หน้าที่ ๔ เรื่องป่าหิมพานต์

 

                        เรื่องของป่าหิมพานต์

  

   ๐ป่าหิมพานต์  แปลว่า "ป่าที่มีน้ำค้างตกตลอดปี"   มีเนื้อที่ทั้งหมด  ๓๐๐๐  โยชน์  ภูเขาหิมพานต์สูง ๕๐๐  โยชน์  เนินเขาสูง  ๓๐๐  โยชน์   ยอดเขาสูง  ๒๐๐  โยชน์  รวมกันเข้าจึงเป็น  ๕๐๐  โยชน์ 

   ป่าหิมพานต์อยูระหว่างเขตแดนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาและเขตแดนของชมพูทวีป ป่าหิมพานต์ด้านหนึ่งจะอยู่ติดกับเขตสวรรค์ชั้นจาตุมหารำชิกาและอีกด้านหนึ่งจะอยู่ติดกับเขตแดนของชมพูทวีปมันจึงอยู่ตรงกลางพอดีมีเนื้อที่ทั้งหมด ๓๐๐๐ โยชน์

   ถ้าวัดที่สุดเนินทางด้านทิศตะวันออกทะลุถึงทางด้านทิศตะวันตก  ๓๐๐๐  โยชน์  ถ้าวัดโดยส่วนกลมวัดได้  ๙๐๐๐  โยชน์

    ภูเขาหิมพานต์มียอดทั้งหมด  ๘๔๐๐๐  ยอด  ยอดที่เป็นประธานของยอดทั้งหมดคือ "ยอดเขาสุทัสสะนะกูฏ"  และยอดที่มีชื่อทั้งหลาย  เช่น  ยอดเขาจิตรกูฏ   ยอดเขากาฬะกูฏ   ยอดเขาคันธมาทย์   และยอดเขาไกรราช 

   ในป่าหิมพานต์นั้นมีน้ำค้างตกตลอดปี  เพราะเหตุนี้จึงมีชื่อว่า "หิมพานต์"  คือป่าที่มีน้ำค้างตกตลอดปี  ในป่าหิมพานต์นี้มีสระที่มีความเชื่อมต่อกับปัญจมหานที ๕  สาย คือ:-

    ๑.คงคา

    ๒.ยุมนา

    ๓.อจิรวดี

    ๔.สรภู

    ๕.มหิ

    ในป่าหิมพานต์ประกอบด้วยสถานที่สำคัญดังนี้

     ๑.ภูเขาหิมพานต์

     ๒.แผ่นศิลาราบ

     ๓.ต้นกัลปพฤกษ์

      ๔.สระใหญ่ทั้ง  ๗  สระ

     ๕.ช้าง  ๑๐  ตระกูล

     ๖.เรื่องของพญากาเหว่าลาย

     ๗.ราชสึห์  ๔  จำพวก

     ๘.เรื่องของกระต่ายตื่นตูม

     ๙.ราชสีห์ตายเพราะสุนัขจิ้งจอก

     ๑๐.ราชสีห์ยอมแพ้สุกร

     ๑๑ .นกการเวก

     ๑๒.เรื่องของพญานกยูงทอง

     ๑๓.นกมัยหสกุณี

     ๑๔.นกจากพราก

     ๑๕.เรื่องนกขลุกสกุณี

     ๑๖.เรื่องพญาวานร

     ๑๗.เรื่องของม้าวลาหก

     ๑๘.เรื่องม้าสินธพ

     ๑๙.เรื่องของโคอุสุภราช

     ๒๐.เรื่องแผ่นศิลาราบ

     ๒๑.เรื่องภูเขาสุเมรุราช

     ๒๒.เรื่องของไม้กัลปพฤกษ์

     ๒๓.เรื่องของป่านารีผลและอิสิสิงคะดาบส

     ๒๔.เรื่องของวิทยาธร

     ๒๕.เรื่องพญากินนรแห่งสุวรรณคร

     ๒๖.เรื่องกินนรกินรี และพญาจันทกินนร

     ๒๗.เรื่องของดาบส

     ๒๘.เรื่าองของนางยักษินีหน้าม้า  และยักษินีเจ้าเล่ห์

     ๒๙.เรื่องหงส์  ๕  ชนิด  และชวนะหงส์

     ๓๐.เรื่องของเนื้อทองและปูทอง

     ๓๑.เรื่องของรามบัณฑิต

     ๓๒.เรื่องของกัฏฐะวาหะนะนครในสมัยพุทธกาล

                เรื่องของภูเขาหิมพานต์

    

    ๐ภูเขาหิมพานต์ส่วนสูงวัดได้  ๕๐๐  โยชน์   เนินเขานั้นสูง  ๓๐๐  โยชน์  ยอดเขาสูง  ๒๐๐  โยชน์  รวมเป็น  ๕๐๐  โยชน์   วัดโดยรอบ  ๙๐๐๐  โยชน์   เขาหิมพานต์มียอดเขารวมกันทั้งหมด ๘๔๐๐๐  ยอด  ยอดที่เป็นประธานของยอดทั้งหมดคือ "ยอดเขาสุทัสสะนะกูฏ"  และยอดที่มีชื่อทั้งหลาย  เช่น  ยอดเขาจิตรกูฏ   ยอดเขากาฬะกูฏ   ยอดเขาคันธมาทย์   และยอดเขาไกรราช

    ในภูเขาหิมพานต์มีน้ำต้างตกตลอดปี  เพราะเหตุนี้จึงเรียกว่า "หิมพานต์"  คือสถานที่ๆมีน้ำค้างตกตลอดปี  สระในป่าหิมพานต์นี้ไหลเชื่อมต่อกับแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย  คือ

     ๑.แม่น้ำคงคา

     ๒.แม่น้ำยุมนา

     ๓.แม่น้ำอจิรวดี

     ๔.แม่น้ำสรภู

     ๕.แม่น้ำมหิ

    กระแสน้ำทั้ง ๕ สายนี้ ไหลพัดผ่านรอบขอบภูเขาหิมพานต์ วัดโดยกลมได้  ๙๐๐๐  โบชน์

                  แผ่นศิลาราบ

    

   ๐แผ่นศิลาราบ  คือแผ่นศิลาใหญ่ที่เป็นพื้นราบวัดได้  ๖๐  โยชน์  เป็นพื้นราบกว้างใหญ่ไม่มีหญ้าเลยแม้แต่เส้นเดียว  ควรจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้มีบุญฤทธิ์  ศิลาแผ่นนี้เป็นทองคำทั้งแท่งเนื้อทองสูงมีสีสุกใสเปล่งปลั่งรุ่งโรจน์สวยงามมากยิ่งนัก  แผ่นศิลานี้เกิดมาจากหิงคุชาติ  มีสีแดงสะอาดงามตายิ่งนัก  เบื้องบนของแผ่นศิลาราบนั้นมีมโนศิลาอาสน์มีขนาดใหญ่ประมาณ ๓ โยชน์  มีสีสันแดงงามยิ่งนัก  มโนศิลาอาสน์อยู่ใต้ต้นสาละราชไม้รมย์รัง  ต้นไม้รังสูงได้ ๖ โยชน์ กับ ๔๐๐ เส้น  เป็นไม้อันร่มรื่น มีกิ่งก้านน้อยใหญ่และดอกอันบานสพรั่งสวยงามน่ารื่นรมย์บรรเทิงใจยิ่งนัก  เป็นต้นไม้พิเศษมีอายุยืนได้ ๑ กัปป์  มีร่มเงาอันแสนสบาย  ตอนที่พระพุทธเจ้าสวยพระชาติเป็นพญากาเหว่าลายก็ได้ทรงอาศัยอยู่ในต้นไม้นี้เป็นส่วนมาก

                            ต้นกัลปพฤกษ์

   

    ๐ต้นกัลปพฤกษ์  มีอยู่ในที่ใกล้ฉัททันสระ ณ ที่สถานแห่งนั้นมีต้นกัลปพฤกษ์อยู่เป็นจำนวนมาก ในต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลายเหล่านั้นมีผ้าทิพย์และมีเสื้อผ้าที่มีสีสันต่างๆ กันอยู่  ๕  สีด้วยกัน  คือ:-

     ๑.สีขาว

     ๒.สีเขียว

     ๓.สีเหลือง

     ๔.สีแดง

     ๕.สีหงสบาท

    ถ้าใครปราถนาผ้านุ่งผ้าห่มและเสื้อผ้าต่างๆอันเป็นทิพย์ๆก็จะได้ทุกอย่างในต้นกัลป พฤกษ์ทั้งหลายเหล่านี้ ใช้จะมีแต่เสื้อผ้าต่างๆก็หามิได้  เครื่องประดับตกแต่งต่างๆ และน้ำอันเป็นทิพย์ในต้นกัลปพฤกษ์ก็มีเหมือนกัน

    ในสมัยพระเจ้าธรรมาโศกราชที่เป็นพระราชาในชมพูทวีปเทวดาได้นำเอาผ้าทิพย์สีสันต่างๆจากต้นกัลปพฤกษ์ในป่าหิมพานต์มาถวาย  เทวดาทั้งหลายยังได้นำเอาไม้สีพระทนต์ (ไม้สีฟัน)   ผลสมอ   ผลมะขามป้อม   และผลมะม่วงสุกที่ป่าหิมพานต์มาถวายทุกวันมิได้ขาด ไม้สีพระทนต์ทำด้วยเครือเขาชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "นาคละดา" เมื่อเอามาสีฟันจะอ่อนละมุนละไมมีรสอันสนิท ไม่มีที่กระด้างเลย

    อนึ่งผลสมอ   ผลมะขามป้อม   และผลมะม่วงในป่าหิมพานต์นั้นมีสีอันสวยงาม, มีกลิ่นหอมหวนรัญจวนใจ, และมีเนื้ออันโอชารสยิ่งนัก กินไม่รู้จักอิ่ม ใครได้กินจะเกิดความซาบซ่าไปทุกขุมขน  จะติดอกติดใจในรสชาดของมันอย่างไม่มีวันลืมจนตลอดชีวิต  ส่วนผลสมอและผลมะขามป้อมมีคุณค่าทางสมุนไพรอย่างล้นเหลือ ถ้าใครได้กินจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนและจะมีอายุยืนยาวหลายร้อยปี

    ส่วนผลมะม่วงในป่าหิมพานต์นั้นถ้ากินเข้าไปในร่างกายแล้วจะไม่มีโรคจะมีร่างกายเป็นวัยหนุ่มวัยสาวอยู่ตลอดเวลาและจะมีเสียงอันไพเราะประดุจดังเสียงของนกการเวก  เหตุที่ทำให้นกการเวกมีเสียงไพเราะเสนาะจิตมีอำนาจสกดให้สรรพสัตว์และมนุษย์ทั้งหลายหยุดการเคลื่อนไหวกิริยาอาการได้ ก็เพราะมันได้กินมะม่วงในป่าหิมพานต์นั่นเอง

    ต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้อุดมคติตามความเชื่อที่ปรากฎในในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิกถา และคัมภีร์โลกสันฐาน รวมทั้งในพระสูตรต่างๆ   ต่างกล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่อยู่ในอุตรกุรุทวีปบ้าง อยู่บนบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และในป่าหิมพานต์บ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในในชมพูทวีป  ต้นไม้กัลปพฤกษ์จะมีในชมพูทวีปก็ตอนที่พระศรีอริยเมตตรัยมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น

    อุตรกุรุทวีปเป็นทวีปที่มีความสุขสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องมีข้าวของเครื่องใช้ติดตัว หากใครประสงค์สิ่งใดก็สามารถอธิษฐานจิตเอาไต้ที่ต้นกัลปพฤกษ์  และต้นกัลปพฤกษ์ก็จะให้สิ่งของตามที่เราปรารถนาทุกประการ
   ในไตรภูมิพระร่วงของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่มีอยู่มากมายทั่วไปในอุตรกุรุทวีป ต้นกัลปพฤกษ์มีความสูง ๑๐๐ โยชน์ กว้าง ๑๐๐ โยชน์ ผู้ใดปรารถนาหาทุนทรัพย์อันใดก็สามารถสำเร็จตามความปราถนา
   นอกจากไตรภูมิพระร่วงแล้ว ในคติเกี่ยวกับพระศรีอาริยเมตตรัย ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ก็กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นจากพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าศรีอาริยเมตตรัยเมื่อทรงตรัสรู้ ซึ่งบังเกิดต้นกัลปพฤกษ์จำนวนเมืองละ ๔ ต้นที่ปากประตูเข้าเมืองนี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นยุคสมัยแห่งความอุดมสมบูรณ์อันหาที่สุดมิได้
   ในตำนานเกี่ยวกับประวัติอดีตชาติของพระอินทร์ตามคติทางพุทธศาสนา กล่าวว่าเดิมพระอินทร์เป็นบุรุษผู้ครองเรือนชื่อมาฆะมานพ มีภรรยา ๔  คน มีบริวารจำนวน ๓๒ คน ได้สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ และศาลาที่พักคนเดินทาง ด้วยอานิสงส์ของบุญกุศลนั้นทำให้ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งก็มีต้นกัลปพฤกษ์อยู่ในสวรรค์ ตามคัมภีร์กล่าวว่าลำต้นวัดความกว้างได้ ๓ ถึง ๕ โยชน์ สูงถึง ๕๐ โยชน์ แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปรอบๆ ลำต้นทั้งกว้างสูงและยาวเท่ากันคือ ๑๐๐ โยชน์
   ต้นกัลปพฤกษ์ จึงเป็นต้นไม้แห่งอุดมคติ เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์พูลสุขในภพสวรรค์ เป็นมูลเหตุอันหนึ่งซึ่งป็นอุบายจูงใจให้คนทำความดี ต้นกัลปพฤกษ์เข้ามามีบทบาทในงานพุทธศิลป์ โดยเฉพาะในงานภาพจิตรกรรมฝาผนังของช่างโบราณที่ถ่ายทอดคติไตรภูมิ วาดเป็นภาพต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาร่มเงาใหญ่โต ตามกิ่งก้านสาขามีทรัพย์สิน แก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับต่างๆ แขวนอยู่ ซึ่งสะท้อนถึงความสุขสมบูรณ์
   ในสังคมไทยยังได้ใช้ต้นกัลปพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้ทานทั้งในรูปแบบเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในจารึกวัดป่ามะม่วงสมัยสุโขทัย ด้านที่ ๒ ได้กล่าวถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหาธรรมราชาลิไท โปรดให้จัดตกแต่งต้นกัลปพฤกษ์สำหรับถวายพระมหาสามีสังฆราชและพระเถระผู้ใหญ่ โดยจัดต้นไม้จำลองเป็นต้นกัลปพฤกษ์ นำเครื่องบูชาเข้าตอกดอกไม้หมากพลู ทรัพย์สินและจตุปัจจัยต่างๆ แขวนไว้สำหรับถวายพระสงฆ์
   สืบมาจนถึงสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ พบว่าในการพระเมรุพระเจ้าแผ่นดินหรือการถวายพระเพลิงราชวงศ์ชั้นสูง หรือในงานฉลิมฉลองสมโภชต่างๆ จะมีการสร้างต้นกัลปพฤกษ์จำลองสำหรับการทิ้งทาน มีการนำเหรียญสตางค์หรือเงินสอดไว้ในลูกมะนาวแล้วแขวนไว้ตามต้นกัลปพฤกษ์ หรือนำทรัพย์สินเงินทองผ้าผ่อนวางไว้ที่โคนต้นเพื่อเป็นทานแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนยากคนจน
   คนไทยปัจจุบันยังรับรู้คติเรื่องต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ทรัพย์สมบัติต่างๆ จึงได้วิวัฒนาการมาเป็นกิจกรรมสอยกัลปพฤกษ์ โดยจัดสร้างต้น   กัลปพฤกษ์จำลองแล้วนำฉลากมาแขวนไว้เพื่อนำไปขึ้นรางวัล ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังคงสะท้อนคติความเชื่อเกี่ยวกับต้นกัลปพฤกษ์ในฐานะสัญลักษณ์ของความสุขความอุดมสมบูรณ์สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

                   สระใหญ่ทั้ง ๗

   

    ๐ในเนินเขาที่ป่าหิมพานต์มีสระใหญ่ที่น่ารื่นรมย์บรรเทิงใจอยู่ ๗ สระ

      ๑.สระอโนดาด

      ๒.สระกัณณะมุณฑะ

      ๓.สระระถะการ

      ๔.สระฉัททันต์

      ๕.สระกุณาละ

      ๖.สระมันทากินี

      ๗.สระสีหะปะปาตะ

                           เรื่องของสระอโนดาด

      

    ๐สระอโนดาดแวดล้อมด้วยภูเขา ๕ ชั้น   คือ:-

      ๑.ภูเขาสุทัสสนะกูฏ

      ๒.ภูเขาจิตรกูฏ

      ๓.ภูเขากาฬะกูฏ

      ๔.ภูเขาคันธมาทนะกูฏ

      ๕.ภูเขาไกรลาสะกูฏ

                        ภูเขาสุทัสสนะกูฏ

    ๐ภูเขาสุทัสสนะกูฏ  เป็นภูเขาที่เป็นทองคำทั้งลูก  ส่วนสูงวัดได้  ๒๐๐  โยชน์  กว้างและยาววัดได้  ๒๕๐  โยชน์  ภายในของภูเขาทัสสนะกูฏมีสัณฐานคตประดุจดังปากกาที่เงื้อมเข้าไปปกปิดสระอโนดาดเอาไว้

                        ภูเขาจิตรกูฏ

    ๐ภูเขาจิตรกูฏ   เป็นภูเขาที่เป็นแก้วทั้งหมด แก้วส่วนมากในภูเขาจิตรกูฏเป็แก้วที่มีสีสันสวยงามหลากหลายชนิด  ส่วนสูงวัดได้  ๒๕๐  โยชน์   ส่วนกว้างและส่วนยาววัดได้  ๕๐  โยชน์

                       ภูเขากาฬะกูฏ

    ๐ภูเขากาฬะกูฏ   เป็นภูเขาที่เป็นแก้วสีดำนิลทั้งลูกมีสีสันสวยงามยิ่งนัก  ภูเขากาฬะกูฎส่วนสูงวัดได้  ๒๕๐  โยชน์  ส่วนกว้างและส่วนยาววัดได้  ๕๐  โยชน์

                       ภูเขาคันธมาทนะกูฏ

    ๐ภูเขาคันธมาทน์   เป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยแก้วลาย  ส่วนที่เป็นภายในของภูเขานั้นเป็นแก้วมุกดาทั้งหมด  ภูเขาคันธมาทน์นี้ยังเต็มไปด้วยว่านและสมุนไพรนานับประการ  สมุนไพรในภูเขาลูกนี้จะมีกลิ่นหอมมาก  ส่วนสูงของภูเขาคันธมาทน์วัดได้  ๒๕๐  โยชน์  ส่วนกว้างและส่วนยาววัดได้  ๕๐  โยชน์  สมุนไพรในภูเขาคันธมาทน์นี้ เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมหลากหลายชนิด  เช่น:-

     ๑.สมุนไพรรากหอม

     ๒.สมุนไพรแก่นหอม

     ๓.สมุนไพรกะพี้หอม

     ๔.สมุนไพรเปลือกหอม

     ๕.สมุนไพรสะเก็ดหอม

     ๖.สมุนไพรยางหอม

     ๗.สมุนไพรใบหอม

     ๘.สมุนไพรดอกหอม

     ๙.สมุนไพรผลหอม

     ๑๐.สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมหลายกลิ่นอยูด้วยกัน

    ภูเขาคันธมาทน์นี้แปลกกว่าเพื่อนคือถ้าวันไหนเป็นคืนเดือนดับจะมีแสงสว่างรุ่งเรืองประดุจดังถ่านเพลิง  แสงนั้นจะส่องสว่างอยู่ตลอดทั้งคืนจนกว่าจะถึงวันข้างขึ้นจึงจะหยุดสว่าง

    ภูเขาคันธมาทน์นี้มีเงื้อมที่มีชื่อเสียงอยู่เงื้อมหนึ่งที่มีชื่อว่า "นันทมูล"  ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย  พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อบรรลุนิพพานแล้ว  ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะต้องมาอาศัยอยู่ที่เงื้อมของภูเขาคันธมาทน์นี้

    ในภูเขาคันธมาทน์มีถ้ำที่สำคัญอยู่  ๓  ถ้ำ   คือ:-

      ๑.ถ้ำสุวรรณคูหา   เป็นถ้ำทองคำ

      ๒.ถ้ำมณีคูหา   เป็นถ้ำแก้ว

      ๓.ถ้ำรชตะคูหา   เป็นถ้ำเงิน

    ในที่ใกล้ถ้ำมณีคูหานั้นมีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งมีชื่อว่า "ต้นอุโลก"  เป็นต้นไม้ใหญ่มากมีกิ่งก้านสาขาสูง  ๑  โยชน์  ร่มเงาของต้นไม้นี้ก็มีความกว้างวัดได้  ๑  โยชน์   เบื้องหน้าของต้นอุโลกนี้มีศาลาแก้วอยู่หลังหนึ่ง  ทั้งเสา  ฝา  เพดาน  หลังคา  และพื้นก็เป็นแก้วทั้งหมด

    ศาลาแก้วหลังนี้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายใช้ทำอุโบสถ   เมื่อถึงวันทำอุโบสถของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายดอกไม้ทั้งหลายที่มีอยู่ในน้ำและบนบกจะบานสพรั่งไปทั่วทุกหนทุกแห่ง  ด้วยอำนาจของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทำให้บังเกิดมีลมชนิดหนึ่งมีชื่อว่า

"ลมสัมมัชชะนะกะวาตะ"  ลมชนิดนี้จะพัดหอบเอาหยากเยื่อฝุ่นฝอยในศาลาเอาไปทิ้งในที่ไกล  หลังจากนั้นก็จะบังเกิดลมอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า "ลมกะระณะวาตะ"  ลมชนิดนี้จะพัดหุ้มหอบและเกลี่ยทรายแก้วในศาลาให้ราบเสมอเป็นหน้ากลอง  ต่อแต่นั้นก็จะบังเกิดลมอีกชนิดหนึ่งมีชื่อว่า "สัญจะนะวาตะ"  ลมชนิดนี้มีหน้าที่พัดวัดเวียนอุ้มเอาน้ำในสระอโนดาดขึ้นมาประพรมบริเวณพื้นที่ไม่ให้ทรายแก้วที่ละเอียดฟุ้งขึ้นมาได้   ถัดจากนั้นก็จะมีลมชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "ลมสุคันธะกะระณะวาตะ"  ลมชนิดนี้มีหน้าที่พัดหอบเอากลิ่นหอมของดอกไม้ทั้งหลายมาอบเอาไว้ในศาลา ทำให้ศาลาแก้วมีกลิ่นหอมฟุ้งขจรกระจายไปทั่วทั้งภายนอกและภายในของศาลานั้น

   ต่อจากนั้นก็จะมีลมอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า "ลมโอจินะกะวาตะ"  พัดตัดขั้วดอกไม้ให้ร่วงหล่นลงมาที่พื้นดินเกลื่อนกลาดทั่วบริเวณ  ต่อแต่นั้นก็จะมีลมอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า "ลมสันถะระณาวาตะ"  พัดกวาดเอาดอกไม้และขั้วดอกไม้ทั้งหลายที่ไม่ได้ใช้แล้วอยู่บนพื้นของศาลา พัดหอบเอาไปทิ้งเสียในที่ไกลจะทำให้ศาลาแก้วแลดูสะอาดหูสะอาดตายิ่งนัก

    พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันในวันอุโบสถก็จะนั่งบนอาสนะดอกไม้ตามลำดับอาวุโส  เมื่อพร้อมกันทุกๆองค์แล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็จะเข้าฌานสมาบัติ  ครั้นออกฌานสมาบัติแล้วพระปัจเจกพุมธเจ้าองค์ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ก็จะสอบถามพระปัจเจพุทธเจ้าทั้งหลายที่ตรัสรู้ใหม่ๆถึงเรื่องการตรัสรู้ว่าใช้พิจารณากรรมฐานข้อไหน  พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ใหม่ก็จะบอกแจ้งกรรมฐานที่ตนใช้บริกรรมภาวนาให้แก่

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่อยู่ในศาลาแก้วทุกองค์ทราบ  ศาลาแก้วหลังนี้อยู่ที่ปากถ้ำแก้วในภูเขาคันธมาทน์

                            ภูเขาไกรลาส

    

    ๐ภูเขาไกรลาส   เป็นภูเขาที่เป็นเงินทั้งลูก  ภูเขาไกรลาสล่วนสูงวัดได้ ๒๕๐ โยชน์  กว้างและยาววัดได้ ๕๐  โยชน์  ภูเขาทั้ง ๕ คือ  ภูเขาสุทัสสนะกูฏ  ภูเขาจิตรกูฏ  ภูเขากาฬะกูฏ   ภูเขาคันธมาทนะกูฏ   และภูเขาไกรลาสะกูฏ  มีลักษณะภายในคดค้อมเข้าหากันประดุจดังปากกาทั้ง ๕ ลูก  มีเชิงเขาติดเนื้องกันและแวดล้อมขอบสระอโนดาดเอาไว้  ยอดเขาทั้ง ๕  เงื้อมน้อมเข้าหากัน  เงื้อมไปข้างโน้นบ้างเงื้อมมาข้างนี้บ้างแล้วจึงปกปิดสระอโนดาดเอาไว้

    กระแสน้ำในแม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหมดจะไหลเอิบอาบซึมซาบเข้าไปในภูเขาทั้ง  ๕  ลูกเหล่านี้เสียก่อนจึงจะไหลซึมซาบเข้าไปในสระอโนดาดได้  เพราะฉะนั้นน้ำในสระอโนดาดจึงไม่มีคำว่าแห้งเลย  น้ำที่อยู่ภายในสระอโนดาดจะไหลออกสู่ภายนอกทางช่องปากทั้ง  ๔  เหล่านี้ คือ:-

    ๑.ทางช่องปากราชสีห์

     ๒.ทางช่องปากช้าง

     ๓.ทางช่องปากม้า

     ๔.ทางช่องปากโค

    แสงของพระจันทร์และแสงของพระอาทิตย์จะส่องสว่างเข้าไปในสระอโนดาดได้   ในเวลาที่มันโคจรอ้อมไปทางด้านทิศใต้สู่ทิศเหนือเท่านั้น  แต่ถ้าโคจรไปตรงๆเลยแสงสว่างจะส่องเข้าไปไม่ได้  ต้องโคจรไปตามระหว่างเขาแสงสว่างจึงจะส่องเข้าไปในสระอโนดาดได้

    เหตุที่ภูเขาทั้ง  ๕  ลูกเงื้อมเข้าไปปกปิดป้องกำบังสระอโนดาดเอาไว้  เพราะฉะนั้นน้ำในสระอโนดาดจึงไม่ร้อน  เพราะอาศัยเหตุที่น้ำไม่ร้อนนี้แหละจึงเรียกสระนี้ว่า "สระอโนดาด"

ที่สระอโนดาดมีท่าสำคัญอยู่  ๔  ท่า   คือ:-

    ๑.ท่าชำระสระสรงของนางเทพธิดา

    ๒.ท่าชำระสระสรงของเทพบุตร

    ๓.ท่าชำระสระสรงของพวกยักษ์ทั้งหลาย

    ๔.ท่าชำระสระสรงของพวกวิทยาธร

    พวกเทพบุตร  เทพธิดา  ยักษ์  และวิทยาธร  จะต้องลงเล่นน้ำและสรงน้ำทางบันไดแก้วอันเป็นส่วนของตนอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินจำเริญใจยิ่งนัก

    ในสระอโนดาดนี้มีน้ำใสไหลเย็นบริสุทธิ์ปราศจากมลทินโทษทุกชนิด  มีน้ำใสประดุจดังแก้วผลึกปราศจากปลาเต่าและจอกแหน

    ท่าน้ำในสระอโนดาดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า   พระปัจเจกพุทธเจ้า   พระอรหันต์  พระขีณาสพ   พระสาวกของพระพุทธเจ้า   ท่านผู้มีอิทธิฤทธิ์   และท่านผู้มีบุญญฤทธิ์สามารถจะลงสระสรงชำระร่างกายในท่าน้ำทั้ง  ๔  แห่งเหล่านี้ได้

    ในที่ข้างสระอโนดาดทั้ง ๔ ด้าน  มีช่องปากอันเป็นสถานที่ๆน้ำไหลออกจากสระอโนดาดอยู่  ๔  แห่ง   คือ:-

     ๑.ช่องปากราชสีห์

     ๒.ช่องปากช้าง

     ๓.ช่องปากม้า

     ๔.ช่องปากโค

    กระแสน้ำที่ไหลออกจากช่องปากทั้ง ๔ ของสระอโนดาดจะไหลออกเป็นแม่น้ำ ๔ สาย  แต่ละสายมีความกว้างใหญ่และลึกเท่าๆกัน  แม่น้ำใหญ่ทั้ง  ๔  สายเหล่านี้ เมื่อจะไหลออกจากสระอโนดามันจะไหลวนเวียนไปมา ๓ รอบแล้วจึงไหลออกไปสู่ภายนอก

    -ทางริมฝั่งแม่น้ำที่ไหลออกจากทางช่องปากราชสีห์นั้นจะมีราชสีห์อาศัยอยู่ที่นั่นเป็นจำนวนมาก

    -ทางริมฝั่งแม่น้ำที่ไหลออกจากทางช่องปากช้างนั้นจะมีช้างอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  ช้าง ๑๐  ตระกูลก็อาศัยอยู่ตรงนี้ด้วย

    -ทางริมฝั่งแม่น้ำที่ไหลออกจากทางช่องปากม้านั้นมีม้าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งม้าวลาหก  ม้าสินธพ  และม้าอัสดรด้วย

    -ทางริมฝั่งแม่น้ำที่ไหลออกจากทางช่องปากโคนั้นมีโคและกระบืออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  รวมทั้งโคอุสุภราชด้วย

    แม่น้ำที่ไหลออกทางช่องปากในด้านทิศตะวันออกของสระอโนดาดนั้นคือช่องปากราชสีห์ มันจะไหลวน ๓  รอบก่อนแล้วจึงจะไหลแยกออกจากแม่น้ำทั้ง ๓ สาย แล้วจึงไหลไปสู่คลองของพวกอมนุษย์ในป่าหิมพานต์ทางด้านทิศตะวันออก  แล้วแม่น้ำนั้นก็จะไหลไปสู่มหาสมุทร

    แม่น้ำที่ไหลออกทางช่องปากในด้านทิศตะวันตกและแม่น้ำที่ไหลออกทางดา้นทิศเหนือคือทางช่องปากช้างและทางช่องปากม้านั้น  ครั้นไหลวนครบ ๓ รอบแล้วก็จะไหลออกไปสู่แดนยักษ์และปีศาจในป่าหิมพานต์  สายน้ำนั้นก็จะไหลตกลงไปในแผ่นศิลาที่มีชื่อว่า "ติยังคะฬะ" แล้วก็ไหลอาบไปตามแผ่นศิลาแล้วจึงไหลตกลงไปในมหาสมุทร

    แม่น้ำที่ไหลออกทางช่องปากในด้านทิศใต้คือทางช่องปากโคของสระอโนดาดนั้น  เมื่อไหลวนครบ ๓ รอบแล้วก็ไหลลงไปบนหลังแผ่นศิลาลาดสิ้นระยะทาง  ๖๐  โยชน์  แล้วสายน้ำนั้นก็จะไหลไปกระทบกับภูเขาลูกหนึ่ง กลายเป็นสายน้ำที่ไหลเชี่ยว  ครั้นมันไหลไปกระทบกับภูเขาแล้วกระแสน้ำนั้นก็กระโจนขึ้นไปในอากาศวัดได้  ๓  คาวุต  คือ ๓๐๐  เส้น

และกระแสน้ำที่กระโจนขึ้นไปนั้นก็จะกระโจนไปไกลเป็นระยะทางได้  ๖๐  โยชน์  มันจึงตกลงไปบนแผ่นศิลาที่มีชื่อว่า "ติยังคะฬะปาสาณะ"  เมื่อตกลงไปบนแผ่นศิลาอย่างแรง

น้ำนั้นก็จะแตกกระจ่ายซ่านเซ็นกระเด็นขึ้นไปในอากาศประดุจดังเม็ดฝน ในที่ๆนัำตกลงไปนั้นมีสระอยู่สระหนึ่งมีชื่อว่า "ติยังคะฬะโบกขรณี"  ซึ่งบังเกิดขึ้นด้วยการกัดเซาะของกำลังน้ำที่มีความกว้างวัดได้  ๕๐๐  โยชน์ 

    น้ำนั้นครั้นตกลงไปในสระมันก็กัดเซาะที่ขอบของสระโบกขรณีนั้นด้วยกำลังน้ำอันไหลเชี่ยวแล้วมันก็ไหลไปในช่องของศิลาเป็นระยะทาง  ๖๐  โยชน์  สายน้ำนั้นมันก็จะทำลายซึ่งแผ่นดินให้เป็นช่องแล้วก็ไหลไปทางอุโมงค์ที่มีชื่อว่า "อุมังคะคงคา"  น้ำที่ไหลไปภายในอุโมงค์ภายใต้แผ่นดินนั้นไหลไปไกลได้  ๖๐  โยชน์  สายน้ำนั้นก็ไหลไปกระทบกับภูเขาลูกหนึ่งที่มีชื่อว่า "ติรัจฉานบรรพต" ภูเขาลูกนี้มีเชิงเขาติดเป็นอันเดียวกันและมียอด ๕ ยอด ประดุจดังนิ้วมือทั้ง ๕  กระแสน้ำที่ไหลไปกระทบกับภูเขาลูกนี้ก็จะแยกออกจากกันเป็น  ๕  สาย  มันจะไหลไปในระหว่างเขาทั้ง ๕  จึงทำให้เกิดเป็นแม่น้ำใหญ่  ๕  สาย ที่มีชื่อว่า "ปัญจมหานที"  ๕  สาย   คือ:-

     ๑.แม่น้ำคงคา

     ๒.แม่น้ำยุมนา

     ๓.แม่น้ำอจิรวดี

     ๔.แม่น้ำสรภู

     ๕.แม่น้ำมหิ

    เป็นอันว่าแม่น้ำทั้ง ๕  สายเหล่านี้เกิดมาจากภูเขาติรัจฉานบรรพตในป่าหิมพานต์

    -แม่น้ำที่ไหลวนในสระอโนดาด  ๓  รอบนั้นเรียกว่า "แม่น้ำอาวัฏฏะคงคา"

    -แม่น้ำที่ไหลตรงไปบนแผ่นศิลาลาดเป็นระยะทาง ๖๐ โยชน์นั้นเรียกว่า "กัณหะคงคา"

    -แม่น้ำที่ไหลกระโจนขึ้นไปบนอากาศเป็นระยะทาง ๖๐ โยชน์นั้นเรียกว่า "อากาศคงคา"

    -แม่น้ำที่เป็นติยังคะฬะโบกขรณีเป็นระยะทาง ๕๐ โยชน์นั้นเรียกว่า "ติยังคะฬะโบกขรณีคงคา"

    -แม่น้ำที่ทำลายซึ่งฝั่งสระโบกขรณีแล้วไหลไปในช่องแผ่นศิลาเป็นระยะทาง ๖๐ โยชน์นั้นเรียกว่า "พหลคงคา"

    -แม่น้ำที่ไหลไปกระทบกับภูเขาติรัจฉานบรรพตแล้วไหลแยกออกจากกันเป็น  ๕  สายนั้นเรียกว่า "ปัญจมหานที" คือแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย  ได้แก่ คงคา   ยุมนา   อจิรวดี   สรภู และ  มหิ

                     พรรณนาข้อมูลของสระอโนดาดจบ

                           เรื่องของสระฉัททันต์

      

    ๐สระฉัททันต์มีเนื้อที่ทั้งหมด ส่วนกว้างวัดได้  ๕๐  โยชน์   ส่วนยาววัดได้  ๕๐  โยชน์ 

ส่วนกลมรอบวัดได้  ๑๕๐  โยชน์   ตรงกลางสระนั้นมีน้ำใสไหลเย็นปราศจากจอกและแหนส่วนกว้างวัดได้  ๑๒  โยชน์  น้ำใสประดุจดังแก้วมณี   บริเวณของขอบสระที่เป็นน้ำใสนั้นประดับประดาด้วยดอกบัวจงกลนีโดยไม่มีสิ่งอื่นเข้ามาปะปนเลย ดาดาษออกไปไกลได้หนึ่งโยชน์  ลำดับต่อไปจึงถึงป่าดอกบัวเขียวไม่มีสิ่งอื่นเจือปนมีแต่ดอกบัวเขียวอย่างเดียวสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์   ป่าดอกบัวเขียวแวดล้อม ป่าดอกบัวจงกลนีเอาไว้  ถัดป่าดอกบัวเขียวออกไปก็เป็นป่าดอกบัวแดง  แดงงามยิ่งนัก บ้างตูม  บ้างบาน  บ้างเพิ่งจะแย้มกลีบ

ไม่มีสิ่งอื่นมาเจือปนเลย  แดงประหนึ่งดอกกัมพลแดงที่มีคนเอามาปูไว้ดาดาษออกไปเป็นระยะทางได้หนึ่งโยชน์   ถัดจากป่าบัวแดงออกไปก็เป็นป่าดอกบัวขาวไม่มีดอกบัวอื่นมาเจือปนเลย ดูประหนึ่งว่ามีคนเอาผ้าขาวโขมพัสตร์มาคาดไว้เป็นระยะทางหนึ่งโยชน์

   ถัดจากนั้นก็เป็นป่าดอกบัวแดงอีกหนึ่งโยชน์  ต่อจากนั้นก็เป็นป่าบัวชาวอีกหนึ่งโยชน์

จึงจะถึงป่าดอกโกมุทที่มีสัณฐานคล้ายดอกบัว  ดอกโกมุทนี้จะเบ่งบานบานในเวลากลางคืน คือจะเบ่งบานด้วยอำนาจของแสงจันทร์  เป็นระยะทางได้หนึ่งโยชน์  ป่าดอกบัวทั้ง ๗ ชั้นเหล่านี้จะล้อมกันออกมาเป็นขั้นๆ  

   ถัดจากป่าบัวทั้ง ๗ ชั้นเหล่านั้นแล้วก็จะเป็นสวน "มิสสะกะวัน"     สวนมิสสะกะวันเป็นสวนดอกบัวแดง  ดอกบัวขาว  และดอกบัวเขียว   โกมุทแดง  โกมุทขาว  และโกมุทเขียว

เจือสลับสีกันไปสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์    ต่อจากนั้นจึงจะถึงป่าข้าว "รัตตะสาลี"  ที่ตรงนี้น้ำไม่ลึกมากนัก ลึกแต่พอช้างทั้งหลายหยั่งลงไปกินข้าวรัตตะสาลีได้  เป็นป่าข้าวรัตตะสาลีสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์

   ต่อจากนั้นก็จะถึงป่า "นีลวัน"  คือป่าไม้ที่เกิดในขอบสระงอกขึ้นมาเป็นกอๆมีดอกสีเขียว

ดูงามประดุจดังสีแก้วเป็นระยะทางหนึ่งโยชน์  จึงจะถึงป่า "ปิตะวัน"  ป่าปิตะวันเป็นป่าที่มีดอกไม้เป็นสีเหลืองสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์   ต่อแต่นั้นก็จะถึงป่า "โลหิตะวัน"  ซึ่งเป็นป่าไม้ที่มีดอกเป็นสีแดงประดุจดังผ้ารัตตกัมพลสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์   ถัดจากนั้นก็จะถึงป่า "โอทาตะวัน"  ซึ่งเป็นป่าที่มีดอกไม้สีขาวล้วนสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์   ป่าดอกไม้เขียว  ป่าดอกไม้เหลือง   ป่าดกไม้แดง   และป่าดอกไม้ขาว  ทั้ง ๔ ป่าเหล่านี้  เป็นป่าที่มีดอกไม้เป็นกลิ่นหอมทั้งหมด มีตัวแมลงภู่บินมาคลึงเคล้าดอกไม้อันสวยงามยิ่งนัก

    ถัดจาป่าดอกบัวเหล่านี้แล้วก็จะเป็นป่าถั่วราชมาสน้อยป่าถั่วราชมาสใหญ่และป่าถั่วเขียวแต่ละป่าก็มีระยะทางได้หนึ่งโยชน์เหมือนกัน   ถัดจากป่าถั่วเขียวก็จะเป็นป่าแตงโมที่มีผลใหญ่เท่าโองเป็นระยะทางหนึ่งโยชน์    ถัดจากป่าแตงโมก็จะเป็นป่าฟักทองเป็นระยะทางหนึ่งโยชน์   ถัดจากป่าฟักทองก็จะเป็นป่าน้ำเต้าสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์   ถัดจากป่าน้ำเต้าก็จะเป็นป่าฟักเขียวเป็นระยะทางหนึ่งโยชน์

    ลำดับต่อมาก็จะถึงป่าอ้อย  อ้อยแต่ละลำใหญ่เท่าต้นหมากสล้างไปสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์   ก็จะถึงป่ากล้วยซึ่งมีผลโตเท่างาช้าง เป็นระยะทางหนึ่งโยชน์       ถัดจากนั้นก็จะถึงป่าไม้รัง เป็นระยะทางหนึ่งโยชน์   ถัดจากนั้นก็จะถึงป่าขนุนหนังซึ่งมีผลใหญ่เท่าตุ่มเป็นระยะทางหนึ่งโยชน์   ต่อจากนั้นก็จะถึงป่ามะม่วงซึ่งมีผลอันหอมหวานมีโอชารสอันสนิทใครจะยืนปลิดกินก็ได้ไม่สูงนัก 

    หมู่นกการเวกชอบมากินมะม่วงสุกกินนี้มาก  ครั้นกินเสร็จแลัวมันก็จะร้องส่งเสียงร้องไพรเราะก้องไพรจับจิตใจทั้งคนและสัตว์ทั้งหลาย  ป่ามะม่วงนี้มีมากสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์   ถัดจากนั้นก็จะถึงป่ามะขามหวานและป่ามะขวิดซึ่งมีรสหวานอันสนิทมีโอชารสอันเลิศเป็นระยะสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์เหมือนกัน

   ลำดับต่อไปก็จะเป็นป่า "มิสสะกะวัน"  ซึ่งเป็นป่าไม้ใหญ่ยืนต้นมีผลและดอกใบที่สวยงามเป็นระยะทางหนึ่งโยชน์   ถัดจากนั้นก็จะเป็นป่าไม้ไผ่มีลำไม้ไผ่แน่นขนัดยัดเยียดกันไปจนไม่มีข่องว่างในระหว่างเลยสิ้นระยะทางหนึ่งโยชน์

    ต่อจากนั้นก็จะถึงภูเขา ๗ ชั้น  ซึ่งแวดล้อมออกไปเป็นชั้นๆ ได้ ๗ ชั้น  ภูเขาทั้งหลายที่ล้อมรอบเข้ามาหาป่าไม้ไผ่เป็นชั้นๆ มี ๗ ชั้นดังนี้

     -ชั้นที่ ๑  คือ ภูเขาจูฬะกาฬะบรรพต       สูงได้   ๑   โยชน์

     -ชั้นที่ ๒  คือ ภูเขามหากาฬะบรรพต       สูงได้   ๒   โยชน์

     -ชั้นที่ ๓  คือ ภูเขาอุทะกะปัสสะบรรพต    สูงได้   ๓   โยชน์

     -ชั้นที่  ๔  คือ ภูเขาจันทะปัสสะบรรพต    สูงได้   ๔   โยชน์

     -ชั้นที่  ๕  คือ ภูเขาสุริยะปัสสะบรรพต     สูงได้   ๕   โยชน์

     -ชั้นที่  ๖  คือ ภูเขามณิปัสสะบรรพต       สูงได้   ๖    โยชน์

     -ชั้นที่ ๗  คือ ภูเขาสุวรรณปัสสะบรรพต  สูงได้   ๗   โยชน์

    ภูเขาล้อมรอบทั้ง ๗ ชั้นนั้นล้อมรอบลดหลั่นกันไป  มีสัณฐานเป็นวงกลมประดุจดังปากบาตร   ภูเขาสุวรรณปัสสะบรรพตนั้นมีสีสันประดุจดังทองมีรัศมีที่พุ่งออกมาประดุจดังทองคำพุ่งไปจับที่น้ำในสระฉัททันต์  ทำให้สระฉัททันต์มีสีสันอันรุ่งเรืองประดุจว่าพระอาทิตย์ที่มีรัศมีอ่อนๆ ขึ้นมาจากฉัททันต์สระฉะนั้น

    ในภายนอกแห่งภูเขาจูฬะกาฬะบรรพตนั้นมีธารน้ำใสล้อมรอบ  พ้นจากธารน้ำใสออกไป

ก็จะเป็นเปือกตมที่ล้อมรอบธารน้ำใสเอาไว้   พ้นจากเปือกตมออกไปก็จะเป็นป่าไม้ไผ่ที่แวดล้อมเปือกตมเอาไว้อย่างแน่นขนัดจนหาระหว่างมิได้   ถัดนั้นไปก็จะเป็นป่าไม้ยืนต้น

ที่แวดล้อมป่าไม้ไผ่เอาไว้   ถัดนั้นออกไปก็จะเป็นป่าไม้ระกำลำใหญ่แม้กระทั่งงูก็เลือยเข้าไปไม่ได้   ถัดจากนั้นก็จะเป็นป่าไม้ที่มีหนามปกคลุมป่าแถวนั้นไว้อย่างแน่นหนา   ถัดจากนั้นออกไปก็จะเป็นป่าไม้อ้อ   ถัดนั้นออกไปก็จะถึงไม้อ้อที่ปกคลุมป่าแถวนั้นไปหมด  แม้กระทั่งอสรพิษก็เลือยเข้าไปในระหว่างมิได้   ถัดจากนั้นก็จะเป็นป่าหวาย   ถัดจากนั้นออกไปก็จะถึงป่าชัฏที่เป็นพุ่มปกคลุมอย่างแน่นหนา   ถัดจากนั้นออกไปก็จะถึงป่าต้นแมงลัก

    ถัดจากป่าต้นแมงลักออกไปก็จะเป็นป่าหญ้าแวดล้อมป่าต้นแมงลักเอาไว้   ถัดจากนั้นก็จะถึงป่าต้นเลาลำใหญ่ชูช่อดอกไสวประดุจดังธงชัย   ถัดจากนั้นก็จะเป็นป่าต้นแฝกและหญ้าคาแวดล้อมป่าต้นเลาเอาไว้

    จำเดิมตั้งแต่ภายนอกของภูเขาจูฬะกาฬะบรรพตออกมานับเป็นป่าที่แวดล้อมได้  ๑๑  ชั้น

น้ำแวดล้อมเป็นชั้นที่ ๑   เปือกตมแวดล้อมเป็นชั้นที่ ๒  และป่าไม้อีก  ๑๑ ชั้น รวมเป็น   ๑๓  ชั้น   บริเวณขอบสระฉัททันต์ซึ่งเป็นสถานที่ๆ อยู่ภายในของภูเขาทองคำนั้น มีต้นมะม่วง

อยู่ต้นหนึ่งมีชื่อว่า "ตรัมพะพฤกษ์"  อันเป็นต้นมะม่วงที่ท้าวเวสสุวัณมหาราชทรงเสวย  มีกุมภัณฑ์รักษาต้นมะม่วงนี้ถึง  ๑๐๐๐ โกฏิ  ตั้งแต่โคนต้นถึงปลายต้นมะม่วงนี้แวดล้อมด้วยข่ายเหล็กเป็นชั้นๆ ถึง ๗ ชั้น

    ทางด้านมุมข้างทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งแวดล้อมไปด้วยภูเขา  ๗  ลูก  มี

ต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่งตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำ  เมื่อเวลาลมพัดอย่างแรงกล้าจะทำให้น้ำเป็นคลื่นพุ่งเข้ากระทบกับชายฝั่งทำให้น้ำกระฉอกซัด พัดเอาขอบสระและลมก็พัดอุ้มหอบเอาน้ำในสระพุ่งซัดขึ้นไปจนถึงต้นไทรใหญ่ 

    ต้นมหานิโครธคือต้นไทรใหญ่นั้นมีลำต้นวัดรอบได้  ๕  โยชน์  และมีส่วนสูงวัดได้  ๗

โยชน์  มีกิ่งใหญ่  ๔  กิ่ง  ทอดออกไปในทิศทั้ง  ๔  แต่ละกิ่งยาวได้  ๖  โยชน์  กิ่งยอดที่

พุ่งขึ้นไปในทิศเบื้องบนนั้นยาวได้  ๖  โยชน์   ตั้งแต่โคนต้นถึงปลายยอดวัดได้  ๑๓  โยชน์ วัดแทงปากจากทิศตะวันออกจนทะลุถึงทิศตะวันตกวัดได้  ๑๒  โยชน์   วัดกลมรอบเป็นปริมณฑลวัดได้  ๓๖  โยชน์   แต่ย่านที่ยอดซึ่งหยั่งลงที่พื้นนั้นมีประมาณ  ๑๐๐๐  ต้นมหานิโครธใหญ่นี้มีความสวยงามศิริวิลาศเปรียบปานประดุจภูเขาแก้วงดงามและร่มรื่นชื่นชอุ่มยิ่งนัก  ใครได้มาน่านั่งเล่นและนอนเล่นที่ใต้ร่มจะมีความผาสุกยิ่งนัก  ณ  ที่ใต้ร่มของต้น

ไทรใหญ่นั้นเป็นที่พำนักอาศัยของพญาช้างฉัททันต์ พร้อมด้วยบริวาร  ๘๐๐๐  เชือก

    ในฤดูร้อนภายใต้ร่มไทรใหญ่นั้นจะเป็นทั้งด่านลมและด่านน้ำ  ที่ลมพัดเอาน้ำในสระฉัททันต์ขึ้นมาโปรยปรายภายใต้ร่มต้นไทรใหญ่นั้นประดุจดังเมล็ดฝน  พญาช้างฉัททันต์

ก็จะมายืนอยู่ภายใต้แห่งย่านไทรนั้นเพื่อรอรับหยาดน้ำที่โปรยปรายขึ้นมาจากสระน้ำด้วยความผาสุกยิ่งนัก

                            พญาช้างฉัททันต์

      

    ๐พญาช้างฉัททันต์  พร้อมด้วยบริวาร  ๘๐๐๐  เชือก  ได้อาศัยอยู่ในถ้ำทองคำ  ถ้ำทองคำนั้นอยู่ในภูเขาทองคำที่แวดล้อมฉัททันต์สระ ในถ้ำทองคำนั้นมีส่วนกว้างและส่วนยาววัดได้  ๑๒  โยชน์  อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของสระฉัททันต์

    -ลักษณะของพญาช้างฉัททันต์มีลำตัวสูง  ๘๐  ศอก

    -มีลำตัวยาว  ๑๔๐  ศอก

    -มีเท้าทั้งสองข้างแดงงามประดุจดังน้ำครั่งสด  ปากก็มีสีแดง

    -มีลำตัวเป็นสีขาวล้วนผ่องใสงดงามประดุจดังเขาไกรลาส

    -งวงยาว  ๕๘  ศอก  งดงามประดุจดังพวงเงิน

    -งาทั้งสองข้างยาวได้  ๓๐  ศอก  โดยกลมรอบวัดได้  ๑๕  ศอก  ประกอบด้วยสีแห่งรัศมี  ๖  ประการ  มีสีรุ่งเรืองงดงามยิ่งนัก

    -พญาช้างฉัททันต์มีมเหสี  ๒  ตัว   คือ:-

       ๑.นางมหาสุภัทรา

       ๒.นางจูฬะสุภัทรา

     ช้างพังทั้งสองตัวมีสีขาวผ่องสดใสงดงามยิ่งนัก  และช้างพลายคือช้าวตัวผู้ทั้งหลายที่เป็นบริวารของพญาฉัททันต์  ๘๐๐๐  ตัว ล้วนแล้วแต่มีสีขาวผ่องสดใสงดงามด้วยกันทั้งนั้น  ช้างทุกตัวมีกำลังรวดเร็วประดุจดังลมพัด มีความแกล้วกล้าสามารถยิ่งนัก  และสามารถย่ำยีข้าศึกศัตรูให้พ่ายแพ้ไปในเร็วพลัน

    -คุณสมบัติพิเศษของพญาช้างฉัททันต์  มีฤทธิ์สามารถเหาะไปในอากาศได้  เป็นช้างแก้วคู่บารมีของพระเจ้าจักรพรรดิ  คือช้างแก้วที่จะเป็นช้างคู่บารีของพระเจ้าจักรพรรดินั้นก็เหาะไปจากช้างฉัททันต์ทั้งหลายเหล่านี้  คือเวลาพระเจ้าจักรพรรดิมาเกิดช้างแก้วคู่บารมีก็จะเหาะไปรับใช้เป็นพาหนะเองด้วยอำนาจบุญบารีของพระเจ้าจักรพรรดิ  

   -ร่างกายมีสีขาวปลอด ปากและเท้าสีแดง มีร่างกายใหญ่โตมากกว่าช้างธรรมดาอื่น ๆ ที่งามีแสงรัศมี ๖ ประการเปล่งประกายออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน

    -พญาช้างฉัททันต์มีกำลังเท่ากับบุรุษ  ๑๐๐๐  โกฏิคน

    เมื่อเวลาเกิดลมพายุ  พวกช้างทั้งหลายเหล่านี้ก็จะมีอาการกำเริบส่งเสียหายใจเสียงดังพิลึกลั่นสนั่นป่า  ถ้ามันเห็นมนุษย์เข้าไปในสถานที่นั่นมันก็จะไล่บดขยี้ให้แหลกละเอียดไม่เหลือแม้แต่กระดูก

    ช้างสารเป็นช้างที่เป็นบริวารของพญาช้างฉัททันต์มีมากมายมีทั้งตัวผู้และตัวเมียมีสันต่างกันดังนี้

      ๑.ช้างสีขาว

      ๒.ช้างสีดำ

      ๓.ช้างสีเขียว

      ๔.ช้างสีเหลือง

      ๕.ช้างสีแดง

    ช้างทั้ง ๕ จำพวกเหล่านี้มีหน้าที่แสวงหารากบัวเหง้าบัวผลไม้และดอกไม้มาถวายพญาช้างฉัททันต์ทุกวัน  ในเวลาที่จะถวายรากบัวและเหง้าบัวแก่พญาช้างฉัททันต์  นางช้างดำทั้งหลายก็จะเอารากบัวและเหง้าบัวไปล้างให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากเปือกตม  แล้วจึงนำเอาไปส่งให้แก่นางช้างเขียว   นางช้างเขียวนำเอาไปส่งให้แก่นางช้างแดง   นางช้างแดงก็จะนำเอาไปส่งให้แก่นางช้างเหลือง   นางช้างเหลืองก็จะนำเอาไปส่งให้แก่นางช้างขาว  นางช้างขาวก็จะนำเอาไปถวายให้แก่พยาช้างฉัททันต์

    ถ้าพญาฉัททันต์ลงเล่นน้ำ  นางช้างเผือกทั้งหลายก็จะเข้าขัดสีร่างกายทางด้านขวาและด้านซ้าย  บางครั้งนางจูฬะสุภัทราและนางมหาสุภัทราขัดสีให้หลังจากขัดสีพญาฉัททันต์เสร็จตัวเองจึงอาบในภายหลัง   ครั้นพญาฉัททันต์ขึ้นมาจากน้ำแล้วช้างเผือกทั้งหลายก็จะพากันนำดอกไม้ทั้งหลายมาประดับกายของพญาฉัททันต์ตามวิสัยของตนเอง  ต่อจากนั้นก็จะเข้ามาแวดล้อมพญาฉัททันต์ตามลำดับแล้วก็กลับสู่ที่พักอาศัยที่ต้นมหานิโครธ ซึ่งอยู่ ณ  ที่ใกล้สระฉัททันต์นั้น

    ว่าด้วยกำลังของช้าง ๑๐ ตระกูล

    ๐ช้างทั้งหลาย  ๑๐  ตระกูล   มีดังนี้   

       ๑.ช้างกาฬาวะกะหัตถี    เป็ช้างสีดำ มีกำลังเท่าบุรุษที่แข็งแรง  ๑๐  คน       เกิดที่แถบข้างภูเขากาฬะคีรี

       ๒.ช้างคังเคยยะหัตถี     มีกำลังเท่ากับช้างกาฬะคีรี  ๑๐  เชือก  บังเกิดที่แถบแม่น้ำคงคา

       ๓.ช้างปัณฑะระหัตถี     เป็นช้างเผือก  มีกำลังเท่ากับช้างคังเคยยะหัตถี  ๑๐  เชือก  

       ๔.ช้างตัมพะหัตถี    เป็นช้างที่มีสีแดง  มีกำลังเท่ากับช้างปัณฑะระหัตถี  ๑๐  เขือก

       ๕.ช้างปิงคะละหัตถี    เป็นช้างที่มีสีเหลือง  มีกำลังเท่ากับช้างตัมพะหัตถี  ๑๐  เชือก

       ๖.ช้างคันธะหัตถี     เป็นช้างที่มีกลิ่นหอม  เมื่อมันกินอาหารเข้าไปในท้องแล้วอาหารทุกอย่างก็จะมีกลิ่นหอม  มูลหนักและมูลเบาก็หอมไปด้วยเช่นกัน  มันมีกำลังเท่ากับปิงคะละหัตถี  ๑๐  เชือก

       ๗.ช้างมงคลหัตถี     เป็นช้างที่มีการย่างก้าวเดินที่สวยงาม  ช้างนี้ไปอยู่ในที่ใด  ความเป็นสวัสดิมงคลย่อมเกิดมีในที่นั้น  มีกำลังเท่ากับช้างคันธหัตถี  ๑๐  เชือก

       ๘.ช้างเหมะหัตถี     เป็นช้างที่มีสีกายเป็นทอง  มีกำลังเท่ากับช้างมงคลหัตถี  ๑๐  เชือก

       ๙.ช้างอุโบสถหัตถี     เป็นช้างที่มีสีกายเป็นสีขาว  มีกำลังเท่ากับช้างเหมะหัตถี  ๑๐  เชือก

       ๑๐.ช้างฉัททันต์     เป็นช้างที่มีสีกายเป็นสีขาวเผือกสดใสสวยงาม  มีกำลังเท่าช้างอุโบสถหัตถี  ๑๐  เชือก  ช้างฉัททันต์ตามปกติแล้วจะมีกำลังเท่ากับช้างตามปกติ  ๑๐๐  โกฏิ  เชือก  ถ้าคิดเป็นกำลังของบุรุษก็จะเท่ากับบุรุษ  ๑๐๐๐  โกฏิ  คน  จึงจะเท่ากับช้างฉัททันต์  ๑  ตัว

    ช้างอุโบสถหัตถี  มีกายเป็นทองคำเป็นใหญ่กว่าช้างสีเหลืองและช้างสีทองคำทั้งหมด  พญาช้างอุโบสถหัตถีนี้ อาศัยอยู่ในป่าดอกกรรณิการ์ขาวในบริเวณภูเขาทองคำที่แวดล้อมฉัททันต์สระนั้น

    พญาช้างฉัททันต์มีนางช้างที่เป็นภรรยาอยู่ ๒ ตัว   คือ:-

      ๑.นางช้างจูฬะสุภัทรา

      ๒.นางช้างมหาสุภัทรา

    นางช้างทั้งสองตัวนี้เป็นลูกสาวของพญาช้างอุโบสถหัตถีที่อาศัยอยู่ในป่าดอกกรรณิการ์ขาวนั่นเอง

                       ว่าด้วยเรื่องของสระมันทากินี

            

   ๐สระมันทากินี  มีความกว้างและยาวประมาณ ๒๕  โยชน์  เป็นสระที่มีความสวยงามน่าดูน่าชมมีน้ำใสไหลเย็นไม่มีจอกและแหนปราศจากสาหร่าย  มีน้ำใสประดุจดังแก้วผลึก ใสทะลุลึกลงไปถึงพื้นดินชั่วระยะช้างสารหยั่งถึง เป็นป่าบัวกว้างออกไปได้ครึ่งโยชน์  ป่าบัวขาวที่แวดล้อมมันทากินีสระเป็นระยะทางได้  ๗๘  โยชน์  ต้นบัวขาวมีรากใหญ่เท่ากับงอนไถและมีเหง้าใหญ่เท่ากับกลองเพล  ภายในเหง้าบัวแต่ละปล้องจะมีน้ำขังอยู ๑ ทนาน   เหง้าบัวนั้นจะมีสีขาวเหมือนนมสดบริบูรณ์รสหวานอันอร่อยยิ่งนัก  ในเวลาที่ดอกบ้วทั้งหลายบานมันจะส่งกลิ่นหอมของเกษรไปเรี่ยรายไว้บนใบบัว  ละอองแห่งเกษรทั้งหลายก็จะระคนเข้าเป็นอันเดียวกันกับหยาดน้ำที่ลมพัดกระเด็นขึ้นมาขังอยู่ในใบบัวนั้น  

    ครั้นถูกแสงแห่งพระอาทิตย์น้ำแห่งเกสรทั้งหลายก็จะงวดลงมีสีแดงเปรียบปานประดุจเหล็กแดงอันรุ่งเืองด้วยเปลวอัคคี  เมื่อได้กินจะหวานชิดหวานช้อยอร่อยลิ้นโอชารสยิ่งนัก  มีชื่อปรากฏว่า "โบกขรมธุ" คือน้ำผึังบนใบบัว  ใครได้กินก็จะมีอายุยืนยาวหลายร้อยปี เป็นยาอายุยืนขนานวิเศษเลยทีเดียว

    ถัดจากป่าบัวขาวก็จะเป็นป่าบัวแดงดาดาษออกไปได้ครึ่งโยชน์   ถัดจากป่าบัวแดงไปก็จะเป็นป่าดอกโกมุทขาวเป็นระยะทางครึ่งโยชน์  ต่อจากโกมุทแดงไปก็จะถึงป่าดอกโกมุทเขียวเป็นระยะทางครึ่งโยชน์  ดอกโกมุททั้งหลายมันจะบานในเวลากลางคืนส่งกลิ่นหอมรวยรื่นยิ่งนัก  ต่อจากป่าดอกโกมุทเขียวก็จะเป็นป่าข้าวสาลีเป็นระยะทางครึ่งโยชน์

    ข้าวสาลีจะมีกลิ่นหอมและมีโอชารสอันสนิทยิ่งนักใดรได้กินก็จะทำให้มีสุขภาพดีมีร่างกายแข็งแรง  ถัดจากป่าข้าวสาลีไปก็จะเป็นป่าวัลลีผลคือป่าของฟักทอง   ป่าของฟักเขียว  ป่าของแตงโมเป็นระยะทางครึ่งโยชน์   ต่อจากนั้นก็จะถึงป่าอ้อย  อ้อยแต่ละลำจะมีลำโตเท่ากับต้นหมากเป็นระยะทางครึ่งโยชน์   พวกช้างทั้งหลายจะหักเอาลำอ้อยมาวางลงบนพื้นเหนือแผ่นศิลาลาดแล้วก็เอาเท้าเหยียบทำให้น้ำอ้อยไหลหลั่งออกมาสู่ตระพังศิลาแล้วก็เอางวงสูบกินรสน้ำอ้อย  ส่วนน้ำอ้อยที่ยังเหลือที่ตระพังศิลานั้นครั้นถูกแสงพระอาทิตย์ก็จะงวดลงกลายเป็นก้อนน้ำอ้อย  มีสีขาวประดุจดังก้อนศิลาน้ำนม

    ครั้นพระพุทธเจ้า   พระอริยบุคคล   พระอริยสาวกของพระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า   และพระขีณาสพทั้งหลายมาถึง ณ สถานที่ตรงนี้  ช้างทั้งหลายก็จะนำเอาก้อนศิลาน้ำนมนั้นมาถวายให้ฉันตามอัธยาศัยของแต่ละองค์  ถัดจากป่าอ้อยไปก็จะถึงป่ากล้วยเป็นกอเบียดเสียดกันทั้งเครือใหญ่และเครือน้อย  กล้วยแต่ละใบมีผลใหญ่เท่ากับงาช้างกินใบเดียวก็ไม่หมดเป็นระยะทางครึ่งโยชน์   ถัดจากนั้นไปก็จะถึงป่าขนุนซึ่งมีผลใหญ่เท่าตุ่มที่มีรสขาดอันอร่อยเป็นระยะทางครึ่งโยชน์   ถัดจากนั้นไปก็จะถึงป่ามะม่วงซึ่งมีรสชาดอันอร่อยยิ่งนักใครได้กินก็จะทำให้มีเสียงไพเราะ นกการเวกทั้งหลายเมื่อมันมากินมะม่วงสุกแล้วมันก็จะร้องบรรลือเสียงอันแสนไพเราะเป็นระยะทางครึ่งโยชน์

    ถัดจากป่ามะม่วงไปเป็นป่าไม้หว้าเป็นระยะทางครึ่งโยชน์  โดยกลมรอบวัดได้  ๗๙  โยชน์  ผลหว้าทั้งมีรสหอมหวานอันสนิทเลิศรสยิ่งนัก   ถัดนั้นไปเป็นป่าไม้มะขวิดเป็นระยะทางครึ่งโยชน์  โดยกลมรอบวัดได้  ๑๐๐  โยชน์  กับ  ๒๐๐  เสัน  มะชวิดทั้งหลายมีรสหวานอันสนิทโอชารสยิ่งนัก  ในสถานที่แห่งสระมันทากินีนี้มีสารพัดต้นไม้และผลไม้ที่บุคคลจะหากินได้หมด

    ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของสระมันทากินีนั้นมีต้นพญาไม้รังต้นหนึ่งชื่อว่า "สุทัสสะนะ"

ส่วนสูงวัดได้  ๑๖  โยชน์     วัดจากพื้นดินถึงค่าคบวัดได้  ๘  โยชน์และวัดจากค่าตบถึงปลายยอดวัดได้  ๘  โยชน์  รวมเป็น  ๑๖  โยชน์    พญาไม้รังต้นนี้มีไม้รังแวดล้อมเป็นบริวารอยู่  ๗  ชั้น   ไม้รังชั้นในสูงได้  ๑๓  วา เหมือนกันหมด  ส่วนชั้นที่  ๒   ๓   ๔   ๕    ๖   ๗  สูงลดหลั่นกันลงมาเรื่อย  ชั้นรอบนอกสุดวัดได้  ๗  วา  พญาไม้รังนี้มีการแวดล้อมอันสวยงาม  ประดุจดังภูเขาพระสุเมรุที่แวดล้อมด้วยภูเขาสัตตบริภัณฑ์ฉะนั้น

                    เรื่องของสระมันทากินีจบเพียงแค่นี้

                      ว่าด้วยเรื่องของสระกุณาละ

          

    ๐กุณาละสระ   เป็นสระกว้างใหญ่มากมีเนื้อที่ทั้งหมด  ๕๐  โยชน์  ประกอบไปด้วยดอกบัวทั้งหลายถึง  ๕  ชนิด  คือ:-

      ๑.ดอกบัวขาว

      ๒.ดอกบัวแดง

      ๓.ดอกบัวเขียว

      ๔.ดอกสัตบัน

      ๕.ดอกโกมุท

    ดอกไม้ทั้งหลายจะส่งกลิ่นหอมอบอวนไปทั่วบริเวณของสระนี้  ดอกโกมุทเป็นดอกไม้พิเศษชนิดหนึ่งมันจะตูมในเวลากลางวัน  แต่ในเวลากลางคืนมันก็จะเบ่งบานสพรั่งสวยสดใสสวยงามยิ่งนัก  พื้นน้ำในกุณาละสระสวยงามสนุกสนานยิ่งนักและตรงบริเวณของขอบสระก็เต็มไปด้วยดอกไม้นานาชนิดน่ารื่นรมย์บันเทิงใจยิ่งนัก  เหมาะแก่การประพาสเล่นของผู้มีบุญฤทธิ์และอิทธิฤทธิ์  เป็นสระที่ประกอบไปด้วยพฤษาหารหลากหลายชนิด

    ณ ที่กุณาละสระแห่งนี้เป็นที่สัญจรไปมาของสัตว์สี่เท้าสัตว์ปีกและช้าง  ๑๐  ตระกูลเพราะมันบริบูรณ์ด้วยพฤกษาชาตินานาชนิด   ในกุณาละสระมีสัตว์หลากหลายชนิด  เช่น โค  กระบือ  ช้าง  ม้า   กวาง   ราชสีห์   ไกรสรราชสีห์   เสือ   สุนัขป่า   ลิง   นากกินปลา  ชมด   ฟาน   เนื้อทราย   กระทิง   กระต่าย   ละมั่ง   หมี

    กุณาละสระเป็นสระที่มีป่าไม้และผลไม้นานาชิดและมีพฤกษาหารอันอุดมยิ่งนักและยังเป็นสระอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์  ๔ เท้า  ๒  เท้า ร่วมสองแสนชนิด  สระนี้มีความสำคัญมากในสมัยพุทธกาล  พระพุทธองค์ได้นำพาภิกษุ  ๕๐๐  รูป ชาวเมืองโกลิยะและชาว   เมืองกบิลพัสดุ์ เหาะมาชมสิงสาราสัตว์และธรรมชาติที่สวยงามเพื่อผ่อนผันความกระสันอยากสึกของภิกษุ  ๕๐๐  รูป เหล่านี้ โดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้

    ในสมัยหนึ่งทาสและกรรมกรของเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองโกลิยะ  เกิดทะเลาะวิวาทกันเพราะทำนบกั้นน้ำระบายน้ำเข้านา  คนที่อยู่เหนือทำนบไม่ยอมปล่อยน้ำให้คนที่อยู่ใต้ทำนบเพราะระบายเข้านาไม่เพียงพอเนื่องจากฝนตกน้อย  เมื่อคนอยู่ใต้ทำนบไม่ได้น้ำเข้านาก็มาต่อว่าคนที่อยู่เหนือว่าเป็นพวกคนขี้โกงและเห็นแก่ตัวไม่ยอมปล่อยน้ำให้คนอยู่ใต้ทำนบเลยถ้ามีพฤติกรรมเช่นนี้ก็อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้เสียแล้ว  ต่างฝายก็ด่าทอทะเลาะวิวาทตบตีกันไปมาจนลามปลามไปถึงพระราชาผู้เป็นเจ้าครองนคร  พระราชาของเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองโกลิยะก็ยกกองทัพมาประชิดกันหวังจะทำสงตรามเพื่อจะแย่งน้ำกัน

    ในวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลกทรงทราบว่า "วันนี้พระญาติทั้งสองฝ่ายจะทำสงครามเพื่อแย่งขิงน้ำจากแม่น้ำโรหิณี จะเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนเกิดการเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก  จำเราจะต้องไปห้ามเอาไว้ไม่ให้รบราฆ่าฟันจึงจะควร  เมื่อทรงรู้เหตุการณ์เช่นนี้แล้ว  พระพุทธองค์จึงได้เสด็จไปทรงห้ามพระญาติทั้งหลาย  ไม่ให้รบราฆ่าฟัน  พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏในท่ามกลางแห่งหมู่พระญาติที่กำลังตั้งกองทัพประชิดกัน  โดยการยืนอยู่บนอากาศในท่ามกลางแห่งกองทัพของทั้งสองฝ่าย

    พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายเมื่อได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงยืนอยู่บนอากาศเช่นนั้นก็เกิดความเกรงใจไม่กล้าที่จะทำการรบพุ่งกัน  เมื่อเป็นเช่นนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระประยูรญาติว่า "การทำสงครามไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง  การทำสงตรามจะทำให้ประชาชนและพลทหารบวดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก  ถึงฝ่ายไหนชนะก็ไม่ใช้ความชนะที่ยั่งยืน  วันใดที่ฝ่ายชนะประมาทก็อาจจะกลับกลายเป็นฝ่ายแพ้ได้  วันใดที่ฝ่ายแพ้มีทหารมากและมีการฝึกปรือทหารให้มีควาเชี่ยวชาญในการรบดีกว่า และเข้มแข็งกล้าหาญมากกว่าก็จะกลับกลายเป็นฝ่ายชนะได้  นี้ก็แสดงให้เห็นว่าการรบกันไมใฃ่ความชนะแท้จริง  ฝ่ายชนะอาจกลับแพ้และฝ่ายแพ้อาจกลับชนะ  ผู้ชนะย่อมก่อเวร  ผู้แพ้ย่อมผูกความอาฆาตจองเวรเอาไว้ในใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดการบราฆ่าฟันกันไม่มีที่สิ้นสุด" 

    พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของของพระพุทธเจ้าแล้วก็ลดทิฏฐิมานะลงยุติในการที่จะทำสงครามกันและพระญาติทั้งสองฝ่ายยังได้ถวายพระขิตติยกุมารข้างละ ๒๕๐ องค์  รวมเป็นพระขัตติยกุมาร ๕๐๐ องค์ให้บรรพชาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาโดยที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง  บวชได้ไม่นานภิกษุ ๕๐๐ องค์ที่บวชใหม่ก็เกิดการกระสันอยากสึก  พระพุทธองค์จึงทรงพระดำริว่า "การที่ภิกษุ ๕๐๐ รูป  บวชแล้วได้อาศัยอยู่ในวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้าเช่นด้วยเราแล้วกระสันอยากสึกจึงเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง  พระพุทธองค์ทรงมีจุดประสงค์ที่จะสรรเสริญซึ่งกุณาละสระ พระพุทธองค์จึงได้นำพาเอาพระภิกษุทั้ง ๕๐๐  รูป  เหาะไปสู่กุณาละสระ ในที่ป่าหิมพานต์โดยทางอากาศ  เพื่อประสงค์จะบรรเทาซึ่งความกระสันอยากสึกของภิกษุหนุ่มทั้งหลายเหล่านั้น  เมื่อทรงพาไปถึงแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงปล่อยภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นลงที่ขอบสระแล้วทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นสอบถามได้  ถึงสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในน้ำและบนบกที่กุณาละสระนั้น 

    พระพุทธองค์ได้ทรงอธิษฐานจิตขอให้สัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในป่าหิมพานต์ทุกหนทุกแห่งทุกตำบลแห่งที่อยู่ในระยะทางกว้างได้  ๓๐๐๐  โยชน์ ให้มารวมตัวกัน ณ ที่กุณาละสระ  สัตว์ทั้งหลายทั้งที่เป็นสัตว์สองเท้าสี่เท้า  สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่และปานกลางได้มารวมตัวกันที่กณาละนั้นจนหมดสิ้น  แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปสอบถามถึงขื่อของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นว่ามีชื่ออะไรบ้าง

         

  

 

         

  

    

                    

      

 

 

   

  

 

 

  

     

  

 

 

 

 

 

 

 

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 132,919