปาสาณ ชั่งเวลาไม่นาน ไฟจะลุกขึ้นที่ก้อนเส้าแก้วเอง เมื่อข้าวสุกไฟก็จะดับไปเองเช่นกัน เมื่อจะต้มแกงหรือทำขนมข้าวต้มของกินอย่างอื่นก็ทำเช่นเดียวกัน
   บรรดาสิ่งของภายในปราสาทและบ้านเรือนของเศรษฐีรุ่งเรืองไปด้วย รัศมีแก้ว โดยไม่ต้องตามประทีปโคมไฟและจุดเทียน ความมั่งมีของโชติกะเศรษฐีนี้เลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป มหาชนทั้งหลายต่างพากันขึ้นยานคานหามมาดูสมบัติของโชติกเศรษฐี โชติกเศรษฐีจึงให้หุงข้าว ๒ ทะนานที่ภรรยานำมาจากอุตตรกุรุทวีปนั้น เลี้ยงดูผู้คนที่มาดูและเยี่ยมเยียนทั่วถึงทุกคน ให้นำเอาเครื่องถนิมพิมพาภรณ์จากต้นกัลปพฤกษ์มามอบให้ผู้มาดูโดยทั่ว
ถึงทุกคน แล้วจึงเปิดขุมทองกว้าง ๒ วาออกให้ดูพร้อมกับกล่าวว่า ผู้ใดอยากได้แก้วแหวนเงินทองจำนวนเท่าใดจงเก็บเอาได้ตามใจชอบ ผู้คนในชมพูทวีปต่างมาตักเอาโกยเอาแก้วแหวนเงินทองในขุมทองขุมเดียวกันนั้น แก้วแหวนเงินทองก็จะไม่พร่องแม้เพียงฝ่ามือเดียว
   ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารผู้เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองราชคฤห์ ทรงมีพระประสงค์ใคร่จะทอดพระเนตรสมบัติของโชติกเศรษฐี จึงเสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพาร เมื่อเสด็จถึงปากประตูกำแพงแก้วชั้นนอก ได้ทอดพระเนตรเห็นนางทาสีกำลังปัดกวาดบ้านอยู่ รูปสวยงามมาก นางได้ยื่นมือออกให้พระราชาทรงเหนี่ยวขึ้นที่ปากประตู ความงามของนางทำให้พระราชาทรงเข้าพระทัยว่านางเป็นภรรยาของเศรษฐี ทรงนึกเกรงใจและอาย จึงมิได้ทรง
ยื่นพระหัตถ์ออกไปจับแขนนางทาสีนั้น
   บรรดาสตรีที่บัดกวาดอยู่ที่ปากประตูด้านนี้ พระราชาทรงเห็นงามทุกคน ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นภรรยาของโชติกเศรษฐีทุกคน จึงมิทรงแตะต้องทาสีเหล่านั้นแม้แต่คนเดียว ต่อมา โชติกเศรษฐีจึงออกมารับเสด็จพระเจ้าพิมพิสารถึงปากประตูชั้นนอกปราสาท ทูลเชิญให้เสด็จนำหน้า

   ส่วนตนเดินตามเสด็จ เมื่อพระราชาทรงดำเนินเข้าไปในปราสาท ทอดพระเนตรเห็นพื้นปราสาทประดับด้วยแก้วมณีมีรัศมีรุ่งเรืองตลอดทะลุลงไปเบื้องตํ่าเหมือนหลุมที่ลึกลงไปถึง ๗ ช่วงตัว จึงทรงดำริว่าเศรษฐีนี้ขุดหลุมไว้ล่อให้พระองค์ตกลงไป จึงทรงหยุดยืนคอย ฝ่ายโชติกเศรษฐีเมื่อเห็นพระราชาทรงหยุดยืนเช่นนั้น จึงกราบทูลว่าอันนี้ไม่ใช่หลุมแต่เป็นแก้วมณี ขออัญเชิญพระองค์เสด็จตามมา กราบทูลดังนั้นแล้วเศรษฐีจึงนำเสด็จพระองค์ไป เศรษฐีเหยียบที่ใดพระราชา ทรงเหยียบตามที่นั้น ทรงดำเนินตามเศรษฐีทอดพระเนตรปราสาทตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นบน
   ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเกาะมือตามเสด็จพระราชบิดา ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นปราสาทงดงาม จึงทรงดำริว่าพระราชบิดาของเรานี้ยังไม่นับว่าเป็นใหญ่จริง เพราะยังประทับอยู่ในปราสาทไม้ แต่เศรษฐีคนนี้กลับได้อยู่ในปราสาทแก้ว ๗ ประการ ถ้าเราได้เป็นพระราชาเมื่อใดจะมายึดเอาปราสาทนี้ไปเป็นของเราให้จงได้
   เมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จดำเนินทอดพระเนตรไปถึงชั้นสุดท้าย ได้ เวลาเสวยพระกระยาหารเช้าพอดี พระองค์จึงตรัสแก่เศรษฐีว่าฉันจะกินข้าวเช้าที่บ้านท่าน เศรษฐีกราบทูลรับว่ายินดี
   เศรษฐีจึงอัญเชิญพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงสรงนํ้าอันหอม แล้วอัญเชิญ เสด็จขึ้นประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์ทองซึ่งตั้งอยู่บนบัลลังก์แก้ว ๗ ประการ อันเป็นบัลลังก์ที่เศรษฐีเคยนั่ง ฝ่ายคนครัวจัดเตรียมอาหารและข้าวกิลินปายาส (ข้าวปายาสอุ่น) ใส่เต็มตะไลมีค่าล้านตำลึง แล้วนำมาตั้งไว้เบื้องพระพักตร์ พระพิมพิสารทรงเข้าพระทัยว่าเป็นข้าวสำหรับเสวยจึงทรงล้างพระหัตถ์เพื่อเตรียมเสวย

   เศรษฐีเห็นดังนั้นจึงกราบทูลห้ามว่า ข้าวนี้ไม่ใช่พระกระยาหารเป็นข้าวกิลินปายาสที่จัดไว้เพื่อรองตะไลข้าวสำหรับเสวยอีกทีหนึ่ง ป้องกันมิให้ข้าวเย็น ครั้นกราบทูลดังนั้นแล้ว เศรษฐีจึงให้นำข้าวสารสำหรับเสวย ซึ่งหุงด้วยข้าวสารที่นำมาจากอุตตรกุรุทวีปใส่เต็มตะไลทอดอีกลูกหนึ่ง มาตั้งเหนือตะไลข้าวกิลินปายาสนั้น แล้วกราบทูลอัญเชิญพระราชาเสวย พระราชาเสวยแล้วได้รับรส โอชายิ่งนัก ไม่มีอาหารชนิดใดอร่อยเท่า เสวยเท่าใดๆ ก็ไม่ทรงรู้อิ่ม

   เศรษฐี เห็นดังนั้นจึงกราบทูลห้ามว่า เสวยมากแล้วขอได้โปรดเสวยแต่พอประมาณเถิด ถ้าเสวยมากอาจทำให้ทรงประชวร จะเป็นโทษแก่พระองค์ได้ พระเจ้าพิมพิสารตรัสตอบว่า เศรษฐีคิดเสียดายข้าวที่เรากิน กลัวว่าเราจะกินข้าวท่านหมดเปลืองไปมากหรือ เศรษฐีกราบทูลว่ามิได้คิดเสียดายกลัวจะหมดเปลือง เพราะเพียงข้าวและแกงหม้อเดียว หากรี้พลบ่าวไพร่ข้าไทของพระองค์จะมา รับประทานมากเท่าใด ข้าวและกับก็จะไม่พร่องจากหม้อเลย การที่กราบทูลห้ามไว้เพราะกลัวว่าพระองค์จะเสวยพระกระยาหารมากเกินประมาณ การที่พระองค์เสด็จมาเรือนของข้าพระพุทธเจ้า

   ถ้าทรงพระเกษมสำราญก็นับว่าเป็นโชคลาภ แต่ถ้าพระองค์ทรงมีอันเป็นไปในเรือนของข้าพระพุทธเจ้า ไพร่ฟ้า ข้าไททั้งหลายจะพากันตำหนิว่า การที่พระองค์ทรงมีอันเป็นไปนั้น สาเหตุมาจากการเสด็จไปบ้านของโชติกเศรษฐี ถูกเศรษฐีประทุษร้าย
   พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสตอบว่าดีแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็จะกินเพียง เท่านี้ แล้วพระ องค์ทรงหยุดเสวยทันที หลังจากนั้นเศรษฐีจึงให้จัดหาอาหารมาเลี้ยงดูข้าราชบริพารที่ตามเสด็จให้อิ่มหนำสำราญกันทุกคน ตลอดทั้งชาวเมืองผู้มาเยี่ยมเยียน เศรษฐีก็เลี้ยงดูด้วยข้าวและแกงหม้อเดียว แม้จะตักออกเท่าใดก็ยังเต็มอยู่เหมือนเดิม ไม่มีหมดสิ้น
   พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า ท่านเศรษฐีมีภรรยาไหม เศรษฐีทูลตอบ ว่ามี เป็นนางแก้วมาจากอุตตรกุรุทวีป พระราชาถามว่านางแก้วภรรยาท่านอยู่ที่ไหน เศรษฐีทูลตอบว่า นางนอนอยู่ในปราสาท ตอนแรกที่พระองค์เสด็จมาถึง ข้าพระพุทธเจ้ากำลังอยู่ในสุขสมบัติ จึงไม่ทราบว่าพระองค์เสด็จมาเมื่อกราบทูลดังนั้นแล้ว เศรษฐีก็คิดว่าพระองค์ทรงมีพระประสงค์ใคร่จะทอดพระเนตรภรรยาของตน จึงกราบทูลว่าจะไปนำภรรยามาเฝ้า
   จากนั้นจึงลุกไปหาภรรยาในปราสาท แล้วกล่าวกับนางว่า พระเจ้าพิมพิสารพระราชาแห่งราชคฤห์มหานครได้เสด็จมาถึงปราสาทของเราแล้ว

   ขณะนี้ประทับอยู่ห้องข้างนอก พี่ได้ถวายพระกระยาหารแล้ว เชิญเจ้าออกไปเฝ้าพระ องค์เถิด นางจึงถามว่าพระราชาผู้นั้นเป็นใครจึงจะให้ออกไปถวายบังคม เศรษฐีกล่าวตอบว่าพระองค์ทรงเป็นใหญ่อยู่ในเมืองนี้ ทรงเป็นเจ้าเหนือหัวของพวกเราทุกคน ใครหรือจะไม่รู้จักพระองค์ นางจึงกล่าวว่าน้องอยู่มาทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่ามีเจ้าเหนือหัวปกครองเราอยู่ เพิ่งมารู้วันนี้เอง บุญของเรามีถึงเพียงนี้นับว่ายังน้อยอยู่ จึงมีเจ้าเหนือหัวผู้ยิ่งใหญ่กว่าอาจเป็นเพราะ เราทำบุญแต่อดีตชาติปางก่อนมิได้ทำด้วยศรัทธา มาชาตินี้เราจึงมีเจ้าที่เหนือกว่า

   ถ้าเราทำบุญด้วยศรัทธาอันมั่นคงเราก็จะไม่มีเจ้าเหนือหัวมาปกครอง เพราะท่านจักได้เป็นเจ้าแห่งคนทั้งหลายเสียเอง เหมือนพระราชาพระองค์นี้ นางจึงถามต่อไปว่าเมื่อท่านจะให้ไปเฝ้าพระราชาควรจะให้ปฏิบัติอย่างไร วางตัวอย่างไร โปรดสั่งมาเถิด เศรษฐีจึงสั่งภรรยาว่าเมื่อเฝ้าแล้วจงนั่งถวายงานพัดเถิด นางออกไปเฝ้าพระราชาแล้วถือพัดใบตาลแก้วถวายงานพัดอยู่ ลมได้พัดเอากลิ่นธูปที่อบผ้าทรงและผ้าโพกศีรษะของพระราชามาเข้าตานาง ทำให้นางรู้สึกแสบตา นํ้าตาไหลพราก

   นางจึงยกผ้าขึ้นซับนํ้าตา พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงเข้าพระทัยว่านางร้องไห้ จึงตรัสแก่โชติกเศรษฐี ว่า ภรรยาของเจ้านี้ไม่น่ารัก นางเห็นเรามาบ้านคงนึกว่าเราจะมาแย่งชิงเอามหาสมบัติของนาง นางจึงร้องไห้ แต่เรามาคราวนี้หวังจะมาชมบุญของเจ้าต่างหาก เจ้าจงปลอบใจอย่าให้นางร้องไห้เลย
   เศรษฐีกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองเป็นผู้น้อย นางมิได้ร้องไห้ แต่เป็นเพราะไอกลิ่นธูปซึ่งอบเครื่องทรงของพระองค์มาเข้าตานาง เพราะอบด้วยไฟ ทำให้นางแสบตานํ้าตาไหล เพราะในปราสาทนี้จะหุงต้มหรืออบสิ่งใด ก็อาศัยแสงแก้วมณีรัตนะทั้งสิ้น ไม่เคยอาศัยไฟเลย แต่ในปราสาทของพระองค์อาศัยแต่แสงไฟ
   เศรษฐีกราบทูลต่อไปว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป พระองค์จะได้ทรงอาศัย แสงแก้วเลิกอาศัยแสงไฟ ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว เศรษฐีจึงถวายแก้วดวงหนึ่งโตเท่าแตงโมลูกใหญ่ มีค่าเหลือคณนา
   ครั้นพระเจ้าพิมพิสารได้ทอดพระเนตรมหาสมบัติของโชติกมหาเศรษฐี ซึ่งมีมากมายเหลือที่จะประมาณแล้ว ทรงมีพระราชหฤทัยชื่นชมโสมนัสยิ่ง เสด็จออกจากปราสาทของเศรษฐีกลับสู่พระราชมนเทียรพร้อมด้วยข้าราชบริพาร
   พระเจ้าอชาตศัตรูกราบบังคมทูลพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา ว่า สมบัติมากมายมหาศาลของเศรษฐีนั้น ไม่เหมาะสมกับเศรษฐีผู้อาศัยอยู่ในเมืองของเรานี้ เราควรจะไปชิงเอามาเป็นราชสมบัติทั้งหมด พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่าลูกจะชวนพ่อไปชิงเอาสมบัติของโชติกเศรษฐีนั้น เป็นการไม่ชอบธรรม เพราะสมบัติเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยบุญบารมีของเราทั้งสอง หากแต่สมบัตินั้นเกิดขึ้นด้วยอำนาจบุญบารมีของโชติกเศรษฐี เพราะได้เคยทำบุญมาแต่ชาติปางก่อน ดังนั้นพระวิษณุกรรมจึงเนรมิตให้มิใช่ได้มาด้วยเหตุอื่น การที่เราจะชิงเอามาเป็นราชสมบัตินั้นไม่สมควร
   เมื่อกาลเวลาล่วงมา พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงคุ้นเคยกับพระเทวทัต นับถือเป็นครู พระเทวทัตได้เสี้ยมสอนยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูชิงเอาราชสมบัติ และฆ่าพระราชบิดาเสีย พระเจ้าอชาตศัตรูครั้นได้ราชสมบัติแล้ว ทรงรำพึงในพระทัยว่า คราวนี้จะไปชิงเอาปราสาทแก้วของโชติกเศรษฐีมาเป็นของเราเสีย ทรงดำริดังนั้นแล้วจึงคุมกองทหารออกไปล้อมบ้านโชติกเศรษฐีไว้ วันนั้น เป็นวันพระ โชติกเศรษฐีรับประทานอาหารแล้วก็ไปยังพระเวฬุวันมหาวิหาร เพื่อรักษาศีล ๘ และฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า
   ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ทรงทราบว่าเศรษฐีไปฟังธรรม ทรงเข้าพระทัยว่าเศรษฐีอยู่ในปราสาท จึงนำรี้พลไปล้อมกำแพงแก้วชั้นนอกไว้ ฝ่าย ทหารช้างม้าแลเห็นเงาของตนเองบนกำแพงแก้ว เข้าใจว่ามีกองทหารมากมายอยู่ภายในจะยกออกมาสู้รบกับพวกตน ตกใจกลัวไม่กล้าที่จะเข้าไปข้างในช้าง เอางาแทงปักลงดิน ไม่ยอมเข้าไปในกำแพงแก้วนั้นเลย
   พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเห็นดังนั้นจึงเร่งขับรี้พลให้เคลื่อนเข้าไป ในทันใดนั้นพระยายักษ์ตนหนึ่ง ชื่อยมโกลิยักษ์ เป็นยามอยู่เฝ้ากำแพงชั้นนอก พร้อมด้วยบริวารยักษ์หนึ่งพันตนเห็นพระเจ้าอชาตศัตรูพาบริวารเข้าไป จึงร้องถามว่าท่านมาที่นี่ด้วยเหตุผลอันใด ยมโกลิยักษ์และบริวารถือตะบองเหล็ก ประหนึ่งว่าจะเข้าตี แล้วร้องตวาดขับไล่พระเจ้าอชาตศัตรูและบริวารแตกหนีกระจัดกระจายไป
   พระเจ้าอชาตศัตรูตกพระทัยเสด็จหนีเข้าไปในพระเวฬุวันที่ประทับของพระพุทธเจ้า โชติกเศรษฐีเห็นแล้วลุกขึ้นจากอาสนะมาทูลถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า วันนี้เหตุใดพระองค์จึงรีบเสด็จโดยด่วน พระเจ้าอชาตศัตรูจึงตรัสว่า ท่านเศรษฐีได้ใช้บริวารของท่านต่อต้านรุกรบกับพวกเรา จนพวกเราพ่ายแพ้ แต่ตัวท่านกลับหนีมาก่อน แกล้งทำทีนั่งฟังธรรมทำเป็นไม่รู้เรื่อง เศรษฐีทูลว่า พระองค์ยกทัพมาชิงเอาปราสาทของข้าพระพุทธเจ้าหรือ
พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสตอบว่าถูกต้องแล้ว เราต้องการชิงเอาปราสาทแก้วของท่าน

   เศรษฐีทูลว่าสมบัติใดๆ ขอข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงเศษด้ายที่หูกทอผ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ยกให้ ผู้นั้นก็ไม่สามารถเอาไปได้ พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสว่า เศรษฐีเจรจาโอหังเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินเศรษฐีทูลว่าหามิได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทำตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่เชื่อในกุศลกรรมที่เคยกระทำไว้นั้น สมบัติถ้าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ถวายให้ อย่าว่าแต่พระราชาพระองค์เดียวเลย แม้พระราชาผู้มีอำนาจเช่นท่านสักพันพระองค์ก็มิอาจจะยึดเอาสมบัติแห่งข้าพระพุทธเจ้านี้ได้ เพราะว่าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ให้

   แต่ว่าเมื่อใดข้าพระพุทธเจ้ายกให้ เมื่อนั้นจึงเอาไปได้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อบุญของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะทำให้พระองค์เชื่อดังนี้ แหวนทั้ง ๒๐ วงในมือข้าพระพุทธเจ้า ทั้ง ๑๐ นิ้วนี้ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ามิได้ถวายแก่พระองค์ พระองค์ก็ไม่สามารถที่จะถอดแหวนออกจากนิ้วของข้าพระพุทธเจ้าได้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อก็ขอให้พระองค์โปรดทดลองถอดเอาเถิด
   เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูได้สดับคำที่โชติกเศรษฐีกราบทูลเช่นนั้น ทรงพิโรธยิ่งนัก อุปมาดังพญานาคราชถูกค้อนเหล็กตีขนดหาง ขณะที่กำลังประทับนั่ง ทรงกระโดดขึ้นสูง ๑๘ ศอก แล้วเสด็จลงมาประทับยืนที่พื้น แล้วทรงกระโดดขึ้นอีกหนึ่งครั้ง สูง ๗๐ ศอก ทรงมีพละกำลังมากยิ่งนัก แล้วทรงบิดองค์ไปทางขวาเพื่อทรงถอดเอาแหวนในมือโชติกเศรษฐี ทรงล้มลุกคลุกคลาน พระเสโทไหลย้อยทั่วพระวรกาย แม้กระทำเช่นนั้น แต่ก็ไม่อาจ
แย่งชิงเอาแหวนออกจากนิ้วเศรษฐีได้ จึงประทับนั่งลงตามเดิม
   เศรษฐีเห็นดังนั้นจึงกราบทูลว่า แหวนของข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๐ วงนี้ ขอน้อมถวายแด่พระองค์ ขอเชิญพระองค์ทรงนำภูษามารองรับเถิดพระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงปูผ้าฉลองพระพักตร์ลงบนพื้น โชติกเศรษฐีจึงยื่นมือออกไปเหนือผ้านั้นต่อพระพักตร์พระเจ้าอชาตศัตรู ทันใดนั้นแหวนทั้ง  ๒๐ วงก็หลุดจากนิ้วมือตกลงบนผ้านั้น
   โชติกเศรษฐีจึงกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูว่า สมบัติของข้าพระพุทธเจ้า นี้ ถ้าข้าพระพุทธเจ้ายังมิได้ทูลถวายพระองค์ก็จะไม่สามารถนำไปได้ แต่ถ้าได้ถวายแล้วพระองค์จึงจะได้นำสมบัติของข้าพระพุทธเจ้า ดังที่พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นแล้ว เมื่อโชติกเศรษฐีกราบทูลเช่นนั้นแล้ว ก็รู้สึกสังเวชใจ จึงกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลอำลาบวชเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงอนุญาต พระเจ้าอชาตศัตรูได้สดับดังนั้นทรงพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่งและทรงพระราชดำริว่า ปราสาทนั้นจะตกเป็นของเรา จึงตรัสบอกโชติกเศรษฐีว่า ถ้าเศรษฐีจะบวช เราก็อนุญาตขอเศรษฐีจงบวชเถิด
   ดังนั้นโชติกเศรษฐีจึงโกนผมเข้าบวชในพระพุทธศาสนาแล้วบรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา มีสมณฉายาว่าพระโชติกเถระ เมื่อบวชแล้วสมบัติทั้งหลายก็อันตรธานหายไปหมดสิ้น เป็นต้นว่านางแก้ว ซึ่งมีนามว่านางอตุลกายเทวีผู้เป็นภรรยา เทวดานำกลับคืนไปสู่อุตตรกุรุทวีปดังเดิม ปราสาท ๗ ชั้น ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ กำแพง ๗ ชั้น อันล้อมรอบปราสาทแก้วนั้น ต้นกัลปพฤกษ์อันเรียงรายไปรอบทั้ง
๗ ชั้น ขุมเงินขุมทอง ๔ มุมปราสาท หม้อข้าวแก้วมณี สมบัติมากมายซึ่งเกิดมาด้วยบุญโชติกเศรษฐี ก็จมลงไปในแผ่นดินหมดสิ้น
                   เศรษฐีสังเวชสลดใจใคร่จะบวช              
   ลำดับนั้น เศรษฐีกราบทูลกะท้าวเธอว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงลาดผ้าสาฎก" แล้วได้ทำนิ้วทั้งหลายให้ตรง. แหวนแม้ทั้ง ๒๐ วง หลุดออกแล้ว.
    ลำดับนั้น เศรษฐีกราบทูลท้าวเธอว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ใครๆ ไม่สามารถเพื่อจะถือเอาทรัพย์สมบัติอันเป็นของข้าพระองค์ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ปรารถนา" ดังนี้แล้ว เกิดสลดใจเพราะพระกิริยาของพระราชา จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตเพื่อการบวชแก่ข้าพระองค์."
  ท้าวเธอทรงดำริว่า "เมื่อเศรษฐีนี้บวชแล้ว เราจักยึดเอาปราสาทได้สะดวก" จึงตรัสว่า "จงบวชเถิด" ด้วยพระดำรัสคำเดียวเท่านั้น. เศรษฐีนั้นบวชในสำนักพระศาสดาแล้ว ต่อกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต มีชื่อว่าพระโชติกเถระ.
  ในขณะที่ท่านบรรลุพระอรหัตแล้วนั่นแล สมบัตินั้นแม้ทั้งหมดก็อันตรธานไป. พวกเทพดาก็นำภรรยาของเศรษฐีนั้น ชื่อว่า "สตุลกายา" แม้นั้นไปสู่อุตตรกุรุทวีปนั่นแล.
              อดีตกรรมของโชติกะเศรษฐี
    ได้ยินว่า ในอดีตกาล กุฎุมพี ๒ คนพี่น้องในกรุงพาราณสี ยังชนให้ทำไร่อ้อยไว้เป็นอันมาก. ต่อมาวันหนึ่ง น้องชายไปยังไร่อ้อย คิดว่า "เราจักให้อ้อยลำหนึ่งแก่พี่ชาย ลำหนึ่งจักเป็นของเรา" แล้วผูกลำอ้อยทั้งสองลำในที่ๆ ตัดแล้ว เพื่อต้องการไม่ให้รสไหลออก ถือเอาแล้ว.
     ได้ยินว่า ในครั้งนั้น กิจด้วยการหีบอ้อยด้วยเครื่องยนต์ ไม่มี, ในเวลาอ้อยลำที่เขาตัดที่ปลายหรือที่โคนแล้วยกขึ้น รส (อ้อย) ย่อมไหลออกเองทีเดียว เหมือนน้ำไหลออกจากธมกรกฉะนั้น.
     ก็ในเวลาที่เขาถือเอาลำอ้อยจากไร่เดินมา พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ภูเขาคันธมาทน์ออกจากสมาบัติแล้ว ใคร่ครวญว่า "วันนี้ เราจักทำการอนุเคราะห์แก่ใครหนอแล?" เห็นเขาเข้าไปในข่าย คือญาณของตน และทราบความที่เขาเป็นผู้สามารถเพื่อจะทำการสงเคราะห์ได้ จึงถือบาตรและจีวรแล้ว มาด้วยฤทธิ์ ได้ยืนอยู่ข้างหน้าของเขา.
               น้องชายถวายอ้อยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า              
    เขาพอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็มีจิตเลื่อมใส จึงลาดผ้าห่มบนภูมิประเทศที่สูงกว่า แล้วนิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้านั่ง ด้วยคำว่า "นิมนต์นั่งที่นี้ ขอรับ" แล้วก็กล่าวว่า "ขอท่านจงน้อมบาตรมาเถิด" ได้แก้ที่ผูกลำอ้อย วางไว้เบื้องบนบาตร. รสไหลลงเต็มบาตรแล้ว.
    เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าดื่มรส (อ้อย) นั้นแล้ว เขาคิดว่า "ดีจริง พระผู้เป็นเจ้าของเราดื่มรส (อ้อย) แล้ว, ถ้าพี่ชายของเราจักให้นำมูลค่ามาเราก็จักให้มูลค่า; ถ้าจักให้เรานำส่วนบุญมา เราก็จักให้ส่วนบุญ" แล้วกล่าวว่า "นิมนต์ท่านน้อมบาตรเข้ามาเถิด ขอรับ" แล้วได้แก้ลำอ้อยแม้ที่ ๒ ถวายรส.
    นัยว่า เขามิได้มีความคิดที่จะลวงแม้มีประมาณเท่านี้ว่า "พี่ชายของเราจักนำอ้อยลำอื่นจากไร่อ้อยมาเคี้ยวกิน" ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้ใคร่จะแบ่งรสอ้อยนั้นกับด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่าอื่น เพราะความที่ตนดื่มรสอ้อยลำแรกนั้น จึงรับไว้เท่านั้น แล้วก็นั่งอยู่.
     เขาทราบอาการของท่านแล้ว จึงไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ตั้งความปรารถนาว่า "ท่านขอรับ รสอันเลิศนี้ใดที่กระผมถวายแล้ว ด้วยผลแห่งรสอันเลิศนี้ กระผมพึงเสวยสมบัติในเทวโลกและมนุษยโลก ในที่สุดพึงบรรลุธรรมที่ท่านบรรลุแล้วนั่นแล."
     แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าก็กล่าวว่า "ขอความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้แล้ว จงสำเร็จอย่างนั้น" แล้วทำอนุโมทนาแก่เขาด้วย ๒ คาถาว่า "อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ" เป็นต้น แล้วก็อธิษฐานโดยประการที่เขาจะเห็นได้ แล้วเหาะไปสู่เขาคันธมาทน์โดยทางอากาศ แล้วได้ถวายรส (อ้อย) แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ รูป.
     เขาเห็นปาฏิหาริย์นั้นแล้ว ไปสู่สำนักพี่ชาย เมื่อพี่ชายถามว่า "เจ้าไปไหน?" จึงบอกว่า "ฉันไปตรวจดูไร่อ้อย" ถูกพี่ชายกล่าวว่า "จะมีประโยชน์อะไรด้วยคนอย่างเจ้าไปไร่อ้อย เจ้าควรจะถือเอาลำอ้อยมา ๑ ลำหรือ ๒ ลำมิใช่หรือ?" กล่าวว่า "พี่ ถูกละ ฉันถือเอาอ้อยมา ๒ ลำ แต่ฉันเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง จึงถวายรสแต่ลำอ้อยของฉัน แล้วถวายรสแต่ลำอ้อยแม้ของพี่ ด้วยคิดว่า ‘เราจักให้มูลค่าหรือส่วนบุญ’  พี่จักรับเอามูลค่าอ้อยนั้น หรือจักรับเอาส่วนบุญ?"
     พี่ชาย. ก็พระปัจเจกพุทธเจ้า ทำอะไร?
     น้องชาย. ท่านดื่มรสจากลำอ้อยของฉันแล้ว ก็ถือเอารสจากลำอ้อยของพี่ ไปสู่เขาคันธมาทน์โดยอากาศ แล้วได้ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ รูป.
                   พี่ชายเลื่อมใสขออนุโมทนาส่วนบุญ              
     พี่ชายนั้น เมื่อเขากำลังกล่าวอยู่นั้นแหละ, เป็นผู้มีสรีระอันปีติถูกต้องแล้ว หาระหว่างมิได้ ได้ทำความปรารถนาว่า "การบรรลุธรรมที่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเห็นแล้วนั่นแหละ พึงมีแก่เรา."
     น้องชายปรารถนาสมบัติ ๓ อย่าง ส่วนพี่ชายปรารถนาพระอรหัตด้วยประการฉะนี้.
               นี้เป็นบุรพกรรมของชนทั้งสองนั้น.
             สองพี่น้องได้เกิดร่วมกันอีกในชาติต่อมา              
    ชนทั้งสองนั้น ดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก ยังพุทธันดรหนึ่งให้สิ้นไป. ในเวลาชนทั้งสองนั้นไปสู่เทวโลกนั่นแหละ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก.
    พี่น้องทั้งสองแม้นั้น เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว, ผู้พี่ชายก็คงเป็นพี่ชาย ผู้น้องชายก็คงเป็นน้องชาย ถือปฏิสนธิในเรือนแห่งตระกูลหนึ่งในพันธุมดีนคร. บรรดาเด็กทั้งสองนั้น มารดาบิดาได้ตั้งชื่อของผู้พี่ชายว่า "เสนะ" ของผู้น้องชายว่า "อปราชิต"
    เมื่อพี่น้องทั้งสองนั้นกำลังรวบรวมขุมทรัพย์อยู่ ในเวลาเติบโตแล้ว๑-, เสนกุฎุมพีได้ฟังการป่าวร้องในพันธุมดีนครของอุบาสกผู้โฆษณาธรรมว่า "พุทธรัตนะเกิดขึ้นแล้วในโลก, ธรรมรัตนะเกิดขึ้นแล้วในโลก, สังฆรัตนะเกิดขึ้นแล้วในโลก, พวกท่านจงให้ทานทั้งหลาย จงทำบุญทั้งหลาย วันนี้เป็นดิถีที่ ๑๔ วันนี้เป็นดิถีที่ ๑๕ พวกท่านจงทำอุโบสถ จงฟังธรรม"
     เห็นมหาชนถวายทานในกาลก่อนภัตแล้ว ไปเพื่อฟังธรรมในกาลภายหลังภัต จึงถามว่า "พวกท่านจะไปไหน? เมื่อมหาชนบอกว่า "พวกฉันจะไปสู่สำนักพระศาสดา เพื่อฟังธรรม." จึงพูดว่า "แม้ฉันก็จักไป" แล้วก็ไปพร้อมกับชนเหล่านั้นทีเดียว นั่งแล้วในที่สุดบริษัท.
     พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของเขา จึงตรัสอนุปุพพีกถา. เขาฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เกิดความอุตสาหะในบรรพชา จึงทูลขอบรรพชากะพระศาสดา.
     ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามเขาว่า "ก็พวกญาติที่ท่านจะพึงอำลามีไหม?"
     เสนกุฎุมพี. มี พระเจ้าข้า.
     พระศาสดา. ถ้าอย่างนั้น ท่านไปอำลา แล้วจงมา.
   พี่ชายลาน้องชายออกบวชแล้วได้บรรลุพระอรหัต              
     เขาไปสู่สำนักของน้องชายแล้ว กล่าวว่า "ทรัพย์สมบัติใด มีอยู่ในตระกูลนี้ ทรัพย์สมบัตินั้นทั้งหมด จงเป็นของเจ้า."
     น้องชาย. ก็พี่เล่า? ขอรับ.
     เสนกุฎุมพี. ฉันจักบวชในสำนักของพระศาสดา.
     น้องชาย. พี่พูดอะไร? ฉันเมื่อมารดาตายแล้ว ก็ได้พี่เป็นเหมือนมารดา, เมื่อบิดาตายแล้ว ก็ได้พี่เป็นเหมือนบิดา ตระกูลนี้ก็มีโภคะมาก
พี่ดำรงอยู่ในเรือนนี่แหละ ก็สามารถจะทำบุญได้. พี่อย่าทำอย่างนั้น.
     เสนะกุฎุมพี. ฉันฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้ว ฉันดำรงอยู่ในท่ามกลางเรือน ไม่อาจบำเพ็ญธรรมนั้นได้ ฉันจักบวชให้ได้ เจ้าจง
กลับ.
      เขายังน้องชายให้กลับไปด้วยอาการอย่างนั้นแล้ว ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระศาสดาแล้ว ต่อกาลไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัต.
      ฝ่ายน้องชายคิดว่า "เราจักทำสักการะแก่บรรพชิตผู้พี่ชาย" จึงถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขสิ้น ๗ วัน ไหว้พี่ชายแล้ว กล่าวว่า "ท่านขอรับ ท่านทำการสลัดออกจากภพแห่งตนได้แล้ว ส่วนกระผมยังเป็นผู้พัวพันด้วยกามคุณ ๕#- ไม่อาจออกบวชได้ ขอท่านจงบอกบุญกรรมอันใหญ่ที่สมควร แก่กระผมผู้ดำรงอยู่ในเรือนนี่แหละ."
      ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะน้องชายนั้นว่า "ดีละ เจ้าผู้เป็นบัณฑิต เจ้าจงให้สร้างพระคันธกุฎี สำหรับพระศาสดา."
      น้องชายสร้างพระคันธกุฎีถวายพระศาสดา              
      น้องชายนั้นรับว่า "สาธุ" แล้วยังชนให้นำไม้ต่างๆ มาแล้วให้ถากเพื่อประโยชน์แก่ทัพสัมภาระทั้งหลายมีเสาเป็นต้น ให้ทำเสาทั้งหมด ให้ขจิตด้วยแก้ว ๗ ประการ คือต้นหนึ่งขจิตด้วยทองคำ ต้นหนึ่งขจิตด้วยเงิน ต้นหนึ่งขจิตด้วยแก้วมณีเป็นต้น แล้วให้สร้างพระคันธกุฎีด้วยเสาเหล่านั้น ให้มุงด้วยกระเบื้องสำหรับมุงอันขจิตด้วยแก้ว ๗ ประการเหมือนกัน.
     ก็ในเวลาสร้างพระคันธกุฎีนั้นแล หลานชายชื่ออปราชิต ผู้มีชื่อเหมือนกับตนนั่นแล เข้าไปหาอปราชิตกุฎุมพีนั้นแล้ว กล่าวว่า "แม้ฉันก็จักสร้าง ท่านจงให้ส่วนบุญแก่ฉันเถิด ลุง" เขากล่าวว่า "พ่อ ฉันไม่ให้ ฉันจักสร้างไม่ให้ทั่วไปด้วยชนเหล่าอื่น."
     หลานชายนั้นอ้อนวอนแม้เป็นอันมาก เมื่อไม่ได้ส่วนบุญ จึงคิดว่า "การที่เราได้กุญชรศาลา๑- ข้างหน้าพระคันธกุฎี ย่อมควร" ดังนี้แล้ว จึงให้สร้างกุญชรศาลาที่สำเร็จด้วยแก้ว ๙ ประการ. เขาเกิดเป็นเมณฑกเศรษฐีในพุทธุปบาทกาลนี้.
    ก็บานหน้าต่างใหญ่ ๓ บาน ที่สำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้มีแล้วในพระคันธกุฎี. อปราชิตคฤหบดีให้สร้างสระโบกขรณี ๓ สระ ที่โบกด้วยปูนขาว ณ ภายใต้ที่ตรงบานหน้าต่างเหล่านั้น ให้เต็มด้วยน้ำหอม อันเกิดแต่ชาติทั้ง ๔ แล้วให้ปลูกดอกไม้ ๕ สี ให้ย่อยบรรดาแก้ว ๗ ประการ แก้วที่ควรแก่ความเป็นของที่จะพึงย่อยได้แล้วถือเอาแก้วนอกนี้ทั้งหมดทีเดียว โปรยรอบพระคันธกุฎีโดยถ่องแถวเพียงเข่า ยังบริเวณให้
เต็มแล้ว.
   เพื่อจะโปรยพระสรีระด้วยสายแห่งเกสรทั้งหลาย อันตั้งขึ้นแล้วด้วยกำลังลม ในกาลแห่งพระตถาคตประทับนั่งภายในแล้ว กระเบื้องที่ยอดพระคันธกุฎีได้สำเร็จด้วยทองคำอันสุกปลั่ง. หาง (กระเบื้อง) สำเร็จด้วยแก้วประพาฬตอนล่าง กระเบื้องมุงสำเร็จด้วยแก้วมณี. พระคันธกุฎีนั้นได้ตั้งอยู่งดงามดุจนกยูงลำแพน ด้วยประการฉะนี้.
   คฤหบดีชื่ออปราชิต ยังพระคันธกุฎีให้สำเร็จด้วยอาการอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปหาพระเถระผู้พี่ชาย เรียนว่า "ท่านขอรับ พระคันธกุฎีสำเร็จแล้ว. กระผมหวังการใช้สอยพระคันธกุฎีนั้น. ได้ยินว่า บุญเป็นอันมากย่อมมีเพราะการใช้สอย."
    พระเถระนั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ทราบว่า กุฎุมพีผู้นี้ให้สร้างพระคันธกุฎีเพื่อพระองค์ บัดนี้ เธอหวังการใช้สอย."
    พระศาสดาเสด็จลุกจากอาสนะแล้ว เสด็จไปสู่ที่เฉพาะหน้าพระคันธกุฎี ทอดพระเนตรกองรัตนะที่เขากองล้อมรอบพระคันธกุฎี ได้ประทับยืนอยู่แล้วที่ซุ้มแห่งประตู๒- ก็เมื่อกุฎุมพีนั้นกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า การรักษาจักมีแก่ข้าพระองค์เอง, ขอพระองค์จงเสด็จเข้าไปเถิด."
               พระศาสดาเสด็จเข้าไปแล้ว
   ลำดับนั้น กุฎุมพีกราบทูลพระองค์ว่า "ขอพระองค์โปรดเสด็จเข้าไปเถิด พระเจ้าข้า"
   พระศาสดาประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแล ทอดพระเนตรดูพระเถระพี่ชายของกุฎุมพีนั้นถึง ๓ ครั้ง, พระเถระทราบด้วยอาการที่พระองค์ทอดพระเนตรแล้วนั่นแล กล่าวกะน้องชายว่า "มาเถิด พ่อ เธอจงทูลพระศาสดาว่า การรักษาจักมีแก่ข้าพระองค์เอง ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ตามสบายเถิด"
    เขาฟังคำพระเถระแล้ว ถวายบังคมพระศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พวกมนุษย์เข้าไปที่โคนไม้แล้วไม่มีความเยื่อใยหลีกไปฉันใด, อนึ่ง พวกมนุษย์ข้ามแม่น้ำ ไม่มีความเยื่อใย สละพ่วงแพเสียได้ฉันใด, ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่มีความเยื่อใยฉันนั้น ประทับอยู่เถิด."     ก็พระศาสดาประทับยืนอยู่เพื่ออะไรฯ
   ได้ยินว่า พระองค์ทรงมีพระปริวิตกอย่างนี้ว่า "ชนเป็นอันมาก ย่อมมาสู่สำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัตบ้าง ในเวลาหลังภัตบ้าง เมื่อชนเหล่านั้นถือเอารัตนะทั้งหลายไปอยู่ พวกเราไม่อาจห้ามได้ กุฎุมพีพึงติเตียนว่า ‘เมื่อรัตนะประมาณเท่านี้เราโปรยลงแล้วที่บริเวณ, พระศาสดาไม่ห้ามปรามอุปัฏฐากของพระองค์ แม้ผู้นำ (รัตนะ) ไปอยู่ ดังนี้แล้ว ทำความอาฆาตในเรา พึงเป็นผู้เข้าถึงอบาย’  เพราะเหตุนี้ พระศาสดาจึงได้ประทับยืนอยู่แล้ว.
          เขาตั้งการรักษารัตนะที่โปรยไว้รอบพระคันธกุฎี              
   แม้กุฎุมพีก็ตั้งการรักษาไว้โดยรอบ สั่งมนุษย์ทั้งหลายไว้ว่า "พ่อ พวกเธอจงห้ามชนทั้งหลายผู้ถือเอา (รัตนะ) ด้วยพก หรือด้วยกระเช้าและกระสอบไป แต่อย่าห้ามชนผู้ถือเอาด้วยมือไป." แม้ในภายในนครก็ให้บอกว่า "รัตนะ ๗ ประการอันเราโปรยลงแล้วที่บริเวณพระคันธกุฎี, มนุษย์เข็ญใจทั้งหลายผู้ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาแล้วไป จงถือเอาเต็มมือทั้งสอง มนุษย์ทั้งหลายแม้ถึงสุขแล้ว ก็จงถือเอาด้วยมือเดียว."
    ได้ยินว่า เขาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "ชนทั้งหลายผู้มีศรัทธา ประสงค์จะฟังธรรมก่อนจึงจักไปทีเดียว ส่วนผู้ไม่มีศรัทธาไปด้วยความโลภในทรัพย์ ฟังธรรมแล้ว ก็จักพ้นจากทุกข์ได้" เพราะเหตุนั้น เขาจึงให้บอกอย่างนั้น เพื่อต้องการจะสงเคราะห์ชน.
    มหาชนถือเอารัตนะทั้งหลายตามกำหนดที่เขาบอกแล้วนั่นแล. เมื่อรัตนะที่เขาโปรยลงไว้คราวเดียว หมดแล้ว เขาจึงให้โปรยลงเรื่อยๆ โดยถ่องแถวเพียงเข่าถึง ๓ ครั้ง. อนึ่ง เขาวางแก้วมณีอันหาค่ามิได้ประมาณเท่าผลแตงโม แทบบาทมูลของพระศาสดา.
    ได้ยินว่า เขาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "ชื่อว่าความอิ่มจักไม่มีแก่ชนทั้งหลายผู้แลดูรัศมีแห่งแก้วมณี พร้อมด้วยพระรัศมีอันมีสีดุจทองคำ แต่พระสรีระของพระศาสดา" เพราะฉะนั้น เขาจึงได้ทำอย่างนั้น. แม้มหาชนก็แลดูไม่อิ่มเลย.
                   พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิลักแก้วมณี              
    ต่อมาวันหนึ่ง พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่งคิดว่า "ได้ยินว่า แก้วมณีที่มีค่ามาก อันกุฎุมพีนั้นวางไว้แทบบาทมูลของพระศาสดา เราจักลักแก้วมณีนั้น" จึงไปสู่วิหาร เข้าไปโดยระหว่างมหาชนผู้มาแล้ว เพื่อจะถวายบังคมพระศาสดา. ด้วยอาการแห่งการเข้าไปแห่งพราหมณ์นั้นนั่นแล คิดว่า "โอหนอ! พราหมณ์ไม่ควรถือเอา."
     แม้พราหมณ์นั้นวางมือไว้แทบบาทมูลคล้ายจะถวายบังคมพระศาสดา ถือเอาแก้วมณีซ่อนไว้ในเกลียวผ้า หลีกไปแล้ว. กุฎุมพีไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสในพราหมณ์นั้นได้.
    ในกาลจบธรรมกถา กุฎุมพีนั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า รัตนะ ๗ ประการอันข้าพระองค์โปรยล้อมรอบพระคันธกุฎีสิ้น ๓ ครั้ง โดยถ่องแถวเพียงเข่า เมื่อชนทั้งหลายถือเอารัตนะเหล่านั้น ขึ้นชื่อว่าความอาฆาตมิได้มีแล้วแก่ข้าพระองค์ จิตยิ่งเลื่อมใสขึ้นเรื่อยๆ แต่วันนี้ ข้าพระองค์คิดว่า "โอหนอ! พราหมณ์นี้ ไม่ควรถือเอาแก้วมณี" เมื่อพราหมณ์นั้นถือเอาแก้วมณีไปแล้ว จึงไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสได้."
    พระศาสดาทรงสดับคำของกุฎุมพีนั้นแล้ว ตรัสว่า "อุบาสก ท่านไม่อาจเพื่อจะทำของมีอยู่ของตน ให้เป็นของอันชนเหล่าอื่นพึงนำไปไม่ได้ มิใช่หรือ?" ดังนี้แล้ว ได้ประทานนัยแล้ว.
    กุฎุมพีนั้นดำรงอยู่ในนัยที่พระศาสดาประทานแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ได้ทำการปรารถนาว่า "พระเจ้าข้า พระราชาหรือโจรแม้หลายร้อย ชื่อว่าสามารถเพื่อจะข่มเหงข้าพระองค์ ถือเอาแม้เส้นด้ายแห่งชายผ้าอันเป็นของข้าพระองค์ จงอย่ามี นับแต่วันนี้เป็นต้นไป, แม้ไฟก็อย่าไหม้ของๆ ข้าพระองค์, แม้น้ำก็อย่าพัด."
    แม้พระศาสดาก็ได้ทรงทำอนุโมทนาแก่กุฎุมพีนั้นว่า "ขอความปรารถนาที่ท่านปรารถนาอย่างนั้น จงสำเร็จ."
    กุฎุมพีนั้น เมื่อทำการฉลองพระคันธกุฎี ถวายมหาทานแก่ภิกษุ ๖๘ แสน ในภายในวิหารนั่นแหละ ตลอด ๙ เดือน ในกาลเป็นที่สุด ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุทุกรูป. ผ้าสาฎกสำหรับทำจีวรของภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์ ได้มีค่าถึงพันหนึ่ง.
                     อปราชิตกุฎุมพีเกิดเป็นโชติกเศรษฐี              
    กุฎุมพีนั้นทำบุญทั้งหลายจนตลอดอายุอย่างนั้นแล้ว เคลื่อนจากอัตภาพนั้น บังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกตลอดกาลประมาณเท่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ อยู่ในท้องของมารดาตลอด ๙ เดือนครึ่ง.
    ก็ในวันที่กุฎุมพีนั้นเกิด สรรพอาวุธทั้งหลายในพระนครทั้งสิ้นรุ่งโรจน์แล้ว. แม้อาภรณ์ทั้งหลายที่สวมกาย๑- ของชนทั้งปวง เป็นราวกะว่ารุ่งโรจน์ เปล่งรัศมีออกแล้ว. พระนครได้รุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน. แม้เศรษฐีก็ได้ไปสู่ที่บำรุงพระราชาแต่เช้าตรู่.
    ครั้งนั้น พระราชาตรัสถามเศรษฐีนั้นว่า "วันนี้ สรรพอาวุธทั้งหลายรุ่งโรจน์แล้ว, พระนครก็รุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน ท่านรู้เหตุในเรื่องนี้ไหม?"
    เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทราบ.
    พระราชา. เหตุอะไร? เศรษฐี.
    เศรษฐี. ทาสของพระองค์เกิดในเรือนของข้าพระองค์, ความรุ่งโรจน์นั้นได้มีแล้วด้วยเดชแห่งบุญของเขานั่นแหละ.
    พระราชา. เขาจักเป็นโจรกระมัง?
    เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ข้อนั้นไม่มี, สัตว์มีบุญได้ทำอภินิหารไว้แล้ว.
    พระราชาทรงตั้งทรัพย์ค่าเลี้ยงดูวันละพัน ด้วยพระดำรัสว่า "ถ้ากระนั้น เธอเลี้ยงเขาไว้ให้ดีจึงจะควร นี้จงเป็นค่าน้ำนมสำหรับเขา."
   ครั้นในวันเป็นที่ตั้งชื่อ ชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อของเขาว่า "โชติกะ" นั่นแหละ เพราะพระนครทั้งสิ้นรุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน.
    ต่อมา ในเวลาที่เขาเติบโตแล้ว เมื่อภาคพื้นอันเขาลงชำระอยู่ เพื่อต้องการปลูกเรือน ภพของท้าวสักกะแสดงอาการร้อนแล้ว.
     ท้าวสักกะเสด็จมานิรมิตสมบัติให้โชติกเศรษฐี              
    ท้าวสักกะทรงใคร่ครวญดูว่า "นี้เหตุอะไรหนอแล?" ทรงทราบว่า "ชนทั้งหลายกำลังจับจองที่ปลูกเรือนเพื่อโชติกะ" ทรงดำริว่า "โชติกะนี้ จักไม่อยู่ในเรือนที่ชนเหล่านั่นทำแล้ว, การที่เราไปในที่นั้น ควร" แล้วเสด็จไปที่นั้นด้วยเพศแห่งนายช่างไม้ ตรัสว่า "พวกท่านทำอะไรกัน?"
     เหล่าชน. พวกฉันจับจองที่ปลูกเรือน สำหรับโชติกะ.
     ท้าวสักกะตรัสว่า "พวกท่านจงหลีกไป, โชติกะนี้จักไม่อยู่ในเรือนที่พวกท่านปลูก" แล้วทอดพระเนตรดูภูมิประเทศประมาณ ๑๖ กรีส.
   ภูมิประเทศนั้นได้เป็นที่สม่ำเสมอในทันใดนั้นนั่นเอง ดุจวงกสิณ. ท้าวเธอทรงดำริอีกว่า "ขอปราสาท ๗ ชั้นสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ จงชำแรกแผ่นดินผุดขึ้น ณ ที่นี้" แล้วทอดพระเนตรดู. ปราสาท (เห็นปานนั้น) ผุดขึ้นแล้วในขณะนั้นนั่นเอง. ท้าวสักกะทรงดำริอีกว่า "ขอกำแพง ๗ ชั้น ที่สำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ จงผุดขึ้นแวดล้อมปราสาทนี้" แล้วทอดพระเนตรดู. กำแพงเห็นปานนั้นผุดขึ้นแล้ว.
      ครั้งนั้น ท้าวเธอทรงดำริว่า "ขอต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลาย จงผุดขึ้นในที่สุดรอบกำแพงเหล่านั้น" แล้วทอดพระเนตรดู. ต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ผุดขึ้นแล้ว. ท้าวเธอทรงดำริว่า "ขุมทรัพย์ ๔ ขุม จงผุดขึ้นที่มุมทั้ง ๔ แห่งปราสาท" แล้วทอดพระเนตรดู. ทุกสิ่งได้มีอย่างนั้นเหมือนกัน.
    ก็บรรดาขุมทรัพย์ทั้งหลาย ขุมทรัพย์ขุมหนึ่งได้มีประมาณโยชน์หนึ่ง, ขุมหนึ่งได้มีประมาณ ๓ คาวุต, ขุมหนึ่งได้มีประมาณกึ่งโยชน์,ขุมหนึ่งได้มีประมาณคาวุตหนึ่ง,๑- ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ ยักษ์ ๗ ตน ยึดการรักษาไว้แล้ว. ในซุ้มประตูที่ ๑ ยักษ์ชื่อยมโมลีพร้อมด้วยยักษ์พันหนึ่งที่เป็นบริวารของตน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๒ ยักษ์ชื่ออุปปละพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๒ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๓ ยักษ์ชื่อวชิระพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๓ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ยักษ์ชื่อวชิรพาหุพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๔ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๕ ยักษ์ชื่อสกฏะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๕ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๖ ยักษ์ชื่อสกฏัตถะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๖ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๗ ยักษ์ชื่อทิสามุขะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๗ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว. ทั้งภายในและภายนอกแห่งปราสาท ได้มีการรักษาอย่างมั่นคงแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.
    ก็ประมาณนั่น ได้เป็นประมาณแห่งปากขุมทรัพย์ที่เกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์. เบื้องล่างได้มีที่สุดแผ่นดิน, ประมาณขอบปากแห่งขุมทรัพย์ที่เกิดขึ้นแก่โชติกเศรษฐี ท่านมิได้กล่าวไว้. ขุมทรัพย์ทุกขุมเต็มเปี่ยมเทียวผุดขึ้น เหมือนผลตาลที่เขาฝานหัวฉะนั้น, ลำอ้อย ๔ ลำเป็นวิการแห่งทองคำ ประมาณเท่าต้นตาลรุ่นๆ เกิดขึ้นที่มุมปราสาททั้ง ๔. ลำอ้อยเหล่านั้นมีใบแก้วมณี มีข้อเป็นทองคำ. นับว่าสมบัตินั้นเกิดขึ้นแล้ว เพื่อแสดงบุรพกรรม ของเขา ฯ
 

      

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 139,922