๔๐.พระพุทธชัยมงคลคาถา

                      พระพุทธชัยมงคลคาถา

     

      บทที่ ๑ ทรงเอาชนะพญามาร

    ๐พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง

    ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง

    ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท,

    ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

               แปล

    ๐บทที่ ๑ : สำหรับเอาชนะศัตรูหมู่มาก เช่น ในการสู้รบ...
    บทนี้เป็นเหตุการณ์ช่วงผจญมาร ซึ่งมีเรื่องว่าในวันตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระยามารยกพลเสนามารใหญ่หลวงมา  พระยามารผู้นิรมิตแขนได้ตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างชื่อ ครีเมข พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องมา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถเอาชนะพญามารได้ด้วยการระลึกถึงบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ ที่ทรงเคยลำเพ็ญมาในอดีตชาติ

   พญามารอยู่ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี  ที่นี่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเทพยดาในสวรรค์ชั้นนี้ หากปรารถนาสิ่งใดก็ถึงขั้นไม่ต้องเนรมิตเอง เพราะย่อมมีเทวดาชั้นล่างๆ มารับใช้คอยเนรมิตให้ทุกสิ่งอันยิ่งไปกว่านั้น สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนี้ แบ่งการปกครองออกเป็นสองโซน คือมีฟากฝั่งเทพและฝั่งมาร แยกขาด ไม่ข้องเกี่ยวกัน (คงคล้ายๆ เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้)  ฝั่งเทพ มี “ปรนิมมิตวสวัตดีเทวราช” เป็นหัวหน้า
   ส่วนเขตมารควบคุมโดย “พระยามาราธิราช” ทั้งสององค์นี้เป็นใหญ่เสมอกัน  ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะพระยามาราธิราชจากสวรรค์ชั้นนี้เองที่รับหน้าที่ลงไปทดสอบบารมีของพระโพธิสัตว์ หรือเป็น “พญามาร” ที่มาคอยตรวจเช็คบารมีของพระพุทธเจ้า
   พญามารเคยมาขวางหน้าห้ามไว้เมื่อตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) ซึ่งก็ห้ามไม่สำเร็จจากนั้นพญามารก็ส่งธิดาสามนาง คือนางราคา ตัณหา และอรดี ไปยั่วยวนพระโพธิสัตว์ที่กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งก็ล้มเหลวอีก ทั้งสามนางกลายร่างเป็นคนแก่คนชรา กลับขึ้นไปฟ้องพระบิดาเมื่อมาถึงขั้นนั้นแล้ว พญามารจึงตัดสินใจเป็นผู้นำทัพ ขึ้นประทับเหนือช้างพาหนะที่ชื่อ “คีรีเมขล์” ยกไพร่พลมารมาขับไล่พระโพธิสัตว์ให้ลุกไปจากโพธิบัลลังก์เมื่อคืนก่อนตรัสรู้ แล้วก็ต้องแตกพ่ายไปเมื่อขณะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในคืนวันเพ็ญ เดือน ๖ หรือที่ภายหลังนับกันว่าตรงกับวันวิสาขบูชานั่นเอง
   ภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้ ที่เรียกกันว่า “มารผจญ” มีเขียนไว้ตามพระอุโบสถหลายแห่ง โดยมากมักอยู่ด้านตรงข้ามพระพุทธรูปประธาน โดยนิยมเขียนให้พญามารมีรูปร่าง “เป็นยักษ์เป็นมาร” คือมีรูปกายเสื้อผ้าอาภรณ์เป็นพระยายักษ์ แบบภาพทศกัณฐ์ มีหลายหน้าหลายมือด้วยเสียเลย
   ส่วนพระพุทธรูปปางที่แสดงอาการเมื่อทรงตรัสรู้ จึงเรียกกันในภาษาไทยว่า “ปางมารวิชัย” คือมีชัยชนะเหนือมารนับจากคืนวันตรัสรู้ไปอีก ๔๕ พรรษา ในวันเพ็ญ เดือน ๓ พญามารก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระชนมายุ ๘๐ ปี อีกครั้ง พร้อมกับทูลเตือนให้เสด็จปรินิพพานพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา แล้วทรง “ปลงอายุสังขาร” คือทรงกำหนดล่วงหน้าว่าสามเดือนนับแต่นี้ พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ วันเพ็ญ เดือน ๖ ที่เมืองกุสินารา
   ดูๆ ไปแล้ว “มาร” ในพุทธศาสนา มิได้เป็นปีศาจร้ายที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับความดี ทว่ากลับเป็นเทวดาชั้นสูง เพียงแต่ท่านรับเป็นธุระไปตามหน้าที่ ครั้นเสร็จสิ้นภารกิจแต่ละอย่างแล้ว พญามาร หรือ “พระยามาราธิราช” ก็กลับคืนไปประทับยังวิมานของท่านบนสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีตามเดิมต่อไปยิ่งกว่านั้น ในคัมภีร์ยังเล่าด้วยว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เคยประทานพยากรณ์ด้วยว่า ในภายภาคหน้าจะมีพระสาวกรูปหนึ่งคือพระอุปคุต มา “ทรมาน” พญามารผู้นี้ให้ละเสียจากพยศ แล้วจะได้ตั้งความปรารถนาอธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งในอนาคตบ้าง  นั่นคือแม้แต่พญามารก็ยังมีศักยภาพเต็มเปี่ยม พร้อมที่จะก้าวผ่านเข้าสู่พระโพธิญาณ

              อาฬวกะยักษ์

       

      บทที่ ๒ พระพุทธเจ้าทรงปราบอาฬวกะยักษ์

    ๒. มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง,

       โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง

      ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

       ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

    บทที่ ๒ :สำหรับเอาชนะใจคนที่กระด้างกระเดื่องเป็นปฏิปักษ์...
เรื่องเล่าว่า มียักษ์ตนหนึ่ง ชื่ออาฬะวกะยักษ์ เป็นผู้มีจิตกระด้างและมีกำลังยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง อาฬะวกะยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความยับยั้ง พยายามเข้ามาประทุษร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดรุ่ง แต่พระองค์ก็สามารถปราบทิฏฐิของยักษ์ตนนี้ลงได้

       พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงทรมานอาฬวกยักษ์
    พระราชาแห่งเมืองอาฬวี  นามว่า "อาฬวกะ" ทรงทิ้งนักฟ้อนและเครื่องอุปโภคต่าง ๆ เสด็จไปล่าเนื้อทุก ๆ ๗ วัน เพื่อป้องกันโจร เพื่อกีดกันปฏิราชา และเพื่อจะทำความพยายาม ในวันหนึ่ง ได้ทรงกระทำกติกากับพลกายว่า เนื้อหนีไปข้างผู้ใด เนื้อนั้นจะต้องเป็นภาระของผู้นั้นเท่านั้น ครั้งนั้น เนื้อได้หนีไปข้างพระราชาพระองค์นั้นแล พระราชาทรงสมบูรณ์ด้วยความ รวดเร็ว ทรงจับธนูติดตามเนื้อนั้นแต่พระองค์เดียว สิ้นทาง ๓ โยชน์ และ เนื้อทรายทั้งหลายมีกำลังรวดเร็ว ๓ โยชน์.     พระองค์ฆ่าเนื้อได้ตัวหนึ่งแล้วตัดเป็น ๒ ท่อน ผูกคล้องไว้ที่ปลายธนูใช้คันธนูแทนคานหาบเนื้อนั้นกลับสู่พระนคร ขณะที่เสด็จกลับสู่พระนครได้เข้าไปพักเหนื่อยที่โคนต้นไทรใหญ่ริมทาง และที่ต้นไทรนั้นมียักสิงสถิตอยู่
ถ้ามีคนเข้ามาในร่มเงาของต้นไทรนั้นก็จะต้องเป็นอาหารของยักษ์ทุกคน เมื่อยักษ์เห็นพระราาประทับนั่งที่โคนต้นไทรของตน จึงออกมาจับที่พระหัตถ์แล้วกล่าว่า “ ท่านต้องเป็นอาหารของเรา”
  พระราชาสะดุ้งพระทัยหวาดกลัวภัยอย่างที่สุด ไม่เห็นอุบายอย่างอื่นที่จะให้รอดพระชนม์ได้ จึงตรัสกับยักษ์ว่า “ ถ้าท่านปล่อยเราไป เราขอให้ปฏิญญาแก่ท่านว่าจะส่งมนุหนึ่งคนพร้อมด้วยคาถาดอาหารมาให้ท่านกินทุกวัน”
   ยักษ์ได้รับปฏิญาแล้วก็ปล่อยพระราชาไป ตั้งแต่วันนั้นพระราชาได้ส่งนักโทษในเรือนจำไปเป็นอาหารของยักษ์ทุกวันจนนักโทษหมดเรือนจำ เมื่อไม่มีนักโทษส่งไปแล้วจึงรับสั่งให้จับคนแก่ไปให้ยักษ์วันละคนกระทั้งคนแก่ก็หมดไปทั้งเมือง จากนั้นรับสั่งให้จับเด็ก ๆ ส่งไปให้ยักษ์ ด้วยวิธีนี้ครอบครัวพ่อแม่ที่มีลูกหลานพากันอพยพหนีไปอยู่เมืองอื่นกันหมด
   แต่นั้นในวันหนึ่ง พวกอำมาตย์ค้นหาทั่วพระนคร ก็ไม่ได้ทารกแม้แต่คนเดียว จึงทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ ในพระนครไม่มีทารก เว้นแต่อาฬวกุมาร พระราชโอรสของพระองค์ในภายในบุรี พระราชาตรัสว่า บุตรของเราย่อมเป็นที่รักฉันใด ผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตน ย่อมไม่มีแก่สรรพโลก ฉันนั้น จงไปเถิด จงให้อาฬวกุมารแม้นั้นแล้ว รักษา
ชีวิตของเราไว้ ก็โดย สมัยนั้น พระราชมารดาของพระอาฬวกุมารทรงให้พระโอรสทรงสนานแล้ว ประดับตกแต่ง สวมเทริดที่ทำด้วยผ้าเปลือกไม้ ให้บรรทมบนพระเพลา ประทับนั่งอยู่แล้ว ราชบุรุษทั้งหลายไปในที่นั้น ด้วยคำสั่งของพระราชา ได้ มาเอาพระราชกุมารนั้น จากพระมารดานั้น ผู้กำลังทรงรำพันอยู่ พร้อมด้วย หญิงพี่เลี้ยง ๑๖,๐๐๐ คน หลีกไป
ด้วยกล่าวว่า พระราชกุมารจะเป็นอาหารของยักษ์ในวันพรุ่งนี้.
    พระพุทธเจ้าเสด็จไป ทรงทรมานอาฬวกยักษ์
   ในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลุกขึ้นในสมัยใกล้รุ่ง ทรงเข้ามหากรุณาสมาบัติ ในพระคันธกุฎีที่พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุอีก ทรงเห็นอุปนิสัยของการบรรลุพระอนาคามิผล ของพระอาฬวกกุมาร การบรรลุโสดาบัน ของยักษ์ และในเวลาจบเทศนา สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้ดวงตาเห็นธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้วทรงทำปุเรภัตกิจ เสร็จแล้ว แต่ทรงทำปัจฉาภัตกิจยังไม่เสร็จเทียว เมื่อวันอุโบสถแห่งกาฬปักษ์เป็นไปอยู่ พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ทรงสเด็จพระองค์เดียว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปสิ้นทาง ๓ โยชน์จากกรุงสาวัตถี โดยเสด็จไปด้วยพระบาทนั่นแล เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของยักษ์นั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์.
   -ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โคนต้นไทรซึ่งเป็นที่อยู่ ของอาฬวกยักษ์ หรือในที่อยู่เท่านั้น.
   -ตอบว่า ในที่อยู่เท่านั้น ด้วยว่า ยักษ์ทั้งหลายย่อมเห็นที่อยู่ของตนโดยประการใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประทับอยู่ โดยประการนั้น พระองค์ทรงไปในที่นั้น ประทับยืนอยู่ที่ประตูที่อยู่ ในกาลนั้น

   อาฬวกยักษ์ไปสู่สมาคม แห่งยักษ์ในหิมวันตประเทศ แต่นั้น ยักษ์ชื่อ คัทรภะ ผู้รักษาประตูของอาฬวกยักษ์ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า ไหว้แล้ว ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในวิกาลหรือ ?
   ภ.อย่างนั้น คัทรภะ เรามาแล้ว ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขอพักอยู่ใน(ภ. หมายถึงพระพุทธเจ้า) ที่อยู่ของอาฬวกยักษ์คืนหนึ่ง.
   ค.ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่หนักใจ แต่ว่า ยักษ์นั้นร้ายกาจ หยาบคายไม่กระทำกิจมีการอภิวาทน์เป็นต้น
แม้แก่มารดาและบิดา ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอย่าชอบพระทัยอยู่ในที่นี้เลย.
   ภ.ดูก่อนคัทรภะ เรารู้ว่ายักษ์นั้นร้ายกาจ แต่อันตรายไร ๆ จักไม่มี แก่เรา ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขอพักอยู่คืนหนึ่ง.
   คัทรภยักษ์ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ครั้งที่สองว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬวกยักษ์เป็นเช่นกับกระเบื้องเผาไฟ ย่อมไม่รู้ว่า มารดาบิดา หรือ สมณพราหมณ์ หรือ ธรรม ย่อมทำการควักดวงใจของพวกคนที่มาในที่นี้ออกทิ้งบ้าง ฉีกหัวใจบ้าง จับเท้าโยนไปที่ฝั่งสมุทรอื่น หรือจักรวาล อื่นบ้าง.
   แม้ในครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เรารู้ คัทรภะ ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขอพักอยู่คืนหนึ่ง. แม้ในครั้งที่สาม คัทรภยักษ์ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬวกยักษ์เป็นเช่นกับกระเบื้องเผาไฟ ย่อมไม่รู้ว่า มารดาบิดา หรือ สมณ พราหมณ์ หรือ ธรรม ย่อมทำการควักดวงใจของพวกคน ที่มาในที่นี้ออกทิ้งบ้าง ฉีกหัวใจ
บ้าง จับเท้าโยนไปที่ฝั่งสมุทรอื่น หรือจักรวาล อื่นบ้าง. แม้ในครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า เรารู้ คัทรภะ ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขอพักอยู่คืนหนึ่ง.
   ค.ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่หนักใจ แต่ยักษ์นั้นพึงฆ่า ข้าพระองค์ผู้ไม่บอกแก่ตนแล้วอนุญาต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จะบอกแก่ยักษ์นั้น.
   ภ. ดูก่อนคัทรภะ จงบอกตามสบายเถิด. คัทรภะทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์นั้นแล จงรู้ ดังนี้ อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว หลีกไปมุ่งหน้าต่อหิมวันตประเทศ. แม้ประตูแห่งที่อยู่ก็เปิดเองแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าภายในที่อยู่ ประทับนั่ง ณ รัตนบัลลังก์อันเป็นทิพย์ ซึ่งอาฬวกยักษ์นั่งเสวยสิริ ในวันทั้งหลายมีวันมงคลเป็นต้นที่กำหนดแล้ว ทรงเปล่งแสงสว่างแห่งทอง หญิงทั้งหลายของยักษ์เห็นพระผู้มี พระภาคเจ้านั้นแล้ว มาไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งแวดล้อม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปกิรณกธรรมกถาแก่หญิงเหล่านั้นว่า ในครั้งก่อน
พวกท่านได้ให้ทาน สมาทานศีล บูชาบุคคลอันควรบูชา จึงได้ถึงสมบัตินี้ แม้ในบัดนี้ ก็จงทำอย่างนั้นแล อย่าให้ความริษยาและความตระหนี่ครอบงำกะกันและกันอยู่เลย หญิงเหล่านั้นฟังพระสุรเสียงอันไพเราะของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ให้สาธุการ ถึงพันครั้ง นั่งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล.
   ฝ่ายคัทรภะไปสู่หิมวันตประเทศบอกแก่อาฬวกยักษ์ว่า ข้าแต่ท่าน นิรทุกข์ เชิญท่านทราบเถิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ วิมานของท่าน อาฬวกยักษ์นั้นได้ทำสัญญาแก่คัทรภะว่า จงนิ่ง เราจักไปทำสิ่งที่ควรทำ ได้ยิน ว่า อาฬวกยักษ์นั้นละอายแล้วด้วยมานะของบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงห้ามว่า ใคร ๆ ในท่ามกลางบริษัทอย่าพึงได้ยิน.
   ในกาลนั้น สาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์ ตกลงกันว่า พวกเราไหว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระเชตวันแล้ว จักไปสู่สมาคมแห่งยักษ์ พร้อมกับบริวารไปทางอากาศ ด้วยยานต่าง ๆ ก็ยักษ์ทั้งหลายไม่มีทางในอากาศทั้งปวง มีแต่ ทางในที่เป็นทางจรดวิมานทองทั้งหลายที่ตั้งบนอากาศ
  ส่วนวิมานของอาฬวกยักษ์ ตั้งอยู่บนดินแวดล้อมไปด้วยกำแพงที่รักษาดีแล้ว มีประตู ป้อม และ ซุ้มประตูที่จัดไว้เป็นอย่างดี ในเบื้องบนปกปิดด้วยข่ายสำริด เป็นเช่นกับหีบสูง ๓ โยชน์ ทางย่อมมีบนวิมานนั้น ยักษ์เหล่านั้นไม่สามารถเพื่อจะไปมาสู่ ประเทศนั้น จริงอยู่ ใคร ๆ ไม่สามารถเพื่อไปโดยส่วนเบื้องบนแห่งโอกาสที่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับ
จนถึงภวัครพรหม ยักษ์เหล่านั้นนึกว่า นี้อะไรกัน เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ลงมาดุจก้อนดินที่โยนไปในอากาศฉะนั้น ไหว้ แล้ว ฟังธรรม ทำประทักษิณ ทูลว่า
   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้า พระองค์จะไปสู่สมาคมของยักษ์ สรรเสริญวัตถุสามแล้วไปสู่สมาคมของยักษ์. อาฬวกยักษ์เห็นสาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์เหล่านั้นแล้ว กล่าวว่า ท่านจงนั่ง ในที่นี้ ถอยให้โอกาส ยักษ์ทั้งสองนั้นประกาศแก่อาฬวกยักษ์ว่า ดูก่อน อาฬวกะ การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่อยู่ของท่านเป็นลาภของท่าน ไปเถิดอาวุโส จงเข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้.
   พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่อยู่นั่นเทียวอย่างนี้แล หาได้ประทับ อยู่ที่โคนต้นไทร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอาฬวกะไม่ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ใกล้เมือง อาฬวี.
   ลำดับนั้นแล อาฬวกยักษ์ ฯลฯ ได้กล่าวคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า จงออกไปเถิด สมณะ. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร อาฬวกยักษ์นี้ จึงทูล อย่างนั่นเล่า ? ข้าพเจ้าจะตอบ เพราะความที่อาฬวกยักษ์ ประสงค์จะด่า ใน ข้อนี้ พึงทราบความสัมพันธ์จำเดิมแต่ต้นอย่างนี้ ก็อาฬวกยักษ์นี้เพราะสัทธา- กถาทำได้ยากแก่คนผู้ไม่มีศรัทธา ดุจกถามีศีลเป็นต้น ทำได้
ยากแก่คนทั้งหลาย มีคนทุศีลเป็นต้น เพราะฉะนั้น ได้ฟังการสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าจาก สำนักของยักษ์เหล่านั้นแล้ว เป็นผู้มีดวงหทัยเดือดพล่านด้วยความโกรธในภาย ในดุจก้อนเกลือที่ใส่ลงในไฟ ฉะนั้น จึงพูดว่า ผู้ที่เข้าไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าที่ ชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น คือ ใคร ?
   ยักษ์เหล่านั้นเมื่อกล่าวโดยนัยมีอาทิว่า อาวุโส ท่านไม่รู้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นศาสดาของพวกเรา ซึ่งดำรงอยู่ในดุสิตภพแล้ว ทรงตรวจดู มหาวิโลกน์ ๕ อย่าง ดอกหรือ จนถึงทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไป กล่าวถึงบุพนิมิต ๓๒
อย่าง ในกาลทั้งหลายมีปฏิสนธิเป็นต้นแล้ว เตือนว่า อาวุโสท่านไม่เห็นอัศจรรย์เหล่านี้ อาฬวกยักษ์นั้นแม้เห็นแล้ว ก็กล่าวว่า ไม่เห็นเพราะอำนาจแห่งความโกรธ ยักษ์ทั้งสองจึงกล่าวว่า อาวุโส อาฬวกะ ท่าน พึงเห็นหรือไม่ก็ตาม ประโยชน์อะไรด้วยท่านผู้เห็นอยู่ หรือ ไม่เห็น ท่านจักทำอะไรแก่พระศาสดาของพวกเรา ซึ่งท่านกระทบพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้วจะปรากฏเหมือนลูกโคที่เกิดในวันนั้น ปรากฏในที่ใกล้โคอุสภะตัวใหญ่ซึ่งมีเครื่องประดับที่หนอกโค ดุจลูกช้างอยู่ใกล้ช้างตกมัน ดุจสุนัขจิ้งจอกแก่ อยู่ ใกล้พญาเนื้อมีร่างสวยงาม ประดับด้วยขนคอห้อยลงมางดงาม ดุจลูกกาปีกหัก ใกล้พญาครุฑซึ่งมีร่างกายแผ่ไปถึง ๑๕๐ โยชน์ ฉะนั้น ท่านจงไป จงทำสิ่ง ที่ท่านจะพึงกระทำเถิด.
   เมื่อยักษ์ทั้งสองกล่าวอย่างนี้แล้ว อาฬวกยักษ์โกรธลุกขึ้นเหยียบพื้น มโนศิลา ด้วยเท้าเบื้องซ้าย เหยียบยอดภูเขาไกลาส ประมาณ ๖๐ โยชน์ ด้วยเท้าเบื้องขวา ด้วยกล่าวว่า บัดนี้ จงดูศาสดาของพวกท่านมีอานุภาพมาก หรือ เราเป็นผู้มีอานุภาพมากกันแน่ ยอดภูเขาไกลาสนั้นก็ปล่อยสะเก็ดออกมา ดุจก้อนเหล็กซึ่งถูกทุบด้วยแท่งเหล็กกระจายออกมา ฉะนั้น อาฬวกยักษ์นั้น ยืนอยู่ในที่นั้น ประกาศก้องว่า ฉัน คือ อาฬวกะ เสียงแผ่ไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น.
   ได้ยินว่า เสียง ๔ ประเภทได้ยินในชมพูทวีปทั้งสิ้น คือ
   ๑. เสียงที่ปุณณกะ ยักขเสนาบดี ชนะพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ด้วย การพนัน ปรบมือประกาศก้องว่า เราชนะแล้ว.
   ๒. เสียงที่ท้าวสักกะ จอมทวยเทพ เมื่อพระศาสนาของพระผู้มี พระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป กำลังเสื่อม ทรงทำวิสสุกรรมเทพบุตร ให้เป็น สุนัข ให้ประกาศทั่วไปว่า เราจักกัดกินภิกษุชั่ว ภิกษุณีชั่ว อุบาสกอุบาสิกา และคนทั้งหลายที่เป็นอธรรมวาที.
  ๓. เสียงที่พระมหาบุรุษในเมื่อกษัตริย์ ๗ พระองค์ เข้ายึดพระนคร ได้แล้ว เพราะเหตุแห่งนางประภาวดี จึงได้ยกนาง ประภาวดีขึ้นคอช้างไปกับตน ออกจากพระนครแล้ว ประกาศก้องในกุสชาดกว่า ฉันนี้แหละ คือ สีหัสสรกุส มหาราช.
  ๔. เสียงที่อาฬวกยักษ์ยืนบนยอดเขาไกลาสประกาศว่า เรา คืออาฬวกะ.
    ก็ในกาลนั้น เสียงนั้นก็เป็นเช่นกับเสียงที่ยักษ์ยืนที่ประตู ๆ ในชมพูทวีปทั้งสิ้นประกาศก้อง และแม้หิมวันตประเทศ ซึ่งมีส่วนกว้างสามพันโยชน์ก็หวั่นไหวด้วยอานุภาพของยักษ์ อาฬวกยักษ์นั้นก่อลมหมุนให้ตั้งขึ้นด้วยคิดว่า เราจักให้สมณะหนีไปด้วยลมนั้นนั่นเทียว ลมอันต่างด้วยลมทางทิศตะวันออกเป็นต้นเหล่านั้น ตั้งขึ้นแล้ว ก็ทำลายยอดภูเขาทั้งหลาย ซึ่งมีประมาณกึ่งโยชน์๒ โยชน์ ๓ โยชน์ ถอนรากถอนโคนกอไม้และต้นไม้ในป่าเป็นต้น พุ่งตรง ไปยังอาฬวินคร ทำสถานที่ทั้งหลายมีโรงช้างเก่าเป็นต้นให้แหลกลาญ พัดผันหลังคาและอิฐให้ลอยละลิ่วไปในอากาศ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานว่า ขอภัยพิบัติจงอย่ามีแก่ใคร ๆ ลมเหล่านั้นพัดถึงพระทศพลแล้ว ไม่สามารถทำแม้ สักว่าชายจีวรให้หวั่นไหวได้.
    แต่นั้น อาฬวกยักษ์ก็ทำฝนห่าใหญ่ให้ตกลง ด้วยคิดว่า เราจักให้น้ำท่วมให้สมณะตาย ฝนทั้งหลายอันต่างด้วยก้อนเมฆ ตั้งร้อยตั้งพันเป็นต้นก่อตัวขึ้นแล้วก็ตกลงมา ด้วยความเร็วของกระแสน้ำฝน แผ่นดินก็เป็นช่อง ๆต่อแต่นั้น มหาเมฆก็มาเบื้องบนของราวป่า ก็ไม่อาจที่จะทำแม้สักว่า หยาดน้ำค้างให้เปียกที่จีวรของพระทศพลได้. ต่อแต่นั้นอาฬวกยักษ์ก็ทำฝนแผ่นหินให้ตกลงมา ยอดเขาใหญ่ ๆพ่นควันลุกโพลงมาทางอากาศ ถึงพระทศพลแล้ว ก็กลายเป็นดอกไม้ทิพย์และพวงดอกไม้ทิพย์ แต่นั้น ก็ทำฝนเครื่องประหารให้ตกลงมา อาวุธทั้งหลายที่มีคมข้างเดียว ที่มีคม ๒ ข้าง มีดาบหอกและมีดโกนเป็นต้น ก็พุ่งควันลุกโพลงมาทางอากาศ ถึงพระทศพลแล้ว ก็กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ ต่อแต่นั้นก็ทำ
ฝนถ่านเพลิงตกลงมา ถ่านเพลิงมีสีดังดอกทองกวาว ก็มาทางอากาศได้กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ตกเรี่ยรายอยู่ที่ใกล้พระบาทของพระทศพล
  ต่อแต่นั้นก็ทำฝนเถ้ารึงตรลบขึ้นมาทางอากาศ ก็กลายเป็นจุณจันทน์ตกลงที่บาทมูลของพระทศพล ต่อแต่นั้น ก็ทำฝนทรายให้ตกลงมา ทรายละเอียดอย่างยิ่ง พ่นควันลุกโพลงมาทางอากาศ กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ตกลงที่บาทมูลของพระทศพล ต่อแต่นั้น ก็ทำฝนเปือกตมตกลงมา ฝนเปือกตมนั้นพ่นควันลุกโพลงมาทางอากาศ กลายเป็นของหอมอันเป็น
ทิพย์ตกลงที่บาทมูลของพระทศพล
   ต่อแต่นั้น ก็บันดาลให้เกิดความมืดมนอันธการ ด้วยหวังว่า เราจะทำให้สมณะกลัวแล้วหนีไป ความมืดมนนั้น เป็นเช่นกับความมืดมนที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ถึงพระทศพลแล้วก็อันตรธานไป ดุจถูกกำจัดด้วยแสงพระอาทิตย์ ฉะนั้น.
   ยักษ์เมื่อไม่อาจเพื่อจะให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหนีไป ด้วยลมฝนฝนหิน ฝนเครื่องประหาร ฝนถ่านเพลิง ฝนเถ้ารึง ฝนทราย ฝนเปือกตมและความมืดมน ๘ อย่าง อย่างนี้แล้ว ตนเองจึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเสนาประกอบด้วยองค์ ๔ เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ภูตผี ซึ่งมีรูปเป็นอเนกประการ มีมือถือเครื่องประหารนานาชนิด คณะภูตเหล่า
นั้นกระทำสิ่งแปลก ๆเป็นอเนกประการ เป็นดุจมาเบื้องบนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำพูดว่า ท่านทั้งหลายจงจับ จงฆ่าเสีย.
   อีกอย่างหนึ่ง ภูตเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เลย ดุจแมลงวันไม่อาจเข้าใกล้ก้อนเหล็ก ที่กระเด็นออก แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ มารที่โพธิมณฑลกลับไปในขณะที่ตนมาเท่านั้น ฉันใด ภูตพวกนี้ไม่กลับเหมือนอย่างนั้น ได้กระทำความวุ่นวายต่าง ๆ อยู่ประมาณครึ่งคืน อาฬวกยักษ์เมื่อไม่อาจทำพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้หวั่นไหว
ได้ แม้ด้วยเหตุว่าการแสดงสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว อันมีเป็นอเนกประการ ในเมื่อครึ่งคืนล่วงไป แล้วอย่างนี้ จึงคิดว่า ไฉนหนอ เราจะพึงปล่อยทุสสาวุธ ซึ่งใครไม่พึงชนะได้.
   ได้ยินว่า อาวุธที่ประเสริฐที่สุดในโลกมี ๔ อย่าง คือ วชิราวุธของท้าวสักกะ คทาวุธ ของท้าวเวสวัณ นยนาวุธ ของพระยายม ทุสสาวุธของอาฬวกยักษ์.
   ก็ผิว่า ท้าวสักกะทรงพิโรธแล้ว พึงประหารวชิราวุธบนยอดเขาสิเนรุไซร้ วชิราวุธนั้นก็จะพึงชำแรกภูเขาสิเนรุ ซึ่งสูงหนึ่งแสนหกหมื่นแปดพันโยชน์ ลงไปถึงข้างล่าง. คทาที่ท้าวเวสวัณปล่อยในกาลที่ตนยังเป็นปุถุชน ทำลายศีรษะของพวกยักษ์หลายพันแล้ว กลับมาสู่กำมือตั้งอยู่อีก.
    ครั้นเมื่อพระยายมพิโรธแล้ว สักว่ามองดูด้วยนยนาวุธ กุมภัณฑ์หลายพันก็จะลุกเป็นไฟพินาศ ดุจหญ้าและใบไม้บนกระเบื้องร้อน ฉะนั้น.
   อาฬวกยักษ์โกรธ ถ้าพึงปล่อยทุสสาวุธในอากาศไซร้ ฝนก็ไม่พึงตกตลอด ๑๒ ปี ถ้าปล่อยในแผ่นดินไซร้ วัตถุมีต้นไม้และหญ้าทั้งปวงเป็นต้นก็จะเหี่ยวแห้งไม่งอกอีก ภายใน ๑๒ ปี ถ้าพึงปล่อยในสมุทรไซร้ น้ำทั้งหมด ก็พึงเหือดแห้งดุจหยาดน้ำ ในกระเบื้องร้อน ฉะนั้น ถ้าจะพึงปล่อยในภูเขาเช่นกับเขาสิเนรุไซร้ ภูเขาก็จะเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ กระ
จัดกระจายไป.
   อาฬวกยักษ์นั้น ปล่อยทุสสาวุธอันมีอานุภาพอย่างนี้ จับยกชูขึ้นปวงเทวดาในหมื่นโลกธาตุโดยมาก ก็รีบมาประชุมกันด้วยคิดว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรมานอาฬวกะ พวกเราจักฟังธรรมในที่นั้น เทวดาทั้งหลาย แม้ใคร่จะเห็นการรบ ก็ประชุมกัน อากาศแม้ทั้งสิ้นก็เต็มด้วยทวยเทพด้วยประการฉะนี้ อาฬวกยักษ์ท่องเที่ยวเบื้องบน ในที่ใกล้พระผู้มี
พระภาคเจ้าแล้วปล่อยวัตถาวุธ วัตถาวุธนั้นทำเสียงดังน่าสะพรึงกลัวในอากาศ ดุจอสนิจักร พ่นควัน ลูกโพลง มาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็กลายเป็นผ้าเช็ดพระบาทตกอยู่ที่บาทมูล เพื่อจะย่ำยีมานะของยักษ์ อาฬวกยักษ์เห็นเหตุนั้นแล้วก็หมดเดชหมดมานะ ดุจโคอุสภะตัวใหญ่ที่มีเขาขาดแล้ว ดุจงูที่ถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว   ฉะนั้น เป็นผู้มีธง คือ มานะที่ถูกนำออกเสียแล้ว คิดว่า แม้ทุสสาวุธไม่ทำให้สมณะกลัวได้ เหตุอะไรหนอแล ได้เห็นเหตุนี้ว่า สมณะประกอบด้วยเมตตาวิหารธรรม เอาเถอะ เราจะทำให้สมณะนั้นโกรธแล้ว จักพรากเสียจาก เมตตา
        อาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า
    อาฬวกยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าจงออกไปเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดีละท่าน แล้วได้เสด็จออกไป อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า จงเข้ามาเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละท่าน แล้วได้ เสด็จเข้าไป แม้ครั้งที่ ๒... แม้ครั้งที่ ๓ ... แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า จงออกไปเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรท่าน เราจักไม่ออกไปละท่านจงกระทำกิจที่ท่านจะพึงกระทำเถิด ฯ
   อา. ดูกรสมณะ ข้าพเจ้าจะถามปัญหากะท่าน ถ้าว่าท่านจักไม่พยากรณ์แก่ข้าพเจ้าไซร้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้ง จักฉีกหัวใจของท่านหรือจักจับที่เท้าทั้งสอง ของท่านแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ฯ
   พ. เรายังไม่มองเห็นบุคคลผู้ที่จะพึงควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้ง จะพึงฉีกหัวใจของเรา หรือจะพึงจับที่เท้าทั้งสองแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาได้ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ดูกรท่าน ก็และท่านหวังจะถามปัญหาก็จงถามเถิด ฯ
   ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้อะไรเล่าเป็นรส ยังประโยชน์ให้สำเร็จ กว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้กล่าวชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐที่สุด ฯ
          พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
   ศรัทธาเป็นทรัพย์ เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้ ธรรม ที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ สัจจะแลเป็นรสยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของ บุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐที่สุด ฯ"
   บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้อย่างไร บุคคลย่อมข้ามอรรณพได้อย่างไร บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้อย่างไร ย่อมบริสุทธิ์ได้อย่างไร ฯ
   บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ฯ
   บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไร ย่อมหาทรัพย์ได้อย่างไร ย่อมได้ชื่อเสียงอย่างไร ย่อมผูกมิตรทั้งหลายไว้ได้อย่างไร บุคคลละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศกอย่างไร ฯ
   บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพื่อบรรลุนิพพานเป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง ฟังอยู่ด้วยดีย่อมได้ปัญญา
   บุคคลผู้มีธุระ กระทำสมควร มีความหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงด้วยสัจจะ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ผู้ใดมีศรัทธาอยู่ครองเรือนมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ ผู้นั้นแลละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ถ้าว่าเหตุแห่งการได้ชื่อเสียงยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี เหตุแห่งถารได้ปัญญายิ่งไปกว่าทมะก็ดี เหตุแห่งการผูกมิตรยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี เหตุแห่งการหาทรัพย์ได้ยิ่งไปกว่าขันติก็ดี มีอยู่ในโลกนี้ไซร้ เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากแม้เหล่าอื่นดูเถิด ฯ
   บัดนี้ ข้าพระองค์จะพึงถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากทำไมเล่า วันนี้ข้าพระองค์ทราบชัดประโยชน์อันเป็นไปในภพหน้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่เมืองอาฬวี เพื่อประทับอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์หนอ วันนี้ ข้าพระองค์ทราบชัดพระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ ที่บุคคลถวายทานแล้วเป็นทานมีผลมาก ข้าพระองค์จักนอบน้อม พระสัมพุทธเจ้า และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เที่ยวไปจากบ้านสู่บ้านจากเมืองสู่เมือง ฯ ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผล   วันรุ่งขึ้น เมื่ออรุณขึ้น เวลานำถาดอาหารไป พวกราชบุรุษไม่เห็นเด็ก ที่ควรจะจับทั่วพระนคร จึงกราบทูลแด่พระราชา พระราชาตรัสว่า พ่อเอ๋ย เด็กมีอยู่ในที่ไม่ควร จะจับได้มิใช่หรือ. พวกเขากราบทูลว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า วันนี้มีราชโอรสประสูติในราชสกุล พระเจ้าข้า
   จึงตรัสว่า พ่อจงเอาไป เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่จักได้ลูกอีก จงส่งเด็กนั้นไปพร้อมกับถาดอาหาร. เมื่อพระเทวีกันแสงคร่ำครวญอยู่ ราชบุรุษเหล่านั้น ก็พาเด็กไปถึงที่อยู่ของ อาฬวกยักษ์พร้อมด้วยถาดอาหารกล่าวว่า เชิญเถิดเจ้าจงรับส่วนของเจ้าไป. อาฬวกยักษ์ฟังคำของบุรุษเหล่านั้นแล้ว ก็ รู้สึกละอาย เพราะตนเป็นพระอริยสาวกแล้ว ได้แต่นั่งก้มหน้า.
   ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า อาฬวกะ บัดนี้ ท่านไม่มีกิจที่จะต้องละอาย แล้ว จงอุ้มเด็กใส่มือเรา. พวกราชบุรุษก็วางอาฬวกกุมารลงในมืออาฬวก ยักษ์ ๆ ก็อุ้มเด็ก วางไว้ในพระหัตถ์ของพระทศพล. ส่วนพระศาสดาทรงรับแล้ว ก็ทรงวางไว้ในมืออาฬวกยักษ์อีก. อาฬวกยักษ์อุ้มเด็กวางไว้ในมือ ของเหล่าราชบุรุษ. เพราะพระกุมารนั้นจากมือหนึ่งสู่อีกมือหนึ่งดังกล่าวมา นี้ จึงพากันขนานพระนามกุมารนั้นว่า หัตถกอาฬวกะ.
   ครั้งนั้น ราชบุรุษ เหล่านั้นดีใจ พาพระกุมารนั้นไปยังสำนักพระราชา. พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระกุมารนั้นทรงเข้าพระหฤทัยว่า วันนี้อาฬวกยักษ์ไม่รับ ถาดอาหาร จึงตรัสถามว่า เหตุไรพวกเจ้าจึงพากันมาอย่างนี้เล่า พ่อ.
    อาฬวกยักษ์นั้น เมื่อจะเข้าสู่ พระนคร ก็รู้สึกละอาย จะถอยกลับ พระศาสดาทรงแลดูแล้วตรัส ถามว่า ละอายหรืออาฬวกะ. เขาทูลว่า พระเจ้าข้า ชาวพระนครอาศัย ข้าพระองค์ ทั้งแม่ ทั้งลูก ทั้งเมีย จึงพากันตาย พวกเขาเห็นข้าพระองค์แล้ว จักประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง ธนูบ้าง เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงจะถอยกลับ พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสปลอบว่า อาฬวกะ ไม่มีดอก เมื่อท่านไปกับเราก็สิ้นภัย ไปกันเถิด ประทับหยุดยืนอยู่แนวป่าไม่ไกลพระนคร. แม้พระเจ้าอาฬวกะก็ทรงพาชาวพระนครออกไป ต้อนรับเสด็จพระศาสดา. พระศาสดาก็ทรงแสดงธรรมโปรดบริษัทที่มาถึง. จบเทศนา เหล่าสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ก็พากันดื่มน้ำอมฤต.(บรรลุธรรม)
    ชาวเมือง อาฬวีเหล่านั้น พากันไปที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ณ แนวป่านั้นนั่นเอง จัด พลีกรรมกันทุกปี. แม้อาฬวกยักษ์
ก็สงเคราะห์ชาวเมืองด้วยการจัดรักษา อย่างเป็นธรรม. อาฬวกกุมารแม้นั้น เจริญวัยแล้ว ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วก็แทงตลอดมรรคและผล ๓ มีอุบาสกผู้เป็นอริยสาวก ๕๐๐ คน ห้อมล้อมเที่ยวไปทุกเวลา. ต่อมาวันหนึ่ง เขาเข้าไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
   พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเขามีวินัยอันดี จึงตรัสถามว่า อาฬวกะ เธอมีบริษัทมากสงเคราะห์กันอย่างไร. เขากราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเขายินดีด้วยการให้ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการให้ เมื่อ เขายินดีด้วยการพูดจาน่ารัก ข้าพระองค์ก็สง เคราะห์ด้วยการพูดจาน่ารัก เมื่อเขายินดีให้ช่วยทำกิจที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้น ข้าพระองค์ก็จะสงเคราะห์ ด้วยการช่วยทำกิจที่เกิดขึ้น ให้เสร็จสิ้นไป เมื่อเขายินดีด้วยการให้วางตนเสมอกัน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการวางตนเสมอกัน พระเจ้าข้า.
    เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างนี้. ต่อมาภายหลังพระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวกอุบาสกไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ จึงทรงสถาปนาหัตถกะอาฬวกะอุบาสกไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔
       บทที่ ๓ ทรงปราบช้างนาฬาคีรี

     

    ๓. นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง,

   ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง

   เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท,
   ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

    บทที่ ๓ : สำหรับเอาชนะสัตว์ร้ายหรือคู่ต่อสู้...
   มีเรื่องว่าเมื่อพระเทวทัตทรยศต่อพระพุทธเจ้า ได้จัดการให้คนปล่อยช้างสาร ที่กำลังตกมันชื่อนาฬาคีรี เป็นช้างเมามัน โหดร้ายเหมือนไฟไหม้ป่า มีกำลังเหมือนจักราวุธ เพื่อมาทำร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อช้างมาถึง ด้วยพระบริสุทธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทำให้ช้างนาฬาคีรี ได้สติและทำความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในสมัยที่พระบรมศาสดา เสด็จประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูกำลังเลื่อมใสในพระเทวทัต ผู้เป็นอาจารย์ ที่มาแสดงปาฎิหาริย์ ล่อลวงให้ลุ่มหลง ทำให้ท้าวเธอปลงพระชนมายุ พระเจ้าพิมพิสาร พระชนกนาถ เป็นปิตุฆาตอนันตริยกรรม ซ้ำไม่เลื่อมใสในพระบรมศาสดา ด้วยเชื่อคำพระเทวทัตริษยา แกล้งใส่ไคล้ให้เข้าพระทัยผิด กับมืดมิดด้วยโมหะ ไม่เห็นเหตุ ยอมให้พระเทวทัตหาเลศ ทำลายล้างพระบรมศาสดาเริ่มตั้งแต่ขอนายขมังธนูมาเป็นครั้งแรก แล้วส่งไป ให้ลอบ:-)พระพุทธเจ้าด้วยลูกธนูอาบยาพิษ แต่นายขมังธนูกลับมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ยอมเข้าเป็นพุทธบุตรด้วยพระพุทธบารมี
   ต่อมาเมื่อพระเทวทัต ได้รับพระราชทานช้างจากพระเจ้ากรุงมคธแล้ว ก็รีบมาปลุกปั่นยอยก ให้ลาภยศแก่นายควาญช้าง ให้นายควาญช้างรับธุระมอมเหล้า ช้างนาฬาคิรีให้เมาเพิ่มกำลังบ้าคั่งด้วยซับมันขึ้นอีกแรงหนึ่ง และกำชับให้ปล่อยช้างในเวลาเช้า ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ ตามถนนภายในพระนครราชคฤห์นี้ อันวิสัยสัตว์ไม่รู้จักคนชั่วคนดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะไล่ทิ่มแทงพระจอมไตรโลกาจารย์ ยามเมื่อเสด็จภิกษาจาร พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ให้ย่อยยับอัปปางลงเป็นพัทธุลี สิ้นชื่อพระชินสีห์ครั้งนี้แล
   ครั้นรัตติกาลผ่านมาถึงเวลาอรุณรุ่งเช้า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกบริวาร ก็ได้เสด็จพระพุทธดำเนินออกภิกษาจาร ยังพระนครราชคฤห์ ตามมรรคาประเทศถนนหลวงประชาชนชาวเมืองทั้งปวงได้เห็นพระพุทธองค์ และพระสงฆ์สาวก ต่างก็พากันวิตกกันไปต่างๆ เพราะทราบเรื่องการการกระทำของพระเทวทัตอยู่แล้ว
พวกที่มีศรัทธาเลื่อมใสในสัมมาปฏิบัติ ก็มีความโสมนัสยินดีว่า วันนี้จักชมบุญญาธิการอภินิหารของพระบรมไตรโลกนาถ ที่จะทรงทรมานพญากุญชรให้สิ้นพยศ พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็คิดในทางร้ายว่า ในวันนี้ เราจักได้เห็นความพินาศวอดวายของพระสมณโคดม
   ฝ่ายนายควาญช้างพระที่นั่ง เมื่อได้รับคำสั่งของพระเทวทัตแล้ว ก็พากันจัดแจงหาสุราบานที่แรงกล้ามาเตรียมไว้ ครั้นรุ่งอรุโณทัยทิวาวาร ก็พากันนำออกมากรอกพระยาเศวตคชนาฬาคิรีช้างพระที่นั่ง ซึ่งกำลังคลุ้มคลั่งซับมัน สิ้นน้ำจัณฑ์ ๑๖ กระออม ทำให้พญากุญชร เกิดพยศร้ายแรงเพราะฤทธิ์สุรา ชูงวงยกงา กระทืบเท้าสะเทือนแท่น ส่งเสียงร้องแปร๋แปร๋นอุโฆษก้องโกญจนาน่าสะพึงกลัว
   ครั้นรุ่งแสงสุริโยภาสเป็นเวลาทรงบาตรพระบรมสุคต นายควาญช้างก็เปลื้องปลอกปล่อย พญากุญชรนาฬาคีรีก็วิ่งทะยานออกสู่ถนน บรรดาเหล่ามหาชนก็ตะโกนร้องกันต่อๆไป ให้รีบหลบหาความปลอดภัยอันจะพึงมี ทันใดนั้นพญาเศวตหัตถีก็ส่งเสียงกึกก้องโกญจนา วิ่งตรงมายังวิถีทางพระโลกนาถเสด็จพระพุทธดำเนิน
   ขณะนั้น พระอานนทเถระพุทธอุปัฏฐาก ครั้นช้างนาฬาคิรีวิ่งเข้ามาใกล้พระผู้มีพระภาคในครั้งนั้น เกรงอันตรายจะพึงมีแก่สมเด็จพระชินสีห์สัมพุทธเจ้า พระเถระเจ้าจึงคิดว่า เมื่อภัยจักบังเกิดขึ้นแก่พระพุทธองค์เช่นนี้ เราควรจะป้องกันมิให้บังเกิดแก่พระพุทธองค์ แม้ชีวิตของเราจะต้องดับลงเพราะฤทธิ์ช้างก็ยอม ครั้นแล้วพระเถระก็พลันวิ่งออกไปสกัดช้างนาฬาคิรี น้อมถวายชีวิตแด่พระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า โดยยอมให้พญากุญชรทิ่มแทง กระทืบเอาตามประสงค์ แต่ขอให้องค์พระโลกนาถนิราศภัย เห็นประจักษ์แก่ปวงชนทั้งหลายในกาลบัดนี้
   ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระมหากรุณา ตรัสเรียกพระอานนทเถระให้ถอยกลับถึง ๓ ครั้ง แต่พระอานนท์ก็ยังยับยั้งยืนหยัดสะกัดช้างนาฬาคิรีอยู่ พระพุทธองค์เห็นพระอานนท์ยอมตายไม่คิดกลับ จึงทรงทำปาฏิหารย์ ขับช้างนาฬาคิรีคชสาร ซึ่งกำลังวิ่งเข้ามาประหารพระเถระเจ้า ให้ตกใจกระโพงไปในที่อื่นไม่อาจเข้ามาใกล้ได้ และทรงแผ่เมตตาภินิหารทานดิลก ดังหนึ่งทรงหลั่งสิโนทกให้ตกต้องดวงใจคชสาร ซึ่งกำลังเดือดดาลด้วยฤทธิ์สุราบาน และซับมันให้ความเมาทั้ง ๒ ประการนั้นดับสนิท ตั้งให้จิตประกอบด้วยเมตตา แล้วพระองค์ก็ทรงเมตตา เอื้อนอรรถตรัสเรียกช้างนาฬาคิรีให้เข้าเฝ้า

   เมื่อพญากุญชรสร่างเมาก็สิ้นพยศยกงวงจบบนกระพองศีรษะ แสดงคารวะในพระพุทธองค์ หมอบเข้าถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาทพระบรมศาสดาจึง ได้ทรงยกพระหัตถ์ขวา ลูบกระพองศีรษะคชสารด้วยเมตตา แล้วประทานโอวาทว่า "ดูกร! นาฬาคิรี แต่นี้ไป เจ้าจงสลัดตัดเสียซึ่งปาณาติบาต อย่าได้ประมาทจิตคิดอาฆาตโกรธแค้นใครๆ จงมีเมตตาจิตทั่วไปในคนและสัตว์ จงมีจิตโสมนัสหนักแน่นในเมตตาขันติ เมื่อเจ้าวางวายจากภพนี้แล้วจะได้ไปสู่สุคติสถาน พ้นจากความเป็นสัตว์เดรัจฉานต่ำศักดิ์นี้ เป็นกุศลคุณอันหนักที่เจ้ามาพบเราตถาคต จงอุตสาห์ตั้งใจกำหนดวิรัติปฏิบัติจนตราบเท่าอายุขัยนี้เถิด"
   ครั้งนั้น พญาช้างนาฬาคิรีตัวประเสริฐ เกิดตื้นตันใจหลั่งน้ำตาไหลรินอาบหน้า แล้วก้มเศียรเกล้าวันทา รับพระโอวาทถวายบังคมพระยุคลบาทแล้วเดินกลับหลังโรงช้าง ด้วยท่าทางอันสบงเสงี่ยมเป็นอันดี  เมื่อพระพุทธองค์ทรงทรมานพญาช้างนาฬาคิรีให้สิ้นพยศแล้ว และทรงได้ชัยชนะอันเป็นมงคล ตั้งแต่ต้นแต่พระเทวทัต และพระมหากษัตริย์มคธอชาตศัตรูลงมา จนพญาช้างนาฬาคิรีซับมันกล้าก็สิ้นฤทธิ์ แล้วพระองค์ก็พาพระภิกษุสงฆ์เสด็จกลับไปรับไทยทาน ซึ่งพุทธบริษัทจัดถวายที่พระเวฬุวันมหาวิหาร
   ฝ่ายมหาชนที่เห็นเหตุการณ์ก็แซ่ซ้องสาธุการ พากันบูชาพระพุทธองค์ด้วยสักการวรามิส เฉลิมฉลองพระเกียรติที่ทรงพิชิตช้างนาฬาคิรีให้พ่ายแพ้ ด้วยธรรมาวุธ เป็นความชนะที่ประเสริฐสุด
          บทที่ ๔ ทรงปราบโจรองคุลิมาล

     

     ๔. อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง,
      ธาวันติโย ชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง 
      อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท,

      ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

   บทที่ ๔ : สำหรับเอาชนะโจรองคุลิมาล
    โจรองคุลิมาล  เป็นเรื่องขององคุลีมาลซึ่งฆ่าคนและตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นสร้อยคอ ให้ได้ครบพัน ก็จะมีฤทธิ์เดชยิ่งใหญ่ องคุลีมาลฆ่าคนและตัดนิ้วมือได้ ๙๙๙ เหลืออีกนิ้วเดียวจะครบพัน ก็มาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ทรงสามารถทรมานทิฏฐิองคุลีมาลเลิกเป็นโจร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้อมตะวาจาเกิดขึ้น คือ "เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด" และองคุลีมาลโจรก็ได้ออกบวชเป็นพระอรหันต์ในที่สุด        
            องคุลิมาล
   องคุลิมาล ถือกำเนิดจาก นางพราหมณ์มันตานี เมืองสาวัตถีของ พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นภรรยาของ ท่านพราหมณ์ปุโรหิต เวลา องคุลิมาล คลอดจากครรภ์มารดา พราหมณ์ปุโรหิต ได้แหงนมองดูดาวนักษัตร รู้โดยพลันว่าบุตรแห่งตนเกิดใต้ฤกษ์ดาวโจร
   วันรุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิต เข้าเฝ้า พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลว่า บุตรอันเกิดจาก นางมันตานี โตขึ้นจักเป็นมหาโจร  พระราชาถามว่า เป็นโจรทำร้ายผู้คน หรือประทุษร้ายราชสมบัติ ท่านปุโรหิต กราบทูลว่าเขาจะเป็นโจรที่ไม่เป็นภัยต่อราชสมบัติ  พระราชาตรัสว่า เช่นนั้นถ้าเขาทำเหตุอันใดในอนาคต เราก็จัดการเขาเสียด้วยกองทหารของเรา
จงเลี้ยงบุตรของท่านไว้เถิด  
   พราหมณ์ปุโรหิต พยายามทุกวิถีทาง เพื่อต่อสู้กับตำราทั้งหลายที่ว่าด้วยฤกษ์ดาวโจร แม้ชื่อของบุตรก็ตั้งว่า “อหิงสกะกุมาร” ซึ่งหมายความว่า เป็นเด็กน้อยผู้ไม่เบียดเบียนใคร  ครั้นโตขึ้น ก็ส่งบุตรไปเรียนที่เมืองตักศิลา อหิงสกะมานพ เป็นคนมีปัญญา ขยันขันแข็ง ประพฤติตนเรียบร้อย ตั้งใจเรียน และรับใช้ อาจารย์ทิศาปาโมกข์ จนเป็นศิษย์ที่พึงใจอาจารย์  ความเป็นศิษย์ที่พึงใจอาจารย์ ทำให้ศิษย์อื่นริษยาหาทางกำจัด อหิงสกะมานพ ทยอยเข้าเป่าหูอาจารย์ว่า อาจารย์จะถูก อหิงสกะมานพ ทำร้าย กรอกหูทุกวันจนอาจารย์ต้องวางแผนฆ่าศิษย์โดยใช้มือคนอื่นเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ตน
   อาจารย์วางแผนเรียบร้อย ก็เรียก อหิงสกะมานพ เข้าพบ ชี้แจงว่าศิลปะวิทยาการขั้นสุดท้าย คือ เจ้าต้องฆ่าคนให้ได้พันคน แล้วนั่นแหละความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนก็จะมาถึง เนื่องจากพฤติกรรมนั้นเท่านั้นเป็นพิธีบูชาครูอหิงสกะมานพ เชื่อฟัง ออกจากตักศิลาก็เข้าป่าในแคว้นโกศล อาศัยหุบเขาแห่งหนึ่ง คอยดักฆ่าคนเดินทางฆ่าคนล้มตายไปเยอะ นึกขึ้นมาได้ว่า จำไม่ได้ว่าฆ่ากี่คนกี่สิบกี่ร้อย เพื่อนับจำนวนศพให้ถูกต้อง มานพโจรจึงตัดนิ้วจากศพที่ฆ่า ซึ่งพัฒนาเป็นพวงมาลัยคล้องคอ ชื่อเสียงของมานพบุตร นางมันตานี ถูกเรียกว่า “องคุลิมาล”  ชื่อเสียงของ องคุลิมาล มาถึงเมืองสาวัตถี ซึ่ง ปุโรหิตพราหมณ์ เท่านั้นตระหนักดีว่าจอมโจร องคุลิมาล ผู้นี้ มิใช่ใครอื่นนอกเสียจาก อหิงสกะกุมาร บุตรของเรา
   เมื่อ องคุลิมาล ฆ่าคนได้นิ้วมือมาคล้องคอ ๙๙๙ นิ้ว ก็กระหายที่อยากจะได้นิ้วลำดับที่ ๑๐๐๐ เพื่อสำเร็จหลักสูตร เปลี่ยนเสื้อผ้า เดินทางกลับไปหาบิดามารดาที่สาวัตถี
   วันนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูเวไนยสัตว์ พบว่า องคุลิมาล มีอุปนิสัยพอที่จะโปรดให้บรรลุมรรคผล จึงเสด็จไป
ยังป่าชาลิวันในแคว้นโกศล ไม่ฟังเสียงทัดทานจากคนเลี้ยงโค เพราะทรงเห็นว่า หากไม่เสด็จอย่างเร่งรีบแล้ว องคุลิมาลก็จะกระทำมาตุฆาต ฆ่ามารดา  องคุลิมาล เห็นพระพุทธ องค์เสด็จมาแต่ไกลก็ประหลาดใจ สมณะผู้เดียว กล้าเข้ามาถึงถิ่นคิลลิงฟีลด์ของตน  ประหลาดใจเสร็จ ก็วิ่งออกไป พร้อมด้วยอาวุธ ทั้งดาบ และธนู วิ่งไล่สมณะด้วยความกระหายอยากได้นิ้วมือลำดับที่ ๑๐๐๐  ความประหลาดใจสำทับเพิ่ม เพราะวิ่งอย่างสุดกำลังแล้ว ก็หาตามทันพระสมณะไม่ จึงหยุดยืนกับที่และร้องบอก

    องคตุลิมาลกล่าวว่า "ว่าหยุดก่อน หยุดก่อน"
   พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "เราหยุดแล้ว องคุลิมาล แต่ท่านซิยังไม่หยุด ท่านก็จงหยุดเสียด้วยเถอะ"

   องคุลิมาล กราบทูลว่า สมณะท่านกำลังเดินแต่กลับกล่าวว่า "เราหยุดแล้ว ส่วนท่านยังไม่หยุด  แสดงว่าท่านพูดเท็จ"
   พระพทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนองคุลิมาลเอ๋ย เราหยุดแล้ว คือหยุดจากการฆ่าสัตว์ แต่ตัวท่านยังไม่หยุดฆ่าคน เรากล่าวเช่นนี้”
   ด้วยพระสุรเสียงอันแจ่มใส พระดำรัสอันคมคายของ พระผู้มีพระภาคเจ้า องคุลิมาล ถึงกับใจอ่อน รู้สำนึกผิดในทันที ทิ้งดาบและธนูลงในหุบเขาลึก เข้าไปกราบบาทพระพุทธ องค์ ทูลขอบวช  พระพุทธเจ้าจึงบวชให้องคุลิมาลวยเอหิภิกขุอุปสัมปทา คฤหเพศของ องคุลิมาล ก็หายไป ไม่ช้าพระพุทธองค์ก็เสด็จพา องคุลิมาลภิกษุ เข้าสู่พระเชตวัน
มหาวิหาร กรุงสาวัตถี  การปรากฏตัวขององคุลิมาลภิกษุ กลายเป็นการเดินขบวนของชาวสาวัตถี เรียกร้องให้นิติรัฐจัดการฆ่ามหาโจร
   พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จพร้อมด้วยกองกำลัง และเสด็จพระราชดำเนินเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ทูลว่าออกมาจับโจรชื่อ องคุลิมาล  พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงยกพระหัตถ์เบื้องขวาขี้นชี้ตรัสกับพระราชาว่า ดูกรมหาราช นั่นไงเล่า องคุลิมาล  พระราชาเห็น องคุลิมาล แล้วทรงหวาดหวั่น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบจึงตรัสว่า อย่าทรงกลัวเลย บัดนี้ องคุลิมาล มิได้เป็นภัยกับผู้ใดแล้ว บวชเป็นบรรพชิต ฉันภัตตาหารหนเดียว เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นการลักทรัพย์ และเว้นการพูดเท็จ
   เมื่อทรงเข้าพระทัยดี พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสรรเสริญพระพุทธคุณ สามารถปราบมหาโจรได้โดยไม่ต้องโทษอาญาและศัตราวุธ  องคุลิมาลภิกขุ ลำบากยิ่งในเรื่องการบิณฑบาต เพราะไปปรากฏตัวที่ใดชาวบ้านก็ตื่นตระหนกตกใจกลัว ปิดเรือนบ้าง หนีเข้าป่าบ้าง ทันทีที่ได้ยินเสียงร้องบอกต่อๆ กันว่า องคุลิมาล มาแล้ว
   เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ ก็ทรงพระปริวิตก ทรงประสงค์ให้ องคุลิมาลเถระ ได้แสดงสัจจะกิริยากับหญิงเจ็บครรภ์ใกล้คลอด เพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่า องคุลิมาล กลับเป็นผู้มีเมตตาจิต กระทำแต่ความสวัสดี
   “เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้น และกล่าวกับเธอว่า”
   “ดูกร…น้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะรู้สึกตัวว่าแกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตก็หามิได้ ด้วยสัจจะวาจานี้ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านด้วยเถิด”
   องคุลิมาลเถระ ก็ทูลรับและกระทำสัจจะกิริยาให้หญิงนั้นคลอดบุตรโดยสวัสดี สิ้นคำสัจจะกิริยานั้น ทารกก็คลอดจากครรภ์มารดาอย่างง่ายดาย ทั้งบุตรและมารดาต่างปลอด ภัย  ปรากฏการณ์นี้ เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสชี้แจงกับ องคุลิมาล ต่อความสงสัยของหญิงเจ็บครรภ์ เนื่องจากเธออาจเข้าใจว่าเป็นคำพูดเท็จ เพราะตนได้ชื่อเสียงเป็นมหาโจรโด่งดังเป็นผู้ฆ่าสัตว์จำนวนมาก
   “ดูกร…องคุลิมาล ท่านอย่าได้ถือเอาเหตุนั้นเลย นั่นไม่ใช่ชาติของท่าน นั่นเป็นเวลาเมื่อท่านเป็นคฤหัสถ์ และธรรมดาคฤหัสถ์ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง แต่บัดนี้ชาติของท่าน คือ อริยชาติ”
  กาลต่อมา องคุลิมาลเถระ ได้ปลีกวิเวกออกจากคณะนักบวชไปบำเพ็ญสมณธรรมแต่ผู้เดียว ไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ 

   ท่านเที่ยวบิณฑบาตไปถึงไหนก็มีเสียงโจษจันเซ็งแซ่ไปถึงนั่น ไม่มีใครถวายบิณฑบาตเลยแม้แต่เพียงทัพพีเดียว ภิกษุรูปใดไปกับท่านภิกษุรูปนั้นก็พลอยอดไปด้วย
    แต่ก็เป็นโชคของท่านอย่างหนึ่งที่ท่านทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คลอดง่ายที่สุด คือ ครั้งหนึ่ง ท่านทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คนหนึ่ง หญิงคนนั้นก็คลอดลูกง่ายเหมือนเทน้ำออกจากกระออม
   ตั้งแต่นั้นมาก็มีคนนิยมนับถือท่านจนกระทั่งว่า แท่นที่ท่านนั่งนั้นคนเอาน้ำไปรดแล้วใช้เป็นน้ำมนต์ ก็ให้ผลสมความประสงค์เช่นเดียวกัน คาถาที่ท่านทำน้ำมนต์นั้น ได้แก่ คาถาว่า

    ๐ ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต

   นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา

   โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส.ฯ
    ๐แปลว่า "ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่ฉันเกิดมาแล้วโดยอริยชาติ ยังไม่รู้สึกตัวว่าได้แกล้งปลงชีวิตสัตว์เลยด้วยอำนาจสัจวาจานั้น ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่หล่อน และครรภ์ของหล่อนเถิด"ฯ
   ท่านพระองคุลิมาลนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท ตั้งใจเจริญสมณธรรม แต่จิตฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิได้ เพราะคนที่ท่านฆ่าประดุจดังว่ามาปรากฏอยู่ตรงหน้า พระบรมศาสดาทรงทราบจึงเสด็จมาแนะนำสั่งสอนไม่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว และสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ให้พิจารณาธรรมที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างเดียว ท่านประพฤติตามไม่ช้าก็สำเร็จอรหัตตผล
เป็นพระอริยสาวกนับเข้าในจำนวนอสีติมหาสาวกองค์หนึ่ง เมื่อท่านดำรงอายุสังขารอยู่โดยสมควรแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน.
   *ท่านพระองคุลิมาล บางตำนานกล่าวว่า ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สามีบริโภค แต่ในเอตทัคคบาลีไม่ปรากฏว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ

             บทที่ ๕ ทรงปราบนางจิญจมาณะวิกา

     

     ๕. กัตตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา,

     จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ

     สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท,

     ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

  บทที่ ๕ : สำหรับเอาชนะการแกล้ง ใส่ร้ายกล่าวโทษหรือคดีความ...
   หญิงคนหนึ่งมีนามว่า จิญจมาณวิกา ใส่ร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการวางแผนให้ผู้คนเข้าใจผิด โดยในเวลาเย็นที่ชาวบ้านเดินออกจากวัดเชตวัน นางจืญจมาณวิกา ก็จะเดินเข้าวัดไป และในช่วงเช้าที่ชาวบ้านเข้าวัด ก็จะทำทีเป็นเดินสวนทางออกมา จนระยะเวลาผ่านไปไลานเดือน จึงเอาไม้กลมๆ ใส่เข้าที่ท้องแล้วก็ไปเที่ยวปล่อยข่าวให้เล่าลือว่าตั้งครรภ์กับพระสัมมาสัมพุทธพุทธเจ้า ซึ่งก็ทรงเอาชนะด้วยวิธีสงบ ระงับพระทัยในท่ามกลางหมู่คน ให้ความจริงปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าเป็นเรื่องกล่าวร้ายใส่โทษพระองค์โดยแท้      
                ประวัตินางจิญจมาณะวิกา
                 พวกเดียรถีย์ริษยาพระพุทธศาสนา               
    ความพิสดารว่า ในปฐมโพธิกาล เมื่อสาวกของพระทศพลมีมาก หาประมาณมิได้. เมื่อพวกเทวดาและมนุษย์หยั่งลงสู่อริยภูมิ, เมื่อการเกิดขึ้นแห่งพระคุณของพระศาสดาแผ่ไปแล้ว ลาภสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้นแล้ว.
    พวกเดียรถีย์เป็นผู้เช่นกับแสงหิ่งห้อยในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น เป็นผู้เสื่อมลาภสักการะ. พวกเดียรถีย์เหล่านั้น ยืนในระหว่างถนน แม้ประกาศให้พวกมนุษย์รู้แจ้งอยู่อย่างนี้ว่า "พระสมณโคดมเท่านั้นหรือ เป็นพระพุทธเจ้า, แม้พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้า ทานที่เขาให้แล้วแก่พระสมณโคดมนั้นเท่านั้นหรือ มีผลมาก ทานที่เขาให้แล้วแม้แก่เราทั้งหลายก็มีผลมากเหมือนกัน ท่านทั้งหลายจงให้ จงทำแก่เราทั้งหลายบ้าง" ดังนี้แล้ว ไม่ได้ลาภสักการะแล้ว ประชุมคิดกันในที่ลับว่า "พวกเราพึงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ในระหว่างมนุษย์ทั้งหลาย พึงยังลาภสักการะให้ฉิบหาย โดยอุบายอะไรหนอแล?"
    กาลนั้นในกรุงสาวัตถี มีนางปริพาชิกาคนหนึ่งชื่อว่าจิญจมาณวิกา เป็นผู้ทรงรูปอันเลอโฉม ถึงความเลิศด้วยความงาม เหมือนนางเทพอัปสรฉะนั้น รัศมีย่อมเปล่งออกจากสรีระของนางนั้น.
              นางจิญจมาณะวิการับอาสาพวกเดียรถีย์               
    ลำดับนั้น เดียรถีย์ผู้มีความรู้เฉียบแหลมคนหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า "เราทั้งหลายอาศัยนางจิญจมาณวิกา พึงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ยังลาภสักการะ (ของเธอ) ให้ฉิบหายได้" เดียรถีย์เหล่านั้นรับรองว่า "อุบายนี้ มีอยู่." ต่อมา นางจิญจมาณวิกานั้นไปสู่อารามของเดียรถีย์ ไหว้แล้วได้ยืนอยู่ พวกเดียรถีย์ไม่พูดกับนาง.
    นางจึงคิดว่า "เรามีโทษอะไรหนอแล?" แม้พูดครั้งที่ ๓ ว่า "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันไหว้" ดังนี้แล้ว จึงพูดว่า "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันมีโทษอะไรหนอแล? เพราะเหตุอะไร ท่านทั้งหลายจึงไม่พูดกับดิฉัน?"
    เดียรถีย์. น้องหญิง เจ้าย่อมไม่ทราบซึ่งพระสมณโคดม ผู้เบียดเบียนเราทั้งหลาย เที่ยวทำเราทั้งหลายให้เสื่อมลาภสักการะหรือ?
    นางจิญจมาณวิกา. ดิฉันยังไม่ทราบ เจ้าข้า, ก็ในเรื่องนี้ ดิฉันควรทำอย่างไรเล่า?
    เดียรถีย์. น้องหญิง ถ้าเจ้าปรารถนาความสุขแก่เราทั้งหลายไซร้, จงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดมแล้ว ยังลาภสักการะให้ฉิบหาย เพราะอาศัยตน.
    นางกล่าวว่า "ดีละ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย, ข้อนี้จงเป็นภาระของดิฉันเอง ท่านทั้งหลายอย่าคิดแล้ว" ดังนี้แล้ว หลีกไป ห่มผ้ามีสีดุจแมลงค่อมทอง มีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นในมือ มุ่งหน้าตรงพระเชตวัน ไปอยู่ในสมัยเป็นที่ฟังธรรมกถาแห่งชนชาวเมืองสาวัตถี แล้วออกไปจากพระเชตวัน ตั้งแต่กาลนั้น เพราะความที่นางเป็นผู้ฉลาดในมารยาทของหญิง.
    เมื่อผู้อื่นถามว่า "นางจะไปไหนในเวลานี้?" จึงกล่าวว่า "ประโยชน์อะไรของท่านทั้งหลายด้วยที่ที่เราไป" พักอยู่ในวัดของเดียรถีย์ในที่ใกล้พระเชตวัน เมื่อคนผู้เป็นอุบาสกออกจากพระนครแต่เช้าตรู่ ด้วยหวังว่า "จักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า" (นาง) ทำทีเหมือนอยู่ในพระเชตวันเข้าไปสู่พระนคร
    เมื่อคนผู้เป็นอุบาสกถามว่า "ท่านอยู่ ณ ที่ไหน?" แล้วจึงกล่าวว่า "ประโยชน์อะไรของท่านทั้งหลายด้วยที่ที่เราอยู่" โดยกาลล่วงไป ๑-๒ เดือน เมื่อถูกถามจึงกล่าวว่า "เราอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดม ในพระเชตวัน" ยังความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่ปุถุชนทั้งหลายว่า "ข้อนั้นจริงหรือไม่หนอ?"
    โดยกาลล่วงไป ๓-๔ เดือน เอาท่อนผ้าพันท้อง แสดงเพศของหญิงมีครรภ์ ให้เหล่าชนอันธพาลถือเอาว่า "ครรภ์บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยพระสมณโคดม" โดยกาลล่วงไป ๘-๙ เดือน ผูกไม้กลมไว้ที่ท้องห่มผ้าทับข้างบน ให้ทุบหลังมือและเท้าด้วยไม้คางโค แสดงอาการบวมขึ้น มีอินทรีย์บอบช้ำ
    เมื่อพระตถาคตประทับนั่งแสดงธรรมบนธรรมาสน์ที่ประดับแล้วในเวลาเย็น ไปสู่ธรรมสภา ยืนตรงพระพักตร์ของพระตถาคตแล้ว กล่าวว่า "มหาสมณะ พระองค์ (ดีแต่) แสดงธรรมแก่มหาชนเท่านั้น เสียงของพระองค์ไพเราะ พระโอษฐ์ของพระองค์สนิท ส่วนหม่อมฉันอาศัยพระองค์ได้เกิดมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว, พระองค์ไม่ทรงทราบเรือนเป็นที่คลอดของหม่อมฉัน ไม่ทรงทราบเครื่องครรภบริหารมีเนยใสและน้ำมันเป็นต้น เมื่อไม่ทรงทำเอง ก็ไม่ตรัสบอกพระเจ้าโกศล หรืออนาถบิณฑิกะ หรือนางวิสาขามหาอุบาสิกาคนใดคนหนึ่ง แม้บรรดาอุปัฏฐากทั้งหลายว่า ‘ท่านจงทำกิจที่ควรทำแก่นางจิญจมาณวิกานี้ พระองค์ทรงรู้แต่จะอภิรมย์เท่านั้น ไม่ทรงรู้ครรภบริหาร" เหมือนพยายามจับก้อนคูถ ปามณฑลพระจันทร์ฉะนั้น ด่าพระตถาคต ในท่ามกลางบริษัทแล้ว.
    พระตถาคตทรงงดธรรมกถาแล้ว เมื่อจะทรงบันลือเยี่ยงอย่างสีหะ จึงตรัสว่า "น้องหญิง ความที่คำอันเจ้ากล่าวแล้วจะจริงหรือไม่ เราและเจ้าเท่านั้น ย่อมรู้."
               นางจิญจมาณวิกา. อย่างนั้น มหาสมณะ ข้อนั้นเกิดแล้วโดยความที่ท่านและหม่อมฉันทราบแล้ว.
        ท้าวสักกะทำลายกลอุบายของนางจิญจมาณะวิกา               
    ขณะนั้น อาสนะของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน. ท้าวเธอทรงใคร่ครวญอยู่ ก็ทราบว่า "นางจิญจมาณวิกา ย่อมด่าพระตถาคตด้วยคำไม่เป็นจริง" แล้วทรงดำริว่า "เราจักชำระเรื่องนี้ให้หมดจด" จึงเสด็จมากับเทพบุตร ๔ องค์. เทพบุตรทั้งหลายแปลงเป็นลูกหนูกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้กลม ด้วยอันแทะทีเดียวเท่านั้น ลมพัดเวิกผ้าห่มขึ้น ไม้กลมพลัดตกลงบนหลังเท้าของนางจิญจมาณวิกานั้น ปลายเท้าทั้ง ๒ ข้างแตกแล้ว.
    มนุษย์ทั้งหลายพูดว่า "แน่ะนางกาลกรรณี เจ้าด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ถ่มเขฬะลงบนศีรษะ มีมือถือก้อนดินและท่อนไม้ ฉุดลากออกจากพระเชตวัน.
              นางจิญจมาณวิกาถูกแผ่นดินสูบ               
    ครั้นในเวลานางล่วงคลองพระเนตรของพระตถาคตไป แผ่นดินใหญ่แตกแยกช่องให้แล้ว เปลวไฟตั้งขึ้นจากอเวจี นางจิญจมาณวิกานั้นไปเกิดในอเวจี เป็นเหมือนห่มผ้ากัมพลที่ตระกูลให้. ลาภสักการะของพวกเดียรถีย์เสื่อมแล้ว (แต่กลับ) เจริญแก่พระทศพลโดยประมาณยิ่ง.
    ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุสนทนากันในธรรมสภาว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย นางจิญจมาณวิกาด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ควรทักษิณาอันเลิศ ผู้มีคุณอันยิ่งอย่างนี้ ด้วยคำไม่จริง จึงถึงความพินาศใหญ่แล้ว."
    พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ด้วยถ้อยคำชื่อนี้." แล้วตรัสว่า
    "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เท่านั้นหามิได้ ถึงในกาลก่อน นางจิญจมาณวิกานั่นก็ด่าเราด้วยคำไม่จริง ถึงความพินาศแล้วเหมือนกัน"
    ดังนี้แล้ว จึงตรัสมหาปทุมชาดก๑- ในทวาทสกนิบาตนี้ให้พิสดารว่า :-
               ผู้เป็นใหญ่ไม่เห็นโทษน้อยใหญ่ของผู้อื่นโดยประการ
    ทั้งปวงแล้ว ไม่ทันพิจารณาเห็นเอง ไม่พึงลงอาญา.

           บทที่ ๖ ทรงปราบสัจจกะนิครนถ์

      

    ๖.สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง,

      วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง

      ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท,
      ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ          

    บทที่ ๖ : สำหรับเอาชนะการโต้ตอบ...
    เป็นเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาชนะสัจจะกะนิครนถ์ ผู้มีนิสัยละทิ้งความสัตย์ใฝ่ใจจะยกย่องถ้อยคำของตนให้สูงประหนึ่งว่ายกธงเป็นผู้มืดมัวเมา เป็นคนเจ้าโวหาร เข้ามาโต้ตอบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์จีงตรัสเทศนาสั่งสอนสัจจะกะนิครนถ์ดังกล่าว

             ประวัติสัจจะกะนิครนถ์

     สัจจกนิครนถ์ผู้ถือตัวว่าฉลาด  เป็นนักโต้วาทะชั้นยอด สละเสียซึ่งสัจจะ ตั้งใจมาได้วาทะหักล้างพระพุทธองค์ เป็นคน มืดบอดยิ่งนัก พระจอมมุนีผู้สว่างจ้าด้วย “แสงปัญญา” ทรงเอาชนะได้ ด้วยเดชแห่ง  ชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
  การชนะครั้งนี้เป็นการชนะด้วยวาทะเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา หักล้างกันด้วยเหตุด้วยผลแท้จริง ดังได้เคยกล่าวมาบ้างแล้วว่า
  ศาสนาที่เป็นคู่แข่งกับพระพุทธศาสนา ที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาบันทึกไว้คือศาสนาเชน ของมหาวีระ สาวกระดับนำของศาสนานี้มักจะหาทางเอาชนะพระพุทธองค์ทุกคน ไม่ว่าสีหเสนาบดี หรืออุบาลีคหบดีทำเอามหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) กระอักโลหิตมาแล้ว  สัจจกะนิครนถ์คนนี้ก็เป็น “มือวางอันดับหนึ่ง” ของลัทธิเชน เทียบกับสมัยนี้ก็คือนักวิชาการ “แสนรู้” ที่คิดว่าตนรู้มากกว่าใครในหล้าคนอื่นโง่ไปหมด อะไรทำนองนั้นสัจจกะแกจบไตรเพท จบปรัชญาชั้นสูง เป็นผู้ถึงสุดยอดแห่งวิชาการศาสนาของตนแล้ว แกจึงภาคภูมิใจในความเป็นผู้รู้ของตน แกจะเอาเข็มขัดเหล็กมาคาดพุงไว้ ดังหนึ่งคนเป็นโรคปวดหลังเอาสเตย์ ( Stay ) รัดพุงยังไงยังงั้น แกคงคิดว่าพุงเป็นที่เก็บสติปัญญาอันล้ำเลิศกระมัง จึงรัดเข็มขัดเหล็กเส้นเบ้อเร่อไว้กันสติปัญญาหล่นหาย
  คิดเอาก็แล้วกัน คนที่คิดว่าสติปัญญาอยู่ที่พุง จะเป็นคนฉลาดได้อย่างไร ที่แท้ก็คนโง่อวดฉลาดนั่นเอง เพราะเหตุนี้แหละคาถาพาหุงจึงจึงบรรยายลักษณะ ของสัจจกะว่า อติอันธภูตัง (คนมือบอดอย่างยิ่ง โง่งมงายอย่างยิ่ง)
  สัจจกะรู้ว่าพระพุทะเจ้ามีคนเคารพนับถือมาก มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาบวชเป็นสาวกจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อนร่วมศาสนาของตนหลายคนด้วย ก็ร้อนใจว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ช้าศาสนิกของศาสนาตนก็ร่อยหรอ พระเชนทั้งหลายก็จะถูกดับรัศมี ดังหนึ่งหิ่งห้อยท่ามกลางแสงจันทร์ฉะนั้น จึงอาสาไปโต้วาทะกับพระพุทะองค์ให้รู้ดำรู้แดงกันเสียที
  เข้าใจว่า การประกาศโต้วาทะกับพระพุทะเจ้าครั้งนี้ คงได้รับฉันทานุมัติจากมหาวีระ (นิครนถ์นาฎบุตร) เป็นที่เรียบร้อยแล้วมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งมหาวีระไม่เคยออกมาเผชิญหน้ากับพระพุทะองค์เลย หลบเลี่ยงตลอดส่งแต่สาวกมือดีมาโต้ ที่เป็นเช่นนี้ สันนิษฐานได้ ๒ ประการคือ
   ๑. มหาวีระอาจถือว่าตนเป็นศาสดา อาวุโสดีกว่า เก่งกว่าพระพุทะเจ้าก็ได้ จึงไม่ยอม “ลดตัว” ลงมาหาพระพุทธเจ้า (คนเรามีสิทธิ์คิดนะครับ มณฑก (คางคก) ยังทำ “เทียบท้าวราชสีห์” หรือหมูยัง “เห็นสีหราชท้าชวนรบ” ได้นี่ครับ แล้วทำไมศาสดามหาวีระจะไม่มีสิทธิ์คิดว่าตนเก่งกว่าพระพุทธเจ้าเล่า)
   ๒. มหาวีระคงรู้ตัวว่าตนเองสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้ ถ้าหากมาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้าแล้วแพ้ ตนจะเอาหน้าไปไว้ไหน สาวกทั้งหลายอาจเลื่อมศรัทธาหมด ทางที่ดีก็เลี่ยงๆ ไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
  จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เป็นอันว่าศาสดาของสองศาสนานี้ ไม่เคยเผชิญหน้ากันเลยมีแต่ สาวกมือดีอย่าง สัจจกะนิครนถ์นี้แหละกำแหงมาตอแยพระพุทธเจ้า
  เข้าใจว่าเรื่อง สัจจกะนิครนถ์ประกาศจะโต้วาทะหักล้างพระพุทะองค์คงเป็นข่าวใหญ่ ถ้าเป็นสมัยนี้ ก็ คงลงข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ยักษ์แทบทุกฉบับ ทีวีแทบทุกช่อง วิทยุแทบทุกคลื่น เสนอข่าวกันครึกโครมเป็นที่รับรู้กันทั่วไป ชาวชมพูทวีปสมัยโน้น เป็นคนชอบแสวงหาสติปัญญาแสวงหาแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามสำหรับตน เรื่องประเทืองปัญญาอย่างนี้ คงไม่พลาดแน่ๆ
  วันแห่งการรอคอยก็มาถึง ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ทีป่ามหาวัน นอกเมืองไพสาลี แห่งแคว้นวัชชี พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ป่ามหาวันนี้เป็นที่สงบสงัด พระพุทะองค์มักเสด็จมาประทับเสมอ พวกกษัตริย์ลิจฉวี เมื่อทราบว่าพระพุทะองค์เสด็จมาประทับที่นี่ ก็มักจะพากันมาเฝ้าฟังธรรมมิได้ขาด
  มหาชนจำนวนมากได้ติดตามสัจจกะนิครนถ์ไปป่ามหาวัน เพื่อฟังการโต้วาทะระหว่างพระพุทธเจ้ากับสัจจกะนิครนถ์ ป่ามหาวันอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ถึงกับคับแคบลงมาถนัดตาเพราะเต็มไปด้วย “แขกมุง” ผู้อยากรู้อยากเห็นทั้งหลาย
  เนื้อหาที่โต้กันนั้นมีบันทึกไว้ในจูฬสัจจกสูตร และมหาสัจจกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒เกี่ยวกับเรื่อง อัตตา (ตัวตน) และ อนัตตา (มิใช่ตัวตน, ไม่มีตัวตน) และเรื่องเกี่ยวกับการฝึกฝนกายและจิต
  เฉพาะในเรื่องอัตตาและอนัตตานั้นสัจจกะนิครนถ์เชื่อมั่นว่า มี “อัตตา” (ตัวตน) และอัตตาตัวนี้เป็นภาวะ “สัมบูรณ์” หรือ Absolute ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่พระพุทะเจ้าตรัสอธิบายว่า ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็น “อนัตตา” (มิใช่ ตัวตนและไม่มีตัวตน)
  การอธิบายของพระพุทธองค์ทรงใช้วิธีถามให้สัจจกะตอบ ค่อยตะล่อมเข้าหาจุด เช่นตรัสถามว่า “กษัตริย์ย่อมมีอำนาจในการสั่งริบทรัพย์สั่งจองจำ สั่งฆ่าผู้ที่มีความผิดใช่หรือไม่ (ใช่) กษัตริย์ทีมีอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้ จะสั่งให้รูป (หนึ่งในขันธ์ ๕) ว่า จงเป็นอย่างนี้อย่าเป็นอย่างนั้นได้ไหม (ไม่ได้) สั่งให้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จงเป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้นได้ไหม (ไม่ได้)”
  ทรงถามไปทีละข้อๆ อย่างนี้ สัจจกะก็ยอมรับว่า ไม่มีอำนาจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วพระองค์ก็ตรัสสรุปว่า ที่ท่านว่าขันธ์ ๕ เป็น “ตัวตน” นั้นผิดแล้ว เพราะถ้ามันเป็นตัวตนของเราจริง เราก็น่าจะบังคับบัญชามัน และสั่งให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ความจริงขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน และไม่มีตัวตน
  สัจจกะจำนนด้วยเหตุผล ยอมรับว่าตนเข้าใจผิด คัมภีร์บันทึกว่าสัจจกะนิครนถ์ ผู้ถือตนว่าฉลาด ถูกพระพุทะเจ้าปราบสิ้นพยศนั่งจ๋องดุจปูถูกหัก “ก้าม” และ “กรรเชียง” คลานกลับสู่สระน้ำไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
  สัจจกะ นิมนต์พระพุทธเจ้าไปเสวยภัตตาหาร ที่บ้านของตนและประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์แต่ บัดนั้น

   บทที่ ๗ ทรงปราบนันโทปนันทะนาคราช

    

    ๗. นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง,

    ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต

    อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท, ตันเตชะสา

    ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

   บทที่ ๗ : สำหรับเอาชนะเล่ห์เหลี่ยมกุศโลบาย...
เป็นเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โปรดให้พระมหาโมคคัลลานะ อัครมหาสาวกไปต่อสู้เอาชนะพญานาคชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีฤทธิ์มาก และมีเล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้มากมาย ซึ่งพระมหาโมคคัลลานะก็ได้ใช้ฤทธิ์เนรมิตกายเป็นพญานาค ไปปราบนนันโทปนันทะนาคราช ผู้มีฤทธิ์มากให้พ่ายแพ้ไป

             ประวัตินันโทปนัทะนาคราช     
   นันโทปนันทนาคราชเกิดความเห็นอันชั่วช้า  เห็นปานนี้ขึ้นว่า  พวกสมณะหัวโล้นเหล่านี้  เข้า ๆ ออก ยังที่อยู่ของพวกเทพดาวดึงส์  โดยทางเบื้องบนที่อยู่ของพวกเรา  คราวนี้  ตั้งแต่บัดนี้ไปเราจะไม่ให้พวกสมณะเหล่านี้โปรยขี้ตีนลงบนหัวของเราแล้วไป จึงลุกขึ้นไปยังเชิงเขาสิเนรุ  ละอัตภาพนั้น  เอาขนดวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานข้างบน  เอาพังพานคว่ำลงงำเอาภพดาวดึงส์ไว้  ทำให้มองไม่เห็น.
   ลำดับนั้นแล  ท่านพระรัฏฐปาละได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อก่อน  ข้าพระองค์ยืนอยู่ตรงประเทศนี้ มองเห็นเขาสิเนรุ  เห็นวงขอบเขาสิเนรุ  เห็นภพดาวดึงส์  เห็นเวชยันตปราสาท  เห็นธงเบื้องบนเวชยันตปราสาท,  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เหตุอะไรหนอ  ปัจจัยอะไรหนอ  ซึ่งเป็นให้ข้าพระองค์ไม่เห็นภูเขาสิเนรุ ฯลฯ  ไม่เห็นธงเบื้องบนเวชยันตปราสาท  ในบัดนี้.
   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่า  รัฏฐปาละ  นาคราชชื่อว่า  นันโทปนันทะนี้  โกรธพวกเธอจึงเอาขนดหางวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบ เอาพังพานปิดข้างบนกระทำให้มืดมิดอยู่.
   รัฏฐปาละ  ทูลว่า  ข้าพระองค์ขอทรมานนาคราชตนนั้น  พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต.
    ลำดับนั้นแลภิกษุแม้ทั้งหมดก็ลุกขึ้นโดยลำดับ คือ  ท่านพระภัททิยะ ท่านพระราหุล  พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต.
    ในที่สุด  พระมหาโมคคัลลานะเถระ  กราบทูลว่า  ข้าพระองค์ขอทรมานนาคราชนั้น  พระเจ้าข้า.
    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตว่า โมคคัลลานะ  เธอจงทรมาน.  
    พระเถระเปลี่ยนอัตภาพนิรมิตเป็นรูปนาคราชใหญ่  เอาขนดหางวงรอบนันโทปนันทนาคราชแล้ว  กดเข้ากับเขาสิเนรุ.
    ลำดับนั้น  นาคราชจึงโพลงไฟ.  ฝ่ายพระเถระกล่าวว่า  จะมีแต่ไฟในร่างกายของท่านเท่านั้นก็หาไม่  แม้ของเราก็มี  จึงโพลงไฟ.
   ไฟของนาคราชไม่เบียดเบียนพระเถระ  แต่ไฟของพระเถระเบียดเบียนนาคราช.  นาคราชคิดว่า  พระองค์นี้กดเราเข้ากับเข้าสิเนรุ  แล้วบังหวนควันและทำให้ไฟโพลง  จึงสอบถามว่า  ผู้เจริญ  ท่านเป็นใคร.
        พระเถระตอบว่า  นันทะ  เราแหละคือโมคคัลลานะ.
        นาคราชกล่าวว่า  ท่านผู้เจริญท่านจงดำรงอยู่โดยภิกขุภาวะของตนเถิด.
   พระเถระจึงเปลี่ยนอัตภาพนั้น  แล้วเข้าไปทางช่องหูขวาของนาคราชนั้น  แล้วออกทางช่องหูซ้าย  เข้าทางช่องหูซ้ายแล้วออกทางช่องหูขวา.
   อนึ่ง  เข้าทางช่องจมูกขวา  ออกทางช่องจมูกซ้าย  เข้าทางช่องจมูกซ้ายแล้วออกทางช่องจมูกขวา  .  ลำดับนั้น  นาคราชได้อ้าปาก.พระเถระจึงเข้าทางปากแล้วเดินจงกรมอยู่ภายในท้อง  ทางด้านทิศตะวันออกบ้าง  ด้านทิศตะวันตกบ้าง.
   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมคคัลลานะเธอจงใส่ใจ  นาคมีฤทธิ์มากนะ.
   พระเถระกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  อิทธิบาท ๔ ข้าพระองค์เจริญแล้ว  กระทำให้มากแล้ว  กระทำให้เป็นดุจยาน  กระทำให้เป็นดุจวัตถุที่ตั้ง  ตั้งมั่นแล้ว  สั่งสมไว้แล้ว  ปรารภไว้ดีแล้ว,  นันโทปนันทะจงยกไว้เถิด  พระเจ้าข้า,  นาคราชเช่นกับนันโทปนันทะ  ตั้งร้อยก็ดี  ตั้งพันก็ดี  ข้าพระองค์ก็พึงทรมานได้.
   นาคราชคิดว่า  เมื่อตอนเข้าไป  เราไม่ทันเห็น  ในเวลาออกในบัดนี้  เราจักใส่เขาในระหว่างเขี้ยวแล้วเคี้ยวกินเสีย  ครั้นคิดแล้วจึงกล่าวว่า  ขอท่านจงมาเถิดขอรับ  อย่าเดินไปๆ มาๆ ในภายในท้อง  ทำข้าพเจ้าให้ลำบากเลย.  พระเถระได้ออกไปยืนข้างนอก.  นาคราชเห็นว่านี้คือเขาละ  จึงพ่นลมทางจมูก.  พระเถระเข้าจตุตถฌาน  แม้ขุมขนของพระเถระ  ลมก็ไม่สามารถทำให้ไหวได้.
   นัยว่า  ภิกษุทั้งหลายที่เหลือสามารถทำปาฏิหาริย์ทั้งมวลได้  จำเดิมแต่ต้น  แต่พอถึงฐานะนี้  จักไม่สามารถสังเกตได้รวดเร็วอย่างนี้แล้วเข้าสมาบัติ  เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นทรมานนาคราช.
   นาคราชคิดว่า  เราไม่สามารถเพื่อจะทำแม้ขุมขนของสมณะนี้ให้ไหวได้ด้วยลมจมูก  สมณะนั้นมีฤิทธิ์มาก,  พระเถระจึงละอัตภาพนิรมิตรูปครุฑ  แสดงลมครุฑไล่ติดตามนาคราชไป,  นาคราชจึงละอัตภาพนั้น  นิรมิตรรูปมาณพน้อยแล้วกล่าวว่า  ท่านผู้เจริญ  กระผมขอถึงท่านเป็นสรณะ  ไหว้เท้าพระเถระ,  พระเถระกล่าวว่า  นันทะ  พระศาสดาเสด็จมาแล้ว  ท่านจงมา  พวกเราจักได้ไป.  ท่านทรมานนาคราชทำให้หมดพยศแล้วได้พาไปยังสำนักของพระศาสดา.  นาคราชถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า
          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ.
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ท่านจงเป็นสุขเถิดนาคราช ดังนี้แล้ว
   อันหมู่ภิกษุห้อมล้อม  ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี.

     บทที่ ๘  ทรงปราบทิฏฐิของท้าวพกาพรหม

       

 

     ๘. ทุคคาหะ ทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง,

       พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง

       ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท,
       ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

    บทที่ ๘ : สำหรับเอาชนะทิฏฐิมานะของคน...

เป็นเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาชนะ ผกาพรหม ผู้มีทิฏฐิแรงกล้าสำคัญว่าตนเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยคุณอันบริสุทธิ์  รู้แจ้งโลก โดยผลัดกันซ่อนผลัดกันหา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแปลงกายให้เล็กเท่าธุลีแล้วเดินจงกรมอยู่บนมวยผมของผกาพรหม ในที่สุดเมื่อผกาพรหมหาไม่พบจึงได้ยอมลดทิฏฐิมานะ และฟังธรรมจากพระสัม
มาสัมพุทธเจ้าบุคคลใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดและระลึกถึงพรุพุทธชัยมงคล ๘ คาถาเหล่านี้ทุกๆ วัน บุคคลนั้นจะพึงละความจัญไรอันตรายทั้งหลายทุกอย่างเสียได้ และเข้าถึงความหลุดพ้น คือ พระนิพพานอันบรมสุข นั้นแลฯ

           ประวัติท้าวพกาพรหม

    เบื้องพรหมโลกชั้นมหาพรหมาพรหมภูมิ ยังมีองค์พระพรหเมศวรผู้วิเศษอยู่องค์หนึ่ง ซึ่งมีนามปรากฏว่าท่านท้าวพกามหาพรหม พรหมผู้นี้มีชีวิตอยู่ในพรหมโลกชั้นต่าง ๆ มานานนัก โดยจุติจากพรหมโลกชั้นหนึ่งแล้วก็ปฏิสนธิในพรหมโลกอีกชั้นหนึ่ง ครั้งสุดท้ายได้มาอุบัติเกิดเป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่มีศักดิ์สถิตอยู่ ณ มหาพรหมภูมินี้และได้รับการยกย่องสรรเสริญจากมารสันดานร้าย ซึ่งมีจิตคิดหวังจะให้เป็นที่ถูกใจในคำสอพลออยู่เนืองๆว่า
   "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ ธรรมดาว่าท้าวมหาพรหมเช่นพระองค์นี้ย่อมเป็นผู้ทรงคุณความดีประเสริฐเลิศยิ่งนัก เป็นที่เคารพสักการะแห่งปวงชนชาวโลกทั่วไป เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ให้เกิดขึ้นในโลก ตั้งต้นแต่มนุษย์หญิงชายตลอดไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานอื่นๆอีกเป็นอันมาก นอกจากนั้นตามความเข้าใจของชาวโลกทั้งหลายนั้น พระองค์ย่อมเป็นผู้สร้างสรรค์ภูมิประเทศ ภูเขา ต้นไม้ รวมทั้งมหาสมุทรทะเลใหญ่อีกมากมายไว้ในมนุษยโลก ท่านท้าวมหาพรหมเป็นผู้มีอานุภาพ มีตบะเดชะยิ่งนัก มีมเหศักดิ์ทรงอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวงพระเจ้าข้า "
   แม้จะทราบว่าไม่เป็นความจริง เป็นสิ่งหาสาระมิได้ มารสันดานร้ายกล่าวสรรเสริญหวังจักให้เป็นที่ชอบใจเท่านั้นเอง แต่ท้าวมหาพรหมก็มีจิตยินดีใคร่จักสดับคำสรรเสริญอานุภาพแห่งตนบทนี้อยู่เสมอ และแล้วในที่สุด ทิฐิชนิดหนึ่งก็อุบัติขึ้นกลางดวงใจ ทำให้ท่านมหาพรหมจินตนาการไปตามประสาผู้ที่มีทิฐิกิเลสว่า
   "อาตมานี้ไม่แก่ไม่ตาย เป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครที่ไหนทั้งปวง อาตมาเป็นผู้ล่วงพ้นจากบ่วงมัจจุราชแล้ว อนึ่งเล่า พระโคดมเจ้าในมนุษยโลกกล่าวคุณพระนิพพานว่าเป็นแดนอมตะ จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ภพที่อาตมาอยู่นี้ต่างหากเป็นแดนอมตะ เพราะมิรู้แก่ มิรู้ตาย พระนิพพานของพระโคดมเจ้านั้นจึงเป็นสิ่งที่กล่าวกันเล่น หาสาระความจริงอันใดมิได้ "
   สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ภายใต้ต้นรังใหญ่ ณ ป่าสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐะในขณะนั้น ทรงทราบว่าท่านท้าวพกามหาพรหมมีความเข้าใจผิดคิดว่าพระนิพพานเป็นธรรมไม่ทีจริง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ดังนั้น จึงทรงลุกขึ้นจากต้นรังใหญ่อันมีใบหนาทึบแต่เพลานั้น แล้วเสด็จไปยังพรหมโลกโดยพลัน ชั่วระยะกาลมาตรว่าบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนของตนออกแล้วคู้กลับเข้ามาเท่านั้น ครั้นท้าวมหาพรหมได้ทอดทัศนาเห็นเข้า จึงกล่าวปราศรัยโดยธรรมดาว่า
   " ดูกร ท่านผู้นฤทุกข์ ท่านมาที่นี่ก็ดีแล้ว จะได้ปราศรัยกัน คือข้าพเจ้ามีความเห็นอยู่อย่างหนึ่งว่า บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนแต่เป็นของเที่ยงแท้ไม่รู้จักแก่ไม่รู้จักตาย ดูแต่พรหมสถานที่ข้าพเจ้าอยู่นี่เป็นไรพรหมสถานนี้เที่ยงแท้ ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดาพรหมสถานที่นี่แลเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็เหตุที่ออกไปจากทุกข์อย่างประเสริฐ นอกจากสถานที่นี้แล้วไม่มีเลย นี่แหละคือความเห็นของข้าพเจ้า ท่านจะว่าอย่างไรเล่าพระสมณะ
   สมเด็จพระสมณโดดมบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลาย จึงมีพระพุทธฎีกาเตือนสติท้าวมหาพรหมขึ้นว่า " ดูกร มหาพรหม ความคิดของท่านนี้น่าอนาถนัก บัดนี้ตัวท่านเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นผู้มีความเห็นวิปริตผิดคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว เพราะถูกอวิชชาความมืดมนเข้าห่อหุ้มดวงจิต จึงเห็นผิดจากธรรมไปเช่นนี้ "
   ครั้นสมเด็จพระชินสีห์เจ้าทรงกล่าวดังนี้พญามารที่นั่งอยู่ด้วยจึงกล่าวแทรกขึ้นกลางคันว่า " ดูกร ภิกษุ ขอท่านอย่าได้กล่าวรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้เลยข้าพเจ้าขอบอกว่าท่านอย่าได้รุกรานท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นอันขาดเพราะเหตุใดฤา ก็เพราะว่าท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ปกครองคณะพรหม ซึ่งคณะพรหมทั้งหลายไม่อาจฝ่าฝืนอำนาจได้ ท่านเป็นผู้ดูแลทั่วไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด
   ดูกร ภิกษุ ขอท่านจงทำตามถ้อยคำที่ท่านท้าวพกามหาพรหมจะสั่งสอนท่านเท่านั้น ขอท่านจงอย่าฝ่าฝืนถ้อยคำท่านท้าวพกามหาพรหมเลย ท่านมิเห็นดอกหรือ บรรดาพรหมบริษัทที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มากมายก็ล้วนแต่มีใจเคารพนับถือเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้ ความจริงเป็นเช่นที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ทั้งสิ้น ท่านจงอย่าได้ดูหมิ่นรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นมเหศักดิ์ จงเชื่อข้าพเจ้าเถิด "
   ท้าวพกามหาพรหมได้สดับการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพญามารจึงได้ออกปากกล่าววาทะว่า " ดูกร สมณะผู้นิรทุกข์ โลกที่ข้าพเจ้าอยู่นี้ มีแต่ความสุขความเบิกบาน หาความทุกข์ ๔ ประการ คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณะทุกข์มิได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วพรหมสถานของข้าพเจ้านี้จักไม่เป็นสถานที่เที่ยงแท้ได้อย่างไรกันเล่า "
   สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกรมหาพรหม ท่านจงมนสิการฟังเราให้จงดี เราตถาคตนี้ก็รู้ว่าตัวท่านมีเดชานุภาพเป็นอันมาก แม้แต่พระอาทิตย์ พระจันทร์ ซึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองแก่กล้าก็หาได้ส่องสว่างไปทั่วหมื่นโลกธาตุเหมือนรัศมีแห่งท่านไม่ เราตถาคตก็รู้แจ้งอีกว่าตัวท่านนี้เป็นผู้มีอัคคีไฟคือกองกิเลสคอยเผาผลาญอยู่ในสันดาน อย่างนี้แล้วจักกล่าวว่ามีความสุขสำราญได้อย่างไร เราตถาคตยังรู้อีกว่า ตัวท่านนี้หาได้รู้จักที่อยู่แห่งพรหมชั้นสูงเช่น อาภัสราพรหม สุภกิณหาพรหม เวหัปผลาพรหมก็หาไม่ แลสัตว์ทั้งหลายจักไปอุบัติเกิดในพรหมโลกชั้นนั้นๆได้อย่างไร ตัวท่านนี้ก็มิได้รู้
   ท้าวพกามหาพรหมจึงกล่าวอย่างอวดอ้างศักดานุภาพขึ้นว่า " ดูกรท่านกล่าวกับข้าพเจ้านี้เป็นทำนองว่า มีท่านผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้รู้จักพรหมโลกชั้นสูง รู้จักกรรมวิบากแห่งสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้ายังมิเชื่อก่อน แต่ตัวข้าพเจ้านี้สิ เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งกว่าใครๆในโลกทั้งปวงยังมิทราบเลย "
   สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาขึ้นว่า " ดูกรท้าวมหาพรหม ตัวท่านมากล่าวอวดอ้างกับเราว่า ท่านเป็นผู้มีฤทธาศักดานุภาพ หาผู้ใดจะเสมอมิได้ ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เราดูเดี๋ยวนี้เถิด ท่านจงแสดงตนให้อันตรธานหายไปจงอย่าให้เราเห็นท่านได้ในกาลบัดนี้เถิด "
   ท้าวพกามหาพรหมได้ยินพุทธฎีกาดังนั้นก็กระทำฤทธานุภาพกำบังตนให้หายออกไปจากที่นั้นแอบซ่อนตัวในที่ต่างๆ ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าก็แสดงปาฏิหารย์ฤทธิ์บันดาลให้ท้าวพกามหาพรหมมิอาจซ่อนตัวจากสายพระเนตรของพระองค์ได้และยังบันดาลฤทธิ์ให้พรหมอื่นๆที่นั่งประชุมอยู่ที่นั้นได้เห็นร่างของพกาพรหมด้วย โดยพระองค์บันดาลให้พระสุรเสียงของพระองค์ดังอยู่ข้างหูของท้าวพกามหาพรหมว่า " แน่ะ ดูกร พรหมบริษัททั้งหลายขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ เม็ดทรายใต้ท้องมหาสมุทร ท้าวพกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ ใต้ภูเขา " ขณะนี้ท้าวพกามหาพรหมช่อนตัวอยู่ ณ นอกขอบจักรวาล
   " ไม่ว่าท้าวพกามหาพรหมจะซ่อนตัวอยู่ ณ ที่ใดๆก็ไม่อาจหลุดพ้นจากสายพระเนตรของพระพุทธเจ้าได้หนักเข้าก็จนปัญญาหนีเข้าไปซ่อนตัวนั่งกอดเข่าเจ่าจุกในวิมานแห่งตน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่บรรดาพรหมทั้งหลายว่า " ดูกร ขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ในวิมานแห่งตน " ท้าวพกามหาพรหมได้ยินดังนั้นก็ยิ่งอับอายมองออกมานอกวิมานก็เห็นบรรดาพรหมทั้งหลายมีรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าประหนึ่งว่าจะเยาะเย้ยตน จึงข่มความอับอายก้าวออกจากปราสาทวิมานแห่งตน ตรงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วกล่าวว่า " ดูกร พระสมณะท่าน ข้าพเจ้าพยายามที่จะทำตนให้หายไปจากสายตาของท่านแต่มิอาจกระทำได้ ท่านจงแสดงฤทธิ์ของท่านบ้างเถิด ณ กาลบัดนี้ "
   สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกร มหาพรหม ขอท่านจงทัศนาให้ดีบัดนี้เราจักหายไปจากท่าน " ลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จึงทรงกระทำพระฤทธิ์บันดาลอิทธาภิสังขารให้พระวรกายอันตรธานหายไป จะได้ปรากฏแก่ทิพยจักษุของท้าวมหาพรหมองค์ใดองค์หนึ่งก็หามิได้ บรรดาพรหมทั้งหมดรวมทั้งพกามหาพรหมได้ยินแต่พระสุรเสียงตรัสเทศนาอยู่ว่า " เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหาที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย ทั้งไม่ยังความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นด้วย "
   ท้าวพกามหาพรหมเพียรพยายามสอดส่องทิพยจักษุแห่งตนเพื่อค้นหาพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดทั้งสามภพจบจักรวาลก็มิสามารหาพบจึงนิ่งอยู่ แล้วเอ่ยวาจาว่า " ดูกร มหาสมณะข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิสามารถหาท่านได้พบได้ยินแต่สุรเสียงแห่งท่าน ขณะนี้ท่านอยู่ ณ สถานที่ใด " พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธดำรัสว่า " แน่ะ พกามหาพรหม ขณะนี้เราเดินจงกรมอยู่ที่บนเศียรของท่าน " เมื่อมีพุทธานุญาตพรหมทั้งปวงจึงมองเห็นพระวรกายของพระองค์ ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลอาราธนาให้เส็ดจลงจากเศียรของตน ( บางตำรากล่าวว่าพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จลง ท้าวพกาพรหมจึงให้บรรเลงเพลงเชิญเสด็จ จึงเป็นที่มาของเพลงสาธุการซึ่งเป็นเพลงไทนเดิมชั้นสูงใช้บรรเลงก่อนพระสวดในงานมงคล และงานไหว้ครู นักดนตรีไทยจะต้องหัดเรียนเพลงนี้ให้ได้ก่อนจะเรียนเพลงอื่น)
   เมื่อเห็นดังนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จลงประทับท่ามกลางหมู่พรหมเมื่อทรงจะทรมานท้าวพกามหาพรหมให้ละจากมานะทิฐิ จึงทรงมีพุทธดำรัสว่า " ดูกร มหาพรหมท่านนี้เป็นผู้มืดมนด้วยอวิชชาหาปัญญามิได้ รู้ตัวฤาไม่ว่าตัวท่านนี้มาแต่ไหนจึงได้มาบังเกิดในพรหมโลกนี้ "
   ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลตอบว่า " ข้าแต่พระสมณะ อันจุติแลปฏิสนธิของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามิได้แจ้ง พระสมณะรู้และเข้าใจก็ขออาราธนาได้วิสัชนาไป ณ กาลบัดนี้เถิด " ท้าวพกามหาพรหมยอมสารภาพแต่โดยดี
   สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงตรัสเล่าประวัติแห่งท้าวพกามหาพรหมท่ามกลางพรหมสันนิบาตนั้นว่า
   " ครั้งหนึ่งโลกยังว่างจากพระบวรพุทธศาสนา ท้าวพกามหาพรหมผู้นี้เกิดเป็นมนุษย์คฤหบดีผู้มีทรัพย์ แต่กลับเห็นโทษแห่งฆราวาสวิสัยการครองเรือนนี้มีแต่โทษทุกข์ระกำใจ ไหนจะต้องตาย ไหนจะต้องเจ็บ ไหนจะต้องแก่ จึงตัดใจแน่วแน่ออกบวชเป็นดาบสประพฤติพรตบำเพ็ญตบะ จนได้สำเร็จ จตุตถฌาน เมื่อทำกาลกิริยาตายลงจึงไปอุบัติบังเกิดเป็นพรหมชั้นสูงใน เวหัปผลาพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยฌานแห่งตนถอยหลังลงมาอยู่ที่ห้อง ตติยฌาน จึงต้องจุติลงมาอุบัติเกิดเป็นพรหมในชั้น สุภกิณหาพรหม เสวยสุขอยู่จนสิ้นอายุขัยกำลังฌานถอยหลังลงมาอยู่ที่ห้อง ทุติยฌาน ฉะนั้นจึงต้องลงมาจุติบังเกิดเป็นพรหมในชั้น อาภัสราพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วกำลังฌานถอยหลังลงมาที่ห้อง ปฐมฌาน จึงต้องมาบังเกิดเป็นพรหม อยู่ในชั้น มหาพรหม ในกาลบัดนี้ เพราะเหตุที่ตนท่องเที่ยวเวียนว่ายเสวยสุขอยู่ในพรหมโลกชั้นต่างๆเป็นเวลานานหนักหนา หนักเข้าเลยทำให้เข้าใจไปว่าพรหมสถานแห่งตนนี้เป็นอมตสถานที่เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน "
   ท้าวพกามหาพรหมเจ้าของชีวประวัติ เมื่อได้สดับพระวจนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรำพึงอยู่ในใจว่า " พระสมณโคดมเจ้า เธอรู้นักหนา ทรงมีพระปัญญายอดยิ่งกว่าบุคคลอื่นใด ทรงรู้เหตุรู้ผล น่าอัศจรรย์ ควรแก่การสรรเสริญยิ่งนัก " จึงเกิดความเลื่อมใส ดวงฤทัยค่อยคลายจากมิจฉาทิฐิไม่ปรากฏมีความเห็นผิดนอกรีตนอกรอยอีกต่อไป ในที่สุดได้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก ครั้นเห็นควรแก่กาลแล้วจึงชวนพรหมบริษัททั้งปวงอันมากมายเหล่านั้นส่งเสด็จพระพิชิตมารกลับมายังมนุษย์โลกเรานี้

   ***หมายเหตุ***
   สาเหตุที่ท้าวพกามหาพรหมหลงผิดว่าตนเป็นผู้สร้างโลกก็เพราะว่า เมื่อตนเองบังเกิดในชั้น มหาพรหมโลกนั้น ยังไม่มีพรหมองค์อื่นปรากฏครั้นตนอยู่คนเดียวนานหนักหนาก็อยากได้เพื่อ เมื่อคิดดังนั้นก็บังเอิญมีพรหมจุติขึ้นใหม่   

   ๐ เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา       โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที

หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ                 โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญฯ

   บทสวดพาหุง ที่เราหลายๆ คนท่องได้แล้ว และบางคนกำลังหัดท่อง ชื่อเต็มๆ มีชื่อว่า "ชัยมงคลคาถา" เป็นบทสวดมนต์ที่เรียบเรียงขึ้นถึงเหตุการณ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชนะพญามารในช่วงต่างๆ ถึง 8 เหตุการณ์ นับตั้งแต่วันตรัสรู้ธรรม จนถึงเหตุการณ์ผกาพรหม เป็นต้น อันเป็นการพรรณาพระพุทธคุณ และแสดงถึงการเอาชนะอุปสรรคที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่น การข่มขู่ ใส่ร้าย อวดดี ถือตัว ของพระพุทธองค์ด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีบุพเพกตปุญญตาที่สูงมากเป็นพื้นฐานด้วยสันติวิธีซึ่งตามตำนานนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสวดบทนี้ทุกครั้ง เพื่อใช้ในการปกครองบ้านเมือง และทำราชการสงคราม เพื่อให้มีชัยเหนืออริราชศัตรู อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาชัยชนะเหนือพญามารผู้ใจบาปได

   บุคคลใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดและระลึกถึงพรุพุทธชัยมงคล ๘ คาถาเหล่านี้ทุกๆ วัน บุคคลนั้นจะพึงละความจัญไรอันตรายทั้งหลายทุกอย่างเสียได้ และเข้าถึงความหลุดพ้น คือ พระนิพพานอันบรมสุข นั้นแลฯ  บทสวดพาหุง ที่เราหลายๆ คนท่องได้แล้ว และบางคนกำลังหัดท่อง ชื่อเต็มๆ มีชื่อว่า "ชัยมงคลคาถา" เป็นบทสวดมนต์ที่เรียบเรียงขึ้นถึงเหตุการณ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชนะพญามารในช่วงต่างๆ ถึง 8 เหตุการณ์ นับตั้งแต่วันตรัสรู้ธรรม จนถึงเหตุการณ์ผกาพรหม เป็นต้น อันเป็นการพรรณาพระพุทธคุณ และแสดงถึงการเอาชนะอุปสรรคที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่น การข่มขู่ ใส่ร้าย อวดดี ถือตัว ของพระพุทธองค์ด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีบุพเพกตปุญญตาที่สูงมากเป็นพื้นฐานด้วยสันติวิธีซึ่งตามตำนานนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสวดบทนี้ทุกครั้ง เพื่อใช้ในการปกครองบ้านเมือง และทำราชการสงคราม เพื่อให้มีชัยเหนืออริราชศัตรู อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาชัยชนะเหนือพญามารผู้ใจบาปได

                   จบพระพุทธชัยมงคลคาถา
     

           

          จรเข้กับลิงเป็นศัตรูกัน  

            เรื่องจระเข้กับลิง

   ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภความพยายามเพื่อปลงพระชนม์พระองค์ของพระเทวทัต ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
  กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาวานรตัวหนึ่ง มีรูปร่างขนาดเท่าลูกม้า มีพละกำลังมาก อาศัยอยู่ในชายป่าแห่งหนึ่ง เที่ยวหากินอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำแห่งหนึ่งซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้นานาชนิด พญาวานรจะกระโจนจากฝั่งแม่น้ำข้างนี้ไปพักที่แผ่นหินกลางน้ำ แล้วกระโจนจากแผ่นหินไปขึ้นบนเกาะนั้นในเวลาเช้า เที่ยวหากินผล
ไม้ต่างๆ ในเกาะนั้นในเวลากลางวัน แล้วจะกระโดดกลับทำนองเดียวกันในเวลาเย็น โดยลักษณะเช่นนี้เป็นประจำทุกวัน
   ในแม่น้ำนั้น มีจระเข้ผัวเมียคู่หนึ่งอาศัยอยู่ ได้มองเห็นลิงนั้นกระโดดข้ามไปมาทุกเช้าเย็น ในเช้าวันหนึ่ง จระเข้ผู้เมียเกิดแพ้ท้องต้องการกินหัวใจของลิง จึงพูดกับสามีว่า
      " พี่ ฉันแพ้ท้องต้องการกินหัวใจของลิงตัวนั้น พี่จงหามาให้ฉันหน่อยนะ "
จระเข้ผู้สามีกล่าวว่า
      " ได้จ้า ที่รัก เดี๋ยวพี่จะคอยจับมันที่มาจากเกาะในเย็นวันนี้ "
ฝ่ายพญาวานรเที่ยวหากินบนเกาะนั้นทั้งวัน ครั้นถึงเวลาเย็นก็มายืนอยู่ที่ชายฝั่งที่เคยกระโดดข้ามทุกวัน มองเห็นความผิดปกติของแผ่นหินกลางน้ำแล้วคิดว่า
      " วันนี้ ทำไมแผ่นหินจึงสูงกว่าเดิม ปริมาณน้ำก็ยังเท่าเดิม เห็นทีจะมีสัตว์อะไรมานอนบนแผ่นหินนั่นกระมัง "
จึงทำเป็นเรียกแผ่นหินว่า
      " หิน หิน "
ก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงพูดเปรยๆขึ้นว่า
      " หิน ทำไมวันนี้ ท่านจึงไม่ขานรับข้าพเจ้าละ"
ฝ่ายจระเข้ที่นอนอยู่บนแผ่นหิน ได้ฟังเช่นนั้นคิดหลงกลว่า
      " ในวันอื่นๆ แผ่นหินนี้ คงให้คำตอบแก่ลิงเป็นแน่ "
จึงขานรับออกไปว่า
      " อะไร ท่านลิง"
พญาวานร
      " ท่านเป็นใคร ? "
จระเข้
      " เราเป็นจระเข้"
พญาวานร
      " ท่านมานอนอยู่ที่นี่ทำไม ? "
จระเข้
      " เพื่อต้องการหัวใจของท่าน"
พญาวานร
      " ท่านต้องการไปทำไม ? "
จระเข้
      " เมียเราแพ้ท้อง ต้องการกินหัวใจของท่าน "
พญาวานรคิดว่า
      " เราไม่มีทางอื่น นอกจากจะลวงจระเข้ตัวนี้ " จึงพูดว่า " จระเข้สหายรัก เราตกลงสละร่างกายให้ท่านแล้วละ เพื่อเห็นแก่ลูกน้อยของท่าน ท่านจงอ้าปากไว้ เราจะกระโจนเข้าปากของท่านเอง "  หลักความจริงมีอยู่ว่าเมื่อจระเข้อ้าปาก ตาทั้ง ๒ ข้างก็จะหลับ จระเข้ไม่ทันคิดถึงเหตุนี้ จึงอ้าปากคอย พญาวานรจึงกระโดดเหยียบหัวจระเข้กระโดดข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามอย่างรวดเร็วจระเข้พอคิดได้ว่าหลงกลพญาวานรก็สายเสียแล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
     " พญาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ
       เช่นกับท่าน ผู้นั้น ย่อมครอบงำศัตรูที่ตนพบเห็นได้ "

   ๐ควานรู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องนี้

      ถ้าท่านไปอาศัยอยู่ ณะ ที่ใดก็ตาม  ถ้าท่านเดือดร้อนเพราะถูกลิงรบกวนบ้านเรือนอยู่ไม่เป็นสุข ให้หารูปปั้นจรเข้มาไว้ในบริเวณบ้าน  ให้วางเอาไว้หลายๆมุม  ลิงจะไม่มารบกวนให้เดือดร้อนอีกเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

Visitors: 139,922