หน้าที่ ๘ พรหมโลก ๒๐ ชั้น

 

                                  พรหมโลก ๒๐ ชั้น
   
               
     
  ๐เหนือสวรรค์ ๖ ชั้นขึ้นไปจะมีภูมิต่อขึ้นไปอีก เรียกว่า พรหมภูมิ หรือ พรหมโลก ถือเป็นดินแดนของพระพรหม ซึ่งเป็นภพภูมิที่สถิตย์อยู่  เสวยสุขของพระพรหมผู้อุบัติเกิดในพรหมวิมาน ณ พรหมโลก อันเป็นแดนซึ่งมีแต่ความสุขอันเกิดจากฌานเท่านั้น นี่คือการแบ่งชั้นตามอำนาจฌานที่ได้บรรลุ ในภพภูมินี้ตามคัมภีร์กล่าวว่าไม่มีความสุขที่เนื่องด้วยกามราคะพรหมภูมิแบ่งออกเป็น ๒ พวก ได้แก่
   ๑.รูปพรหม
   ๒.อรูปพรหม
               รูปพรหม ๑๖ ชั้น
   รูปพรหม หรือ รูปาวจรภูมิ คือ ชั้นที่พระพรหมผู้วิเศษมีรูป หากแต่เป็นรูปทิพย์ มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถ มองเห็นได้ จักเห็นได้ก็โดยทิพยวิสัยเท่านั้น ประกอบด้วยวิมาน ๑๖ ชั้น สามชั้นแรก รวมเรียกว่า ปฐมฌานภูมิ ด้วยพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยปฐมฌาน ทั้งสามชั้นนี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น ๓ เขต  คือ
   -ชั้นที่ ๔ - ชั้นที่ ๖ รวมเรียกว่า ทุติยฌานภูมิ ด้วยเหล่าพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยทุติยฌาน ทั้งสามชั้นนี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น ๓ เขต
   -ชั้นที่ ๗ - ชั้นที่ ๙ รวมเรียกว่า ตติยฌานภูมิ ด้วยเหล่าพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยตติยฌาน ทั้งสามชั้นนี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น ๓ เขต
   -ตั้งแต่ชั้นที่ ๑๐ ขึ้นไป รวมเรียกว่า จตุตถฌานภูมิ ด้วยเหล่าพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยจตุตถฌาน
   -ชั้นที่ ๑๐ - ๑๑ ขึ้นไป ตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่กันอยู่ และมีระยะห่างไกลกันมาก หากแต่เฉพาะเหล่าพระพรหมในชั้นที่ ๑๒ – ๑๖ เรียกว่า ปัญจสุทธาวาส หรือ สุทธาวาสภูมิ อันเป็นชั้นที่เหล่าพระพรหม ในชั้นนี้ ต้องเป็นพระพรหม
ชั้นพระอริยบุคคลในพุทธศาสนา ระดับอนาคามีอริยบุคคล เท่านั้น ต่างจาก ๑๑ ชั้นแรก แม้พระพรหมทั้งหลายจะได้สำเร็จฌานวิเศษเพียงใด ก็อุบัติในสุทธาวาสภูมิไม่ได้อย่างเด็ดขาด สุทธาวาสภูมินี้มีอยู่ ๕ ชั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศ และตั้งอยู่เป็นชั้นๆ ขึ้นไป ตามลำดับภูมิไม่ตั้งในระดับเดียวกันเช่นชั้นแรกๆที่ผ่านมา
                      พรหมโลกชั้นที่ ๑ พรหมปาริสัชชา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑ คือพรหมปาริสัชชา เป็นพระพรหมที่เป็นบริวารของท้าวมหาพรหม พรหมปาริสัชชา เป็นพรหมชั้นล่างสุด ตั้งอยู่เบื้องบนของสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีขึ้นไปถึง ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ ไกลจากมนุษยโลกจนไม่สามารถนับได้ ซึ่งหากเอาก้อนศิลาขนาดใหญ่เท่ากับปราสาทเหล็ก คือโลหะปราสาทๆ ให้ไปดูที่วัดราชนัดดาที่กรุงเทพฯ    ถ้าเอาโลหะปราสาททิ้งลงมาจากพรหมโลกชั้นนี้ ต้องใช้เวลาถึง ๔ เดือน  จึงจะตกลงถึงพื้นแผ่นดิน
   พรหมโลกในชั้นนี้มีคุณวิเศษมาก ใครเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ปฐมฌาน ชั้นสามัญมาแล้ว ก็จะมาเสวยปณีตสุขอยู่ในชั้นนี้ ซึ่งมีความเป็นอยู่อย่างแสนจะสุขนักหนา ตราบจนหมดอายุขัย คือ  ๑ ใน ๓ แห่งมหากัปป์
             พรหมโลกชั้นที่ ๒ พรหมปโรหิตา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๒ คือพรหมปุโรหิตา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้เป็นปุโรหิต ของท้าวมหาพรหม พรหมโลกชั้นที่ ๒ นี้  เป็นที่อยู่ของพระพรหมผู้ทรงฐานะอันประเสริฐ คือเป็นปุโรหิตของท่านมหาพรหม ความเป็นอยู่ทุกอย่างล้ำเลิศวิเศษกว่าพรหมโลกชั้นแรก รัศมีก็รุ่งเรืองกว่า รูปทรงร่างกายใหญ่กว่า สวยงามกว่า พระพรหมทุกท่านล้วนแต่มีคุณ วิเศษ ได้เคยเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ปฐมฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลาง มาแล้วทั้งสิ้น อายุขัยแห่งพรหมชั้นนี้  ยืนได้ครึ่งมหากัปป์
             พรหมโลกชั้นที่ ๓ มหาพพรหมา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๓ คือมหาพรหมา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย พรหมโลกชั้นนี้ มีความเป็นอยู่และรูปกายประเสริฐยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ที่จะได้มาเกิดในพรหมโลกชั้นนี้จะต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุปฐมฌานขั้นปณีตะคือขั้นสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น อายุขัยแห่งพรหมชั้นนี้ ยืนได้ ๑ มหากัปป์
             พรหมโลกชั้นที่ ๔ พรหมปริตาภา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๔ คือพรหมปริตาภา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้มีรัศมีน้อยกว่าชั้นพรหมที่สูงกว่าตน ผู้ที่จะได้มาเกิดในพรหมโลกชั้นนี้ได้จะต้องเจริญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นปริตตะ คือ ขั้นสามัญมาแล้ว อายุขัยแห่งพรหมโลกชั้นนี้ ยืนได้ ๒ มหากัปป์
            พรหมโลกชั้นที่ ๕ พรหมอัปปมานาภา                      
   -พรหมโลกชั้นที่ ๕ คือพรหมอัปปมานาภา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้มีรัศมีรุ่งเรืองหาประมาณมิได้  ผู้ที่จะมาเกิดในพรหมโลกชั้นนี้ได้จะต้องจริญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลางมาแล้ว อายุขัยแห่งพรหมโลกชั้นนี้ ยืนได้ ๔ มหากัปป์
             พรหมโลกชั้นที่ ๖ พรหมอาภัสรา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๖ คือพรหมอาภัสรา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้มีรัศมีเป็นประกายรุ่งเรือง  ผู้จะมาเกิดในพรหมโลกชั้นนี้ได้จะต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นปณีตะ คือ ประณีตสูงสุดมาแล้ว พรหมโลกชั้นนี้มีอายุขัย ยืนได้ ๘ มหากัปป์
             พรหมโลกชั้นที่ ๗ พรหมปริตตสุภา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๗ พรหมปริตตสุภา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้มีรัศมีสง่างามน้อยกว่าชั้นพรหมที่สูงกว่าตน  ผู้ที่จะมาเกิดในพรหมโลกชั้นนี้ได้จะต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ตติยฌาน ขั้นปริตตะ คือขั้นสามัญมาแล้วทั้งสิ้น   พรหมโลกชั้นนี้มีอายุข้ยยืนได้ ๑๖ มหากัปป์
              พรหมโลกชั้นที่ ๘ พรหมอัปปมาณสุภา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๘ คือพรหมอัปปมาณสุภา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้รัศมีสง่างามหาประมาณมิได้ คือมีร้ศมีซ่านออกจากกายมากมายจนสุดประมาณได้  ผู้ที่จะมาเกิดในพรหมโลกชั้นนี้ได้จะต้องเจริสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ตติยฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลางมาแล้วทั้งสิ้น พรหมโลกชั้นนี้มีอายุขัย ยืนได้ ๓๒ มหากัปป์
              พรหมโลกชั้นที่ ๙ พรหมสุภกิณหกา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๙ คือพรหมสุภกิณหกา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้มีรัศมีสง่างามสุกปลั่งทั่วสรรพางค์กาย และความสง่าสวยงามแห่งรัศมี ที่ซ่านออกสลับปะปนกันอยู่เสมอเป็นนิตย์ มีรัศมีนานาพรรณ เป็นที่น่าเพ่งพิศทัศนา  ผู้ที่จะมาเกิดในพรหมโลกชั้นนี้ได้จะต้องเจริญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ตติยฌาน ขั้นปณีตะ คือขั้นประณีตสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น พรหมโลกชั้นนี้มีอายุขัย  ยืนได้ ๖๔ มหากัปป์
              พรหมโลกชั้นที่ ๑๐ พรหมเวหัปผลา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๐ คือพรหมเวหัปผลา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้ได้รับผลแห่งฌานอันไพบูลย์  พรหมโลกในชั้นนี้มีอายุขัย เป็นเวลา ๕๐๐ มหากัปป์
   อนึ่งผลแห่งฌานกุศล ที่ส่งให้ไปอุบัติเกิดในพรหมโลก ๙ ชั้นแรกนั้น ไม่เรียกว่า มีผลไพบูลย์เต็มที่ ทั้งนี้ก็โดยมีเหตุผลตามสภาวธรรมที่เป็นจริง ดังต่อไปนี้
     -เมื่อคราวที่โลกถูกทำลายด้วยไฟประลัยกัลป์นั้น พรหมภูมิ ๔ ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปด้วย
     -เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยน้ำประลัยกัลป์นั้น พรหมภูมิ ๖ ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปด้วย
     -เมื่อคราวที่โลกถูกทำลายด้วยลมประลัยกัลป์นั้น พรหมภูมิทั้ง ๙ ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปไม่มีเหลือเลย
                พรหมโลกชั้นที่ ๑๑ พรหมอสัญญีสัตตา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๑ คือพรหมอสัญญีสัตตา เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้หาสัญญามิได้ (คือมีแต่รูป) พรหมโลกชั้นที่ ๑๑ อสัญญีสัตตาภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพรหมผู้อุบัติเกิดด้วยอำนาจแห่งสัญญาวิราคภาวนา เสวยสุขอัน ประณีตนักหนา เคยเจริญสมถกรรมฐาน จนได้สำเร็จจตุตถฌาน อันเป็นรูปฌานขั้นสูงสุดสถิตย์อยู่ในปราสาทแก้ววิมานอันมโหฬารกว้างขวาง มีบุปผชาติประดับประดาเรียบไม่รู้แห้งเหี่ยว มีหน้าตาสวยสง่างามอุปมาดังรูปของพระพุทธรูปทองคำที่ขัดสีแล้ว แต่พรหมในชั้นนี้มีอิริยาบถไม่เหมือนกัน บางองค์นั่ง บางองค์นอน บางองค์ยืน มีอิริยาบถเป็นอย่างใดก็เป็นอย่างนั้นตลอดไป ไม่เคลื่อนไหวจักษุทั้งสอง ก็มิได้กะพริบเลย สถิตย์เสวยสุขเป็นประดุจรูปปั้น อยู่อย่างนั้นชั่วกาล พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๕๐๐ มหากัปป์
                 พรหมโลกชั้นที่ ๑๒ พรหมอวิหา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๒ คือพรหมอวิหา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้ไม่เสื่อมคลายในสมบัติแห่งตน สูงขึ้นไปจากอสัญญีสัตตาภูมิประมาณ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามีอริยบุคคลที่ไม่ละทิ้งสมบัติ เป็นผู้มีวาสนาบารมี กิเลสธุลีเหลือติดอยู่ในจิตสันดานน้อยมาก ด้วยได้เคยเป็นสาวกแห่งพระพุทธองค์ พบพระบวรพุทธศาสนาแล้วมีปกติเห็นภัยในวัฏสงสาร อุตสาหะจำเริญ วิปัสสนากรรมฐาน จนยังตติยมรรคให้ เกิดขึ้นในขันธสันดานได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลจะสถิตย์อยู่จนอายุครบกำหนด ไม่จุติเสียก่อน ต่างจากพระพรหมในสุทธาวาสภูมิที่เหลืออยู่อีก ๔ ภูมิ คือพระพรหมในอีก ๔ สุทธาวาสภูมิที่เหลือ ซึ่งอาจมีการจุติหรือนิพพานเสียก่อนอายุจะครบกำหนด      พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๑๐๐๐ มหากัปป์
                  พรหมโลกชั้นที่ ๑๓ พรหมอตัปปา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๓ คือพรหมอตัปปา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร สูงขึ้นไปต่อจากอวิหาสุทธาวาสภูมิขึ้นไป อีกประมาณ ได้ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี ผู้ละซึ่งกิเลสอันทำให้จิตเดือดร้อน ทั้งทางกาย วาจาและใจเลย ย่อมเข้าฌานสมาบัติ หรือผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมซึ่งเป็นกิเลสอันทำให้ จิตใจเดือดร้อนไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ฉะนั้นจิตใจของท่านเหล่านั้นจึงมีแต่สงบเยือกเย็นได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐานปรา กฏว่าเป็นผู้มีวิริยินทรีย์ คือมี วิริยะแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๒๐๐๐ มหากัปป์
                 พรหมโลกชั้นที่ ๑๔ พรหมสุทัสสา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๔ คือพรหมสุทัสสา  เป็นที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีความเห็น (สภาวธรรม) อย่างแจ่มแจ้ง สูงขึ้นไปต่อจากอตัปปาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามีผู้มีความแจ่มใส สามารถเห็นสภาวธรรมได้โดยแจ้งชัดเพราะบริบูรณ์ ด้วยประสาทจักษุ ทิพพจักษุ ธัมมจักษุและปัญญาจักษุ จึงเห็นสภาวธรรมได้แจ่มใส ชัดเจน ท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยัง ตติยมรรคให้บังเกิดในขันธสันดาน ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีสตินทรีย์คือ มีสติแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๔๐๐๐ มหากัปป์
               พรหมโลกชั้นที่ ๑๕ พรหมสุทัสสี       
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๕ คือสุทัสสี  เป็นที่สถิตแห่งอยู่พระพรหมผู้มีความเห็น (สภาวธรรม) อย่างแจ่มแจ้งยิ่ง สูงขึ้นไปต่อจากสุทัสสาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใสมากกว่า มีประสาทจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้ง ๓ นี้มีกำลังแก่กล้ากว่าพระพรหมในชั้นสุทัสสาสุทธาวาสภูมิ ทำให้ท่านมีความเห็นในสภาวธรรมได้ชัดเจนแจ่มใสยิ่ง ท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยังตติยมรรค ให้บังเกิดในขันธสันดานได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล และในขณะที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มี สมาธินทรีย์ คือมีสมาธิแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๘๐๐๐ มหากัปป์
                พรหมโลกชั้นที่ ๑๖ พรหมอกนิฏฐา
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๖ คือพรหมอกนิฏฐา  เป็นที่สถิตอยู่แห่งพระพรหมผู้ทรงคุณพิเศษไม่มีใครเป็นรอง สูงขึ้นไปต่อจากสุทัสสีสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีวาสนาบารมี มีกิเลสธุลีเหลือติดอยู่น้อยนักหนาโดยท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยัง ตติยมรรคให้บังเกิดในขันธสันดาน ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญินทรีย์ คือมี ปัญญาแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น ฉะนั้น ท่านพระพรหมอนาคามีบุคคลที่อุบัติเกิดในอกนิฏฐพรหมโลกนี้ จึงมีคุณสมบัติวิเศษยิ่งกว่า บรรดาพระพรหมทั้งสิ้นในพรหมโลกทั้งหลายรวมทั้งสุทธาวาสพรหมทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้ว พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๑๖๐๐๐ มหากัปป์             
   ในพรหมโลกชั้นนี้ มีพระเจดีย์เจ้าองค์สำคัญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นพรหมโลกที่เคารพนับถือพระบวรพุทธศาสนา องค์หนึ่งมีนามว่า ทุสสะเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุผ้าขาวของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งทรงเส็จออกผนวช โดยพระพรหมทั้งหลายได้นำบริขารและไตรจีวรลงมาถวาย และพระองค์ได้ถอดผ้าขาวที่ทรงอยู่ยื่นให้ พระพรหมจึงรับเอาและนำมาบรรจุไว้ยังเจดีย์ที่เนรมิตขึ้นนี้ และเป็นที่สักการบูชาของพระพรหมทั้งหลายในปัจจุบัน พระพรหมอนาคามีทั้งหลายในสุทธาวาสพรหมแรกทั้ง ๔ หากยังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน พอสิ้นพรหมายุขัย ก็ต้องจุติจากสุทธาวาสพรหมภูมิที่ตนสถิตอยู่มาอุบัติในชั้นที่ ๑๖ นี้ เพื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานโดยทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมภูมินี้ เป็นพรหมภูมิที่มีศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ อยางประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าพรหมโลกชั้นอื่นๆ ทั้งหมด รูปพรหม  อรูปพรหม หรือ อรูปาวจรภูมิ สมัยที่โลกยังว่างจากพระพุทธศาสนา บรรดาโยคี ฤๅษี ชีไพรดาบส ที่บำเพ็ญตบะเดชะภาวนา รำพึงว่าอันว่าตัวตน กล่าวคืออัตภาพร่างกายนี้ไม่ดีเป็นนักหนา กอปรไปด้วย ทุกข์โทษหาประมาณมิได้ ควรที่ตูจะปรารถนากระทำตัว ให้หายไปเสียเถิด แล้วก็เกิดความพอใจเป็นนักหนา ในภาวะที่ไม่มีตัวตนไม่มีรูปกาย ปรารถนาอยู่แต่ในความไม่มีรูป
                           พรหมสุทธาวาส ๕ ชั้น
     พรหมสุทธาวาสทั้ง ๕ ชั้น  ... เฉพาะพระอนาคามีของศาสนาพุทธเท่านั้นที่จะไปเกิดได้  แล้วแต่จะได้ฌานขั้นไหน  ถ้าพระอนาคามีท่านนั้นได้แค่ปฐมฌาน ก็ไปเกิดในสุทธา วาสชั้นต่ำสุด คือ  ชั้นอวิหา .. ถ้าได้ปัญจมฌานขึ้นไปหรือเหนือกว่านั้น ก็จะไปเกิดในสุทธาวาสชั้นสูงสุด คือ อกนิฏฐา
  เคยได้ยินมาว่า เมื่อพระอนาคามีใกล้จะจุติ(ตาย)   แม้ว่าชีวิตท่านจะไม่เคยได้ฌานใด ๆ มาก่อนเลย   แต่อำนาจของตติยะมรรค หรือ ความเป็นอนาคามี  "ฌาน" จะบังเกิดขึ้นแก่ท่านโดยอัตโนมัติ (จตุตถฌาน) ในระยะก่อนตาย(ที่เรียกว่า มรณาสันนะวิถี) แล้วอำนาจแห่งฌานนั้น จะพาท่านไปบังเกิดใน พรหมชั้นสุธาวาส ที่มี ๕ ชั้น   การไปเกิดชั้นไหน ขึ้นอยู่กับการบรรลุเป็นอนาคามีด้วยกำลังแบบใด (หมายถึงเมื่อ อนาคามีมรรคจิต เกิดขึ้นในขณะที่ท่านกำลัง เจริญวิปัสสนากรรมฐาน) มีดังนี้
  ๑. บรรลุเป็นอนาคามี ด้วยกำลังแห่ง ศรัทธา  จะไปบังเกิดเป็นพรหมในชั้น อวิหา
  ๒. บรรลุเป็นอนาคามี ด้วยกำลังแห่ง วิริยะ  จะไปบังเกิดเป็นพรหมในชั้น อตัปปา  
  ๓. บรรลุเป็นอนาคามี ด้วยกำลังแห่ง สตินทรีย์ (สติ)  จะไปบังเกิดเป็นพรหมในชั้น สุทัสสา
  ๔. บรรลุเป็นอนาคามี ด้วยกำลังแห่ง สมาธิ  จะไปบังเกิดเป็นพรหมในชั้น สุทัสสี
  ๕. บรรลุเป็นอนาคามี ด้วยกำลังแห่ง ปัญญา  จะไปบังเกิดเป็นพรหมในชั้น อกนิฎฐา
  ท่านบรรลุด้วยกำลังใดเป็นหลัก เพียงอย่างหนึ่งอย่างใด  แต่มิได้หมายความว่าท่าน จะไม่มีกำลังอื่นเลย  เช่น ท่านบรรลุด้วยกำลังแห่ง "สมาธิ" เป็นหลัก  ท่านก็มีกำลังอื่น ๆ ด้วยทั้ง ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา  แต่กำลังแห่ง สมาธิ มากกว่า หรือ หนักกว่ากำลังอื่น  ส่วนปุถุชน ที่บรรลุ จตุตถฌาน แต่มิได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ไปเกิดในพรหมในชั้น เวหัปผลา และ อสัญญสัตตา

       อรูปพรหม ๔ ชั้น
   ๑.อากาสานัญจายตนพรหม
   ๒.วิญญาณัญจายตนพรหม
   ๓.อากิญจัญญายตนพรหม
   ๔.เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม
   พรหมในชั้นนี้ไม่มีรูปร่าง มีแต่จิตเจตสิก เพราะเห็นว่าหากมีร่างกายอยู่นั้นจะมีแต่โทษ อาจจะไปทำร้ายซึ่งกันและกันได้ จึงบริกรรมด้วยความว่างเปล่า ยึดเอาอากาศซึ่งเป็นความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ จนได้ฌานที่มีอากาศเป็นอารมณ์เรียกว่า อากาสานัญจายตนภูมิ ซึ่งมีอายุอยู่ได้สองหมื่นกัปป์ จากนั้นก็อาจภาวนาเพื่อจะได้ไปอยู่ในพรหมโลกขั้นสูงต่อไปอีกได้ อายุของพรหมเหล่านี้จะยืนอยู่ได้  สี่หมื่น หกหมื่น และแปดหมื่นสี่พันกัปป์ ตามลำดับ
             พรหมโลกชั้นที่ ๑๗ อากาสานัญจายนะพรหม
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๗ คืออากาสานัญจายตนพรหม  เป็นชั้นที่ทรงอากาศไม่มีที่สิ้นสุด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึดเอา อากาศ เป็นอารมณ์เป็นที่ตั้งอยู่แห่งพระพรหมผู้เกิดจากฌานที่อาศัยอากาสบัญญัติ ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ตั้งอยู่พ้นจากอกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลกไปอีก ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์  พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๒๐๐๐๐ มหากัปป์
            พรหมโลกชั้นที่ ๑๘ วิญญาณัญจายนะพรหม
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๘ คือวิญญาณัญจายตนพรหม  เป็นชั้นที่ทรงภาวะวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึด วิญญาณ เป็นอารมณ์ พ้นจากอากาสัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ วิญญาณัญจายตนภูมิ เป็นที่อยู่ แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย วิญญาณบัญญัติ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป และปฏิสนธิด้วยวิญญาณัญจายตนวิบากจิต พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๔๐๐๐๐ มหากัปป์
          พรหมโลกชั้นที่ ๑๙ อากิญจัญญายนะพรหม
   -พรหมโลกชั้นที่ ๑๙ คืออากิญจัญญายตนพรหม  เป็นชั้นที่ทรงภาวะไม่มีอะไรเลย ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึดเอาความไม่มีอะไรเลย เป็นอารมณ์ เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย นัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป และปฏิสนธิด้วยอากิญจัญญายตนวิบากจิตพ้นจากวิญญานัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๖๐๐๐๐ มหากัปป์
         พรหมโลกชั้นที่ ๒๐ เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม
   -พรหมโลกชั้นที่ ๒๐ คือเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม  เป็นชั้นที่ทรงภาวะที่มีสัญญาไม่ปรากฏชัด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้เข้าถึงภาวะมีสัญญา ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้เกิดจากฌานที่อาศัย ความประณีตเป็นอย่างยิ่ง พระพรหมวิเศษแต่ละองค์ในชั้นสูงสุดนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้สำเร็จยอดแห่งอรูปฌาน คืออรูปฌานที่ ๔ มาแล้ว มีอายุยืนนานเป็นที่สุดด้วยอำนาจแห่ง อรูปฌานกุศลอันสูงสุดที่ตนได้บำเพ็ญมา เพราะเหตุที่ตนปฏิสนธิด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิตทั้ง อยู่พ้นจาอากิญจัญญายตนภูมิขึ้นไปอีก ๕ ล้าน ๕ แสน ๘ พันโยชน์ พรหมโลกชั้นนี้มีอายุยืนได้ ๘๔๐๐๐ มหากัปป์
       อายุขัยของพรหมโลกทั้ง ๒๐ ชั้น
   -พรหมโลกชั้นปริสัชชา   มีอายุขัย   ส่วน ๑  ใน  ๓  ของมหากัปป์
   -พรหมโลกชั้นปโรหิตา    มีอายุขัย   ครึ่งมหากัปป์
   -พรหมโลกชั้นมหาพรหมา     มีอายุขัย     ๑     มหากัปป์
   -พรหมโลกชั้นปริตาภา     มีอายุขัย     ๒     มหากัปป์
   -พรหมอัปปมานาภา     มีอายุขัย     ๔     มหากัปป์
   -พรหมอาภัสรา     มีอายุขัย     ๘     มหากัปป์
   -พรหมปริตตสุภา     มีอายุขัย     ๑๖     มหากัปป์
   -พรหมอัปปมาณาภา     มีอายุขัย     ๓๒     มหากัปป์
   -พรหมสุภกิณหกา     มีอายุขัย     ๖๔     มหากัปป์
   -พรหมเวหัปผลา     มีอายุขัย     ๕๐๐     มหากัปป์
   -พรหมอสัญญีสัตตา     มีอายุขัย     ๕๐๐     มหากัปป์
            พรหมสุทธาวาส ๕ ชั้น
   -พรหมอวิหา     มีอายุขัย     ๑๐๐๐     มหากัปป์
   -พรหมอตัปปา     มีอายุขัย     ๒๐๐๐   มหากัปป์
   -พรหมสุทัสสา     มีอายุขัย     ๔๐๐๐     มหากัปป์
   -พรหมสุทัสสี     มีอายุขัย     ๘๐๐๐     มหากัปป์
   -พรหมอกนิฏฐา     มีอายุขัย     ๑๖๐๐๐     มหากัปป์
             อรูปพรหม ๔ ชั้น
   -อากาสานัญจายตนพรหม     มีอายุขัย     ๒๐๐๐๐     มหากัปป์
   -วิญญานัญจายนพรหม     มีอายุขัย     ๔๐๐๐๐     มหากัปป์
   -อากิญจัญญายตนพรหม     มีอายุขัย     ๖๐๐๐๐     มหากัปป์
   -เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม     มีอายุขัย     ๘๔๐๐๐     มหากัปป์ 
              มหากัปป์
   ๐ มหากัปป์ คือระยะเวลา ๑ รอบของวัฏจักร อันเป็นการแตกดับของโลกครั้งหนึ่ง หรือเท่ากับ ๒๕๖ อันตรกัปป์  ๑ มหากัปป์ อุปมาว่ามีหลุมๆหนึ่งซึ่งซึ่งมีพื้นที่ กว้าง ๑ โยชน์ ยาว ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ คือ กว้าง  ยาว  และสูงอย่างละ  ๑๖  กิโลเมตร ๑๐๐ ปี ให้เอาเมล็ดพันธุ์ผักกาด ๑ เมล้ด มาทิ้งลงไปในหลุมนี้ ให้เอามาทิ้งลงไปทุก ๑๐๐ ปี  เมื่อหลุมนี้เต็มด้วยเมล็ดพันธ์ผักกาดแล้วจึงจะเท่ากับเวลา  ๑ มหากัปป์ คำว่ามหากัปป์ มักเรียกสั้นๆ ว่า กัปป์
              ระยะทางที่ห่างกันของพรหมโลก
   -พรหมโลกแต่ละชั้นจะมีระยะทางห่างกันระหว่าง  ๕๕๐๘๐๐๐  โยชน์ ทั้ง ๒๐ ชั้น
    

    

 

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 139,924