หน้าที่ ๗.สวรรค์ชั้นที่ ๒ คือดาวดึงส์

 

                      สวรรค์ชั้นที่ ๒ คือชั้นดาวดึงส์

      

  
                   สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
   ๐สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ อยู่ห่างจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาขึ้นไป ๓๓๖,๐๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๑๖๘๐๐๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ  อันมียอดสูง ๘๐๐๐๐ โยชน์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดและยังเชื่อมสัมพันธ์กัยโลกมนุษย์อีกด้วย ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้มีเมืองใหญ่ชื่อว่า "ไตรตรึงส์" อยู่ตรงกลางพระนคร
    อาณาบริเวณโดยรอบ ๘๐๐๐๐ ตารางโยชน์ มีท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์เป็นผู้ปกครอง   เมืองบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเมืองใหญ่ที่สร้างขึ้นมาอย่างสวยงามด้วยทองคำและแก้ว ๗ ประการ และมีเสียงดนตรีบรรเลงอยู่อย่างไพเราะ ตรงกลางเมืองไตรตรึงส์นี้มีปราสาทใหญ่อยู่หลังหนึ่งชื่อว่า "ไพชยนต์ปราสาท" ที่มีความงดงามมากอันเป็นที่ประทับอยู่ของพระอินทร์ และเทพบุตรอีก ๓๒ องค์

    นครไตรตรึงส์ เป็นเมืองกว้างขวาง ใหญ่โตมากและมีความยาวถึง ๘ ล้านวา มีปราสาทแก้ว ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ซึ่งมีประตู ๑๐๐๐ ประตู ทุกประตูมียอดปราสาท ทำด้วยทองคำประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ เวลาเปิดปิดประตู จะมีเสียงดังไพเราะราวกับดนตรี
  ทางทิศตะวันออกของนครไตรตรึงส์ มีสวนทิพย์ชื่อ "นันทวัน" มีสมบัติอันเป็นทิพย์ และไม้ดอกไม้ผลมากมาย  เป็นสถานที่เล่นสนุกสนาน สำหรับเทวดาในชั้นนี้ ทางด้านทิศใต้ของนครไตรตรึงส์ มีสวนอุทยานใหญ่ชื่อว่า "ผารุสะกะวัน" ต้นไม้ที่อยู่ในสวนนี้ มีลักษณะอ่อนค้อม ราวกับมีผู้ดัดไว้ ทางทิศตะวันตกของนครไตรตรึงส์ มีอุทยานใหญ่อีกแห่งหนึ่ง เป็นที่เล่นสนุกสนานถูกใจของเทวดาทั้งหลาย ชื่อว่า "จิตรละดา" ต้นไม้และเถาวัลย์ในสวนนี้ สวยงามราวกับมีผู้แต่งประดับไว้ ทางทิศเหนือของนครไตรตรึงส์ มีอุทยานใหญ่ชื่อว่า "มิสสะกะวัน"
   ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของนครไตรตรึงส์ มีสวนใหญ่ชื่อว่า "มหาพน" เป็นสวนสนุกเพลิดเพลิน กำแพงล้อมรอบเป็นทองคำ มีปราสาทแก้วอยู่เหนือประตูทุกแห่ง ปราสาททองคำ ๑๐๐๐ หลัง ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีสระแก้วงดงามมาก ใต้พื้นสระมีแท่นแก้ว อยู่ตรงรถไพชยนต์จอดอยู่ ในแท่นแก้วมีกลดแก้วกางอยู่ กว้างหนึ่งโยชน์ หัวรถไพชยนต์มีม้าแก้ว ๒๐๐๐ ตัว มีสร้อยมุกดาห้อยประดับ พร้อมทั้งมาลัยดอกไม้ทิพย์ แล้วไปด้วยแก้วและทองห้อยประดับอยู่มากมาย อีกทั้งมีสะไบแก้ว และกระพรวนทองคำ มีรัศมีงดงาม เวลาลมพัดจะได้ยินเสียงดังก้องกังวาล ราวกับเสียงพิณพาทย์
  ที่เขาพระสุเมรุนั้น มีช้างตัวหนึ่งชื่อว่า "ไอยราพะตะหรือช้างเอราวัณ" ช้างตัวนี้ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน เพราะในเมืองสวรรค์ ไม่มีสัตว์เดรัจฉานอยู่เลย มีเทวดาองค์หนึ่งชื่อว่า "เอราวัณเทวบุตร" ยามเมื่อพระอินทร์เสด็จไปเล่นที่ใดก็ตาม เอราวัณเทวบุตรก็จะเนรมิตรตัวเป็นช้างเผือกสูงใหญ่ หนึ่งล้านสองแสนวา มีเศียร ๓๓ เศียร มีเศียรเล็กๆ อีก ๒ เศียร   เศียรใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลางชื่อว่า "สุทัศน์"   เป็นที่ประทับของพระอินทร์ มีปราสาทตั้งอยู่ตรงกลาง มีพรวนทองคำห้อยประดับ กวัดแกว่งไปมาเศียรทั้ง ๓๓ เศียรนั้น แต่ละเศียรมีงา ๗ งา งาแต่ละอันมีสระ ๗ สระ แต่ละสระมีกอบัว ๗ กอ บัวแต่ละกอมีดอก ๗ ดอก
   ดอกบัวแต่ละดอกมี ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีนางฟ้ายืนรำอยู่ ๗ องค์ นางฟ้าแต่ละองค์มีสาวใช้ ๗ นาง เมื่อใดที่พระอินทร์เสด็จประทับเหนือแท่นแก้ว ในหัวช้างเอราวัณนั้น พระมเหสีทั้ง ๔ องค์ของพระอินทร์ ต้องเสด็จตามไปเฝ้าอยู่เสมอ ได้แก่ นางสุธัมมา นางสุชาดา นางสุนันทา และนางสุจิตรา นอกจากนี้ ยังมีนางฟ้าที่เป็นมเหสีอีก ๙๒ องค์ และมีเทพธิดาที่บรรเลงดนตรี ถวายพระอินทร์อีกมากมาย เสียงดนตรีที่ปรากฏบนสวรรค์ ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งนัก และมีความมหัศจรรย์มาก เครื่องดนตรีทุกชนิด ไม่ว่าพิณ กลอง สังข์ บัณเฑาะว์ ปี่ สามารถดังขึ้นมาเองได้ หากมีผู้บรรเลงดนตรีชนิดใดขึ้นมา เครื่องดนตรีชนิดเดียวกันนั้น อีกหกหมื่นชิ้นก็จะบรรเลงได้เอง
   ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของนครไตรตรึงส์นี้ มีพระเจดีย์องค์หนึ่งชื่อว่า "พระจุฬามณีเจดีย์" รุ่งเรืองงามประดับด้วยแก้วอินทนิล ตั้งแต่กลางยอดเจดีย์ ไปจนถึงปลายยอดเป็นทองคำ ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ สูง ๘๐๐๐๐ วา มีกำแพงล้อมรอบ มีธงปฎากและธงชัย เทวดาทั้งหลาย ก็ถือเครื่องดีดสีตีเป่าต่างๆ มาบรรเลงบูชาถวายพระเจดีย์ทุกวัน มิได้ขาด พระอินทร์เสด็จไปนมัสการพระเจดีย์ พร้อมด้วยหมู่เทพยดา และนางฟ้าทั้งหลาย ทรงนำกระเช้าตอกดอกไม้ ธูปเทียน ของหอมและชวาลาทั้งหลาย ไปถวายแก่องค์พระเจดีย์มิได้ขาด
  นอกเมืองไตรตึงส์นี้ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุทยานชื่อ "บุณฑริกวัน" มีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีปราสาทแก้วอยู่เหนือประตูทุกๆ ประตู มีต้นทองหลางใหญ่ชื่อว่า "ปาริชาติ กัลปพฤกษ์" ใต้ต้นไม้นี้มีพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ คือพระแท่นศิลาแก้วสีแดงเข้ม อ่อนนุ่มราวกันฟูกและหมอน ใกล้ต้นปาริชาตินั้น มีศาลาใหญ่ชื่อว่า "สุธรรมาเทวสภา" งามยิ่งกว่าศาลาอื่นๆ พื้นศาลาเป็นแก้ว ๗ ประการ มีกำแพงล้อมรอบ มีดอกไม้ชนิดหนึ่งชื่อว่า "อาสาพะตี" มีกลิ่นหอมมาก ดอกไม้นี้บานช้ามาก เวลา ๑ พันปีจึงจะบาน เมื่อดอกบานทั่วทุกกิ่งก้านแล้ว จะมีแสงรุ่งเรืองมาก ที่ศาลานั้นมีราชอาสน์ทิพย์ของพระอินทร์ อีกทั้งที่นั่งของเทวดาทั้ง ๓๒ องค์ ที่เคยได้กระทำบุญร่วมกับพระอินทร์ ในชาติปางก่อน และยังมีที่นั่งของเทวดาทั้งหลาย เรียงกันตามลำดับ
  พระอินทร์เสด็จไปในสุธรรมาเทวสภา เพื่อให้เทวดาทั้งหลาย มาชุมนุนกันในที่นั้น เมื่อใดเทวดาทั้งหลาย ต้องการจะฟังธรรม ก็จะมีพรหมองค์หนึ่งชื่อ "สนังกุมารพรหม" ลงมาจากพรหมโลก เนรมิตตนเป็นคนธรรพ์ชื่อ "ปัญจสิงขร" ปัญจสิงขรคนธรรพ์ จะขึ้นนั่งเหนือธรรมาสน์เพื่อเทศนาธรรม หากว่าพรหมสนังกุมาร ไม่มาเทศนาธรรมให้เทวดา
ทั้งหลายฟัง บางครั้งเทวดาในสวรรค์ ที่เป็นผู้รู้ธรรมก็จะได้รับเชิญ ให้ขึ้นเทศนาธรรมในที่นั้น ในบางครั้งพระอินทร์ ก็ทรงขึ้นธรรมาสน์เทศนาธรรมเอง เมื่อใดพระอินทร์ทรงเทศนาธรรม ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ก็จะพาบริวารไปเฝ้าทั้ง ๔ ทิศ และหมู่คนธรรพ์ ก็จะนำเครื่องดนตรีทั้งหลาย มาบรรเลงร่ายรำกัน อยู่ที่ปลายเขากำแพงจจักรวาลทั้ง ๔ ด้าน
  ยังมีปราสาทแก้ว ปราสาททองคำอีกมากมาย อันเป็นวิมานของเทวดาทั้งหลาย อยู่ในอากาศสูงเทียมเท่าเขาพระสุเมรุ เทวดาทั้งหลายนี้มีอายุยืนถึง ๑๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๓๖ ล้านปี ในเมืองมนุษย์ สมบัติและยศศักดิ์ทั้งหลายของพระอินทร์ และเหล่าเทวดาที่ได้มานั้นได้มา เพราะได้กระทำบุญกุศลธรรมมาแต่ก่อน ผู้ใดปรารถนาจะได้ไปเกิดในเมืองสวรรค์ อย่าได้ประมาทลืมตน ควรเร่งขวนขวายทำบุญกุศล ให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ดูแลบิดามารดา ผู้เฒ่าผู้แก่ ครูอาจารย์ และสมณพราหม์ผู้ทรงศีล ก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนี้

        สิ่งสำคัญในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

   ๑.พระอินทร์

   ๒.นครไตรตรึงษ์

   ๓.อุทยาน

   ๔.อสูรพิภพ

   ๕.บุรพภาคนมัสการ

   ๖.พระจุฬามณีเจดีย์

   ๗.ต้นปาริชาต

   ๘.พระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์

   ๙.สุธรรมาเทวสภา

   ๑๐.สุพรรณบัฏ

   ๑๑.กัณฐกะเทพบุตร

                 ประวัติพระอินทร์

    

     พระอินทร์หรือ “ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช” หรือ “ท้าวสักกเทวราช”  เป็นตำแหน่งของพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งเทพทั้งปวงในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตำแหน่งนี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามผลแห่งบุญกรรมที่ได้กระทำไว้ พระอินทร์องค์ใดสิ้นบุญก็จะมีองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล่าวได้ว่า พระอินทร์นั้นมีหลายองค์ แต่ละองค์ก็มีอายุขัยเป็นไปตามบุญกุศลที่ตนได้กระทำมาประวัติและเรื่องราวของพระอินทร์น่าจะเป็นบทเรียนที่ช่วยให้รู้และเข้าใจถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ว่าท่านคิดอะไรถึงได้ทำเช่นนั้นนอกจากนี้ การได้เรียนรู้วิธีคิดและการกระทำของพระอินทร์เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ไม่ยาก ไม่ใช่เรื่องห่างไกลและเฟ้อฝันเลยเพราะตัวท่านเองก็สามารถประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาได้

   พระอินทร์ทรงมีชื่อหลายชื่อ  ชื่อที่เรียกพระอินทร์มีหลายชื่อ แต่ละชื่อบอกถึงคุณสมบัติหรือกุศลที่ทรงได้ทำมาในอดีต  เช่น:-
      
ท้าวมฆวาน
  - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ชื่อว่า มฆะ
      ท้าวปุรินททะ
  - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานก่อนเขา
      ท้าวสักกะ หรือ ท้าวสักกเทวราช
  - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานโดยความเคารพ
     
ท้าววาสะ หรือ วาสพะ
  - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ที่พักแก่คนทั่วไป
     
ท้าวสหัสนัย หรือ สหัสสเนตร หรือ ท้าวพันตา
  - ทรงคิดรู้ข้อความทั้งพันชั่วเวลาครู่เดียว
      ท้าวสุชัมบดี
  - ทรงมีชายาชื่อว่า สุชา
      ท้าวเทวานมินทะ หรือ พระอินทร์
  - ทรงครอบครองราชสมบัติเป็นอิสริยาธิบดีแห่งทวยเทพชั้นดาวดึงส์

       วัตตบท ๗ ประการ
   วัตตบท ๗ ประการ ได้แก่
   ๑. เลี้ยงดูมารดาบิดาตลอดชีวิต
   ๒. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
   ๓. มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต
   ๔. มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต
   ๕. มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกทาน ในการครองเรือนตลอดชีวิต
   ๖. มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต
   ๗. ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าโกรธก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต

   ถ้าใครอยากจะเป็นพระอินทร์ต้องบำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ เหล่านี้ให้ครบทุกข้อ จะขาดเสียข้อใดข้อหนึ่งมิได้โดยเด็ดขาด

   ประวัติและเรื่องราวของพระอินทร์ เป็นการชี้แนะถึงวิธีการทำบุญที่จะช่วยให้เรารู้และเข้าใจถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ว่าท่านคิดอะไรถึงได้ทำเช่นนั้น  นอกจากนี้ การได้เรียนรู้วิธีคิดและการกระทำของพระอินทร์เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ไม่ยาก ไม่ใช่เรื่องห่างไกลและเฟ้อฝันเลยเพราะตัวท่านเองก็ได้ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ได้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึง พระอินทร์ ในสมัยพุทธกาล เท่านั้น
    
ประวัติการทำบุญของพระอินทร์
   ณ หมู่บ้าน มจลคาม แคว้นมคธ มีมาณพคนหนึ่งชื่อว่า มฆมาณพ (อ่านว่า มะ-ฆะ-มา-นพ) มีใจใฝ่ให้ทาน รักษาศีลอยู่เสมอทั้งยังชอบแผ้วทาง ทำงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น ปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน สร้างศาลา ปลูกต้นไม้ ขุดสระน้ำ ทำถนนหนทางทำสะพาน จัดหาตุ่มน้ำ และสิ่งทั้งหลายที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และมีนิสัยชอบความสะอาดเรียบร้อย ต้องการให้ท้องถิ่นดูสะอาดน่ารื่นรมย์
  •คิดดี คิดถูก คิดเป็น นำมาซึ่งความสุข
   ขณะที่มฆมาณพทำงานในหมู่บ้าน ก็ใช้เท้าเกลี่ยฝุ่นในที่ซึ่งยืนอยู่ให้เรียบ คนอื่นเข้ามาแย่งที่ก็ไม่โกรธ กลับถอยไปทำที่อื่นให้เรียบต่อ แต่ก็ยังมีคนมายึดที่ที่เกลี่ยเรียบไว้แล้วนั้นอีก ถึงกระนั้นมฆมาณพก็ไม่โกรธ กลับเห็นว่า คนทั้งปวงมีความสุขด้วยการกระทำของตนฉะนั้น กรรมนี้ย่อมส่งผลกลับมาเป็นบุญที่ให้สุขแก่ตนแน่
   มฆมาณพก็ยิ่งมีจิตขะมักเขม้น ตั้งใจที่จะทำพื้นที่ให้เป็นที่น่ารื่นรมย์มากยิ่งๆ ขึ้น
จึงใช้จอบขุดปรับพื้นที่ให้เรียบเป็นลานให้แก่คนทั้งหลายทั้งยังเอาใจใส่ให้ไฟให้น้ำในเวลาที่ต้องการ และได้แผ้วถางสร้างทางสำหรับคนทั้งหลาย ต่อมามีชายหนุ่มอีกหลายคนได้เห็นก็มีใจนิยม จึงมาสมัครเป็นสหายร่วมกันทำถนนหนทางเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนนับได้ ๓๓ คน ทั้งหมดช่วยกันขุดถมทำถนนยาวออกไปจนถึงประมาณโยชน์หนึ่งบ้าง สองโยชน์บ้าง
  • เมื่อประพฤติธรรมย่อมไม่หวั่นไหวต่อภัยใดๆ ทั้งสิ้น
   ฝ่ายผู้ใหญ่บ้านเห็นว่าคนเหล่านั้นประกอบการงานที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร จึงเรียกมาสอบถามและสั่งให้เลิก แต่มฆมาณพและสหาย ๓๒ คนกลับกล่าวว่า พวกตนทำทางสวรรค์ จึงไม่ฟังคำห้ามของนายบ้าน พากันทำประโยชน์ต่อไปนายบ้านโกรธและไปทูลฟ้องพระราชาว่า มีโจรคุมกันมาเป็นพวกพระราชามิได้พิจารณาไต่สวนดูให้เห็นเท็จและจริง หลงเชื่อ จึงมีรับสั่งให้จับมฆมาณพและสหายมาแล้วปล่อยช้างให้เหยียบเสียให้ตายทั้งหมด
   ฝ่ายมฆมาณพเห็นเช่นนั้น ก็ได้ให้โอวาทแก่สหายทั้งหลาย ไม่ให้โกรธผู้ใดและให้แผ่เมตตาจิตไปยังพระราชา นายบ้านช้าง และตนเอง ให้เสมอเท่ากัน ชายหนุ่มทั้งหมดได้ปฏิบัติตาม  ช้างไม่สามารถเข้าใกล้ตัวของสหายทั้ง ๓๓ คนได้ด้วยอำนาจของเมตตา
   พระราชาเห็นดังนั้น จึงรับสั่งให้ใช้เสื่อลำแพนปูปิดคนเหล่านั้นเสียแล้วปล่อยให้ช้างเหยียบอีก แต่ช้างกลับถอยห่างออกไปไกล พระราชาเมื่อทรงเห็นเหตุเช่นนั้นจึงทรงรับสั่งให้นำคนเหล่านั้นมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสสอบถามถึงสาเหตุที่กระทำเช่นนั้น เมื่อทรงทราบความจริงแล้ว ก็ทรงโสมนัสและทรงแต่งตั้งมฆมาณพให้เป็นนายบ้านแทนนายบ้านคนเดิมซึ่งตอนนี้ถูกลงโทษให้เป็นทาสของมาณพทั้ง ๓๓ คนแล้ว
  • บุญเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายได้
   สหายทั้ง ๓๓ คน นอกจากจะได้พ้นโทษออกมายังมาได้รับพระราชทานกำลังสนับสนุน ก็ยิ่งเห็นอานิสงส์ของบุญมีใจผ่องใสคิดทำบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ได้สร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชน เป็นถาวรวัตถุที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง ศาลานั้นได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ที่พักสำหรับคนทั่วไป ส่วนหนึ่งสำหรับคนยากจนเข็ญใจ ส่วนหนึ่งสำหรับคนป่วย ทั้ง ๓๓ คนได้ปูลาดแผ่นอาสนะของตนไว้ทั้ง ๓๓ ที่ โดยตกลงกันไว้ว่า ถ้าอาคันตุกะผู้จรมาเข้าไปพักบนแผ่นอาสนะของผู้ใดก็ให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้นั้นจะต้องรับรองเลี้ยงดู  มฆมาณพยังได้ปลูกต้นทองหลาง (ต้นโกวิฬาระ) ไว้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกลจากศาลา ภายใต้ต้นทองหลางได้วางแผ่นหินไว้ด้วย
   มฆมาณพและสหายทั้ง ๓๒ คนบำเพ็ญสาธารณกุศลเช่นนี้ตลอดชีวิตเรียกว่า บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ ครั้นสิ้นอายุขัยก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

         ประวัติภริยาทั้ง ๔ ของพระอินทร์

    ท้าวมฆมาณพมีภรรยา ๔ คนคือ:- 

    ๑.นางสุธรรมา

    ๒.นางสุจิตรา

    ๓.นางสุนันทา

    ๔.นางสุชาดา
  นางสุธรรมาทำช่อฟ้าติดศาลาที่ท้าวมฆมาณพสร้างไว้  นางสุจิตราทำสวนหย่อมปลูกต้นไม้  นางสุนันทาสร้างสระน้ำ  ส่วนนางสุชาดาไม่ทำอะไรกับเขาเลย แต่ละวันก็เอาแต่แต่งตัว
   เมื่อภรรยาทั้ง ๔ คน เหล่านี้ตายไปมฆมาณพกับเพื่อนอีก ๓๒ คนและนางสุธรรมา,นางสุจิตรา,และนางสุนันทาไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมกับมฆมานพๆ ได้ไปเกิดเป็น  พระอินทร์  นางสุธรรมาไปเกิดเป็นนางฟ้าพร้อมด้วยเทวสภาที่มีชื่อว่า "สุธรรมา"
   นางสุจิตราไปเกิดเป็นนางฟ้าพร้อมด้วยสวนที่มีชื่อว่า "จิตรลดาวัน"
   สุนันทาไปเกิดเป็นนางฟ้าพร้อมด้วยสระบัวที่มีชื่้อว่า "สุนันทา"

   ส่วนนางสุชาดาไปเกิดเป็นนกกระยาง
   ในเทวดา ๓๓ องค์ เหล่านั้น มีเทวดาองค์หนึ่งพิเศษกว่าองค์อื่นคือปกติเป็นเทวดาแต่เวลาพระอินทร์จะเสด็จประพาสอุทยานก็จะแปลงกายเป็นช้างชื่อว่า "เอราวัณ" ซึ่งมีเศียร ๓๓ เศียรให้พระอินทร์และเพื่อนเทวดานั่ง  แต่ละเศียรมีสระบัว  มีนางฟ้าฟ้อนรำอยู่บนกลีบบัว
   ส่วนนางสุชาดาไม่ได้ไปเกิดบนสวรรค์กับเขาเพราะมัวแต่แต่งตัวไม่ทำบุญกับเขา พอตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นนกกระยางหาปลากินตามประสา 

   วันหนึ่งพระอินทร์ใช้ตาทิพย์เล็งดูว่านางสุชาดาไปเกิดเป็นอะไร พอพระองค์ทราบก็ลงมายังโลกมนุษย์  บอกแก่นางนกกระยางให้รักษาศีลอย่ากินสิ่งมีชีวิต ทรงเล่าเรื่องชายาที่เหลือ ๓ คนให้ฟัง นางนกกระยางก็เชื่อฟังแล้วทำตามรับสั่ง  กินแต่ปลาที่ตายแล้วจนผ่ายผอมตายไปเกิดเป็นธิดาท้าวเวปจิตติเจ้าอสูรซึ่งเป็นศัตรูกับพระอินทร์ ภพของพวกอสูรอยู่บนเขาพระสุเมรุตอนแรก  ภายหลังรบแพ้พระอินทร์กับพวกเลยต้องไปอยู่เชิงเขาพระสุเมรุแทน ท้าวเวปจิตติจัดให้มีการประชุมอสูรหนุ่มเพื่อเลือกคู่ให้ธิดาชื่อสุชาดา  เมื่อพระอินทร์ทรงทราบข่าวจึงปลอมตัวเป็นอสูรแก่ถือพิณทองมายืนปะปนกับพวกอสูรหนุ่มทั้งหลาย
   ธิดาอสูรเห็นอสูรแก่แล้วก็หลงรักเพราะเห็นรูปภายในและเคยเป็นคู่กันมาแต่ก่อนเลยโยนพวงมาลัยให้  พระอินทร์จึงกลับคืนร่างเดิมพานางเหาะหนีไปสวรรค์ดาวดึงส์  นางสุชาดาขอพรกับพระอินทร์ไว้ว่า ถ้าเสด็จไหนขอตามเสด็จด้วยทุกครั้งไป
    ตำแหน่งพระอินทร์ไม่ใช่ตำแหน่งถาวร องค์เก่าหมดบุญไป องค์ใหม่ก็มาแทนที่
บางทีพระอินทร์ก็กลัวหมดบุญเหมือนกันจึงปลอมตัวเป็นคนแก่พานางสุชาดาลงมาทำบุญตักบาตรในโลกมนุษย์กับพระอรหันต์หวังจะยืดอายุการเป็นพระอินทร์ให้ยืนนานออกไปอีก  พอพระท่านทราบก็ตำหนิเอา

    ครั้งหนึ่งพระมหากัสสปะทรงเข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลา ๗ วัน  พอครบ ๗ วันท่านก็ออกจากนิโรธสมาบัติแล้วท่านก็คิดว่าจะไปโปรดใครดีหนอ

    สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปะ ออกจากนิโรธสมาบัติ  ประสงค์จะสงเคราะห์คนเข็ญใจ จึงเที่ยวบิณฑบาต  เพราะหากใครทำบุญกับพระภิกษุผู้ออกจานิโรธสมาบัติ  ผลบุญย่อมมีมากมายคือจะได้รับผลบุญในวันนั้นเลยคือผลบุญทันตาเห็น  สมัยนั้นก็มีนางเทพธิดา  มาในรูปร่างเทพธิดา ตั้งใจนำอาหารทิพย์มาถวายท่านพระมหากัสปปะ แต่เมื่อท่านเห็นว่าเป็นเทวดา ท่านพระมหากัสสปะก็ปฏิเสธ เพราะต้องการอนุเคราะห์คนเข็ญใจ
   เมื่อท้าวสักกะเทวราชทรงทราบเรื่องนี้ จึงแปลงเป็นคนยากจนมาก เป็นคนแก่ ทอผ้าอยู่ เนรมิตทางเดิน และ บ้านเก่าๆ ระหว่างทางที่ท่านพระมหากัสสปะมา  พระมหากัสสปะไม่ได้เข้าฌานในขณะที่บิณฑบาต จึงไม่ทราบว่าเป็นท้าวสักกะเทวราชปลอมตัวมา  จึงสำคัญว่าเป็นคนจนเข็ญใจ  ท่านพระมหากัสสปะจึงมอบบาตรให้กับท้าวสักกะเทวราชที่ปลอมเป็นคนจนมา  ท้าวสักกะเทวราชทรงใส่ใส่อาหารทิพย์  กลิ่นหอมไปทั่วพระนครราชคฤห์  ท่านพระมหากัสสปะคิดว่า  คนจนนี้ใส่อาหารประณีตมากดังเช่นอาหารของเทวดา จึงเข้าฌานและรู้ว่าเป็นท้าวสักกะเทวราชปลอมตัวมา จึงกล่าวกับท้าวสักกะว่า "พระองค์ทำกรรมที่ไม่สมควร เป็นโจรปล้นชาวบ้าน  ถ้าคนจนเข็ญใจได้ใส่บาตรอาตมาในวันนี้ย่อมได้เป็นเศรษฐีในวันนี้เลยทีเดียว"  

   ท้าวสักกะเทวราชกล่าวว่า "แม้กระผมก็เป็นคนจนเข็ญใจเช่นกัน ตอนนี้เทพบุตร
๓ องค์ ได้ทำบุญกับพระพุทธศาสนาและ เมื่อมาเกิดมาเป็นเทวดา มีรัศมีกลบกระผม  กระผมต้องหลบเข้าไปในที่อยู่เพราะรัศมีของเทพบุตรทั้ง ๓ เกินกระผม  กระผมเป็นคนยากจนเข็ญใจเพราะเหตุนี้  ท้าวสักกะถามต่อว่า  กระผมจะได้บุญหรือไม่ ท่านพระมหากัสสปะกล่าวว่า พระองค์ทำกุศลย่อมได้บุญ  ท้าวสักกะเกิดปิติ  กล่าวขึ้นว่า โอ ทานนี้เป็นทานอันยอดเยี่ยมที่เราถวายกับท่านพระมหากัสสปะ
   ถามว่า "ท้าวสักกะเทวราช เป็นพระโสดาบันแล้ว ทำไมถึงปลอมตัวมาทำบุญอีก?"
   ตอบว่า "การที่ท้าวสักกะเทวราชกล่าวว่า กระผมเป็นคนจนเข็ญใจ เพราะมีรัศมีน้อย เป็นต้น เพราะไม่ได้ทำบุญในพระพุทธศาสนา นี่ก็เป็นเหตุการแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์นี้ เกิดก่อนที่ท้าวสักกะจะเป็นพระโสดาบัน เพราะในความเป็นจริง ผู้ที่ทำบุญในพระพุทธศานา ก็ไม่ใช่หมายถึงทานเท่านั้น แม้แต่กุศลจิตที่เกิดพร้อมปัญญา โดยเฉพาะการบรรลุธรรม เป็นพระโสดาปัตติมรรคจิตที่เป็นกุศลจิตประกอบด้วยปัญญาขั้นโลกุตตระ  ย่อมเป็นกุศลในพระพุทธศาสนาที่มีกำลังมาก นั่นแสดงว่า ท่านยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้ทำบุญ คือ ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ความเป็นพระอริยบุคคลก็ย่อมทำให้มีรัศมีมาก เช่นกัน แต่ที่ท่านมีรัศมีน้อย เพราะยังไม่ได้ทำบุญในพระพุทธศาสนา คือ บรรลุธรรมนั่นเอง
   อีกประเด็นหนึ่ง ที่ท้าวสักกะตรัสว่า  ท่านเป็นคนจนเข็ญใจ  ซึ่งในความเป็นจริง หากท่านเป็นพระโสดาบันท่านจะไม่กล่าวเลยว่า ท่านเป็นคนจนเข็ญใจ เพราะพระโสดาบัน ไม่ใช่คนจนในโลกนี้ แต่ คนจนในโลกนี้ คือ จนในคุณความดี จนในศรัทธา จนในปัญญา เป็นต้น เพราะไม่มีอริยทรัพย์ แต่พระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้มีอริยทรัพย์ ๗ ประการ มีศรัทธา และ ปัญญา เป็นต้นดีแล้ว จึงไม่ใช่คนจนในโลก
   สมดังในเรื่อง ท่านสุปปพุทธกุฏิ ที่ก่อนที่ท่านจะบรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านก็เป็นคนจนอย่างมาก และมีแผลเต็มตัวแต่ต่อมาท่านฟังพระธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ท้าวสักกะเทวราชมากล่าวกับท่านว่า "ขอให้ท่านพูดคำว่าพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นต้น ปฏิเสธพระรัตนตรัย เราจะให้ทรัพย์กับท่าน  เพราะท่านเป็นคนจนอย่างมาก ท่านสุปปพุทธกุฏิกล่าวว่า "เราไม่ใช่คนยากจนในโลกนี้อีกแล้ว เพราะเรามีอริยทรัพย์คือทรัพย์ภายในแล้ว" 

                    นครไตรตรึงส์

   ๐นครไตรตรึงส์ เป็นเมืองกว้างขวางใหญ่โตมากและมีความยาวถึง ๘ ล้านวา มีปราสาทแก้ว ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ซึ่งมีประตู ๑๐๐๐ ประตู ทุกประตูมียอดปราสาท ทำด้วยทองคำประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ เวลาเปิดปิดประตู จะมีเสียงดังไพเราะราวกับเสียงดนตรี

              อุทยานในนครไตรตรึงส์

   ๐บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้มีอุทยานที่สวยงามมากอยู่ ๔ แห่ง คือ:-
    ๑.สวนนันทวัน (สวนที่รื่นรมย์) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในสวนด้านที่ใกล้กับตัวเมืองมีสระใหญ่ ๒ สระ สระหนึ่งมีชื่อว่า "สระนันทาโบกขรณี" อีกสระหนึ่งมีชื่อว่า "จุลนันทาโบกขรณี" มีแผ่นศิลา ๒  แผ่น แผ่นหนึ่งมีชื่อว่า "นันทาปริถิปาสาณ" อีกแผ่นหนึ่งมีชื่อว่า "จุลนันทาปริถิปาสาณ" เป็นศิลาที่มีรัศมีเรืองรอง เมื่อจับดูจะรู้สึกว่านิ่มเหมือนขนสัตว์
    ๒.สวนผรุสกวัน หรือ สวนปารุสกวัน (ป่าลิ้นจี่) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในอุทยานนี้ด้านใกล้ตัวเมือง มีสระใหญ่ ๒ สระ สระหนึ่งมีชื่อว่า "ภัทราโบกขรณี" อีกสระหนึ่งมีชื่อว่า "สุภัทราโบกขรณี" มีก้อนแก้วใสอยู่ ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งมีชื่อว่า "ภัทราปริถิปาสาณะ" อีกก้อนหนึ่งมีชื่อว่า "สุภัทราปริถิปาสาณะ" เป็นแก้วเกลี้ยงและอ่อนนุ่ม
    ๓.สวนจิตรลดาวัน (ป่ามีเถาวัลย์หลากสีสวยงาม) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สระในอุทยานนี้มีชื่อว่า "จิตรโบกขรณี และจุลจิตรโบกขรณี" ส่วนแผ่นศิลาแก้วในอุทยานนี้แผ่นหนึ่งมีชื่อว่า "จิตรปาสาณะ" อีกแผ่นหนึ่งมีชื่อว่า "จุลจิตรปาสาณะ"
    ๔.สวนสักกวัน หรือ มิสกวัน (ป่าไม้ระคน) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สระใหญ่ในอุทยานนี้มีชื่อว่า"ธรรมาโบกขรณี และสุธรรมาโบกขรณี" ส่วนแผ่นศิลาแก้วมีชื่อว่า "ธรรมาปริถิปาสาณะ และสุธรรมาปิริถิปาสาณะ"

                 อสูรพิภพ

   อสูรพิภพ คือพื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของพวกอสูรซึ่งอยู่ต่ำจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมา  มีเนื้อที่เท่ากับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์คือ ๘๐๐๐๐  โยชน์ พวกอสุรทั้งหลาย มี ช้าง ม้า ข้า ทาส บริวาร รี้พลทแกล้วทหาร ณ บริเวณใต้เขาพระสุเมรุ โดยกว้างได้หมื่นโยชน์ ประกอบด้วยแผ่นทองคำงามเรืองรอง เป็นเมืองที่มีพระยาอสูรปกครองอยู่ นับจากระยะทางโลกมนุษย์ถึงอสุรภพลึก ๘,๔๐๐ โยชน์ มีเมืองอสูรใหญ่ ๔ เมือง มีพระยาอสูรอยู่เมืองละ ๒ คน มีปราสาทราชมนเทียรประกอบด้วยทองคำและแก้ว ๗ ประการ มีกำแพงทองคำประดับแก้วมีค่า มีปราการประตูเมือง ๑,๐๐๐ ประตู ประกอบและประดับแก้วมีค่า มีคูล้อมรอบ ลึกเท่าความสูงของต้นตาล กลางเมืองมีสระทอง มีดอกบัวเบญจพรรณ งามเรืองดั่งทองประดับแก้ว ๗ ประการ พระยาอสูรลงเล่นในสระเปรียบเหมือนเล่นในนันทนโบกขรณี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนั้นยังมีเมืองเล็ก ๆ และหมู่บ้านใหญ่น้อยล้อมรอบ มีมหาสมุทรกลางเมืองทำให้เมืองชุ่มชื้น

    กลางอสูรพิภพนี้มีต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีชื่อว่า "ต้นแคฝอย" ต้นไม้นี้มีมาตั้งแต่แรกเกิดโลกขึ้น ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้ประจำภพอสูร ใหญ่เท่าต้นปาริชาตในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์คือ ตั้งแต่โคนต้นถึงค่าคบ สูง ๔๐ โยชน์ ตั้งแต่ค่าคบถึงยอดสูง ๔๐ โยชน์ มีตารอบต้น แต่ละตายาว ๔๐ โยชน์ ใต้ต้นไม้นี้มีแผ่นหิน ๔ แผ่น อยู่รอบโคนต้นแคฝอยทั้ง ๔ ทิศ แผ่นหินนั้นกว้างยาวด้านละ ๓ โยชน์ วันดีคืนดีพระยาอสูรทั้งหลายก็จะไปเล่นสนุก ณ ที่นั้น อสูรเหล่านั้นมีความเป็นอยู่ดีมาก มีปราสาทราชมนเทียรประดับด้วยเงินทองคำและแก้ว ๗ ประการ รุ่งเรืองงามยิ่งนัก แต่ยังน้อยกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นิดหนึ่ง เราจะเห็นว่า ภพอสูรนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าภพของเทวดาเลย ทั้งคู่มีความสมน้ำสมเนื้อกันและก็เป็นศัตรูคู่แค้นที่ต่างก็ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ทั้งในพุทธศาสนามหายานก็ไม่ได้รังเกียจว่าอสูรว่าเป็นพวกชั่วร้ายแต่อย่างใด เพราะอสูรเองก็ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์พุทธศาสนาทั้ง ๘ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ๘ เทพอสูรมังกรฟ้า

    ต้นแคฝอยนี้เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญญาลักษ์ของภพอสูร ๑๐๐๐ ปี มันจะบานครั้งหนึ่ง เมื่อต้นแคฝอยบานแล้วจะทำให้พวกอสูรเข้มแข็งมีพละกำลังมากขึ้นถึงกับจัดเตรียมรี้พลเป็นกองทัพไปรบกับพระอินทร์เพื่อทวงเอาพื้นที่อันเป็นที่อยู่เดิมของตนคืน

    ในอสูรพิภพนี้มีอสูรที่เป็นราชาปกครองภพอสูรชื่อว่า "ท้าวเวปจิตตาสูร หรือ ท้าวสัมพรอสูร"

    -ทางด้านทิศตะวันออกของภพ มีท้าวจิตตาสูร เป็นเป็นใหญ่ มีท้าวไพจิตตาสูรเป็นอุปราช

    -ทางด้านทิศใต้ของภพ มีท้าวอสัพพราสูร เป็นใหญ่ มีท้าวสุลิอสูรเป็นอุปราช

    -ทางด้านทิศตะวันตกของภพ มีท้าวเวลาสูรเป็นใหญ่ มีท้าวบริกาสูรเป็นอุปราช

    -ทางด้านทิศเหนือของภพ มีท้าวพรหมทัตตาสูรเป็นใหญ่ มีท้าวอสุรินทราหูเป็นอุปราช

                    ประวัติอสุรินทราหู

    ๐ในอสูรพิภพนี้ยังมีอสูรที่เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ตนหนึ่งชื่อว่า "อสุรินทราหู"

     ในสมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ในนครสาวัตถี อสุรินทราหูซึ่งเป็นอสูรอุปราชของท้าวเวปจิตติอสุรบดินทร์ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากเหล่าเทวดาทั้งหลาย จึงมีความประสงค์จะฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ แต่คิดว่าพระพุทธองค์เป็นมนุษย์มีพระวรกายเล็ก ตนเองมีร่างกายใหญ่หากไปเฝ้าก็จะต้องก้มลงมองด้วยความลำบาก เมื่ออสุรินทราหู ไปเข้าเฝ้าสำคัญตัวว่ามีร่างกายใหญ่โตใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อม

    พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะลดทิฐิของอสุรินทราหูอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูอสูร ทรงนอนในลักษณะเสด็จสีหไสยาสน์ พระเศียรหนุนภูเขาต่างพระเขนย พระบาททั้งสองข้างที่วางซ้อนกันอยู่ สูงใหญ่กว่าอสุรินทราหู อสุรินทราหูต้องแหงนคอเพื่อชมพุทธลักษณะ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์พาอสุรินทราหูขึ้นไปยังพรหมโลก บรรดาพรหมทั้งหลายมีร่างกายเล็กกว่าพระพุทธองค์และต่างมองอสุรินทราหูเหมือนประหนึ่งมนุษย์ดูมดปลวกตัวเล็กๆ อสุรินทราหูเกิดความกลัวต้องหลบอยู่ข้างหลังพระพุทธองค์นับแต่นั้นมาก็ลดทิฐิมานะ อ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ และเมื่อได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุดแห่งชีวิต

                  คำบุรพนมัสการ

    ๐คำนมัสการที่ใช้สวดอยู่ทุกวันนี้ ใครเป็นคนกล่าวก่อน

      -นโม      สาตาคิริยักษ์ และ เหมวตายักษ์  เป็นคนกล่าวครั้งแรก

      -ตัสสะ    อสุรินทราหู    เป็นคนกล่าวคนแรก

      -ภควโต  ตะปุสสะและภัลลิกะมานพ     เป็นคนกล่าวคนแรก

      -อรหโต   สมเด็จอมรินทราธิราช      เป็นคนกล่าวคนแรก

      -สัมมาสัมพุทธัสส     ท้าวพกาพรหม    เป็นคนกล่าวคนแรก

                        พระธาตุจุฬามณีเจดีย์

      

    ๐พระธาตุจุฬามณีเจดีย์  อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของนครไตรตรึงส์  มีแสงสว่างรุ่งเรืองงดงามยิ่งนักประดับประดาด้วยแก้วอินทนิล ตั้งแต่กลางยอดเจดีย์ ไปจนถึงปลายยอดเป็นทองคำ ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ สูง ๘๐๐๐๐ วา มีกำแพงล้อมรอบ มีธงปฎากและธงชัย เทวดาทั้งหลาย ก็ถือเครื่องดีดสีตีเป่าต่างๆ มาบรรเลงบูชาถวายพระเจดีย์ทุกวัน มิได้ขาด พระอินทร์เสด็จไปนมัสการพระเจดีย์ พร้อมด้วยหมู่เทพยดา และนางฟ้าทั้งหลาย ทรงนำกระเช้าข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน ของหอมและชวาลาทั้งหลาย ถวายแก่องค์พระเจดีย์มิได้ขาด

    พระจุฬามณีเป็นชื่อของพระเจดีย์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ เหล่าเทพบุตรและเทพธิดาทั้งหลายจากสวรรค์ทุกชั้นฟ้า จะหยุดการละเล่นชั่วคราว เพื่อนำดอกไม้มาบูชาพระเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้  ในองค์พระเจดีย์มีพระเกสาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เหล่าทวยเทพถือว่า การได้ไหว้พระจุฬามณีเจดีย์อันเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็นการเติมบุญให้แก่ตัวเอง แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานมาแล้วก็ตาม
    พระเกสาโมลีนี้ ท้าวสักกเทวราชทรงนำขึ้นไปประดิษฐานเอาไว้ ตั้งแต่วันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์คือออกบวช คืนวันนั้น พระมหาบุรุษทรงตัดสินพระทัยเด็ดเดี่ยว ขี่ม้ากัณฐกะ เสด็จออกไปพร้อมด้วยนายฉันนะอำมาตย์ มุ่งหน้าสู่ป่าเพื่อออกบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

    ทันใดนั้นเอง ภพของพญามารก็หวั่นไหว พญามารก็รู้ว่ามีผู้คิดหาทางหลุดพ้นไปจากเงื้อมมือของตน ไม่ยอมเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏอีกต่อไป มารผู้มีบาปรีบเข้ามาขวาง หวังจะให้พระโพธิสัตว์กลับไปเสวยเบญจกามคุณในพระบรมมหาราชวัง มารจึงปรากฏกายอยู่ในอากาศ กล่าวห้ามว่า “ท่านอย่าได้ออกบวชเลย นับตั้งแต่วันนี้ไป ๗ วัน จักรรัตนะจักปรากฏแก่ท่าน ท่านจักได้ครอบครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจักพรรดิราชในทวีปทั้งสี่ ขอให้ท่านจงกลับไปเสียเถิด"

    พระโพธิสัตว์ก็ไม่ทรงเชื่อคำของพญามารจึงเอาพระหัตถ์เบื้องซ้ายจัยมวยผมแล้วจึงเอาพระหัตถ์เบื้องขวาจับพระขรรค์ตัดมวยผมแล้วจึงทรงอธิษฐานว่า "ถ้าข้าพเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขออย่าให้เส้นผมแม้แต่เส้นเดียวตกลงมายังพื้นดินเลย เส้นพระเกสาทุกเส้น ก็ลอยอยู่บนอากาศ จึงร้อนถึงพระอินทร์ ต้องเสด็จเอาพานลงมารับพระเกสาเอาไว้ แล้วได้นำเอาไปสร้างเป็นเจดีย์ครอบเอาไว้ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีชื่อว่า "พระจุฬามณีเจดีย์"

                    ต้นปาริกชาต

   

    ๐ นอกนครไตรตรึงส์ออกไป ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุทยานใหญ่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า ปุณฑริกวัน มีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน กลางสวนมีไม้ทองหลางใหญ่ต้นหนึ่ง เป็นไม้ทิพย์ชื่อว่า ปาริกชาต หรือต้นปาริชาต ต้นไม้นี้ ๑๐๐ บี จะมีดอกบานครั้งหนึ่ง และขณะที่ดอกปาริชาตนี้บานจะมีรัศมีเรืองแผ่ไปไกลถึง ๕๐ โยชน์  และส่งกลิ่นหอมไปไกลได้ ๑๐๐ โยชน์  ถ้าเมื่อลมพัดไปทางทิศใด ลมนั้นก็จะมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทิศนั้นอย่างตลบอบอวลอยู่ทั่วบริเวณสวรรค์ชั้นนี้นานเท่านาน ยามที่ดอกปาริกชาตนี้บาน จะมีเหล่าเทพบุตรเทพธิดามาเล่นสนุกสนานใต้ต้นปาริกชาตนี้เป็นจำนวนมากและกลิ่นดอกปาริกชาตที่โชยโรยรินมาต้องเทพบุตรเทพธิดาองค์ใด เทพบุตรและเทพธิดาองค์นั้นก็จะระลึกชาติได้อย่างน่าอัศจรรย์   คือถ้าเทพบตรและเทพธิดาองค์ไหนได้ดมดอกปาริกชาตนี้ก็จะทำให้ระลึกชาติหนหลังได้

    ดอกไม้ที่สำคัญในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มี ๕ ชนิด   คือ:-

     ๑.ดอกปาริกชาต

     ๒.ดอกกัลปพฤกษ์

     ๓.ดอกมณฑารพ

     ๔.ดอกหริจันทน์

     ๕.ดอกสันตาน

                พระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์

    

    ๐พระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ เป็นแท่นหินที่มีสีคล้ายผ้ากัมพลสีแดง อยู่ภายใต้ต้นปาริกชาตหรือต้นทองหลางในสวนปุณฑริกวัน ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครไตรตรึงส์  ในตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา  พระองค์ก็จำพรรษาที่โคนต้นปาริกชาตนี้ เป็นเวลา ๓ เดือน  ภายใต้ต้นทองหลางนี้มีพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นแท่นหินมีสีคล้ายผ้ากัมพลแดง มีลักษณะอ่อนนุ่มเหมือนผ้ากัมพล ผ้ากัมพลคือผ้าที่ทอด้วยขนสัตว์ พระอินทร์จะต้องเสด็จมานั่งที่พระแท่นนี้ทุกวัน เพื่อจะได้ทราบว่ามนุษย์ผู้มีบุญคนไหนกำลังเดือดร้อน พระองค์ก็จะได้เสด็จลงไปช่วยเหลือ  เช่นเรื่องพระจักขุบาลที่ท่านเดือดร้อนพระอินทร์ก็เสด็จลงไปช่วยเหลือ  เมื่อคนมีบุญเดือดร้อน พระแท่นนี้ก็จะแข็งกระด้างนั่งแล้วไม่อ่อนนุ่มยุบลง เมื่อเป็นเช่นนี้พระอินทร์ก็จะส่องทิพยเนตรดูว่าใครเดือดร้อน

    เมื่อพระอินทร์ทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นมาทรงจำพรรษา ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็ทรงป่าวประกาศแก่หมู่เทพยดาในสรวงสวรรค์ทั้งหลายให้มาร่วมชุมนุม เพื่อฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เสียงป่าวประกาศของพระอินทร์นั้น ดังกึกก้องปกแผ่ไปทั่วในสกลเทพธานีทั้งหมื่นโยชน์ เทพเจ้าทั้งปวงได้สดับแล้วก็บังเกิดโสมนัสยินดียิ่งนัก ต่างองค์ต่างร้องบอกแก่กันและกันต่อๆไปจนตลอดถึงหมื่นจักรวาล

              สุธรรมาเทวสภา

   

    ๐สุธรรมเทวสภา คือศาลาฟังธรรม หรือ สถานที่ที่มีการแสดงธรรมบนสวรรค์ เรียกว่า ศาลาสุธรรมมา หรือ สุธรรมาสภา ซึ่งในสวรรค์และแม้แต่บนพรหมโลก ก็มีสถานที่ที่มีการแสดงธรรม และก็เรียกว่าศาลาสุธรรมาเหมือนกัน ทั้งสวรรค์และบนพรหมโลก และที่ตั้งชื่อว่า "ศาลาสุธรรมา" ตามชื่อของ นางผู้เป็นภรรยาของมฆมาณพที่ทำบุญ ถวายศาลาที่โลกมนุษย์ เมื่อมาเกิดเป็นเทพธิดา ศาลาสุธรรมาก็ปรากฎขึ้น ด้วยบุญนั้นบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมกับมฆมาณพที่มาเกิดเป็นท้าวสักกะหรือพระอินทร์ และใช้ศาลาสุธรรมาเป็นสถานที่ประชุมกรณียกิจในเรื่องต่างๆ รวมทั้ง มีการแสดงธรรม ฟังธรรมที่ศาลาสุธรรมมานี้ ในวันพระเดือนละแปดครั้ง ส่วนผู้ที่แสดงธรรม ก็คือ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่ไปเกิดบนสวรรค์คือ เทพบุตร และเทพธิดาต่างๆ ที่เป็นพระอริยเจ้าหรือบางครั้งก็เป็นพรหมต่างๆ ที่เป็นพระอริยเจ้า ลงมาจากพรหมโลก มาแสดงธรรมให้เทวดาทั้งหลายฟัง เช่น สนังกุมารพรหม เป็นต้น

                  พระสุพรรณบัฏ

   

    ๐พระสุพรรณบัฏ  คือแผ่นทองคำที่เป็นบัญชีรายชื่อของคนทำบุญในโลกมนุษย์  เมื่อเหล่าเทวดาทั้งหลายมาประชุมกันในสุธรรมาเทวสภาพระอินทร์จะเป็นผู้อ่านให้เทวดาทั้งหลายทราบว่าในโลกมนุษย์ตอนนี้มีคนทำบุญมากหรือน้อย ถ้าคนทำบุญมากเหล่าเทพยดาทั้งหลายก็จะพากันแซ่ซ้องสาธุการ ยินดียิ่งนัก แต่ถ้าคนทำบุญมีน้อยเหล่าเทพยดาทั้งหลายก็จะเศร้าโศกเสียใจไม่รื่นเริงเลย

      ตัวอย่างของมนุษย์ที่ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

   ๑.มนุษย์  เช่น อนาถปิณฑิกเศรษฐี  และมัฏฐกุณฑลี

                      เรื่องของมัฏฐกุณฑลี   
      ดังได้สดับมา ในกรุงสาวัตถี ได้มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อ อทินนปุพพกะ. เขาไม่เคยให้สิ่งของอะไรๆ แก่ใครๆ, เพราะฉะนั้น ประชุมชนจึงได้ตั้งชื่อเขาว่า “อทินนปุพพกะ”๑- เขามีบุตรคนเดียวเป็นที่รักใคร่พอใจ. ภายหลัง เขาอยากจะทำเครื่องประดับให้บุตร คิดว่า “ถ้าเราจักจ้างช่างทอง ก็จะต้องให้ค่าบำเหน็จ” ดังนี้แล้วจึงแผ่ทองคำ ทำให้เป็นตุ้มหูเกลี้ยงๆ เสร็จแล้ว ได้ให้ (แก่บุตรของตน). เพราะฉะนั้น บุตรของเขาจึงได้ปรากฏโดยชื่อว่า “มัฏฐกุณฑลี”
   - ผู้ไม่เคยให้อะไรแก่ใครๆ
     เมื่อบุตรป่วยก็รักษาบุตรเองเพราะกลัวเสียขวัญข้าว               
     ในเวลาเมื่อบุตรนั้นอายุได้ ๑๖ ปี เกิดเป็นโรคผอมเหลือง. มารดาแลดูบุตรแล้ว จึงพูดกะพราหมณ์ (ผู้สามี) ว่า “พราหมณ์ โรคเกิดขึ้นแล้วแก่บุตรของท่าน, ขอท่านจงหาหมอมารักษาเขาเสียเถิด.”
     พราหมณ์ตอบว่า “นางผู้เจริญ ถ้าเราจะหาหมอมา, เราจะต้องให้ค่าขวัญข้าวแก่เขา หล่อนช่างไม่มองดูความสิ้นเปลืองทรัพย์สินของเรา (บ้าง).”
     นางพราหมณีถามว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านจะทำอย่างไรเล่า? พราหมณ์.”
     พราหมณ์ตอบว่า “ทรัพย์ของเราจะไม่ขาดไปได้อย่างใด เราจะทำอย่างนั้น.”
     พราหมณ์นั้นไปยังสำนักพวกหมอแล้ว ถามว่า “พวกท่านวางยาขนานไหน? แก่คนที่เป็นโรคชนิดโน้น.”
     ลำดับนั้น พวกหมอก็บอกยาเกล็ดที่เข้าเปลือกไม้เป็นต้นแก่เขา. เขา (ไป) เอารากไม้เป็นต้นที่พวกหมอบอกให้นั้นมาแล้ว ทำยาให้แก่บุตร. เมื่อพราหมณ์ทำอยู่เช่นนั้นนั่นแล โรคได้ (กำเริบ) กล้าแล้ว (จน) เข้าถึงความไม่มีใครที่จะเยียวยาได้. พราหมณ์รู้ว่าบุตรทุพพลภาพแล้ว จึงหาหมอมาคนหนึ่ง. หมอนั้น (มา) ตรวจดูแล้ว จึงพูด (เลี่ยง) ว่า
“ข้าพเจ้ามีกิจอยู่อย่างหนึ่ง ท่านจงหาหมออื่นมาให้รักษาเถิด” ดังนี้แล้ว บอกเลิกกับพราหมณ์นั้นแล้วก็ลาไป.
  - ภตฺตเวตนํ ค่าจ้างและรางวัล.
    ให้บุตรนอนที่ระเบียงข้างนอกเพราะกลัวคนจะเห็นสมบัติ               
    พราหมณ์รู้เวลาว่าบุตรจวนจะตายแล้วคิดว่า “เหล่าชนที่มาแล้วๆ เพื่อประโยชน์จะเยี่ยมเยียนบุตรนี้ จักเห็นทรัพย์สมบัติภายในเรือน เราจะเอาเขาไว้ข้างนอกดีกว่า” ดังนี้แล้ว จึงนำเอาบุตรออกมาให้นอนที่ระเบียงข้างนอกเรือน
   พระพุทธเจ้าเล็งเห็นอุปนิสัยของมัฏฐกุณฑลี               
   ในเวลากำลังปัจจุสมัย (คือเวลาจวนสว่าง) วันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระมหากรุณาสมาบัติ ทรงเล็งดูโลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อทอดพระเนตรเหล่าสัตว์ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์อันพระองค์พอแนะนำได้ ซึ่งมีกุศลมูลอันหนาแน่นแล้ว มีความปรารถนาซึ่งได้ทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ได้ทรงแผ่ตาข่ายคือพระญาณไปในหมื่นจักรวาล.
มัฏฐกุณฑลีมาณพปรากฏแล้ว ณ ภายในตาข่าย คือพระญาณนั้น โดยอาการอันนอนที่ระเบียงข้างนอกอย่างนั้น.
    พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเขาแล้ว ทรงทราบว่า พราหมณ์ผู้บิดานำเขาออกจากภายในเรือนแล้ว ให้นอนในที่นั้น ทรงดำริว่า “จะมีประโยชน์บ้างหรือไม่หนอ ด้วยปัจจัยที่เราไปในที่นั้น” กำลังทรงรำพึง (อยู่) ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า “มาณพนี้จักทำจิตให้เลื่อมใสในเรา ทำกาละแล้ว จักเกิดในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ในดาวดึงสเทวโลก มีนางอัปสรเป็นบริวารพันหนึ่ง ฝ่ายพราหมณ์จักทำฌาปนกิจสรีระนั้น ร้องไห้ไปในป่าช้า เทพบุตรจักมองดูอัตภาพตนสูงประมาณ ๓ คาวุต (สามร้อยเส้น) ประดับด้วยเครื่องอลังการ หนัก ๖๐ เล่มเกวียน มีนางอัปสรเป็นบริวารพันหนึ่ง คิดว่า “สิริสมบัตินี้ เราได้ด้วยกรรมอะไรหนอ?” ดังนี้แล้ว เล็งดูอยู่, ก็ทราบว่าได้ด้วยจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าคิดว่า “บิดาไม่หาหมอมาให้ประกอบยาให้แก่เรา เพราะเกรงว่าทรัพย์จะหมดไป เดี๋ยวนี้ไปป่าช้าร้องไห้อยู่, เราจักทำเขาให้ถึงประการอันแปลก” ดังนี้ ด้วยความขัดเคืองในบิดา จึงจำแลงตัวเหมือนมัฏฐกุณฑลีมาณพ มานั่งร้องไห้อยู่ในที่ใกล้ป่าช้า. ทีนั้น พราหมณ์ จักถามเขาว่า “เจ้าเป็นใคร?” เขาจักตอบ ฉันเป็นมัฏฐกุณฑลีมาณพ บุตรของท่าน.”
     พราหมณ์. ท่านไปเกิดในภพไหน?
     เทพบุตร. ในภพดาวดึงส์.
     เมื่อพราหมณ์ถามว่า “เพราะทำกรรมอะไร?” เขาจักบอกว่า เขาเกิดเพราะจิตที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า. พราหมณ์จักถามเราว่า “ขึ้นชื่อว่า การทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์ (เท่านั้น) แล้วไปเกิดในสวรรค์ มีหรือ?” ทีนั้น เราจักตอบเขาว่า “ไม่มีใครจะกำหนดได้ด้วยการนับว่า มีประมาณเท่านั้นร้อย หรือเท่านั้นพัน หรือเท่านั้นแสน” ดังนี้แล้ว จัก
ภาษิตคาถาในธรรมบท

    ในกาลจบคาถา ความตรัสรู้ธรรมจักมีแก่สัตว์ประมาณแปดหมื่นสี่พัน. มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรจักเป็นพระโสดาบัน ถึงอทินนปุพพกพราหมณ์ก็จะได้เป็นโสดาบันเหมือนกัน เพราะ อาศัยกุลบุตรนี้ ความบูชาธรรมเป็นอันมากจักมี ด้วยประการฉะนี้
     ในวันรุ่งขึ้น ครั้นทรงกระทำชำระพระวรกายเสร็จแล้ว อันภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว เสด็จเข้าไปสู่กรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต เสด็จถึงประตูเรือนของพราหมณ์โดยลำดับ
      มัฏฐกุณฑลีทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า               
      ในขณะนั้น มัฏฐกุณฑลีมาณพกำลังนอนผินหน้าไปข้างในฝาเรือน พระศาสดาทรงทราบว่าไม่เห็นพระองค์ จึงได้ทรงเปล่งพระรัศมีไปวาบหนึ่ง มาณพคิดว่า “นี่แสงสว่างอะไรหนอ?” จึงนอนพลิกหน้ากลับมา เห็นพระศาสดาแล้ว คิดว่า “เราอาศัยบิดาผ้เป็นอันธพาล จึงไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เห็นปานนี้แล้ว ทำความขวนขวายด้วยกาย หรือถวายทาน หรือฟังธรรม เดี๋ยวนี้แม้แต่มือสองข้างของเราก็ยกไม่ไหวแล้ว กิจที่ควรทำอย่างอื่นไม่มี" ดังนี้แล้ว จึงได้ทำใจเท่านั้นให้เลื่อมใส
     เพราะใจเลื่อมใสทำกาละไปเกิดในเทวโลก               
     พระศาสดาทรงพระดำริว่า “พอละ ด้วยการที่มาณพนี้ทำใจให้เลื่อมใสประมาณเท่านั้น” ก็เสด็จหลีกไปแล้ว เมื่อพระตถาคตพอกำลังเสด็จลับตาไป มาณพนั้นมีใจเลื่อมใส ทำกาละแล้ว เป็นประดุจดังว่า หลับแล้วกลับตื่นขึ้น ไปบังเกิดในวิมานทองสูงประมาณ ๓๐ โยชน์ในเทวโลก
    พราหมณ์คร่ำครวญถึงบุตร               
    ฝ่ายพราหมณ์ทำฌาปนกิจสรีระมาณพนั้นแล้ว ได้มีแต่การร้องไห้เป็นเบื้องหน้า ไปที่ป่าช้า ทุกวันๆ ร้องไห้พลางบ่นพลางว่า “เจ้าลูกคนเดียวของพ่ออยู่ที่ไหน? เจ้าลูกคนเดียวของพ่ออยู่ที่ไหน?”
    เทพบุตรจำแลงกายไปหาพราหมณ์               
   (แม้) เทพบุตรแลดูสมบัติของตนแล้ว คิดว่า “สมบัตินี้เราได้ด้วยกรรมอะไร?” เมื่อพิจารณาไปก็รู้ว่า “ได้ด้วยใจที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า” ดังนี้แล้ว จึงคิดต่อไปว่า “พราหมณ์ผู้นี้ ในกาลเมื่อเราไม่สบาย ไม่หาหมอมารักษาเรา แต่บัดนี้ ได้ไปป่าช้าร้องไห้อยู่ ควรที่เราจะทำแกให้ถึงประการอันแปลก” ดังนี้แล้ว จึงจำแลงตัวเหมือนมัฏฐกุณฑลีมาณพมาแล้ว ได้กอดแขนยืนร้องไห้อยู่ ในที่ไม่ไกลป่าช้า
         เทพบุตรกับพราหมณ์โต้วาทะกัน               
   พราหมณ์เห็นเขาแล้ว จึงคิดว่า “เราร้องไห้เพราะเศร้าโศกถึงบุตร แต่มาณพนั่นมานั่งร้องไห้เพื่อต้องการอะไรหรือ? เราจะถามเขาดู” ดังนี้แล้ว
   เมื่อจะถาม ได้กล่าวคาถานี้ว่า
       “ท่านตกแต่งแล้ว เหมือนมัฏฐกุณฑลี มีภาระ
          คือระเบียบดอกไม้ มีตัวฟุ้งด้วยจันทน์เหลือง
          กอดแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ในกลางป่าช้า
          ท่านเป็นทุกข์อะไรหรือ?”
           มาณพกล่าวว่า
          “เรือนรถ ทำด้วยทองคำ ผุดผ่อง เกิดขึ้นแล้ว
          แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหาคู่ล้อของมันยังไม่ได้
          ข้าพเจ้าจักยอมเสียชีวิต เพราะความทุกข์นั้น.”
            ทีนั้น พราหมณ์ได้พูดกะเขาว่า
            “พ่อมาณพผู้เจริญ คู่ล้อของมันนั้น จะทำด้วย
             ทองคำก็ตาม ทำด้วยแก้วก็ตาม ทำด้วยโลหะก็ตาม
             ทำด้วยเงินก็ตาม ท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้ามาเถิด
             ข้าพเจ้าจะรับประกันจะหามาให้ท่านเอง”
    มาณพได้ฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า “พราหมณ์ผู้นี้ ไม่หาหมอมารักษาบุตรผู้ป่วยแล้ว ครั้นมาเห็นเรารูปร่างคล้ายบุตร ร้องไห้อยู่ ยังพูดว่า ‘เราจะทำล้อรถซึ่งทำด้วยทองคำเป็นต้นให้’ ช่างเถิด เราจักแกล้งแกเล่น” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “ท่านจะทำคู่ล้อให้แก่ข้าพเจ้าโตเท่าไร?” เมื่อพราหมณ์นั้นกล่าวว่า “ท่านจะต้องการโตเท่าไรเล่า?”
              จึงบอกว่า
       “ข้าพเจ้าต้องการพระจันทร์ และพระอาทิตย์
          ทั้งสองดวง ท่านอันข้าพเจ้าขอแล้ว โปรดให้พระจันทร์
          และพระอาทิตย์ทั้งสองนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด.”
            มาณพนั้นกล่าวซ้ำแก่เขาว่า
          “พระจันทร์และพระอาทิตย์ ส่องแสงเป็นคู่กัน ในวิถีทั้งสอง รถของข้าพเจ้าทำด้วยทองคำ ย่อมงามสมกับคู่ล้ออันนั้น”
          ลำดับนั้น พราหมณ์พูดกับเขาว่า
              “พ่อมาณพ ท่านผู้ปรารถนาของที่ไม่ควรปรารถนา เป็นคนเขลาแท้ๆ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านจักตายเสียเปล่า  จักไม่ได้พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสองเลย”
          ลำดับนั้น มาณพจึงพูดกะพราหมณ์นั้นว่า “ก็บุคคลผู้ร้องไห้ เพื่อต้องการสิ่งซึ่งปรากฏอยู่ เป็นคนเขลา หรือว่าบุคคลผู้ร้องไห้เพื่อต้องการสิ่งซึ่งไม่ปรากฏอยู่ เป็นคนเขลาเล่า?” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
               “แม้ความไปและความมา ของพระจันทร์
                  และพระอาทิตย์ก็ปรากฏอยู่ ธาตุคือวรรณะแห่ง
                 พระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็ปรากฏอยู่ในวิถีทั้ง
                 สอง (ส่วน) ชนที่ทำกาละ ละไปแล้ว ใครก็ไม่แล
                 เห็น บรรดาเราทั้งสอง ผู้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้
                 ใครจะเป็นคนเขลากว่ากัน”
                  พราหมณ์ยอมจำนนแล้วชมเชยเทพบุตร               
               พราหมณ์สดับคำนั้นแล้ว กำหนดได้ว่า “มาณพนี่พูดถูก”
               จึงกล่าวว่า“พ่อมาณพ ท่านพูดจริงทีเดียว, บรรดาเราทั้งสอง
                         ผู้คร่ำครวญอยู่ (ในที่นี้) ข้าพเจ้าเองเป็นคนเขลากว่า,
                         ข้าพเจ้าอยากได้บุตรที่ทำกาละแล้วคืนมา เป็นเหมือน
                         ทารกร้องไห้อยากได้พระจันทร์”
               ดังนี้แล้ว เป็นผู้หายโศก เพราะถ้อยคำของมาณพนั้น,
               เมื่อจะทำความชมเชยมาณพ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                         “ท่านมารดข้าพเจ้า ซึ่งเป็นผู้ร้อนหนักหนา
                         เหมือนบุคคลดับไฟที่ติดน้ำมันด้วยน้ำ ข้าพเจ้าย่อมยัง
                         ความกระวนกระวายทั้งปวง ให้ดับได้ ท่านผู้บรรเทา
                         ความโศกถึงบุตรของข้าพเจ้า อันความโศกครอบงำ
                         แล้ว ได้ถอนลูกศรคือความโศกอันเสียดหฤทัยข้าพเจ้า
                         ออกได้หนอ ข้าพเจ้านั้นเป็นผู้มีลูกศรอันท่านถอนเสีย
                         แล้ว เป็นผู้เย็นสงบแล้ว พ่อมาณพ ข้าพเจ้าหายเศร้า
                         โศก หายร้องไห้ เพราะได้ฟังถ้อยคำของท่าน.”
                  พราหมณ์ซักถามเทพบุตร        
            ขณะนั้น พราหมณ์เมื่อจะถามเขาว่า “ท่านชื่ออะไร?” จึงกล่าวว่า
                 “ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือว่าเป็น
                  ท้าวปุรินททสักกเทวราช ท่านชื่ออะไร? หรือเป็น
                  บุตรของใคร? อย่างไร ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้?”
               ลำดับนั้น มาณพบอกแก่เขาว่า
                   “ท่านเผาบุตรคนใด ในป่าช้าเองแล้ว ย่อม
                    คร่ำครวญและร้องไห้ถึงบุตรคนใด บุตรคนนั้น
                    คือข้าพเจ้า ทำกุศลกรรมแล้ว ถึงความเป็นเพื่อน
                    ของเหล่าไตรทศ (เทพดา).”
               พราหมณ์ได้กล่าวว่า
                    “เมื่อท่านให้ทานน้อยหรือมาก ในเรือนของตน
                     หรือรักษาอุโบสถกรรมเช่นนั้นอยู่ ข้าพเจ้าไม่เห็น,
                     ท่านไปเทวโลกได้เพราะกรรมอะไร?”
               มาณพได้กล่าวว่า
                      “ข้าพเจ้ามีโรค เจ็บลำบาก มีกายระส่ำระสาย
                       อยู่ในเรือนของตน, ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจาก
                       กิเลสธุลี ข้ามความสงสัยเสียได้ เสด็จไปดี มีพระ
                       ปัญญาไม่ทราม, ข้าพเจ้านั้นมีใจเบิกบานแล้ว มีจิต
                       เลื่อมใสแล้ว ได้ถวายอัญชลีแด่พระตถาคตเจ้า
                       ข้าพเจ้าได้ทำกุศลกรรมนั้นแล้ว จึงได้ถึงความเป็น
                       เพื่อนของเหล่าเทพยดา”

                    พราหมณ์ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ               
    เมื่อมาณพนั้น กำลังพูดพร่ำอยู่นั่นเทียว สรีระทั้งสิ้นของพราหมณ์ก็เต็มแล้วด้วยปีติ เขาเมื่อจะประกาศปีตินั้น จึงกล่าวว่า
               “น่าอัศจรรย์หนอ น่าประหลาดหนอ วิบาก
                 ของการทำอัญชลีนี้ เป็นไปได้เช่นนี้ แม้ข้าพเจ้ามี
                 ใจเบิกบานแล้ว มีจิตเลื่อมใสแล้ว ถึงพระพุทธเจ้า
                 ว่า เป็นสรณะในวันนี้แล”
               เทพบุตรโอวาทพราหมณ์แล้วก็หายตัวไป               
               ลำดับนั้น มาณพได้กล่าวตอบเขาว่า
               “ท่านจงเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว ถึงพระพุทธเจ้า ทั้งพระธรรม ทั้งพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะในวันนี้แล ท่านจงเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสอย่างนั้นนั่นแล สมาทานสิกขาบท ๕ อย่าให้ขาดทำลาย จงรีบเว้นจากปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) จงเว้นของที่เจ้าของยังไม่ให้ในโลก จงอย่าดื่มน้ำเมา, จงอย่าพูดปด, และจงเป็นผู้เต็มใจด้วยภรรยาของตน.”
               เขารับว่า “ดีแล้ว” ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ว่า
               “ดูก่อนยักษ์ ท่านเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ดูก่อนเทพดา ท่านเป็นผู้ใคร่สิ่งที่เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำ (ตาม) ถ้อยคำของท่าน ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเข้าถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะด้วย ข้าพเจ้าเข้าถึงแม้พระธรรม ซึ่งไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่าว่าเป็นสรณะด้วย ข้าพเจ้าเข้าถึงพระสงฆ์ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์
(พิเศษ) ดุจเทพดาว่าเป็นสรณะด้วย, ข้าพเจ้าจะรีบเว้นจากปาณาติบาต, เว้นของที่เจ้าของยังไม่ให้ในโลก, ไม่ดื่มน้ำเมา, ไม่พูดปด, และเป็นผู้เต็มใจด้วยภรรยาของตน.”
  - คำนี้ในที่อื่นหมายถึงผู้ดุร้าย แต่ในที่นี้ หมายถึงผู้อันบุคคลควรบูชา
       ลำดับนั้น เทพบุตรกล่าวกะเขาว่า “พราหมณ์ ทรัพย์ในเรือนของท่านมีมาก ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วถวายทาน จงฟังธรรม จงถามปัญหา” ดังนี้แล้ว ก็อันตรธานไป ณ ที่นั้นนั่นแล.
            พราหมณ์ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า               
        ฝ่ายพราหมณ์ไปเรือนแล้วเรียกนางพราหมณีมา พูดว่า “นางผู้เจริญ ฉันจักนิมนต์พระสมณโคดมแล้วทูลถามปัญหา, หล่อนจงทำสักการะ” ดังนี้แล้ว ไปสู่วิหาร ไม่ถวายบังคมพระศาสดาเลย ไม่ทำปฏิสันถาร ยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลว่า
        พระโคดมผู้เจริญ ขอพระองค์กับทั้งพระภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารแห่งข้าพระองค์ เพื่อเสวยในวันนี้.”
        พระศาสดาทรงรับแล้ว เขาได้ทราบว่า พระศาสดาทรงรับแล้ว จึงมาโดยเร็ว ใช้คนให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหารไว้ในเรือนของตน พระศาสดาอันหมู่ภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว เสด็จไปสู่เรือนแห่งพราหมณ์นั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาแต่งไว้ พราหมณ์อังคาสแล้ว (เลี้ยงแล้ว) โดยเคารพ.
        มหาชนประชุมกัน. ได้ยินว่า เมื่อพระตถาคตอันพราหมณ์ผู้มิจฉาทิฏฐินิมนต์แล้ว หมู่ชน ๒ พวกมาประชุมกัน คือพวกชนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิประชุมกัน ด้วยตั้งใจว่า “วันนี้ พวกเราจักคอยดูพระสมณโคดมที่ถูกพราหมณ์เบียดเบียนอยู่ ด้วยการถามปัญหา” พวกชนผู้เป็นสัมมาทิฏฐิก็ประชุมกัน ด้วยตั้งใจว่า “วันนี้ พวกเราจักคอยดูพุทธวิสัย พุทธลีลา.”
        ลำดับนั้น พราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระตถาคตผู้ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว นั่งบนอาสนะต่ำ ได้ทูลถามปัญหาว่า “พระโคดมผู้เจริญ มีหรือ ขึ้นชื่อว่า เหล่าชนที่ไม่ได้ถวายทานแก่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์ ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้รักษาอุโบสถเลย ได้ไปเกิดในสวรรค์ ด้วยมาตรว่า ใจเลื่อมใสอย่างเดียวเท่านั้น”
        ศ. พราหมณ์ เหตุใดท่านจึงมาถามเรา ความที่ตนทำใจให้เลื่อมใสในเราแล้วเกิดในสวรรค์ อันมัฏฐกุณฑลีผู้บุตรของท่านบอกแก่ท่านแล้วมิใช่หรือ?
        พ. เมื่อไร? พระโคดมผู้เจริญ.
        ศ. วันนี้ ท่านไปป่าช้าคร่ำครวญอยู่ เห็นมาณพคนหนึ่ง กอดแขนคร่ำครวญอยู่ในที่ไม่ไกลแล้ว ถามว่า
        “ท่านตกแต่งแล้วเหมือนมัฏฐกุณฑลี มีภาระคือระเบียบดอกไม้ มีตัวฟุ้งด้วยจันทน์เหลือง”
         ดังนี้เป็นต้น มิใช่หรือ? เมื่อจะทรงประกาศถ้อยคำที่ชนทั้งสองกล่าวกันแล้ว ได้ตรัสเรื่องมัฏฐกุณฑลีทั้งหมด. เพราะฉะนั้นแล เรื่องมัฏฐกุณฑลีนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นพุทธภาษิต. ก็แล ครั้นพระศาสดาตรัสเล่าเรื่องมัฏฐกุณฑลีนั้นแล้ว จึงตรัสว่า “พราหมณ์ ใช่ว่าจะมีแต่ร้อยเดียวและสองร้อย, โดยที่แท้ การที่จะนับเหล่าสัตว์ซึ่งทำใจให้เลื่อมใสในเราแล้วเกิดในสวรรค์ย่อมไม่มี” มหาชนได้เป็นผู้เกิดความสงสัยแล้ว.
        ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบความที่มหาชนนั้นไม่สิ้นความสงสัย ได้ทรงอธิษฐานว่า “ขอมัฏฐกุณฑลีเทวบุตร จงมาพร้อมด้วยวิมานทีเดียว.” เธอมีอัตภาพอันประดับแล้วด้วยเครื่องอาภรณ์ทิพย์ สูงประมาณ ๓ คาวุตมาแล้ว ลงมาจากวิมาน ถวายบังคมพระศาสดาแล้วได้ยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.
        ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะตรัสถามเธอว่า “ท่านทำกรรมสิ่งไรจึงได้สมบัตินี้” ได้ตรัสพระคาถาว่า
         “เทพดา ท่านมีกายงามยิ่งนัก ยืนทำทิศ
          ทั้งสิ้นให้สว่าง เหมือนดาวประจำรุ่ง, เทพดา
           ผู้มีอานุภาพมาก เราขอถามท่าน (เมื่อ) ท่าน
           เป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้.”
        เทพบุตรกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ สมบัตินี้ข้าพระองค์ได้แล้ว เพราะทำใจให้เลื่อมใสในพระองค์.”
         ศ. สมบัตินี้ ท่านได้แล้ว เพราะทำใจให้เลื่อมใสในเราหรือ?
         ท. พระเจ้าข้า.
         มหาชนแลดูเทพบุตรแล้ว ได้ประกาศความยินดีว่า “แน่ะพ่อ! พุทธคุณน่าอัศจรรย์จริงหนอ บุตรของพราหมณ์ ชื่ออทินนปุพพกะ ไม่ได้ทำบุญอะไรๆ อย่างอื่น ยังใจให้เลื่อมใสในพระศาสดาแล้ว ได้สมบัติเห็นปานนี้.”

    ๒.ตัวอย่างของสัตว์ที่ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  เช่นม้ากัณฑกะ

     พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ในกรุงสาวัตถี.
   สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวจาริกไปในเทวโลก ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์. ขณะนั้น กัณฐกเทพบุตรออกจากวิมานของตน ขึ้นยานทิพย์ไปอุทยานด้วยเทพฤทธิ์อันยิ่งใหญ่พร้อมบริวารเป็นอันมาก เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะเกิดความเคารพนับถือมาก รีบลงจากยานเข้าไปหาพระเถระ ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วยืนประคองอัญชลีไว้เหนือเศียร.
    ลำดับนั้น พระเถระได้ถามเทพบุตรนั้นถึงกรรมที่ตนกระทำ โดยมุ่งประกาศสมบัติที่ได้บรรลุว่า  พระจันทร์มีรอยรูปกระต่ายในเดือนเพ็ญอันหมู่ดาวแวดล้อม เป็นอธิบดีของหมู่ดาวทั้งหลาย ย่อมโคจรไปโดยรอบฉันใด ทิพยวิมานนี้ก็อุปมาฉันนั้น ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยรัศมีในเทพบุรี เหมือนดวงอาทิตย์กำลังอุทัยฉะนั้น
   พื้นวิมานน่ารื่นรมย์ใจ วิจิตรไปด้วยแก้วไพฑูรย์ ทอง แก้วผลึก เงิน เพชรตาแมว แก้วมุกดาและแก้วทับทิม ปูลาดด้วยแก้วไพฑูรย์ ห้องรโหฐานงานน่ารื่นรมย์ ปราสาทของท่าน อันบุญกรรมสร้างไว้อย่างดี สระโบกขรณีของท่านน่ารื่นรมย์กว้างขวาง ประดับด้วยแก้วมณี มีน้ำใสสะอาด ลาดด้วยทรายทองดาดาษด้วยปทุมชาติต่างๆ รายรอบด้วยบัว
ขาว ยามลมรำเพย ก็โชยกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ  สองข้างสระโบกขรณีของท่านนั้น มีพุ่มไม้สร้างไว้อย่างดี ประกอบด้วยไม้ดอกและไม้ผลทั้งสองอย่าง อัปสรทั้งหลายแต่งองค์ด้วยสรรพาภรณ์ ประดับด้วยมาลัยทองดอกไม้ต่างๆ พากันมาบำรุงบำเรอท้าวเทวราชผู้ประทับ
นั่งเหนือบัลลังก์ [พระแท่น] เท้าทองคำ อ่อนนุ่ม ลาดด้วยผ้าโกเชาว์อย่างดี ต่างก็รื่นรมย์ ท่านทำท้าวเทวราชผู้มีมหิทธิฤทธิ์นั้นให้บันเทิง ดังท้าววสวัตดีเทวราช. ท่านพรั่งพร้อมด้วยความยินดีในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี รื่นรมย์อยู่ด้วยกลอง สังข์ ตะโพน พิณและบัณเฑาะว์ รูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะมีอย่างต่างๆ อันเป็นทิพย์ของท่านที่ท่านประสงค์แล้ว น่ารื่นรมย์ใจ.
  ดูก่อนเทพบุตร ท่านเป็นผู้มีรัศมีมาก รุ่งโรจน์ยิ่งด้วยวรรณะอยู่ในวิมานอันประเสริฐนั้น ดังดวงอาทิตย์กำลังอุทัยฉะนั้น นี้เป็นผลแห่งทาน หรือศีล หรืออัญชลีกรรมของท่าน ท่านถูกอาตมาถามแล้ว โปรดบอกข้อนั้นแก่อาตมาทีเถิด. เทพบุตรนั้นดีใจ อันพระโมคคัลลานะถามแล้ว ก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าคือกัณฐกอัศวราช สหชาตของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะในกรุงกบิลพัสดุ์ ราชธานีของกษัตริย์แคว้นศากยะ ครั้งใดพระราชโอรสเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์เพื่อโพธิญาณตอนเที่ยงคืน พระองค์ใช้ฝ่าพระหัตถ์อันนุ่มและพระนขาที่แดงปลั่งค่อยๆ ตบขาข้าพเจ้า และตรัสว่า พาเราไปเถิดเพื่อน เราบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดมแล้วจักยังโลกให้ข้ามโอฆสงสาร [ห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร] เมื่อข้าพเจ้าฟังพระดำรัสนั้น ได้มีความร่าเริงเป็นอันมาก ข้าพเจ้ามีใจเบิกบานยินดี ได้รับคำในครั้งนั้น ครั้นรู้ว่าพระศากโยรสผู้มียศใหญ่ประทับนั่งเหนือหลังข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีใจเบิกบานบันเทิง นำพระมหาบุรุษไปถึงแว่นแคว้นของกษัตริย์เหล่าอื่น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น พระมหาบุรุษนั้นมิได้ทรงอาลัย ละทิ้งข้าพเจ้าและฉันนอำมาตย์ไว้ เสด็จหลีกไป
  ข้าพเจ้าได้เลียพระบาททั้งสองซึ่งมีพระนขาแดงของพระองค์ ร้องไห้แลดูพระมหาวีระผู้กำลังเสด็จไป เพราะไม่ได้เห็นพระศากโยรสผู้ทรงสิรินั้น ข้าพเจ้าป่วยหนัก ก็ตายอย่างฉับพลัน ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้นแหละ ข้าพเจ้าจึงมาอยู่วิมานทิพย์นี้ซึ่งประกอบด้วยกามคุณทุกอย่างในเทวนคร.
  อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีความร่าเริงเพราะได้ฟังเสียงเพื่อพระโพธิญาณ ว่าเราจักบรรลุความสิ้นอาสวะ ด้วยกุศลมูลนั้นเอง ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าพระคุณเจ้าจะพึงไปในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ศาสดาไซร้ ขอพระคุณเจ้าจงกราบทูลถึงการถวายบังคมด้วยเศียรเกล้ากะพระองค์ตามคำของข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้าผู้หาบุคคลอื่นเปรียบมิได้ การได้เห็นพระโลกนาถผู้คงที่หาได้ยาก. กัณฐกเทพบุตรแม้นั้นได้กล่าวถึงกรรมที่ตนกระทำแล้ว
   เรื่องย่อมีว่า
 เทพบุตรนี้ คือกัณฐกอัศวราช ผู้เป็นสหชาต [เกิดพร้อม] กับพระโพธิสัตว์ของพวกเราในอัตภาพติดต่อกัน อัศวราชนั้นให้พระโพธิสัตว์ประทับบนหลัง ในสมัยเสด็จมหาภิเนษกรมณ์พาพระมหาบุรุษล่วงเลยราชอาณาจักรทั้งสาม ให้ถึงฝั่งอโนมานที โดยราตรีนั้นยังไม่สิ้นเลย
  ลำดับนั้น อัศวราชนั้น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น พระมหาสัตว์ทรงรับบาตรและจีวรที่ฆฏิการมหาพรหมน้อมถวาย ทรงผนวชแล้วปล่อยให้ข้าพเจ้ากลับกบิลพัสดุ์พร้อมกับฉันนะอำมาตย์ ใช้ลิ้นของตนเลียพระยุคลบาทของพระมหาบุรุษ ด้วยหัวใจที่หนักด้วยความรัก ลืมตาทั้งสองซึ่งมีประสาทเป็นที่พอใจ แลดูชั่วทัศนวิสัยที่จะเห็นได้ แต่เมื่อพระโลกนาถ (ลับตา) ไปแล้ว มีใจเลื่อมใสว่า เราได้พาพระมหาบุรุษผู้เป็นนายกชั้นยอดของโลกชื่ออย่างนี้ ร่างกายของเรามีประโยชน์หนอ อดกลั้นวิโยคทุกข์ไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจความรักที่เกาะเกี่ยวกันมาช้านาน ยังถูกธรรมดาเตือนด้วยอำนาจทิพยสมบัติ ที่น่ายกย่องอยู่อีก ก็ทำกาละตายไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

                   การทำบุญของเทวดา

    ๑.มากราบไหว้พระธาตุจุฬามณีเจดีย์

    ๒.มาฟังพระธรรมเทศนาในสุธรรมาเทวสภา

    ๓.ช่วยเหลือมนุษย์ที่เป็นคนดีให้พ้นภัยเช่น นางเทพธิดาเมฆขลาช่วนเหลือมหาชนก

    ๔.ลงมาทำบุญกับพระอริยเจ้าในพระพุทธศาสนา

   -ถามว่า "ทำบุญอะไรจึงจะได้ไปเกิดในสวรรค์แต่ละชั้น"

   -ตอบว่า "สวรรค์  คือภูมิอันเป็นที่อยู่ของเทวดา เป็นโลกที่อยู่อาศัยของกายละเอียดอันเป็นทิพย์ ที่มีรัศมีสว่างไสวรอบกายตลอดเวลา มีทั้งหมด ๖ ชั้น
     -เหตุ ที่ทำให้ไปเกิดเป็นเทวดาเพราะได้สร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวทันทีงดงามตลอดเวลา จนกว่าจะถึงเวลาจุติ ไม่มีความแก่เฒ่าเหมือนในเมืองมนุษย์
     -วิมาน คือปราสาทอันเป็นที่อยู่อาศัยของเทวดา มีความวิจิตรงดงามมาก มีขนาดแตกต่างกันไป มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีอาหารทิพย์บังเกิดขึ้น มีบริวารคอยรับใช้ใกล้ชิด เสื้อผ้าเป็นทิพย์ วิจิตรพิสดารงดงาม บังเกิดขึ้นให้สวมใส่ กิจกรรมแต่ละวันก็มีการเที่ยวเพลิดเพลินบันเทิงอยู่กับการชมสวน
     -การสังสรรค์กันระหว่างทวยเทพทั้งหลาย ส่วนจะอุบัติขึ้นด้วยเหตุอันใด ณ สวรรค์ชั้นไหน เป็นเทวดาประเภทใด และอยู่ในฐานะอะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบุญที่ตัวเองสั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ซึ่งได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๗ เรื่องทานสูตร สรุปย่อๆได้ดังนี้
          *เกิดบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
    -มีจากหลายสาเหตุ คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำบุญไม่ค่อยเป็น ไม่รู้หลักการทำบุญ และไม่ค่อยได้สั่งสม บุญนานๆ ทำครั้งหนึ่ง เมื่อทำก็ทำน้อย หรือ ทำบุญเอาคุณเอาหน้า บุญที่ได้ก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่สมบูรณ์ มีบาปอยู่ในตัว แต่มีบุญมากกว่า เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วใจนึกถึงบุญก่อนก็จะเกิดไปสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงเขาสิเนรุราช สวรรค์ชั้นนี้จะมีความหลากหลายมากที่สุด เพราะอยู่ใกล้ชิดกับพื้นแผ่นดินของมนุษย์มากกว่าสวรรค์ชั้นอื่นๆ และมีบางส่วนที่มีที่อยู่ซ้อนกับภูมิมนุษย์

    การที่ได้ชื่อว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เพราะมีเทพผู้เป็นใหญ่ครองสวรรค์ชั้นนี้อยู่ ๔ องค์  คือ

    ๑.ท้าวธตรฐะ ปกครองเทวดา ๓ พวก ได้แก่ คนธรรพ์ วิทยาธร กุมภัณฑ์

    ๒.ท้าววิรุฬหกะ ปกครองพวกครุฑ

    ๓.ท้าววิรูปักษ์ ปกครองพวกนาค

    ๔.ท้าวเวสสุวรรณ ปกครองพวกยักษ์
         *เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
    -การไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  คือเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญเพราะเห็นว่าการทำบุญเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ควรทำ กระทำแล้วก็สั่งสมบุญ สั่งสมเทวธรรม มีหิริ โอตตัปปะด้วย เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วก็จะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าตัดของเขาสิเนรุราช ที่ชื่อว่า "ดาวดึงส์"  เพราะเป็นที่อยู่ของเทพผู้ปกครองภพถึง ๓๓ องค์ โดยมีท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์ เป็นประธาน และที่สำคัญมีพระธาตุจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งทุกวันพระเทว ดาจะมาประชุมกันที่สุธรรมาเทวสภา เพื่อรับฟังโอวาทจากท้าวสักกเทวราช
         *เกิดบนสวรรค์ชั้นยามา
    -การไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา  คือเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำบุญเพราะอยากจะสืบทอดและรักษาประเพณีแห่งความดีงามนั้นเอาไว้ ทำนองว่าวงศ์ตระกูลสร้างสมความดีมาอย่างไรก็อยากจะรักษาประเพณีไว้ หรือผู้หลักผู้ใหญ่สอนอย่างไร บรรพบุรุษทำมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำกันไปตามธรรมเนียม เช่น เห็นปู่ย่าตายายสร้างโบสถ์ บำรุงวัด สร้างพระประธาน ก็ทำตามนั้นด้วย หรือพระภิกษุที่รักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ที่พระต้องมีหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนา เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ส่วนใหญ่จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไป
         *เกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต
    -การไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต  คือเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ทำบุญเพื่อปรารถนาจะสง เคราะห์โลก ปรารถนาจะให้ชาวโลกมีความสุข มีความคิดที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพื่อตนเองอย่างเดียว แต่เพื่อสงเคราะห์โลก เพื่อนมนุษย์ด้วยกันและสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วก็จะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงถัดจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไป
        *เกิดบนสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
    -การไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรตี  คือเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เห็นผู้อื่นทำบุญแล้วได้รับ การยกย่อง ส่งเสริม จึงอยากจะทำบุญนั้นบ้าง อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไป
       *เกิดบนสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
    -การไปเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี  คือเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญด้วยความเลื่อมใส เคารพในทานทำแล้วมีความรู้สึกปลื้มใจ ในบุญที่ทำนั้น เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีขึ้นไป

         ความเป็นอยู่ของเทวดา

    -ความเป็นอยู่ของชาวสวรรค์แต่ละชั้น จะมีความประณีตแตกต่างกันไปตามลำดับชั้น ถ้าใครทำบุญมามาก จนครบทุกอย่างดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ปรารถนาจะไปอยู่ ณ ที่ใด ก็สามารถจะไปสวรรค์ชั้นที่ต้องการได้ เหตุแห่งการกระทำที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นสาเหตุหลักๆ เป็นภาพรวมของการทำบุญที่ทำให้ไปเกิดในสวรรค์   ในแต่ละชั้นแต่อาจ จะมีองค์ประกอบและปัจจัยอย่างอื่นเสริมอีกด้วย
         *สวรรค์ชั้นดุสิตหรือดุสิตบุรี ดีอย่างไร
    -ทำไมพระบรมโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและนักสร้างบารมีทั้งหลายถึงเลือกที่จะอยู่ในสวรรค์ชั้นนี้
    -สวรรค์ชั้นดุสิตนี้ มีความกว้างใหญ่ไพศาลมาก มีท้าวสันดุสิต ซึ่งบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว เป็นผู้ปกครองภพ ที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดุสิตอยู่สูงขึ้นไปจากยอดเขาสิเนรุราช อยู่ในอากาศเหนือสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไป ๔๒๐๐๐ โยชน์  บนสวรรค์ชั้นนี้จะไม่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ทำให้ไม่มีเงา ไม่มีมุมมืดบนสวรรค์ เป็นอยู่ได้ด้วยความสว่างจากวัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น กายของเหล่าเทวดา วิมาน สวน สระ สิ่งแวดล้อมต่างๆ มีแต่ความสว่าง จึงไม่ต้องอา ศัยดวงอาทิตย์
    -ลักษณะ ของสวรรค์ชั้นดุสิต จะไม่กลมอย่างโลกมนุษย์ แต่จะกลมแบบราบ ถ้ามองจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไป จะมองเห็นเป็นแสงสว่าง นุ่มเนียนตา และถ้ามองจากสวรรค์ ชั้นดุสิตขึ้นไป ก็จะเห็นแสงสว่างนุ่มเนียนตา  ของสวรรค์ชั้นนิมมานรดี หรือถ้ามองลงไปที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็จะเห็น ว่ามีขนาดเล็กนิดเดียว เพราะสวรรค์ชั้นดุสิตใหญ่กว่า
    -โครงสร้างของสวรรค์ชั้นดุสิต มีวิมานของท้าวสันดุสิตเป็นศูนย์กลาง ของสวรรค์ชั้นนี้ แล้วแบ่งออกเป็น ๔ เขต วนรอบวิมานของท้าวสันดุสิตเทพบุตร ดังนี้
    -เขตที่ ๑ เป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี ซึ่งอยู่ชั้นในสุด
    -เขตที่ ๒ เป็นที่อยู่ของนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน ซึ่งวงบุญพิเศษของผู้ที่มีมโนปณิธานจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งพระนิพพานให้หมดจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม ก็จะอยู่ในเขตนี้ด้วย
    -เขตที่ ๓ เป็นที่อยู่ของอนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังต้องสร้างบารมีอีกมาก
    -เขตที่ ๔ เป็นที่อยู่ของผู้ที่ทำบุญกุศลมาก และมีกำลังบุญมากพอที่จะได้อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ต่อไป เป็นเขตทั่วไป นอกเหนือจาก ๓ เขตแรก

    สวรรค์ชั้นดุสิตนี้ มีความพิเศษกว่าสวรรค์ชั้นอื่นอยู่หลายประการด้วยกัน หนึ่งในความ พิเศษนั้นก็คือ เป็นที่อยู่ของเหล่าพระบรมโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน อนาคตจำนวนมาก และเหล่าเทพบุตรที่สร้างบุญบารมีเป็นพระสาวก เพื่อตามพระบรมโพธิสัตว์ลงมาตรัสรู้ในอนาคต แล้วทำไมพระบรมโพธิสัตว์ หรือบัณฑิตทั้งหลายจึงปรารถนาที่จะได้มาบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ทั้งที่กำลังบุญของแต่ละท่านนั้นมากมาย ปรารถนาที่จะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นใดก็ได้ เหตุที่ท่านเลือกสวรรค์ชั้นนี้ มีข้อสังเกตอย่างน้อย ๓ ประการ คือ:-
    ๑.พระโพธิสัตว์สามารถจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ตามใจปรารถนา หมายความว่า โดยปกติแล้วเทวดามีเหตุแห่งการจุติ หลายประการ  เช่น หมดบุญก็มี หมดอายุขัยก็มี จุติเพราะความโกรธก็มี แต่เหล่าพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ เมื่อจะจุติลงมาสร้างบุญบารมี หรือมาบังเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะนั่งทำสมาธิ อธิษฐานจิต สามารถดับวูบลงมาเกิดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของชาวสวรรค์ชั้นอื่นๆ
     ๒.เนื่องจากสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ มีแต่บัณฑิต มีแต่พระบรมโพธิสัตว์ ล้วนแต่มีอัธยาศัยคล้ายคลึงกัน ที่จะฝึกฝนตนเองและช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ถึงฝั่งพระนิพพานไม่ประมาทในการดำรงชีวิต เหมือนชาวสวรรค์ชั้นอื่นๆ มักจะคบหาบัณฑิต พูดคุยสนทนาธรรมกันเพื่อความเบิกบานใจ และหมั่นไปฟังธรรมในวันพระ ซึ่งท่านท้าวสันดุสิตจะเป็นผู้อัญเชิญ
พระบรมโพธิสัตว์ที่มีบุญบารมีมากมา แสดงธรรมให้ฟัง
    ๔.อายุทิพย์ของสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ คือ ๔๐๐๐ ปีทิพย์ ซึ่งไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป พอเหมาะพอดีที่จะเสวยสุข เพราะท่านจะต้องลงมาสร้างบุญบารมีต่อ ถ้ามีอายุขัยนานเกินไปจะทำให้เสียเวลา

     

 

   

 

 

 

 

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 139,924